ข่าวดี มาระโก 7:1-8,14-15,21-23
1)ชาวฟาริสีและธรรมาจารย์บางคนจากกรุงเยรูซาเล็มมาเฝ้าพระองค์พร้อมกัน (2)เขาสังเกตว่าศิษย์บางคนของพระองค์กินอาหารด้วยมือที่ไม่สะอาด คือไม่ได้ล้างมือก่อน (3)เพราะชาวฟาริสีและชาวยิวโดยทั่วไปย่อมถือขนบธรรมเนียมของบรรพบุรุษ เขาไม่กินอาหารโดยมิได้ล้างมือตามพิธีก่อน (4)เมื่อกลับจากตลาด เขาจะไม่กินอาหารเว้นแต่จะได้ทำพิธีชำระตัวก่อนเขายังถือขนบธรรมเนียมอื่น ๆ อีกมาก เช่น การล้างถ้วย จานชามและภาชนะทองเหลือง (5)ชาวฟาริสีและธรรมาจารย์จึงทูลถามพระองค์ว่า “ทำไมศิษย์ของท่านไม่ปฏิบัติตามขนมธรรมเนียมของบรรพบุรุษ และทำไมเขาจึงกินอาหารด้วยมือที่ไม่สะอาดเล่า” (6)พระองค์ตรัสตอบว่า “ประกาศกอิสยาห์ได้พูดอย่างถูกต้องถึงท่าน คนหน้าซื่อใจคด ดังที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า
ประชาชนเหล่านี้ให้เกียรติเราแต่ปาก
แต่ใจของเขาอยู่ห่างไกลจากเรา
(7)เขานมัสการเราอย่างไร้ความหมาย
เขาสั่งสอนบัญญัติของมนุษย์เหมือนกับเป็นสัจธรรม
(8)“ท่านทั้งหลายละเลยบทบัญญัติของพระเจ้ากลับไปถือขนบธรรมเนียมของมนุษย์” (14)พระองค์ทรงเรียกประชาชนเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง ตรัสว่า “ทุกคนจงฟังและเข้าใจเถิด (15)ไม่มีสิ่งใดเลยจากภายนอกของมนุษย์ทำให้เขามีมลทินได้ แต่สิ่งที่ออกมาจากภายในของมนุษย์นั้นแหละทำให้เขามีมลทิน (21)จากภายในคือจากใจมนุษย์นั้นเป็นที่มาของความคิดชั่วร้าย การประพฤติผิดทางเพศ การลักขโมย การฆ่าคน (22)การมีชู้ ความโลภ การทำร้าย การฉ้อโกง การสำส่อน ความอิจฉา การใส่ร้าย ความหยิ่งยโส ความโง่เขลา (23)สิ่งชั่วร้ายทั้งหมดนี้ออกมาจากภายใน และทำให้มนุษย์มีมลทิน”
***************************
พระวรสารวันนี้แสดงให้เห็นเงื่อนปมของ “ความขัดแย้ง” ระหว่างพระเยซูเจ้ากับบรรดาฟาริสีและธรรมาจารย์ ซึ่งล้วนเป็นผู้นำที่เคร่งครัดศาสนาได้อย่างชัดเจน
พวกเขาตั้งคำถามพระองค์ว่า “ทำไมศิษย์ของท่านไม่ปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมของบรรพบุรุษ” (ข้อ 5)
ในเมื่อประเด็นของพวกเขาคือ “การไม่ปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมของบรรพบุรุษ” เราจึงควรศึกษาว่า “ขนบธรรมเนียมของบรรพบุรุษ” คืออะไร และอะไรคือแรงจูงใจที่ทำให้พวกเขาปฏิบัติตาม “ขนบธรรมเนียมของบรรพบุรุษ” อย่างเคร่งครัด
แรกเริ่มเดิมทีเมื่อพูดถึง “กฎหมาย” ชาวยิวหมายถึง 2 สิ่งคือ บัญญัติสิบประการ และหนังสือห้าเล่มแรกของพระธรรมเก่าที่เรียกกันว่า “ปัญจบรรพ”
