แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 4 เทศกาลปัสกา

ข่าวดี    ยอห์น 10:1-10
 (1)เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ผู้ที่ไม่เข้าคอกแกะทางประตู แต่ปีนเข้าทางอื่น ก็เป็นขโมยและโจร  (2)ผู้ที่เข้าทางประตูก็เป็นผู้เลี้ยงแกะ  (3)คนเฝ้าประตูย่อมเปิดประตูให้เขาเข้าไป บรรดาแกะก็ฟังเสียงเขา เขาเรียกชื่อแกะของตนทีละตัว และพาออกไปข้างนอก  (4)เมื่อเขาพาแกะออกไปหมดแล้ว เขาจะเดินนำหน้า และแกะก็ตามไปเพราะจำเสียงของเขาได้  (5)แกะจะไม่ตามคนแปลกหน้าเลย แต่จะหนีจากเขา เพราะไม่รู้จักเสียงของคนแปลกหน้า (6)พระเยซูเจ้าตรัสอุปมาเรื่องนี้ให้คนเหล่านั้นฟัง แต่เขาไม่เข้าใจว่าสิ่งที่พระองค์ตรัสนั้นหมายถึงสิ่งใด (7) พระเยซูเจ้ายังตรัสกับเขาอีกว่า เราบอกความจริงกับท่านทั้งหลายว่า เราเป็นประตูคอกแกะ (8)ทุกคนที่มาก่อนหน้าเราเป็นขโมยและโจร แต่แกะมิได้ฟังเสียงของเขาเหล่านั้น(9)เราเป็นประตู ผู้ที่เข้ามาทางเราก็จะรอดพ้น เขาจะเข้าจะออกและจะพบทุ่งหญ้า (10)ขโมยย่อมมาเพื่อขโมย ฆ่าและทำลาย เรามาเพื่อให้แกะมีชีวิตและมีชีวิตอย่างสมบูรณ์


ภูมิประเทศของปาเลสไตน์ประกอบด้วยที่ราบสูงแคบ ๆ เป็นแนวยาวจากเหนือจรดใต้  ในแคว้นยูเดียที่ราบสูงจากเมืองเบธเอลถึงเมืองเฮโบรนมีความยาวประมาณ 56 กิโลเมตร และกว้างแตกต่างกันจาก 22 ถึง 27 กิโลเมตร  พ้นจากที่ราบสูงก็เป็นหน้าผาสูงชันและถิ่นทุรกันดารในทะเลทราย  พื้นที่ส่วนใหญ่บนที่ราบสูงเป็นหินขรุขระจึงเหมาะแก่การเลี้ยงสัตว์มากกว่าการเพาะปลูก
ภาพของ “คนเลี้ยงแกะ” จึงเป็นที่คุ้นเคยของผู้คนบนดินแดนที่ราบสูงแห่งนี้
คนเลี้ยงแกะมีหน้าที่รับผิดชอบแกะทุกตัวในฝูง  ถ้าแกะหายเขาต้องตามหาจนพบ  ถ้าแกะตายเขาต้องนำซากแกะกลับบ้านเพื่อยืนยันว่าแกะตายและตายอย่างไร  เพื่อป้องกันฝูงแกะจากเหตุร้าย คนเลี้ยงแกะจึงต้องยืนพิงไม้เท้า อดตาหลับขับตานอน ตากแดดตากฝน เพ่งตาเฝ้ามองฝูงแกะมิให้พลัดหลงหรือตกลงไปในซอกหินตามหน้าผา อีกทั้งต้องพร้อมเสี่ยงชีวิตป้องกันแกะจากขโมยและฝูงสุนัขป่า

การตื่นเฝ้าระวังอยู่เสมอ ความกล้าหาญไม่หวั่นเกรงอันตราย ตลอดจนความรักและอดทนต่อฝูงแกะ เหล่านี้คือคุณสมบัติที่จำเป็นของคนเลี้ยงแกะ  ด้วยภาพพจน์ที่ดีเลิศเช่นนี้เอง คนเลี้ยงแกะจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ของชนชาติยิว
