แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์

ข่าวดี    ยอห์น 18:1 - 19:42
1
    หลังอาหารค่ำมื้อสุดท้าย พระเยซูเจ้าทรงสนทนาและอธิษฐานร่วมกับบรรดาศิษย์ แล้วพากันลงมาจากห้องจัดงานเลี้ยงชั้นบน ข้ามห้วยขิดโรนอันเป็นแหล่งรองรับเลือดแกะที่ไหลตามรางมาจากแท่นบูชาในพระวิหาร  ไปยังสวนแห่งหนึ่งชื่อเกทเสมนีซึ่งตั้งอยู่เชิงภูเขามะกอก
    ยูดาสศิษย์ทรยศพากองทหารและยามรักษาพระวิหารมาจับพระองค์  ลำพังกองทหาร (speira) ของโรมันหนึ่งกองก็มีกำลังพลขั้นต่ำสุด 200 นายแล้ว
    เขาพาคนมากมาย พร้อมอาวุธครบมือ เพื่อมาจับพระเยซูเจ้าเพียงคนเดียว !
    ทั้ง ๆ ที่พระจันทร์เต็มดวงในช่วงปัสกาจนกลางคืนสว่างเกือบเหมือนกลางวัน แต่พวกเขากลับเตรียมตะเกียงและไต้มาด้วย เพราะคิดว่าพระองค์คงหลบซ่อนตามซอกหิน ในถ้ำ หรือตามพุ่มไม้มืด
    แต่พระองค์ไม่หลบและไม่ซ่อน !
ตรงกันข้าม พระองค์ทรงก้าวออกมาเผชิญหน้ากับกองทหารที่มีอาวุธครบมือด้วยความกล้าหาญพร้อมกับถามว่า “พวกท่านมาหาใคร ?”
นอกจากไม่รักตัวกลัวตายแล้ว พระองค์ยังห่วงและพยายามปกป้องบรรดาศิษย์ของพระองค์ด้วยความอาจหาญ “ถ้าพวกท่านต้องการจับเรา ก็จงปล่อยพวกเขาไป”
    แค่เอ่ยปาก พวกทหารก็ล้มระเนระนาดแล้ว  หากพระองค์คิดจะหลบหนี ย่อมไม่เหลือบ่ากว่าแรง  แต่ “พระองค์ทรงเลือกที่จะปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดา”  นั่นคือยอมสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนเพื่อไถ่กู้เราทุกคน
    พระองค์ไม่ได้ถูกจับเพราะจนตรอก !
2
    ไม่มีความตายใดน่าขนพองสยองเกล้าเท่าการตรึงกางเขน  ชาวโรมันเองยังขนลุกเมื่อเอ่ยถึงกางเขน  ชิเชโรถึงกับกล่าวว่าการตรึงกางเขนเป็น “ความตายที่โหดร้ายและน่ากลัวที่สุด”
    การตรึงกางเขนมีต้นกำเนิดจากเปอร์เซีย  ชาวเปอร์เซียเกรงว่าพื้นดินอันศักดิ์สิทธิ์จะเป็นมลทินเพราะร่างชั่วของนักโทษประหาร จึงจับนักโทษประหารแขวนไว้บนไม้กางเขน  ต่อมาชาวคาร์เทจนำวิธีประหารแบบเปอร์เซียมาใช้  และชาวโรมันรับวิธีตรึงกางเขนมาจากชาวคาร์เทจอีกทอดหนึ่ง
    โรมไม่เคยตรึงกางเขนชาวโรมันด้วยกันเอง แต่ใช้กางเขนกับทาสในเมืองขึ้นเท่านั้น  นักโทษประหารจะถูกจับตรึงไว้ที่ไม้กางเขนจนกว่าจะตาย บางคนต้องทนทรมานแสนสาหัสหลายวันกว่าจะตาย  ไหนจะหิว ไหนจะกระหาย ไหนจะร้อนจัดเวลากลางวัน ไหนจะหนาวจัดเวลากลางคืน และไหนริ้นไรจะไต่ตอมตามบาดแผลโดยที่ตัวเองทำอะไรไม่ได้เลย เว้นแต่เฝ้าดูฝูงแร้งและฝูงกาที่บินวนเวียนรอจิกกินเมื่อเขาตาย
    พวกเขานำความตายที่น่าสะพรึงกลัวที่สุด  ความตายสำหรับทาส  และความตายสำหรับอาชญากรมาใช้กับพระเยซูเจ้า !
    เมื่อถูกตัดสินว่าผิด ผู้พิพากษาจะกล่าวว่า “จงไปสู่กางเขน” (Ibis ad crucem) แล้วขั้นตอนการประหารจะเริ่มทันทีโดยไม่มีเวลาให้นักโทษล่ำลา สั่งเสีย หรืออุทธรณ์ฎีกาใด ๆ ทั้งสิ้น  นักโทษประหารต้องแบกกางเขนของตนเดินตามถนนที่มีประชาชนพลุกพล่าน และผู้คุมมักเลือกเส้นทางสู่แดนประหารที่ยาวที่สุด เพื่อให้ผู้คนเห็นมากที่สุดจะได้เกรงกลัวไม่กล้าทำผิด  มีทหาร 4 คนคอยลงแส้หรือใช้ประตักทิ่มแทงเพื่อกระตุ้นให้นักโทษเดินไปสู่สถานที่ประหาร  หน้าขบวนมีทหารคนหนึ่งถือป้ายระบุความผิด เผื่อว่าอาจมีใครเป็นพยานยืนยันความบริสุทธิ์ของนักโทษ จะได้เริ่มขั้นตอนไต่สวนกันใหม่
    แต่ในกรณีของพระเยซูเจ้า ช่างไม่มีใครสักคนเชียวหรือที่กล้ายืนอยู่ข้างพระองค์ ?
3
    หลังถูกจับกุม พระองค์ถูกตบพระพักตร์ ถูกเฆี่ยน ถูกสวมมงกุฎหนาม ถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม และถูกทรมานต่าง ๆ นานา  แต่พระองค์ไม่ทรงปริปากร้องสักคำเดียว
ทว่าบนไม้กางเขน เสียงร้อง “หิวน้ำ” เล็ดรอดออกมาให้ได้ยิน
คนที่เคยคิดว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเจ้าดังนั้นคงไม่เจ็บจริงและไม่ทรมานจริง  บัดนี้คงต้องคิดใหม่
และถึงแม้กำลังทุกข์ทรมานปานจะขาดใจ พระองค์กลับคิดถึงความทุกข์ของผู้อื่นแทนที่จะคิดถึงความทุกข์ของพระองค์เอง  “ใครจะดูแลแม่  อนาคตของแม่จะเป็นเช่นใด ?”
ดูน้ำพระทัยของพระองค์สิ !!
ยอห์นเล่าว่า ก่อนสิ้นพระชนม์พระองค์ทรงร้องว่า “เสร็จแล้ว” ในขณะที่มัทธิว มาระโก และลูกาบอกเพียงว่าพระองค์ทรงร้องเสียงดัง (มธ 27:50; มก 15:37; ลก 23:46)
เมื่อนำทุกสำนวนมารวมกันย่อมได้ความว่า พระองค์ทรงร้อง “เสร็จแล้ว” ด้วยเสียงอัน “ดัง” !
เป็นเสียงร้องที่บ่งบอกถึงความสะใจและดีใจสุด ๆ ที่ได้ปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาเจ้าจนสำเร็จลุล่วงอย่างสมบูรณ์
ไม่ใช่ร้องด้วยเสียงละห้อยว่า “จบเห่กัน” ซึ่งแปลว่าหมดทางสู้แล้ว
ตลอดชีวิต พระองค์ทรงนบนอบและปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาทุกลมหายใจ รวมทั้งลมหายใจเฮือกสุดท้ายบนไม้กางเขนด้วย
สิ่งสุดท้ายที่พระองค์จะคิดถึงคือ ตัวพระองค์เอง !
4
ตามธรรมเนียมของชาวโรมัน เมื่อนักโทษเสียชีวิตแล้วเขาจะปลดศพทิ้งไว้บนพื้นดินให้ฝูงแร้ง ฝูงกา และสุนัขกัดกินเป็นอาหาร
แต่กฎหมายยิวกำหนดให้ “ฝังศพ” วันที่นักโทษตาย ห้ามปล่อยศพทิ้งไว้ค้างคืน (ฉธบ 21:22-23)
กรณีของพระเยซูเจ้ายิ่งต้องเร่งฝังพระศพให้ลุล่วงก่อนหกโมงเย็น หาไม่แล้วจะทำอะไรไม่ได้เลยเพราะเข้าสู่วันสับบาโตซึ่งเริ่มจากหกโมงเย็นวันศุกร์จนถึงหกโมงเย็นวันเสาร์
ลำพังอัครสาวกซึ่งมีฐานะยากจนคงไม่สามารถจัดพิธีศพให้พระองค์ได้
ยังดีที่มีศิษย์ไม่เปิดเผยตนสองคนคือ โยเซฟชาวอาริมาเธีย และนิโคเดมัส รับเป็นธุระฝังพระศพของพระองค์
ทั้งคู่เป็นสมาชิกของสภาสูง (Sanhedrin)  หากพวกเขาช่วยพูดแก้ต่างให้พระองค์ขณะถูกไต่สวนในสภา สถานการณ์คงไม่เลวร้ายเท่านี้
แต่เพราะเกรงว่าจะสูญเสียสถานภาพของการเป็นสมาชิกผู้ทรงเกียรติ พวกเขาจึงปิดปากเงียบและไม่ได้ปกป้องพระองค์เลย
ต่อเมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์แล้วนั่นแหละ ชีวิตของทั้งสองจึงเปลี่ยนไป โดยไม่เหลือร่องรอยของความขลาดกลัว ความโลเล หรือการปกปิดซ่อนเร้นอีกต่อไป
พระเยซูเจ้าตรัสไว้ก่อนหน้านี้ว่า “เมื่อเราจะถูกยกขึ้นจากแผ่นดิน เราจะดึงดูดทุกคนเข้ามาหาเรา” (ยน 12:32)
โยเซฟและนิโคเดมัสได้เข้ามาหาพระเยซูเจ้าแล้ว...!!
แล้วเรายังจะใจแข็งต่อไปอีกหรือ ?


    สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาพระมหาทรมานโดยละเอียด  ขอแบ่งเนื้อหาเพื่อง่ายต่อการอธิบายดังนี้

พระเยซูเจ้าทรงถูกจับกุม

ยน 18:1-11
(1)พระเยซูเจ้าตรัสดังนี้แล้ว ก็เสด็จไปพร้อมกับบรรดาศิษย์ ข้ามห้วยขิดโรน ที่นั่นมีสวนแห่งหนึ่ง พระองค์เสด็จเข้าไปพร้อมกับบรรดาศิษย์  (2)ยูดาสผู้ทรยศรู้จักสถานที่นั้นด้วย เพราะพระองค์เคยทรงพบกับบรรดาศิษย์ที่นั่นบ่อย ๆ  (3)ยูดาสนำกองทหารและยามรักษาพระวิหารที่บรรดาหัวหน้าสมณะ และชาวฟาริสีจัดหาให้ มาที่นั่น ถือตะเกียง ไต้ และอาวุธไปด้วย  (4)พระเยซูเจ้าทรงทราบทุกสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับพระองค์ จึงเสด็จออกไปตรัสถามเขาเหล่านั้นว่า “ท่านทั้งหลายเสาะหาใคร”  (5)เขาตอบว่า “หาเยซู ชาวนาซาเร็ธ” พระองค์ตรัสตอบว่า “เราเป็น” ยูดาสผู้ทรยศพระองค์ก็ยืนอยู่กับพวกเขาด้วย  (6)แต่เมื่อพระองค์ตรัสว่า “เราเป็น” เขาเหล่านั้นก็ถอยหลัง ล้มลงกับพื้นดิน  (7)พระองค์ตรัสถามอีกว่า “ท่านทั้งหลายเสาะหาใคร” เขาตอบว่า “หาเยซู ชาวนาซาเร็ธ”  (8)พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “เราบอกท่านทั้งหลายแล้วว่า เราเป็น ถ้าท่านเสาะหาเรา ก็จงปล่อยคนเหล่านี้ไป”  (9)ดังนี้ พระวาจาที่พระเยซูเจ้าเคยตรัสไว้จึงเป็นจริงว่า บรรดาผู้ที่พระองค์ทรงมอบให้ข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าไม่ได้ทำให้ผู้ใดพินาศเลย”  (10)ซีโมนเปโตรมีดาบ จึงชักดาบออกมา ฟันผู้รับใช้คนหนึ่งของมหาสมณะ ถูกใบหูข้างขวาขาด ผู้รับใช้คนนั้นชื่อมัลคัส  (11)แต่พระเยซูเจ้าตรัสกับเปโตรว่า “เก็บดาบใส่ฝักเสีย เราจะไม่ดื่มจากถ้วยที่พระบิดาประทานให้เราหรือ”

    หลังอาหารค่ำมื้อสุดท้าย พระเยซูเจ้าทรงสนทนาและอธิษฐานภาวนาร่วมกับบรรดาศิษย์ ต่อจากนั้นทรงพาพวกเขาลงมาจากห้องชั้นบนที่ใช้จัดงานเลี้ยงปัสกา ข้ามห้วยขิดโรน มุ่งหน้าสู่สวนเกทเสมนี
    ประมาณ 30 ปีหลังสิ้นพระชนม์ ได้มีการสำรวจจำนวนลูกแกะที่ถูกฆ่าถวายเป็นเครื่องบูชาในพระวิหารระหว่างปัสกาแต่ละปี พบว่ามีจำนวนมากถึง 256,000 ตัว  เลือดของลูกแกะที่พรมบนพระแท่นจะไหลตามรางลงมาสู่ห้วยขิดโรน
    ขณะเสด็จข้ามห้วยขิดโรนที่แดงฉานด้วยเลือดลูกแกะที่ถูกฆ่าเป็นเครื่องบูชา พระองค์คงอดคิดถึงการถวายพระองค์เองเป็นเครื่องบูชาแทนลูกแกะเหล่านั้นไม่ได้เป็นแน่
    จากห้วยขิดโรน ทุกคนเดินทางมาถึงภูเขามะกอก  ที่เชิงเขานี้เองมีสวนเล็กๆ แห่งหนึ่งชื่อเกทเสมนี ซึ่งแปลว่า “หีบน้ำมัน” เพราะเป็นที่ตั้งของเครื่องแยกน้ำมันจากมะกอกที่เจริญงอกงามอยู่บนภูเขาแห่งนี้
    ชาวเยรูซาเล็มผู้มีฐานะนิยมมีสวนส่วนตัวบนภูเขามะกอก เพราะการมีสวนส่วนตัวในกรุงเยรูซาเล็มซึ่งมีขนาดเล็กสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูงมาก  อีกทั้งยังมีข้อห้ามทางศาสนามิให้ใส่ปุ๋ยบนผืนดินของนครศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้
    คงมีชาวเมืองผู้มีอันจะกินและศรัทธาในพระองค์มอบกุญแจและอนุญาตให้พระองค์ใช้สวนแห่งนี้เพื่อพักผ่อน  ยูดาสเองก็รู้จักสวนแห่งนี้
    น่าสังเกตว่าหัวหน้าสมณะและพวกฟารีสีส่ง “กองทหารและยามรักษาพระวิหาร” (ยน 18:3) มาเพื่อจับกุมพระองค์ !
    คำกรีกที่ใช้เพื่อหมายถึงกองทหารคือ speira (สเปยรา) ปกติประกอบด้วยทหารโรมัน 600 นาย  แต่ถ้าเป็นกองทหารต่างชาติช่วยรบจะประกอบด้วยทหารม้า 240 นายและทหารราบอีก 760 นายรวมเป็น 1,000 นาย  นาน ๆ ทีจึงจะพบว่าชาวกรีกใช้คำ speira เพื่อหมายถึงกองทหารเกียรติยศซึ่งมีอัตรากำลัง 200 นาย
    แม้จะเข้าใจคำ speira ว่าเป็นกองทหารเกียรติยศก็ยังมีกำลังพลมากถึง 200 นาย โดยยังไม่นับรวมบรรดายามรักษาพระวิหาร
    จริงอยู่ ช่วงเทศกาลปัสกาจะมีกองทหารโรมันมาประจำการมากเป็นพิเศษที่ป้อมอันโตเนียในกรุงเยรูซาเล็มเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย จึงไม่มีปัญหาขาดแคลนกำลังพล  แต่ทำไมพวกเขาต้องส่งกองกำลังมากมายราวกับกองทัพเพื่อมาจับกุมพระเยซูเจ้าผู้ปราศจากอาวุธเพียงคนเดียว ?