จริงอยู่ที่ในหนังสือปัญจบรรพมีกำหนดกฎเกณฑ์และคำแนะนำที่ลงในรายละเอียดแบบหยุมหยิมอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรมจะเป็นเพียง “หลักการ” กว้าง ๆ ที่แต่ละคนต้องตีความและประยุกต์ใช้กับชีวิตของตนเอง
เป็นเวลานานที่ชาวยิวพอใจดำเนินชีวิตตามหลักการศีลธรรมแบบกว้าง ๆ นี้ จวบจนประมาณสี่ห้าศตวรรษก่อนพระเยซูเจ้า ได้มีผู้เชี่ยวชาญกฎหมายกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกตัวเองว่า “ธรรมาจารย์” เห็นว่าหลักการเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการนิยามความหมายให้ชัดเจนและต้องขยายความให้ครอบคลุมทุกแง่ทุกมุมของชีวิต
ผลลัพธ์ที่ได้คือระเบียบข้อบังคับนับพันนับหมื่นข้อที่สืบทอดต่อ ๆ กันมาด้วยปากเปล่า (Oral Law) กลายเป็นสิ่งที่พระวรสารวันนี้เรียกว่า “ขนบธรรมเนียมของบรรพบุรุษ” ซึ่งต่อมาราวศตวรรษที่สามจึงได้รับการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในหนังสือที่เรียกว่า Mishnah
“ขนบธรรมเนียมของบรรพบุรุษ” ที่พวกเขายกมาเป็นประเด็นโต้เถียงกับพระองค์ในวันนี้คือ “การล้างมือ”
ชาวยิวต้องล้างมือก่อนและระหว่างกินอาหารโดยมีวัตถุประสงค์หลักไม่ใช่เพื่อให้มือสะอาดหรือเพื่อสุขอานามัยที่ดี แต่เพราะ “ขนบธรรมเนียมของบรรพบุรุษ” กำหนดให้พวกเขาต้องล้างมือ “ตามพิธี” ที่กำหนดไว้อย่างละเอียดยิบและเคร่งครัด
น้ำสำหรับทำ “พิธีล้างมือ” ต้องสะอาดตามระเบียบ บรรจุในไหหินขนาดใหญ่ที่เตรียมไว้เป็นพิเศษ มีฝาปิดมิดชิด ปราศจากสิ่งอื่นเจือปน และสงวนไว้สำหรับพิธีล้างมือเท่านั้น จะใช้เพื่อการอื่นมิได้
พิธีล้างมือเริ่มด้วยการยกมือให้นิ้วชูขึ้นด้านบน แล้วใช้น้ำปริมาณเท่ากับความจุของไข่ไก่หนึ่งฟองครึ่งรดจากปลายนิ้วให้ไหลลงมาจนถึงข้อมือเป็นอย่างน้อย ขณะที่มือทั้งสองยังเปียกอยู่ ให้ทำความสะอาดมือแต่ละข้างโดยใช้กำปั้นของมือข้างหนึ่งถูกับฝ่ามือของอีกข้างหนึ่งไปมาสลับกันเพื่อให้สิ่งสกปรกจำพวกทราย กรวด และปูนขาวหลุดออกไป ต่อจากนั้นให้ยกมือโดยนิ้วชี้ลงด้านล่าง แล้วใช้น้ำเท่าเดิมรดจากข้อมือให้ไหลลงปลายนิ้ว เป็นอันเสร็จพิธีและถือว่ามือสะอาดแล้วตามที่ศาสนากำหนด
ในสายตาของชาวยิว ผู้ที่ละเลยไม่ทำพิธีล้างมือก่อนกินอาหารถือว่าเป็นคนไม่สะอาดต่อหน้าพระเจ้า จะถูกปีศาจโจมตี จะประสบความยากจน และต้องพบกับความพินาศในที่สุด ตามประวัติศาสตร์มีรับบีคนหนึ่งถูกฝังนอกเมือง (เทียบได้กับนอกป่าช้าในปัจจุบัน) เพียงเพราะไม่ได้ทำพิธีล้างมือก่อนกินอาหารเพียงครั้งเดียว และยังมีรับบีอีกคนหนึ่งเกือบอดน้ำตายในคุกของโรมันเพราะใช้น้ำสำหรับดื่มมาทำพิธีล้างมือ
เขายอมหิวน้ำตายดีกว่าละเมิดกฎเรื่องความสะอาด !
