แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

อาทิตย์ที่ 2 เทศกาลธรรมดา

ข่าวดี  ยอห์น 1:29-34
(29)วันรุ่งขึ้น ยอห์นเห็นพระเยซูเจ้าเสด็จมาหาตน จึงกล่าวว่า “นี่คือลูกแกะของพระเจ้า ผู้ทรงลบล้างบาปของโลก  (30)ผู้นี้คือผู้ที่ข้าพเจ้าเคยพูดถึงว่า “บุรุษผู้หนึ่งมาภายหลังข้าพเจ้า แต่นำหน้าข้าพเจ้า  เพราะอยู่มาก่อนข้าพเจ้า”  (31)ข้าพเจ้าไม่รู้จักพระองค์ แต่ข้าพเจ้าถูกส่งมาให้ทำพิธีล้าง เพื่อทำให้พระองค์เป็นที่รู้จักแก่อิสราเอล  (32)ยอห์นยังยืนยันอีกว่า “ข้าพเจ้าเห็นพระจิตเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์เหมือนนกพิราบ และทรงอยู่เหนือพระองค์  (33)ข้าพเจ้าไม่รู้จักพระองค์ แต่ผู้ที่ทรงส่งข้าพเจ้ามาใช้น้ำทำพิธีล้าง ตรัสแก่ข้าพเจ้าว่า “เจ้าเห็นพระจิตเจ้าเสด็จลงมาประทับอยู่เหนือผู้ใด ผู้นั้นคือผู้ที่ทำพิธีล้างเดชะพระจิตเจ้า”  (34)ข้าพเจ้าเห็น และเป็นพยานยืนยันว่า ท่านผู้นี้เป็นพระบุตรของพระเจ้า”


    ยอห์นยึดมั่นในบทบาทของตนอย่างเสมอต้นเสมอปลายนั่นคือ “ทำให้พระเยซูเจ้าเป็นที่รู้จักแก่อิสราเอล” (ยน 1:31)
    เมื่อเห็นพระองค์เสด็จมาหา ท่านจึงกล่าวว่า “นี่คือลูกแกะของพระเจ้า” (ยน 1:29)
“ลูกแกะ” ที่ชาวอิสราเอลคุ้นเคยหมายถึง
1.    ลูกแกะปัสกา  เพราะว่า “เทศกาลปัสกาของชาวยิวใกล้จะมาถึง” (ยน 2:13)
     ค่ำคืนที่ชาวอิสราเอลอพยพจากประเทศอียิปต์ พระเจ้าทรงส่งทูตของพระองค์ลงมาประหารบุตรคนแรกของชาวอียิปต์ทุกครัวเรือนทั้งคนและสัตว์ แต่ทรงผ่านเลยบ้านของชาวอิสราเอลซึ่งมีเลือดลูกแกะทาที่กรอบประตูเป็นเครื่องหมาย (อพย 12:11-13)