ในพระธรรมเก่า พระเจ้าได้รับการวาดภาพว่าเป็น “ผู้เลี้ยงแกะ” และชาวยิวคือฝูงแกะของพระองค์ “พระยาห์เวห์ทรงเลี้ยงดูข้าพเจ้าอย่างผู้เลี้ยงแกะ  ข้าพเจ้าจึงไม่ขาดสิ่งใด” (สดด 23:1) “ข้าพเจ้าทั้งหลายผู้เป็นประชากรของพระองค์และเป็นฝูงแกะที่ทรงเลี้ยงดู จะขอบพระคุณพระองค์ตลอดไป” (สดด 79:13)
ประกาศกทำนายถึงพระเมสสิยาห์ว่าจะเป็นดั่งผู้เลี้ยงแกะด้วยเช่นกัน “พระองค์ทรงเลี้ยงดูฝูงแกะของพระองค์ดั่งคนเลี้ยงแกะ พระองค์ทรงรวบรวมบรรดาลูกแกะไว้ในอ้อมพระกร โอบอุ้มไว้แนบพระทรวง พระองค์ทรงนำแม่แกะที่มีลูกอย่างอ่อนสุภาพ” (อสย 40:11)
บรรดากษัตริย์ของชาวยิวก็เป็นดังผู้เลี้ยงแกะของพระเจ้า เพียงแต่ว่าส่วนใหญ่เป็นผู้เลี้ยงแกะที่ไม่ดี “วิบัติแก่บรรดาคนเลี้ยงแกะซึ่งผลาญทำลายและทำให้ลูกแกะในท้องทุ่งของเรากระจัดกระจายไป ! ...เนื่องจากเจ้าขับไล่ไสส่งและไม่ได้ดูแลเอาใจใส่พวกเขา” (ยรม 23:1-4)
ในพระธรรมใหม่ พระเยซูเจ้าเองทรงเป็น “ผู้เลี้ยงแกะที่ดี”  พระองค์ทรงพร้อมจะเสี่ยงชีวิตตามหาและช่วยลูกแกะที่พลัดหลงให้ปลอดภัย “ถ้าชายคนหนึ่งมีแกะอยู่ร้อยตัว แล้วแกะตัวหนึ่งบังเอิญหลงทาง เขาจะไม่ปล่อยแกะเก้าสิบเก้าตัวไว้บนภูเขา เพื่อค้นหาแกะตัวที่หลงไปหรือ” (มธ 18:12; ลก 15:4) พระองค์ทรงสงสารประชาชน “เพราะเขาเหล่านั้นเหน็ดเหนื่อยและท้อแท้ประดุจฝูงแกะที่ไม่มีคนเลี้ยง” (มธ 9:36; มก 6:34)
นอกจากนั้น พระองค์ยังตรัสกับเปโตรว่า “จงเลี้ยงดูแกะของเราเถิด” (ยน 21:15-19) และเปโตรได้ขอร้องบรรดาผู้นำของพระศาสนจักรต่อมาว่า “จงเลี้ยงดูฝูงแกะของพระเจ้าที่อยู่ในความดูแลของท่าน จงดูแลด้วยความเต็มใจตามพระประสงค์ของพระเจ้า มิใช่ดูแลด้วยจำใจ จงดูแลด้วยความสมัครใจ มิใช่ดูแลเพราะเห็นแก่อามิสสินจ้าง  จงเป็นแบบอย่างแก่ฝูงแกะ มิใช่เป็นเหมือนเจ้านายเหนือผู้ที่อยู่ใต้ปกครอง” (1 ปต 5:2-3)
นอกจากภาพพจน์ที่ดีเลิศของคนเลี้ยงแกะแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่าง “คนเลี้ยง” กับ “แกะ” ก็ดีเยี่ยมด้วย สาเหตุเป็นเพราะชาวยิวนิยมเลี้ยงแกะไว้เพื่อตัดขนมิใช่เพื่อฆ่ากินเนื้อ  แกะจึงมีอายุยืนยาวและมีโอกาสอยู่กับคนเลี้ยงเป็นเวลานานหลายปีจนคนเลี้ยงจำแกะของตนได้ทุกตัว และแกะก็จำเสียงของคนเลี้ยงได้เป็นอย่างดี  พวกเขามักตั้งชื่อให้แกะแต่ละตัวตามลักษณะของมัน เช่น ไอ้ “ขาน้ำตาล”  นัง “หูดำ” ฯลฯ  ปกติคนเลี้ยงแกะจะเดินนำหน้าฝูงแกะเพื่อดูว่าหนทางปลอดภัยหรือไม่และส่งเสียงร้องดัง ๆ เป็นครั้งคราวเพื่อให้แกะรู้ว่าตนอยู่ที่ใด  หากเป็นเสียงที่ไม่คุ้นเคย แกะจะหยุดอยู่กับที่ ถ้าเสียงนั้นดังซ้ำอีกพวกมันจะหันกลับแล้ววิ่งหนีไป
    กลับมาที่ “คอกแกะ” !   
