แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

chaiya1

วันอาทิตย์ที่ 33 เทศกาลธรรมดา


ข่าวดี    มาระโก 13:24-32

(24) “ในวันเหล่านั้นเมื่อทุกขเวทนาผ่านไปแล้ว ดวงอาทิตย์จะมืดไป ดวงจันทร์จะไม่ทอแสง (25) ดวงดาวจะตกจากท้องฟ้า และอานุภาพบนท้องฟ้าจะสั่นสะเทือน (26) เมื่อนั้นประชาชนทั้งหลายจะเห็นบุตรแห่งมนุษย์เสด็จมาในก้อนเมฆ ทรงพระอานุภาพและพระสิริรุ่งโรจน์ยิ่งใหญ่ (27) เมื่อนั้น พระองค์จะทรงใช้ทูตสวรรค์ไปรวบรวมผู้ที่ทรงเลือกสรรจากทั้งสี่ทิศ จากปลายแผ่นดินจนสุดขอบฟ้า
(28) “จงเรียนคำอุปมาเรื่องต้นมะเดื่อเทศเถิด เมื่อมันแตกกิ่งอ่อนและผลิใบ ท่านทั้งหลายย่อมรู้ว่าฤดูร้อนใกล้เข้ามาแล้ว (29) ท่านก็เช่นเดียวกัน เมื่อเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ก็จงรู้เถิดว่าพระองค์ทรงใกล้เข้ามา อยู่ที่ประตูแล้ว (30) เราบอกความจริงแก่ท่านว่า คนในชั่วอายุนี้จะไม่ล่วงพ้นไปก่อนที่เหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้น (31) ฟ้าดินจะสูญสิ้นไป แต่วาจาของเราจะไม่สูญสิ้นไปเลย (32) “ส่วนเรื่องวันและเวลานั้น ไม่มีใครรู้เลย ทั้งบรรดาทูตสวรรค์ และแม้แต่พระบุตร นอกจากพระบิดาเพียงพระองค์เดียว

****************************

พระวรสารบทที่ 13 ของนักบุญมาระโกถือว่ายากที่สุดบทหนึ่งในพระธรรมใหม่ เพราะเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และความคิดแบบชาวยิว ซึ่งพวกเราส่วนใหญ่ไม่รู้จักและไม่คุ้นเคย
ชาวยิวไม่เคยสงสัยเลยว่าตนเป็นประชากรที่พระเจ้าทรงเลือกสรร  และเพราะพระเจ้าทรงเลือกสรร พวกเขาจึงคิดว่าควรมีตำแหน่งและบทบาทเหนือชนชาติอื่น  แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป พวกเขาเริ่มตระหนักว่าอาศัยกำลังของตนเองย่อมไม่มีทางบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ จึงหันมาพึ่งพาและรอคอยความช่วยเหลือจากพระเจ้า  พวกเขาเรียกวันที่พระเจ้าจะเสด็จมาทำลายชนชาติอื่นแทนพวกเขาและสถาปนาอาณาจักรใหม่ให้แก่พวกเขาว่า “วันของพระเจ้า” (The Day of the Lord)

