อาทิตย์ที่ 25 เทศกาลธรรมดา
ข่าวดี มัทธิว 20:1-16ก
อุปมาเรื่องคนงานในสวนองุ่น
(1)“อาณาจักรสวรรค์เปรียบเหมือนพ่อบ้านผู้หนึ่งซึ่งออกไปตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อจ้างคนงานมาทำงานในสวนองุ่น (2)ครั้นได้ตกลงค่าจ้างวันละหนึ่งเหรียญกับคนงานแล้ว ก็ส่งไปทำงานในสวนองุ่น (3)ประมาณสามโมงเช้า พ่อบ้านออกมาก็เห็นคนอื่น ๆ ยืนอยู่ที่ลานสาธารณะโดยไม่ทำงาน (4)จึงพูดกับคนเหล่านี้ว่า ‘จงไปทำงานในสวนองุ่นของฉันเถิด ฉันจะให้ค่าจ้างตามสมควร’ (5)คนเหล่านี้ก็ไป พ่อบ้านออกไปอีกประมาณเที่ยงวันและบ่ายสามโมง กระทำเช่นเดียวกัน (6)ประมาณห้าโมงเย็น พ่อบ้านออกไปอีก พบคนอื่น ๆ ยืนอยู่ จึงถามเขาว่า ‘ทำไมท่านยืนอยู่ที่นี่ทั้งวันโดยไม่ทำอะไร’ เขาตอบว่า ‘เพราะไม่มีใครมาจ้าง’ พ่อบ้านจึงพูดว่า ‘จงไปทำงานในสวนองุ่นของฉันเถิด’ (8) “ครั้นถึงเวลาค่ำ เจ้าของสวนบอกผู้จัดการว่า ‘ไปเรียกคนงานมา จ่ายค่าจ้างให้เขาโดยเริ่มตั้งแต่คนสุดท้ายจนถึงคนแรก’ (9)เมื่อพวกที่เริ่มงานเวลาห้าโมงเย็นมาถึง เขาได้รับคนละหนึ่งเหรียญ (10)เมื่อคนงานพวกแรกมาถึง เขาคิดว่าตนจะได้รับมากกว่านั้น แต่ก็ได้รับคนละหนึ่งเหรียญเช่นกัน (11)ขณะรับค่าจ้างเขาก็บ่นถึงเจ้าของสวนว่า (12)‘พวกที่มาสุดท้ายนี้ทำงานเพียงชั่วโมงเดียว ท่านก็ให้ค่าจ้างแก่เขาเท่ากับเรา ซึ่งต้องตรากตรำอยู่กลางแดดตลอดวัน’ (13)เจ้าของสวนจึงพูดกับคนหนึ่งในพวกนี้ว่า ‘เพื่อนเอ๋ย ฉันไม่ได้โกงท่านเลย ท่านไม่ได้ตกลงกับฉันคนละหนึ่งเหรียญหรือ (14)จงเอาค่าจ้างของท่านไปเถิด ฉันอยากจะให้คนที่มาสุดท้ายนี้เท่ากับให้ท่าน (15)ฉันไม่มีสิทธิ์ใช้เงินของฉันตามที่ฉันพอใจหรือ ท่านอิจฉาริษยาเพราะฉันใจดีหรือ’ (16)“ดังนี้แหละ คนกลุ่มสุดท้ายจะกลับกลายเป็นคนกลุ่มแรก และคนกลุ่มแรกจะกลับกลายเป็นคนกลุ่มสุดท้าย”
ยกเว้นวิธีการจ่ายค่าตอบแทนแล้ว นิทานเปรียบเทียบเรื่องนี้นำมาจากชีวิตจริงที่พบเห็นได้เป็นประจำในปาเลสไตน์
องุ่นสุกพร้อมเก็บเกี่ยวประมาณปลายเดือนกันยายน ครั้นถึงเดือนตุลาคมฝนจะเริ่มเทลงมา การเก็บเกี่ยวองุ่นจึงต้องเร่งทำแข่งกับเวลาชนิดประสาทแทบกิน หาไม่แล้วฝนจะทำลายองุ่นจนไม่มีอะไรเหลือให้เก็บอีก ช่วงเวลาเช่นนี้ คนงานทุกคนล้วนเป็นที่ต้องการแม้จะมาทำงานเพียงชั่วโมงเดียวก็ตาม
ค่าจ้างหนึ่งเหรียญในสมัยนั้น เพียงพอสำหรับประทังชีวิตไปวัน ๆ หนึ่งสำหรับครอบครัวขนาดเล็กเท่านั้น ไม่มีเหลือสำหรับเก็บสะสมไว้ใช้ยามเจ็บไข้ได้ป่วยหรือตกงานเลย
ลูกจ้างรายวันเช่นนี้ถือว่ามีสถานภาพแย่กว่าทาสหรือคนรับใช้เสียอีก เพราะทาสหรือคนใช้ยังสังกัดครอบครัว โชคชะตาของพวกเขาจึงขึ้นกับโชคชะตาของครอบครัวที่เขาอาศัยอยู่ ซึ่งในยามปกติแล้วคงยากที่พวกเขาจะอดตาย ตรงกันข้ามกับพวกลูกจ้างรายวันซึ่งโชคชะตาอิงอยู่กับโอกาสได้งานทำ วันใดไม่มีคนจ้างงานวันนั้นย่อมเป็นหายนะของพวกเขาโดยแท้ เพราะนั่นหมายถึงลูกและภรรยาที่บ้านจะไม่มีอะไรกิน เรียกว่าชีวิตของพวกเขาแขวนอยู่บนเส้นด้ายที่แบ่งระหว่างชีวิตกับการอดตายจริง ๆ
คนที่รองานจนถึงห้าโมงเย็นย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ได้อย่างดีว่า พวกเขาต้องการงานมากสักเพียงใด !