คอกแกะมี 2 ประเภท  ประเภทแรกเป็นคอกแกะประจำหมู่บ้านสำหรับให้แกะทุกฝูงของหมู่บ้านเข้าพักพิงยามค่ำคืนหลังกลับจากทุ่งหญ้า  คอกประเภทนี้มีประตูแข็งแรงแน่นหนา  มีคนเฝ้าประตูถือกุญแจคอยเปิดปิดประตูยามคนเลี้ยงแกะนำฝูงแกะเข้าออกจากคอก
เมื่อตรัสว่า “ผู้ที่เข้าทางประตูก็เป็นผู้เลี้ยงแกะ คนเฝ้าประตูย่อมเปิดประตูให้เขาเข้าไป” (ยน 10:2, 3) พระองค์กำลังหมายถึงประตูคอกแกะประจำหมู่บ้าน
คอกแกะประเภทที่สองอยู่ตามทุ่งหญ้า มีไว้ให้แกะพักพิงเวลาไม่กลับหมู่บ้านในช่วงอากาศอบอุ่น (ประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนกันยายน)  คอกแกะประเภทนี้อยู่ในที่โล่งแจ้ง มีกำแพงล้อมรอบโดยเว้นช่องว่างไว้หนึ่งช่องสำหรับแกะผ่านเข้าออก  ช่องว่างนี้ไม่มีประตู เวลากลางคืนคนเลี้ยงแกะจึงต้องนอนขวางช่องว่างนี้ไว้จนไม่มีทางใดเลยที่แกะจะผ่านเข้าออกจากคอกได้เว้นแต่จะเดินข้ามร่างของคนเลี้ยงแกะ  โดยทางพฤตินัยจึงเป็น “คนเลี้ยงแกะ” นั่นเองที่เป็น “ประตู”
นี่คือเบื้องหลังที่ทำให้พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เราเป็นประตู” (ยน 10:9)
ความหมายของพระองค์คือ จำเป็นต้องผ่านทางพระองค์ และผ่านทางพระองค์แต่เพียงผู้เดียว เราจึงเข้าถึงพระเจ้าได้  ดังที่นักบุญเปาโลกล่าวไว้ว่า “เดชะพระองค์เราทั้งสองฝ่าย (ผู้ที่เข้าสุหนัตและมิได้เข้าสุหนัต) จึงเข้าไปเฝ้าพระบิดาเจ้าได้” (อฟ 2:18)
พระองค์ทรงเป็น “ทางใหม่ที่ให้ชีวิต” (ฮบ 10:20)
นอกจากตรัสว่า “เราเป็นประตู” แล้วพระองค์ยังเสริมอีกว่า “ผู้ที่เข้ามาทางเราก็จะรอดพ้น เขาจะเข้าจะออก และจะพบทุ่งหญ้า” (ยน 10:9)
การ “เข้า-ออก” โดยไม่ได้รับอันตรายเป็นสำนวนพูดของชาวยิวหมายถึง “ชีวิตที่มั่นคงปลอดภัยสูงสุด”
หากประชาชนสามารถเข้าออกประตูเมืองได้โดยไม่หวาดหวั่น ย่อมหมายความว่าเมืองนั้นปลอดภัย มีขื่อมีแป มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และมีสันติสุข  ผู้นำชาวอิสราเอลจึงมีหน้าที่นำประชาชนออกไปและกลับเข้ามา (กดว 27:17)
