แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

อาทิตย์ที่ 12 เทศกาลธรรมดา

ข่าวดี    มัทธิว 10:26-33
(26) “อย่ากลัวมนุษย์เลย ไม่มีสิ่งใดที่ปิดบังไว้ จะไม่ถูกเปิดเผย ไม่มีสิ่งใดที่ซ่อนเร้น จะไม่มีใครรู้ (27) สิ่งที่เราบอกท่านในที่มืด ท่านจงกล่าวออกมาในที่สว่าง สิ่งที่ท่านได้ยินกระซิบที่หู จงประกาศบนดาดฟ้าหลังคาเรือน” (28) “อย่ากลัวผู้ที่ฆ่าได้แต่กาย แต่ไม่อาจฆ่าวิญญาณได้ จงกลัวผู้ที่ทำลายทั้งกายและวิญญาณให้พินาศไปในนรก (29) นกกระจอกสองตัว เขาขายกันเพียงหนึ่งบาทมิใช่หรือ ถึงกระนั้น ก็ไม่มีนกสักตัวเดียวที่ตกถึงพื้นดินโดยที่พระบิดาของท่านไม่ทรงเห็นชอบ (30) ผมทุกเส้นบนศีรษะของท่านถูกนับไว้หมดแล้ว (31) เพราะฉะนั้น อย่ากลัวเลย ท่านมีค่ามากกว่านกกระจอกจำนวนมาก” (32) “ทุกคนที่ยอมรับเราต่อหน้ามนุษย์ เราจะยอมรับผู้นั้นเฉพาะพระพักตร์พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ (33) และผู้ที่ไม่ยอมรับเราต่อหน้ามนุษย์ เราก็จะไม่รับผู้นั้นเฉพาะพระพักตร์พระบิดาของเรา ผู้สถิตในสวรรค์ด้วย”


1. อย่ากลัว
    ก่อนส่งบรรดาอัครสาวกออกไปประกาศข่าวดีเรื่องอาณาจักรสวรรค์และรักษาคนเจ็บไข้  พระเยซูเจ้าทรงสั่งสอนพวกเขาให้ไปหาชาวอิสราเอลก่อนคนต่างชาติ เมื่อเดินทางก็อย่าพกเงินหรือย่ามติดตัว ให้พร้อมที่จะถูกเบียดเบียน และที่สำคัญคือ “อย่ากลัว” (มธ 10:1-31)
     พระองค์ตรัสว่า “อย่ากลัว” ถึง 3 ครั้งด้วยกัน
    1.      อย่ากลัวเพราะ “ไม่มีสิ่งใดที่ปิดบังไว้ จะไม่ถูกเปิดเผย” (มธ 10:26)
          ความหมายของพระองค์ชัดเจนคือ “ความจริงจะมีชัย” ดังที่ภาษิตละตินกล่าวไว้ว่า “ความจริงคือสิ่งยิ่งใหญ่และจะมีชัยเหนือทุกสิ่ง”
         ในอดีตมีคริสตชนจำนวนมากที่ต้องเสียสละ ทนทุกข์ หรือยอมตายในสถานที่ไม่เปิดเผย  แต่วันนี้ประวัติศาสตร์ได้รับรู้และบันทึกไว้แล้วว่าใครคือผู้กดขี่และใครคือวีรบุรุษ  บัดนี้ทุกคนต่างได้รับการตอบแทนตามการกระทำของตนแล้ว
     นี่คือข้อพิสูจน์ว่าคำสอนของพระองค์เป็นความจริงเพราะถึงคนจะตายไปนานแล้ว แต่ “ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย” และมีชัยในที่สุด
     เพราะฉะนั้น เมื่อเราทำงานรับใช้พระองค์จึงไม่ต้องกลัวว่าจะมีคนเข้าใจผิดหรือถูกใส่ร้าย...
เพราะความจริงเป็นสิ่งไม่ตายและจะถูกเปิดเผย !
     ในเมื่ออย่างไรเสียความจริงก็ต้องเป็นฝ่ายชนะ พระองค์จึงตรัสสั่งว่า “สิ่งที่เราบอกท่านในที่มืด ท่านจงกล่าวออกมาในที่สว่าง  สิ่งที่ท่านได้ยินกระซิบที่หู จงประกาศบนดาดฟ้าหลังคาเรือน” (มธ 10:27)
     นั่นคือ เราต้องประกาศข่าวดีที่ได้รับมาอย่างกล้าหาญ  และเพื่อจะทำเช่นนี้ได้ เราจำเป็นต้อง
         1.1    ฟัง  เราจะสอนผู้อื่นให้ว่ายน้ำได้อย่างไรหากตัวเราเองยังว่ายน้ำไม่เป็น  และเราจะประกาศข่าวดีให้ผู้อื่นได้อย่างไรหากตัวเราเองยังไม่ได้รับข่าวดี  ภาษิตละตินจึงกล่าวไว้ว่า “ไม่มีใครสามารถให้สิ่งที่ตนไม่มีได้” (Nemo dat quod non habet.)
          เพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องปลีกตัวจากความวุ่นวายในชีวิตประจำวันเพื่อจะได้อยู่ตามลำพังกับพระเยซูเจ้า เผื่อว่าในยามที่ชีวิตของเรามืดมนพระองค์จะตรัสกับเรา หรือในยามโดดเดี่ยวอ้างว้างพระองค์จะกระซิบกับเรา หาไม่แล้วเราจะเอาความจริงอะไรไปประกาศแก่ผู้อื่น
     1.2    พูด  เราต้องพูดสิ่งที่ได้ยินจากพระเยซูเจ้า แม้ว่าการพูดนั้นจะทำให้ผู้อื่นเกลียดชังเราหรืออาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตก็ตาม
          เราไม่ต้องกลัวแม้แต่ความตายเพราะการตัดสินของพระเจ้าอยู่เหนือการตัดสินที่ผิดพลาดของมนุษย์  พระองค์จะทรงแก้ไขและทำให้ “ความจริงมีชัย” ในที่สุด
2.     “อย่ากลัวผู้ที่ฆ่าได้แต่กาย” (มธ 10:28)
         โทษสูงสุดเท่าที่มนุษย์สามารถหยิบยื่นให้เราได้ก็คือความตายฝ่ายกาย ซึ่งเทียบกันไม่ได้เลยกับชะตากรรมของผู้ที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า
         เพราะฉะนั้นพระเยซูเจ้าจึงตรัสสั่งว่า “จงกลัวผู้ที่ทำลายทั้งกายและวิญญาณให้พินาศไปในนรก” (มธ 10:28) และผู้ที่สามารถกระทำเช่นนั้นได้ก็คือพระเจ้า
        หากฟังเผินๆ  ดูเหมือนพระเจ้าจะน่ากลัวมากกว่ามนุษย์เสียอีก !
         แต่เบื้องหลังคำสอนของพระองค์ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อของชาวยิวที่ว่า “พระเจ้าทรงอำนาจเหนือชีวิตและความตาย ทรงนำมนุษย์ลงไปยังประตูแดนมรณะ และให้เขากลับขึ้นมาอีก  มนุษย์ใจร้ายอาจฆ่าคนได้ แต่จะนำลมหายใจที่ออกจากร่างไปแล้วกลับมาอีกไม่ได้ และไม่อาจนำวิญญาณที่ถูกจองจำในแดนมรณะให้เป็นอิสระได้” (ปชญ 16:13-14)
         จากความเชื่อที่ว่าพระเจ้าทรงมีอำนาจเหนือมนุษย์  เอเลอาซาร์ผู้เป็นธรรมาจารย์คนสำคัญของชาวยิวจึงยอมสละชีวิตแทนการกินเนื้อหมูซึ่งเป็นสิ่งผิดธรรมบัญญัติ  ท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้าอาจพ้นโทษทัณฑ์ของมนุษย์ได้ แต่จะหนีไม่พ้นพระหัตถ์ของพระผู้ทรงสรรพานุภาพได้เลย ไม่ว่าข้าพเจ้าจะยังมีชีวิตอยู่หรือตายแล้ว  ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงสละชีวิตอย่างกล้าหาญ ณ บัดนี้ เพื่อแสดงว่าข้าพเจ้าสมควรกับวัยชรา จะได้เป็นตัวอย่างที่มีเกียรติให้เยาวชนเห็นว่าควรเต็มใจตายอย่างกล้าหาญเพื่อธรรมบัญญัติศักดิ์สิทธิ์น่าเคารพ” (2 มคบ 6:26-28)
         จาก “กลัวผิดธรรมบัญญัติ” รับบีโยคานานได้พัฒนาความคิดไปสู่ “กลัวนรก”  ท่านจึงอดร้องไห้ไม่ได้เมื่อเห็นบรรดาศิษย์มาเยี่ยมยามป่วยหนัก จนพวกศิษย์ต้องถามว่า “โอ้ท่านผู้เป็นเสาหลักและเป็นแสงสว่างของอิสราเอล ทำไมท่านจึงร้องไห้เล่า ?”  