แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

อาทิตย์ที่ 8 เทศกาลธรรมดา

ข่าวดี    มาระโก 2:18-22
การโต้เถียงเรื่องการจำศีลอดอาหาร
    (18)บรรดาศิษย์ของยอห์นและชาวฟาริสีกำลังจำศีลอดอาหาร มีผู้ทูลถามพระเยซูเจ้าว่า “ทำไมศิษย์ของยอห์นและศิษย์ของชาวฟาริสีจำศีลอดอาหาร แต่ศิษย์ของท่านไม่จำศีลเลย”  (19)พระองค์ตรัสตอบว่า “ผู้รับเชิญมาในงานแต่งงานจะจำศีลอดอาหารได้หรือขณะที่เจ้าบ่าวยังอยู่กับเขา ตราบใดที่เจ้าบ่าวยังอยู่ด้วย เขาย่อมไม่จำศีลอดอาหาร  (20)แต่จะมีวันหนึ่งที่เจ้าบ่าวจะถูกพรากไป ในวันนั้น เขาจะจำศีลอดอาหาร  (21)ไม่มีใครนำผ้าใหม่ไปปะเสื้อเก่า เพราะผ้าใหม่ที่นำมาปะเสื้อเก่านั้นจะหดตัวมากกว่า ทำให้รอยขาดมากกว่าเดิม  (22)ไม่มีใครใส่เหล้าองุ่นใหม่ลงในถุงหนังเก่า  เพราะเหล้าจะทำให้ถุงหนังขาด ทั้งเหล้า ทั้งถุงก็จะเสียไป แต่ต้องใส่เหล้าใหม่ลงในถุงหนังใหม่”


ทำไมศิษย์ของท่านไม่จำศีลเลย ?
ศาสนายิวกำหนดให้จำศีลอดอาหารปีละครั้งใน “วันชดเชยบาป” ซึ่งเป็นวันที่ชาวยิวทั้งชาติสารภาพความผิดบาปต่อพระยาเวห์และได้รับการอภัยบาป
    สำหรับชาวยิวที่เคร่งครัดในศาสนา พวกเขาสมัครใจจำศีลอดอาหารเพิ่มอีก 2 วันต่อสัปดาห์ คือทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี โดยเริ่มจากหกโมงเช้าจนถึงหกโมงเย็น หลังจากหกโมงเย็นแล้วพวกเขาสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ
    พระเยซูเจ้ามิได้คัดค้านการจำศีลอดอาหารดังกล่าว เพราะการจำศีลอดอาหารก่อให้เกิดผลดีหลายประการ
    1.    ช่วยให้เราเป็นนายเหนือตัวเองและเหนือสิ่งอื่น ๆ  การปฏิเสธอาหารหรือสิ่งที่ตนเองชอบเป็นการเสริมสร้างวินัยของตนเองให้เข้มแข็ง  ทำให้เราไม่ลุ่มหลงยึดติดกับสิ่งของภายนอกจนกลายเป็นว่าพวกมันเป็นนายเหนือตัวเรา หาใช่เราเป็นนายเหนือพวกมันไม่
    2.    ช่วยให้เรามองเห็นคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น ดังตัวอย่างเรื่องบ้าน เราจะเห็นคุณค่าบ้านของเราดีขึ้นมากก็ต่อเมื่อเราจากบ้านไปสักระยะหนึ่ง  เช่นเดียวกัน สิ่งที่อำนวยความสะดวกหรือทำให้เราสนุกสนานชื่นชมยินดีจะยิ่งมีคุณค่าเพิ่มพูนมากขึ้น หากเรารู้จักปฏิเสธหรืองดเว้นพวกมันบ้างเป็นครั้งคราว
    แต่ศิษย์ของพระเยซูเจ้าไม่ได้จำศีลอดอาหารเหมือนศิษย์ของพวกฟารีสีเป็นเพราะว่า พวกฟาริสีส่วนใหญ่จำศีลอดอาหารเพื่อ “โอ้อวดตนเอง”
    มีตลาดนัดที่กรุงเยรูซาเล็มทุกวันจันทร์และวันพฤหัสฯ ซึ่งตรงกับวันจำศีลอดอาหารประจำสัปดาห์พอดี  เมื่อจำศีล พวกฟาริสีจะทำหน้าซีด แต่งตัวด้วยเสื้อผ้ายับยู่ยี่ จนว่าทุกคนที่เดินผ่านไปมาในตลาดต้องรู้ทันทีว่าพวกเขากำลังจำศีลอดอาหารอยู่
    พวกเขาจำศีลเพื่อให้คนอื่นชื่นชมในความดีและความศรัทธาของพวกเขา !!
    พวกเขาเชื่อด้วยว่าการทำกิจศรัทธาเพิ่มเติมเป็นพิเศษ อย่างเช่นการจำศีลอดอาหารมากกว่าที่กฎหมายกำหนด จะทำให้พระเจ้าสนใจพวกเขามากขึ้น
    การจำศีลอดอาหารสำหรับพวกเขากลายเป็น “พิธีกรรมแห่งการโอ้อวด” ซึ่งหาค่ามิได้เลย (ไร้ค่า)
    เมื่อใดที่การจำศีลอดอาหารเป็นการแสดงออกถึงความศรัทธาแท้จริงภายในจิตใจของเรานั่นแหละ จึงจะก่อให้เกิดผลดีและมีคุณค่ามหาศาลทั้งต่อหน้าพระเจ้าและต่อตัวเราเอง !!!

