แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

อาทิตย์ที่ 15 เทศกาลธรรมดา

ข่าวดี    มัทธิว 13:1-23 หรือ 1-9
(1)วันเดียวกันนั้นพระเยซูเจ้าเสด็จออกจากบ้านมาประทับที่ริมทะเลสาบ (2) ประชาชนจำนวนมากมาเฝ้าพระองค์ พระองค์จึงเสด็จไปประทับอยู่ในเรือ ส่วนประชาชนยืนอยู่บนฝั่ง (3) พระองค์ตรัสสอนเขาหลายเรื่องเป็นอุปมา
พระองค์ตรัสว่า “จงฟังเถิด ชายคนหนึ่งออกไปหว่านเมล็ดพืช  (4)ขณะที่เขากำลังหว่านอยู่นั้น บางเมล็ดตกอยู่ริมทางเดิน นกก็จิกกินจนหมด  (5)บางเมล็ดตกบนพื้นหินที่มีดินเล็กน้อย ก็งอกขึ้นทันทีเพราะดินไม่ลึก  (6)แต่เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น ก็ถูกเผาและเหี่ยวแห้งไปเพราะไม่มีราก  (7)บางเมล็ดตกในพงหนาม ต้นหนามก็ขึ้นคลุมไว้ ทำให้เหี่ยวเฉาตายไป  (8)บางเมล็ดตกในที่ดินดี จึงเกิดผลร้อยเท่าบ้าง หกสิบเท่าบ้าง สามสิบเท่าบ้าง (9) ใครมีหูก็จงฟังเถิด”
(10)บรรดาศิษย์เข้ามาทูลถามพระเยซูเจ้าว่า “ทำไมพระองค์ตรัสแก่พวกเขาเป็นอุปมาเล่า” (11) พระองค์ทรงตอบว่า “พระเจ้าประทานธรรมล้ำลึกเรื่องอาณาจักรสวรรค์ให้ท่านทั้งหลายรู้ แต่ไม่ได้ประทานให้แก่ผู้อื่น (12) เพราะผู้ที่มีมากจะได้รับมากขึ้นจนเหลือเฟือ ส่วนผู้ที่มีน้อย จะถูกริบสิ่งเล็กน้อยที่มีไปด้วย (13) เพราะฉะนั้น เรากล่าวแก่คนเหล่านี้เป็นอุปมา ถึงพวกเขามองดู ก็ไม่เห็น ถึงฟังก็ไม่ได้ยินและไม่เข้าใจ (14) สำหรับคนเหล่านี้ คำทำนายของประกาศกอิสยาห์ก็เป็นความจริง ที่ว่า ท่านทั้งหลายจะฟังแล้วฟังเล่าแต่จะไม่เข้าใจ จะมองแล้วมองเล่าแต่จะไม่เห็น (15) เพราะจิตใจของประชาชนนี้แข็งกระด้าง เขาทำหูทวนลมและปิดตาเสีย เพื่อไม่ต้องมองด้วยตา ไม่ต้องฟังด้วยหู จะได้ไม่เข้าใจ จะได้ไม่ต้องกลับใจ เราจะได้ไม่ต้องรักษาเขา (16) “ส่วนท่านทั้งหลาย ตาของท่านเป็นสุขที่มองเห็น หูของท่านเป็นสุขที่ได้ฟัง (17) เราบอกความจริงแก่ท่านว่า ประกาศกและผู้ชอบธรรมจำนวนมากปรารถนาจะเห็นสิ่งที่ท่านได้เห็นอยู่ แต่ก็ไม่ได้เห็น ปรารถนาจะได้ฟังสิ่งที่ท่านฟังอยู่ แต่ก็ไม่ได้ฟัง