    เหตุการณ์ในสวนเกทเสมนี แสดงให้เราเห็น “ธาตุแท้” ของพระเยซูเจ้าหลายประการด้วยกัน
    1.    ความกล้าหาญ  ช่วงปัสกาเป็นเวลาที่พระจันทร์เต็มดวง กลางคืนจะสว่างเกือบเหมือนกลางวัน  แต่ศัตรูของพระองค์มาพร้อมกับตะเกียงและไต้ ไม่ใช่เพื่อส่องทาง แต่เพื่อค้นหาพระเยซูเจ้าซึ่งพวกเขาคาดว่าคงซ่อนตัวอยู่ตามต้นไม้ ถ้ำ หรือรอยแยกตามภูเขา
        แต่ผิดคาด แทนที่จะหลบซ่อน พระองค์กลับก้าวออกมาข้างหน้าพร้อมกับตรัสถามพวกเขาว่า “ท่านทั้งหลายเสาะหาใคร” (ยน 18:4) และเมื่อพวกเขาตอบว่า “หาเยซู ชาวนาซาเร็ธ”  พระองค์ตรัสตอบว่า “เราเอง” (ยน 18:5)
        นี่คือความกล้าหาญสุดยอดของคน ๆ หนึ่งที่พร้อมเผชิญหน้ากับทุกสิ่ง !
    2.    ฤทธิ์อำนาจ  ฝ่ายหนึ่งมีคนเป็นร้อยพร้อมอาวุธครบมือ  อีกฝ่ายหนึ่งมีเพียงคนเดียวโดดเดี่ยว แถมยังไร้อาวุธ
        ทว่าเมื่อเผชิญหน้ากัน “เขาเหล่านั้นก็ถอยหลัง ล้มลงกับพื้นดิน” (ยน 18:6)
        นี่คือฤทธิ์อำนาจที่ทำให้พระองค์ผู้เดียวแข็งแกร่งกว่าศัตรูนับร้อย !
    3.    ความสมัครใจ  เป็นพระองค์เองที่ทรงเลือกและสมัครใจสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน  เพราะอาศัยฤทธิ์อำนาจที่ทำให้บรรดาศัตรูของพระองค์ล้มลงกับพื้นดิน พระองค์จะฝ่าวงล้อมหนีไปก็ได้
        นอกจากไม่หนีแล้ว พระองค์ยังทรงช่วยศัตรูจับตัวพระองค์เองเสียอีกเมื่อทรงสั่งเปโตรให้เก็บดาบใส่ฝัก
    4.    ความรัก  พระองค์ไม่ทรงคิดถึงชีวิตของพระองค์เองเลย แต่ทรงรัก ห่วงใย และปกป้องบรรดาศิษย์ของพระองค์เสมอ
        พระองค์ตรัสว่า “เราบอกท่านทั้งหลายแล้วว่า เราเอง ถ้าท่านเสาะหาเรา ก็จงปล่อยคนเหล่านี้ไป” (ยน 18:8)
        ความรักที่ปกป้องของพระองค์ปกคลุมบรรดาศิษย์จนถึงวาระสุดท้ายในสวนเกทเสมนี !
    5.    ความนบนอบ  พระองค์ตรัสว่า “เราจะไม่ดื่มจากถ้วยที่พระบิดาประทานให้เราหรือ” (ยน 18:11)
        “ถ้วย” คือพระประสงค์ของพระบิดา  พระองค์ทรงนบนอบและซื่อสัตย์ต่อพระบิดาจนกระทั่งยอมรับความตายอย่างอดสูบนไม้กางเขน

    จากเหตุการณ์ในสวนเกทเสมนี เราจะละเว้นไม่พูดถึงเปโตรไม่ได้เป็นอันขาด
    ท่านเป็นคนเดียว และเป็นคนเดียวจริง ๆ ที่ชักดาบสู้กับคนนับร้อยเพื่อปกป้องเจ้านายสุดที่รักของท่าน 
ท่านพร้อมจะพลีชีพเพื่อพระเยซูเจ้า
    แม้ต่อมาท่านจะปฏิเสธพระองค์ แต่เราจะลืมความกล้าหาญขั้นวีรกรรมของท่านในครั้งนี้ไม่ได้เด็ดขาด !


พระเยซูเจ้าทรงถูกไต่สวนต่อหน้าอันนาส

ยน 18:12-14, 19-24
(12)กองทหาร ผู้บังคับกองและยามรักษาพระวิหารที่ชาวยิวจัดให้จับกุมพระเยซูเจ้า มัดพระองค์  (13)นำไปหาอันนาสก่อน อันนาสเป็นบิดาภรรยาของคายาฟาส ซึ่งเป็นมหาสมณะในปีนั้น  (14)คายาฟาสเป็นผู้ที่ให้คำแนะนำกับชาวยิวว่า “จะเป็นประโยชน์มากกว่าถ้าคนเดียวจะตายเพื่อประชาชน”
(19)มหาสมณะซักถามพระเยซูเจ้าถึงเรื่องศิษย์และคำสั่งสอนของพระองค์  (20)พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “เราพูดให้โลกฟังอย่างเปิดเผย เราสั่งสอนในศาลาธรรมเสมอและในพระวิหารซึ่งชาวยิวทุกคนมาชุมนุมกัน เราไม่เคยพูดสิ่งใดเป็นความลับ  (21)ท่านถามเราทำไม จงถามผู้ที่ได้ฟังเราเถิดว่าเราบอกสิ่งใดกับเขา เขารู้ว่าเราได้พูดสิ่งใด  (22)เมื่อพระองค์ตรัสเช่นนี้ ยามคนหนึ่งซึ่งยืนอยู่ที่นั่นตบพระพักตร์พระเยซูเจ้า ตวาดว่า “เจ้าตอบเช่นนี้กับมหาสมณะได้หรือ”  (23)พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “ถ้าเราพูดผิด จงชี้ให้เห็นว่าเราผิดอย่างไร แต่ถ้าเราพูดถูก ท่านตบหน้าเราทำไม”  (24)อันนาสจึงส่งพระองค์ ซึ่งยังถูกมัดอยู่ไปหามหาสมณะคายาฟาส

มีพระวรสารของยอห์นเท่านั้นที่บันทึกว่า พระเยซูเจ้าทรงถูกนำตัวไปพบอันนาสก่อนคายาฟาสซึ่งเป็นมหาสมณะในขณะนั้น
อันนาสเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงโด่งดังและกระฉ่อนมาก ไม่มีใครประสบความสำเร็จและร่ำรวยมากเท่าเขา แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่มีใครที่ผู้คนจะเกลียดชังและด่าแช่งมากเท่ากับเขา
อันนาสเป็นมหาสมณะระหว่าง ค.ศ. 6-15  ต่อจากนั้นบุตรชายของเขาอีกสี่คนได้สืบทอดตำแหน่งนี้ต่อมา  แม้คายาฟาสซึ่งเป็นมหาสมณะคนปัจจุบันก็เป็นบุตรเขยของเขาเอง  เรียกว่าบุคคลที่อยู่เบื้องหลังอำนาจตัวจริงคืออันนาสนี่เอง
ในสมัยที่ชาวยิวยังเป็นอิสระจากกรุงโรม มหาสมณะดำรงตำแหน่งตลอดชีวิต  แต่เมื่อรัฐบาลโรมก้าวเข้ามามีบทบาทในปาเลสไตน์ ตำแหน่งมหาสมณะกลายเป็นสิ่งที่ต้องช่วงชิง ใช้เส้นสาย ติดสินบน และมีการคอร์รัปชั่นกันอย่างไม่อายฟ้าดิน  ใครที่ประจบประแจงผู้ว่าราชการโรมันเก่งและพร้อมจ่ายค่าตอบแทนในราคาสูง ก็จะได้ตำแหน่งมหาสมณะมาครอบครอง
เมื่อต้องลงทุนสูง มหาสมณะจึงต้องหาทางถอนทุนบวกกับกำไรทุกวิถีทาง
พระวิหารรอบนอกสุดเป็นบริเวณสำหรับคนต่างศาสนา  ในบริเวณนี้เองที่ยอห์นเล่าว่า “พระองค์ทรงพบพ่อค้าขายโค พ่อค้าขายแกะ พ่อค้าขายนกพิราบ และคนแลกเงินนั่งอยู่ที่โต๊ะ พระองค์ทรงใช้เชือกเป็นแส้ ทรงขับไล่ทุกคนรวมทั้งแกะและโคออกจากพระวิหาร ทรงปัดเงินกระจายเกลื่อนกลาด และทรงคว่ำโต๊ะของผู้แลกเงิน แล้วตรัสแก่คนขายนกพิราบว่า ‘จงนำของเหล่านี้ออกไป อย่าทำบ้านของพระบิดาของเราให้เป็นตลาด’” (ยน 2:14-16)
บริเวณนี้เองที่ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่าเป็นบาซ่าร์ (ตลาด) ของอันนาส แต่สิ่งที่ลูกน้องของอันนาสกระทำกลับไม่ใช่การค้าขาย ที่ถูกต้องเรียกว่าขูดรีด
กฎหมายกำหนดไว้ว่าสัตว์ที่นำมาถวายบูชาในพระวิหารต้องปราศจากตำหนิ อันนาสจึงแต่งตั้งผู้ตรวจสอบเพื่อตรวจตราสัตว์ที่ซื้อมาจากร้านค้านอกพระวิหาร ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาต้องพยายามค้นหาจนพบตำหนิและใช้ถวายบูชาไม่ได้
แต่ถ้าซื้อสัตว์จากร้านค้าของอันนาสซึ่งอยู่ภายในพระวิหาร ถือว่าผ่านการตรวจสอบโดยอัตโนมัติ และไม่ต้องเสี่ยงกับการถูกห้ามถวาย
ฟังดูเหมือนเป็นการอำนวยความสะดวก แต่มีหลักฐานว่าราคานกพิราบที่ซื้อขายในพระวิหารสูงกว่านอกพระวิหารถึง 18.75 เท่า หรือ 1,875 เปอร์เซ็นต์
ครอบครัวของอันนาสจึงมั่งคั่งร่ำรวย  แต่เป็นความมั่งคั่งที่ได้มาจากการฉกฉวยผลประโยชน์จากคนที่มานมัสการพระเจ้า และจากการซื้อขายเครื่องบูชาศักดิ์สิทธิ์ !
หนังสือ Talmud จึงมีข้อความตอนหนึ่งเขียนไว้ว่า “วิบัติจงมีแก่ครอบครัวของอันนาส !  วิบัติจงมีแก่เสียงขู่เหมือนงูของพวกเขา !  พวกเขาเป็นมหาสมณะ  บุตรชายของพวกเขาเป็นผู้ดูแลสมบัติ  บุตรเขยของพวกเขาเป็นผู้ดูแลพระวิหาร  และบรรดาคนใช้ของพวกเขาไล่ตีประชาชนด้วยไม้เท้า”
อันนาสและครอบครัวของเขาช่างมีชื่อเสียงกระฉ่อนขนาดได้ลงหนังสือ Talmud !!
จึงไม่แปลกที่อันนาสจัดให้พระเยซูเจ้ามาพบเขาก่อน เพราะพระองค์คือผู้ที่ทุบหม้อข้าวหม้อแกงของเขา  พระองค์มาขัดจังหวะการแสวงหาผลประโยชน์จากการค้าขายเครื่องบูชาของเขา
เขาอยากดูพระองค์ให้สะใจหน่อย !

กระบวนการไต่สวนของอันนาสขัดกับกระบวนการยุติธรรมอย่างยิ่ง เพราะกฎหมายยิวห้ามถามคำถามที่เป็นการปรักปรำตัวผู้ต้องหาเอง  แต่อันนาสกลับถามพระเยซูเจ้าถึงเรื่องคำสอนของพระองค์ (ยน 18:19)
พระองค์จึงตรัสตอบว่า “ท่านถามเราทำไม จงถามผู้ที่ได้ฟังเราเถิดว่าเราบอกสิ่งใดกับเขา” (ยน 18:21)  ความหมายของพระองค์คือ “หาพยานมาปรักปรำเราตามกฎหมายสิ  คุณมีสิทธิ์สอบถามพยานนี่  แต่ไม่มีสิทธิ์มาซักถามเรา”
ผลคือยามคนหนึ่งตบพระพักตร์ของพระองค์ เหมือนกับต้องการจะบอกพระองค์ว่า “เอ็งกล้าสอนวิธีไต่สวนแก่มหาสมณะหรือ”
พระองค์จึงตอบว่า “ถ้าเราพูดหรือสอนสิ่งใดผิดก็หาพยานมาสิ  เราพูดตามกฎหมาย แล้วมาตบเราทำไม”

พระเยซูเจ้าไม่มีความหวังที่จะได้รับความยุติธรรมเลย เพราะพระองค์ไปแตะต้องผลประโยชน์ของอันนาสและญาติโยมของเขา
อันที่จริงพระองค์ถูกตัดสินก่อนการไต่สวนเสียอีก !
กระนั้นก็ตาม อย่าว่าแต่อันนาสเลย เพราะหากเราปล่อยตัวให้จมอยู่ในความผิดเหมือนเขา เราคงหาทางกำจัดฝ่ายตรงข้ามให้สิ้นซากโดยไม่คำนึงถึงวิธีการว่าจะถูกกฎหมายหรือไม่ เหมือนกัน !


