แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 3 เทศกาลปัสกา

ข่าวดี    ยอห์น 21:1-19
(1)หลังจากนั้น พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์แก่บรรดาศิษย์อีกครั้งหนึ่งที่ฝั่งทะเลสาบทีเบเรียส เรื่องราวเป็นดังนี้  (2)ศิษย์บางคนอยู่พร้อมกันที่นั่น คือซีโมน เปโตร กับโทมัสที่เรียกกันว่า “ฝาแฝด” นาธานาเอล ซึ่งมาจากหมู่บ้านคานาในแคว้นกาลิลี บุตรทั้งสองคนของเศเบดีและศิษย์อีกสองคน  (3)ซีโมน เปโตรบอกคนอื่นว่า “ข้าพเจ้าจะไปจับปลา” ศิษย์คนอื่นตอบว่า “พวกเราจะไปกับท่านด้วย” เขาทั้งหลายออกไปลงเรือ แต่คืนนั้นทั้งคืนเขาจับปลาไม่ได้เลย  (4)พอรุ่งสาง พระเยซูเจ้าทรงยืนอยู่บนฝั่ง แต่บรรดาศิษย์ไม่รู้ว่าเป็นพระเยซูเจ้า  (5)พระเยซูเจ้าทรงร้องถามว่า “ลูกเอ๋ย มีอะไรกินบ้างไหม” เขาตอบว่า “ไม่มี”  (6)พระองค์จึงตรัสว่า “จงเหวี่ยงแหไปทางกราบเรือด้านขวาซิ แล้วจะได้ปลา” บรรดาศิษย์จึงเหวี่ยงแหออกไป และดึงขึ้นไม่ไหว เพราะได้ปลาเป็นจำนวนมาก  (7)ศิษย์ที่พระเยซูเจ้าทรงรักกล่าวกับเปโตรว่า “เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้านี่” เมื่อซีโมน เปโตรได้ยินว่า “เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า เขาก็หยิบเสื้อมาสวม เพราะเขาไม่ได้สวมเสื้ออยู่ แล้วกระโดดลงไปในทะเล  (8)ศิษย์คนอื่นเข้าฝั่งมากับเรือ ลากแหที่ติดปลาเข้ามาด้วย เพราะอยู่ไม่ห่างจากฝั่งนัก ประมาณหนึ่งร้อยเมตรเท่านั้น
(9)เมื่อบรรดาศิษย์ขึ้นจากเรือมาบนฝั่ง ก็เห็นถ่านติดไฟลุกอยู่ มีปลาและขนมปังวางอยู่บนไฟ  (10)พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “จงเอาปลาที่เพิ่งจับได้มาบ้างซิ”  (11)ซีโมน เปโตรจึงลงไปในเรือ แล้วลากแหขึ้นฝั่ง มีปลาตัวใหญ่ติดอยู่เต็ม นับได้หนึ่งร้อยห้าสิบสามตัว แต่ทั้ง ๆ ที่ติดปลามากเช่นนั้น แหก็ไม่ขาด  (12)พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “มากินอาหารกันเถิด” ไม่มีศิษย์คนใดกล้าถามว่า “ท่านเป็นใคร” เพราะรู้ว่าเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า  (13)พระเยซูเจ้าทรงเข้ามาหยิบขนมปังแจกให้เขา แล้วทรงแจกปลาให้เช่นเดียวกัน  (14)นี่เป็นครั้งที่สามแล้วที่พระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์แก่บรรดาศิษย์หลังจากที่ทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย  (15)เมื่อบรรดาศิษย์กินเสร็จแล้ว พระเยซูเจ้าตรัสกับซีโมนเปโตรว่า “ซีโมน บุตรของยอห์น ท่านรักเรามากกว่าคนเหล่านี้รักเราไหม” เปโตรทูลตอบว่า “ใช่แล้ว พระเจ้าข้า