แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

chaiya1

อาทิตย์ที่ 12 เทศกาลธรรมดา


ข่าวดี    มัทธิว 10:26-33
(26) “อย่ากลัวมนุษย์เลย ไม่มีสิ่งใดที่ปิดบังไว้ จะไม่ถูกเปิดเผย ไม่มีสิ่งใดที่ซ่อนเร้น จะไม่มีใครรู้ (27) สิ่งที่เราบอกท่านในที่มืด ท่านจงกล่าวออกมาในที่สว่าง สิ่งที่ท่านได้ยินกระซิบที่หู จงประกาศบนดาดฟ้าหลังคาเรือน” (28) “อย่ากลัวผู้ที่ฆ่าได้แต่กาย แต่ไม่อาจฆ่าวิญญาณได้ จงกลัวผู้ที่ทำลายทั้งกายและวิญญาณให้พินาศไปในนรก (29) นกกระจอกสองตัว เขาขายกันเพียงหนึ่งบาทมิใช่หรือ ถึงกระนั้น ก็ไม่มีนกสักตัวเดียวที่ตกถึงพื้นดินโดยที่พระบิดาของท่านไม่ทรงเห็นชอบ (30) ผมทุกเส้นบนศีรษะของท่านถูกนับไว้หมดแล้ว (31) เพราะฉะนั้น อย่ากลัวเลย ท่านมีค่ามากกว่านกกระจอกจำนวนมาก” (32) “ทุกคนที่ยอมรับเราต่อหน้ามนุษย์ เราจะยอมรับผู้นั้นเฉพาะพระพักตร์พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ (33) และผู้ที่ไม่ยอมรับเราต่อหน้ามนุษย์ เราก็จะไม่รับผู้นั้นเฉพาะพระพักตร์พระบิดาของเรา ผู้สถิตในสวรรค์ด้วย”

***********************

อย่ากลัว
พระวรสารวันนี้เป็นคำสั่งสอนของพระเยซูเจ้าสำหรับบรรดาอัครสาวก ซึ่งพระองค์ทรงเลือกสรรไว้เพื่อส่งออกไปประกาศข่าวดี
ในการประกาศข่าวดี เรา “อย่ากลัว” เพราะว่า
1.    ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย (ข้อ 26-27)
“ไม่มีสิ่งใดที่ปิดบังไว้ จะไม่ถูกเปิดเผย ไม่มีสิ่งใดที่ซ่อนเร้น จะไม่มีใครรู้” นี่คือสิ่งที่พระองค์ทรงยืนยัน และความหมายก็ชัดเจนนั่นคือ “ความจริงจะมีชัย”
และประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าคำพูดของพระองค์เป็นความจริงเพียงใด  มีคริสตชนจำนวนมากที่ได้ทนทุกข์ เสียสละ หรือแม้แต่ตายเพื่อยืนยันความเชื่อในสถานที่ปกปิดเร้นลับ  แต่ถึงที่สุดแล้ว “ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย”  ทุกวันนี้เรารู้ว่าใครคือผู้กดขี่ข่มเหง ใครคือวีรบุรุษ และต่างคนต่างได้รับรางวัลตอบแทนตามการกระทำของตนแล้ว
เมื่อทำงานให้พระเยซูเจ้า เราจึงไม่ต้องเกรงกลัวว่าจะมีคนเข้าใจเจตนาผิด หรือไม่ต้องท้อใจเมื่อถูกใส่ร้ายว่าสอนผิดบิดเบือนข้อความเชื่อ เป็นต้น
เพราะความจริงจะมีชัย !

