สมโภชนักบุญเปโตรและเปาโลอัครสาวก
ข่าวดี มัทธิว 16:13-19
(13)พระเยซูเจ้าเสด็จมาถึงเขตเมืองซีซารียาแห่งฟิลิปและตรัสถามบรรดาศิษย์ว่า “คนทั้งหลายกล่าวว่าบุตรแห่งมนุษย์เป็นใคร” (14)เขาทูลตอบว่า “บ้างกล่าวว่าเป็นยอห์นผู้ทำพิธีล้าง บ้างกล่าวว่าเป็นประกาศกเอลียาห์ บ้างกล่าวว่าเป็นประกาศกเยเรมีย์หรือประกาศกองค์ใดองค์หนึ่ง” (15)พระองค์ตรัสกับเขาว่า “ท่านล่ะคิดว่าเราเป็นใคร” (16)ซีโมน เปโตรทูลตอบว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” (17)พระเยซูเจ้าตรัสตอบเขาว่า “ซีโมน บุตรของยอห์น ท่านเป็นสุขเพราะไม่ใช่มนุษย์ที่เปิดเผยให้ท่านรู้ แต่พระบิดาเจ้าของเราผู้สถิตในสวรรค์ทรงเปิดเผย (18)เราบอกท่านว่า ท่านคือศิลาและบนศิลานี้ เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา ประตูนรกจะไม่มีวันชนะพระศาสนจักรได้ (19)เราจะมอบกุญแจอาณาจักรสวรรค์ให้ ทุกสิ่งที่ท่านจะผูกบนแผ่นดินนี้ จะผูกไว้ในสวรรค์ด้วย ทุกสิ่งที่ท่านจะแก้ในแผ่นดินนี้ ก็จะแก้ในสวรรค์ด้วย”
1. ท่านล่ะคิดว่าเราเป็นใคร
เมืองซีซารียาแห่งฟิลิปเดิมชื่อเมืองปานีอาส (Panias) อยู่ห่างจากทะเลสาบกาลิลีไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 40 กิโลเมตร พ้นเขตปกครองของกษัตริย์เฮโรด อันติพาส ประชากรส่วนใหญ่ไม่ใช่ชาวยิว พระเยซูเจ้าจึงทรงมีเวลาอยู่กับบรรดาอัครสาวกตามลำพัง
ที่เมืองปานีอาส เฮโรดมหาราช (ผู้เป็นพ่อ) ได้สร้างวิหารใหญ่ ทำด้วยหินอ่อนสีขาว เพื่อถวายแด่ซีซาร์ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งโรม ต่อมาฟิลิปบุตรชายได้ต่อเติมและประดับประดาวิหารนี้ให้สวยตระการตายิ่งขึ้นไปอีก แล้วเปลี่ยนชื่อเมืองจากปานีอาสมาเป็นซีซารียาซึ่งแปลว่าเมืองของซีซาร์ และเพิ่มชื่อของตนคือฟิลิปต่อท้ายเข้าไปด้วย เพื่อให้แตกต่างจากเมืองซีซารียาอีกแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ณ เมืองซีซารียาแห่งฟิลิปซึ่งมีวิหารยิ่งใหญ่ตระการตาถวายแด่ซีซาร์ผู้เกรียงไกรตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้านี้เอง ที่ช่างไม้ชาวกาลิลีผู้ไร้บ้าน ไร้เงินทอง ไร้อนาคตเพราะถูกกล่าวหาว่าสอนผิดความเชื่อจนต้องนับเวลาถอยหลังรอความตาย กำลังตั้งคำถามศิษย์ของตนว่า “คนทั้งหลายกล่าวว่าบุตรแห่งมนุษย์เป็นใคร” (มธ 16:13)
ถ้าไม่ใช่พระเจ้าจริง พระองค์คงไม่กล้าตั้งคำถามแบบนี้ที่นี่แน่ !