ด้านหนึ่ง ต้องยอมรับว่าพวกเขามองโลกในแง่ดีที่เชื่อมั่นว่าพระเจ้าจะเสด็จมาช่วยเหลือพวกเขา  แต่อีกด้านหนึ่งต้องถือว่าพวกเขามองโลกในแง่ร้ายสุด ๆ ที่เชื่อว่าโลกใบนี้เลวร้ายเกินกว่าจะฟื้นฟูได้  ต้องทำลายล้างให้สิ้นซาก แล้วสร้างใหม่สถานเดียว
ด้วยเหตุนี้ ภาพเหตุการณ์ “วันของพระเจ้า” จึงถูกวาดไว้อย่างน่าขนพองสยองเกล้า ดังคำของประกาศกอิสยาห์ที่ว่า “จงพิลาปร่ำไห้ซิ เพราะวันแห่งพระเจ้ามาใกล้แล้ว วันนั้นจะมา  เป็นการทำลายจากองค์ผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์....ดูเถิด วันของพระเจ้าจะมา ดุร้ายด้วยความพิโรธและความโกรธอันเกรี้ยวกราด ที่จะกระทำให้แผ่นดินโลกเป็นที่ร้างเปล่า และเพื่อจะทำลายคนบาปของโลกเสียจากโลก เพราะดวงดาวแห่งฟ้าสวรรค์และหมู่ดาวในนั้นจะไม่ทอแสงของมัน ดวงอาทิตย์ก็จะมืดเมื่อเวลาขึ้น และดวงจันทร์จะไม่ส่องแสงของมัน....เพราะฉะนั้น เราจะกระทำให้ฟ้าสวรรค์สั่นสะเทือน และแผ่นดินโลกจะสะท้านพลัดจากที่ของมัน โดยพระพิโรธของพระเจ้าจอมโยธา ในวันแห่งความโกรธอันเกรี้ยวกราดของพระองค์” (อสย 13:6-16)
ช่วงเวลาระหว่างพระธรรมเก่าเชื่อมต่อกับพระธรรมใหม่ ชาวยิวไม่เคยรู้จักคำว่า “เสรีภาพ” เลย  พวกเขาตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรแล้วอาณาจักรเล่า  ความหวังและความใฝ่ฝันถึง “วันของพระเจ้า” จึงถูกกระตุ้นให้ลุกโชนขึ้นมา  วรรณกรรมประเภท Apocalypses ที่เปิดเผยให้เห็นเหตุการณ์ในอนาคตโดยเฉพาะใน “วันของพระเจ้า” เกิดขึ้นมากมาย โดยอิงอยู่กับภาพเดิม ๆ ในพระธรรมเก่าเพียงแต่เพิ่มเติมรายละเอียดใหม่เข้าไปบางประการ
สิ่งสำคัญที่ต้องระลึกอยู่เสมอคือ วรรณกรรมเหล่านี้ไม่ใช่วิทยาศาสตร์หรือประวัติศาสตร์ แต่เป็นเพียงนิมิตและความใฝ่ฝันของชาวยิว  หาได้มุ่งหวังให้เป็นแผนที่หรือกำหนดการสำหรับเหตุการณ์ในอนาคตแต่ประการใดไม่
พระเยซูเจ้าทรงใช้ภาษาและภาพเหตุการณ์จากวรรณกรรมเหล่านี้ซึ่งชาวยิวคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว เพื่อบอกว่า “พระองค์จะเสด็จกลับมาอีกครั้งหนึ่ง” โดยที่ทั้งพระองค์เองและชาวยิวต่างรู้ดีว่าทั้งหมดล้วนเป็นเพียงนิมิตและความฝัน เพราะ “เรื่องวันและเวลานั้น ไม่มีใครรู้เลย ทั้งบรรดาทูตสวรรค์ และแม้แต่พระบุตร” (ข้อ 32)
ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจมาระโกบทที่ 13 ได้ดีขึ้นคือ พระวรสารบทนี้เป็นการรวบรวมคำพูด “เกี่ยวกับอนาคต” ที่พระเยซูเจ้าตรัสไว้ในโอกาสต่าง ๆ เอามาไว้ที่เดียวกัน ทำให้ความคิดหลายอย่างพัวพันกันจนเป็นเสมือนเรื่องเดียวกัน
อันที่จริงมาระโกบทที่ 13 ประกอบด้วยความคิดที่แตกต่างกันถึง 5 ประการด้วยกันคือ
1.    คำทำนายถึงความพินาศของกรุงเยรูซาเล็ม  ข้อ 1, 2, และ 14 – 20
2.    คำเตือนเรื่องการเบียดเบียนที่จะตามมา  ข้อ 9 – 13
3.    คำเตือนถึงอันตรายในวาระสุดท้าย  ข้อ 3 – 6 และ 21 – 22
4.    คำเตือนเรื่องการเสด็จกลับมาครั้งที่สองของพระองค์  ข้อ 24 – 27 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระวรสารในวันนี้
5.    คำเตือนถึงความจำเป็นในการเฝ้าระวัง  ข้อ 28 – 37 ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งของพระวรสารในวันนี้

