ข่าวดี ยอห์น 20:11-18
(11)มารีย์ยังคงยืนร้องไห้อยู่นอกพระคูหา ขณะที่ร้องไห้นั้น นางก้มลงมองในพระคูหา (12)ก็เห็นทูตสวรรค์สององค์สวมเสื้อขาวนั่งอยู่ตรงที่ที่เขาวางพระศพของพระเยซูเจ้าไว้ องค์หนึ่งนั่งอยู่ทางเบื้องพระเศียร อีกองค์หนึ่งนั่งอยู่ทางเบื้องพระบาท (13)ทูตสวรรค์ทั้งสองถามนางว่า “นางเอ๋ย ร้องไห้ทำไม” นางตอบว่า “เขานำองค์พระผู้เป็นเจ้าของดิฉันไปแล้ว ดิฉันไม่รู้ว่า เขานำพระองค์ไปไว้ที่ใด” (14)เมื่อตอบดังนี้แล้ว นางก็หันกลับมา และเห็นพระเยซูเจ้าทรงยืนอยู่ที่นั่น แต่ไม่รู้ว่าเป็นพระเยซูเจ้า (15)พระองค์ตรัสถามนางว่า “นางเอ๋ย ร้องไห้ทำไม กำลังเสาะหาผู้ใด” นางคิดว่าพระองค์เป็นคนสวน จึงตอบว่า “นายเจ้าขา ถ้าท่านนำพระองค์ไป ช่วยบอกดิฉันว่าท่านนำพระองค์ไปไว้ที่ไหน ดิฉันจะได้ไปนำพระองค์กลับมา” (16)พระเยซูเจ้าตรัสเรียกนางว่า “มารีย์” นางจึงหันไป ทูลพระองค์เป็นภาษาฮีบรูว่า “รับโบนี” ซึ่งแปลว่า พระอาจารย์ (17)พระเยซูเจ้าตรัสกับนางว่า “อย่าหน่วงเหนี่ยวเราไว้เลย เพราะเรายังไม่ได้ขึ้นไปเฝ้าพระบิดา แต่จงไปหาพี่น้องของเรา และบอกเขาว่า เรากำลังขึ้นไปเฝ้าพระบิดาของเราและพระบิดาของท่านทั้งหลาย ไปเฝ้าพระเจ้าของเรา และพระเจ้าของท่านทั้งหลาย” (18)มารีย์ ชาวมักดาลาจึงไปแจ้งข่าวกับบรรดาศิษย์ว่า “ดิฉันได้เห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าแล้ว” และเล่าเรื่องที่พระองค์ตรัสกับนาง
พระวรสารตอนนี้อบอวลไปด้วยความรักของมารีย์ชาวมักดาลาที่มีต่อพระเยซูเจ้า และความรักนี้เองที่ทำให้นางได้รับเกียรติยิ่งใหญ่สูงสุดนั่นคือ นางเป็นบุคคลแรกที่ได้เห็นพระเยซูคริสตเจ้าผู้กลับคืนชีพ !
- หลังจากพบว่าพระคูหาว่างเปล่า นางรีบกลับไปแจ้งข่าวแก่เปโตรและยอห์นแล้ววิ่งตามทั้งสองกลับมาที่พระคูหาด้วย แต่เพราะวิ่งช้ากว่าพวกผู้ชาย เมื่อมาถึงคูหาจึงพบว่าทั้งเปโตรและยอห์นได้กลับไปแล้ว (ข้อ 10)
นางจึงยืน “ร้องไห้” อยู่คนเดียวนอกพระคูหา.....
- ขณะที่ร้องไห้ นางมองเข้าไปในพระคูหาและเห็นทูตสวรรค์สององค์ เมื่อหันกลับมานอกพระคูหาก็พบพระเยซูเจ้า แต่นางจำพระองค์ไม่ได้ คิดว่าเป็นคนสวน !
เหตุผลง่าย ๆ ที่ทำให้นางจำพระองค์ไม่ได้ก็คือ “น้ำตา” !
“น้ำตา” บดบังนางไว้จนเห็นพระองค์ไม่ชัดและจำไม่ได้
- แม้ขณะคุยกับคนที่นางคิดว่าเป็นคนสวน นางไม่เคยเอ่ยชื่อ “พระเยซูเจ้า” แม้แต่ครั้งเดียว “ถ้าท่านนำพระองค์ไป ช่วยบอกดิฉันว่าท่านนำพระองค์ไปไว้ที่ไหน ดิฉันจะได้ไปนำพระองค์กลับมา”
ที่เป็นเช่นนี้เพราะนางคิดว่าทุกคนรู้ดีว่านางกำลังหมายถึงใคร
ในหัวใจของนางมีแต่พระเยซูเจ้าเพียงพระองค์เดียว ไม่มีใครอื่นแทรกอยู่เลย !
- และโดยไม่ทันคิด นางพูดว่า “ดิฉันจะได้ไปนำพระองค์กลับมา” ผู้หญิงอย่างนางจะเอาเรี่ยวแรงที่ไหนไปแบกพระองค์ ? นางจะไปหาพระองค์ได้ที่ไหน ? และปัญหาอื่น ๆ อีกมากมายล้วนไม่มีอยู่ในความคิดของนางเลย
หัวใจของนางมีแต่ความรัก และปรารถนาเพียงแค่ร้องไห้ที่พระศพของพระองค์ !