คำตอบที่ได้คือ “บ้างกล่าวว่าเป็นยอห์นผู้ทำพิธีล้าง” (มธ 16:14)
ยอห์นคือผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคนั้นจนว่าเฮโรด อันติพาสซึ่งสั่งให้ตัดศีรษะของท่านยังหวาดระแวงว่าพระเยซูเจ้าอาจเป็น “ยอห์นผู้ทำพิธีล้างที่กลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตาย เขาจึงมีอำนาจทำอัศจรรย์ได้” (มธ 14:2)
“บ้างกล่าวว่าเป็นประกาศกเอลียาห์” (มธ 16:14)
ชาวยิวถือว่าเอลียาห์คือประกาศกยิ่งใหญ่ที่สุด ท่านจะกลับมาเพื่อเตรียมทางให้แก่พระเมสสิยาห์ (มลค 4:5) ทุกวันนี้ ขณะกินเลี้ยงปัสกาชาวยิวยังเตรียมเก้าอี้ว่างไว้สำหรับท่าน โดยหวังว่าท่านยิ่งกลับมาเร็วเท่าใด พระเมสสิยาห์ยิ่งเสด็จมาเร็วเท่านั้น
“บ้างกล่าวว่าเป็นประกาศกเยเรมีย์” (มธ 16:14)
ชาวยิวเชื่อกันว่าก่อนบรรพบุรุษของพวกตนจะถูกกวาดต้อนไปกรุงบาบิโลน เยเรมีย์ได้นำหีบพันธสัญญาและแท่นกำยานออกจากพระวิหารไปซ่อนไว้ในถ้ำแห่งหนึ่งแถบภูเขาเนโบ และจะนำกลับมาประดิษฐานไว้ก่อนพระเมสสิยาห์จะเสด็จมาเพื่อให้พระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้ากลับมาอยู่ท่ามกลางประชากรอีกครั้งหนึ่ง (2 มคบ 2:1-12)
เมื่อประชาชนคิดว่าพระเยซูเจ้าคือยอห์นผู้ทำพิธีล้าง หรือประกาศกเอลียาห์ หรือประกาศกเยเรมีย์ จึงเท่ากับว่า พวกเขายกพระองค์ไว้ ณ จุดสูงสุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งพึงได้รับ เพราะท่านเหล่านี้ล้วนเป็นผู้เตรียมทางให้แก่พระเมสสิยาห์ผู้เป็นบุตรของพระเจ้า
ทว่าสิ่งที่คนอื่นพูดถึงพระองค์มีหรือจะสำคัญเทียบเท่าความเชื่อของตนเอง พระองค์จึงตรัสถามบรรดาอัครสาวกว่า “ท่านล่ะคิดว่าเราเป็นใคร” (มธ 16:15)
เปโตรทูลตอบว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” (มธ 16:16)
คำตอบของเปโตรคงช่วยให้พระเยซูเจ้าใจชื้นขึ้นเป็นกอง เพราะอย่างน้อยก็ยังมีคนหนึ่งที่รับรู้ว่าพระองค์ทรงเป็นใครและทรงเป็นอะไร
คำว่า “พระคริสตเจ้า” เป็นภาษากรีก ส่วน “พระเมสสิยาห์” เป็นภาษาฮีบรู ทั้งสองคำมีความหมายเดียวกันคือ “ผู้ที่ได้รับการเจิม”
เพราะฉะนั้น หากจะถามว่าพระเยซูเจ้าเป็นใคร คำตอบแบบเปโตรก็คือ “พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” และถ้าจะถามว่าพระองค์เป็นอะไร คำตอบก็คือ “ผู้ที่พระเจ้าทรงเจิมไว้ให้เป็นกษัตริย์ เพื่อกอบกู้มวลมนุษย์ให้รอดพ้นจากความตายฝ่ายวิญญาณ”
จากเหตุการณ์ที่เมืองซีซารียาแห่งฟิลิป เราอาจสรุปแนวทางดำเนินชีวิตได้สองประการ
1. แม้เราจะยกพระเยซูเจ้าไว้สูงสุดจนเทียบชั้นกับประกาศกเอลียาห์และเยเรมีย์แล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับการรู้จักพระองค์
สมดังคำพูดของจักรพรรดินโปเลียนที่ว่า “ข้าพเจ้ารู้จักมนุษย์มากมายหลายคน แต่พระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็นมากกว่ามนุษย์”