รับบีโยคานานตอบว่า “ถ้าข้าพเจ้ากำลังถูกนำไปอยู่ต่อหน้ากษัตริย์ผู้ซึ่งวันนี้อยู่ที่นี่แต่พรุ่งนี้ก็ไปอยู่ในหลุมศพ  ผู้ซึ่งวันนี้อาจพิโรธ อาจจำคุก หรืออาจประหารชีวิตข้าพเจ้าได้แต่ก็ไม่ใช่โทษหรือความตายตลอดนิรันดร  อีกทั้งข้าพเจ้ายังมีโอกาสเอาใจหรือติดสินบนพระองค์ได้  ลำพังอยู่ต่อหน้ากษัตริย์เช่นว่านี้ก็น่าร้องไห้อยู่แล้ว  แต่นี่ข้าพเจ้ากำลังจะถูกนำตัวไปอยู่เบื้องพระพักตร์ของกษัตริย์แห่งบรรดากษัตริย์ทั้งหลาย ต่อหน้าองค์พระผู้ศักดิ์สิทธิ์ผู้ทรงเจริญชีพตลอดนิรันดร  หากพระองค์ทรงลงโทษข้าพเจ้า โทษนั้นคงอยู่ชั่วนิรันดรและข้าพเจ้าก็ไม่มีทางติดสินบนได้ด้วย  ขณะนี้ข้าพเจ้าอยู่ต่อหน้าทางสองแพร่ง ทางหนึ่งนำไปสวนเอเดน อีกทางหนึ่งนำไปสู่นรก ซึ่งข้าพเจ้าก็ไม่รู้ว่าจะถูกนำไปทางไหน  อย่างนี้จะไม่ให้ข้าพเจ้าร้องไห้ได้อย่างไร ?”
     ความกลัวแบบรับบีโยคานานได้สืบทอดต่อมาในพระศาสนจักรตราบจนถึงทุกวันนี้ ดังจะเห็นได้จากคริสตชนจำนวนไม่น้อยที่ “ไม่ทำบาป” เพราะ “กลัวตกนรก”
    เราเรียกความกลัวเช่นนี้ว่า “ความกลัวอันศักดิ์สิทธิ์” (holy fear) ซึ่งแม้จะศักดิ์สิทธิ์เพราะช่วยป้องกันเราไม่ให้ทำบาป แต่ถึงอย่างไรมันก็ยังเป็นความกลัวอยู่ดี
         หันกลับไปดูชาวยิว ใช่ว่าพวกเขาจะคิดถึงแต่ “ความกลัว” จนลืมเรื่อง “ความรัก”  พวกเขาสอนว่า “ผู้ที่ทำทุกสิ่งด้วยความรักจะได้รับรางวัลสองเท่าและสี่เท่า  จงทำทุกสิ่งด้วยความรัก เพราะที่ใดมีความรักก็ไม่มีความกลัวและที่ใดมีความกลัวก็ไม่มีความรัก เว้นแต่ความสัมพันธ์กับพระเจ้า”
         แปลว่าความสัมพันธ์กับพระเจ้าจะประกอบด้วยความรักหรือความกลัวเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งมิได้  จำเป็นต้องประกอบด้วย “ทั้งความรักและความกลัว”
         นั่นคือ เราไม่ได้กลัวว่าพระเจ้าจะลงโทษเรา แต่เรากลัวว่าจะทำให้พระองค์เสียพระทัยหากเราปฏิเสธความรักของพระองค์ด้วยการทำบาป !!
         เราเรียกความรักและความกลัวที่จะสูญเสียความรักเช่นนี้ว่า “ความเคารพยำเกรงพระเจ้า” ซึ่งแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับ “ความกลัวตกนรก”
         คำสอนของพระเยซูเจ้าจึงแปลความได้ว่า “อย่ากลัวมนุษย์ผู้ฆ่าได้แต่กาย แต่จงเคารพยำเกรงพระเจ้าผู้ทรงรักโลกและทรงมีอำนาจเหนือชีวิตและความตายชั่วนิรันดร”
         อีกประเด็นหนึ่งคือพระวาจาที่ว่า “จงกลัวผู้ที่ทำลายทั้งกายและวิญญาณให้พินาศไปในนรก” นั้น ยังแฝงความหมายว่า นอกจากความผิดที่ทำให้ร่างกายของเราพินาศแล้ว ยังมีความผิดที่สามารถทำลายทั้งกายและวิญญาณให้พินาศไปในนรกด้วย และหนึ่งในความผิดนั้นก็คือ “ความไม่ซื่อสัตย์”
         ในยามสงคราม มีบางคนรักษาชีวิตของตนโดยยอมทรยศประเทศชาติหรือผู้ร่วมงาน  จริงอยู่เขาอาจรอดชีวิตได้ แต่เขาจะสู้หน้าตัวเอง สู้หน้ามนุษย์ หรือสู้หน้าพระเจ้าได้อย่างไรกัน
         หรือคนที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อครอบครัวหรือกระแสเรียกของตนย่อมตระหนักดีว่า การ “มีชีวิต” แต่ “ไม่มีชีวา” นั้นเป็นอย่างไร ?!