    สำหรับศิษย์ของยอห์นและฟาริสีบางกลุ่มที่มิได้จำศีลอดอาหารเพื่อ “โอ้อวด” ความศรัทธาของตนเองนั้น พระเยซูเจ้าทรงอธิบายเหตุผลที่ศิษย์ของพระองค์ไม่จำศีลอดอาหารโดยยกธรรมเนียมปฏิบัติของชาวยิวเวลาแต่งงาน
    หลังวันแต่งงาน คู่บ่าวสาวชาวยิวจะไม่จากบ้านไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ แต่จะเปิดบ้านเลี้ยงฉลองกับแขกรับเชิญที่เป็นเพื่อนสนิทตลอดทั้งสัปดาห์ เพราะพวกเขาถือว่าตลอดชีวิตที่ต้องตรากตรำทำงานหนัก จะมีก็เพียงสัปดาห์นี้แหละที่มนุษย์คนหนึ่งพอจะหาความสุขที่สุดได้
    แม้แต่พวกรับบียังออกเป็นกฎระเบียบว่า “แขกรับเชิญและเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาวทุกคนได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติศาสนกิจอันจะทำให้ความร่าเริงยินดีลดน้อยลง”
    เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเปรียบพระองค์เองเป็น “เจ้าบ่าว” เช่นนี้ ย่อมหมายความว่า “คริสตชน” ทุกคนซึ่งล้วนเป็นแขกรับเชิญของเจ้าบ่าว ควรอย่างยิ่งที่จะมีความสุขและความร่าเริงยินดีเฉกเช่นเจ้าบ่าว
    ดังนั้น รูปแบบการดำเนินชีวิตในพระคริสตเจ้าจะเป็นแบบอื่นไปไม่ได้เลยนอกจาก “ความร่าเริงยินดี”
    ความทุกข์ ความเศร้า ความเคร่งขรึม ความชิงชัง ความอิจฉา และอื่น ๆ ทำนองนี้ต้องหมดไปจากคริสตชนที่มีหัวใจแบบพระคริสตเจ้า !

    พระเยซูเจ้าตระหนักดีว่า “ข่าวดี” ของพระองค์เป็นเรื่องใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างยิ่ง  มีใครจะเคยคาดคิดบ้างว่าพระเจ้าทรงเปี่ยมด้วยความรักและความเมตตาต่อมนุษย์  พระเจ้าทรงเป็น “บิดา” ของมนุษย์ที่พร้อมจะสละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อนำมนุษย์กลับมาหาพระองค์
ก่อนหน้านี้ เราได้แต่ “กลัว” พระเจ้าที่โกรธง่าย ชอบข่มขู่ ลงโทษ และเรียกร้องสิ่งต่าง ๆ มากมายจากมนุษย์
    นอกจากเนื้อหาของ “ข่าวดี” แล้ว แนวทางปฏิบัติของพระองค์ก็ช่างแตกต่างจากแนวทางของพวกรับบีและพวกฟาริสีอย่างสิ้นเชิง
     เพื่อจะชักนำมนุษย์ให้หันมาเดินตาม “แนวทางใหม่” ของพระองค์นั้น มันช่างยากเย็นเสียนี่กระไร !
    แต่อาศัยพระปรีชาญาณและการดำเนินชีวิตที่สนิทสัมพันธ์กับพระบิดาเสมอมา ทำให้พระองค์สามารถอธิบายความหมายของอาณาจักรสวรรค์ได้ โดยอาศัยสิ่งของต่าง ๆ ในโลกนี้ที่แสนจะธรรมดา ไม่เว้นแม้แต่เสื้อผ้าและถุงหนังใส่เหล้าองุ่น...