กฎเกณฑ์และจารีตพิธีเหล่านี้คือ “ศาสนา” ของพวกฟาริสีและธรรมาจารย์ พวกเขาถือว่า “นี่คือการรับใช้พระเจ้า”
นอกจากนี้ในข้อ 4 ยังพูดถึง “ขนบธรรมเนียมอื่น ๆ อีกมาก” ซึ่งเราสามารถหาตัวอย่างอ่านได้จากหนังสือเลวีนิติบทที่ 11-15 และหนังสือกันดารวิถีบทที่ 19 ซึ่งว่าด้วย “ข้อกำหนดเกี่ยวกับการมีมลทินและไม่มีมลทิน” เช่น
สัตว์ที่เคี้ยวเอื้องแต่ไม่มีสองกีบแยกกัน เช่นอูฐและกระต่ายป่า หรือสัตว์ที่มีสองกีบแยกกันแต่ไม่เคี้ยวเอื้อง เช่นหมู ล้วนมีมลทิน เพราะฉะนั้นห้ามกินและห้ามสัมผัสซากของมันเด็ดขาด (ลนต 11:4-8)
สตรีหลังคลอดบุตร คนโรคเรื้อน คนที่สัมผัสศพ คนต่างศาสนา บุคคลเหล่านี้ถือว่ามีมลทิน และเมื่อพวกเขาสัมผัสสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมมีมลทินไปด้วย
ชาวยิวที่เคร่งครัด “เมื่อกลับจากตลาด เขาจะไม่กินอาหารเว้นแต่จะได้ทำพิธีชำระตัวก่อน” (ข้อ 4) ก็เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งมีมลทินทั้งหลายที่อาจติดตัวมาจากตลาดได้ถูกกำจัดให้หมดสิ้นไปแล้ว
ตอนปลายสุดของข้อ 4 กล่าวถึง “การล้างถ้วย จานชาม และภาชนะทองเหลือง” เพราะภาชนะเหล่านี้มีมลทินได้ง่ายมากหากสัมผัสกับคนหรืออาหารที่มีมลทิน จึงจำเป็นต้องล้างให้ถูกต้อง “ตามพิธี” อย่างเคร่งครัด
ในหนังสือ Mishnah ยังระบุกฎเกณฑ์หยุมหยิมเกี่ยวกับภาชนะต่าง ๆ ไว้อีกมากมายจนน่าปวดหัว ตัวอย่างเช่น ภาชนะดินเผาที่มีรูถือว่าสัมผัสมลทินได้จากภายในเท่านั้น นั่นคือ หากคนหรืออาหารที่มีมลทินสัมผัสภายนอกภาชนะถือว่าไม่เป็นไร แต่ถ้าสัมผัสภายในภาชนะให้ถือว่ามีมลทิน ภาชนะที่มีมลทินต้องทุบให้แตกเป็นเสี่ยง ๆ แต่ละเสี่ยงจะมีขนาดใหญ่จนบรรจุน้ำมันมากพอเจิมนิ้วเท้าหนึ่งนิ้วไม่ได้
จานอาหารที่มีขอบอาจมีมลทินได้หากสัมผัสกับสิ่งที่มีมลทิน ส่วนจานอาหารที่ไม่มีขอบไม่มีทางมีมลทินได้เลยไม่ว่าจะสัมผัสกับอะไรก็ตาม
ภาชนะที่ทำด้วยหนังสัตว์ กระดูก หรือแก้ว หากมีลักษณะแบนถือว่าไม่มีทางมีมลทิน แต่ถ้ามีลักษณะกลวงย่อมมีมลทินได้จากการสัมผัสสิ่งมีมลทินทั้งจากภายในและภายนอก
ไม้ที่ติดกับภาชนะโลหะอาจมีมลทินได้ แต่โลหะที่ติดกับภาชนะไม้ไม่มีทางมีมลทิน
ฯลฯ อีกมากกกกก...