เปโตรปฏิเสธไม่รู้จักพระองค์

ยน 18:15-18, 25-27
(15)ซีโมนเปโตรตามพระเยซูเจ้าไปกับศิษย์อีกผู้หนึ่ง ศิษย์ผู้นั้นรู้จักมหาสมณะ จึงเข้าไปในลานบ้านของมหาสมณะพร้อมกับพระเยซูเจ้า  (16)ส่วนเปโตรยืนอยู่ข้างนอก หน้าประตู ศิษย์อีกผู้หนึ่งที่รู้จักมหาสมณะนั้นออกมาพูดกับหญิงเฝ้าประตู แล้วพาเปโตรเข้าไปด้วย  (17)หญิงเฝ้าประตูพูดกับเปโตรว่า “ท่านไม่เป็นศิษย์ของชายผู้นี้ด้วยหรือ” เปโตรตอบว่า “ไม่เป็น” (18)บรรดาผู้รับใช้และยามนำถ่านมาก่อไฟเพราะอากาศหนาว แล้วยืนผิงไฟกันที่นั่น เปโตรก็ยืนผิงไฟกับเขาด้วย
(25)ขณะนั้นซีโมนเปโตรกำลังยืนผิงไฟอยู่ คนที่อยู่ด้วยถามเขาว่า “ท่านไม่เป็นศิษย์ของเขาด้วยหรือ” เปโตรปฏิเสธว่า “ไม่เป็น”  (26)ผู้รับใช้คนหนึ่งของมหาสมณะเป็นญาติกับคนซึ่งเปโตรฟันใบหูขาดพูดว่า “ข้าพเจ้าเห็นท่านอยู่ในสวนกับเขามิใช่หรือ” (27)เปโตรปฏิเสธอีกครั้งหนึ่ง ทันใดนั้น ไก่ก็ขัน

    ในขณะที่บรรดาศิษย์ละทิ้งพระเยซูเจ้าและหลบหนีไปหมด แต่เปโตรไม่ !
    เปโตรไม่อาจปล่อยพระองค์ไว้ตามลำพังได้ เขาจึงเข้าไปในบ้านของมหาสมณะคายาฟาสกับศิษย์อีกผู้หนึ่งที่สามารถเข้านอกออกในได้เพราะรู้จักกับมหาสมณะและคนรับใช้
    มีการคาดเดาต่าง ๆ นานาว่าศิษย์ผู้นี้คือใคร  บางคนบอกไม่มีทางรู้ชื่อศิษย์คนนี้ได้เลย  บางคนบอกว่าศิษย์ผู้นี้คือนิโคเดมัสหรือไม่ก็เป็นโยเซฟชาวอาริมาเธีย ซึ่งต่างก็เป็นสมาชิกสภาสูงด้วยกันทั้งคู่ จึงรู้จักกับมหาสมณะเป็นอย่างดี  บางคนบอกว่าคือยูดาส อิสคาริโอทซึ่งต้องเข้าบ้านมหาสมณะบ่อย ๆ ระหว่างวางแผนทรยศอาจารย์ของตนเอง  แต่ความเห็นสุดท้ายนี้คงเป็นไปได้ยาก เพราะในสวนเกทเสมนี เปโตรรู้แล้วว่ายูดาสคือผู้ทรยศและคงไม่ยอมร่วมทางกับคนทรยศเข้าถ้ำเสือเป็นแน่
    ความเห็นที่สืบทอดกันมาแต่แรกคือศิษย์ผู้นี้ได้แก่ยอห์นเอง  แต่คำถามคือยอห์นซึ่งเป็นชาวกาลิลีจะรู้จักกับมหาสมณะซึ่งอยู่ในแคว้นยูเดียทางใต้ได้อย่างไร ?
    คำอธิบายที่พอยอมรับได้คือ บิดาของยอห์นคงทำธุรกิจที่เฟื่องฟูจึงสามารถจ้างคนใช้ได้ (มก 1:20) และอุตสาหกรรมที่ขึ้นชื่อลือชาของชาวกาลิลีคือการทำปลาเค็ม เพราะการรักษาปลาให้สดท่ามกลางอากาศที่ร้อนจัดและไม่มีน้ำแข็งหรือตู้เย็นเช่นปัจจุบันเป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้  ปลาเค็มจึงกลายเป็นอาหารหลักและสินค้าสำคัญ
    เชื่อกันว่าบิดาของยอห์นมีกิจการค้าปลาเค็ม และเป็นผู้ส่งปลาเค็มรายใหญ่ให้แก่ครอบครัวของมหาสมณะ  ยอห์นจึงมีโอกาสรู้จักกับมหาสมณะและบรรดาคนใช้ในบ้าน
    พวกฟรังซิสกันเชื่อว่าบิดาของยอห์นมีสำนักงานสาขาอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็มเพื่อจัดส่งปลาเค็มให้บ้านของมหาสมณะคายาฟาส  ปัจจุบันที่ตั้งของสำนักงานสาขาแห่งนี้เป็นร้านกาแฟของชาวอาหรับคนหนึ่ง
    ไม่ว่าศิษย์ผู้นี้จะใช่ยอห์นหรือไม่ เขาได้นำเปโตรเข้าไปในบ้านของมหาสมณะ และที่นี่ท่านได้ปฏิเสธพระเยซูเจ้าสามครั้ง
    ที่น่าสังเกตคือพระเยซูเจ้าทรงทำนายว่าเปโตรจะปฏิเสธพระองค์สามครั้งก่อน “ไก่ขัน” ปัญหาคือตามกฎหมายของชาวยิวการเลี้ยงไก่ในนครศักดิ์สิทธิ์เป็นสิ่งต้องห้าม หรือว่าชาวยิวเลิกถือกฎข้อนี้แล้ว ? และอีกปัญหาหนึ่งคือ เราแน่ใจได้อย่างไรว่าไก่ยิวจะขันเวลาตีสาม ?
    ที่เราทราบคือ กองทหารโรมันมีการผลัดเปลี่ยนเวรยามเวลาตีสาม ขณะเปลี่ยนเวรพวกเขาจะเป่าแตรเดี่ยว (trumpet)  คำแตรเดี่ยวตรงกับภาษาละติน gallicinium (กัลลีชีนีอุม) และภาษากรีก alektorophōnia (อเลคตอรอโฟเนีย) ซึ่งมีความหมายเหมือนกันคือ “เสียงไก่ขัน”
    เป็นไปได้มากว่าพระเยซูเจ้าตรัสกับเปโตรว่า “ก่อนแตรเดี่ยวจะส่งเสียงเหมือนไก่ขันเวลาตีสาม เจ้าจะปฏิเสธเราสามครั้ง”
    เมื่อเสียแตรดังเวลาตีสาม เปโตรจึงระลึกถึงคำพูดของพระองค์ได้ !

    ไม่มีอัครสาวกคนใดจะถูกตัดสินอย่างไม่เป็นธรรมเทียบเท่าเปโตรอีกแล้ว  ทั้งบรรดาผู้เทศน์และผู้อธิบายพระคัมภีร์มักเน้นย้ำความผิดพลาดและความน่าละอายของท่าน
    แต่สิ่งที่เราต้องระลึกอยู่เสมอคือ
    1.    บรรดาอัครสาวกคนอื่น ๆ ยกเว้นยอห์น (ถ้าท่านคือศิษย์นิรนามผู้นั้น) ต่างพากันละทิ้งพระเยซูเจ้าและหลบหนีไป  แต่เปโตรไม่ได้หลบหนี ท่านยังคงติดตามพระองค์  และในสวนเกทเสมนีก็เป็นท่านเพียงคนเดียวที่ชักดาบสู้กับทหารนับร้อย
        สิ่งแรกที่ควรระลึกถึงเปโตรจึงมิใช่ความผิดพลาดของท่าน  แต่เป็นความกล้าหาญที่ทำให้ท่านตามติดพระเยซูเจ้าในขณะที่คนอื่น ๆ หลบหนีไปหมดแล้ว  ความผิดพลาดของท่านเกิดขึ้นก็เพราะท่านกล้าหาญมากนั่นเอง !
        ท่านผิดพลาดก็จริงอยู่  แต่ท่านผิดพลาดในสถานการณ์ที่ศิษย์คนอื่น ๆ ไม่กล้าแม้แต่จะเผชิญหน้า
         ท่านพลาดไม่ใช่เพราะขี้ขลาด แต่เพราะท่านกล้าหาญ !!
    2.    เราต้องระลึกว่าเปโตรรักพระเยซูเจ้ามากสักเพียงใด  คนอื่น ๆ ทอดทิ้งพระองค์ แต่ท่านยืนหยัดอยู่เคียงข้างพระองค์
        ท่านรักพระเยซูเจ้ามากจนไม่อาจทอดทิ้งพระองค์ไว้ตามลำพังได้ !
        ท่านพลาดก็จริง แต่ท่านพลาดในสภาพแวดล้อมที่คนรักพระองค์จริง ๆ เท่านั้นจึงจะมีโอกาสได้ประสบ
    3.    เราต้องระลึกอยู่เสมอว่าเปโตรพยายามแก้ไขความผิดพลาดที่ท่านก่อขึ้น  เรื่องราวการปฏิเสธพระเยซูเจ้าของท่านคงแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้วที่ชอบฟังเรื่องเลวร้ายของคนอื่นมากกว่าฟังเรื่องดี ๆ  จนมีตำนานเล่าว่าผู้คนชอบล้อเลียนท่านด้วยการทำเสียงไก่ขันเมื่อท่านเดินผ่าน
        ดูแล้วชีวิตไม่ง่ายเลยสำหรับท่าน  แต่ท่านกล้าและตั้งใจแน่วแน่ที่จะแก้ไขความผิดพลาด
นี่คือความยิ่งใหญ่สุด ๆ ของท่าน !
   
    อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงให้จงหนักคือ “ตัวตนจริง ๆ” ของท่าน
         - เปโตรคือผู้ที่ยืนยันความจงรักภักดีต่อพระเยซูเจ้าบนห้องชั้นบนที่ใช้จัดเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้ายด้วยการกล่าวว่า “พระเจ้าข้า ทำไมข้าพเจ้าจึงตามพระองค์ไปเวลานี้ไม่ได้ ข้าพเจ้าจะสละชีวิตเพื่อพระองค์” (ยน 13:37)
- เปโตรคือผู้ที่ชักดาบออกจากฝักท่ามกลางแสงจันทร์ในสวนเกทเสมนี
         - เปโตรคือผู้ที่ติดตามพระเยซูเจ้าเข้าไปในบ้านของศัตรูเพราะไม่อาจละทิ้งพระองค์ไว้ตามลำพังได้
    ส่วนสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนแท้จริงของท่านคือ ความอ่อนแออันเกิดจากแรงกดดันจนทำให้ท่านปฏิเสธพระองค์
    นี่คือสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงมองเห็น !
    ความสุดยอดของพระองค์คือ ภายใต้ความผิดพลาดมากมาย พระองค์ทรงมองเห็น “ตัวตนที่แท้จริง” ของเรา
    พระองค์ทรงเข้าใจเรา
    ความรักที่พร้อมให้อภัยของพระองค์ ทำให้พระองค์มองเห็นตัวตนที่แท้จริงของเรา
        - พระองค์ไม่ได้ดูที่ความถูกผิด แต่ดูที่ความจงรักภักดีของเรา
        - พระองค์ไม่ได้ดูที่ความพ่ายแพ้ แต่ดูที่ความมุ่งมั่นทำดีของเรา


ปีลาตไต่สวนพระเยซูเจ้า

ยน 18:28-19:16
(28)เขาเหล่านั้นนำพระเยซูเจ้าจากบ้านของคายาฟาสไปยังจวนผู้ว่าราชการ ขณะนั้นเป็นเวลาเช้าตรู่ คนเหล่านั้นไม่เข้าไปในจวน เพื่อมิให้เป็นมลทินแก่ตน จะได้กินปัสกาได้  (29)ปีลาตจึงออกมาพบเขาข้างนอก กล่าวว่า “ท่านทั้งหลายมีข้อกล่าวหาอะไรมาฟ้องชายคนนี้” เขาตอบว่า  (30)“ถ้าคนนี้ไม่ใช่ผู้ร้าย เราคงไม่นำมามอบให้ท่าน”  (31)ปีลาตพูดกับเขาว่า “ท่านทั้งหลายจงนำเขาไปพิพากษากันเองตามกฎหมายของท่านเถิด” ชาวยิวตอบว่า “พวกเราไม่มีอำนาจประหารชีวิตผู้ใดได้  (32)ดังนี้ พระวาจาของพระเยซูเจ้าจึงเป็นจริงตามที่ตรัสไว้ล่วงหน้าว่า พระองค์จะต้องสิ้นพระชนม์อย่างไร  (33)ปีลาตกลับเข้าไปในจวน และเรียกพระเยซูเจ้ามาถามว่า “ท่านเป็นกษัตริย์ของชาวยิวหรือ”  (34)พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “ท่านถามดังนี้ด้วยตนเอง หรือผู้อื่นบอกท่านถึงเรื่องของเรา”  (35)ปีลาตตอบว่า “ข้าพเจ้าเป็นชาวยิวหรือ ชนชาติของท่าน และบรรดาหัวหน้าสมณะมอบท่านให้ข้าพเจ้า ท่านทำผิดสิ่งใด”  (36)พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “อาณาจักรของเรามิได้มาจากโลกนี้ ถ้าอาณาจักรของเรามาจากโลกนี้ ผู้รับใช้ของเราก็คงจะต่อสู้เพื่อมิให้เราถูกมอบให้ชาวยิว แต่อาณาจักรของเราไม่ได้เป็นของโลกนี้”  (37)ปีลาตจึงถามพระองค์ว่า “ถ้าเช่นนั้น ท่านเป็นกษัตริย์ใช่ไหม” พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “ท่านพูดว่าเราเป็นกษัตริย์นั้นถูกต้องแล้ว เราเกิดมาเพื่อเป็นกษัตริย์ เรามาในโลกนี้เพื่อเป็นพยานถึงความจริง ผู้ใดอยู่ฝ่ายความจริงก็ฟังเรา”  (38)ปีลาตจึงถามว่า “ความจริงคืออะไร” พูดดังนี้แล้ว เขาก็กลับออกมาพบชาวยิวข้างนอกอีก พูดว่า “ข้าพเจ้าไม่พบข้อกล่าวหาอะไรปรักปรำชายผู้นี้ได้  (39)แต่ท่านทั้งหลายมีธรรมเนียมให้ปล่อยนักโทษคนหนึ่งในเทศกาลปัสกา ท่านทั้งหลายต้องการให้ข้าพเจ้าปล่อยกษัตริย์ของชาวยิวหรือ”  (40)เขาเหล่านั้นจึงร้องตะโกนว่า “อย่าปล่อยคนนี้ แต่จงปล่อยบารับบัส” บารับบัสผู้นี้เป็นโจร
     19  (1)ปีลาตสั่งให้นำพระเยซูเจ้าไปเฆี่ยน  (2)บรรดาทหารนำหนามมาสานเป็นมงกุฎสวมพระเศียร ให้พระองค์ทรงเสื้อคลุมสีแดง  (3)ทหารเข้ามาหาพระองค์และพูดว่า “กษัตริย์ของชาวยิว ขอทรงพระเจริญ” แล้วตบพระพักตร์พระองค์  (4)ปีลาตออกมาข้างนอกอีกครั้งหนึ่ง พูดกับคนเหล่านั้นว่า “ดูเถิด เรานำชายผู้นี้ออกมา ให้ท่านรู้ว่าเราไม่พบว่าเขามีความผิดประการใด”  (5)แล้วพระเยซูเจ้าเสด็จออกมาข้างนอก ทรงมงกุฎหนามและเสื้อคลุมสีแดง ปีลาตพูดกับประชาชนว่า “นี่คือ คนคนนั้น”  (6)เมื่อบรรดาหัวหน้าสมณะและยามรักษาพระวิหารเห็นพระองค์ก็ตะโกนว่า “เอาไปตรึงกางเขน เอาไปตรึงกางเขน” ปีลาตสั่งว่า “ท่านทั้งหลาย จงนำเขาไปตรึงกางเขนกันเองเถิด เพราะเราไม่พบว่าเขามีความผิดประการใด  (7)ชาวยิวตอบว่า “พวกเรามีกฎหมาย และตามกฎหมายนั้น เขาต้องตาย เพราะตั้งตนเป็นบุตรของพระเจ้า”  (8)เมื่อปีลาตได้ยินถ้อยคำนี้ ก็มีความกลัวมากขึ้น  (9)จึงเข้าไปในจวนอีก ถามพระเยซูเจ้าว่า “ท่านมาจากไหน” พระเยซูเจ้าไม่ตรัสตอบแต่ประการใด  (10)ปีลาตจึงถามพระองค์ว่า “ท่านไม่อยากพูดกับเราหรือ ท่านไม่รู้หรือว่า เรามีอำนาจจะปล่อยท่านก็ได้ จะตรึงกางเขนท่านก็ได้  (11)พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “ท่านไม่มีอำนาจใดเหนือเราเลย ถ้าท่านมิได้รับอำนาจนั้นมาจากเบื้องบน  ดังนั้น ผู้ที่มอบเราให้ท่านก็มีบาปมากกว่าท่าน”
     (12)นับตั้งแต่นั้น ปีลาตพยายามหาทางปล่อยพระองค์ ชาวยิวตะโกนว่า “ถ้าท่านปล่อยผู้นี้ไป ท่านก็ไม่เป็นมิตรของพระจักรพรรดิ ผู้ใดตั้งตนเป็นกษัตริย์ ก็เป็นศัตรูของพระจักรพรรดิ”  (13)เมื่อปีลาตได้ยินถ้อยคำเหล่านี้ จึงสั่งให้นำพระเยซูเจ้าออกมาข้างนอก ให้นั่งบนบัลลังก์พิพากษาในสถานที่ที่เรียกว่า “ลานศิลา” ภาษาฮีบรูว่า กับบาธา  (14)วันนั้นเป็นวันเตรียมฉลองปัสกาเวลาประมาณเที่ยงวัน ปีลาตบอกชาวยิวว่า “นี่คือกษัตริย์ของท่านทั้งหลาย”  (15)เขาเหล่านั้นตะโกนว่า “เอาตัวไป เอาตัวไปตรึงกางเขน” ปีลาตถามเขาว่า “จะให้เราตรึงกางเขนกษัตริย์ของท่านหรือ” บรรดาหัวหน้าสมณะตอบว่า “พวกเราไม่มีกษัตริย์อื่น นอกจากพระจักรพรรดิ”  (16)ปีลาตจึงมอบพระองค์ให้เขาเหล่านั้นนำไปตรึงกางเขน