(18)“เพราะฉะนั้น จงฟังความหมายของอุปมาเรื่องผู้หว่านเถิด  (19)เมื่อคนหนึ่งฟังพระวาจาเรื่องพระอาณาจักรและไม่เข้าใจ มารร้ายก็มาและถอนสิ่งที่หว่านลงในใจของเขาไปเสีย นั่นได้แก่ เมล็ดที่ตกริมทาง  (20)เมล็ดที่ตกบนหินคือผู้ฟังพระวาจาและมีความยินดีรับไว้ทันที  (21)แต่เขาไม่มีรากในตัว จึงไม่มั่นคง เมื่อเผชิญความยากลำบากหรือถูกเบียดเบียนเพราะพระวาจานั้น เขาก็ยอมแพ้ทันที  (22)เมล็ดที่ตกในพงหนามหมายถึงบุคคลที่ฟังพระวาจา แต่ความวุ่นวายในทางโลก ความลุ่มหลงในทรัพย์สมบัติ เข้ามาบดบังพระวาจาไว้ จึงไม่เกิดผล  (23)ส่วนเมล็ดที่หว่านลงในดินดี หมายถึงบุคคลที่ฟังพระวาจาและเข้าใจ จึงเกิดผลร้อยเท่าบ้าง หกสิบเท่าบ้าง สามสิบเท่าบ้าง”


ขณะที่พระเยซูเจ้าทรงใช้เรือเป็นเสมือนธรรมาสน์สำหรับประกาศข่าวดี  บนฝั่งก็มีทุ่งนาที่ทุกคนแลเห็นได้ และในทุ่งนานั้นมีชายคนหนึ่งกำลังหว่านเมล็ดพืช
นี่คืออัจฉริยภาพของพระองค์ที่สามารถใช้สิ่งที่ทุกคนเห็นและเข้าใจได้ เพื่ออธิบายสิ่งที่พวกเขายังมองไม่เห็นและยังไม่เข้าใจ
ในปาเลสไตน์ มีวิธีหว่านเมล็ดพืช 2 วิธีด้วยกัน คือ
1.    คนหว่านเดินหว่านเมล็ดพืชไปมาตามทุ่งนา  หากมีลมพัด เมล็ดพืชอาจปลิวไปตกที่ไหนก็ได้แม้แต่นอกท้องนาของตัวเอง
2.    เอาเมล็ดพืชใส่กระสอบวางบนหลังลา แล้วเจาะรูที่มุมกระสอบพร้อมกับจูงลาเดินไปมาตามท้องนา  กรณีนี้อาจมีเมล็ดพืชส่วนหนึ่งตกเรี่ยราดขณะที่ลาข้ามทางเดิน
ทุ่งนาในปาเลสไตน์มักเป็นผืนดินแคบแต่ยาว  ประชาชนมีสิทธิใช้ที่ดินระหว่างผืนนาแต่ละผืนเป็นทางเดิน  เมื่อมีคนเดินผ่านไปผ่านมาดินจะถูกเหยียบและอัดแน่น จนเมล็ดพืชไม่มีทางเจาะไชลงไปในดินได้เลย
พื้นหินที่พระเยซูเจ้าตรัสถึงไม่ได้หมายถึงดินปนหินเหมือนในบ้านเรา แต่เป็นดินล้วนจริง ๆ เพียงแต่ว่ามีความหนาน้อยมาก บางแห่งหนาเพียง 2-3 นิ้วเหนือชั้นหินปูนซึ่งมองไม่เห็น  เมื่อเมล็ดพืชตกลงบนพื้นดินชนิดนี้ มันจะงอกงามรวดเร็วมากเพราะดินบางจึงอบอุ่นเร็วเมื่อโดนแสงอาทิตย์  แต่เมื่อโตขึ้น รากของมันไม่สามารถเจาะไชผ่านหินปูนลงไปในดินลึกได้ จึงขาดน้ำเลี้ยงและเหี่ยวแห้งเฉาตายไปในที่สุด
พื้นดินที่มีพงหนามไม่ได้หมายความว่าชาวนาละเลยการเตรียมผืนดินก่อนหว่านเมล็ดพืช  พวกเขาไถดินและเตรียมดินอย่างดี แต่ไม่สามารถเอาชนะหัวเชื้อวัชพืชที่ซ่อนอยู่ในดินได้  ผลก็คือทั้งเมล็ดพืชและวัชพืชต่างเจริญเติบโตขึ้นมาพร้อมกัน เพียงแต่วัชพืชแข็งแรงกว่าจึงแย่งน้ำเลี้ยงไปหมด และปล่อยให้เมล็ดพืชอดตายไปในที่สุด