ด้วยเหตุนี้ พระเยซูเจ้าจึงตรัสว่า “ซีโมน บุตรของยอห์น ท่านเป็นสุขเพราะไม่ใช่มนุษย์ที่เปิดเผยให้ท่านรู้ แต่พระบิดาเจ้าของเราผู้สถิตในสวรรค์ทรงเปิดเผย” (มธ 16:17)
พูดง่าย ๆ คือ เป็นพระบิดาที่ทรงเปิดเผยให้เปโตรรู้จักพระเยซูเจ้า
ดังนั้น เราจึงต้องหมั่นวอนขอพระบิดาเจ้า โปรดให้เรารู้จักพระเยซูเจ้ามากขึ้น จะได้รักและดำเนินชีวิตตามแบบอย่างของพระองค์มากขึ้น
2. ไม่เป็นการเพียงพอที่จะรู้จักพระเยซูเจ้าโดยอาศัยคำบอกเล่าของผู้อื่น เราต้องค้นให้พบและรู้จักพระองค์ด้วยตัวของเราเอง
หากพระองค์ตรัสถามว่า “ท่านล่ะคิดว่าเราเป็นใคร” เราต้องตอบด้วยตัวของเราเองให้ได้ไม่ว่าเราจะยิ่งใหญ่มีบริวารมากน้อยเพียงใดก็ตาม
ไม่เว้นแม้แต่ปิลาตซึ่งถามพระองค์ว่า “ท่านเป็นกษัตริย์ของชาวยิวหรือ” ก็ยังต้องกลับไปหาคำตอบเองเพราะพระองค์ทรงย้อนว่า “ท่านถามดังนี้ด้วยตนเอง หรือผู้อื่นบอกท่านถึงเรื่องของเรา” (ยน 18:33-34)
เราอาจเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพระคัมภีร์ เทววิทยา หรือคำสอน แต่ตราบใดที่เราไม่สามารถค้นพบและรู้จักพระองค์ด้วยตัวของเราเอง ตราบนั้นความรู้ที่ร่ำเรียนมาย่อมเป็นเพียงความรู้มือสองที่ช่วยให้เรา “รู้เกี่ยวกับ” พระเยซูเจ้า...
แต่ยังไม่ “รู้จัก” พระองค์ !
2. ท่านคือศิลาและบนศิลานี้ เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา
ที่มาของพระวาจานี้คือ “ท่านคือ ‘เปตรอส’ และบน ‘เปตรา’ นี้ เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา” (มธ 16:18)
คำกรีก “เปตรอส” (Petros) คือ “เปโตร” เป็นชื่อเฉพาะ ไม่มีคำแปลอื่น ส่วน “เปตรา” (petra) แปลว่า “ศิลา”
หากแปลตามต้นฉบับภาษากรีกจะได้ความว่า “ท่านคือเปโตร และบนศิลานี้ เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา”
ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อของชาวยิวซึ่งถือว่า “ศิลา” คือองค์พระเป็นเจ้าเอง
- “พระองค์ทรงเป็นศิลา พระราชกิจของพระองค์ก็ดีพร้อม” (ฉธบ 32:4)
- “บรรดาศัตรูน่าจะเข้าใจว่า พระผู้ปกป้องเขาไม่เหมือนเรา ซึ่งเป็นศิลาแห่งอิสราเอล” (ฉธบ 32:31)
- “ไม่มีผู้ใดศักดิ์สิทธิ์เหมือนพระยาห์เวห์ ไม่มีศิลาใดเหมือนพระเจ้าของข้าพเจ้าทั้งหลาย” (1 ซมอ 2:2)
- “ใครเล่าเป็นพระเจ้านอกจากพระยาห์เวห์ ใครเล่าเป็นหลักศิลาถ้าไม่ใช่พระเจ้าของเรา” (สดด 18:2, 31)
ส่วนในพระธรรมใหม่ “ศิลา” คือองค์พระเยซูเจ้าเอง
- “บรรดาอัครสาวกและประกาศกเป็นรากฐาน มีพระคริสตเยซูทรงเป็นศิลาหัวมุม” (อฟ 2:20)
- “รากฐานที่วางไว้แล้วนี้คือพระเยซูคริสตเจ้าและไม่มีใครวางรากฐานอื่นได้อีก” (1 คร 3:11)