นิทานเปรียบเทียบเรื่องนี้บรรจุคำสอนอันเป็นหัวใจของศาสนาคริสต์ ขอเริ่มจากคำสอนที่มีความหมายเจาะจงเฉพาะกลุ่มในสมัยของพระเยซูเจ้า ไล่เรียงไปสู่คำสอนที่เป็นสากลสำหรับเราทุกคน
1. พระเยซูเจ้าทรงเตือนบรรดาอัครสาวก ดูเหมือนพระองค์ต้องการสอนพวกอัครสาวกว่า “พวกท่านได้รับอภิสิทธิ์ยิ่งใหญ่ที่ได้เข้าเป็นสมาชิกของพระศาสนจักรก่อนผู้อื่น แต่พวกท่านจะอ้างสิทธิพิเศษเหนือผู้ที่เข้ามาเป็นสมาชิกในภายหลังไม่ได้ เพราะว่ามนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเข้ามาหาพระเจ้าเมื่อใด ล้วนมีค่าเท่าเทียมกันในสายพระเนตรของพระองค์”
มีสัตบุรุษบางคนที่เป็นลูกวัดเก่าแก่และเคยมีบทบาทสำคัญในวัดมาก่อน จนรู้สึกรับพระสงฆ์ที่มาใหม่ หรือลูกวัดสายเลือดพันธุ์ใหม่ที่คิดแตกต่างไปจากตนเองไม่ได้ สัตบุรุษเหล่านี้จำเป็นต้องระลึกอยู่เสมอว่า ตามความคิดของพระเยซูเจ้าแล้ว “อาวุโสไม่ได้หมายถึงการมีเกียรติหรือมีอภิสิทธิ์เหนือผู้อื่นเสมอไป”
2. พระเยซูเจ้าทรงเตือนชาวยิว พวกเขาตระหนักดีว่าตนเป็นชนชาติที่พระเจ้าทรงเลือกสรร พวกเขาจึงรังเกียจและดูแคลนคนต่างศาสนา บางคนถึงกับแช่งให้พวกเขาถูกทำลายให้สูญสิ้นไปจากโลกนี้ โชคร้ายที่ทัศนคติเช่นนี้ได้สืบทอดต่อมาในพระศาสนจักรของเรา “คริสตังค์ใหม่จะรู้ดีกว่าคริสตังค์นอนได้อย่างไร ?”
อย่าลืมว่าตามแผนการแห่งความรอดของพระเจ้า ไม่มีชนชาติใดอยู่เหนือชนชาติอื่น และไม่มีคริสตชนคนใดจะมีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่นแม้เขาจะมีความเชื่อก่อนก็ตาม
เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า คริสตังค์ใหม่หลายคนดีกว่าเราเยอะเลย !
3. พระเจ้าคือองค์ความบรรเทาใจ ไม่ว่าเราจะเข้าเป็นคริสตชน จะกลับใจ หรือจะมีประสบการณ์กับพระเจ้าอย่างลึกซึ้งในวัยเด็ก หรือเมื่อเข้าสู่วัยกลางคน หรือแม้ในบั้นปลายของชีวิตก็ตาม พระเยซูเจ้าทรงรักเราเท่ากันหมด !
