มัทธิว 5-7
ความสุขแท้จริง
มัทธิว 5:1-12
(1)พระเยซูเจ้าทอดพระเนตรเห็นประชาชนมากมาย จึงเสด็จขึ้นบนภูเขา เมื่อประทับแล้ว บรรดาศิษย์เข้ามาห้อมล้อมพระองค์ (2)พระองค์ทรงเริ่มตรัสสอนว่า (3)ผู้มีใจยากจน ย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา (4)ผู้เป็นทุกข์โศกเศร้า ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับการปลอบโยน (5)ผู้มีใจอ่อนโยน ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับแผ่นดินเป็นมรดก (6)ผู้หิวกระหายความชอบธรรม ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะอิ่ม (7)ผู้มีใจเมตตา ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับพระเมตตา (8)ผู้มีใจบริสุทธิ์ ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้เห็นพระเจ้า (9)ผู้สร้างสันติ ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า (10)ผู้ถูกเบียดเบียนข่มเหงเพราะความชอบธรรม ย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา (11)ท่านทั้งหลายย่อมเป็นสุข เมื่อถูกดูหมิ่น ข่มเหงและใส่ร้ายต่าง ๆ นานาเพราะเรา (12)จงชื่นชมยินดีเถิด เพราะบำเหน็จรางวัลของท่านในสวรรค์นั้นยิ่งใหญ่นัก เขาได้เบียดเบียนบรรดาประกาศกที่อยู่ก่อนท่านดังนี้ด้วยเช่นเดียวกัน
บทเทศน์บนภูเขา
• เป็นคำสอนทางการ
• เป็นคำสอนสำคัญ และออกมาจากใจของพระเยซูเจ้า
• เป็นสิ่งที่พระเยซูเจ้าย้ำสอนเป็นประจำ
ความสุขแท้จริง
• เป็นความสุขที่เกิดขึ้นเวลานี้ และบนโลกนี้
• เป็นความสุขเที่ยงแท้ ไม่มีใครแย่งชิงไปได้
“แต่เราจะเห็นท่านอีก และใจของท่านจะยินดี ไม่มีใครนำความยินดีไปจากท่านได้” (ยอห์น 16:22)
1. ผู้มีใจยากจนย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา
• penēs หมายถึง จน ไม่มีของฟุ่มเฟือย แต่ไม่ถึงกับขัดสน
• ptōchos หมายถึง ยากจนสุด ๆ ไม่สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง ตรงกับภาษาฮีบรูว่า ’ani หรือ ebiōn
• จนสุด ๆ
• ไม่มีอำนาจ ไม่มีอิทธิพล
• ถูกรังแก ถูกกดขี่ข่มเหง
• หมดที่พึ่ง เหลือเพียง ไว้วางใจในพระเจ้าแต่ผู้เดียว
อาณาจักรสวรรค์คืออะไร
อาณาจักรสวรรค์คือสังคมที่น้ำพระทัยของพระเป็นเจ้าได้รับการปฏิบัติอย่างสมบูรณ์ในโลกนี้เหมือนในสวรรค์ และผู้ที่จะปฏิบัติตามน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้าได้ต้องวางใจพระองค์
ความหมาย
โอ ช่างเป็นสุขจริง คนที่ตระหนักว่าตนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ จึงไว้วางใจในพระเจ้า เหตุว่าเขาจะได้เป็นสมาชิกของอาณาจักรสวรรค์ เพราะสามารถนบนอบและปฏิบัติตามน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้าได้อย่างสมบูรณ์
2. ผู้เป็นทุกข์โศกเศร้าย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับการปลอบโยน
• ภาษากรีกที่ใช้หมายถึงความโศกเศร้าสุดขีด เช่น เมื่อบุคคลอันเป็นที่รักจากไปอย่างไม่มีวันกลับ
• ความโศกเศร้าทำให้เข้าใจความลึกซึ้งของชีวิต มองเห็นน้ำใจดีของเพื่อนมนุษย์ และความเมตตาของพระเป็นเจ้า
• โศกเศร้าเพราะเห็นความทุกข์ยาก ความเศร้าโศก และความขัดสนของเพื่อนมนุษย์