ส่วนดินดีนั้น ลึก นุ่ม และปราศจากวัชพืช จนเมล็ดพืชสามารถเจริญเติบโตและบังเกิดผลอุดมสมบูรณ์สำหรับการเก็บเกี่ยว

พระเยซูเจ้าทรงตรัสนิทานเปรียบเทียบเรื่อง “ผู้หว่าน” นี้ เพื่อผู้ฟัง 2 กลุ่มด้วยกันคือ
1.    กลุ่มผู้ฟังพระวาจา
2.    กลุ่มผู้ประกาศพระวาจา

พระวาจาและผู้ฟัง
    เรื่องขำขันจะขำหรือไม่ขำย่อมขึ้นอยู่กับอารมณ์ของผู้ฟังฉันใด  พระวาจาจะบังเกิดผลหรือไม่ก็ย่อมขึ้นอยู่กับผู้ฟังฉันนั้น
    จากนิทานเปรียบเทียบเรื่องนี้ พระเยซูเจ้าทรงแบ่งผู้ฟังพระวาจาออกเป็น 4 ประเภทด้วยกัน กล่าวคือ
    1.    ปิดใจ  ผู้ฟังกลุ่มนี้ไม่ยอมเปิดใจรับฟังข่าวดีใด ๆ ทั้งสิ้น  พระวาจาไม่มีทางซึมซาบเข้าไปในจิตใจของพวกเขา เหมือนเมล็ดพืชไม่สามารถเจาะไชเข้าไปในดินที่ถูกเหยียบย่ำจนอัดแน่นเป็นทางเดินได้  สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้พวกเขาปิดใจไม่ยอมรับพระวาจาได้แก่
        1.1    อคติ  ทำให้จิตใจของมนุษย์บอดมืดต่อทุกสิ่งที่เขาไม่อยากเห็น
        1.2    หยิ่ง  ทำให้ตัวเองคิดว่ารู้ เลยพลาดไม่รู้ในสิ่งที่จำเป็นต้องรู้
        1.3    กลัว  และไม่อยากเผชิญหน้ากับความจริงและความคิดใหม่ ๆ
        1.4    ประพฤติชั่วจนเคยชินเลยปิดใจไม่ยอมรับฟังพระวาจา เพราะเกรงว่าจะถูกกล่าวโทษและถูกประณามโดยพระวาจานั้น
        การปิดใจโดยตั้งใจเช่นนี้ถือว่าอันตรายที่สุด เหมือนคนที่ตาบอดสนิทที่สุดคือคนที่ตั้งใจมองไม่เห็น !
    2.    ปิดปัญญา  เมื่อกลุ่มนี้ได้ฟังพระวาจาก็น้อมรับไว้ด้วยความตื่นเต้นยินดี แต่ไม่เคยนำพระวาจานั้นมาใคร่ครวญไตร่ตรองให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งถ่องแท้ เปรียบได้กับเมล็ดพืชที่ตกบนดินตื้นเหนือแผ่นหินปูน  เมื่อรากไม่หยั่งลึก ย่อมไม่อาจต้านทานกระแสวัตถุนิยมและบริโภคนิยมอันเป็นภัยใหญ่หลวงของยุคนี้ได้
        ลักษณะภายนอกที่เห็นได้ชัดของกลุ่มนี้คือ “จับจด”  ชอบตามแฟชั่น  เปลี่ยนงานอดิเรกบ่อย ๆ  เข้ากลุ่มนี้ ออกกลุ่มโน้น ฯลฯ  ชีวิตของพวกเขาเต็มไปด้วยสิ่งที่ริเริ่มไว้แต่ไม่เคยสานต่อจนสำเร็จ
    3.    ติดกับโลก  นี่คือลักษณะเฉพาะของคนไทยทุกวันนี้ที่ชีวิตเต็มไปด้วยสิ่งต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่การงาน  การประชุม  การพักผ่อนหย่อนใจ  หรือแม้แต่การมีส่วนร่วมในกิจกรรมแห่งความรัก เช่น ช่วยเหลือผู้ประสบภัย เยี่ยมคนป่วย คนชรา เด็กกำพร้า ฯลฯ  แต่กลับไม่มีเวลาสำหรับ “ผู้ที่เป็นบ่อเกิดแห่งความรัก”