นอกจากไม่ต้องกลัวแล้ว พระองค์ยังกำชับอีกว่า “สิ่งที่เราบอกท่านในที่มืด ท่านจงกล่าวออกมาในที่สว่าง สิ่งที่ท่านได้ยินกระซิบที่หู จงประกาศบนดาดฟ้าหลังคาเรือน”
ความหมายง่าย ๆ คือ เราต้องประกาศข่าวดีที่ได้รับมาอย่างกล้าหาญ  และเพื่อจะกระทำดังกล่าวได้ เราจำเป็นต้อง
1.1    ฟัง  เราต้องรู้จักปลีกตัวจากความวุ่นวายในชีวิตประจำวัน เพื่อจะได้มีเวลาส่วนตัวอยู่กับพระเยซูเจ้า จะได้ฟังเสียงพระองค์กระซิบที่หูของเรา หาไม่แล้วเราจะไม่มีความจริงใดไปประกาศแก่ผู้อื่น
1.2    พูด  เราต้องพูดความจริงที่ได้รับมาจากพระองค์ แม้ว่าคำพูดนั้นจะทำให้ผู้อื่นเกลียดชังเรา หรือบางครั้งอาจถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตของเราก็ตาม
เราไม่ต้องกลัว เพราะเรามั่นใจตามที่พระองค์ทรงสอนสั่งเราว่า “ความจริงจะมีชัย”  การพิพากษาตัดสินของพระเจ้าจะแก้ไขการตัดสินที่ผิดพลาดทั้งมวลของมนุษย์
2.    มนุษย์ฆ่าได้แต่กาย (ข้อ 28)
เหตุผลของพระเยซูเจ้าคือ โทษสูงสุดเท่าที่มนุษย์สามารถหยิบยื่นให้แก่เราได้คือความตายฝ่ายกายเท่านั้น  ซึ่งเทียบกันไม่ได้เลยกับความตายชั่วนิรันดรฝ่ายวิญญาณซึ่งพระเจ้าทรงเตรียมไว้สำหรับผู้ที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อพระองค์
เพราะฉะนั้น “จงกลัวผู้ที่ทำลายทั้งกายและวิญญาณให้พินาศไปในนรก” นั่นคือจง “เคารพยำเกรงพระเจ้า” มากกว่า “กลัวมนุษย์”
มีบางคนเข้าใจคำสอนของพระเยซูเจ้านี้อย่างผิด ๆ เลยดำเนินชีวิตแบบที่เต็มไปด้วย “ความกลัวอันศักดิ์สิทธิ์”  นั่นคือ พวกเขาทำความดีและละเว้นความชั่ว ไม่ใช่เพราะรักพระเจ้าหรือรักเพื่อนมนุษย์ แต่เพราะกลัวบาปและกลัวตกนรก
ความคิดที่ถูกต้องคือ พระเจ้าเป็นทั้งองค์ความรักและความศักดิ์สิทธิ์  เราจึงต้องตอบแทนความรักด้วยความรัก นั่นคือทำทุกสิ่งเพราะรัก  และในเวลาเดียวกัน เราต้องตอบแทนความศักดิ์สิทธิ์ด้วยความเคารพยำเกรง คือเกรงว่าจะทำให้พระองค์เสียพระทัย ไม่ใช่เกรงว่าจะถูกพระองค์ลงโทษ
และจากพระวาจานี้เอง พระองค์ต้องการบอกความจริงแก่เราอีกประการหนึ่งว่า “ยังมีบางสิ่งบางอย่างที่น่ากลัวมากกว่าความตาย” และหนึ่งในนั้นก็คือ “ความไม่ซื่อสัตย์”
ในยามสงคราม มีบางคนรักษาชีวิตของตนไว้โดยการทรยศประเทศชาติหรือผู้ร่วมงานของตน  จริงอยู่เขาอาจรอดชีวิต แต่เขาจะสู้หน้าตัวเอง สู้หน้ามนุษย์ หรือสู้หน้าพระเจ้าได้อย่างไรกัน
หรือคนที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อครอบครัวหรือกระแสเรียกของตนเองย่อมตระหนักดีว่า การมี “ชีวิต” แต่ไม่มี “ชีวา” นั้นเป็นอย่างไร ?
3.    พระเจ้าทรงดูแลเอาพระทัยใส่  (ข้อ 31)
มัทธิวกล่าวว่า “นกกระจอกสองตัว เขาขายกันเพียงหนึ่งบาทมิใช่หรือ” (มธ 10:29) ส่วนลูกาเล่าว่า “นกกระจอกห้าตัวราคาขายสองบาทมิใช่หรือ” (ลก 12:6)
ไม่แปลกที่ซื้อนกกระจอกสองบาทแล้วคนขายจะแถมให้อีกหนึ่งตัว  แต่สำหรับชาวยิว นกตัวที่แถมฟรีนั้นพวกเขาถือว่าไม่มีราคาและไร้ค่า
กระนั้นก็ตาม พระเยซูเจ้าทรงตรัสว่า “ไม่มีนกสักตัวเดียวที่ตกถึงพื้นดินโดยที่พระบิดาของท่านไม่ทรงเห็นชอบ”
คำว่า “ตก” ในภาษากรีก “พีพโต” (pipto) ไม่ได้หมายถึงการตกลงมาตายเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการร่อนลงพื้นโดยยังมีชีวิตอยู่ด้วย  และคำว่า “ไม่ทรงเห็นชอบ” จะแปลแบบตรงตัวว่า “ไม่ทรงทราบ” ก็ได้
หมายความว่า พระเจ้าไม่เพียงเอาพระทัยใส่สิ่งที่มนุษย์เห็นว่าไร้ค่าไม่มีราคาเท่านั้น พระองค์ยังรับทราบและเอาพระทัยใส่ในรายละเอียดอีกด้วย
พระองค์ไม่ได้สนพระทัยนกกระจอกเฉพาะเวลาสำคัญอย่างวินาทีแห่งความตาย ซึ่งเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในชีวิตเท่านั้น แต่ทรงสนพระทัยในรายละเอียดของการดำเนินชีวิตทั้งขณะบินขึ้น ร่อนลง หรือกระโดดโลดเต้นอยู่บนพื้นด้วย
“เพราะฉะนั้น อย่ากลัวเลย ท่านมีค่ามากกว่านกกระจอกจำนวนมาก”