        ส่วนผู้ที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้านั้น ยิ่งไม่ต้องพูดถึง !
3.     อย่ากลัวเพราะ “ท่านมีค่ามากกว่านกกระจอกจำนวนมาก” (มธ 10:31)
         มัทธิวบันทึกพระวาจาของพระเยซูเจ้าไว้ว่า “นกกระจอกสองตัว เขาขายกันเพียงหนึ่งบาทมิใช่หรือ” (มธ 10:29) ส่วนลูกาแตกต่างออกไปคือ “นกกระจอกห้าตัวราคาขายสองบาทมิใช่หรือ” (ลก 12:6)
         ความแตกต่างนี้มิใช่เรื่องแปลกเพราะถ้าซื้อนกสองบาทคนขายย่อมแถมให้อีกหนึ่งตัว  แต่ที่แปลกคือนกตัวที่ได้รับเป็นของแถมซึ่งชาวยิวถือว่าไม่มีราคาและไร้ค่านั้น กลับมีค่าอย่างยิ่งสำหรับพระเยซูเจ้า  พระองค์ตรัสว่า “ไม่มีนกสักตัวเดียวที่ตกถึงพื้นดินโดยที่พระบิดาของท่านไม่ทรงเห็นชอบ” (มธ 10:29)
     สิ่งที่น่าสังเกตจากพระวาจาของพระองค์คือคำกรีก “พีพโต” (piptō) ซึ่งแปลว่า “ตก” นั้น มิได้หมายถึงตกลงมาตายลูกเดียว แต่หมายถึงร่อนลงสู่พื้นโดยยังมีชีวิตอยู่ด้วย
     อีกข้อสังเกตหนึ่งคือคำว่า “ไม่ทรงเห็นชอบ”  หากแปลตรงตัวตามภาษากรีกก็คือ “ไม่ทรงทราบ”
         ทั้งหมดนี้บ่งบอกว่า พระเจ้าทรงรับทราบและทรงเอาพระทัยใส่ในนกกระจอกทุกตัวแม้ในตัวที่มนุษย์เห็นว่าไร้ค่า  ทั้งนี้มิใช่เฉพาะช่วงเวลาสำคัญอย่างเช่นวินาทีแห่งความเป็นความตายเท่านั้น แต่ทรงสนพระทัยในรายละเอียดทุกขณะจิต ทั้งขณะบินขึ้น ร่อนลง หรือแม้แต่เวลากระโดดโลดเต้นอยู่บนพื้น
        เพราะฉะนั้น  “อย่ากลัวเพราะท่านมีค่ามากกว่านกกระจอกมากนัก” !!!