ขณะคุยกับคนที่นางคิดว่าเป็นคนสวน นางคงหันกลับไปที่พระคูหาและหันหลังให้กับพระเยซูเจ้าอีก
พระองค์จึงตรัสเรียกนางเพียงคำเดียวว่า “มารีย์”
คราวนี้นางหันกลับมาหาพระองค์ทันทีพร้อมกับทูลว่า “รับโบนี” (เป็นการออกเสียงตามภาษาอาราไมอิก มีความหมายเดียวกับ “รับบี”)
เราอาจสรุปสาเหตุ 2 ประการที่ทำให้นางจำพระเยซูเจ้าไม่ได้
1. “น้ำตา” ได้ปิดบังดวงตาจนทำให้นางมองไม่เห็น
เมื่อสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก หัวใจของเรามักโศกเศร้าและดวงตาร่ำไห้ แต่เราต้องระลึกอยู่เสมอว่าความโศกเศร้ายามนี้ มี “ความเห็นแก่ตัว” แทรกซึมอยู่ด้วยไม่มากก็น้อย เราอาจกำลังคิดถึงความโดดเดี่ยว การสูญเสีย ความเหงา ฯลฯ
น้ำตาของเราจึงเป็นการร่ำไห้ให้แก่ตัวเราเองไม่ใช่หรือ ?
เราจะร่ำไห้ให้แก่คนที่กำลังไปหาพระเจ้าได้อย่างไรกัน ?
ใช่ เราร่ำไห้ได้เพราะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่เราจะปล่อยให้ “น้ำตา” มาบดบังพระสิริรุ่งโรจน์แห่งอาณาจักรสวรรค์ไม่ได้
“น้ำตา” มีได้ แต่เราต้องมองเห็นพระสิริรุ่งโรจน์ผ่าน “น้ำตา” ให้ได้ด้วย !
2. “หันหลัง” นางเพ่งมองผิดทิศผิดทางอยู่ที่พระคูหา แล้วหันหลังให้กับพระเยซูเจ้าจนจดจำพระองค์ไม่ได้
ยามนี้ พวกเราก็มักเป็นเช่นเดียวกัน
เรามัวจับจ้องอยู่ที่หลุมศพ แต่นั่นเป็นเพียงที่พำนักของร่างกายที่เน่าเปื่อย ส่วนบุคคลจริง ๆ ของคนที่เรารักนั้นอยู่ในสวรรค์ต่อหน้าพระพักตร์ของพระเจ้า
สำหรับผู้ที่ไม่มีความเชื่อแบบคริสตชน เมื่อเสร็จพิธีฝังศพ พวกเขาจะพูดว่า “ลาก่อน”
ส่วนผู้ที่มีความเชื่อจะพูดว่า “ไปหาพระเจ้าเถอะ !”, “Adieu !”, “To God !”
และ “ไว้พบกันใหม่นะ !”
เมื่อมารีย์จำพระเยซูเจ้าได้แล้ว พระองค์ตรัสกับนางว่า “อย่าหน่วงเหนี่ยวเราไว้เลย เพราะเรายังไม่ได้ขึ้นไปเฝ้าพระบิดา” (ยน 20:17)
“หน่วงเหนี่ยว” มาจากคำกรีก aptou (อัพตู) ซึ่งมีแปลว่า “แตะต้อง” หรือ “สัมผัส”
ยอห์นเล่าว่า พระองค์ห้ามมารีย์แตะต้องพระองค์เพราะพระองค์ยังไม่ได้ขึ้นไปเฝ้าพระบิดา แต่อีกไม่กี่ข้อถัดไป พระองค์กลับเชิญชวนโทมัสให้มาแตะต้องพระองค์ “จงเอานิ้วมาที่นี่ และดูมือของเราเถิด จงเอามือมาที่นี่ คลำที่สีข้างของเรา อย่าสงสัยอีกต่อไป แต่จงเชื่อเถิด” (ยน 20:27)
ต่อหน้าศิษย์ที่ตกใจกลัว คิดว่าได้เห็นผี พระองค์ยิ่งเชิญชวนหนักเข้าไปอีก “จงดูมือและเท้าของเราซิ เป็นเราเองจริง ๆ จงคลำตัวเราดูเถิด ผีไม่มีเนื้อ ไม่มีกระดูกอย่างที่ท่านเห็นว่าเรามี” (ลก 24:39)
ส่วนมัทธิวถึงกับเล่าว่า มารีย์ชาวมักดาลาและมารีย์อีกผู้หนึ่งได้กอดพระบาทและนมัสการพระองค์ (มธ 28:9)
ปัญหาคือ ทำไมยอห์นจึงบันทึกคำพูดของพระองค์ทำนองว่า “อย่าแตะต้องเรา เพราะเรายังไม่ได้ขึ้นไปเฝ้าพระบิดา” ซึ่งสื่อความหมายว่าเราสามารถแตะต้องหรือสัมผัสพระองค์ได้หลังจากพระองค์เสด็จขึ้นสวรรค์ไปแล้ว ?