ทุกคนที่ยอมรับเราต่อหน้ามนุษย์ เราจะยอมรับผู้นั้นเฉพาะพระพักตร์พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์
คริสตชนใดที่ซื่อสัตย์ต่อพระเยซูเจ้าในโลกนี้ พระองค์จะซื่อสัตย์ต่อผู้นั้นในโลกหน้า  และผู้ใดภูมิใจยอมรับพระองค์เป็นเจ้านายในโลกนี้ พระองค์จะภูมิใจรับผู้นั้นเป็นข้ารับใช้ของพระองค์ในโลกหน้า
ความจริงที่เราไม่อาจปฏิเสธได้คือ หากคริสตชนในสมัยเริ่มแรกไม่กล้าเผชิญหน้ากับความทุกข์ทรมานและความตายเพื่อยืนยันความซื่อสัตย์ต่อพระเยซูเจ้าแล้ว ทุกวันนี้เราอาจไม่มีพระศาสนจักรหลงเหลืออยู่ก็เป็นไปได้
เพราะความเชื่ออันไม่สั่นคลอนนี้คือรากฐานของพระศาสนจักร
แต่ตรงกันข้าม “ผู้ที่ไม่ยอมรับพระองค์ต่อหน้ามนุษย์ พระองค์ก็จะไม่รับผู้นั้นเฉพาะพระพักตร์พระบิดาของพระองค์ ผู้สถิตในสวรรค์ด้วย”
และเราอาจปฏิเสธพระองค์ได้ดังนี้
1.    ด้วยการพูด
เช่น “ฉันเป็นคริสตังเพราะพ่อแม่พาไปล้างบาปตั้งแต่เด็ก” หรือ “อั้วเป็นคริสตังก็เพราะอยากได้ลูกสาวเขานั่นแหละ” ฯลฯ
คำพูดเหล่านี้แสดงว่าผู้พูดไม่ต้องการให้ความเป็นคริสตชนมายุ่งเกี่ยวกับชีวิตของเขา ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่ทำงาน หรือที่อื่นใดก็ตาม
เขาอยากให้ทุกอย่างเหมือนเดิม
แต่คริสตชนจะยอมปล่อยให้โลกเหมือนเดิม หรือจะยอมทำตนให้กลมกลืนไปกับโลกไม่ได้  เพราะหน้าที่ของเราคริสตชนคือ “ทำให้โลกดีขึ้น” ตามที่พระเยซูเจ้าผู้เป็นเจ้านายของเราทรงสอนไว้
2.    ด้วยการเงียบ
มีมากมายหลายครั้งในชีวิตของเรา ที่เราสามารถพูดเพื่อทำให้สถานการณ์เปลี่ยนจากร้ายไปเป็นดี  หรือพูดเพื่อต่อสู้กับความชั่วร้าย  หรือแสดงท่าทีที่ชัดเจนว่าเราอยู่ฝ่ายใดได้
แต่เรากลับ “เงียบ”
น่าเสียดายที่มนุษย์เราปฏิเสธพระเยซูเจ้าด้วยการ “เงียบ” อันขี้ขลาดมากกว่าด้วยการพูดหรือการกระทำเสียอีก
3.    ด้วยการกระทำ  ตัวอย่างเช่น
เราอาจปฏิเสธข่าวดีเรื่องความบริสุทธิ์ ด้วยการไม่ซื่อสัตย์ต่อครอบครัว หรือด้วยการทำลายชื่อเสียงเกียรติยศของตนเอง
เราอาจปฏิเสธการแบกกางเขนติดตามพระองค์ ด้วยการดำเนินชีวิตแบบปล่อยตัว และแสวงหาความสะดวกสบายใส่ตน
เราอาจปฏิเสธการให้อภัย ด้วยการจดจำความผิด เคียดแค้น และจองเวร
หรือร้ายไปกว่านั้น บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่า น้ำใจ-รับใช้-รัก นั้นมีความหมายอะไร !