    พระวรสารตอนนี้แสดงให้เห็นทั้งความขัดแย้งและความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันของบุคคลหลายฝ่าย  จึงขอแยกอธิบายตามกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนี้
   
ชาวยิว
    ในสมัยพระเยซูเจ้า ปาเลสไตน์เป็นเมืองขึ้นของโรมก็จริง แต่โรมให้สิทธิส่วนใหญ่ในการปกครองตนเองแก่ชาวยิว ยกเว้นสิทธิในการประหารชีวิตที่ยังคงเป็นของโรมฝ่ายเดียว
    โยเซฟุสบันทึกไว้ว่า ผู้ว่าราชการคนแรกของปาเลสไตน์คือโคโปนีอุส (Coponius)  เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนของซีซาร์และมี “อำนาจเหนือชีวิตและความตาย” อยู่ในมือ
    โยเซฟุสยังเล่าอีกว่า มีมหาสมณะผู้หนึ่งชื่ออานานัส (Ananus) ได้ตัดสินประหารชีวิตบรรดาศัตรูของเขา ชาวยิวประท้วงไปยังกรุงโรม ผลคืออานานัสถูกปลดออกจากตำแหน่งเพราะก้าวล่วงอำนาจของโรม
    กรณีของนักบุญสเตเฟนบ่งบอกได้ชัดเจนว่าชาวยิวละเมิดกฎหมายของโรม
    อนึ่ง หากชาวยิวมีอธิปไตยเหนือดินแดนและมีสิทธิลงโทษประหารชีวิต วิธีการลงโทษต้องเป็น “ทุ่มหิน” เพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่า “ผู้ใดกล่าวดูหมิ่นถึงพระยาห์เวห์จะต้องถูกประหารชีวิต ทุกคนในชุมนุมอิสราเอลจะต้องเอาหินทุ่มเขาให้ตาย” (ลนต 24:16) โดยโจทก์ต้องเป็นคนแรกที่ลงมือทุ่มหิน (ฉธบ 17:7)
    แต่พระเยซูเจ้าทรงทราบล่วงหน้าแล้วว่าพระองค์จะไม่ถูกทุ่มหิน ดังที่ยอห์นเล่าว่า “ดังนี้ พระวาจาของพระเยซูเจ้าจึงเป็นจริงตามที่ตรัสไว้ล่วงหน้า” (ยน 18:32)  สิ่งที่พระองค์ตรัสไว้ล่วงหน้าคือ “เมื่อเราจะถูกยกขึ้นจากแผ่นดิน เราจะดึงดูดทุกคนเข้ามาหาเรา” (ยน 12:32)
    “ถูกยกขึ้น” คือ “ถูกตรึงกางเขน”
    เพราะวิธีการที่โรมใช้ประหารชีวิตนักโทษคือ “ตรึงกางเขน” ไม่ใช่ “ทุ่มหิน”
    ชาวยิวรู้ดีว่าไม่มีอำนาจประหารชีวิตผู้ใดได้ (ยน 18:31) จึงพาพระองค์มาหาปีลาต  พวกเขาตั้งใจใช้ปีลาตเป็นเครื่องมือและยืมมือชาวโรมันฆ่าพระองค์
    สิ่งเหล่านี้แสดงถึง ความเกลียดชังที่พวกเขามีต่อพระเยซูเจ้า  และความเกลียดชังนี้ได้พัฒนาขึ้นเรื่อยจนเข้ากระดูกดำและแสดงออกเหมือนคนบ้าคลั่ง ขาดเหตุผล ขาดความเมตตา  พวกเขาทำได้เพียงร้องตะโกนว่า “เอาตัวไป เอาตัวไปตรึงกางเขน” (ยน 19:15)
    เมื่อใดก็ตามที่เราปล่อยให้ความเกลียดชังเข้าครอบงำจิตใจ เราจะไม่สามารถคิด มอง หรือฟังสิ่งใดได้แบบตรงไปตรงมาโดยปราศจากการบิดเบือน เพราะความเกลียดชังได้ทำลายสติและความมีเหตุมีผลของเราไปจนหมดสิ้นแล้ว ดังที่ชาวยิวกระทำกับพระเยซูเจ้า เช่น
    1.    พวกเขาไม่รู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควร  พวกเขาไม่เข้าไปในจวนของผู้ว่าเพื่อมิให้เป็นมลทินแก่ตนเอง จะได้กินปัสกาได้  แต่กลับพยายามทุกวิถีทางที่จะตรึงกางเขนพระบุตรของพระเจ้าให้จงได้ !
        กฎหมายยิวกำหนดไว้ว่า “การเข้าไปในที่พักของคนต่างศาสนาเป็นมลทิน”  และอีกประการหนึ่ง การเข้าไปในจวนของผู้ว่าย่อมมีโอกาสสัมผัสเชื้อแป้งซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามในเทศกาลปัสกา
        แต่ถึงจะมีมลทินเพราะเข้าไปในจวน มลทินนี้ก็คงอยู่ถึงตอนเย็นเท่านั้น หากพวกเขาทำพิธีชำระล้าง ก็จะสะอาดปราศจากมลทินและร่วมกินเลี้ยงปัสกาในวันรุ่งขึ้นได้
        ดูสิ !  พวกเขาถือกฎเกณฑ์หยุมหยิมมากมายอย่างเคร่งครัด แต่ในเวลาเดียวกัน พวกเขาก็ไล่ล่าจะตรึงกางเขนพระเยซูเจ้าให้จงได้
        หลายครั้ง เราทำตัวไม่แตกต่างจากชาวยิว  เราใส่ใจกฎเกณฑ์และขั้นตอนต่าง ๆ ในพิธีกรรมอย่างเคร่งครัด รวมถึงพิถีพิถันในรายละเอียดเรื่องอาภรณ์และภาชนะศักดิ์สิทธิ์  แต่กลับละเลยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “ความยุติธรรมและความรัก” (ลก 11:42)
        น่าเสียดายหากเราสูญเสียสติจนไม่สามารถ “Put the first thing first” !
    2.    พวกเขาพร้อมจะบิดเบือนความจริง  ขณะไต่สวนพระเยซูเจ้า มหาสมณะฉีกเสื้อของตนแล้วกล่าวว่า “เขาพูดดูหมิ่นพระเจ้า เราจะต้องการพยานอะไรอีกเล่า ท่านทั้งหลายต่างได้ยินเขาพูดดูหมิ่นพระเจ้าแล้ว ท่านคิดอย่างไร” ทุกคนตอบว่า “เขาสมควรต้องตาย” (มธ 26:65-66)
        แม้ต่อหน้าปีลาต พวกเขากล่าวหาพระองค์ว่า “เขาต้องตาย เพราะตั้งตนเป็นบุตรของพระเจ้า” (ยน 19:7)
        แต่เมื่อเห็นว่าปีลาตคงไม่ตัดสินคดีข้อหา “ดูหมิ่นพระเจ้า” หรือ “ตั้งตนเป็นบุตรของพระเจ้า”  พวกเขาจึงเปลี่ยนข้อหาใหม่เพื่อบีบบังคับปีลาตให้ตัดสินคดีตามที่พวกเขาต้องการ “ถ้าท่านปล่อยผู้นี้ไป ท่านก็ไม่เป็นมิตรของพระจักรพรรดิ ผู้ใดตั้งตนเป็นกษัตริย์ ก็เป็นศัตรูของพระจักรพรรดิ” (ยน 19:12)
        ข้อหาใหม่นั้นหนักหนายิ่งนัก พวกเขากล่าวหาพระเยซูเจ้าว่าตั้งตนเป็นกษัตริย์ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ พระองค์เป็นกบฏ
        ความเกลียดชังทำให้พวกเขาไม่ลังเลเลยที่จะบิดเบือนความจริง !
    3.    พวกเขาพร้อมทรยศต่อหลักการ เพียงเพื่อกำจัดพระเยซูเจ้าให้ได้  ต่อหน้าปีลาตพวกเขาพูดว่า “พวกเราไม่มีกษัตริย์อื่น นอกจากซีซาร์” (ยน 19:15)
        ก่อนหน้านี้ ชาวยิวถือว่าพระยาเวห์เพียงพระองค์เดียวคือกษัตริย์ปกครองพวกเขา (เทียบ 1ซมอ 12:12)  คราวที่พวกเขาขอร้องกิเดโอนให้เป็นกษัตริย์ กิเดโอนตอบกลับว่า “ข้าพเจ้าและบุตรของข้าพเจ้าจะไม่เป็นกษัตริย์ปกครองท่านทั้งหลาย พระยาห์เวห์ต่างหากจะทรงเป็นกษัตริย์ปกครองท่าน” (วนฉ 8:23)
        เมื่อโรมมีอำนาจเหนือปาเลสไตน์และสั่งให้มีการสำรวจสำมะโนประชากรเพื่อจัดเก็บภาษี  ชาวยิวก่อการจลาจลนองเลือดด้วยเหตุผลว่า พระยาเวห์ทรงเป็นกษัตริย์ของพวกเขา และพวกเขาจะจ่ายภาษีให้แก่พระยาเวห์เท่านั้น
        แต่เพื่อจะประหารพระเยซูเจ้า พวกเขากลับละทิ้งหลักการอย่างไร้ยางอายด้วยการยอมรับซีซาร์เป็นกษัตริย์  ปีลาตคงได้แต่ถอนหายใจด้วยความพิศวงงงงวยระคนเยาะเย้ยขบขัน
        พวกเขาพร้อมจะละทิ้งหลักการเพื่อกำจัดพระเยซูเจ้า !
    ช่างเป็นภาพที่น่าสะพรึงกลัวจริง ๆ ที่ความเกลียดชังได้เปลี่ยนชาวยิวให้กลายเป็นม็อบที่บ้าคลั่ง ขาดสติ ขาดความยุติธรรม ไร้ความเมตตา และพร้อมจะละทิ้งหลักการหรือแม้แต่พระยาเวห์พระเจ้าของตน

