สมโภชพระเยซูเจ้ากษัตริย์แห่งสากลจักรวาล
ข่าวดี มัทธิว 25:31-46
การพิพากษาครั้งสุดท้าย
(31)“เมื่อบุตรแห่งมนุษย์จะเสด็จมาในพระสิริรุ่งโรจน์พร้อมกับบรรดาทูตสวรรค์ทั้งหลาย พระองค์จะประทับเหนือพระบัลลังก์อันรุ่งโรจน์ (32)บรรดาประชาชาติจะมาชุมนุมกันเฉพาะพระพักตร์ พระองค์จะทรงแยกเขาออกเป็นสองพวก ดังคนเลี้ยงแกะแยกแกะออกจากแพะ (33)ให้แกะอยู่เบื้องขวา ส่วนแพะอยู่เบื้องซ้าย (34)แล้วพระมหากษัตริย์จะตรัสแก่ผู้ที่อยู่เบื้องขวาว่า ‘เชิญมาเถิด ท่านทั้งหลายที่ได้รับพระพรจากพระบิดาของเรา เชิญมารับอาณาจักรเป็นมรดกที่เตรียมไว้ให้ท่านแล้วตั้งแต่สร้างโลก (35)เพราะว่า เมื่อเราหิว ท่านให้เรากิน เรากระหาย ท่านให้เราดื่ม เราเป็นแขกแปลกหน้า ท่านก็ต้อนรับ (36)เราไม่มีเสื้อผ้า ท่านก็ให้เสื้อผ้าแก่เรา เราเจ็บป่วย ท่านก็มาเยี่ยม เราอยู่ในคุก ท่านก็มาหา’ (37)“บรรดาผู้ชอบธรรมจะทูลถามว่า ‘พระเจ้าข้า เมื่อไรเล่าข้าพเจ้าทั้งหลายเห็นพระองค์ทรงหิว แล้วถวายพระกระยาหาร หรือทรงกระหาย แล้วถวายให้ทรงดื่ม (38)เมื่อใดเล่าข้าพเจ้าทั้งหลายเห็นพระองค์ทรงเป็นแขกแปลกหน้า แล้วต้อนรับ หรือทรงไม่มีเสื้อผ้า แล้วถวายให้ (39)เมื่อใดเล่าข้าพเจ้าทั้งหลายเห็นพระองค์ประชวรหรือทรงอยู่ในคุกแล้วไปเยี่ยม’ (40)พระมหากษัตริย์จะตรัสตอบว่า ‘เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ท่านทำสิ่งใดต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเรา’ (41)“แล้วพระองค์จะตรัสกับพวกที่อยู่เบื้องซ้ายว่า ‘ท่านทั้งหลายที่ถูกสาปแช่ง จงไปให้พ้น ลงไปในไฟนิรันดรที่ได้เตรียมไว้ให้ปีศาจและพรรคพวกของมัน (42)เพราะว่า เมื่อเราหิว ท่านไม่ให้อะไรเรากิน เรากระหาย ท่านไม่ให้อะไรเราดื่ม (43)เราเป็นแขกแปลกหน้า ท่านก็ไม่ต้อนรับ เราไม่มีเสื้อผ้า ท่านก็ไม่ให้เสื้อผ้า เราเจ็บป่วยและอยู่ในคุก ท่านก็ไม่มาเยี่ยม’ (44)พวกนั้นจะทูลถามว่า ‘พระเจ้าข้า เมื่อไรเล่าที่ข้าพเจ้าทั้งหลายเห็นพระองค์ทรงหิว ทรงกระหาย ทรงเป็นแขกแปลกหน้า หรือไม่มีเสื้อผ้า เจ็บป่วย หรืออยู่ในคุก และไม่ได้ช่วยเหลือ’ (45)พระองค์จะตรัสตอบว่า ‘เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ท่านไม่ได้ทำสิ่งใดต่อผู้ต่ำต้อยของเราคนหนึ่งท่านก็ไม่ได้ทำสิ่งนั้นต่อเรา’ (46)แล้วพวกนี้ก็จะไปรับโทษนิรันดร ส่วนผู้ชอบธรรมจะไปรับชีวิตนิรันดร”
