แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

สมโภชพระคริสตสมภพ

ข่าวดี    ลูกา 2:1-14
(1)ครั้งนั้น พระจักรพรรดิออกัสตัสทรงออกพระราชกฤษฎีกาให้มีการสำรวจสำมะโนประชากรทั่วจักรวรรดิโรมัน  (2)การสำรวจสำมะโนประชากรครั้งแรกนี้มีขึ้นเมื่อคีรินีอัสเป็นผู้ว่าราชการแคว้นซีเรีย  (3)ทุกคนต่างไปลงทะเบียนในเมืองของตน  (4)โยเซฟออกเดินทางจากเมืองนาซาเร็ธในแคว้นกาลิลีไปยังเมืองของกษัตริย์ดาวิดชื่อเบธเลเฮมในแคว้นยูเดีย เพราะโยเซฟสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์กษัตริย์ดาวิด  (5)ท่านไปลงทะเบียนพร้อมกับพระนางมารีย์ ซึ่งกำลังทรงพระครรภ์  (6)ขณะที่อยู่ที่นั่น ก็ถึงกำหนดเวลาที่พระนางมารีย์จะมีพระประสูติกาล  (7)พระนางประสูติพระโอรสองค์แรกทรงใช้ผ้าพันพระวรกายพระกุมารนั้น แล้วทรงวางไว้ในรางหญ้า เนื่องจากไม่มีที่ในห้องพักแรมเลย  (8)ในบริเวณนั้นมีคนเลี้ยงแกะกลุ่มหนึ่งอยู่กลางแจ้ง กำลังเฝ้าฝูงแกะในยามกลางคืน  (9)ทูตสวรรค์องค์หนึ่งของพระเจ้าปรากฏองค์ต่อหน้าเขา และพระสิริของพระเจ้าก็ส่องแสงรอบตัวเขา คนเลี้ยงแกะมีความกลัวอย่างยิ่ง  (10)แต่ทูตสวรรค์กล่าวแก่เขาว่า “อย่ากลัวเลย เพราะเรานำข่าวดีมาบอกท่านทั้งหลาย เป็นข่าวดีที่จะทำให้ประชาชนทุกคนยินดีอย่างยิ่ง  (11)วันนี้ ในเมืองของกษัตริย์ดาวิด พระผู้ไถ่ประสูติเพื่อท่านแล้ว พระองค์คือพระคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้า  (12)ท่านจะรู้จักพระองค์ได้จากเครื่องหมายนี้ ท่านจะพบกุมารคนหนึ่ง มีผ้าพันกายนอนอยู่ในรางหญ้า”  (13)ทันใดนั้น ทูตสวรรค์อีกจำนวนมากปรากฏมาสมทบกับทูตสวรรค์องค์นั้น ร้องสรรเสริญพระเจ้าว่า (14)พระสิริรุ่งโรจน์จงมีแด่พระเจ้าในสวรรค์สูงสุด  และบนแผ่นดิน สันติจงมีแก่มนุษย์ที่พระองค์โปรดปราน


    “พระจักรพรรดิออกัสตัสทรงออกพระราชกฤษฎีกาให้มีการสำรวจสำมะโนประชากรทั่วจักรวรรดิโรมัน” (ข้อ 1) เพื่อประเมินรายได้จากการจัดเก็บภาษีและเพื่อการเกณฑ์ทหาร  แต่เนื่องจากชาวยิวได้รับการยกเว้นไม่ต้องเกณฑ์ทหาร  การสำรวจสำมะโนประชากรในปาเลสไตน์จึงเป็นไปเพื่อการจัดเก็บภาษีเท่านั้น
    มีการค้นพบ papyrus ตามหัวเมืองและหมู่บ้านต่าง ๆ ในอียิปต์มากมายที่บันทึกเรื่องการสำรวจสำมะโนประชากรในอียิปต์ไว้อย่างละเอียด
แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอียิปต์ย่อมต้องเกิดขึ้นในแคว้นซีเรียด้วย เพราะต่างก็ตกอยู่ภายใต้จักรวรรดิโรมันเหมือนกัน