พระองค์ทรงทราบว่าข้าพเจ้ารักพระองค์” พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “จงเลี้ยงลูกแกะของเราเถิด”  (16)พระองค์ตรัสถามเขาอีกเป็นครั้งที่สองว่า “ซีโมน บุตรของยอห์น ท่านรักเราไหม” เขาทูลตอบว่า “ใช่แล้ว พระเจ้าข้า พระองค์ทรงทราบว่าข้าพเจ้ารักพระองค์” พระองค์ตรัสกับเขาว่า “จงดูแลลูกแกะของเราเถิด  (17)พระองค์ตรัสถามเป็นครั้งที่สามว่า “ซีโมน บุตรของยอห์น ท่านรักเราไหม” เปโตรรู้สึกเป็นทุกข์ที่พระองค์ตรัสถามตนถึงสามครั้งว่า “ท่านรักเราไหม เขาทูลตอบว่า “พระเจ้าข้า พระองค์ทรงทราบทุกสิ่ง พระองค์ทรงทราบว่าข้าพเจ้ารักพระองค์” พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “จงเลี้ยงดูแกะของเราเถิด” (18)เราบอกความจริงกับท่านว่า เมื่อท่านยังหนุ่ม ท่านคาดสะเอวด้วยตนเองและเดินไปไหนตามใจชอบ แต่เมื่อท่านชรา ท่านจะยื่นมือแล้วคนอื่นจะคาดสะเอวให้ท่าน พาท่านไปในที่ที่ท่านไม่อยากไป” (19)พระเยซูเจ้าตรัสเช่นนี้เพื่อแสดงว่าเปโตรจะถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าโดยตายอย่างไร เมื่อตรัสดังนี้แล้ว ทรงเสริมว่า “จงตามเรามาเถิด”


    ยอห์นสรุปพระวรสารบทที่ 20 ไว้ว่า “พระเยซูเจ้ายังทรงกระทำเครื่องหมายอัศจรรย์อื่นอีกหลายประการให้บรรดาศิษย์เห็น แต่ไม่ได้บันทึกไว้ในหนังสือเล่มนี้  เรื่องราวเหล่านี้ถูกบันทึกไว้เพื่อท่านทั้งหลายจะได้เชื่อว่า พระเยซูเจ้าเป็นพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้า  และเมื่อมีความเชื่อนี้แล้ว ท่านทั้งหลายก็จะมีชีวิตเดชะพระนามของพระองค์” (ยน 20:30-31)
    เห็นได้ชัดว่า พระวรสารของยอห์นจบไปตั้งแต่บทที่ 20 แล้ว !!
    แต่ท่านจำเป็นต้องเพิ่มบทที่ 21 ซึ่งเราพึ่งได้ฟังเข้ามาอีก ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1.    เพื่อยืนยันว่าพระเยซูคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจริง
     พระศาสนจักรยุคเริ่มแรกต้องเผชิญหน้ากับคำสอนที่ผิดพลาดมากมาย  หนึ่งในพวกนี้สอนว่า การสำแดงพระองค์แก่บรรดาศิษย์ภายหลังกลับคืนชีพเป็นเพียงภาพลวงตา อันมีสาเหตุมาจากบรรดาศิษย์มีความเชื่อ ความรัก และความคาดหวังว่าพระองค์จะกลับเป็นขึ้นมาจากความตายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว  เมื่อมีคนปล่อยข่าวเรื่องการกลับคืนชีพเพียงนิดเดียว ศิษย์ทุกคนก็สร้างจินตนาการจนเห็นภาพลวงตาของพระองค์ปรากฏมาหาพวกเขา
     นี่คือเหตุผลประการแรกที่ทำให้ยอห์นต้องเพิ่มบทที่ 21 เข้ามาเพื่อพิสูจน์ว่าพระเยซูคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจริง !
     นอกจากกลับคืนชีพจากความตายแล้ว พระองค์ยังทรงมีร่างกายแบบมนุษย์จริงๆ ไม่ใช่เป็นเพียงภาพลวงตาหรือวิญญาณของผู้ตายปรากฏมาเท่านั้น
    ก่อนหน้านี้ ยอห์นได้ยืนยันแล้วว่า พระเยซูคริสตเจ้าผู้กลับคืนชีพไม่เพียงมีร่างกายเท่านั้น แต่ยังมีร่องรอยของตะปูและหอกที่แทงทะลุสีข้างของพระองค์ปรากฏอยู่ ซึ่งบรรดาศิษย์ได้เห็นและได้พิสูจน์มาแล้ว (ยน 20:20)
    วันนี้ ยอห์นเสริมว่า การสำแดงพระองค์แก่บรรดาศิษย์ไม่ใช่ “ภาพลวงตา” แน่นอนเพราะว่า…
     ภาพลวงตาคงไม่สามารถชี้ฝูงปลาพร้อมกับสั่งเปโตรว่า “จงเหวี่ยงแหไปทางกราบเรือด้านขวาซิ แล้วจะได้ปลา” ได้ (ยน 21:6)
    ภาพลวงตาคงไม่สามารถก่อไฟจนถ่านลุกแดงที่ชายฝั่งทะเลได้ (ยน 21:9)
    ภาพลวงตาคงไม่สามารถย่างปลาและปิ้งขนมปังได้ (ยน 21:9)
    ภาพลวงตาคงไม่สามารถแจกขนมปังและปลาให้แก่บรรดาศิษย์ได้ (ยน 21:13)
    นอกจากรายละเอียดที่ยอห์นยกมาแล้ว  ยังมีเหตุผลอื่น ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าทฤษฎี “ภาพลวงตา” ไม่สมเหตุสมผลด้วยประการทั้งปวง
         1.1     หลังจากยูดาสนำทหารมาจับกุมพระเยซูเจ้า นอกจากเปโตรและยอห์นที่แอบติดตามพระองค์ไปห่าง ๆ แล้ว บรรดาศิษย์ที่เหลือต่างพากันหลบหนีไปคนละทิศคนละทางด้วยความหวาดกลัว  จิตใจของพวกเขาไม่ได้อยู่ในสภาพที่เปี่ยมด้วยความเชื่อและความหวังจนสามารถสร้างจินตนาการเห็นภาพลวงตาของพระองค์ปรากฏมาได้เลย  ตรงกันข้าม ต้องรอจนพระองค์ปรากฏมาหาพวกเขาแล้วนั่นแหละ พวกเขาจึงเชื่อและหวังในพระองค์
         1.2     หากเป็นภาพลวงตาจริง พวกเขาน่าจะจินตนาการเห็นภาพของพระองค์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรุ่งโรจน์ยิ่งใหญ่และใกล้ชิดแนบแน่นกับพวกเขา  แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการปรากฏมาของพระองค์เป็นการก้าวสู่สิ่งใหม่ชนิดที่พวกเขาไม่เคยคาดหวังมาก่อน  อย่างเช่นทรงตรัสกับมารีย์ชาวมักดาลาว่า “อย่าแตะต้องเรา เพราะเรายังไม่ได้ขึ้นไปเฝ้าพระบิดา” (ยน 20:17)
        1.3     คริสตชนเริ่มแรกดำเนินชีวิตด้วยความสุภาพและรอบคอบ แทนที่จะตื่นเต้นหรือกระตือรือร้นสุดขีดเยี่ยงผู้ที่ประสบพบเห็นภาพนิมิตทั่วไป
        1.4     ภาพลวงตามักปรากฏอยู่ไม่นาน แต่การสำแดงพระองค์แก่บรรดาศิษย์กินเวลานาน   
     1.5     เป็นไปไม่ได้ที่ภาพลวงตาจะเกิดขึ้นแก่คนหลายคนในคราวเดียวกัน
        1.6     หากเป็นภาพลวงตาจริงก็น่าจะเกิดในแคว้นกาลิลีอันเป็นสถานที่ซึ่งทุกฝ่ายมีความผูกพัน แต่ข้อเท็จจริงคือการประจักษ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในแคว้นยูเดีย
        1.7     หากการสำแดงพระองค์แก่บรรดาศิษย์เป็นภาพลวงตา ทำไมภาพลวงตาเหล่านี้จึงหายไปทันทีที่พระองค์เสด็จสู่สวรรค์ ?
    ทั้งหมดนี้ นำมาสู่ข้อสรุปว่า “พระเยซูคริสตเจ้าทรงกลับเป็นขึ้นมาทั้งกายและวิญญาณ”
พระองค์ทรงพิชิตความตายและเสด็จกลับมาหาเราจริง !!