แม้จะถือกันว่าพระวรสารตอนนี้เป็นนิทานเปรียบเทียบเรื่องหนึ่ง แต่องค์ประกอบที่เป็นนิทานเปรียบเทียบจริง ๆ กลับมีเพียงเรื่องการแยกแกะออกจากแพะในข้อ 32 และ 33 เท่านั้น ที่เหลือล้วนเป็นการ “ทำนายอนาคต” ทั้งสิ้น
คำว่า “การเสด็จมาของบุตรแห่งมนุษย์”, “พระสิริรุ่งโรจน์”, “ทูตสวรรค์”, “พระบัลลังก์”, และ “การพิพากษา” ล้วนนำมาจากหนังสือประกาศกดาเนียล ตัวอย่างเช่น
“ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังมองดูอยู่นั้น ข้าพเจ้าเห็นบัลลังก์หลายองค์ถูกนำมาตั้งไว้ และผู้อาวุโสท่านหนึ่งมาประทับบนบัลลังก์ สวมอาภรณ์ขาวอย่างหิมะ ผมบนศีรษะขาวเหมือนขนแกะ บัลลังก์ของเขาเหมือนเปลวเพลิง มีล้อเหมือนไฟลุกโพลง เบื้องหน้าเขามีธารไฟไหลออกมา คนจำนวนมากนับล้านนับโกฎิอสงไขยคอยเฝ้ารับใช้เขา การพิจารณาคดีเริ่มขึ้น และบรรดาหนังสือก็เปิดออก….ข้าพเจ้ายังเห็นนิมิตเวลากลางคืนต่อไป ข้าพเจ้าเห็นท่านผู้หนึ่งเหมือนบุตรแห่งมนุษย์ มาพร้อมกับหมู่ก้อนเมฆในท้องฟ้า เขามาพบผู้อาวุโสและมีผู้แนะนำเขาแก่ผู้อาวุโส เขาได้รับมอบอำนาจปกครอง สิริรุ่งโรจน์ และอาณาจักร ประชาชนทุกชาติทุกภาษารับใช้เขา อำนาจปกครองของเขาเป็นอำนาจที่คงอยู่ตลอดไปไม่มีวันสิ้นสุด และอาณาจักรของเขาจะไม่มีวันถูกทำลายเลย” (ดนล 7:9-14)
นี่เป็นคำทำนายถึง “ความเป็นกษัตริย์ พระราชอำนาจ และอาณาจักร” อันคงอยู่ชั่วนิรันดรของพระเยซูคริสตเจ้า
อีกทั้ง “การชุมนุมกันของบรรดาประชาชาติ” (ข้อ 32) ก็มีทำนายไว้แล้วในหนังสือประกาศกโยเอลบทที่ 3 ข้อ 2 ที่ว่า “เราจะรวบรวมบรรดาประชาชาติทั้งสิ้น และนำเขาลงมาที่หุบเขาเยโฮชาฟัท และเราจะเข้าสู่การพิพากษากับเขาที่นั่น”
เพียงแต่ครั้งก่อนผู้พิพากษาคือพระเจ้า แต่ครั้งนี้ผู้พิพากษาคือพระเยซูคริสตเจ้าเอง !