จารีตพิธี กฎเกณฑ์ และระเบียบมากมายเหลือคณานับเหล่านี้คือ “แก่นแท้ของศาสนา” สำหรับบรรดาธรรมาจารย์และฟารีสี ผู้ใดละเมิดถือว่าทำบาป ผู้ใดปฏิบัติตามถือว่าเป็น “คนดี” และเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงพอพระทัย
นี่คือจุดแตกหักระหว่างพระเยซูเจ้ากับพวกฟาริสีและธรรมาจารย์ สำหรับพระองค์ “แก่นแท้ของศาสนาคือการรักพระเจ้า และรักเพื่อนมนุษย์”
ด้วยมุมมองที่แตกต่างกันเช่นนี้ พระองค์จึงตอบคำถามของพวกเขาโดยอ้างคำพูดของประกาศกอิสยาห์ที่กล่าวตำหนิประชาชนในสมัยนั้นที่นับถือพระเจ้าแต่ปาก ส่วนหัวใจนั้นอยู่ห่างไกลจากพระองค์ยิ่งนัก (อสย 29:13)
พูดง่าย ๆ คือพระองค์ทรงตำหนิพวกเขาว่า “ปากกับใจไม่ตรงกัน” หรือ “คนหน้าซื่อใจคด” (ข้อ 6)
คนหน้าซื่อใจคด มาจากภาษากรีก hupokrites (ฮูปอครีแตส) เดิมหมายถึง “ผู้ตอบ” แล้วพัฒนาเป็น “ผู้ตอบเป็นชุด เป็นบทสนทนา” ซึ่งได้แก่ “นักแสดง” และท้ายที่สุดหมายถึง "ผู้ที่ใช้ชีวิตเหมือนนักแสดงโดยไม่มีความจริงใจหลงเหลืออยู่เลย”
ผู้ใดก็ตามที่เห็นศาสนาเป็นเรื่องของการถือตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อกำหนด และจารีตพิธีต่าง ๆ ที่สุดแล้วจะลงเอยแบบเดียวกันคือเป็น “คนหน้าซื่อใจคด”
เหตุผลคือ เขาเชื่อว่าตนเองเป็น “คนดี” เพราะได้ “ปฏิบัติตามกฎระเบียบต่าง ๆ อย่างครบถ้วนเคร่งครัด” แล้ว จึงไม่สนใจว่าความคิดและจิตใจของตนจะเป็นอย่างไร !
ตัวอย่างเช่น คนคนหนึ่งอาจจะเกลียดชังเพื่อนบ้านแบบเข้ากระดูกดำ มีจิตใจอิจฉาริษยาและเย่อหยิ่งจองหองอวดดี แต่ตราบใดที่เขาถือกฎเกณฑ์เรื่องการล้างมือและระมัดระวังตัวไม่ให้มีมลทิน ตราบนั้นยังถือว่าเขาเป็น “คนดี” และได้รับใช้พระเจ้าแล้ว
จริงอยู่เขาอาจรับใช้พระองค์ภายนอกแบบนักแสดง แต่ภายในจิตใจนั้นเขาไม่ได้เชื่อฟังพระองค์เลย
นี่คือ “คนหน้าซื่อใจคด” !
ปกติชาวโมฮัมเมดานที่เคร่งครัดจะสวดภาวนาตามกำหนดเวลา พวกเขามักพกเสื่อติดตัวไปด้วยเสมอเพื่อใช้ปูพื้นและคุกเข่าสวดภาวนาเมื่อถึงกำหนด มีเรื่องเล่าว่าชาวโมฮัมเมดานคนหนึ่งกำลังถือมีดวิ่งไล่ฆ่าชายคนหนึ่ง บังเอิญเสียงระฆังเตือนให้สวดภาวนาดังแว่วมา เขาหยุดวิ่งทันที กางเสื่อ คุกเข่า และสวดภาวนาอย่างเร่งรีบ เสร็จแล้วจึงออกวิ่งตามฆ่าชายคนนั้นต่อไปอย่างไม่ลดละ
จะเห็นว่าการสวดภาวนาของเขาเป็นเพียงพิธีกรรมสลับฉากช่วงพักครึ่งจากการไล่ล่าฆ่าคนเท่านั้น
นี่คืออันตรายใหญ่หลวงที่สุดของการนับถือศาสนาเพียงภายนอก หรือการถือว่าความดีคือการปฏิบัติตามกฎหมายของพระศาสนจักรทุกมาตราและทุกตัวอักษร !