นอกจากนั้น ผู้ที่นบนอบเชื่อฟังพระเจ้ายังจะได้รับพระพร “ทั้งเมื่อเข้ามาและเมื่อออกไป” (ฉธบ 28:6)  พระองค์ “จะทรงพิทักษ์ท่านทั้งเมื่อออกไปและเข้ามา บัดนี้และตลอดไป” (สดด 121:8)
เท่ากับพระเยซูเจ้าต้องการบอกเราว่า เมื่อใดก็ตามที่เราเข้าถึงพระเจ้าโดยผ่านทางพระองค์ เราจะรับรู้ได้ทันทีว่าความมั่นคงปลอดภัยสูงสุดได้เข้ามาสู่ชีวิตของเรา
เพราะบัดนี้ชีวิตของเราอยู่ในอ้อมพระหัตถ์ของพระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยความรักและความเมตตา ความหวาดกลัวและวิตกกังวลทั้งปวงจึงมลายสูญหายไปสิ้น !
ส่วนผู้ที่มาก่อนหน้าพระองค์ทุกคนล้วน “เป็นขโมยและโจร แต่แกะมิได้ฟังเสียงของเขาเหล่านั้น” (ยน 10:8)
ผู้ที่มาก่อนหน้าพระองค์ไม่ได้หมายถึงบรรดาประกาศก แต่ทรงหมายถึงพวกกระหายเลือด !
โยเซฟุสเล่าว่า เกิดความโกลาหลวุ่นวายในแคว้นยูเดียถึงหนึ่งหมื่นครั้ง ส่วนใหญ่ชักนำโดยผู้ที่อ้างตัวว่ามาจากพระเจ้า แต่จริงๆแล้วคือพวกกบฏ  พวกเขาเชื่อว่ายุคทองของชาวยิวจะได้มาก็โดยการนองเลือดและสงครามกับกองทัพโรมันเท่านั้น  พวกเขาพร้อมจะฆ่าทุกคนไม่เว้นแม้แต่คนรักและตัวเองหากว่ามันจะช่วยให้ความหวังของพวกเขาเป็นจริงขึ้นมา
พวกเขามา “เพื่อขโมย ฆ่าและทำลาย” แต่พระองค์เสด็จมา “เพื่อให้แกะมีชีวิตและมีชีวิตอย่างสมบูรณ์” (ยน 10:10)
ราวกับพระองค์กำลังตรัสว่า “มีคนมาก่อนหน้าเราและอ้างตัวเป็นผู้นำที่พระเจ้าทรงส่งมา  พวกเขาเลือกหนทางของสงครามและการฆ่าฟันซึ่งมีแต่จะชักนำมนุษย์ให้ยิ่งออกห่างจากพระเจ้า  แต่หนทางของเราคือหนทางแห่งสันติสุข ความรัก และชีวิต  หากพวกท่านเลือกหนทางนี้ มันจะนำท่านเข้าใกล้ชิดพระเจ้ายิ่งวันยิ่งมากขึ้น”
มีเรื่องเล่าว่า ทหารโรมันผู้ท้อแท้สิ้นหวังและหมดอาลัยตายอยากในชีวิตคนหนึ่งได้มาหาจูเลียส ซีซาร์เพื่อขออนุญาตฆ่าตัวตาย  ซีซาร์มองเขาแล้วถามว่า “เจ้าเคยมีชีวิตด้วยหรือ ?”
นั่นเป็นเพราะเมื่อเราดำเนินชีวิตตามลำพัง ชีวิตย่อมมืดมนและท้อแท้
แต่เมื่อเราดำเนินชีวิตพร้อมกับพระคริสตเจ้า เรากลับมีชีวิตชีวา และมีอย่างสมบูรณ์เหลือเฟือ
ทุกสิ่งกลับมีความหมาย มีคุณค่า และมีสันติสุข !!