อาทิตย์ที่ 23 เทศกาลธรรมดา
ข่าวดี มัทธิว 18:15-20
การตักเตือนกันฉันพี่น้อง
(15)“ถ้าพี่น้องของท่านทำผิดจงไปตักเตือนเขาตามลำพัง ถ้าเขาเชื่อฟัง ท่านจะได้พี่น้องกลับคืนมา (16) ถ้าเขาไม่เชื่อฟัง จงพาอีกคนหนึ่งหรือสองคนไปด้วย คำพูดของพยานสองคนหรือสามคนจะได้จัดเรื่องราวให้เรียบร้อย (17) ถ้าเขาไม่ยอมฟังพยาน จงแจ้งให้หมู่คณะทราบถ้าเขาไม่ยอมฟังหมู่คณะอีก จงปฏิบัติต่อเขาเหมือนเขาเป็นคนต่างศาสนา หรือคนเก็บภาษีเถิด (18) “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ทุกสิ่งที่ท่านจะผูกในโลก จะผูกไว้ในสวรรค์ และทุกสิ่งที่ท่านจะแก้ในโลก ก็จะแก้ในสวรรค์ด้วย”
การอธิษฐานภาวนาร่วมกัน
(19)“เราบอกความจริงแก่ท่านอีกว่า ถ้าท่านสองคนในโลกนี้พร้อมใจกันอ้อนวอนขอสิ่งหนึ่งสิ่งใด พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์จะประทานให้ (20) เพราะว่า ที่ใดมีสองหรือสามคนชุมนุมกันในนามของเรา เราอยู่ที่นั่นท่ามกลางพวกเขา”
การช่วยเหลือผู้ที่ดื้อดึงในบาป
มัทธิว 18:15-18 ถือเป็นบทหนึ่งที่เข้าใจได้ยากที่สุด เพราะน้ำเสียงของเนื้อหาไม่น่าจะเป็นคำสอนของพระเยซูเจ้าเอง แต่เป็นกฎเกณฑ์ที่พระศาสนจักรกำหนดขึ้นในภายหลัง
เป็นไปไม่ได้ที่พระองค์จะสอนศิษย์ให้แจ้งเรื่องราวแก่ ekklesia (เอคเคลซีอา) ซึ่งหมายถึงพระศาสนจักร เพราะว่าในขณะนั้นพระศาสนจักรยังไม่เกิด และดูเหมือนว่าพระศาสนจักรที่พูดถึงจะพัฒนาเป็นองค์กรที่มีระบบระเบียบชัดเจนแล้วด้วย
ที่สำคัญ ข้อความของพระวรสารตอนนี้ยังพูดถึงคนเก็บภาษีและคนต่างศาสนาราวกับว่าเป็นคนนอกที่หมดหวังรอด ทั้ง ๆ ที่พระเยซูเจ้าเองกลับถูกพวกฟารีสีกล่าวหาว่าเป็นเพื่อนกับคนเก็บภาษีและคนบาป และไม่มีทางเลยที่พระองค์จะถือว่าพวกเขาเป็นคนนอกที่สิ้นหวังรอด ตรงกันข้ามพระองค์มีแต่ความรัก ความสงสาร และบางครั้งยังชมเชยพวกเขาอีกด้วย (ดู มธ 9:10; 11:9; ลก 18:10) โดยเฉพาะใน มธ 21:31 พระองค์ถึงกับตรัสว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า คนเก็บภาษีและหญิงโสเภณีจะเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้าก่อนท่าน (พวกเคร่งศาสนาในสมัยนั้น)”
นอกจากนั้น น้ำเสียงของพระวรสารตอนนี้ยังดูเหมือนว่าจะมีข้อจำกัดเรื่องการให้อภัย กล่าวคือ หลังจากความพยายามตามขั้นตอนต่าง ๆ แล้ว ในที่สุดจะถึงขั้นตอนหนึ่งที่คนบางคนถูกทอดทิ้งให้สิ้นหวัง ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่พระเยซูเจ้าจะทรงสอนเช่นนี้
และท้ายที่สุดยังพูดถึงอำนาจของพระศาสนจักรที่จะยกบาปหรือไม่ยกบาปให้แก่ผู้ใดก็ได้ ทั้งหมดนี้นำมาสู่ข้อสรุปที่ว่า
พระวรสารตอนนี้มิได้บันทึกคำพูดโดยตรงของพระเยซูเจ้า แต่เป็นการประยุกต์คำสอนของพระองค์โดยพระศาสนจักรในสมัยหลัง ซึ่งอิงอยู่กับกฎระเบียบมากกว่าความรักและการให้อภัย
คำถามคือ คำสอนใดของพระองค์ที่พระศาสนจักรนำมาประยุกต์ ?