        เรายุ่งเหมือนเมล็ดพืชที่ถูกวัชพืชปกคลุมจนไม่มีเวลาสำหรับการสวดภาวนาและศึกษาพระวาจาของพระเจ้าผู้เป็นแรงบันดาลใจให้เรารัก  และเราทำกิจการแห่งความรักก็เพื่อพระองค์ ไม่ใช่เพื่อสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น
        จะเห็นว่าสิ่งที่พรากเราจากพระเจ้าไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งเลวร้ายเสมอไป  และนี่คือกับดักของปีศาจที่ร้ายสุด ๆ เพราะมันใช้กิจการที่ดีมากมาพรากเราจากสิ่งที่ดีที่สุด
        พึงระลึกเสมอว่า “ศัตรูสำคัญของสิ่งที่ดีที่สุดคือสิ่งที่ดีที่สุดเป็นอันดับสอง”
    4.    ดินดี  ลักษณะของผู้ฟังกลุ่มสุดท้ายและน่าพึงปรารถนาสำหรับเราทุกคนคือ
        4.1    เปิดใจ  พร้อมและเต็มใจเรียนรู้
        4.2    พร้อมฟัง  โดยกำจัดความ “หยิ่ง” และ “ยุ่ง” ออกไปจากชีวิต  หลายครั้ง ปัญหาโลกแตกสามารถคลี่คลายได้เพียงแค่เรารู้จักฟังเพื่อน และโดยเฉพาะฟังเสียงของพระเจ้า
        4.3    เข้าใจ  โดยคิดและไตร่ตรองสิ่งที่ได้รับฟังมาว่ามีความหมายอย่างไรสำหรับตัวเรา แล้วค่อยน้อมรับเข้ามาปฏิบัติในชีวิตของเรา
        4.4    ปฏิบัติ ตามสิ่งที่เข้าใจเพื่อจะได้บังเกิดผล “ร้อยเท่าบ้าง หกสิบเท่าบ้าง สามสิบเท่าบ้าง”
    เราอาจสรุปได้ว่า ผู้ฟังที่เปรียบเสมือนดินดีคือ ผู้ที่ฟัง เข้าใจ และปฏิบัติ ตามพระวาจาที่ได้รับมา

ผู้ประกาศพระวาจา
    หากเราย้อนเวลากลับไปสักสองพันปี เราจะพบว่าบรรดาอัครสาวกนั้นท้อแท้และสิ้นหวังมากสักเพียงใด
    จริงอยู่พระอาจารย์ของพวกเขาเป็นคนดีที่สุด ฉลาดปราดเปรื่องที่สุด และวิเศษสุด ๆ  แต่หากพูดตามประสามนุษย์แล้ว ต้องยอมรับว่าพระองค์ไม่ประสบความสำเร็จเอาเสียเลย  ไหนศาลาธรรมจะปิดประตูไม่ต้อนรับพระองค์  ไหนบรรดาผู้นำศาสนาจะต่อต้านและจ้องกำจัดพระองค์  อีกทั้งฝูงชนก็มีเพียงน้อยนิดที่กลับใจจริง ๆ  นอกนั้นล้วนมาเพราะหวังผลประโยชน์จากพระองค์ เช่น การรักษาโรคซึ่งเมื่อหายแล้วพวกเขาก็ตีจากพระองค์ไป
    พระเยซูเจ้าจึงตรัสนิทานเปรียบเทียบเรื่องนี้เพื่อให้ “กำลังใจ” พวกเขา โดยย้ำว่า “จะมีผลผลิตให้เก็บเกี่ยวแน่”