เพราะการไปวัดวันอาทิตย์ การอ่านพระคัมภีร์ การให้ทาน รวมถึงการสวดภาวนาหาได้ทำให้ผู้หนึ่งผู้ใดเป็น “คนดี” ไม่ แต่ท่าทีของหัวใจที่เขามีต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์ต่างหากที่ทำให้เขาเป็นคนดีหรือไม่ดี ?!
จะมีประโยชน์อะไรหากไปวัดหรือสวดภาวนาโดยไม่รักพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ ?
อีกประการหนึ่ง พระเยซูเจ้าทรงตำหนิพวกฟาริสีและธรรมาจารย์ว่า “ละเลยบทบัญญัติของพระเจ้า และกลับไปถือขนบธรรมเนียมของมนุษย์” (ข้อ 8)
ความหมายคือแทนที่จะฟังพระเจ้า พวกเขากลับสนใจฟังคำโต้แย้ง ข้อถกเถียง และเหตุผลตามประสามนุษย์เพื่อตีความและคิดค้นระเบียบกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ ขึ้นมา
แต่ศาสนาที่แท้จริงอยู่ที่การเชื่อฟังพระเจ้า หาใช่เป็นผลผลิตจากสติปัญญาของมนุษย์แต่ประการใดไม่ !!!
ลำพังเท่าที่กล่าวมานี้ คำสอนของพระเยซูเจ้าก็ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงจนพวกฟาริสีและธรรมาจารย์ยอมรับไม่ได้แล้ว
แต่เท่านี้ยังไม่พอ พระองค์ยังทำให้พวกเขาตกตะลึงเพิ่มขึ้นไปอีกเมื่อทรงตรัสว่า “ไม่มีสิ่งใดเลยจากภายนอกของมนุษย์ทำให้เขามีมลทินได้ แต่สิ่งที่ออกมาจากภายในของมนุษย์นั้นแหละทำให้เขามีมลทิน” (ข้อ 15)
จะมีชาวยิวคนใดยอมรับคำสอนใหม่นี้ได้ เพราะในสมัยของมัคคาบีเคยมีคนยอมตายแต่ไม่ยอมกินของมีมลทินมาแล้ว !
เรื่องมีอยู่ว่ากษัตริย์ซีเรียพระองค์หนึ่งนามว่า อันติโอคุส เอปีฟาแนส (Antiochus Epiphanes) ต้องการทำลายศาสนายิวแบบขุดรากถอนโคนจึงบังคับให้ชาวยิวกินหมูซึ่งเป็นสัตว์มีมลทิน ชาวยิวหลายร้อยคนยอมถูกประหารชีวิต แต่ไม่ยอมละเมิดบัญญัติทางศาสนาของตน (1 มคบ 1:62-63)
ด้วยคำพูดเพียงประโยคเดียวคือ “ไม่มีสิ่งใดเลยจากภายนอกของมนุษย์ทำให้เขามีมลทินได้” พระองค์ทรงลบล้างกฎเกณฑ์ที่ชาวยิวยึดถือโดยเอาชีวิตเป็นเดิมพันมาแล้ว !
แม้พวกอัครสาวกเองก็ไม่เข้าใจ (มก 7:17)
จนพระองค์ต้องอธิบายเชิงตำหนิพวกเขาว่า “ท่านก็ไม่มีปัญญาด้วยหรือ ท่านไม่เข้าใจหรือว่าสิ่งต่าง ๆ จากภายนอกที่เข้าไปในมนุษย์นั้นทำให้เขามีมลทินไม่ได้ เพราะมันไม่ได้เข้าไปในใจ แต่ลงไปในท้อง แล้วออกไปจากร่างกาย” (มก 7:18-19)
นั่นคือ “อาหารทุกชนิดไม่เป็นมลทิน” (มก 7:19) เพราะเมื่อกินเข้าไปแล้ว ร่างกายจะย่อยและขับถ่ายออกไปในที่สุด
ประเด็นของพระองค์คือ ไม่มีอาหารหรือสิ่งใดในโลกนี้ที่ “บริสุทธิ์” หรือ “มีมลทิน” โดยการบัญญัติของศาสนา
พูดง่าย ๆ คือ ศาสนาจะมากำหนดว่า หมู เห็ด เป็ด ไก่ ปลาไหล ปลาร้า ละมุด มังคุด พุทรา โต๊ะ เตียง จาน ชาม ตะเกียบ ปืนผา หน้าไม้ รวมถึงไม้จิ้มฟันยันเรือรบ “บริสุทธิ์” หรือ “มีมลทิน” ไม่ได้
มีแต่ “คน” เท่านั้นแหละที่สามารถ “มีมลทิน” ได้ !