- “จงเข้าไปเฝ้าพระองค์ผู้ทรงเป็นศิลาทรงชีวิตซึ่งมนุษย์ละทิ้งไป แต่พระเจ้าทรงเลือกสรรไว้และมีค่าประเสริฐ .... ดังที่มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า ‘เราเลือกศิลาประเสริฐและวางไว้ในนครศิโยนเป็นศิลาหัวมุม ทุกคนที่มีความเชื่อในศิลานี้จะไม่ต้องอับอายเลย’” (1 ปต 2:4,6)
จากพระคัมภีร์ที่ยกมาแสดงว่า พระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็น “ศิลาหัวมุม” และทรงเป็นรากฐานแท้จริงของพระศาสนจักร หากปราศจากพระองค์ พระศาสนจักรย่อมไม่อาจตั้งอยู่ได้
แต่ด้วยเจตนาเล่นคำ ชื่อของ “เปโตร” ในภาษากรีกจึงถูกแปลตามชื่อในภาษาอาราไมอิก “เคฟาส” (Kephas) ซึ่งบังเอิญหมายถึง “ศิลา” เราจึงได้สำนวนแปลว่า “ท่านคือศิลาและบนศิลานี้ เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา” (มธ 16:18)
ใช่ เปโตรคือ “ศิลา” แต่ไม่ใช่ “ศิลาหัวมุม”
ท่านคือ “ศิลาแรก” ของพระศาสนาจักรซึ่งพระองค์กำลังสถาปนาขึ้น เพราะว่าท่านเป็น “มนุษย์คนแรก” ที่รู้และเชื่อว่าพระเยซูเจ้าคือพระคริสตเจ้า ผู้เป็นบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต (มธ 16:16)
ด้วยเหตุที่เปโตรเป็นสมาชิกคนแรกของพระศาสนจักร ท่านจึงเป็นรากฐานและเป็นเสมือนเชื้อแป้งที่ทำให้มีสมาชิกคนอื่นตามมาอีกมากมายทุกยุคทุกสมัย
ส่วนผู้ก่อตั้งและเป็น “ศิลาหัวมุม” ของพระศาสนจักรคือองค์พระเยซูคริสตเจ้าเอง !
เพราะฉะนั้น หากเรารักนักบุญเปโตรผู้เป็นศิลาแรกมากเท่าใด เรายิ่งต้องรักพระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็นศิลาหัวมุมมากขึ้นเท่านั้น
3. ประตูนรกจะไม่มีวันชนะพระศาสนจักรได้
เราอาจเข้าใจความหมายของ “ประตูนรกจะไม่มีวันชนะพระศาสนจักรได้” (มธ 16:18) ได้ดังนี้
“ประตู” มีไว้เพื่อ ปิด ควบคุม กักขัง จำกัดเขต
“นรก” ตรงกับภาษากรีก “ades” (อาเดส) และภาษาอังกฤษ “Hades” (เฮดีส) ซึ่งมีความหมายตามตัวอักษรคือ “สถานที่ที่มองไม่เห็น” เดิมชาวยิวเชื่อว่าคนตายทุกคนไม่ว่าดีหรือเลวจะไปรวมกันอยู่ในสถานที่ที่มองไม่เห็นนี้ คำ “เฮดีส” แรกเริ่มจึงหมายถึงแดนผู้ตาย แต่ต่อมาพัฒนาเป็นสถานที่สำหรับคนบาปพักรอการตัดสิน และหมายถึงนรกในที่สุด
เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสว่า “ประตูนรกจะไม่มีวันชนะพระศาสนจักรได้” จึงหมายความว่า “ประตูแห่งแดนผู้ตายไม่มีทางปิดขังคนคนหนึ่งซึ่งก่อตั้งพระศาสนจักรได้เลย”
เพราะคนคนนั้น “คือพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” (มธ 16:16)
พระองค์ทรงกล่าวเช่นนี้ก็เพื่อทำนายถึงการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์เอง และเปโตรได้ประกาศยืนยันความจริงนี้ในวันเปนเตกอสเตว่า “พระเจ้าทรงบันดาลให้พระองค์กลับคืนพระชนมชีพ พ้นจากอำนาจแห่งความตาย เพราะความตายยึดพระองค์ไว้ใต้อำนาจอีกต่อไปไม่ได้” และอีกตอนหนึ่งว่า “เพราะพระองค์จะไม่ทรงละทิ้งข้าพเจ้า (คือพระเยซูเจ้า) ไว้ในแดนผู้ตาย และจะไม่ทรงปล่อยผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ให้เน่าเปื่อย” (กจ 2:24, 27)