เราอาจพูดกว้าง ๆ ได้ว่าสิ่งที่พระองค์ตรัสสอนไว้คือ “ถ้าใครทำผิดต่อท่าน จงพยายามทุกวิถีทางทำให้เขาสำนึกผิด เพื่อความสัมพันธ์ระหว่างเขากับท่านจะดีดังเดิม” หรือพูดง่าย ๆ ว่า “เราจะยอมให้มีความแตกแยกระหว่างคริสตชนไม่ได้เด็ดขาด”
หากเกิดความแตกแยกขึ้น พระวรสารตอนนี้ให้ขั้นตอนในการเยียวยาไว้ดังนี้
1. ถ้าเรารู้สึกว่ามีผู้ใดกระทำผิดต่อเรา สิ่งแรกสุดที่ต้องทำคือ “พูดออกมา” ไม่ใช่เก็บเงียบไว้ในใจซึ่งมีแต่จะส่งผลร้ายต่อชีวิตและจิตใจของเราเอง จนบางครั้งเราไม่อาจคิดถึงสิ่งอื่นใดได้อีกนอกจากความเจ็บปวดรวดร้าวของเรา
เราควรนำความรู้สึกนั้นออกมาภายนอก และหลายครั้งเมื่อพูดออกมาแล้ว เราจะพบว่าปัญหานั้นช่างเล็กน้อยและไร้สาระจริง ๆ
2. ถ้าความรู้สึกนั้นยังไม่ดีขึ้น เราควร “พบเขาตัวต่อตัว” ไม่ใช่เขียนจดหมาย พูดทางโทรศัพท์ หรือผ่านทางบุคคลอื่น
การพูดผ่านตัวกลางรังแต่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง เพราะผู้ฟังไม่สามารถรับรู้อารมณ์ ความรู้สึก สีหน้าท่าทาง และอาจเข้าใจผิดคิดต่างจากความตั้งใจของผู้พูดได้
3. หากการพบกันสองต่อสองยังไม่ประสบความสำเร็จอีก ให้นำผู้รู้หรือผู้ใหญ่ไปด้วย มัทธิวคงได้รับความคิดนี้มาจากหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติบทที่ 19 ข้อ 15 ที่ว่า “พยานปากเดียวไม่เพียงพอเพื่อตัดสินลงโทษผู้กระทำผิดทางอาญาหรือกระทำความผิดอื่น ๆ จะต้องมีพยานสองหรือสามปากเพื่อพิสูจน์ข้อกล่าวหา ไม่ว่าในความผิดใด ๆ” เพียงแต่ว่าเป้าหมายไม่ใช่เพื่อไปปรักปรำคนผิด แต่เพื่อช่วยให้คืนดีกัน
ปกติคนที่ทำร้ายเรามักไม่ชอบหน้าเราเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และคงไม่สนใจฟังคำพูดของเรา การนำผู้รู้หรือผู้ใหญ่ที่ทุกฝ่ายเกรงใจไปด้วยย่อมช่วยให้บรรยากาศการสนทนาดีขึ้น และเป็นไปได้ว่าเราแต่ละคนจะมองเห็นตัวเราเองเหมือนอย่างที่คนอื่นมองเห็นเรา
พวกรับบีก็สอนทำนองเดียวกันว่า “อย่าตัดสินตามลำพัง เพราะไม่มีใครตัดสินตามลำพังได้เว้นแต่พระเจ้า”
4. หากปัญหายังไม่ยุติ ให้นำเรื่องไปเสนอต่อหมู่คณะคริสตชนซึ่งได้แก่พระศาสนจักร เหตุผลก็คือ หากเรานำเรื่องไปสู่ศาลเราอาจยุติปัญหาทางแพ่งหรือทางอาญาได้ แต่ปัญหาด้านความสัมพันธ์นอกจากจะยุติไม่ได้แล้ว ยังมีแต่จะทำให้ปัญหายืดเยื้อยาวนานไม่มีสิ้นสุด