แน่นอนว่าตอนแรกของพระวรสารวันนี้กล่าวถึง “การเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูเจ้า” ดังข้อความที่ว่า “เมื่อนั้นประชาชนทั้งหลายจะเห็นบุตรแห่งมนุษย์เสด็จมาในก้อนเมฆ ทรงพระอานุภาพและพระสิริรุ่งโรจน์ยิ่งใหญ่” (ข้อ 26)
เพียงแต่ภาพเดิม ๆ จากพระธรรมเก่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นใน “วันของพระเจ้า” ได้ถูกนำมาใช้เพื่อบ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในวันที่พระองค์จะ “เสด็จกลับมาครั้งที่สอง”  ตัวอย่างของภาพเหล่านี้คือ
1.    สงคราม  ก่อนวันของพระเจ้าจะมาถึง “พวกเขาจะวางแผนทำสงครามซึ่งกันและกัน เมืองกับเมือง บ้านกับบ้าน ประชาชนกับประชาชน อาณาจักรกับอาณาจักร” (เทียบ มก 13:7-8)
2.    ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวมืดมิด  เช่น “ดูเถิด วันของพระเจ้าจะมา....เพราะดวงดาวแห่งฟ้าสวรรค์และหมู่ดาวในนั้นจะไม่ทอแสงของมัน  ดวงอาทิตย์ก็จะมืดเมื่อเวลาขึ้นและดวงจันทร์จะไม่ส่องแสงของมัน” (อสย 13:9-10; 34:4; อมส 8:9; ยอล 2:10, 3:15; อสค 32:7, 8)
3.    ชาวยิวจะถูกรวบรวมจากทั้งสี่ทิศกลับสู่เยรูซาเล็มใหม่  เช่น “ในวันนั้น เขาจะเป่าเขาสัตว์ใหญ่ และบรรดาผู้กำลังพินาศอยู่ในแผ่นดินอัสซีเรีย และบรรดาผู้ถูกขับไล่ออกไปยังแผ่นดินอียิปต์ จะมานมัสการพระเจ้าบนภูเขาบริสุทธิ์ที่เยรูซาเล็ม” (อสย 27:13; 35:8-10; มคา 7:12; ศคย 10:6-11)
ขอย้ำอีกครั้งว่าภาพเหตุการณ์ที่ยกมาล้วนเป็นเพียงนิมิตและความฝันที่ชาวยิวรู้จักและคุ้นเคยมานานนับร้อยปี  พระเยซูเจ้าทรงนำภาพเหล่านี้มาใช้เพียงเพื่อบ่งบอกถึง “ความยิ่งใหญ่แห่งการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์” เท่านั้น
จึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ เลยที่เราจะต้องรู้ลึกในรายละเอียดเหล่านี้ !