    แม้บางเมล็ดจะตกตามทางเดินและถูกนกจิกกิน  บางเมล็ดจะตกบนดินตื้นและไม่โต  หรือบางเมล็ดอาจถูกพงหนามหรือวัชพืชปกคลุมจนเฉาตายไป  แต่ถึงที่สุดแล้วจะมีผลร้อยเท่าบ้าง หกสิบเท่าบ้าง หรือสามสิบเท่าบ้าง ให้เก็บเกี่ยวอย่างแน่นอน
    สิ่งที่พระองค์ต้องการบอกบรรดาอัครสาวก และพวกเราทุกคนคือ
    1.    เมื่อเราหว่านพระวาจา เราไม่ทราบว่าพระวาจาจะเติบโตอย่างไร และจะก่อให้เกิดผลอะไร
        ที่วัดแห่งหนึ่งในอังกฤษ ชายสูงอายุมากคนหนึ่งชื่อโทมัส มาวัดตามลำพังเป็นประจำเพราะคนรุ่นราวคราวเดียวกันตายไปหมดแล้ว คนรุ่นหลังไม่มีใครรู้จัก  เมื่อโทมัสตาย  ผู้เขียนบันทึกนี้ซึ่งเป็นสัตบุรุษวัดเดียวกันเกรงว่าจะไม่มีใครไปฝังศพ เขาจึงตัดสินใจไปร่วมงานฝังศพของโทมัส
        วันนั้นฝนตก ที่สุสานจึงมีเพียงนายทหารที่ไม่ทราบยศเพราะใส่เสื้อกันฝนทับเครื่องแบบรออยู่เพียงคนเดียว  ต่อหน้าหลุมศพ เขาทำความเคารพศพโทมัสแบบเดียวกับที่ทำให้แก่พระมหากษัตริย์
        เมื่อเสร็จพิธี นายทหารผู้นั้นเดินคุยมากับผู้เขียน ระหว่างนั้นลมกระโชกแรง พัดเสื้อกันฝนออก เขาใส่เครื่องแบบนายพลจัตวา !
        นายพลเล่าให้ฟังว่า  สมัยเป็นเด็กเขาดื้อและชอบแกล้งโทมัสซึ่งเป็นครูคำสอนของเขา  โทมัสไม่เคยรู้หรอกว่าได้ทำอะไรแก่เขา แต่เขาเป็นอย่างทุกวันนี้ได้ก็เพราะโทมัส  เขาจึงต้องมาคารวะโทมัสเป็นครั้งสุดท้าย
        โทมัสไม่รู้ว่าได้ทำอะไร  เราทุกคนก็ไม่รู้  แต่หน้าที่ของเราคือ “หว่านพระวาจา” แล้วปล่อยที่เหลือให้พระเจ้าจัดการ
    2.    เมื่อเราหว่านเมล็ดพืช ไม่ต้องหวังผลแบบ “จานด่วน” (fast food)  อย่าเร่งรัดธรรมชาติ  ต้นสักต้องใช้เวลากี่ปีกันจึงจะโตและตัดมาใช้ประโยชน์ได้ ?
        พระวาจาก็เช่นเดียวกัน บางครั้งต้องใช้เวลานานแสนนานกว่าจะบังเกิดผลในจิตใจของเรามนุษย์
        มีบ่อย ๆ ที่พระวาจาเข้าไปอยู่ในจิตใจของเด็ก ๆ แต่ฝังตัวหลับอยู่  กระนั้นก็ตามจะมีวันหนึ่งที่พระวาจาจะตื่นขึ้นและช่วยเขาให้รอดพ้นจากการประจญล่อลวง หรือช่วยเขาให้รอดพ้นจากความตายฝ่ายวิญญาณ
        ทุกวันนี้เราคุ้นกับคำพูดทำนอง “ต้องสำเร็จภายในสามวัน เจ็ดวัน”  แต่การหว่านพระวาจานั้นจำเป็นต้องอดทน
        และเปี่ยมด้วยความหวัง !