ปีลาต
    ปีลาตเป็นบุคคลที่เข้าใจได้ยากมาก  ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าข้อกล่าวหาของชาวยิวไม่เป็นความจริง อีกทั้งตนเองก็ประทับใจพระเยซูเจ้าและรู้อยู่แก่ใจว่าพระองค์เป็นผู้บริสุทธิ์  เขาไม่ต้องการประหารชีวิตพระองค์ แต่ที่สุดกลับยอมให้ชาวยิวนำพระองค์ไปตรึงกางเขน
    ปีลาตเริ่มด้วยการบ่ายเบี่ยงไม่ยอมตัดสินคดีของพระเยซูเจ้า “ท่านทั้งหลายจงนำเขาไปพิพากษากันเองตามกฎหมายของท่านเถิด” (ยน 18:31)  ต่อมาเขาพยายามปล่อยพระองค์ด้วยการอ้างธรรมเนียมของชาวยิว “ข้าพเจ้าไม่พบข้อกล่าวหาอะไรปรักปรำชายผู้นี้ได้  แต่ท่านทั้งหลายมีธรรมเนียมให้ปล่อยนักโทษคนหนึ่งในเทศกาลปัสกา ท่านทั้งหลายต้องการให้ข้าพเจ้าปล่อยกษัตริย์ของชาวยิวหรือ” (ยน 18:38-39)  เมื่อชาวยิวยืนกรานให้ปล่อยบารับบัส เขาก็สั่งทหารให้นำพระองค์ไปเฆี่ยน (ยน 19:1) แล้วอ้อนวอนชาวยิวให้สงสารพระองค์ “ดูเถิด เรานำชายผู้นี้ออกมา ให้ท่านรู้ว่าเราไม่พบว่าเขามีความผิดประการใด” (ยน 19:4)
    แต่เขาก็ไม่ยอมทุบโต๊ะเพื่อยับยั้งแผนการชั่วร้ายของชาวยิว !
    เพื่อจะเข้าใจพฤติกรรมของปีลาต เราควรศึกษาภูมิหลังของเขาเท่าที่โยเซฟุสและฟีโลได้บันทึกไว้
    เมื่อกษัตริย์เฮโรดมหาราชสิ้นพระชนม์สี่ปีก่อนคริสตศักราช พระองค์แบ่งอาณาจักรปาเลสไตน์ออกเป็น 3 ส่วนให้บุตร 3 คนปกครอง เฮโรด อันติพาส และเฮโรด ฟีลิปสามารถปกครองดินแดนที่ได้รับมอบหมายอย่างสงบราบรื่น  แต่เฮโรด อาร์เคเลาสซึ่งปกครองดินแดนอิดูเมอา ยูเดีย และสะมาเรียเมื่ออายุเพียง 18 ขวบ กลับล้มเหลวและกลายเป็นทรราช จนชาวยิวพากันร้องเรียนไปยังกรุงโรมขอให้ปลดพระองค์และแต่งตั้งผู้ว่าราชการมาปกครองแทน
    ปี ค.ศ. 6 จักรพรรดิออกัสตัสส่งผู้ว่าราชการคนแรกมาปกครองปาเลสไตน์  ปีลาตได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าระหว่างปี ค.ศ. 26-35  ต้องยอมรับว่าเขาคงมีความสามารถมากจึงได้มาปกครองดินแดนที่เต็มไปด้วยปัญหาและความวุ่นวายมากมายเช่นนี้
    แต่มีหลายเหตุการณ์ที่แสดงว่าปีลาตไม่ประสบความสำเร็จในตำแหน่งผู้ว่ามากนัก
    เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นเมื่อปีลาตมาเยี่ยมกรุงเยรูซาเล็มพร้อมกองทหารติดตาม  กองทหารของเขามีธงประจำกอง บนยอดธงมีรูปจักรพรรดิครึ่งองค์ทำด้วยโลหะประดับอยู่  สำหรับชาวโรมัน จักรพรรดิคือเทพเจ้าของพวกเขา  มีหรือที่ชาวยิวจะยอมให้นำเทพเจ้าอื่นเข้ามาในนครเยรูซาเล็มอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้
    ชาวยิวขอร้องปีลาตให้ถอดรูปจักรพรรดิออกจากธงก่อนเข้ากรุงเยรูซาเล็มเหมือนที่ผู้ว่าคนก่อน ๆ เคยปฏิบัติ แต่ปีลาตไม่ยินยอม  เมื่อเขาเดินทางกลับซีซารียาซึ่งเป็นเมืองหลวง ชาวยิวเดินตามประท้วงเป็นเวลา 5 วัน  ที่สุดปีลาตยอมนัดเจรจากับฝูงชนที่สมรภูมิแห่งหนึ่ง ระหว่างการเจรจาเขาสั่งทหารเข้าปิดล้อมฝูงชน  แต่แทนที่ชาวยิวจะเกรงกลัว พวกเขากลับยื่นคอเข้าไปใต้คมดาบของทหาร  ปีลาตไม่กล้าสังหารหมู่ เลยต้องจำยอมเสียหน้าปฏิบัติตามคำขอของชาวยิวในที่สุด
    เหตุการณ์ที่สองเกิดขึ้นเมื่อกรุงเยรูซาเล็มประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ  ปีลาตตั้งใจสร้างระบบส่งน้ำโดยใช้เงินงบประมาณจากคลังของพระวิหาร ซึ่งชาวยิวถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์เด็ดขาดของพระเจ้าแต่เพียงพระองค์เดียว  ชาวยิวต่อต้านนโยบายดังกล่าวด้วยการก่อความไม่สงบตามถนนหนทาง  ปีลาตสั่งให้ทหารปลอมตัวเป็นชาวบ้านโดยซ่อนอาวุธไว้ภายในเสื้อคลุมแล้วเดินปะปนกับฝูงชน เมื่อได้รับสัญญาณ พวกทหารเข้าสลายฝูงชน  มีชาวยิวจำนวนมากถูกฆ่าตาย  พวกเขาจึงรายงานให้จักรพรรดิทรงทราบ
    เหตุการณ์ที่สามเกิดขึ้นเมื่อปีลาตเข้าพักที่ปราสาทของเฮโรดในกรุงเยรูซาเล็ม พร้อมกับนำโล่ซึ่งจารึกชื่อของจักรพรรดิตีเบรีอุสเข้าไปด้วย  ชาวยิวต่อต้านการนำทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับจักรพรรดิซึ่งเป็นเทพเจ้าองค์หนึ่งเข้ามาในนครศักดิ์สิทธิ์  ผู้หลักผู้ใหญ่หลายคนพยายามอ้อนวอนปีลาตให้ยอมเก็บโล่ แต่เขาปฏิเสธ  ที่สุดชาวยิวฟ้องจักรพรรดิตีเบรีอุส และจักรพรรดิทรงสั่งให้ปีลาตเก็บโล่
    หลังจากพระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์  ชาวสะมาเรียซึ่งปกติจงรักภักดีต่อโรม ได้ก่อการจลาจลย่อย ๆ ในปี ค.ศ. 35  แต่ปีลาตกลับสั่งทหารเข้าปราบปรามด้วยความรุนแรงและได้สังหารชาวเมืองมากมายจนผู้ว่าราชการแห่งซีเรียต้องเข้าแทรกแซง  จักรพรรดิตีเบรีอุสทรงสั่งให้ปีลาตกลับโรม  แต่ระหว่างเดินทางกลับโรม จักรพรรดิได้สิ้นพระชนม์
    เท่าที่ทราบ ปีลาตไม่เคยถูกดำเนินคดี และชื่อของเขาก็หายไปจากประวัติศาสตร์
    จากภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ ทำให้เราเห็นว่า ชาวยิวกำลังข่มขู่ปีลาตให้ตรึงกางเขนพระเยซูเจ้า  เมื่อพวกเขาพูดว่า “ถ้าท่านปล่อยผู้นี้ไป ท่านก็ไม่เป็นมิตรของพระจักรพรรดิ” (ยน 19:12) ความหมายที่พวกเขาต้องการบอกปีลาตจริง ๆ ก็คือ “ประวัติของท่านไม่สู้ดีนักนะ ท่านเคยถูกรายงานมาแล้ว  ถ้าท่านไม่ทำตามที่เราบอก เราจะรายงานจักรพรรดิอีก แล้วเก้าอี้ท่านจะร้อน”
    วันนั้น ปีลาตอยากจะทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่ความผิดพลาดในอดีตได้ตามหลอกหลอนเขา จนเขาไม่กล้าขัดขืนชาวยิว
เขาตรึงกางเขนพระเยซูเจ้าเพื่อจะรักษาเก้าอี้ของเขาไว้ !
    เมื่อได้รู้ภูมิหลังของปีลาตแล้ว คราวนี้เราหันมาดูสิ่งที่เขาได้กระทำต่อหน้าพระเยซูเจ้า
    1.    เขาพยายามโยนความรับผิดชอบให้ผู้อื่น “ท่านทั้งหลายจงนำเขาไปพิพากษากันเองตามกฎหมายของท่านเถิด” (ยน 18:31) เขาไม่ต้องการรับผิดชอบจัดการเรื่องพระเยซูเจ้า
        แต่ไม่มีใครที่จะหนีความรับผิดชอบนี้ไปได้  เราต้องจัดการเรื่องระหว่างเรากับพระเยซูเจ้าด้วยตัวของเราเอง
    2.    เขาพยายามหลีกเลี่ยงการพัวพันกับพระเยซูเจ้า ด้วยการอ้างธรรมเนียมของชาวยิวที่จะปล่อยนักโทษในเทศกาลปัสกา (ยน 18:39)
        แต่เมื่อข้องเกี่ยวกับพระเยซูเจ้าแล้ว เราจะหลีกเลี่ยงการตัดสินใจไม่ได้  เราต้องเลือกเอาระหว่าง “ยอมรับ” หรือ “ปฏิเสธ” พระองค์
    3.    เขาพยายามประนีประนอม ด้วยการสั่งเฆี่ยนแทนการสั่งประหารชีวิตพระองค์
         แต่เราจะประนีประนอมกับพระเยซูเจ้า ด้วยการพบกันครึ่งทาง หรือด้วยการรับใช้นายสองคนในเวลาเดียวกันไม่ได้
         เพราะ ถ้าเราไม่อยู่ข้างพระองค์ก็เท่ากับอยู่ตรงข้ามพระองค์ !
    4.    เขาพยายามอ้อนวอนฝูงชนเพื่อพระเยซูเจ้า  หลังจากให้ทหารทรมานพระองค์แล้ว เขานำพระองค์มาปรากฏตัวต่อหน้าฝูงชนโดยหวังว่าฝูงชนจะสงสารและปล่อยพระองค์
        แต่เราจะออดอ้อนผู้อื่น เช่น นักบุญหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ แทนการตัดสินใจเรื่องพระเยซูเจ้าด้วยตัวของเราเองไม่ได้ !
    นอกจากสิ่งที่ปีลาตกระทำต่อหน้าพระเยซูเจ้าดังได้กล่าวมาแล้ว เรายังอาจสรุปลักษณะนิสัยใจคอของเขาได้จากเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย
    1.    เขามีท่าทีเหยียดหยามผู้อื่นฝังอยู่ในกระดูก  เมื่อเขาถามพระเยซูเจ้าว่า “ท่านเป็นกษัตริย์ของชาวยิวหรือ” แล้วพระองค์ตรัสตอบว่า “ท่านถามดังนี้ด้วยตนเอง หรือผู้อื่นบอกท่านถึงเรื่องของเรา”  ปีลาตเย้ยหยันว่า “ข้าพเจ้าเป็นชาวยิวหรือ” (ยน 18:33-35)
        ความหมายของเขาคือ “ข้าไม่ใช่ชาวยิว เรื่องอะไรจะต้องไปรู้เรื่องของพวกเจ้า”   เขาหยิ่งจองหองเกินกว่าจะนำตัวเองเข้าไปพัวพันกับความขัดแย้งและความเชื่อผิด ๆ ของชาวยิว
        ความหยิ่งจองหองนี่เองที่ทำให้เขาล้มเหลวในการเป็นผู้ปกครอง เพราะไม่มีใครปกครองคนอื่นได้หากเขาไม่พยายาม “เข้าถึงและเข้าใจ” ความคิดและจิตใจของผู้อื่น
    2.    เขากลัวอำนาจเร้นลับ  เมื่อปีลาตทราบข้อหาว่าพระเยซูเจ้าอ้างตนเป็นบุตรของพระเจ้า เขากลัวมากและพยายามถามพระองค์ว่า “ท่านมาจากไหน” (ยน 19:7-9)
        เขากลัวที่จะตัดสินเข้าข้างพระเยซูเจ้า และในเวลาเดียวกันก็กลัวที่จะตัดสินประหารชีวิตพระองค์เพราะพระองค์อาจเกี่ยวข้องกับพระเจ้าจริง ๆ ก็ได้
        เท่ากับว่าสาเหตุที่เขาพยายามช่วยพระเยซูเจ้า หาใช่เพราะความศรัทธาไม่ แต่เป็นเพราะเขากลัวอำนาจเร้นลับมากกว่า
        เช่นเดียวกัน พวกเราหลายคนก็กลัวตกนรก กลัวฟ้าผ่า กลัวธรณีสูบ หรือกลัวทำกินไม่ขึ้น มากกว่าจะรักพระเจ้าและรักเพื่อนมนุษย์จริง ๆ
    3.    เขากระหายหาความจริง ซึ่งเป็นด้านดีของเขา  เขาเป็นคนเดียวที่ถามพระเยซูเจ้าว่า “ความจริงคืออะไร” (ยน 18:38)
    ตามมาตรฐานของโลกต้องถือว่าปีลาตเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างสูง เขาเป็นข้าราชการระดับสูงของอาณาจักรโรมันอันยิ่งใหญ่ไพศาล
    แต่ในค่ำคืนวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ เขาคงตระหนักถึงความผิดพลาดใหญ่หลวงที่ได้มีโอกาสพบพระเยซูเจ้า แต่ไม่อาจยืนอยู่เคียงข้างพระองค์และมีอนาคตอันรุ่งโรจน์พร้อมกับพระองค์
    เพราะเขาไม่กล้าหาญพอที่จะลุกจากอดีตอันขมขื่นของเขา !

พระเยซูเจ้า
    จากการไต่สวนครั้งนี้ เราสามารถเห็นบุคลิกอันโดดเด่นของพระเยซูเจ้าได้อย่างชัดเจน
    1.    ความสง่างาม  ระหว่างการไต่สวนของปีลาต (ยน 18:28-19:16) ไม่มีข้อความตอนใดเลยที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าพระเยซูเจ้ากำลังถูกไต่สวน  เป็นพระองค์เองที่สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ทั้งหมดโดยปราศจากความเกรงกลัวหรือการอ้อนวอนขอความเมตตาใด ๆ จากปีลาต  กลับเป็นฝ่ายปีลาตนั่นเองที่หัวหมุนและต้องดิ้นรนหนีจากความตื่นตระหนกเมื่อเผชิญหน้ากับ “พระบุตรของพระเจ้า” ผู้ทรงย้อนถามเขาว่า “ท่านถามดังนี้ด้วยตนเอง หรือผู้อื่นบอกท่านถึงเรื่องของเรา” (ยน 18:34)
        พระองค์ทรงไว้ซึ่งความสง่างามแม้ยามอยู่ต่อหน้าผู้ที่กำลังจะตัดสินประหารชีวิตพระองค์ !
        นี่เป็นเพราะพระองค์เสด็จมาเพื่อเป็นกษัตริย์ของชาวเราโดยแท้
    2.    ความซื่อตรง  ชาวยิวมุ่งมั่นที่จะเป็นอิสระจากโรมเสมอมา ปัสกาเป็นเทศกาลที่มีชาวยิวมาชุมนุมกันในกรุงเยรูซาเล็มมากที่สุด บรรยากาศจึงร้อนระอุด้วยไฟปฏิวัติ  ปีลาตรู้ปัญหานี้ดีจึงส่งกองทหารเข้ามาเสริมกำลังในกรุงเยรูซาเล็ม แต่คงมีจำนวนไม่มากนักเพราะเขามีทหารในบังคับบัญชาประมาณสามพันคนเท่านั้น  ไหนจะต้องวางกำลังส่วนใหญ่ไว้ที่ซีซารียาซึ่งเป็นเมืองหลวง  ไหนจะต้องกระจายกำลังไปตามค่ายทหารหลายแห่งในสะมาเรีย  แล้วจะมีทหารเหลือสำหรับติดตามเขาสักกี่คนกัน
     หากพระเยซูเจ้าคิดจะชักธงรบ ปีลาตคงไม่มีทางต้านทานกำลังมหาศาลของผู้สนับสนุนพระองค์ได้
     แต่พระองค์กลับตรัสตรงไปตรงมาและชัดถ้อยชัดคำว่า “อาณาจักรของเรามิได้มาจากโลกนี้  ถ้าอาณาจักรของเรามาจากโลกนี้ ผู้รับใช้ของเราก็คงจะต่อสู้เพื่อมิให้เราถูกมอบให้ชาวยิว” (ยน 18:36)
     พระองค์ไม่ทรงพึ่งพากองกำลังจากโลกนี้    เพราะอาณาจักรของพระองค์อยู่ภายในจิตใจของเรา ซึ่งจะพิชิตได้ก็โดยอาศัย “ความรัก” เท่านั้น
3.    ความจริง  พระเยซูเจ้าไม่เคยหยุดหย่อนที่จะบอกความจริงเกี่ยวกับพระเจ้า เกี่ยวกับมนุษย์ และเกี่ยวกับชีวิตของเรา
    แม้เมื่ออยู่ต่อหน้าปีลาต พระองค์ทรงย้ำอย่างไม่เกรงกลัวผู้ใดว่า “เรามาในโลกนี้เพื่อเป็นพยานถึงความจริง ผู้ใดอยู่ฝ่ายความจริงก็ฟังเรา” (ยน 18:37)
    นั่นเป็นเพราะพระองค์มิได้เป็นเพียง “พยาน” ถึงความจริงเท่านั้น แต่ทรงเป็น “องค์ความจริง” เอง
    ดังนั้น หากเราอยู่ฝ่ายความจริง ก็จงฟังพระองค์เถิด !
4.    ความเข้มแข็งและอดทน  แส้ที่ใช้เฆี่ยนพระองค์เป็นเชือกทำด้วยหนัง มีก้อนตะกั่วเล็ก ๆ และกระดูกแหลมคมติดอยู่เป็นระยะ  มีน้อยคนนักที่ยังครองสติไว้ได้หลังถูกเฆี่ยน หลายคนเป็นบ้า และบางคนถึงตาย
    แต่พระเยซูเจ้าทรงยืนหยัดอยู่ได้และยังคงมีพละกำลังแบกไม้กางเขนจนถึงเนินกัลวารีโอ !
5.    ความนบนอบ  ปีลาตพูดกับพระองค์ว่า “ท่านไม่อยากพูดกับเราหรือ ท่านไม่รู้หรือว่า เรามีอำนาจจะปล่อยท่านก็ได้ จะตรึงกางเขนท่านก็ได้” (ยน 19:10)
    เท่ากับปีลาตแบะท่าออกมาแล้วว่าจะปล่อยพระองค์ก็ได้หากพูดกับเขาดี ๆ หน่อย  แต่พระองค์กลับตอบตรงไปตรงมาแบบไม่รักษาน้ำใจของปีลาตเลยว่า “ท่านไม่มีอำนาจใดเหนือเราเลย ถ้าท่านมิได้รับอำนาจนั้นมาจากเบื้องบน” (ยน 19:11)
         แสดงว่าพระองค์มิได้ถูกไล่ล่าให้จนตรอกและตายบนไม้กางเขน แต่ทรงมุ่งหน้าไปสู่กางเขนอย่างผู้มีชัย
        พระองค์ “มีชัย” เพราะทรงนบนอบพระบิดาจนถึงที่สุด !
    6.    ความรอบรู้  เมื่อปีลาตถามพระองค์ว่ามาจากไหน พระองค์ทรงนิ่งเงียบ (ยน 19:9) เพราะทราบดีว่าพูดไปปีลาตก็ไม่เข้าใจ หรือเข้าใจก็ไม่มีทางยอมรับ
         เหมือนอยู่กันคนละโลก พูดกันคนละภาษา
         เราจึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง “อย่าให้พระองค์นิ่งเงียบกับเรา” เพราะนั่นย่อมหมายความว่าเราออกนอกลู่นอกทางจนกู่ไม่กลับ และพูดกับพระองค์ไม่รู้เรื่องอีกแล้ว
    อนึ่ง เมื่อถูกชาวยิวข่มขู่ว่าจะฟ้องจักรพรรดิหากปล่อยพระเยซูเจ้าเป็นอิสระ ด้วยความกลัวว่าจะกระทบกระเทือนต่อตำแหน่ง ปีลาตจึงสั่งให้นำพระองค์ออกมาข้างนอก ให้นั่งบนบัลลังก์พิพากษาในสถานที่ที่เรียกว่า “ลานศิลากับบาธา” แล้วกล่าวกับชาวยิวว่า “นี่คือกษัตริย์ของท่านทั้งหลาย” (ยน 19:13,14)
    ไม่ว่าปีลาตจะกระทำไปเพื่อหาทางช่วยเหลือพระองค์ หรือเพราะต้องการล้อเลียนด้วยการให้นั่งบนบัลลังก์พิพากษาก็ตาม  สักวันหนึ่งตัวเขาและชาวยิวจะตระหนักดีว่าผู้ที่พวกเขาล้อเลียนนั้นคือกษัตริย์ที่จะพิพากษาพวกเขาจริง ๆ
ในการไต่สวนครั้งนี้ เราได้เห็นความยิ่งใหญ่ ความสง่างาม ความกล้าหาญ และความเต็มพระทัยรับการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนของพระเยซูเจ้า
ไม่มีครั้งใดอีกแล้วที่ความเป็นกษัตริย์ของพระองค์จะฉายแสงเจิดจ้าเท่าครั้งนี้.... ครั้งที่มนุษย์พยายามจะลดพระเกียรติของพระองค์ด้วยไม้กางเขน !