    เลือดลูกแกะได้ช่วยชาวอิสราเอลให้รอดพ้นจากความตาย !
     เท่ากับยอห์นกำลังแนะนำชาวอิสราเอลว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็น “ลูกแกะปัสกา” (1 คร 5:7) แท้จริงแต่เพียงหนึ่งเดียวที่สามารถช่วยเราทุกคนให้ “รอดพ้นจากความตาย” ได้
2.    ลูกแกะสำหรับถวายบูชา  บิดามารดาของยอห์นเป็นสมณะดังที่ลูกาบันทึกไว้ว่า “สมณะผู้หนึ่งชื่อเศคาริยาห์ประจำเวรในหมวดของอาบียาห์  มีภรรยาชื่อเอลีซาเบธจากตระกูลสมณะอาโรน” (ลก 1:5)
     หน้าที่ของสมณะคือถวายลูกแกะเป็นเครื่องบูชาชดเชยบาปในพระวิหารทุกเช้าและเย็นตามบทบัญญัติที่ว่า “ทุก ๆ วันตลอดไป ท่านจะต้องนำลูกแกะเพศผู้สองตัวอายุหนึ่งปีมาถวายบนพระแท่นบูชา ท่านจะต้องถวายลูกแกะตัวหนึ่ง ในเวลาเช้า อีกตัวหนึ่งถวายเวลาเย็น” (อพย 29:38-39)
    แม้ใกล้อดตายยามสงคราม ชาวอิสราเอลยังถวายลูกแกะเป็นเครื่องบูชาทุกวันจวบจนกระทั่งพระวิหารถูกทำลายราบคาบในปี ค.ศ. 70
    ยอห์นเป็นบุตรของสมณะย่อมรู้จักการถวายลูกแกะเป็นเครื่องบูชาชดเชยบาปเป็นอย่างดี  เมื่อท่านเรียกพระเยซูเจ้าเป็น “ลูกแกะของพระเจ้า” ย่อมหมายความว่าพระองค์ทรงเป็นเครื่องบูชาเที่ยงแท้แต่เพียงหนึ่งเดียวที่สามารถช่วยเราให้ “รอดพ้นจากบาป” ได้
3.    ลูกแกะเชื่องที่ถูกนำไปฆ่า ดังที่ประกาศกเยเรมีย์กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเป็นเหมือนลูกแกะเชื่อง ๆ ถูกพาไปฆ่า” (ยรม 11:19) และเช่นเดียวกัน ประกาศกอิสยาห์ทำนายถึงพระเมสสิยาห์ไว้ว่า “เขาถูกกดขี่ข่มเหงและทนทุกข์ทรมาน แต่ก็ไม่เคยปริปากเลย  เขาถูกนำตัวไปเหมือนลูกแกะที่ถูกนำไปฆ่า” (อสย 53:7)
    ลูกแกะที่ประกาศกทั้งสองทำนายถึงคือ พระเมสสิยาห์ผู้บังเกิดมาด้วยความสุภาพถ่อมตนและเปี่ยมล้นด้วยความรัก เพื่อไถ่กู้ประชากรของพระเจ้าให้รอดพ้นอาศัยการทนทุกข์และเสียสละ
    เมื่อยอห์นเรียกพระเยซูเจ้าเป็น “ลูกแกะของพระเจ้า” ท่านกำลังบอกประชาชนว่า พระเมสสิยาห์ที่บรรดาประกาศกใฝ่ฝันถึง บัดนี้ พระองค์เสด็จมาแล้ว !
4.    ลูกแกะแห่งชัยชนะ  ในสมัยของมัคคาบีซึ่งเป็นช่วงปลายพระธรรมเก่าต่อกับพระธรรมใหม่ ชาวยิวตกอยู่ในภาวะสงคราม  “ลูกแกะที่มีเขา” ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์หมายถึง “ผู้พิชิต”  ยูดามัคคาบี ซามูแอล ดาวิด และโซโลมอน ล้วนได้รับการขนานนามว่า “ลูกแกะ”
    ลูกแกะจึงไม่ได้เป็นเพียงสัญลักษณ์ของความสุภาพและอ่อนแอชนิดช่วยเหลือตนเองไม่ได้เท่านั้น แต่ยังหมายถึงชัยชนะอันยิ่งใหญ่อีกด้วย
        เมื่อยอห์นเรียกพระเยซูเจ้าเป็น “ลูกแกะของพระเจ้า” ท่านจึงมองเห็นทั้งความรัก ความเสียสละ ความทุกข์ทรมาน และชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ !!