--------------------------

“ทำไมพระองค์ตรัสแก่พวกเขาเป็นอุปมาเล่า”
    ก่อนที่พระเยซูเจ้าจะตอบคำถามของบรรดาศิษย์ พระองค์ทรงให้หลักการ 2 ข้อก่อนคือ
    1.    “พระเจ้าประทานธรรมล้ำลึกเรื่องอาณาจักรสวรรค์ให้ท่านทั้งหลายรู้ แต่ไม่ได้ประทานให้แก่ผู้อื่น”
        คำว่า “ธรรมล้ำลึก” ตรงกับภาษากรีกคือ musteria (มูสเตรีอา) ซึ่งในยุคของพระเยซูเจ้า และในอาณาจักรกรีก-โรมัน ใช้ในความหมายของ “ความลับ” (secrets) มากกว่า “ธรรมล้ำลึก” (mystery)
        ธรรมล้ำลึก สำหรับเราคือสิ่งที่ดำมืด ยาก และไม่มีทางเข้าใจได้
        ส่วน ความลับ คือสิ่งที่คนนอกไม่รู้ แต่คนในหรือสมาชิกรู้และเข้าใจชัดเจนมาก  ตัวอย่างเช่นพิธีบูชามิสซา สำหรับผู้ที่พบเห็นครั้งแรก ย่อมสงสัยว่าทำไมคนมากมายมารวมกันเพียงเพื่อกินขนมปังชิ้นเล็กนิดเดียว อีกทั้งคงนึกขำและเยาะเย้ยอยู่ในใจ  ซึ่งตรงกันข้ามกับ คริสตชนที่มองว่า มิสซาและศีลมหาสนิทคือสิ่งที่ประเสริฐที่สุดในชีวิตของพระศาสนจักร
        ราวกับพระเยซูเจ้าต้องการบอกพวกศิษย์ว่า “คนนอกไม่เข้าใจสิ่งที่เราพูด แต่เพราะพวกท่านรู้จักเราและเป็นศิษย์ของเรา พวกท่านจึงเข้าใจทุกสิ่งที่เราพูดกับท่าน”
        เพราะฉะนั้น หลักการแรกที่พระเยซูเจ้าต้องการบอกเราคือ พระเจ้าไม่ได้ทรงกีดกันผู้หนึ่งผู้ใดจากความรู้เรื่องอาณาจักรสวรรค์  แต่พระองค์ทรงเปิดโอกาสแก่ทุกคนที่พร้อมจะเป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้า และกลายเป็น “คนใน” ของพระศาสนจักร
    2.    “ผู้ที่มีมากจะได้รับมากขึ้นจนเหลือเฟือ ส่วนผู้ที่มีน้อย จะถูกริบสิ่งเล็กน้อยที่มีไปด้วย”
        หลักการนี้ดูเหมือนจะโหดร้ายมาก  แต่มันเป็นความจริงในชีวิตที่เราทุกคนไม่อาจปฏิเสธได้
        คนที่มีเงินทุนมาก มีความรู้สูง มีเพื่อนพ้องคอยอุปถัมภ์ ย่อมมีโอกาสลงทุนในกิจการใหญ่และกำไรสูง เป็นการเพิ่มเงินทุนที่มากอยู่แล้วให้มากขึ้นไปอีก ตรงข้ามกับคนที่มีเงินน้อย อุตส่าห์ทำงานตัวเป็นเกลียว แต่เงินน้อยนิดที่ลงทุนไปอาจลอยหายไปในอากาศก็ได้
        หรือนักกีฬาที่เก่งมีชื่อเสียง ย่อมได้รับเชิญไปร่วมแข่งขันในรายการสำคัญ ๆ มีโอกาสแข่งขันกับคนที่มีประสบการณ์สูงกว่า ก็จะพัฒนาตัวเองให้เก่งและมีชื่อเสียงมากขึ้นไปอีก  ส่วนนักกีฬาที่เก่งน้อย โอกาสย่อมน้อย และหาก “อ่อนซ้อม” ด้วยแล้วยิ่งไม่ต้องเอ่ยถึงเลย