ทั้งหมดนี้ทำให้เราเข้าใจเป็นอื่นไปไม่ได้เลยนอกจาก “พระเยซูคริสตเจ้าคือกษัตริย์แห่งสากลจักรวาล” ที่บรรดาประกาศกได้กล่าวทำนายไว้แล้วในอดีต และเรากำลังร่วมใจกันสมโภชในวันนี้
เมื่อแน่ชัดแล้วว่าสักวันหนึ่งบรรดาประชาชาติซึ่งรวมถึงเราแต่ละคนจะต้องถูกพิพากษาโดยพระมหากษัตริย์แห่งสากลจักรวาล จึงเป็นการดีที่เราจะเรียนรู้จากนิทานเปรียบเทียบเรื่องนี้ว่า พระองค์ทรงใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการพิพากษา
จากพระดำรัสของพระมหากษัตริย์ที่ว่า “‘เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ท่านทำสิ่งใดต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเรา” และตรงกันข้ามคือ “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ท่านไม่ได้ทำสิ่งใดต่อผู้ต่ำต้อยของเราคนหนึ่ง ท่านก็ไม่ได้ทำสิ่งนั้นต่อเรา” (ข้อ 40 และ 45) เราจึงสรุปได้ว่าพระองค์จะพิพากษาตัดสินตาม “การตอบสนองต่อผู้ต่ำต้อยและขัดสน” ของเราแต่ละคน
ผู้ที่ช่วยเหลือผู้ขัดสนจะเป็น “แกะ” ส่วนผู้ที่ไม่ช่วยเหลือจะเป็น “แพะ”
และ “ความช่วยเหลือ” ต่อผู้ขัดสนต้องเป็นดังนี้
1. เป็นความช่วยเหลือที่เรียบง่าย ดังที่พระองค์ทรงยกตัวอย่างไว้เช่น การให้อาหารแก่ผู้หิวโหยสักมื้อหนึ่ง ให้น้ำแก่ผู้หิวกระหายสักแก้วหนึ่ง ต้อนรับแขก เยี่ยมคนเจ็บป่วยหรือติดคุก เป็นต้น
พระองค์ไม่ได้เรียกร้องให้เราบริจาคเงินหรือสิ่งของจำนวนมาก ๆ เพื่อจะได้มีชื่อจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของวัดหรือของสังฆมณฑล แต่ทรงต้องการให้เรา “เห็นหัว” และมี “น้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ” ต่อทุกคนที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวัน
ไม่มีคำสอนใดอีกแล้วที่จะเปิดหนทางสู่ความรุ่งโรจน์แก่สามัญชนผู้ต่ำต้อยเช่นเราเท่ากับคำสอนของพระเยซูเจ้าในนิทานเปรียบเทียบเรื่องนี้
2. เป็นความช่วยเหลือที่ไม่หวังผล ดังที่บรรดาผู้ชอบธรรมได้ให้ความช่วยเหลือผู้ขัดสนโดยไม่ได้คิดว่าเป็นการช่วยเหลือพระเยซูคริสตเจ้า ซึ่งแสดงว่าพวกเขาไม่ได้หวังผลที่จะสะสมความดีความชอบสำหรับชีวิตนิรันดรเลย
พวกเขาช่วยเหลือผู้อื่นเพราะเป็น “สัญชาติญาณรัก”
ตรงกันข้าม บรรดาผู้ถูกสาปแช่งกลับพูดทำนองที่ว่า “ถ้าพวกเรารู้ว่าเป็นพระองค์ พวกเราคงช่วยไปแล้ว แต่พวกเราคิดว่าเป็นคนธรรมดา กระจอกๆ เลยไม่ได้ช่วย !”
และข้อเท็จจริงที่น่าเสียดายอย่างยิ่งคือมีบางคนพร้อมจะให้ความช่วยเหลือหากว่าพวกเขาได้รับการยกย่องหรือขอบคุณอย่างเปิดเผย ความช่วยเหลือเช่นนี้เป็นการแสวงหาชื่อเสียงเกียรติยศใส่ตนเอง จึงเป็น “ความเห็นแก่ตัวที่แฝงกายมาในรูปของความเอื้ออาทร”
3. ความช่วยเหลือที่เรียบง่ายและไม่หวังผลนี้เอง พระเยซูเจ้าถือว่าทรงกระทำต่อพระองค์เอง !
ความคิดนี้สามารถเข้าใจได้ง่ายหากเราเข้าใจหัวอกของผู้เป็นพ่อและแม่... ใครช่วยเหลือลูกของเรา เราย่อมดีใจและรู้สึกกตัญญูจนหลาย ๆ ครั้งมากกว่าตัวลูกเองเสียอีก
พ่อแม่บางคนจดจำบุญคุณของผู้ที่รับหรือฝากลูกของตนเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียงได้ตราบจนวันตาย
กับพระเจ้าก็เป็นเช่นเดียวกัน พระองค์คือ “บิดา” และมนุษย์ทุกคนคือ “บุตร” ของพระองค์
ใครช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ก็เหมือนช่วยเหลือพระองค์ผู้ทรงเป็น “บิดา” !
ต่อหน้า กษัตริย์แห่งสากลจักรวาล เราอยากเป็นแกะอยู่เบื้องขวาหรือเป็นแพะอยู่เบื้องซ้าย ก็ให้ตัดสินใจเลือกเอาเสียแต่วันนี้....
มีแต่คนโง่เท่านั้นแหละที่ยอมเป็น “แพะรับบาป” !