แต่บรรยากาศในพระศาสนจักรแตกต่างจากศาลโดยสิ้นเชิง เพราะเรามีการสวดภาวนา และมีความรักแบบคริสตชนซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าตัวบทกฎหมายและขั้นตอนต่าง ๆ ของศาลมากมายนัก
5. หากยังไม่สำเร็จอีก มัทธิวบอกให้ปฏิบัติต่อเขาเหมือนเป็นคนต่างศาสนาหรือคนเก็บภาษี ซึ่งขั้นตอนนี้สร้างปัญหาในการอธิบายความหมายมากที่สุด
เป็นไปไม่ได้เด็ดขาดที่พระเยซูเจ้าจะยอมปล่อยให้ผู้หนึ่งผู้ใดถูกทอดทิ้งด้วยความสิ้นหวัง เพราะพระองค์มีแต่ความเมตตาและอ่อนโยนต่อพวกเขา
ดูเหมือนพระองค์จะต้องการพูดทำนองนี้มากกว่า “เมื่อท่านได้ให้โอกาสแก่คนบาปและพยายามทุกวิถีทางแล้ว หากเขายังดึงดันอยู่ในบาป พวกท่านอาจถือว่าเขาเป็นคนเก็บภาษีผู้ทรยศ หรือเป็นคนต่างศาสนาที่ไม่มีพระเจ้าได้ แต่เราไม่เห็นว่าคนเก็บภาษีหรือคนต่างศาสนาจะสิ้นหวังตรงไหน พวกเขาก็มีหัวใจเหมือนกัน ดูมัทธิวและศักเคียสสิ พวกเขากลายเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของเรา เพราะฉะนั้นพวกท่านต้องพยายามชนะใจพวกเขาให้ได้เหมือนที่เราได้ทำมาแล้ว”
ขั้นตอนนี้จึงไม่ใช่คำสั่งให้เราทอดทิ้งคนบาป แต่เป็นการท้าทายให้เราเอาชนะเขาด้วยความรัก
ความรักที่สามารถแทรกซึมถึงหัวใจที่แม้จะแข็งกระด้างที่สุดก็ตาม !
สุดท้ายไม่ใช่ขั้นตอนแต่เป็นคำพูดของพระเยซูเจ้าที่ว่า “ทุกสิ่งที่ท่านจะผูกในโลก จะผูกไว้ในสวรรค์ และทุกสิ่งที่ท่านจะแก้ในโลก ก็จะแก้ในสวรรค์ด้วย”
ความหมายที่เราควรเข้าใจมากกว่าคือ “ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนพี่น้องเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวดเพราะส่งผลถึงชีวิตนิรันดรในสวรรค์”
เพราะฉะนั้นเรา “ต้อง” แก้ไขความแตกแยกให้ได้ !
การอธิษฐานภาวนาร่วมกัน
จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจพระวรสารตอนนี้อย่างถ่องแท้ หาไม่แล้วแล้วเราคงเฝ้ารอสิ่งที่จะไม่มีวันเกิดขึ้น และสิ่งเดียวที่จะได้มาคือความผิดหวัง
พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ถ้าท่านสองคนในโลกนี้พร้อมใจกันอ้อนวอนขอสิ่งหนึ่งสิ่งใด พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์จะประทานให้” หากเราตีความตามตัวอักษรโดยไม่พยายามเข้าใจความหมายที่แท้จริง เราจะพบว่าคำพูดนี้ไม่จริง อย่างเช่นเราเคยรวมตัวกันทั้งวัด ทั้งสังฆมณฑลกี่ครั้งกี่หนแล้วเพื่อวอนขอสันติภาพ แต่สันติภาพในโลกหรือแม้แต่ทางภาคใต้ของประเทศไทยก็ยังไม่เกิดขึ้นเสียที
แล้วอะไรคือความหมายที่พระองค์ต้องการสอนเรา ?