• โศกเศร้าเพราะบาป และความไร้ค่าของตนเอง ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นทุกข์กลับใจ ได้รับการอภัยจากพระเป็นเจ้า และพบความยินดีในที่สุด
ความหมาย
โอ ช่างเป็นสุขจริงหนอ ผู้ที่หัวใจแตกสลายเพราะเห็นความทุกข์ยากของโลก และเห็นบาปของตนเอง เหตุว่าเขาจะพบความยินดีในพระเจ้า (ได้รับการปลอบโยน อภัย)
3. ผู้มีใจอ่อนโยนย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับแผ่นดินเป็นมรดก
• อริสโตเติ้ลให้คำจำกัดความของ praotēs ว่าอยู่ระหว่าง orgilotēs (excessive anger) และ aorgēsia (excessive angerlessness) หมายถึง โกรธเมื่อสมควรโกรธ และไม่โกรธเมื่อไม่สมควรโกรธ
• praus ใช้กับสัตว์ที่ได้รับการฝึกจนอยู่ภายใต้การควบคุม
• ภาษากรีกใช้คำ praotēs เพื่อตรงข้ามกับคำ hupsēlokardia (หยิ่ง) จึงหมายถึง “ความสุภาพ” ซึ่งจะช่วยให้เราตระหนักถึงความไม่รู้ ความอ่อนแอ และความต้องการของตนเอง
หลักการ
คนที่จะนำคนอื่นได้ต้องนำตัวเองได้ก่อน คนที่จะควบคุมคนอื่นได้ต้องควบคุมตัวเองได้ก่อน คนที่มอบตัวเองไว้ในการควบคุมของพระเป็นเจ้าจะสามารถควบคุมตัวเองได้ซึ่งช่วยให้เขาได้ครองแผ่นดิน
ความหมาย
ช่างสุขจริงหนอ ผู้ที่รู้จักโกรธในเวลาที่ถูกต้อง และไม่เคยโกรธในเวลาที่ไม่ถูกต้อง ผู้ที่สามารถควบคุมสัญชาติญาณ แรงกระตุ้น และตัณหาของตัวเองเพราะว่าเขาอยู่ภายใต้การควบคุมของพระเป็นเจ้า ตลอดจนผู้ที่มีความสุภาพพอที่จะตระหนักถึงความไม่รู้และความอ่อนแอของตนเอง เหตุว่าเขาผู้นั้นจะเป็นกษัตริย์ท่ามกลางมวลมนุษย์
4. ผู้หิวกระหายความชอบธรรมย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะอิ่ม
• หิวและกระหายเหมือนคนใกล้ตายกระเสือกกระสนหาอาหารและน้ำ ความหมายคือ “เราต้องการความชอบธรรมเหมือนคนใกล้อดตายต้องการอาหารและน้ำหรือไม่”
• ข้อสังเกตคือไม่ใช่คนที่บรรลุความดีพร้อมที่เป็นสุข แต่เป็นคนที่แสวงหาความชอบธรรมที่เป็นสุข
• ปกติภาษากรีก กริยาจำพวกหิวและกระหายจะตามด้วย genitive case ซึ่งเรียกว่า partitive genitive แต่ในกรณีนี้ กลับตามด้วย accusative case ซึ่งหมายถึง ความชอบธรรมทั้งครบ
ความหมาย
ช่างสุขจริงหนอสำหรับคนที่ปรารถนาความชอบธรรมทั้งครบ เหมือนคนใกล้อดตายปรารถนาอาหารและน้ำ เหตุว่าเขาจะอิ่มหนำจริง ๆ
5. ผู้มีใจเมตตาย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับพระเมตตา
• ภาษาฮีบรู chesedh ตรงกับภาษากรีก syn (together with) + paschein (experience, suffer) หมายถึงความสามารถในการเข้าไปอยู่ในผู้อื่น แล้วมองด้วยสายตาของผู้อื่น คิดด้วยความคิดของผู้อื่น และรู้สึกด้วยความรู้สึกของผู้อื่น
• ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือ พระเป็นเจ้าทรงรับเอากายเป็นมนุษย์ในพระเยซู คริสตเจ้า
• chesedh ช่วยให้เราไม่เมตตาในทางที่ผิด (เหมือนมารธา) และช่วยให้เราอภัยและอดทนผู้อื่นได้ง่ายขึ้น
ความหมาย
ช่างสุขจริงหนอ ผู้ที่เข้าไปอยู่ในผู้อื่นจนกระทั่งเขาสามารถมองด้วยดวงตาของผู้อื่น คิดด้วยความคิดของผู้อื่น และรู้สึกด้วยความรู้สึกของผู้อื่น เหตุว่าผู้อื่นก็จะกระทำกับเขาเช่นเดียวกัน และเขายังจะได้รับรู้ว่านี่คือสิ่งที่พระเจ้าได้กระทำในองค์พระเยซูคริสตเจ้า
6. ผู้มีใจบริสุทธิ์ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้เห็นพระเจ้า