    จากคำของทูตสวรรค์ที่กล่าวกับพระนางมารีย์ว่า “ดูซิ เอลีซาเบธ ญาติของท่าน ทั้ง ๆ ที่ชราแล้ว ก็ยังตั้งครรภ์บุตรชาย” (ลก 1:36) ย่อมแสดงว่าทั้งยอห์นและพระเยซูเจ้าเป็นญาติกันและน่าจะรู้จักมักคุ้นกันดี  แต่ทำไมยอห์นจึงกล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่รู้จักพระองค์” (ยน 1:31) ?
    เหตุผลคงเป็นเพราะว่า ยอห์นรู้จักบิดามารดาของพระองค์และเรียกพระองค์เป็น “ลูกแกะของพระเจ้า” ก็จริง  แต่นอกเหนือจากนี้ พระองค์เป็นอะไร ???
ท่านรู้ว่าพระองค์ “เป็นใคร” แต่ไม่รู้ว่าพระองค์ “เป็นอะไร” !?!
ต่อเมื่อ “เห็นพระจิตเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์เหมือนนกพิราบ และทรงอยู่เหนือพระองค์” (ยน 1:32) ยอห์นจึงตระหนักทันทีว่าพระองค์คือ “ผู้ทำพิธีล้างเดชะพระจิตเจ้า” (ยน 1:33) และทรงเป็น “พระบุตรของพระเจ้า” (ยน 1:34)
      คำ ruach (รูอาก) ในภาษาฮีบรูหมายถึงทั้ง “จิต” และ “ลม” ดังนั้นเมื่อพูดถึง “พระจิตเจ้า” ชาวยิวจึงคิดถึง “ฤทธานุภาพ” ดุจเดียวกับกระแสลมอันทรงพลัง  และคิดถึง “ชีวิต” ซึ่งได้จากลมหายใจ  นอกจากนั้น “พระจิตของพระเจ้า” ยังหมายถึงองค์พระผู้เป็นเจ้าเองด้วย
    สำหรับชาวยิว บทบาทของพระจิตเจ้ามี 3 ประการด้วยกัน กล่าวคือ
1.    นำความจริงของพระเจ้ามาสู่มนุษย์ ทำให้เรามนุษย์รู้จักพระประสงค์และบทบัญญัติของพระองค์ ดังคำของประกาศกเอเสเคียลว่า “เราจะให้จิตใจใหม่แก่เจ้าและใส่วิญญาณใหม่ในเจ้า...โน้มนำเจ้าให้ปฏิบัติตามกฎหมายของเรา และใส่ใจรักษาบทบัญญัติของเรา” (อสค 36:26-27)
2.    ทำให้มนุษย์เข้าใจและรักษาความจริงนั้นไว้ได้ ดังที่พระเจ้าตรัสผ่านประกาศกอิสยาห์ว่า “นี่เป็นพันธสัญญาของเรากับพวกเขา จิตวิญญาณของเราซึ่งอยู่กับเจ้า และถ้อยคำของเราซึ่งเราใส่ไว้ในปากของเจ้า จะไม่พรากไปจากปากของเจ้า หรือจากปากลูก ๆ ของเจ้า หรือจากปากลูกหลานของพวกเขา นับแต่บัดนี้จวบจนนิรันดร์” (อสย 59:21)
3.    ทำให้มนุษย์กล้าประกาศความจริงแก่ผู้อื่น ดังคำของประกาศกที่ว่า “พระจิตของพระเจ้าทรงอยู่เหนือข้าพเจ้า เพราะพระองค์ทรงเจิมตั้งข้าพเจ้าไว้ ให้ประกาศข่าวดีแก่ผู้ยากไร้” (อสย 61:1) และ “ข้าพเจ้าเปี่ยมด้วยฤทธิ์อำนาจ ด้วยพระจิตของพระเจ้า และด้วยความยุติธรรมกับกำลัง เพื่อประกาศให้ยาโคบทราบถึงการล่วงละเมิดของเขา และให้อิสราเอลทราบถึงบาปของตน” (มคา 3:8)
ปกติเมื่อพระจิตเจ้าเสด็จลงมา เราอาจสัมผัสกับประสบการณ์พิเศษเช่นรู้สึกถึงความสว่างสุกใส พลัง หรือความกล้าหาญเหนือมนุษย์  แต่ประสบการณ์ดังกล่าวคงอยู่เพียงชั่วครู่ชั่วยามแล้วก็จางหายไป
ตรงกันข้ามกับพระเยซูเจ้า ยอห์นย้ำถึงสองครั้งสองคราว่า พระจิตเจ้าเสด็จลงมา “ประทับ” (ยน 1:32, 33) ซึ่งบ่งบอกถึงการดำรงอยู่เป็นการถาวร ไม่ใช่ชั่วครู่ชั่วยาม ซึ่งเท่ากับว่าความคิด จิตใจ รวมถึงฤทธานุภาพของพระเจ้าสถิตอยู่กับพระองค์ตลอดไป
ส่วน “พิธีล้าง” ตรงกับคำกรีก baptizein (บัพติเซน) หมายถึง “จุ่ม จม แช่ ท่วม” ตัวอย่างเช่น จุ่มเสื้อในน้ำ เรือจมใต้คลื่น หรือพวกเมาหัวราน้ำ ชาวกรีกก็เรียกว่า “เมาเหล้าท่วมหัว” ดังนี้เป็นต้น
เมื่อยอห์นตระหนักว่าพระเยซูเจ้าคือ “ผู้ทำพิธีล้างเดชะพระจิตเจ้า” จึงหมายความว่าพระองค์สามารถนำ “พระจิตของพระเจ้า” มาประทานแก่เราอย่างล้นเหลือจนว่าชีวิตของเราท่วมท้นไปด้วยพระจิตเจ้า ซึ่งผลที่ตามมาคือ
1.    เราได้รับการส่องสว่าง ให้รู้จักพระเจ้าและพระประสงค์ของพระองค์ ตลอดจนความหมายของชีวิตและหน้าที่การงานต่าง ๆ ของเรา
2.    เราได้รับพละกำลัง และความเข้มแข็งอย่างเพียงพอสำหรับดำเนินชีวิตตามความสว่างและความรู้ที่ได้รับจากพระจิตเจ้า และสามารถจัดการกับทุกสิ่งในชีวิตได้อย่างถูกต้องและไม่ผิดหวัง
3.    เราได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ เพราะนอกจากยอห์นจะพูดถึงพิธีล้างเดชะพระจิตเจ้าแล้ว ท่านยังกล่าวถึงพระเยซูเจ้าว่า “เขาจะทำพิธีล้างให้ท่านเดชะพระจิตเจ้าและไฟ” (มธ 3:11; ลก 3:16)
     “ไฟ” ช่วยเผาและหลอมละลายสิ่งเจือปนให้หมดไป คงเหลือไว้แต่ความบริสุทธิ์ผุดผ่อง    
     อาศัยพระเยซูเจ้า “ผู้ทรงทำพิธีล้างเดชะพระจิตเจ้าและไฟ” เราจึงเป็นผู้บริสุทธิ์ผุดผ่อง รู้เป้าหมายชีวิต และมีพละกำลังเพียงพอที่จะพิชิตเป้าหมายนั้น !

บัดนี้ เราผุดผ่องและมีพลังเพื่อจะเป็นพยานยืนยันเช่นเดียวกับยอห์นแล้วหรือยังว่า “ท่านผู้นี้เป็นพระบุตรของพระเจ้า” ?! (ยน 1:34)