    บังเอิญปาเลสไตน์ในสมัยนั้นเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นซีเรีย  เราจึงรู้เรื่องการสำรวจสำมะโนประชากรที่พระวรสารวันนี้กล่าวถึงมากพอสมควร !
    Papyrus ที่ค้นพบได้บันทึกรายละเอียดของการสำรวจสำมะโนประชากรทุกครั้งตั้งแต่ปี ค.ศ. 20 จนถึง ค.ศ. 270  จนเราสามารถอนุมานได้ว่าโรมจัดสำรวจสำมะโนประชากรทุก 14 ปี
    จากปี ค.ศ. 20 ที่พบบันทึกว่ามีการสำรวจสำมะโนประชากร  หากนับย้อนหลังไป 14 ปีจะตรงกับปี ค.ศ. 6  และหากย้อนหลังไปอีก 14 ปีจะตรงกับปีที่ 8 ก่อนคริสตศักราช
    ลูการะบุว่า “การสำรวจสำมะโนประชากรครั้งแรกมีขึ้นเมื่อคีรินีอัสเป็นผู้ว่าราชการแคว้นซีเรีย” (ข้อ 2)
ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า คีรินีอัสเป็นผู้ว่าราชการแคว้นซีเรียเมื่อปี ค.ศ. 6  ซึ่ง “คริสตศักราช” ได้ล่วงเลยไปแล้วถึง 6 ปี
แต่ก่อนเป็นผู้ว่าราชการ คีรินีอัสเคยรับราชการที่ซีเรียระหว่างปีที่ 10–7 ก.ค.ศ.  การสำรวจสำมะโนประชากรครั้งแรกทั่วจักรวรรดิโรมันจึงควรเกิดขึ้นในปีที่ 8 ก.ค.ศ.
สันนิษฐานว่าลูกาคงคลาดเคลื่อนที่ระบุว่าคีรินีอัสเป็นผู้ว่าราชการ  ทั้ง ๆ ที่ขณะนั้นเขาเป็นเพียงข้าราชการคนหนึ่ง !
    จาก papyrus ที่ค้นพบในอียิปต์ เรายังพบหลักฐานบันทึกไว้ดังนี้
“ไกยุส วีบีอุส แมกซีมุส ผู้ว่าราชการแห่งอียิปต์ มีคำสั่งว่า ‘เนื่องจากถึงกำหนดสำรวจสำมะโนประชากรทุกหลังคาเรือน  ทุกคนไม่เว้นผู้ใดเลยที่อาศัยอยู่นอกถิ่นกำเนิด ต้องกลับบ้านเมืองของตนเพื่อลงทะเบียน และดูแลการเพาะปลูกในที่ดินส่วนของตนด้วยความขยันหมั่นเพียร’”
แน่นอนว่าชาวยิวซึ่งเคารพและยึดมั่นในบรรพบุรุษตามเผ่าพันธุ์ทั้ง 12 ตระกูลตั้งแต่เริ่มแรกมาแล้ว ย่อมต้องปฏิบัติเช่นเดียวกัน  นั่นคือกลับไปยังเมืองอันเป็นศูนย์กลางของบรรพบุรุษเพื่อลงทะเบียนสำมะโนประชากร
“โยเซฟจึงต้องออกเดินทางจากเมืองนาซาเร็ธในแคว้นกาลิลีไปยังเมืองของกษัตริย์ดาวิดชื่อเบธเลเฮมในแคว้นยูเดีย  เพราะโยเซฟสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์กษัตริย์ดาวิด  ท่านไปลงทะเบียนพร้อมกับพระนางมารีย์ ซึ่งกำลังทรงพระครรภ์” (ข้อ 4-5)
    จากนาซาเร็ธถึงเบธเลเฮมมีระยะทางประมาณ 130 กิโลเมตร  การ “เดิน” ทางถือว่าไกลมากสำหรับหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ !
    ยิ่งไปกว่านั้น เมืองเบธเลเฮมยังพลุกพล่านไปด้วยผู้คน จนกระทั่งไม่มีห้องว่างแม้แต่ห้องเดียวสำหรับโยเซฟและพระนางมารีย์ผู้กำลังจะคลอดบุตร !
    หนทางที่เหลือคืออาศัยที่พักสำหรับคนเดินทางซึ่งมีลักษณะคล้ายเพิงเลี้ยงสัตว์  ผู้พักแรมต้องนำอาหารติดตัวมาเอง  เจ้าของจะจัดเตรียมเพียงฟางหรือหญ้าแห้งสำหรับเลี้ยงสัตว์ และไฟสำหรับปรุงอาหารไว้ให้เท่านั้น
    “ขณะที่อยู่ที่นั่น ก็ถึงกำหนดเวลาที่พระนางมารีย์จะมีพระประสูติกาล  พระนางประสูติพระโอรสองค์แรก ทรงใช้ผ้าพันพระวรกายพระกุมารนั้น แล้วทรงวางไว้ในรางหญ้า” (ข้อ 6-7)
    “ผ้าพันพระวรกาย” มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีผ้าเป็นริ้วยาวคล้ายผ้าพันแผลติดอยู่ที่มุมหนึ่ง  ทารกจะถูกห่อหุ้มด้วยผ้าจัตุรัส แล้วพันด้วยริ้วผ้ารอบกายอีกทีหนึ่ง
    คำว่า “รางหญ้า” ตามรากศัพท์หมายถึงสถานที่สำหรับให้อาหารสัตว์  ในที่นี้จึงอาจหมายถึง “คอกสัตว์” หรืออาจหมายถึง “รางหญ้า” เองก็ได้
    ณ “รางหญ้า” นี้เองที่พระกุมารได้ถือกำเนิดขึ้นมา เพราะเบธเลเฮมพลุกพล่านเกินกว่าจะมีที่ว่างสำหรับพระองค์ !!!
ซ้ำร้ายไปกว่าเมื่อสองพันปีที่แล้วก็คือ  ทั้ง ๆ ที่ทุกวันนี้โลกเต็มไปด้วยที่พักหรูหราราคาแพงมากมาย  แต่พระกุมารยังต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเดิมอีก...
นั่นคือ หัวใจทั้ง 4 ห้องของเราพลุกพล่านจนไม่มีที่ว่างสำหรับพระองค์ !
    คริสต์มาสปีนี้เราจะหาห้องว่างสักห้อง  และเชื้อเชิญพระกุมารเข้ามาพำนักได้ไหม ?!?