ส่วนพระวรสารตอนที่สองแม้จะสืบเนื่องมาจากตอนแรกก็จริง แต่เป็นคนละเรื่องกัน หากไม่แยกแยะให้ชัดเจน อาจทำให้เข้าใจพระเยซูเจ้าผิดพลาดได้
บางคนถึงกับกล่าวหาพระองค์ว่าทำนายผิดที่ตรัสว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านว่า คนในชั่วอายุนี้จะไม่ล่วงพ้นไปก่อนที่เหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้น” (ข้อ 30)
เพราะจนบัดนี้เวลาได้ผ่านพ้นไปสองพันปีแล้ว ยังไม่เห็นพระองค์เสด็จกลับมาสักที และโลกใบนี้ก็ยังคงดำรงอยู่โดยไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นพิภพแต่อย่างใด
อันที่จริง พระเยซูเจ้าทรงเป็นฝ่ายถูก ส่วนผู้กล่าวหานั่นแหละเป็นฝ่ายผิด !
เพราะเมื่อพระองค์ตรัสถึงต้นมะเดื่อเทศว่า เมื่อมันแตกกิ่งอ่อนและผลิใบย่อมเป็นสัญญาณว่าฤดูร้อนใกล้เข้ามาแล้วฉันใด  เมื่อเหตุการณ์ที่กล่าวถึงข้างต้นดังเช่นสงคราม ดวงอาทิตย์มืดมิด ฯลฯ เกิดขึ้น ย่อมเป็นสัญญาณว่าเวลานั้นใกล้มาถึงแล้วฉันนั้น (ข้อ 28-29)
พร้อมกับฟันธงว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านว่า คนในชั่วอายุนี้จะไม่ล่วงพ้นไปก่อนที่เหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้น” นั้น
พระองค์ไม่ได้หมายถึงวันและเวลาแห่ง “การเสด็จมาครั้งที่สอง” หรือวัน “สิ้นพิภพ” แต่ประการใด เพราะวันเหล่านี้ “ไม่มีใครรู้เลย ทั้งบรรดาทูตสวรรค์ และแม้แต่พระบุตร นอกจากพระบิดาเพียงพระองค์เดียว” (ข้อ 32)
ขอย้ำว่า “ไม่มีใครรู้ แม้แต่พระองค์เอง”
จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่พระองค์จะตรัสว่า “คนในชั่วอายุนี้จะไม่ล่วงพ้นไปก่อนที่พระองค์จะเสด็จกลับมา”
แต่เรื่องที่พระองค์ทรงทำนายถึงคือ “ความพินาศของกรุงเยรูซาเล็ม” ชนิด “ไม่มีก้อนหินเหลือซ้อนกันอยู่เลย” (มก 13:2)
ซึ่งคำทำนายนี้เกิดขึ้นจริงและคนในชั่วอายุนั้นได้ประสบ เมื่อโรมส่งกองทัพมาปิดล้อมและทำลายกรุงเยรูซาเล็มจนราบเป็นหน้ากลองในปี ค.ศ. 70 อันเป็นเหตุให้ชาวยิวต้องกระจัดกระจายไปทั่วโลก และพึ่งกลับมารวมตัวกันสร้างประเทศอิสราเอลขึ้นมาใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านพ้นไปแล้วนี่เอง
อนึ่ง ในเมื่อพระเยซูเจ้าทรงปล่อยวางข้อสงสัยเรื่อง “วันและเวลาของการเสด็จมาครั้งที่สอง” ไว้ในอ้อมพระหัตถ์ของพระบิดาเจ้าแต่เพียงพระองค์เดียว (ข้อ 32)  ความพยายามใด ๆ ที่จะคิดคำนวณเพื่อหาวันและเวลาสิ้นพิภพจึงต้องถือว่าเป็นการข้ามหน้าข้ามตาพระองค์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่บังควรอย่างยิ่ง
ตรงกันข้าม ในเมื่อพระองค์ผู้ทรงเป็น “หนทาง ความจริง และชีวิต" (ยน 14:6) ได้ทรงยืนยันว่าจะเสด็จกลับมาอีกครั้งอย่างแน่นอน เพียงแต่ยกเรื่องวันและเวลาให้อยู่ในการตัดสินพระทัยของพระบิดาเจ้าเช่นนี้แล้ว….
สิ่งเดียวที่เราพึงกระทำอย่างยิ่งยวดคือ “เตรียมพร้อม”
เราต้องเตรียมพร้อมด้วยการทำหน้าที่แต่ละวันให้ดีที่สุด  เพื่อว่าเมื่อพระองค์เสด็จกลับมาอีกครั้ง เราจะไม่ต้องหวาดกลัวหรือตื่นตระหนก แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยความชื่นชมยินดี
อย่าลืมว่า “ฟ้าดินจะสูญสิ้นไป แต่วาจาของพระองค์จะไม่สูญสิ้นไปเลย” (ข้อ 31)

บัดนี้ ชะตากรรมของเราอยู่ในกำมือของเราแล้ว !!!