1. ก่อนอื่นใดหมด คำภาวนาต้องไม่เห็นแก่ตัว คำว่า “สองคนในโลกนี้พร้อมใจกัน" หมายความว่าเราต้องไม่วอนขอเฉพาะสิ่งที่เราต้องการโดยไม่คิดถึงสิ่งอื่นใดหรือคนอื่นใดอีกนอกจากตัวเราเองเท่านั้น แต่ตรงกันข้ามเราต้องวอนขอในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของสังคมมนุษย์และสังคมโลก
เพราะคำภาวนาที่เห็นแก่ตัวย่อมส่งผลร้ายต่อสังคมส่วนใหญ่ อย่างเช่นหากคำภาวนาให้ถูกหวยรางวัลที่หนึ่งของเราบังเกิดผล ก็หมายความว่าคนอื่นที่เหลือต้องผิดหวังอย่างแน่นอน
เพราะฉะนั้นคำภาวนาที่บังเกิดผลจึงต้องเป็นคำภาวนาที่ทุกคนหรืออย่างน้อยก็ส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกัน และต้องไม่มีความต้องการหรือความปรารถนาที่เห็นแก่ตัวเจือปนอยู่
2. พระเจ้าทรงสดับฟังคำภาวนาที่ไม่เห็นแก่ตัวเสมอ แต่ต้องระลึกอยู่เสมอว่า “พระองค์ไม่ได้ประทานให้ตามความต้องการของเรา แต่ตามที่พระปรีชาญาณและความรักของพระองค์เห็นว่าดีที่สุด”
มนุษย์เรามักวอนขอ “การหนี” คือขอให้รอดพ้นจากความยากลำบาก ความเสียใจ ความผิดหวัง และภยันตรายต่าง ๆ แต่จะมีพ่อที่รักลูกคนไหนอยากเห็นลูกของตัวเองหนีหัวซุกหัวซุนด้วยความพ่ายแพ้ตลอดชีวิต พระเจ้าก็เช่นกัน พระองค์ต้องการให้เรา “ชนะ”
ในยามยากลำบาก พระองค์จะช่วยให้เราเข้าใจสิ่งที่เราไม่อาจเข้าใจได้ พระองค์จะช่วยให้เราอดทนในสิ่งที่เราไม่เคยคิดว่าจะทนได้ พระองค์จะช่วยให้เรากล้าเผชิญหน้ากับปัญหาที่เราไม่เคยคิดแม้แต่จะเข้าใกล้
ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือพระเยซูเจ้าขณะอยู่ในสวนเกทเสมนี ทรงวอนขอพระบิดาให้พระองค์เองรอดพ้นจากสถานการณ์อันน่าสะพรึงกลัว “พระบิดาเจ้าข้า ถ้าเป็นไปได้ ขอให้ถ้วยนี้พ้นข้าพเจ้าไปเถิด” (มธ 26:39) แต่สิ่งที่พระบิดาประทานให้คือพลังที่จะเผชิญหน้า ที่จะอดทน และที่จะเอาชนะสถานการณ์อันเลวร้ายนั้น
เมื่อเราภาวนาอย่างไม่เห็นแก่ตัว พระเจ้าทรงสดับฟังเสมอ แต่คำตอบนั้นเป็นคำตอบของพระองค์และไม่จำเป็นต้องเหมือนของเรา
3. พระเยซูเจ้าตรัสอีกว่า “ที่ใดมีสองหรือสามคนชุมนุมกันในนามของเรา เราอยู่ที่นั่นท่ามกลางพวกเขา” เราอาจเข้าใจพระวาจานี้ได้ 2 ระดับด้วยกัน
3.1 ระดับวัด พระองค์ทรงประทับอยู่กับกลุ่มเล็ก ๆ เช่นกลุ่มรักพระคัมภีร์ กลุ่มพลมารี กลุ่มเยาวชน กองหน้าร่าเริง ฯลฯ เท่ากับที่พระองค์ประทับอยู่ท่ามกลางสัตบุรุษเต็มวัดขณะร่วมพิธีบูชามิสซา
พระองค์ไม่สนใจตัวเลขหรือจำนวน ขอเพียงที่ใดมีหัวใจที่เปี่ยมด้วยความเชื่อร่วมกัน พระองค์ก็ประทับอยู่กับพวกเขาแต่ละคนอย่างเต็มเปี่ยม
3.2 ระดับบ้าน เคยมีผู้อธิบายว่า “สองสามคน” นั้นได้แก่บิดา มารดา และบุตร ซึ่งหมายความว่าพระเยซูเจ้าทรงประทับอยู่กับเราทุกบ้าน แม้จะเป็นแขกที่มองไม่เห็นก็ตาม
มีหลายคนที่พยายามทำดีเฉพาะโอกาสสำคัญ แต่สำหรับพระเยซูเจ้า ทุกโอกาสที่มีสองสามคนร่วมกันในพระนามของพระองค์ ล้วนสำคัญเสมอ !