2.    เพื่อยืนยันความเป็นสากลของพระศาสนจักร
    คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ยอห์นระบุว่า “มีปลาตัวใหญ่ติดอยู่เต็ม นับได้หนึ่งร้อยห้าสิบสามตัว” (ยน 21:11)
     บางคนให้เหตุผลว่า ปกติชาวประมงต้องนับปลาที่จับได้เพื่อแบ่งสันปันส่วนกันระหว่างผู้ร่วมงานอยู่แล้ว และเพราะปลามีจำนวนมากเป็นพิเศษ ยอห์นจึงได้บันทึกไว้
    แต่คำถามคือ เป็นไปได้หรือที่คนอย่างยอห์นจะระบุจำนวนปลาไว้โดยไม่มีความหมายอื่นแฝงเร้นอยู่ ?
    นักบุญซีริล (Cyril of Alexandria) อธิบายว่าจำนวน 153 ประกอบด้วย 3 สิ่ง
     - สิ่งแรกคือจำนวน 100 ซึ่งหมายถึงคนต่างศาสนาทั้งหมด เพราะว่าจำนวน 100 บ่งบอกถึง “ความเต็ม” เช่น ฝูงแกะมีจำนวน 100 ตัว เมล็ดพืชบังเกิดผล 100 เท่า เป็นต้น
     - สิ่งที่สองคือจำนวน 50 ซึ่งหมายถึงชาวอิสราเอลที่หลงเหลือทั้งหมด
     - สิ่งที่สามคือจำนวน 3 ซึ่งหมายถึงพระตรีเอกภาพผู้ซึ่งเป็นบ่อเกิดของสรรพสิ่ง
    สำหรับซีริล จำนวน 153 จึงหมายถึงมนุษย์ทุกคนทั้งชาวยิวและคนต่างศาสนา
    นักบุญเอากุสตินอธิบายว่า เลข 10 หมายถึงกฎหมาย เพราะบัญญัติมีสิบประการ และเลข 7 หมายถึงพระหรรษทาน เพราะพระคุณของพระจิตมีเจ็ดประการ
     - เมื่อนำเลข 10 และ 7 มาบวกกันจะได้ 17
     - และหากนำเลข 1 ถึง 17 มาบวกรวมกัน (1+2+3+4+5+.....+17) จะได้ 153
         สำหรับเอากุสติน จำนวน 153 จึงหมายถึงมนุษย์ทุกคนที่กลับมาหาพระเยซูเจ้าไม่ว่าจะโดยอาศัยกฎหมาย หรือโดยอาศัยพระหรรษทานของพระจิตเจ้าก็ตาม
         ส่วนนักบุญเยโรมอธิบายง่าย ๆ ว่าปลาในทะเลสาบทีเบเรียสมีทั้งหมด 153 ชนิด  จึงเท่ากับว่าแหของเปโตรจับปลาได้ทุกชนิด
        ตัวเลข 153 จึงเป็นสัญลักษณ์ที่ยอห์นใช้เพื่อสื่อความหมายว่า สักวันหนึ่งมนุษย์ทุกคน ทุกชาติ ทุกภาษา จะถูกรวบรวมมาหาพระเยซูคริสตเจ้า
        พร้อมกับการระบุจำนวนปลาที่จับได้ ยอห์นเสริมว่า “แต่ทั้ง ๆ ที่ติดปลามากเช่นนั้น แหก็ไม่ขาด” (ยน 21:11)
        “แห” คือ “พระศาสนจักร”
        “แหไม่ขาด” ก็แปลว่า “พระศาสนจักรมีที่เพียงพอสำหรับมนุษย์ทุกคน”
    สำหรับยอห์นแล้ว พระศาสนจักรของพระเยซูคริสตเจ้าผู้กลับคืนพระชนมชีพมีไว้สำหรับทุกคน โดยไม่เว้นใครเลย
    นี่คือ สากลภาพของพระศาสนจักร !