บรรดาทหาร
    ทหารเหล่านี้มาจากเมืองหลวงซีซารียา จึงไม่ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับพระเยซูเจ้า คิดว่าพระองค์เป็นเพียงอาชญากรคนหนึ่ง
    พวกเขาเฆี่ยนพระองค์ นำหนามมาสานเป็นมงกุฎสวมพระเศียรและให้พระองค์ทรงเสื้อคลุมสีแดง พร้อมกับพูดล้อเลียนพระองค์ว่า “กษัตริย์ของชาวยิว ขอทรงพระเจริญ” แล้วตบพระพักตร์พระองค์ (ยน 19:1-3)
    พวกเขาไม่รู้อีกอย่างหนึ่งว่า ผู้ที่เขาล้อเลียนนั้น ทรงเป็นกษัตริย์เที่ยงแท้แต่เพียงพระองค์เดียว
    ภายใต้การล้อเลียนนั้น มีความจริงนิรันดร์แฝงอยู่ !

บารับบัส
    ยอห์นบอกเพียงว่าบารับบัสเป็นโจร  แต่พระวรสารเล่มอื่นบอกเพิ่มเติมว่าเขามีส่วนในการก่อความไม่สงบและได้กระทำฆาตกรรม (มธ 27:15-26; มก 15:6-15; ลก 23:17-25; กจ 3:14)
    ชื่อ Barabbas อาจมาจาก Bar + Abba ซึ่งแปลว่า “บุตรของบิดา”  หรือมาจาก Bar + Rabban ซึ่งแปลว่า “บุตรของรับบี” ก็ได้
    เป็นไปได้มากว่าบารับบัสเป็นบุตรของรับบีคนหนึ่ง เขาเกิดในครอบครัวที่มีชื่อเสียงแต่หลงผิดไปเป็นนักรบในกองโจรเหมือนโรบินฮูด  และเป็นไปได้สูงอีกเช่นกันที่เขาจะเป็นหนึ่งในพวกคลั่งชาติที่สาบานว่าจะปลดปล่อยปาเลสไตน์ให้เป็นอิสระจากโรมไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม แม้จะต้องปล้นหรือฆ่าก็เอา
    เขาจึงอาจเป็นที่ชื่นชอบของชาวยิว แต่เป็นบุคคลที่โรมต้องการตัวมากที่สุด !
    บารับบัสเป็นนามสกุล  มีพระคัมภีร์ภาษากรีกโบราณ รวมถึงภาษาซีเรียและอาร์เมเนียบางสำเนา ระบุว่าชื่อแรกของเขาคือ “เยซู” ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะชื่อนี้มาจาก “โยชูอา” ในพระธรรมเก่าและนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย
    ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็เท่ากับชาวยิวกำลังร้องตะโกนว่า “อย่าปล่อยเยซูชาวนาซาเร็ธ แต่ปล่อยเยซูบารับบัส !”
    บารับบัสเป็นผู้ที่กระหายเลือดและใช้ความรุนแรงเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย  ส่วนพระเยซูเจ้าทรงใช้ “ความรักและความอ่อนโยน”  อีกทั้งเป้าหมายของพระองค์ก็คือการสถาปนาพระอาณาจักรซึ่งอยู่ภายในจิตใจของเรานี่เอง
    น่าเศร้าที่ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่า มนุษย์เราเลือกหนทางของบารับบัส และไม่ยอมรับหนทางของพระเยซูเจ้า !
    เราไม่ทราบเรื่องราวของบารับบัสหลังได้รับการปล่อยตัว  อาจเป็นไปได้ว่าเขาติดตามพระเยซูเจ้าไปถึงเนินกัลวารีโอพร้อมกับคิดว่า “ฉันควรเป็นคนแบกกางเขน  ฉันควรเป็นคนที่ถูกแขวนอยู่บนไม้กางเขน ไม่ใช่เขา”
    ไม่ว่าชีวิตของบารับบัสจะลงเอยเช่นใด  เขาคือคนหนึ่งที่พระเยซูเจ้าทรงยอมสิ้นพระชนม์เพื่อช่วยชีวิตของเขาไว้ !


พระเยซูเจ้าทรงถูกตรึงบนไม้กางเขน

ยน 19:17-22
บรรดาทหารนำพระเยซูเจ้าไปประหาร  (17)พระองค์ทรงแบกไม้กางเขน เสด็จออกไปยังสถานที่ที่เรียกว่า “เนินหัวกะโหลก” ภาษาฮีบรูว่า “กลโกธา”  (18)เขาตรึงพระองค์บนไม้กางเขนที่นั่นพร้อมกับนักโทษอีกสองคน อยู่คนละข้าง พระเยซูเจ้าทรงอยู่ตรงกลาง  (19)ปีลาต เขียนป้ายประกาศติดไว้บนไม้กางเขนเป็นข้อความว่า “เยซู ชาวนาซาเร็ธ กษัตริย์ของชาวยิว”  (20)ชาวยิวจำนวนมากได้อ่านป้ายประกาศนี้เพราะสถานที่ที่พระเยซูเจ้าทรงถูกตรึงนั้นอยู่ใกล้กรุงและป้ายประกาศนั้นเขียนไว้เป็นภาษาฮีบรู ละติน และกรีก  (21)บรรดาหัวหน้าสมณะของชาวยิวกล่าวกับปีลาตว่า ‘อย่าเขียนว่า กษัตริย์ของชาวยิว’ แต่จงเขียนว่าคนนี้ได้กล่าวว่า ‘ข้าพเจ้าเป็นกษัตริย์ของชาวยิว’  (22)ปีลาตตอบว่า “เขียนแล้ว ก็แล้วไปเถอะ”

ไม่มีความตายใดน่าขนพองสยองเกล้าเท่าการตรึงกางเขน  แม้ชาวโรมันเองยังขนลุกเมื่อเอ่ยถึงกางเขน  ชิเชโรกล่าวว่าการตรึงกางเขนเป็น “ความตายที่โหดร้ายและน่ากลัวที่สุด”
    การตรึงกางเขนมีต้นกำเนิดจากเปอร์เซีย  ชาวเปอร์เซียเชื่อว่าผืนดินเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อปกป้องผืนดินอันศักดิ์สิทธิ์มิให้เป็นมลทินจากร่างของคนชั่ว พวกเขาจึงจับนักโทษประหารตรึงแขวนไว้บนไม้กางเขน  ต่อมาชาวคาร์เทจนำวิธีประหารชีวิตแบบนี้มาใช้  และชาวโรมันรับวิธีตรึงกางเขนมาจากชาวคาร์เทจอีกต่อหนึ่ง
    โรมไม่เคยตรึงกางเขนชาวโรมันด้วยกันเอง แต่ใช้กับทาสในดินแดนที่เป็นเมืองขึ้นเท่านั้น  นักโทษจะถูกตรึงไว้ที่ไม้กางเขนจนกว่าจะตาย บางคนใช้เวลาเป็นอาทิตย์  ระหว่างนี้นักโทษต้องทนทรมานสุดขีด ไหนจะหิว ไหนจะกระหาย ไหนจะร้อนจัดเวลากลางวัน ไหนจะหนาวจัดเวลากลางคืน ไหนริ้นและแมลงจะไต่ตอมตามบาดแผลโดยไม่สามารถป้องกันตัวหรือทำอะไรได้เลย เว้นแต่เฝ้าดูฝูงแร้งและฝูงกาที่บินวนเวียนรอจิกกินตัวเขาเอง
    พวกเขานำความตายที่น่าสะพรึงกลัวที่สุด  ความตายสำหรับทาส  และความตายสำหรับอาชญากรมาใช้กับพระเยซูเจ้า !
    เมื่อถูกตัดสินว่าผิด ผู้พิพากษาจะสั่งว่า “จงไปสู่กางเขน” (Ibis ad crucem) แล้วขั้นตอนการประหารจะเริ่มทันทีโดยไม่เปิดโอกาสให้นักโทษล่ำลาญาติมิตรหรืออุทธรณ์ฎีกาใด ๆ ทั้งสิ้น  นักโทษประหารต้องแบกกางเขนของตนท่ามกลางทหาร 4 คนไปตามเส้นทางที่ยาวที่สุดและมีผู้คนพลุกพล่านมากที่สุดเพื่อให้เกิดความเกรงกลัวและไม่กล้าทำผิด  มีทหารคนหนึ่งคอยลงแส้หรือใช้ประตัก (ไม้ที่ฝังเหล็กแหลมข้างปลาย ใช้แทงสัตว์พาหนะเช่น วัว) ทิ่มแทงเพื่อกระตุ้นให้นักโทษเดินไปสู่สถานที่ประหาร  หน้าขบวนมีทหารคนหนึ่งถือป้ายระบุความผิด เผื่อว่าอาจมีคนไม่เห็นด้วยกับข้อกล่าวหาและเป็นพยานยืนยันความบริสุทธิ์ให้นักโทษ ซึ่งหากเกิดกรณีนี้ ต้องหยุดขั้นตอนการประหารแล้วกลับมาเริ่มไต่สวนกันใหม่
    แต่สำหรับพระเยซูเจ้า ช่างไม่มีสักคนเชียวหรือที่กล้ายืนอยู่ข้างพระองค์ ?
    “เนินหัวกะโหลก” ตรงกับภาษาฮีบรู “กลโกธา” และภาษาละติน “กัลวารีโอ” สันนิษฐานว่าชื่อนี้ได้มาจากรูปทรงของเนินที่ดูเหมือนกะโหลก  ตั้งอยู่นอกกำแพงกรุงเยรูซาเล็ม เพราะกฎหมายยิวห้ามการตรึงกางเขนภายในนครศักดิ์สิทธิ์ 
    ปีลาตเขียนป้ายประกาศติดไว้บนไม้กางเขนความว่า “เยซู ชาวนาซาเร็ธ กษัตริย์ของชาวยิว” (ยน 19:19) ดูเหมือนเขาต้องการกวนชาวยิวเล่น เพราะชาวยิวพึ่งจะประกาศว่าซีซาร์เป็นกษัตริย์เพียงองค์เดียวของพวกเขา (ยน 19:15)
    บรรดาหัวหน้าสมณะจึงทนไม่ได้และพยายามขอให้ปีลาตแก้ไขข้อความในป้ายประกาศ  แต่ปีลาต ตอบว่า “เขียนแล้ว ก็แล้วไปเถอะ” (ยน 19:22)
นี่คือบุคลิกของปีลาต เขายอมหักแต่ไม่ยอมงอ
     เขายอมหักเรื่องป้ายประกาศ เขายอมหักเรื่องนำธงจักรพรรดิเข้านครศักดิ์สิทธิ์ เขายอมหักเรื่องนำเงินของพระวิหารมาใช้  แต่ในกรณีของพระเยซูเจ้า เขากลับโลเลและยอมให้ชาวยิวนำพระองค์ไปตรึงกางเขน....!
    ขออย่าให้เรา “ดึงดันในเรื่องไม่เป็นเรื่อง แต่กลับหละหลวมในเรื่องสำคัญที่สุดดังเช่นปีลาตเลย” !?


