วันอาทิตย์ที่ 1 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า
ข่าวดี มาระโก 13:33-37
จงระวังตัวไว้ให้พร้อม
(33)“จงระวัง จงตื่นเฝ้าเถิด เพราะท่านทั้งหลายไม่รู้ว่าวันเวลานั้นจะมาถึงเมื่อไร (34)เหมือนกับชายคนหนึ่งที่ก่อนจะเดินทางออกจากบ้านได้มอบอำนาจให้กับผู้รับใช้ ให้แต่ละคนมีงานของตนและยังสั่งคนเฝ้าประตูให้คอยตื่นเฝ้าไว้ (35) ดังนั้น ท่านทั้งหลายจงตื่นเฝ้าเถิด เพราะท่านไม่รู้ว่าเจ้าของบ้านจะมาเมื่อไร อาจจะมาเวลาค่ำ เวลาเที่ยงคืน เวลาไก่ขัน หรือเวลารุ่งเช้า (36)ถ้าเขากลับมาโดยไม่คาดคิด อย่าให้เขาพบท่านกำลังหลับอยู่ (37)สิ่งที่เราบอกท่าน เราก็บอกทุกคนด้วยว่า จงตื่นเฝ้าเถิด”
มักมีคนเรียกหนังสือพระคัมภีร์เล่มสุดท้ายคือ “วิวรณ์” ว่าเป็นหนังสือ “Apocalypse” ซึ่งหมายถึงหนังสือที่ “เปิดเผยเหตุการณ์ในอนาคต”
พระวรสารโดยนักบุญมาระโกบทที่ 13 นี้ก็ได้รับการเรียกขานว่าเป็น “Apocalypse ฉบับย่อ” ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดเผยเหตุการณ์ในอนาคตโดยพระเยซูเจ้าเอง
แต่เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในสมัยของพระองค์ไม่สู้ดีนัก โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างปาเลสไตน์กับโรมกำลังตึงเครียด เมื่ออ่านพระวรสารตอนนี้เราจึงควรระลึกอยู่เสมอว่า
1. การวิจารณ์หรือพูดถึงเหตุการณ์ในอนาคตอย่างเปิดเผยเป็นสิ่งอันตรายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเรื่องการทำลายกรุงเยรูซาเล็มและพระวิหารโดยกองทัพโรมัน
2. ภาษาสัญลักษณ์ถูกนำมาใช้เพื่อ “เปิดเผย” บางสิ่งบางอย่างเท่าที่จะพึงกระทำได้ ไม่ใช่เพื่อ “ปิดบัง” หรือจงใจทำให้เป็นสิ่งลึกลับ
3. เจตนาคือเพื่อทำให้ความเชื่อของเรามั่นคงเข็มแข็งมากขึ้น ไม่ใช่เพื่อทำให้เราสามารถทำนายหรือคาดเดาอนาคตได้
สำหรับพระวรสารตอนนี้ พระเยซูเจ้าต้องการสอนเรา 2 ประเด็นด้วยกัน กล่าวคือ
1. ไม่มีใครรู้วันและเวลา
“วันและเวลา” ในที่นี้หมายถึง “การเสด็จมาครั้งที่สองของบุตรแห่งมนุษย์” ดังที่ข้อ 26 ได้บรรยายไว้ว่า “เมื่อนั้นประชาชนทั้งหลายจะเห็นบุตรแห่งมนุษย์เสด็จมาในก้อนเมฆ ทรงพระอานุภาพและพระสิริรุ่งโรจน์ยิ่งใหญ่”
ถ้าพูดง่าย ๆ ก็คือ “วันสิ้นพิภพ” หรือให้แคบเข้ามาหน่อยก็คือ “วันตาย” ของเราแต่ละคน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เรื่องวันและเวลานั้น ไม่มีใครรู้เลย ทั้งบรรดาทูตสวรรค์ และแม้แต่พระบุตร นอกจากพระบิดาเพียงพระองค์เดียว” (ข้อ 32)
น่าสังเกตว่านี่เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่พระเยซูเจ้าทรงเรียกพระองค์เองว่า “พระบุตร” แทนที่จะเป็น “บุตรแห่งมนุษย์” เหมือนที่เคยใช้ตามปกติ ซึ่งเท่ากับทรงรับรู้สถานภาพของพระองค์เองว่าทรงเป็นพระเจ้าและเป็นพระบุตรที่ใกล้ชิดกับพระบิดาเป็นอย่างดี
แต่เมื่อพระองค์ยอมรับเอากายบังเกิดเป็นมนุษย์ พระองค์ทรงยอมรับข้อจำกัดอันเกิดจากความเป็นมนุษย์ และทรงสุภาพถ่อมตนยอมให้ “วันและเวลา” เป็นอภิสิทธิ์ของพระบิดาแต่เพียงพระองค์เดียวที่จะล่วงรู้
แม้แต่พระบุตรเองก็ไม่รู้ว่าจะเป็นเมื่อไร ?!
จึงเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งที่พวกเราบางคนจะมัวสลวนอยู่กับการค้นคว้าหรือคำนวณหา “วันและเวลา” ที่แม้พระเยซูเจ้าเองก็ยังปล่อยให้อยู่ในพระหัตถ์ของพระบิดาเจ้า
อย่างไรก็ตาม ถึงจะไม่รู้ว่า “วันและเวลา” จะมาถึงเมื่อไร แต่สิ่งที่พระองค์ทรงเน้นย้ำให้เราฟังอยู่เสมอคือ “มันมาแน่”
2. จงระวังและตื่นเฝ้าเถิด
เพราะไม่รู้ว่าวันและเวลานั้นจะมาถึงเมื่อไร หนทางเดียวที่เราจะทำได้คือ “ระวังและตื่นเฝ้า”
เหมือนผู้รับใช้ที่รู้ดีว่าเจ้าของบ้านจะกลับบ้านแน่ จึงต้องตื่นเฝ้าทำหน้าที่ของตนอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเวลาค่ำ (18.00-21.00 น.) เวลาเที่ยงคืน (21.00-24.00 น.) เวลาไก่ขัน (24.00-3.00 น.) หรือเวลารุ่งเช้า (3.00-6.00 น.) ตามระบบเวลาแบบโรมัน
พระเยซูเจ้าทรงเตือนว่า “ถ้าเขากลับมาโดยไม่คาดคิด อย่าให้เขาพบท่านกำลังหลับอยู่” (ข้อ 36)
คนที่เป็น รปภ. จะรู้ดีว่ามัน “หนาว” สักเพียงใดเวลานายพบเราหลับยาม !
“หลับ” สำหรับพระองค์คือ ไม่เอาใจใส่ดูแลวิญญาณของตนเอง, ไม่เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเสด็จมาของพระเยซูคริสตเจ้า
และเพื่อจะ “ตื่น” อยู่เสมอ เราต้องทำเช่นเดียวกับผู้รับใช้ที่ได้รับมอบอำนาจและหน้าที่การงานจากเจ้าของบ้าน
นั่นคือ ทำหน้าที่ประจำวันที่พระเจ้าทรงมอบหมายแก่เราคริสตชนให้สำเร็จและเหมาะสมสำหรับพระองค์จะได้ทอดพระเนตร ไม่ว่าพระองค์จะเสด็จมาเวลาใดก็ตาม
ระหว่างรอ “วันเวลา” เราไม่จำเป็นต้องกลัวหรือวิตกจริต แต่จงตื่นเฝ้า......และ....
จงตื่นเฝ้าเถิด !