2. ผู้ที่ยอมรับเราต่อหน้ามนุษย์ เราจะยอมรับผู้นั้นเฉพาะพระพักตร์พระบิดา
    คริสตชนใดที่ซื่อสัตย์ต่อพระเยซูเจ้าในโลกนี้ พระองค์จะซื่อสัตย์ต่อผู้นั้นในโลกหน้า  และผู้ใดภูมิใจรับพระองค์เป็นเจ้านายในโลกนี้ พระองค์จะภูมิใจรับผู้นั้นเป็นข้ารับใช้ของพระองค์ในโลกหน้า
    หากคริสตชนยุคเริ่มแรกไม่ซื่อสัตย์ต่อพระองค์ ไม่กล้าเผชิญหน้ากับความทุกข์ทรมานและความตายเพื่อยืนยันความเชื่อในพระองค์  วันนี้เราอาจไม่มีพระศาสนจักรแล้วก็ได้
    เพราะความซื่อสัตย์อันไม่สั่นคลอนคือรากฐานของพระศาสนจักร
    ตรงกันข้ามกับผู้ที่ซื่อสัตย์ก็คือ “ผู้ที่ไม่ยอมรับพระองค์ต่อหน้ามนุษย์ พระองค์ก็จะไม่รับผู้นั้นเฉพาะพระพักตร์พระบิดาของพระองค์ ผู้สถิตในสวรรค์ด้วย” (มธ 10:33)
    เราอาจ “ไม่ยอมรับพระองค์ต่อหน้ามนุษย์” ได้ดังนี้
    1.    ด้วยการพูด
         บางคนพูดเหมือนไม่เต็มใจยอมรับพระองค์ เช่น “ฉันเป็นคริสตังเพราะพ่อแม่นำไปล้างบาปตั้งแต่เด็ก” หรือ “ผมเป็นคริสตังก็เพราะต้องการแต่งงาน”
        บางคนเมื่อถูกถามว่าเป็นคริสตังหรือไม่ก็ตอบว่า “ใช่ แต่ไม่เคร่งนัก” ซึ่งส่อว่าคนเหล่านี้ไม่ต้องการให้ความเป็นคริสตังเข้ามายุ่งเกี่ยวกับชีวิตของเขา ไม่ว่าจะเวลาเข้าสังคมหรือเวลาพักผ่อนหย่อนใจตามที่เขารักเขาชอบ  พวกเขาต้องการให้ทุกอย่างเหมือนเดิมราวกับว่าพระเยซูเจ้ามิได้มีความหมายอันใดต่อชีวิตของพวกเขาเลย
        แต่คริสตชนจะยอมปล่อยให้โลกของตนเป็นเหมือนเดิมหรือจะยอมทำตนให้กลมกลืนไปกับโลกไม่ได้  เพราะหน้าที่ของเราคริสตชนคือ “ทำให้โลกดีขึ้น” ตามแนวทางของพระคริสตเจ้า
    2.    ด้วยการเงียบ
        ต้องยอมรับว่าหลายครั้ง “ความเงียบ” ทำร้ายจิตใจคนได้มากกว่า “คำพูด” เสียอีก  นักเขียนชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งเล่าว่า เมื่อเขาพาภรรยาสาวเข้าบ้าน ทุกคนในครอบครัวแสดงอาการไม่ยอมรับอย่างเห็นได้ชัด บางคนถึงกับพูดวิพากษ์วิจารณ์ให้ได้ยินแบบเสีย ๆ หาย ๆ  แต่ภายหลังภรรยาของเขากลับเขียนว่าทั้งชีวิตของเธอต้องทนทุกข์อยู่กับ “ความน่ากลัวของสิ่งที่ไม่ได้พูด”
        น่าเสียดายที่ “ความน่ากลัวของสิ่งที่ไม่ได้พูด” ได้แทรกซึมเข้ามาในชีวิตของเราคริสตชนด้วย  กี่ครั้งกี่คราที่เรามีโอกาสพูดเพื่อพระเยซูเจ้า เพื่อคัดค้านสิ่งที่ผิด หรือเพื่อแสดงจุดยืนว่าเราอยู่ฝ่ายใด  แต่เรากลับปล่อยให้โอกาสเหล่านี้หลุดลอยไป
        เรา “เงียบ” แทนที่จะ “พูด”
        และจริง ๆ แล้วมนุษย์เราปฏิเสธพระองค์ด้วยการ “เงียบ” มากกว่าการพูดหรือกระทำเสียอีก
    3.    ด้วยการกระทำ
        บ่อยครั้งเราดำเนินชีวิตสวนทางกับความเชื่อที่เราประกาศยืนยัน
        เราเชื่อข่าวดีเรื่องความบริสุทธิ์ แต่กลับทำผิดและทำลายชื่อเสียงเกียรติยศของตนเองด้วยการไม่ซื่อสัตย์ต่อภรรยาและครอบครัว
        เราประกาศว่าจะแบกกางเขนติดตามพระองค์ แต่กลับมัววุ่นวายอยู่กับการแสวงหาความสะดวกสบายใส่ตน
        เราสัญญาว่าจะรับใช้พระองค์ผู้ทรงประทานการอภัย แต่เรากลับจดจำความผิด เคียดแค้น และจองเวรผู้อื่น
        บางคนเพ่งสายตาอยู่ที่พระเยซูเจ้าผู้ทรงยอมพลีชีพเพราะรักมนุษย์  แต่กลับดำเนินชีวิตราวกับไม่เคยรู้ว่า “การรับใช้แบบคริสตชน”, “ความรักแบบคริสตชน” หรือ  “น้ำใจแบบคริสตชน” นั้นเป็นอย่างไร ?!