ทหารแบ่งฉลองพระองค์

ยน 19:23-24
(23)เมื่อบรรดาทหารตรึงพระเยซูเจ้าแล้ว ก็นำฉลองพระองค์มาแบ่งออกเป็นสี่ส่วน นำไปคนละส่วน ส่วนเสื้อยาวของพระองค์นั้นไม่มีตะเข็บ ทอเป็นผืนเดียวตลอดตั้งแต่คอจนถึงชายเสื้อ  (24)เขาจึงพูดกันว่า “เราอย่าแบ่งเสื้อตัวนี้เลย เราจับสลากกันเถิด ดูว่าใครจะได้” ดังนี้ ก็เป็นจริงตามพระคัมภีร์ ที่ว่า
พวกเขานำเสื้อผ้าของข้าพเจ้ามาแบ่งกัน
และจับสลากเสื้อยาวของข้าพเจ้า
บรรดาทหารก็ทำเช่นนี้

    ปกติเครื่องแต่งกายของชาวยิวประกอบด้วย 5 ชิ้นส่วนคือ  ผ้าโพกศีรษะ  เสื้อยาว  สายรัดเอว  รองเท้า  และเสื้อคลุมชั้นนอก
    มีตำนานเล่าว่าแม่พระเป็นผู้ทอเสื้อยาวไม่มีตะเข็บเพื่อมอบเป็นของขวัญแด่พระเยซูเจ้าก่อนออกไปประกาศข่าวดี  ตำนานนี้มีความเป็นไปได้สูงเพราะเป็นประเพณีของชาวยิวที่ผู้เป็นแม่นิยมกระทำเช่นนี้
    ทหารผู้คุมตัวนักโทษไปประหารมีสี่คน แต่ละคนมีสิทธิได้เครื่องแต่งกายของนักโทษเป็นรางวัล สี่คนก็สี่ชิ้น
    ชิ้นที่ห้าคือเสื้อยาวซึ่งทอเป็นผืนเดียวตลอด ถ้าแบ่งเป็นสี่ชิ้นอีกก็จะใช้การไม่ได้ พวกเขาจึงจับสลากกัน !
    ภาพทหารจับสลากแบ่งฉลองพระองค์ สอนเราว่า
    1.    ต้องกล้าเสี่ยง  การจับสลากเป็นการเสี่ยงพนันชนิดหนึ่ง  ณ เชิงไม้กางเขน พวกทหารกำลังเสี่ยงพนันโดยมีเสื้อยาวที่แม่พระให้เป็นของขวัญแด่พระเยซูเจ้าเป็นเดิมพัน
        ในเวลาเดียวกัน บนไม้กางเขน พระเยซูเจ้าก็กำลังเสี่ยงเดิมพัน
         พระองค์กำลังเรียกร้องเป็นครั้งสุดท้ายให้มนุษย์กลับมาหาพระองค์โดยเอาชีวิตของพระองค์เองเป็นเดิมพัน
        เราทุกคนก็ต้อง “เสี่ยงและเดิมพัน” ให้สมกับเป็น “คริสตชน”
    2.    ต้องไม่เย็นเฉย  ขณะที่พระเยซูเจ้ากำลังจะสิ้นพระชนม์ด้วยความทุกข์ทรมานแสนสาหัส  ทหารที่เชิงกางเขนกลับจับสลากกัน ราวกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น
        มนุษย์ทุกวันนี้ก็เป็นเช่นเดียวกัน เราพร้อมจะเดินผ่านวัด ผ่านไม้กางเขน ผ่านผู้ตกทุกข์ได้ยาก ราวกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น
        สิ่งที่น่าเศร้าที่สุดในยุคนี้ ไม่ได้อยู่ที่มนุษย์เราตั้งตัวเป็นศัตรูกับพระเยซูเจ้า แต่อยู่ที่เราเย็นเฉยต่อความรักของพระองค์ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น !!
    3.    พระเยซูเจ้าคือสงฆ์ผู้สมบูรณ์สูงสุด  ยอห์นชอบแฝงความหมายลึกซึ้งไว้ใต้อักษรที่ท่านเขียนอยู่เสมอ
        เสื้อไม่มีตะเข็บเป็นเสื้อแบบเดียวกับที่มหาสมณะสวมใส่  ยอห์นต้องการบอกว่าพระเยซูเจ้าคือ “สมณะ” หรือ “สงฆ์” ที่สมบูรณ์ที่สุด
        “สงฆ์” ตรงกับภาษาละติน Pontifex (ปอนตีเฟกซ์) ซึ่งหมายถึง “ผู้สร้างสะพาน”
        “สงฆ์” จึงเป็นผู้สร้างสะพานเชื่อมระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์
        พระเยซูเจ้าทรงเป็น “สงฆ์” ผู้สมบูรณ์ที่สุด เพราะ พระองค์คือผู้เปิดหนทางดีที่สุดสำหรับมนุษย์ทุกคนจะกลับไปหาพระเจ้า

    เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นตรงตามพระคัมภีร์ที่กล่าวไว้ว่า “เขานำเสื้อผ้าของข้าพเจ้ามาแบ่งปันกัน นำเสื้อยาวของข้าพเจ้ามาจับสลากกัน” (สดด 22:18)


พระเยซูเจ้ากับพระมารดา

ยน 19:25-27
(25)พระมารดาของพระเยซูเจ้าทรงยืนอยู่ข้างไม้กางเขนของพระองค์พร้อมกับน้องสาวของพระนาง มารีย์ภรรยาของเคลโอปัส และมารีย์ชาวมักดาลา  (26)เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเห็นพระมารดาและศิษย์ที่รักยืนอยู่ใกล้ ๆ จึงตรัสกับพระมารดาว่า “แม่ นี่คือลูกของแม่” (27) แล้วตรัสกับศิษย์ผู้นั้นว่า “นี่คือแม่ของท่าน” นับตั้งแต่นั้น ศิษย์ผู้นั้นก็รับพระนางเป็นมารดาของตน

    เป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่งที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับบุคคลที่โรมถือว่าอันตรายจนต้องประหารชีวิต  และยิ่งอันตรายหนักเข้าไปอีกที่จะแสดงความรักต่อบุคคลที่บรรดาผู้นำทางศาสนาของชาวยิวถือว่าสอนผิด (heretic)
    แต่กลับมีบุคคลกลุ่มหนึ่งกล้าไปยืนอยู่เคียงข้างไม้กางเขนของพระเยซูเจ้า
     “ความรักแท้ได้ขับไล่ความกลัว” ออกไปจากจิตใจของพวกเขาจนหมดสิ้นแล้ว !
    เมื่อเทียบกับพระวรสารเล่มอื่นที่เล่าเหตุการณ์ ณ เชิงไม้กางเขนเข้าด้วยกันดังนี้
ยน 19:25 “พระมารดาของพระเยซูเจ้าทรงยืนอยู่ข้างไม้กางเขนของพระองค์พร้อมกับน้องสาวของพระนาง มารีย์ภรรยาของเคลโอปัส และมารีย์ชาวมักดาลา”
มธ 27:56 “ในจำนวนนี้มีมารีย์ชาวมักดาลา และมารีย์มารดาของยากอบและของโยเซฟ และมารดาของบุตรเศเบดี (นางสะโลเม)”
    มก 15:40 “สตรีบางคนมองดูเหตุการณ์อยู่ห่าง ๆ ในจำนวนนี้มีมารีย์ชาวมักดาลา มารีย์มารดาของยากอบคนเล็กและของโยเสท และนางสะโลเม (มารดาของบุตรเศเบดี)”
    เราจะพบว่านอกจากตัวยอห์นเองแล้ว ยังมีสตรีอีกสี่ท่านยืนอยู่เคียงข้างไม้กางเขนของพระเยซูเจ้า  สตรีผู้กล้าหาญทั้งสี่คนได้แก่
    1.    พระนางมารีย์ มารดาของพระเยซูเจ้า  พระนางอาจไม่เข้าใจสิ่งที่พระองค์กระทำ แต่ความรักในหัวใจของผู้เป็นแม่ไม่เคยจืดจาง  โรมอาจจะเห็นพระองค์เป็นอาชญากร แต่พระองค์ยังคงเป็นบุตรของพระนางตลอดไป...
        หัวใจของพระนางเป็นไปดังคำทำนายของสิเมโอนที่กล่าวว่า “พระเจ้าทรงกำหนดให้กุมารนี้เป็นเหตุให้คนจำนวนมากในอิสราเอลต้องล้มลง หรือลุกขึ้น และเป็นเครื่องหมายแห่งการต่อต้าน เพื่อความในใจของคนจำนวนมากจะถูกเปิดเผย” ส่วนท่าน “ดาบจะแทงทะลุจิตใจของท่าน” (ลก 2:34-35)
    2.    สะโลเมภรรยาของเศเบดี  นางเป็นมารดาของยากอบและยอห์น  ครั้งหนึ่งนางมาหาพระเยซูเจ้าเพื่อขอตำแหน่งให้แก่บุตรของนางในพระอาณาจักรสวรรค์ แต่ถูกพระองค์ตำหนิ (มธ 20:20)
        การปรากฏตัวของนางที่เชิงไม้กางเขน จึงให้บทเรียนเรื่องการ “ตำหนิ” แก่เรา  นั่นคือ เราต้องสุภาพถ่อมตนพร้อมรับคำติเตียนโดยยังคงไว้ซึ่งความรักมั่นคงไม่สั่นคลอนดุจเดียวกับสะโลเม
        และในเวลาเดียวกัน เราต้องพร้อม “ตำหนิ” ผู้อื่นโดยที่ความรักยังคงส่องแสงเจิดจ้าดังที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำต่อสะโลเม
    3.    มารีย์ภรรยาของเคลโอปัส หรือตามต้นฉบับภาษากรีกคือ โคลปัส (Clopas) เป็นมารดาของยากอบคนเล็ก รวมถึงโยเซฟหรือโยเสท    
         ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ส่วนใหญ่ยอมรับว่า โคลปัส และ อัลเฟอัส เป็นวิธีเขียนชื่อภาษาอาราไมอิคของคน ๆ เดียวกันคือ Halphai
         ยากอบบุตรอัลเฟอัสผู้เป็นหนึ่งในบรรดาอัครสาวก (มธ 10:2-4) จึงน่าจะเป็นบุคคลเดียวกันกับยากอบคนเล็กผู้เป็นบุตรของมารีย์ภรรยาของเคลโอปัสนี่เอง
    4.    มารีย์ชาวมักดาลา คือผู้ที่พระเยซูเจ้าเคยขับไล่ปีศาจเจ็ดตนออกไป (มก 16:9; ลก 8:2) ความรักของพระองค์ได้ช่วยชีวิตนางไว้จนนางไม่อาจลืมสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำแก่นางได้ ความรักที่นางมีต่อพระองค์จึงไม่มีวันจบสิ้น
        คำขวัญประจำใจนางคือ “ฉันจะไม่มีวันลืมสิ่งที่พระองค์ได้ทรงกระทำแก่ฉัน” !

    บนไม้กางเขน พระเยซูเจ้าทรงอดเป็นห่วงอนาคตของพระมารดาไม่ได้ พระองค์จึงฝากพระนางไว้ในความดูแลของยอห์นผู้เป็นศิษย์รัก
    แม้กำลังทนทุกข์ใกล้จะสิ้นพระชนม์ พระองค์ไม่ทรงลืมหน้าที่อันบุตรพึงมีต่อบุพการี
    พระองค์คิดถึงความทุกข์ของผู้อื่นมากกว่าความทุกข์ของพระองค์เองตราบจนลมหายใจเฮือกสุดท้าย !


พระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์

ยน 19:28-30
(28)หลังจากนั้น พระเยซูเจ้าทรงทราบว่าทุกสิ่งสำเร็จแล้ว จึงตรัสว่า “เรากระหาย”
พระคัมภีร์ตอนนี้จึงเป็นจริงด้วย
(29)ที่นั่นมีภาชนะใบหนึ่งบรรจุน้ำองุ่นเปรี้ยวเต็มวางอยู่ ทหารจึงใช้ฟองน้ำชุบน้ำองุ่นเปรี้ยวเสียบปลายกิ่งหุสบ ยื่นถึงพระโอษฐ์  (30)พระเยซูเจ้าทรงจิบน้ำองุ่นเปรี้ยวแล้ว ตรัสว่า “สำเร็จบริบูรณ์แล้ว” พระองค์ทรงเอนพระเศียร สิ้นพระชนม์

“เรากระหาย”
    ยอห์นเขียนพระวรสารประมาณ ค.ศ. 100 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ลัทธิ Gnosticism เริ่มเผยแพร่เข้ามาในพระศาสนจักร  คำสอนหลักของลัทธินี้คือ “วิญญาณเป็นสิ่งดี วัตถุเป็นสิ่งชั่ว”
    ข้อสรุปที่ตามมาคือ พระเจ้าผู้ทรงเป็นจิตล้วนจะรับเอากายเป็นมนุษย์ไม่ได้ เพราะกายเป็นวัตถุและชั่ว  พระเยซูเจ้าจึงไม่เคยมีร่างกายแบบมนุษย์จริง ๆ  พระองค์เป็นเพียง “เงา” ที่มีรูปร่างเหมือนมนุษย์เท่านั้น
    ในเมื่อพระองค์ไม่มีร่างกายแบบมนุษย์ เวลาเดินจึงไม่ปรากฏรอยเท้าบนพื้น อีกทั้งไม่เคยรู้สึกเจ็บปวดจริงและไม่ได้สิ้นพระชนม์จริง
    ผู้ที่นิยมลัทธินี้ เชื่อว่าพวกเขากำลังยกย่องและให้เกียรติพระเยซูเจ้าสูงสุด  แต่จริง ๆ แล้วพวกเขากำลังทำลายพระองค์
    ถ้าพระองค์จะไถ่กู้มนุษย์ พระองค์ต้องเป็นมนุษย์
     พระองค์จำต้องเป็นเหมือนเราเพื่อทำให้เราเป็นเหมือนพระองค์ !
    ด้วยเหตุนี้ยอห์นจึงตอกย้ำคำพูดของพระองค์บนไม้กางเขนซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่คำว่า
    “เรากระหาย” ! (ยน 19:28)
    พระองค์ทรงรู้สึกกระหายและต้องทนทุกข์ทรมานบนไม้กางเขนเพราะพระองค์ทรงเป็นมนุษย์จริง ๆ เหมือนเรา....

“สำเร็จบริบูรณ์แล้ว”
    หากเปรียบเทียบพระวรสารทั้งสี่ที่กล่าวถึงลมหายใจเฮือกสุดท้ายของพระเยซูเจ้าดังนี้
    มธ 27:50    “พระเยซูเจ้าทรงเปล่งเสียงดังอีกครั้งหนึ่ง แล้วสิ้นพระชนม์”
    มก 15:37    “พระเยซูเจ้าทรงเปล่งเสียงดัง แล้วสิ้นพระชนม์”
    ลก 23:46    “พระเยซูเจ้าทรงร้องเสียงดังว่า ‘พระบิดาเจ้าข้า ข้าพเจ้ามอบจิตของข้าพเจ้าไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์’ เมื่อตรัสดังนี้แล้ว ก็สิ้นพระชนม์”
    ยน 19:30     “พระเยซูเจ้าทรงจิบน้ำองุ่นเปรี้ยวแล้ว ตรัสว่า “สำเร็จบริบูรณ์แล้ว” พระองค์ทรงเอนพระเศียร สิ้นพระชนม์”
    จะเห็นว่ามียอห์นเพียงผู้เดียวที่ไม่ได้เล่าว่าพระเยซูเจ้าทรงร้องเสียงดัง เพียงแต่ตรัสว่า “สำเร็จบริบูรณ์แล้ว” จึงสิ้นพระชนม์
    สาเหตุคงเป็นเพราะยอห์นเห็นว่า “เสียงร้องอันดัง” กับ “สำเร็จบริบูรณ์แล้ว” เป็นเสียงเดียวกัน !
    นั่นคือ พระองค์ทรงร้อง “สำเร็จบริบูรณ์แล้ว” ด้วยเสียงอันดังอย่างผู้มีชัยชนะ  ไม่ใช่บ่นพึมพำอยู่ในลำคอเหมือนคนหมดหนทางสู้ “จบเห่กัน” !!!
    นอกจากนั้น ยอห์นยังเล่าว่า “พระองค์ทรงเอนพระเศียร สิ้นพระชนม์” (ยน 19:30) โดยใช้คำ klinas (คลีนาส – เอน) ซึ่งมีความหมายเดียวกันกับเอนศีรษะบนหมอนเพื่อพักผ่อน
    แสดงว่าตลอดชีวิตของพระเยซูเจ้า พระองค์ทรงต่อสู้ดิ้นรนเพื่อปฏิบัติภารกิจที่พระบิดาทรงมอบหมายจนสำเร็จบริบูรณ์  บัดนี้ พระองค์สามารถเอนศีรษะพักผ่อนด้วยความสุข
    พระองค์ทรงจากโลกนี้ไปอย่างผู้มีชัยพร้อมกับสันติสุข !
   