    น่ามหัศจรรย์ที่สุดที่คนกลุ่มแรกที่ทราบข่าวดีเรื่องการประสูติของ “พระผู้ไถ่” คือ “คนเลี้ยงแกะ”
น่ามหัศจรรย์เพราะว่า “คนเลี้ยงแกะ” เป็นผู้ที่ “ต่ำต้อยและถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม” จากสังคมคนเคร่งศาสนาโดยเฉพาะบรรดาคัมภีราจารย์และฟาริสี  ทั้งนี้เพราะฝูงแกะที่ไม่ยอมอยู่นิ่งเฉยทำให้พวกเขาไม่สามารถปฏิบัติตามบทบัญญัติดังเช่นการล้างมือก่อนกินอาหารได้
    นอกจากนั้น เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีลูกแกะที่ปราศจากตำหนิเพียงพอสำหรับถวายบูชาแด่พระเจ้าในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มทุกวัน  ทางพระวิหารจึงเลี้ยงแกะตามทุ่งหญ้าใกล้เบธเลเฮมไว้จำหน่าย  เป็นไปได้ว่าทูตสวรรค์ของพระเจ้ามาแจ้งข่าวดีแก่บรรดาคนเลี้ยงแกะที่กำลังเลี้ยงแกะสำหรับถวายเป็นเครื่องบูชาแด่พระเจ้านี้เอง !
จึงเป็นสิ่งมหัศจรรย์กำลังสองที่คนเลี้ยงแกะกลุ่มนี้ได้ทราบข่าวดีเรื่องการประสูติของพระกุมาร  เพราะพระองค์ทรงบังเกิดมาเพื่อเป็น “ลูกแกะของพระเจ้า ผู้ทรงยกบาปของโลก” โดยแท้

    เมื่อมีเด็กเกิดใหม่ เป็นธรรมเนียมของชาวตะวันออก ที่จะมีนักร้องมาชุมนุมกันที่บ้านเพื่อร้องเพลงต้องรับเด็ก
แต่พระกุมารไม่มีบ้าน แถมอยู่ต่างบ้านต่างเมืองเช่นนี้ จะมีนักร้องที่ไหนมาชุมนุมกัน ?
    ลูกาเล่าว่าสิ่งที่พระกุมารได้รับเป็นการชดเชยคือ “ทูตสวรรค์จำนวนมากปรากฏมาสมทบกับทูตสวรรค์องค์นั้น ร้องสรรเสริญพระเจ้าว่า..” (ข้อ 13)
 “พระสิริรุ่งโรจน์จงมีแด่พระเจ้าในสวรรค์สูงสุด  และบนแผ่นดิน สันติจงมีแก่มนุษย์ที่พระองค์โปรดปราน” (ข้อ 14)
    เพลงที่บรรดาทูตสวรรค์ขับร้องช่างไพเราะและฟังแล้วสุขใจ  ชนิดที่ไม่มีนักร้องผู้ใดในโลกนี้สามารถขับร้องได้เสมอเหมือน...
    เว้นแต่ผู้นั้นจะมี “สันติสุข” ในจิตใจ !!!
    สันติสุขที่พระกุมารนำมามอบแก่เราทุกคน... เท่านั้น....!!!