บางคนอาจเสียชีวิตในวัยชราพร้อมกับทิ้งผลงานอันมีค่าไว้มากมาย ในขณะที่บางคนอาจเสียชีวิตตั้งแต่ยังเป็นเด็กหรือเป็นหนุ่มสาวที่ยังไม่เคยประสบความสำเร็จหรือมีผลงานใด ๆ ในชีวิตเลยก็ตาม สำหรับพระเจ้าแล้ว พระองค์ทรงต้อนรับทุกคนทัดเทียมกันหมด
4. พระเจ้าคือองค์ความเมตตา ไม่มีอะไรเลวร้ายเท่าลูกจ้างรายวันไม่มีงานทำ พวกเขารออยู่ที่ลานสาธารณะของหมู่บ้านเพราะไม่มีใครจ้างงานพวกเขา แต่พระเจ้าทรงให้งานพวกเขา ความเมตตาทำให้พระองค์ทนเห็นพวกเขาว่างงานไม่ได้
ความเมตตาของพระองค์เช่นนี้เองนำไปสู่หลักการอันยิ่งใหญ่ที่ว่า “มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะทำงานและได้รับค่าจ้างเพื่อยังชีพจากผลงานของเขา”
5. พระเจ้าทรงมีพระทัยกว้างขวาง เราจะพบว่าในนิทานเปรียบเทียบไม่มีการระบุว่าคนงานแต่ละคนทำงานเหมือนกันหรือทำงานได้ปริมาณเท่ากัน แต่พวกเขากลับได้รับค่าตอบแทนเดียวกัน
แสดงว่าเราไม่สมควรได้รับสิ่งที่พระเจ้าประทานให้ ทุกสิ่งที่เราได้รับล้วนเป็นเพราะพระทัยดีและพระทัยกว้างขวางของพระองค์เอง
สิ่งที่พระเจ้าประทานแก่เราจึงไม่ใช่ “ค่าจ้าง” แต่เป็น “ของประทาน”
ไม่ใช่ “รางวัล” แต่เป็น “พระหรรษทาน”
6. พระเจ้าสนพระทัย “จิตตารมณ์” ในการทำงานเหนือสิ่งอื่นใด จากนิทานเปรียบเทียบ เราสามารถแยกคนงานออกเป็นสองกลุ่มด้วยกัน
กลุ่มแรกมีการทำข้อตกลง เช่น “ครั้นได้ตกลงค่าจ้างวันละหนึ่งเหรียญกับคนงานแล้ว ก็ส่งไปทำงานในสวนองุ่น” (ข้อ 2) และ “จงไปทำงานในสวนองุ่นของฉันเถิด ฉันจะให้ค่าจ้างตามสมควร” (ข้อ 4,5)
ความสนใจของคนงานกลุ่มแรกคือ ทำอย่างไรฉันจึงจะได้ค่าตอบแทนสูงสุด
ส่วนกลุ่มที่สองไม่มีการทำข้อตกลงใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากคำเชื้อเชิญของนายจ้างที่ว่า “จงไปทำงานในสวนองุ่นของฉันเถิด” (ข้อ 7) สิ่งเดียวที่คนงานกลุ่มนี้ต้องการคือโอกาสที่จะทำงาน ส่วนค่าตอบแทนนั้นสุดแล้วแต่ความเมตตาของนายจ้าง
ชีวิตคริสตชนต้องเป็นเหมือนคนงานกลุ่มที่สอง หากเราให้ความสนใจกับค่าตอบแทนหรือรางวัลเป็นอันดับแรก โลกจะหยิบยื่นรางวัลและค่าตอบแทนมากมายให้แก่เรา แต่เราจะเป็นคนอันดับสุดท้ายในโลกหน้า
ตรงกันข้ามกับผู้ที่ไม่สนใจรางวัลหรือค่าตอบแทน แต่ทำงานเพราะความสุขใจและดีใจที่ได้รับใช้ผู้อื่น โลกอาจเห็นเขาเป็นผู้ต่ำต้อยอยู่อันดับท้าย ๆ แต่เขาจะกลับเป็นที่หนึ่งในสวรรค์
เรื่อง “รางวัล” นี้ดูเหมือนจะตรงกันข้ามกับคำสอนเรื่องการสวดภาวนาของพระองค์โดยสิ้นเชิง
“ผู้ใดแสวงหารางวัล จะไม่ได้รับ ผู้ใดลืมเรื่องรางวัล จะได้รับรางวัล” !