3.    เพื่อยืนยันความเป็นผู้นำของเปโตร
    เป็นไปได้มากว่า คริสตชนยุคเริ่มแรกได้นำเอาบทบาทของบรรดาอัครสาวกมาเปรียบเทียบกัน
    บางคนเห็นว่ายอห์นยิ่งใหญ่ที่สุดเพราะมีความคิดลึกซึ้งล้ำหน้ากว่าคนอื่น
    บางคนเห็นว่าเปาโลยิ่งใหญ่กว่า เพราะท่านเดินทางไปประกาศข่าวดีของพระคริสตเจ้าในดินแดนต่าง ๆ จนสุดปลายแผ่นดิน
    แต่วันนี้ ยอห์นยืนยันว่าเปโตรยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะพระเยซูคริสตเจ้าผู้กลับคืนชีพได้ตรัสกับท่านถึง 3 ครั้งว่า “จงเลี้ยงดูแกะของเราเถิด” (ยน 21:15,16,17) นั่นคือ
    พระองค์ทรงแต่งตั้งเปโตรเป็นนายชุมพาบาลและผู้นำของพระศาสนจักร !
    เพียงแต่ว่าก่อนมอบหมายภารกิจให้เปโตร พระองค์ตรัสถามท่าน 3 ครั้งว่า “ซีโมน บุตรของยอห์น ท่านรักเราไหม” (ยน 21:15,16,17)
    เหตุที่พระองค์ตรัสถามถึง 3 ครั้งก็เพื่อให้โอกาสเปโตรยืนยันความรัก 3 ครั้ง เท่ากับที่ท่านเคยปฏิเสธพระองค์
    ด้วยหัวใจที่เต็มเปี่ยมด้วยความรักและการให้อภัย พระองค์ทรงลบล้างความทรงจำอันขมขื่นออกไปจากความนึกคิดและจิตใจของท่านจนหมดสิ้น !
    ข้อสังเกตสุดท้ายคือ หลังจากเปโตรยืนยัน “ความรัก” ถึง 3 ครั้งว่า “ใช่แล้ว พระเจ้าข้า พระองค์ทรงทราบว่าข้าพเจ้ารักพระองค์”  ผลที่ตามมาคือ
    3.1    หน้าที่  พระเยซูเจ้าตรัสว่า “จงเลี้ยงดูแกะของเราเถิด”  ราวกับพระองค์ต้องการจะบอกเปโตรว่า “ถ้าท่านรักเรา จงมอบชีวิตของท่านเพื่อดูแลฝูงแกะของเราเถิด”
         นี่คือผลพวงจาก “ความรัก” ต่อพระเยซูเจ้า ที่ต้องแสดงออกด้วยการรักและรับใช้ผู้อื่น ซึ่งล้วนแล้วแต่อยู่ในฝูงแกะของพระองค์ !
         เช่นเดียวกัน เราสามารถพิสูจน์ความรักต่อพระเยซูเจ้าได้ก็โดยการรักและรับใช้เพื่อนมนุษย์เท่านั้น !
    3.2    กางเขน  พระองค์ตรัสกับเปโตรว่า “เมื่อท่านยังหนุ่ม ท่านคาดสะเอวด้วยตนเองและเดินไปไหนตามใจชอบ แต่เมื่อท่านชรา ท่านจะยื่นมือแล้วคนอื่นจะคาดสะเอวให้ท่าน พาท่านไปในที่ที่ท่านไม่อยากไป” (ยน 21:18)
        แล้ววันนั้นก็มาถึงจริง เมื่อเปโตรถูกตรึงกางเขนที่กรุงโรม เพียงแต่ท่านขอให้เอาศีรษะห้อยลงดินด้วยสำนึกว่าไม่คู่ควรที่จะตายเหมือนพระคริสตเจ้า
    ความรักต่อพระเยซูเจ้าเรียกร้องให้ท่านรับผิดชอบและเสียสละเพื่อฝูงแกะของพระองค์ !
    จริงอยู่ เราอาจไม่มีความคิดลึกซึ้งแบบยอห์น หรือไม่มีโอกาสท่องโลกประกาศข่าวดีแบบเปาโล
    แต่เราสามารถดำเนินชีวิตแบบเปโตร ด้วยการช่วยเหลือผู้อื่นไม่ให้หลงทาง และนำพวกเขามาฟังพระวาจาของพระเจ้าพร้อมกับรับศีลศักดิ์สิทธิ์ได้ !
    จะเริ่มต้นที่บ้านของเราก่อนก็ได้ !!
    หรือว่าความรักต่อพระเยซูเจ้าในตัวเราเหือดแห้งหายไปหมดแล้ว !?