นอกจากเป็นการทำนายถึงการกลับคืนพระชนมชีพแล้ว เราอาจเข้าใจความหมายอีกนัยหนึ่งว่า ประตูนรกคืออำนาจแห่งความชั่วร้าย ซึ่งไม่มีทางจะเอาชนะหรือทำลายพระศาสนจักรของพระเยซูคริสตเจ้าได้เลย
4. สิทธิและหน้าที่ของพระศาสนจักร
เพื่อให้พระศาสนจักรบนความเชื่อของเปโตรมีความมั่นคง พระเยซูเจ้าทรงมอบสิทธิและหน้าที่พิเศษให้แก่ท่านอีกด้วย
1. “เราจะมอบกุญแจอาณาจักรสวรรค์ให้” (มธ 16:19)
ในพระธรรมใหม่ ผู้ถือกุญแจคือพระเยซูเจ้าเอง “เราเป็นผู้มีชีวิต เราตายไปแล้ว แต่บัดนี้เรามีชีวิตอยู่ตลอดนิรันดร เรามีอำนาจ (ต้นฉบับภาษากรีกคือ kleis แปลว่า “กุญแจ”) เหนือความตายและเหนือแดนผู้ตาย” (วว 1:18)
และ “พระองค์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ทรงสัตย์ ผู้ทรงถือกุญแจของกษัตริย์ดาวิด เมื่อพระองค์ทรงเปิด ไม่มีผู้ใดปิดได้ และเมื่อพระองค์ทรงปิด ก็ไม่มีผู้ใดเปิดได้” (วว 3:7)
ข้อความหลังนี้ช่างคล้ายกับพระวาจาของพระเจ้าจอมโยธาที่มีถึงเอลียาคิมผ่านทางประกาศกอิสยาห์ว่า “เราจะวางลูกกุญแจของวังดาวิดไว้บนบ่าของเขา เขาจะเปิดและไม่มีผู้ใดปิด เขาจะปิดและไม่มีผู้ใดเปิด” (อสย 22:22) นั่นคือ พระองค์ทรงตั้งเอลียาคิมให้เป็นผู้จัดการราชสำนักของดาวิดแทนเชบนา มีอำนาจเต็มในการสั่งเปิดประตูพระราชวังในยามเช้า และปิดในยามเย็น
หมายความว่า พระเยซูเจ้าทรงมอบกุญแจอาณาจักรสวรรค์ของพระองค์แก่เปโตร เพื่อให้ท่านเป็นผู้ดูแลอาณาจักรสวรรค์และ “เปิดประตูต้อนรับคนทุกชาติ” ทั้งที่เป็นยิวและไม่ใช่ยิว
ดังที่ท่านได้เปิดประตูต้อนรับดวงวิญญาณสามพันดวงในวันเปนเตกอสเต (กจ 2:41) รวมถึงดวงวิญญาณของโครเนลิอัสซึ่งเป็นนายทหารต่างชาติ (กจ 10) อีกทั้งในการประชุมที่กรุงเยรูซาเล็ม ท่านได้ผลักดันให้ข่าวดีเผยแผ่ไปสู่คนต่างศาสนาด้วยการยืนยันว่า “เพื่อให้มนุษย์อื่น ๆ แสวงหาองค์พระผู้เป็นเจ้าพร้อมกับนานาชาติ” (กจ 15:17)
2. “ทุกสิ่งที่ท่านจะผูกบนแผ่นดินนี้ จะผูกไว้ในสวรรค์ด้วย ทุกสิ่งที่ท่านจะแก้ในแผ่นดินนี้ ก็จะแก้ในสวรรค์ด้วย” (มธ 16:19)
คำว่า “ผูก” และ “แก้” เป็นสำนวนที่ชาวยิวนิยมใช้กับคำตัดสินด้านกฎหมายของอาจารย์หรือรับบีผู้มีชื่อเสียง ผูกหมายถึงไม่อนุญาต และแก้หมายถึงอนุญาต
เท่ากับว่าพระเยซูเจ้าทรงมอบภาระรับผิดชอบอันหนักหน่วงไว้บนบ่าของเปโตร ท่านต้องให้คำแนะนำและนำพาพระศาสนจักร ท่านต้อง “ตัดสินใจ” ว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาต ซึ่งการตัดสินใจของท่านย่อมส่งผลอันใหญ่หลวงต่อวิญญาณของมนุษย์ทั้งในโลกนี้และชั่วนิรันดร
นี่คือความยิ่งใหญ่ของเปโตรและเปาโลซึ่งเราร่วมใจกันเฉลิมฉลองในวันนี้
ท่านยิ่งใหญ่เพราะเป็นผู้สืบสานภารกิจของพระเยซูคริสตเจ้า บุตรพระเจ้าผู้ทรงชีวิต !