และสิ่งที่ทำให้คนมีมลทินได้ก็คือ “กิจการ” ซึ่งเป็น “ผลผลิตจากจิตใจ” ของเขาแต่ละคนนั่นเอง !!!
พระองค์จึงตรัสว่า “สิ่งที่ออกมาจากภายในของมนุษย์นั้นแหละทำให้เขามีมลทิน” พร้อมกับทรงยกตัวอย่างกิจการชั่วร้ายที่ออกมาจากภายในและทำให้มนุษย์มีมลทินด้วย
กิจการชั่วร้ายทั้งหลายจะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มต้นมาจากความคิดและการตัดสินใจเลือกสิ่งที่ชั่วร้ายเสียก่อน พระองค์จึงยกเอา “ความคิดชั่วร้าย” มาเป็นสิ่งแรกที่ทำให้มนุษย์มีมลทิน
มลทินอื่นคือ การประพฤติผิดทางเพศ การมีชู้ และการฆ่าคน ล้วนมีความหมายชัดเจนในตัวอยู่แล้ว
“การลักขโมย” ในภาษากรีกมี 2 คำคือ kleptēs (เคลพเตส) ซึ่งหมายถึงขโมยหรือยักยอก ดังเช่นยูดาสที่ยอห์นเล่าว่า “เขาเป็นขโมย เขาเป็นผู้ถือถุงเงินและยักยอกเงินในถุงนั้น” (ยน 12:6) อีกคำหนึ่งคือ lēstēs (เลสเตส) อันหมายถึงโจร เหมือนนักโทษประหารบารับบัสที่ได้รับการปล่อยตัวแทนพระเยซูเจ้า (ยน 18:40) เพราะฉะนั้นมลทินประการนี้จึงหมายรวมทั้งการเป็นโจร ขโมย และยักยอกด้วย
“ความโลภ” ตามรากศัพท์ภาษากรีกหมายถึง “การมีมากขึ้น” มีผู้ให้คำจำกัดความของความโลภไว้หลายอย่าง เช่น “ความอยากมีอันอัปรีย์”, “จิตใจที่ยึดฉวยในสิ่งที่ไม่ควรจะได้มา” ฯลฯ อนึ่ง ความอยากมีนี้มิได้จำกัดเฉพาะเงินทองหรือสิ่งของเท่านั้น แต่หมายรวมถึงความอยากมีอำนาจ และอยากมีราคะตัณหาทางเนื้อหนังอย่างไม่รู้จักเพียงพออีกด้วย
“การทำร้าย” น่าสังเกตว่าภาษากรีกไม่ได้ใช้คำ kakos (คาคอส) ซึ่งหมายถึงกิจการร้ายที่จำกัดวงอยู่ภายในตัวของมันเอง แต่ใช้คำ ponēros (ปอเนรอส) ซึ่งหมายถึงกิจการร้ายที่ก่อให้เกิดผลร้ายแก่ผู้อื่นจริง ๆ คนประเภทนี้ชอบสร้างปัญหาให้กับเพื่อนบ้าน ชอบหากางเขนให้ผู้อื่นแบก อารมณ์ร้าย และชอบชักนำคนอื่นให้หลงผิด
เรียกว่าเขาไม่เพียงทำให้ตัวเองชั่วร้ายเท่านั้น แต่ยังทำให้ผู้อื่นชั่วร้ายตามไปด้วย จึงต้องถือว่าเขามีพฤติกรรมเหมือนกับ “ซาตาน” ผู้ได้รับสมญานามเป็นภาษากรีกว่า Ponēros (ปอเนรอส) และภาษาอังกฤษว่า “the Evil One” จริง ๆ
“การฉ้อโกง” หมายถึงการใช้เล่ห์เหลี่ยมด้วยเจตนาจะหลอกลวงผู้อื่น ตัวอย่างเช่นการใช้กับดักหนูเพื่อหลอกและจับหนู หรือการที่ชาวกรีกยึดเมืองทรอยได้โดยใช้ “ม้าไม้” เป็นต้น
