อาทิตย์ที่ 20 เทศกาลธรรมดา
ข่าวดี มัทธิว 15:21-28
พระเยซูเจ้าทรงรักษาบุตรหญิงของหญิงชาวคานาอัน
(21)พระเยซูเจ้าเสด็จจากที่นั่น มุ่งไปเขตเมืองไทระและเมืองไซดอน (22) ทันใดนั้น หญิงชาวคานาอันคนหนึ่งจากเขตแดนนี้ร้องว่า “โอรสกษัตริย์ดาวิดเจ้าข้า โปรดเมตตาข้าพเจ้าด้วยเถิด บุตรสาวของข้าพเจ้าถูกปีศาจสิงต้องทรมานมาก” (23) แต่พระองค์มิได้ตรัสตอบประการใด บรรดาศิษย์จึงเข้ามาทูลพระองค์ว่า “โปรดประทานตามที่นางทูลขอเถิดเพราะนางร้องตะโกนตามหลังพวกเรามา” (24)พระองค์ทรงตอบว่า “เราถูกส่งมาเพื่อแกะที่พลัดหลงของวงศ์วานอิสราเอลเท่านั้น (25)แต่นางเข้ามากราบพระองค์ทูลว่า “พระเจ้าข้า โปรดช่วยข้าพเจ้าด้วยเถิด” (26)พระองค์ทรงตอบว่า “ไม่สมควรที่จะเอาอาหารของลูก มาโยนให้ลูกสุนัขกิน” นางทูลว่า (27)“ถูกแล้วพระเจ้าข้า แต่แม้แต่ลูกสุนัขก็ยังได้กินเศษอาหารที่ตกจากโต๊ะของนาย” (28)พระเยซูเจ้าจึงตรัสกับนางว่า “หญิงเอ๋ย ความเชื่อของเจ้ายิ่งใหญ่ จงเป็นไปตามที่เจ้าปรารถนาเถิด” และบุตรหญิงของนางก็หายเป็นปรกติตั้งแต่บัดนั้น
นี่เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่พระเยซูเจ้าทรงเสด็จออกนอกดินแดนยิว นับเป็นการจุดประกายว่าพระวรสารจะต้องเผยแพร่ไปทั่วโลก โดยไม่มีเรื่องเชื้อชาติมาเป็นอุปสรรคขวางกั้น
ดูเหมือนในปาเลสไตน์จะหาสถานที่สงบเงียบและเป็นส่วนตัวสำหรับพระเยซูเจ้าไม่ได้เอาเสียเลย ไหนจะต้องเผชิญหน้ากับพวกคัมภีราจารย์และฟาริสีที่คอยจ้องหาช่องทางกำจัดพระองค์ ไหนจะต้องพบกับฝูงชนที่ต้องการความช่วยเหลือจากพระองค์ ฯลฯ เหลือเพียงทางเลือกเดียวนั่นคือ พระองค์จำต้องเดินทางเข้าเมืองไทระและไซดอนอันเป็นดินแดนของชาวฟีนีเชียน ด้วยว่าคงไม่มีชาวยิวคนใดปรารถนาติดตามพระองค์เข้าไปในดินแดนของคนต่างชาติ
เนื่องจากวาระสุดท้ายใกล้เข้ามาทุกที พระองค์จึงต้องการเวลาส่วนตัว ส่วนหนึ่งเพื่อเตรียมตัวพระองค์เอง แต่อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญกว่าคือการเตรียมตัวบรรดาศิษย์ของพระองค์ให้พร้อมรับเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น และพร้อมที่จะสืบสานภารกิจของพระองค์ต่อไป
แต่ความเป็นส่วนตัวของพระองค์ก็ไม่แคล้วถูกละเมิดอีก ครั้งนี้เป็นหญิงชาวคานาอันซึ่งบุตรสาวของนางกำลังทนทุกข์หนัก นางคงได้ยินกิตติศัพท์ของพระองค์จึงเข้ามาร้องขอความช่วยเหลืออย่างสุดหัวใจ
ทีแรกดูเหมือนพระองค์จะไม่สนพระทัยเสียงร้องของนางมากนัก กลับเป็นพวกศิษย์เสียอีกที่ทูลขอให้พระองค์ช่วยเหลือนาง แต่แรงจูงใจของพวกเขาหาใช่ความเมตตาแต่ประการใดไม่
พวกเขาทนรำคาญเสียงตื้อของนางไม่ไหว เลยอยากให้พระองค์ช่วยเหลือเพื่อนางจะได้ไปให้พ้นหูพ้นตาเสียที !