ไม่มีใครนำผ้าใหม่ไปปะเสื้อเก่า (ข้อ 21)
    คำคุณศัพท์ที่ใช้ขยาย “ผ้าใหม่” คือ agnaphou (อักนาฟู) ไม่ได้หมายถึงผ้าใหม่ที่ใส่แล้ว 2-3 ครั้ง แต่หมายถึงผ้าใหม่ที่ยังไม่เคยใช้ และยังไม่เคยหดตัวเพราะโดนน้ำมาก่อน
    หากนำผ้าใหม่ไปปะเสื้อเก่า เมื่อโดนฝนหรือถูกซัก ผ้าใหม่จะหดตัว ในขณะที่ผ้าเก่าอยู่ตัวและไม่หดแล้ว  ผ้าใหม่ซึ่งเหนียวกว่าก็จะดึงผ้าเก่าให้ฉีกขาดมากขึ้น
    ที่ผ่านมา เราเคยโยนรัฐธรรมนูญฉบับเก่าทิ้ง แล้วยกร่างใหม่ทั้งฉบับ เหตุผลก็เหมือนเอาผ้าใหม่ไปปะเสื้อเก่านั่นเอง
    หากสังคมหรือสถาบันใดหันเหจากหนทางของพระเยซูเจ้าจนยากจะกู่ให้กลับ การเอา “แผนใหม่” มาปะลงบน “ความคิด จิตใจ และความประพฤติแบบเก่า ๆ” นอกจากจะไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นแล้ว รังแต่จะทำให้เลวร้ายลงด้วยซ้ำไป

ไม่มีใครใส่เหล้าองุ่นใหม่ลงในถุงหนังเก่า (ข้อ 22)
    ในสมัยก่อนยังไม่มีการใช้ขวด ชาวยิวใช้หนังแพะทำเป็นถุงสำหรับบรรจุเหล้าองุ่น  ถุงหนังใหม่จะมีคุณสมบัติ “ยืดหยุ่น” ได้ดี ในขณะที่ถุงหนังเก่าจะแข็ง กรอบ และไม่ยืดหยุ่น
    เหล้าองุ่นใหม่ยังอยู่ในระยะของการหมักตัว มักเดือดเป็นฟอง เกิดก๊าซและแรงดัน  ถุงหนังใหม่จะยืดหยุ่นรับแรงดันของก๊าซได้  แต่ถุงหนังเก่าซึ่งแข็งและกรอบจะฉีกขาด
    เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสว่า “ต้องใส่เหล้าใหม่ลงในถุงหนังใหม่” พระองค์กำลังขอร้องให้ “ความคิดและจิตใจของเรามีความยืดหยุ่นบ้าง”
    นักปราชญ์ท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า “เมื่อใดเราบรรลุถึงข้อสรุป เราตายแล้ว”  ความหมายของท่านคือ เมื่อใดก็ตามที่เรายึดมั่นในความคิดและวิถีดำเนินชีวิตแบบเดิมจนไม่สามารถรับความคิดใหม่ ๆ หรือหนทางดำเนินชีวิตใหม่ ๆ ได้ แม้ร่างกายจะยังมีลมหายใจอยู่ แต่ความคิดและจิตใจของเราหยุดเต้นตายไปนานแล้ว !
    คนเราอายุยิ่งมาก ยิ่งกลัวสิ่งใหม่ ๆ กลัวสิ่งที่ไม่คุ้นเคย กลัวการเปลี่ยนแปลง และไม่ยอมปรับเปลี่ยนนิสัยหรือหนทางดำเนินชีวิต เข้าตำรา “ไม้แก่ดัดยาก”
    แต่หากเราต้องการมุ่งหน้าไปสู่จุดสุดยอดของการเป็นคริสตชน เราต้องพร้อมเสี่ยงและพร้อมเผชิญหน้ากับสิ่งใหม่ ๆ ที่เราไม่คุ้นเคย เหมือนอับราฮัมซึ่ง “ออกเดินทางไปโดยไม่รู้ว่าจะไปไหน” (ฮบ 11:8)
    หรือว่าเราจะ “พอเพียง” เรื่องพระเจ้าซะแล้ว ???