“การสำส่อน” ตรงกับภาษากรีก aselgeia (อาเสลเกิยอา) หมายถึงสภาพจิตใจที่ขัดขืนระเบียบวินัยทั้งมวล เป็นจิตใจที่ขาดการยับยั้ง กล้าทำทุกสิ่งที่อำเภอใจและตัณหาจะพาไป
ลักษณะของคนสำส่อนคือ ไร้ยางอาย สูญสิ้นซึ่งเกียรติยศและศักดิ์ศรี สามารถทำผิดได้โดยไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจ และไม่ลังเลใจเลยที่จะทำในสิ่งที่ไม่มีใครคาดฝัน ตัวอย่างที่พบเห็นได้ในพระคัมภีร์คือพระนางเยเซเบลซึ่งกล้าสร้างพระแท่นถวายพระอื่นในกรุงเยรูซาเล็ม อันเป็นนครศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า
“อิจฉา” ตรงกับ Envy ในภาษาอังกฤษซึ่งมาจากคำ Evil (ชั่ว) รวมกับ Eye (ตา) คนอิจฉาจึงหมายถึงคนที่มี “ตาชั่ว” นั่นคือตาที่มองความสำเร็จและความสุขของผู้อื่นด้วยเจตนาร้ายราวกับจะกินเลือดกินเนื้อ
“ใส่ร้าย” ตรงกับภาษากรีก blasphēmia (บลาสเฟมีอา) เมื่อใช้กับมนุษย์หมายถึงการใส่ร้าย เมื่อใช้กับพระเจ้าหมายถึงการดูหมิ่น มลทินประการนี้จึงหมายถึงการดูหมิ่นเหยียดหยามทั้งพระเจ้าและมนุษย์
“ความหยิ่งยโส” ความหมายตามภาษากรีก huperēphania (ฮูเพเรฟานีอา) คือ “แสดงตัวว่าเหนือกว่า” เป็นท่าทีของคนที่ดูหมิ่นเหยียดหยามทุกคนยกเว้นตัวเอง ท่าทีนี้อาจอยู่ภายในใจโดยไม่แสดงออกก็ได้ เช่นคนที่แลดูสุภาพอ่อนน้อม แต่ภายในจิตใจนั้นเต็มไปด้วยการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น และผลของการเปรียบเทียบคือตัวเองดีกว่าคนอื่นเสมอ
ความหยิ่งยโสนี้ไม่เพียงทำให้เราคิดว่าดีกว่าคนอื่นเท่านั้น แต่ยังก้าวล่วงไปถึงขอบเขตของพระเจ้าอีกด้วย คนหยิ่งยโสมักตั้งตัวเองเป็นปรปักษ์กับพระเจ้าและละเมิดสิทธิของพระองค์ ความหยิ่งยโสจึงเป็น “สุดยอดแห่งความชั่วร้าย”
ด้วยเหตุนี้ “พระเจ้าทรงต่อต้านคนเย่อหยิ่ง” (ยก 4:6)
“ความโง่เขลา” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความด้อยสติปัญญา แต่หมายถึงความโง่เขลาทางด้านศีลธรรม หรือพูดง่าย ๆ คือแกล้งโง่ แกล้งเซ่อ แกล้งไม่รู้ จะได้ทำชั่วหรืองดเว้นไม่ทำดีได้โดยสะดวกใจ
ฟังแล้วหลายคนอาจตกใจกลัวจนตัวสั่น หรือบางคนอาจท้อแท้สิ้นหวังที่จะก้าวหน้าต่อไปในหนทางของพระเจ้า
แต่นี่ไม่ใช่คำสั่งเบ็ดเสร็จเด็ดขาดให้งดเว้นจากความชั่วร้ายที่กล่าวมา
พระองค์เพียงเรียกร้องให้เรา “สำรวจจิตใจและมโนธรรมของเราอย่างจริงจังตรงไปตรงมาว่ารักพระเจ้าและรักเพื่อนมนุษย์เหนือสิ่งอื่นใดหรือไม่” เท่านั้น !!!