ซึ่งตรงกันข้ามกับพระเยซูเจ้าอย่างสิ้นเชิง พระองค์ทรงสงสารนางสุด ๆ
เพียงแต่พระองค์มองปัญหาต่างไปจากพวกศิษย์ นางไม่เพียงเป็นคนต่างชาติ แต่ยังเป็นชาวคานาอันศัตรูเก่าแก่ของชาวยิวตั้งแต่เข้าสู่แผ่นดินแห่งพระสัญญาใหม่ ๆ แม้ในสมัยของพระองค์เอง โยเซฟุสยังบันทึกไว้ว่า “ในบรรดาชาวฟีนีเซียน คนเมืองไทระและไซดอนเกลียดชังพวกเรามากที่สุด” (โยเซฟุสเป็นนักประวัติศาสตร์ชาวยิว)
หากพระองค์ให้ความช่วยเหลือทันที ก็จะเป็นการขัดกับนโยบายจำกัดขอบเขตภารกิจที่เคยให้ไว้กับบรรดาศิษย์ว่า “อย่าเดินตามทางของคนต่างชาติ” (มธ 10:5 ดูคำอธิบายของอาทิตย์ที่ 11 เทศกาลธรรมดา ปี A)
หนทางเดียวที่จะให้ความช่วยเหลือนางได้โดยไม่ขัดกับนโยบายเดิมคือ “พิสูจน์ให้เห็นว่านางมีความเชื่อมั่นคงจริง”
พระองค์จึงเริ่มการทดสอบด้วยคำพูดที่ทำให้คนฟังต้องสะอึก “ไม่สมควรที่จะเอาอาหารของลูกมาโยนให้ลูกสุนัขกิน”
สำหรับชาวยิว การเรียกคน ๆ หนึ่งเป็น “สุนัข” ถือว่าเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามชนิดไม่คิดเผาผีกันอีกแล้ว เราจึงมักได้ยินชาวยิวพูดคำหนัก ๆ แบบนี้กับกลุ่มคนจำพวก “สุนัขต่างชาติ”, “สุนัขทรยศ”, หรือแม้แต่ “สุนัขคริสเตียน”
แม้พระองค์จะใช้คำหนัก แต่เมื่อดูรายละเอียดแล้วจะพบว่า ศัพท์กรีกที่ใช้คือ kunarion (คูนารีออน) นั้นหมายถึง “สุนัขบ้าน” (house dog) ซึ่งต่างจากสุนัขจรจัดข้างถนน (street dog) ที่แสนสกปรก ดุร้าย หรือเป็นโรคน่ารังเกียจอย่างเทียบกันไม่ได้เลย
อีกทั้งน้ำเสียงและอากัปกิริยาของพระองค์ต้องไม่ใช่ “การดูหมิ่น” อย่างแน่นอน แต่เป็นน้ำเสียงและอากัปกิริยาของคนที่เปี่ยมล้นด้วยความ “เมตตาสงสาร” หาไม่แล้วนางคงไม่สามารถรับรู้ความรูสึกที่ดีเช่นนี้ได้ และคงไม่กล้าใช้เชาวน์ปัญญาเล่นลิ้นกับพระองค์ว่า “ถูกแล้วพระเจ้าข้า แต่แม้แต่ลูกสุนัขก็ยังได้กินเศษอาหารที่ตกจากโต๊ะของนาย”
และด้วยคำพูดของนางนี้เอง สายตาของพระเยซูเจ้าก็ลุกเป็นประกายด้วยความยินดียิ่ง “เจ้าช่างมีความเชื่อมั่นคงจริง ๆ จงเป็นไปตามที่เจ้าปรารถนาเถิด”
เราอาจวิเคราะห์บุคลิกลักษณะของหญิงชาวคานาอันคนนี้ได้ 4 ประการด้วยกัน