        กับความดีก็เช่นเดียวกัน หากเราชนะการประจญครั้งนี้ได้ เราย่อมหวังว่าจะชนะการประจญในครั้งต่อ ๆ ไป และจะชนะในเรื่องใหญ่ ๆ ด้วย  หรือหากเราควบคุมตัวเองได้ รู้จักรับใช้และช่วยเหลือผู้อื่น รักผู้อื่นอยู่เป็นนิจ  เหล่านี้ย่อมเป็นหลักประกันว่าเราจะไม่พลาดโอกาสดำเนินชีวิตแบบพระคริสตเจ้า เมื่อโอกาสนั้นผ่านมา
        เราอาจสรุปหลักการนี้ได้ว่า “ยิ่งเราดำเนินชีวิตใกล้ชิดพระเยซูเจ้ามากเท่าใด เรายิ่งซึมซับอุดมการณ์ของพระองค์มากขึ้นเท่านั้น และหากเราดำเนินชีวิตถอยห่างจากพระองค์มากเท่าใด เรายิ่งหมดหวังทำความดีมากขึ้นเท่านั้น”

    กลับมาที่ปัญหาของพวกศิษย์อีกครั้งคือ “ทำไมพระองค์ตรัสแก่พวกเขาเป็นอุปมาเล่า”  คำตอบของพระเยซูเจ้าคือ “เรากล่าวแก่คนเหล่านี้เป็นอุปมา ถึงพวกเขามองดู ก็ไม่เห็น ถึงฟังก็ไม่ได้ยินและไม่เข้าใจ” (ข้อ 13)
    แปลว่า หากพระองค์ไม่สอนเป็นคำเปรียบเทียบ พวกเขาจะนึกภาพไม่ออกและไม่เข้าใจสิ่งที่พระองค์พูด
    นี่เป็นเหตุผลง่าย ๆ ที่รับฟังได้  แต่เมื่อพระองค์ยกคำพูดของประกาศกอิสยาห์บทที่ 6 ข้อ 9-10 ที่ว่า  พระองค์ตรัสว่า “ไปเถอะและกล่าวแก่ชนชาตินี้ว่า 'ฟังแล้วฟังเล่า แต่อย่าเข้าใจ ดูแล้วดูเล่า แต่อย่ามองเห็น' จงกระทำให้จิตใจของชนชาตินี้มึนงง และให้หูทั้งหลายของเขาหนัก และปิดตาของเขาทั้งหลายเสีย เกรงว่าเขาจะเห็นด้วยตาของเขา และได้ยินด้วยหูของเขา และเข้าใจด้วยจิตใจของเขา และหันกลับมาได้รับการรักษาให้หาย”
    กอปรกับมาระโกได้บันทึกเรื่องราวเดียวกันไว้ว่า  พระองค์ตรัสตอบว่า “พระเจ้าประทานธรรมล้ำลึกเรื่องพระอาณาจักรของพระเจ้าให้ท่านทั้งหลายรู้ แต่สำหรับคนที่อยู่ภายนอก ทุกสิ่งแสดงออกเป็นเพียงอุปมา ดังที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า เพื่อเขาจะมองแล้วมองเล่าแต่ไม่เห็น ฟังแล้วฟังเล่าแต่ไม่เข้าใจ มิฉะนั้นแล้วเขาคงได้กลับใจ และพระเจ้าคงจะทรงให้อภัยเขา” (มก 4:11-12)  ซึ่งหมายความว่า พระองค์สอนเป็นคำอุปมาเพื่อให้คนนอกไม่เข้าใจ จะได้ไม่กลับใจ และพระองค์จะได้ไม่อภัยพวกเขา !