กิ่งหุสบ
    ยอห์นเล่าว่าเมื่อพระเยซูเจ้าทรง “กระหาย”  ทหารใช้ฟองน้ำชุบน้ำองุ่นเปรี้ยวเสียบปลายกิ่งหุสบ ยื่นถึงพระโอษฐ์ (ยน 19:29)
    กิ่งหุสบมีลักษณะเป็นก้านใบหญ้า แม้จะแข็งพอควรแต่ยาวไม่เกิน 2 ฟุต จึงไม่น่าจะเหมาะสำหรับเสียบฟองน้ำชุบน้ำองุ่นเปรี้ยวส่งให้ถึงพระโอษฐ์ของพระองค์
    นักวิชาการด้านพระคัมภีร์บางคนจึงตั้งสมมุติฐานว่ายอห์นเขียนผิด คำที่ถูกควรเป็น “หอก” หรือ “ทวน” มากกว่าจะเป็น “กิ่งหุสบ”
    แต่นี่คือความล้ำลึกของยอห์น ท่านจงใจใช้คำ “กิ่งหุสบ”
    ในงานเลี้ยงปัสกาครั้งแรกก่อนที่ชาวอิสราเอลจะอพยพออกจากประเทศอียิปต์ โมเสสเรียกประชุมผู้อาวุโสทั้งปวงของชาวอิสราเอล พูดว่า “จงไปเลือกลูกแกะหรือลูกแพะสำหรับครอบครัวของท่าน และฆ่าเป็นเครื่องบูชาสำหรับฉลองปัสกา  จงเอากิ่งหุสบ จุ่มลงในชามเลือดของสัตว์นั้น พรมที่กรอบประตูด้านข้างและด้านบน อย่าให้ผู้ใดออกนอกบ้านจนกระทั่งเช้า  เมื่อพระยาห์เวห์เสด็จผ่านมาลงโทษประเทศอียิปต์ พระองค์จะทอดพระเนตรเห็นเลือดที่กรอบประตู ทั้งด้านข้างและด้านบน พระยาห์เวห์จะเสด็จผ่านประตูไป จะไม่ทรงอนุญาตให้ผู้ทำลายเข้าไปประหารคนในบ้านของท่าน” (อพย 12:21-23)
    ยอห์นจงใจใช้ “กิ่งหุสบ” เพื่อเชิญชวนเราให้หวนกลับไปคิดถึงเลือดของลูกแกะที่เคยช่วยประชากรของพระเจ้าให้รอดพ้นจากการเป็นทาสในอียิปต์
    เพียงแต่ครั้งนี้เป็น “เลือดของพระเยซูเจ้า” ผู้ทรงเป็น “ลูกแกะของพระเจ้า” ที่ได้ช่วย “มนุษย์ทั้งโลก” ให้เป็นอิสระจาก “บาป” !!!


ทหารแทงด้านข้างพระวรกายของพระเยซูเจ้า

ยน 19:31-37
(31)วันนั้นเป็นวันเตรียมฉลอง ชาวยิวไม่ต้องการให้ศพค้างอยู่บนไม้กางเขนในวันสับบาโต เพราะวันสับบาโตวันนั้นเป็นวันฉลองยิ่งใหญ่  เขาจึงขออนุญาตปีลาตให้ทุบขาผู้ที่ถูกตรึงและนำศพไป  (32)บรรดาทหารทุบขาคนทั้งสองคนซึ่งถูกตรึงพร้อมกับพระองค์  (33)เมื่อทหารมาถึงพระเยซูเจ้าก็เห็นว่าพระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว จึงมิได้ทุบขาของพระองค์ (34)แต่ทหารคนหนึ่งใช้หอกแทงด้านข้างพระวรกายของพระองค์ โลหิตและน้ำก็ไหลออกมาทันที  (35)ผู้ที่ได้เห็นก็เป็นพยาน คำพยานของเขาน่าเชื่อถือ เขารู้ว่าเขาพูดความจริง เพื่อท่านทั้งหลายจะเชื่อด้วย  (36) เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพื่อข้อความในพระคัมภีร์เป็นจริงว่า
กระดูกของเขาจะไม่หักแม้เพียงชิ้นเดียว
(37)และข้อความอีกตอนหนึ่งว่า
เขาทั้งหลายจะมองดูผู้ที่เขาแทง

    ในด้านหนึ่ง ต้องยอมรับว่าชาวยิวมีความเมตตามากกว่าชาวโรมัน  เพราะหากถือตามธรรมเนียมของโรมัน นักโทษจะถูกปล่อยให้ตายเองบนไม้กางเขนด้วยความทุกข์ทรมานแสนสาหัส บางคนต้องทนทรมานอยู่หลายวันกว่าจะตาย  นักโทษต้องเผชิญกับความร้อนจัดในเวลากลางวัน และหนาวจัดในเวลากลางคืน ไหนจะหิวและกระหายน้ำ ไหนจะถูกริ้นและแมลงไต่ตอมตามรอยแผล  หลายครั้งนักโทษกลายเป็นบ้าก่อนตาย
    เมื่อนักโทษตาย ชาวโรมันได้แต่ปลดศพลงมาและทิ้งไว้ที่พื้นให้เป็นอาหารของแร้ง กา และสุนัข  ไม่มีการฝังศพ !
    ส่วนชาวยิวมีข้อกำหนดว่า “ถ้าผู้ใดกระทำผิดมีโทษประหารชีวิต ท่านประหารชีวิตแล้วแขวนศพไว้บนต้นไม้ ศพของเขาจะต้องไม่ถูกทิ้งไว้ข้ามคืน ท่านจะต้องฝังศพของเขาในวันเดียวกันนั้น” (ฉธบ 21:22-23)
    ในหนังสือ Mishnah มีกฎข้อหนึ่งระบุว่า “ผู้ใดปล่อยศพทิ้งไว้ข้ามคืน ถือว่าทำผิดกฎหมาย”  และเป็นหน้าที่ของสภาสูง (Sanhedrin) ที่จะจัดสถานที่สำหรับฝังศพนักโทษประหาร
    ในกรณีของพระเยซูเจ้า ยิ่งมีความจำเป็นต้องนำพระศพลงจากไม้กางเขน เพราะรุ่งขึ้นเป็นวันสับบาโต แถมเป็นวันสับบาโตระหว่างเทศกาลปัสกาอีกด้วย
    สำหรับนักโทษที่ยังไม่ตาย ชาวโรมันมีวิธีจัดการแบบโหดเหี้ยมสุด ๆ นั่นคือใช้ไม้ตะลุมพุกทุบขาจนแตกละเอียด
    แต่ “เมื่อทหารมาถึงพระเยซูเจ้าก็เห็นว่าพระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว จึงมิได้ทุบขาของพระองค์ แต่ทหารคนหนึ่งใช้หอกแทงด้านข้างพระวรกายของพระองค์ โลหิตและน้ำก็ไหลออกมาทันที” (ยน 19:33-34)
    ยอห์นมองเห็นภาพทหารใช้หอกแทงสีข้างของพระเยซูเจ้าจนมีโลหิตและน้ำไหลออกมาว่าเป็นไปตามคำทำนายของประกาศกเศคาริยาห์ที่ว่า “พวกเขาจะมองดูเราผู้ที่พวกเขาได้แทง” (ศคย 12:10)
    สิ่งที่ยอห์นเห็นนี้ ท่านยืนยันว่าเป็นความจริง (ยน 19:35)
    แต่ข้อเท็จจริงคือ คนตายแล้วจะไม่มีเลือดไหลออกมา  เกิดอะไรขึ้นกับพระเยซูเจ้าหรือถึงได้มีทั้งเลือดและน้ำไหลออกมา ?
    เราคงอดปวดร้าวหัวใจไม่ได้ เพราะเลือดและน้ำที่ไหลออกมานำไปสู่ข้อสันนิษฐานว่า พระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์ด้วยอาการ “หัวใจแตกสลาย” (ไม่ใช่หัวใจวาย) อันเนื่องมาจากทรงถูกทรมานอย่างหนักทั้งทางกายและใจ  เมื่อหัวใจแตกสลาย เลือดจากหัวใจจะไหลมาผสมกับน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจและไหลออกมาภายนอกเมื่อทหารใช้หอกแทงทะลุเยื่อหุ้มหัวใจนี้
    ทั้ง ๆ ที่การไหลของเลือดและน้ำนำไปสู่ข้อสรุปอันน่าปวดร้าวอย่างยิ่ง แต่ยอห์นยังยืนยันอย่างหนักแน่นว่าเป็นความจริงด้วยเหตุผล 2 ประการคือ
    1.    เพื่อพิสูจน์ว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นมนุษย์แท้และมีร่างกายแท้ หาได้เป็นเพียงเงารูปร่างเหมือนมนุษย์ดังที่พวก Gnostics สอนกัน
    2.    นอกจากเป็นเครื่องพิสูจน์ความเป็นมนุษย์แท้ของพระเยซูเจ้าแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์ถึงศีลศักดิ์สิทธิ์อันยิ่งใหญ่ของพระศาสนจักรอีกด้วย นั่นคือ
        “น้ำ” เป็นพื้นฐานของศีลล้างบาป
        “เลือด” เป็นพื้นฐานของศีลมหาสนิท ซึ่งเป็นทั้งการบูชาไถ่บาปและอาหารอันทรงชีวิต โดยมีเหล้าองุ่นในงานเลี้ยงอาหารค่ำครั้งสุดท้ายเป็นตัวแทนของเลือด
    ทั้งน้ำและเลือดที่ไหลออกมาจากสีข้างของพระเยซูเจ้า ล้วนเป็นเครื่องหมายถึง “น้ำแห่งการชำระล้าง” ในศีลล้างบาป และ “เลือดที่หลั่งออก” เพื่อไถ่บาปของมนุษยชาติ


การฝังพระศพ

ยน 19:38-42
(38)หลังจากนั้น โยเซฟชาวอาริมาเธีย ซึ่งเป็นศิษย์ลับ ๆ คนหนึ่งของพระเยซูเจ้าเพราะกลัวชาวยิว ขออนุญาตปีลาตอัญเชิญพระศพของพระเยซูเจ้าลง ปีลาตก็อนุญาต เขาจึงมาอัญเชิญพระศพลง  (39)นิโคเดมัสซึ่งก่อนนั้นเคยมาเฝ้าพระองค์เวลากลางคืนก็มาด้วย เขานำเครื่องหอมที่ผสมด้วยมดยอบและว่านหางจระเข้ หนักประมาณหนึ่งร้อยปอนด์  (40)ทั้งสองคนอัญเชิญพระศพของพระเยซูเจ้า ใช้ผ้าพันพระศพพร้อมกับใส่เครื่องหอมตามประเพณีฝังศพของชาวยิว  (41)สถานที่ที่พระองค์ทรงถูกตรึงนั้นมีสวนแห่งหนึ่ง สวนนี้มีคูหาขุดใหม่ที่ยังไม่เคยใช้ฝังผู้ใดเลย  (42)เขาจึงอัญเชิญพระศพของพระเยซูเจ้าบรรจุไว้ที่นั่น เพราะวันนั้นเป็นวันเตรียมฉลองของชาวยิว และคูหาอยู่ใกล้

เมื่อพระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์ จำเป็นต้องเร่งนำพระศพของพระองค์ลงมาจากไม้กางเขนและฝัง เพราะอีกสามชั่วโมงจะเข้าสู่วันสับบาโตซึ่งห้ามทำงานแล้ว
แต่บรรดาศิษย์ของพระองค์ล้วนมีฐานะยากจน คงไม่มีทางฝังศพให้สมพระเกียรติได้
โยเซฟชาวอาริมาเธียและนิโคเดมัสเป็นสองบุคคลที่ยื่นมือเข้ามาจัดการพระศพของพระเยซูเจ้า ทั้งสองเป็นสมาชิกสภาสูง (Sanhedrin) และเป็นศิษย์ของพระองค์ด้วย แต่ทั้งคู่ปิดบังมิให้ผู้อื่นรู้ด้วยเกรงว่าจะสูญเสียตำแหน่งและฐานะทางสังคม
ธรรมเนียมฝังศพของชาวยิวคือ ใช้เครื่องหอมชโลมศพแล้วใช้ผ้าลินินพันศพก่อนนำไปฝังในหลุม  นิโคเดมัสเป็นผู้จัดหาผ้าลินินและเครื่องหอมนับร้อยปอนด์ซึ่งมากราวกับกำลังจะฝังพระศพของกษัตริย์  ส่วนโยเซฟเป็นผู้ให้หลุมศพใหม่แก่พระองค์
มีทั้งเรื่องน่าเศร้าและน่ายินดีจากเหตุการณ์ครั้งนี้
1.    เรื่องน่าเศร้าคือทั้งโยเซฟและนิโคเดมัสต่างเป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้าและเป็นสมาชิกสภาสูงด้วย  ไม่มีใครทราบว่าขณะที่สภาสูงไต่สวนพระองค์ ทั้งสองขาดประชุมหรือว่ามาประชุมแต่นั่งนิ่งเฉยด้วยความขลาดกลัว
    มันจะแตกต่างกันมากทีเดียว หากในสภาที่เต็มไปด้วยน้ำเสียงก้าวร้าว ข่มขู่ และใบหน้าบอกบุญไม่รับของบรรดาสมาชิกสภาสูง  เกิดมีสักคนหนึ่งกล่าวสนับสนุนและยืนอยู่เคียงข้างพระองค์ !
    อนิจจา ไม่มีเสียงใดหลุดจากปากของทั้งสอง !
    ความจงรักภักดีของคนทั้งสองขณะที่พระองค์ยังทรงมีชีวิตอยู่ ย่อมมีคุณค่ามากกว่าหลุมศพใหม่และผ้าห่อศพที่หรูหราเป็นแน่ !
    แต่ก่อนที่จะประณามบุคคลทั้งสอง เราต้องหันกลับมาดูตัวเราเองด้วย  หลายครั้งเรายอมให้เกียรติและยกย่องชมเชยผู้อื่นก็ต่อเมื่อเขาสิ้นชีวิตแล้ว  อย่าลืมว่าคำพูดหวาน ๆ สักคำ หรือคำชมเชย หรือคำขอบคุณขณะมีชีวิตอยู่ ย่อมมีคุณค่ามากกว่าสุนทรพจน์อันไพเราะและยืดยาวต่อหน้าหลุมศพ  หรือดอกไม้เพียงดอกเดียวขณะยังมีชีวิตอยู่ย่อมมีคุณค่ามากกว่าพวกหรีดทั้งโลกเป็นไหน ๆ
2.    เรื่องน่ายินดีคือ ความตายของพระเยซูเจ้าทำให้ชีวิตของทั้งโยเซฟและนิโคเดมัสเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง
    ยังไม่ทันได้เอาพระศพของพระองค์ลงจากไม้กางเขน โยเซฟก็หาย “กลัว” เป็นปลิดทิ้ง  เขากล้าเข้าถ้ำเสือเพื่อขออนุญาตผู้ว่าปีลาตนำพระศพของพระองค์ลงมาฝัง  ส่วนนิโคเดมัสได้นำผ้าลินินและเครื่องหอมจำนวนมากมาถวายแด่พระองค์ โดยไม่กลัวว่าจะมีคนเห็นและรู้ว่าเขาเป็นศิษย์ของพระองค์อีกเลย
    ความขลาด ความลังเล การปกปิดซ่อนเร้น หายไปจากคนทั้งสอง....
        ไม่ทันถึงหนึ่งชั่วโมงดี คำพูดของพระองค์ที่ว่า “เมื่อเราจะถูกยกขึ้นจากแผ่นดิน เราจะดึงดูดทุกคนเข้ามาหาเรา” (ยน 12:32) ก็เป็นความจริง
        พระองค์อาจเสียใจที่โยเซฟและนิโคเดมัสนั่งเงียบหรือขาดประชุมสภาสูง แต่พระองค์ทรงทราบและยินดีล่วงหน้าใน “ฤทธิ์อำนาจของไม้กางเขน” ที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาทั้งสอง
        จากชีวิตที่ขาดกลัวเป็นชีวิตของ “วีรบุรุษ”
        จากชีวิตที่โลเลเป็นชีวิตที่อุทิศตนถวายแด่ “พระคริสตเจ้า”