1. นางมีความรัก แม้จะเป็นคนต่างศาสนา แต่นางแบกรับความทุกข์ทรมานของบุตรสาวไว้ที่ตัวนางเอง หัวใจของนางเต็มเปี่ยมไปด้วยความรักต่อบุตรสาว
“ความรัก” นี้เองที่ชักนำให้นางมาหาชายแปลกหน้าที่ชื่อ “เยซู” และเป็นความรักนี้เองที่ทำให้นางอดทนต่อการเมินเฉย และมองเห็นความเมตตาที่ซ่อนอยู่ใต้คำพูดเชิงดูหมิ่นเหยียดหยามของพระองค์
“ความรัก” คือพลังผลักดันที่มีอานุภาพเหนือสิ่งอื่นใด
และเหนืออื่นใด “ความรัก” ทำให้เราเข้าใกล้ “พระเจ้า”
2. นางมีความเชื่อ และความเชื่อของนางมีพัฒนาการด้วย
นางเริ่มด้วยการเรียกพระเยซูเจ้าว่า “โอรสกษัตริย์ดาวิดเจ้าข้า” ซึ่งเป็นชื่อทางการเมืองที่บ่งบอกถึงอำนาจและเกียรติยศทางโลกเท่านั้น แสดงว่านางยังคงมองพระองค์เป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งที่มีอำนาจพิเศษเหนือคนอื่น
เมื่อได้สัมผัสกับพระองค์ ความเชื่อทำให้นางเปลี่ยนจาก “เดินตาม” เป็น “กราบ” และชื่อที่ใช้เรียกพระองค์ก็เปลี่ยนเป็น “พระเจ้าข้า โปรดช่วยข้าพเจ้าด้วยเถิด”
ความเชื่อทำให้นางวอนขอไม่ใช่จากมนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่อีกต่อไป แต่จาก “พระเจ้าผู้ทรงชีวิต” และความเชื่อเช่นนี้เองที่ได้รับการตอบสนอง
3. นางมีความเพียร ไม่เคยท้อแท้สิ้นหวัง พระเยซูเจ้าคือความหวังเดียวของนาง นางจึงมีความตั้งใจและมุ่งมั่นเป็นเลิศ คำภาวนาของนางหลั่งไหลออกมาจากห้วงลึกของวิญญาณชนิดที่ “ไม่มีคำตอบ” ไม่ได้
นางเพียรพยายามด้วยความหวังว่า “ได้แน่” ซึ่งต่างจากการภาวนาตามแบบฟอร์มหรือตามบทสวดของหลายคนที่ไม่ได้ออกมาจากความเชื่ออย่างแท้จริง
เมื่อไม่มีความเชื่อ ก็ไม่มีความเพียร
“ฟลุค” ได้มาบ้างก็บุญแล้ว
4. นางมีความร่าเริง แม้ตกอยู่ท่ามกลางปัญหาหนักและกำลังเครียดจัด นางยังยิ้มได้ แถมแววตาก็เต็มเปี่ยมด้วยความหวัง
พระเจ้าทรงรักคนที่มีความเชื่ออันร่าเริงเช่นนี้ เพราะแววตาของเขาจะทอประกายแสงแห่งความหวังอยู่เสมอ และริมฝีปากของเขาจะฉายรอยยิ้มท่ามกลางมรสุมต่าง ๆ
ด้วยความรักอันกล้าหาญ ความเชื่ออันทรงชีวิต ความเพียรและความหวังอันมั่นคงไม่สั่นคลอน รวมกับความร่าเริงเบิกบานของชีวิต คำวอนขอของนางทำให้พระเยซูเจ้า
“ไม่ตอบ” ไม่ได้ !