เราอาจอธิบายปัญหานี้ได้หลายแนวทางด้วยกัน
1. แนวทางแรกเป็นเรื่องของจิตวิญญาณล้วน ๆ กล่าวคือ ยอห์นไม่ได้พูดถึงการสัมผัสทางร่างกายเหมือนเราเอามือจับกัน แต่เป็นการสัมผัสทางจิตใจโดยอาศัยความเชื่อในพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพและทรงชีวิตนิรันดร
คำอธิบายนี้เป็นความจริงและมีคุณค่าต่อจิตวิญญาณของเราเหลือคณานับ แต่ดูเหมือนจะไม่ตรงกับความหมายในบริบทนี้
2. แนวทางที่สองถือว่าภาษากรีกที่ยอห์นใช้เขียนพระวรสาร ไม่สามารถถ่ายทอดภาษาอาราไมอิกที่พระเยซูเจ้าใช้พูดได้อย่างถูกต้อง
แนวทางนี้เสนอว่าสิ่งที่พระเยซูเจ้าตรัสจริง ๆ น่าจะเป็น “อย่าหน่วงเหนี่ยวเราไว้เลย แต่ก่อนเราจะขึ้นไปเฝ้าพระบิดา จงไปหาพี่น้องของเรา และบอกเขาว่า เรากำลังจะขึ้นไปเฝ้าพระบิดาของเราและพระบิดาของท่านทั้งหลาย ไปเฝ้าพระเจ้าของเรา และพระเจ้าของท่านทั้งหลาย”
เหตุผลคือต้นฉบับกรีกใช้ present imperative ไม่ใช่ aorist imperative เพราะฉะนั้น แทนที่จะแปลว่า “อย่าแตะต้องเรา” จึงควรแปลว่า “หยุดแตะต้องเรา”
ความหมายของพระองค์คือ “เร็ว ๆ นี้ เราจะกลับไปหาพระบิดาแล้ว อย่ามัวเสียเวลากับเราเลย แต่จงรีบกลับไปบอกข่าวดีแก่บรรดาศิษย์เถิด”
และนี่คือสิ่งที่มารีย์ชาวมักดาลาได้กระทำจริง ๆ
3. แนวทางที่สามถือว่าพระวรสารฉบับอื่น ๆ ล้วนพูดถึง “ความกลัว” เช่น
มธ 18:10 พระเยซูเจ้าตรัสว่า “อย่ากลัวเลย จงไปแจ้งข่าวแก่พี่น้องของเราให้ไปยังแคว้นกาลิลี เขาจะพบเราที่นั่น”
มก 16:8 สตรีทั้งสามคนออกจากพระคูหา หนีไปเพราะตกใจกลัวจนตัวสั่น และไม่ได้พูดเรื่องใด ๆ กับใครเลยเพราะกลัว
ลก 24:5 สตรีเหล่านั้นตกใจกลัวและก้มหน้าลงมองพื้นดิน
ส่วนยอห์นนั้นไม่ได้พูดเรื่องความตกใจกลัวเลย ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์บางคนจึงเสนอว่าต้นฉบับที่ยอห์นเขียนน่าจะไม่ใช่ Me aptou (เม อัพตู) ซึ่งแปลว่า “อย่าแตะต้องเรา” แต่ที่ถูกควรจะเป็น Me ptoou (เม พโตอู) ซึ่งแปลว่า “อย่ากลัว เรายังไม่กลับไปหาพระบิดา แต่ยังอยู่กับท่านอีกระยะหนึ่ง”
ความผิดพลาดถือว่าเกิดจากการคัดลอกต้นฉบับผิด
ไม่มีคำอธิบายใดได้รับการยอมรับอย่างเป็นเอกฉันท์ แต่ดูเหมือนแนวทางที่สองจะให้ความหมายได้ดีที่สุด
ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นใดก็ตาม พระเยซูเจ้าทรงส่งมารีย์กลับไปบอกข่าวดีแก่บรรดาศิษย์เรื่องที่พระองค์ตรัสถึงบ่อย ๆ นั่นคือ พระองค์กำลังจะกลับไปหาพระบิดา
นอกจากข่าวดีของพระเยซูเจ้าแล้ว มารีย์ยังมีข่าวดีของนางเองไปบอกบรรดาศิษย์ด้วย นั่นคือ “ดิฉันได้เห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าแล้ว”
คริสตชนทุกคนควรจะพูดแบบมารีย์ให้ได้.... “ฉันได้เห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าแล้ว”
เพราะการเป็นคริสตชน
- ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการรู้เรื่องพระเยซูเจ้า แต่เป็นการ “รู้จักพระองค์”
- ไม่ใช่การถกเถียงเรื่องเกี่ยวกับพระองค์ แต่เป็น “การพบปะพระองค์”
- และเป็นความแน่ใจด้วยประสบการณ์ของเราเองว่า “พระองค์คือพระเจ้าผู้ทรงชีวิต”