• คำ katharos ทั่วไปหมายถึง สะอาด
• ใช้กับ ข้าว หรือ ข้าวโพด หมายถึง ฝัด ร่อนด้วยตะแกรง
• ใช้ในวงการทหาร หมายถึง แยก คัด (ทหารดี-เลวออกจากกัน)
• ใช้ควบกับ akēratos หมายถึง นม เหล้าองุ่น หรือโลหะ ที่ไม่มีน้ำหรือ โลหะอื่นผสมเหรือเจือปน
• หลักการคือ การมองเห็นขึ้นอยู่กับความสามารถในการเห็นของแต่ละคน
ความหมาย
โอ ช่างสุขจริง ผู้ที่มีแรงจูงใจอันบริสุทธิ์ปราศจากสิ่งเจือปน เหตุว่าเขาจะสามารถเห็นพระเป็นเจ้า
7. ผู้สร้างสันติย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า
• คำกรีก eirene และคำฮีบรู shalōm ไม่ใช้ในความหมายเชิงปฏิเสธ แต่หมายถึงทุกสิ่งที่ดีที่สุด
• แค่เป็นผู้รักสันติยังไม่พอ แต่ต้องเป็นผู้สร้างสันติด้วย แม้จะต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ก็ตาม
• ภาษาฮีบรูไม่ค่อยมีคำคุณศัพท์ จึงใช้สำนวน sons of (huioi) + abstract noun เช่น บุตรแห่งความสันติ หมายถึงคนที่มีสันติ เพราะฉะนั้น sons of God จึงหมายถึง God-like work
ความหมายของผู้สร้างสันติ
• ทุกคนที่ช่วยกันทำให้โลกนี้ดีขึ้น น่าอยู่ขึ้น
• คนที่มีสันติในใจและวิญญาณ สงครามระหว่างความดีและความชั่วจบสิ้นลง
• ผู้ที่สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างมนุษย์กับมนุษย์
ความหมาย
ช่างสุขจริงหนอบรรดาผู้ที่สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ เหตุว่าพวกเขากำลังทำแบบพระเป็นเจ้า
มัทธิว 5:10-12
ผู้ถูกเบียดเบียนข่มเหงเพราะความชอบธรรม ย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา ท่านทั้งหลายย่อมเป็นสุขเมื่อถูกดูหมิ่นข่มเหงและใส่ร้ายต่าง ๆ นานาเพราะเรา จงชื่นชมยินดีเถิด เพราะบำเหน็จรางวัลของท่านในสวรรค์นั้นยิ่งใหญ่นัก เขาได้เบียดเบียนบรรดาประกาศกที่อยู่ก่อนท่านดังนี้ด้วยเช่นกัน
8. ผู้ถูกเบียดเบียนข่มเหงเพราะความชอบธรรม ย่อมเป็นสุข
• ความสุขสุดท้ายนี้แสดงถึงความจริงใจของพระเยซูเจ้า
• และสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ ในพระศาสนจักรเริ่มแรกคือ การสูญเสียงาน การสูญเสียสถานะทางสังคม การสูญเสียครอบครัวและคนอันเป็นที่รัก รวมถึงการเบียดเบียน
สาเหตุของการเบียดเบียน
• การให้ร้าย เช่นกินเด็ก ผิดศีลธรรม นักวางเพลิง (วันสิ้นโลก) และทำให้ครอบครัวแตกแยก
• ปัญหาการเมือง เพื่อความเป็นเอกภาพของอาณาจักรโรมัน มีการบังคับให้บูชาจักรพรรดิเป็นพระเจ้า
การเบียดเบียนเป็นเรื่องน่ายินดี
• เป็นการเดินตามบรรดาประกาศก นักบุญ มรณสักขี และบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์
• เป็นการแสดงความซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อพระเยซูคริสตเจ้า
• เป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่สำหรับชีวิตนิรันดร โดยมีพระเจ้าเคียงข้าง (ดาเนียล 3:19-25)
• เป็นคุณูประโยชน์ต่อชนรุ่นหลัง เช่น วีรชนคนตุลาช่วยให้เมืองไทยมีประชาธิปไตย
การเบียดเบียนในปัจจุบัน
• ปัจจุบันการเบียดเบียนดูเหมือนจะหมดยุค แต่การดูหมิ่นเหยียดหยาม หรือหัวเราะเยาะผู้ที่ดำเนินชีวิตเยี่ยงคริสตชนยังมีอยู่
• เป็นสิ่งท้าทายสำหรับเราที่จะดำเนินชีวิตเพื่อพระองค์ ดีกว่าตายเพื่อพระองค์ !