    ดูเหมือนพระเจ้าจงใจให้พวกเขาไม่เข้าใจ และเป็นพระองค์เองที่ต้องรับผิดชอบต่อความไม่เข้าใจของพวกเขา  เพียงแต่มัทธิวทำให้อ่อนลงว่า เป็นมนุษย์เองที่ต้องรับผิดชอบเพราะพวกเขามีจิตใจแข็งกระด้าง (มธ 13:14-15)
    ไม่ว่ามัทธิวหรือมาระโกจะเป็นฝ่ายถูก  หรือคำพูดที่ยากที่สุดตอนหนึ่งของพระเยซูเจ้านี้จะหมายความว่าอะไร  สิ่งที่แน่นอนที่สุดคือเป็นไปไม่ได้เลยที่พระองค์จะจงใจปิดบังผู้ฟังไม่ให้เข้าใจข่าวดีและความจริงที่ทรงตรัสสอน
    และหากเราย้อนกลับไปสมัยของประกาศกอิสยาห์ เราคงเข้าใจสาเหตุที่ทำให้ท่านทำนายเช่นนี้  และในเวลาเดียวกันเราจะเข้าใจจิตใจและรู้จักพระเยซูเจ้าได้ดีขึ้น
    1.    อิสยาห์งงสุด ๆ ที่ประชาชนไม่เข้าใจข่าวสารที่ท่านนำมาประกาศ ทั้ง ๆ ที่ท่านเห็นว่าข่าวสารนั้นชัดเจนแจ่มแจ้งที่สุด น่าสนใจที่สุด สำคัญและดีที่สุด
        แม้พระเยซูเจ้าเองก็งงเหมือนประกาศกอิสยาห์ !
    2.    อิสยาห์สิ้นหวัง  ท่านรู้สึกว่ายิ่งสอน สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลง  ไหนตัวท่านเองจะตกอยู่ในอันตราย  ไหนประชาชนจะยิ่งถอยห่างจากพระเจ้าและดำเนินชีวิตนอกหนทางของพระองค์
        เข้าทำนอง “เป่าปี่ให้ควายฟัง” ประมาณนั้น !
    3.    แต่เหนืออื่นใด คำพูดของทั้งอิสยาห์และพระเยซูเจ้าล้วนแสดงให้เห็น “ความวางใจในพระเจ้าขั้นสุดยอด”
        สำหรับชาวยิวแล้ว หนึ่งในความเชื่อหลักของพวกเขาคือ “ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้ที่บังเกิดขึ้นนอกเหนือน้ำพระทัยของพระเจ้า” และ “ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนอยู่ในแผนการของพระเจ้า”  ไม่ว่ามนุษย์จะฟังหรือไม่ฟัง จะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ ล้วนเป็นน้ำพระทัยและอยู่ในแผนการของพระองค์
        ดังที่นักบุญเปาโลกล่าวไว้ในบทจดหมายถึงชาวโรมบทที่ 9-11 ชี้ให้เห็นว่า ชาวยิวซึ่งเป็นประชากรที่พระเจ้าทรงเลือกสรร ได้ปฏิเสธและตรึงกางเขนพระบุตรของพระองค์อย่างไร  แต่ผลที่ตามมานั้นยิ่งใหญ่นัก ข่าวดีได้ไปสู่คนต่างศาสนา และสักวันหนึ่ง คนต่างศาสนานี่เองที่จะช่วยชาวยิวให้รอดพ้น
        สิ่งที่ดูเหมือนเป็นความเลวร้าย กลับกลายเป็นความดีของมนุษย์ส่วนใหญ่ และทั้งหมดนี้คือแผนการของพระเจ้า
        นั่นคือ พระเยซูเจ้าทรงอ้างคำของประกาศกอิสยาห์เพื่อให้กำลังใจบรรดาศิษย์ของพระองค์ว่า “เรารู้ว่ามันน่าผิดหวัง เรารู้ว่าพวกท่านรู้สึกอย่างไรเมื่อจิตใจของผู้คนปฏิเสธไม่ยอมรับความจริง อีกทั้งตาของพวกเขาก็ไม่ยอมรับรู้เรา  แต่ทั้งหมดนี้มีเป้าหมาย  คอยดูสิ !”
    บางครั้งเราหว่านเมล็ดพืชแล้วได้ผลผลิต  บางครั้งเราพบแต่ผืนดินว่างเปล่า  บางครั้งเรารู้สึกว่าไม่มีการตอบสนองใด ๆ นอกจากความล้มเหลว
    วันนี้พระองค์ประทานกำลังใจอันยิ่งใหญ่แก่เราทุกคน  ทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวล้วนอยู่ในแผนการอันยิ่งใหญ่ขององค์พระผู้เป็นเจ้า !