วันศุกร์ สัปดาห์ที่ 6 เทศกาลธรรมดา
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 8:34-9:1)
เวลานั้น พระเยซูเจ้าทรงเรียกประชาชนและบรรดาศิษย์เข้ามา ตรัสว่า “ถ้าผู้ใดอยากติดตามเรา ก็ให้เขาเลิกนึกถึงตนเอง ให้แบกไม้กางเขนของตน และติดตามเรา ผู้ใดใคร่รักษาชีวิตของตนให้รอดพ้น จะต้องสูญเสียชีวิตนั้น แต่ถ้าผู้ใดเสียชีวิตของตนเพราะเรา และเพราะข่าวดี ก็จะรักษาชีวิตได้
พระเยซูเจ้ายังตรัสแก่บรรดาศิษย์อีกว่า ‘เราบอกความจริงแก่ท่านว่า บางท่านที่ยืนอยู่ที่นี่จะไม่ลิ้มรสความตายจนกว่าจะเห็นพระอาณาจักรของพระเจ้ามาถึงพร้อมด้วยพระอานุภาพ’
มก 8:31-37 เมื่อบรรดาอัครสาวกรับรู้แล้วว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเมสสิยาห์ พระบุตรพระเจ้า พระองค์ทรงเริ่มอธิบายให้พวกเขาทราบว่า พระองค์จะต้องถูกจับกุมและรับทนทุกข์ทรมาน สิ้นพระชนม์และกลับคืนชีพ นักบุญเปโตรซึ่งก่อนหน้านี้ได้ประกาศยืนยันว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเมสสิยาห์ กลับเป็นคนแรกที่คัดค้าน จึงได้รับคำตำหนิอย่างรุนแรง บรรดาศิษย์พบว่าความตายขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่จะต้องมาถึงนั้นเป็นสิ่งยากที่จะรับได้ อันเนื่องจากความทุกข์ทรมานและความอัปยศมากมายเช่นนั้นที่จะต้องเกิดขึ้น
พระเยซูเจ้าและธรรมบัญญัติ
CCC ข้อ 557 “เวลาที่พระเยซูเจ้าจะต้องทรงจากโลกนี้ไปใกล้เข้ามาแล้ว พระองค์ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่จะเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็ม” (ลก 9:51) การตัดสินพระทัยเช่นนี้แสดงว่าทรงพร้อมจะเสด็จขึ้นไปกรุงเยรูซาเล็มเพื่อสิ้นพระชนม์ที่นั่น พระองค์ทรงแจ้งเรื่องพระทรมานและการกลับคืนพระชนมชีพถึงสามครั้ง ขณะที่กำลังทรงพระดำเนินไปยังกรุงเยรูซาเล็ม พระองค์ตรัสว่า “ประกาศกจะตายนอกกรุงเยรูซาเล็มไม่ได้” (ลก 13:33)
พระเยซูคริสตเจ้า “ทรงรับทรมานสมัยปอนทิอัสปิลาต ทรงถูกตรึงกางเขน สิ้นพระชนม์ และทรงฝังไว้”
CCC ข้อ 572 พระศาสนจักรยังคงซื่อสัตย์ต่อการอธิบายความหมายพระคัมภีร์ทั้งหมดเหมือนกับที่พระเยซูเจ้าเคยทรงอธิบายทั้งก่อนและหลังจากปัสกาของพระองค์ “พระคริสตเจ้าจำเป็นต้องทนทรมานเช่นนี้ เพื่อจะเข้าไปรับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์มิใช่หรือ” (ลก 24:26) พระทรมานของพระเยซูเจ้าได้รับรูปแบบดังที่ได้เกิดขึ้นก็เพราะว่าทรงถูก “บรรดาผู้อาวุโส มหาสมณะ และธรรมาจารย์ปฏิเสธไม่ยอมรับ” (มก 8:31) คนเหล่านี้ “มอบพระองค์ให้คนต่างชาติสบประมาท เยาะเย้ย โบยตีและนำไปตรึงกางเขน” (มธ 20:19)
การกลับคืนพระชนมชีพ - เป็นผลงานของพระตรีเอกภาพ
CCC ข้อ 649 พระบุตรทรงใช้พระอานุภาพพระเจ้าของพระองค์เองบันดาลให้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ พระเยซูเจ้าทรงประกาศว่าบุตรแห่งมนุษย์จะต้องรับทรมานอย่างมาก จะถูกประหารชีวิต แต่สามวันต่อมาจะกลับคืนชีพ ยิ่งกว่านั้น พระองค์ยังทรงยืนยันอย่างชัดเจนว่า “เราสละชีวิตของเราเพื่อจะเอาชีวิตนั้นคืนมาอีก […] เรามีอำนาจที่จะสละชีวิตของเรา และมีอำนาจที่จะเอาชีวิตนั้นคืนมาอีก” (ยน 10:17-18) “เราเชื่อว่าพระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์และทรงกลับคืนพระชนมชีพ” (1ธส 4:14)
มก 8:34-35 ให้แบกไม้กางเขนของตน : พระคริสตเจ้าทรงเป็นแบบอย่างของเรา แม้ในการสิ้นพระชนม์ของพระองค์บนกางเขนด้วย การเป็นศิษย์แท้ของพระคริสต์หมายความว่า การสมัครใจรับการปฏิเสธ การเบียดเบียนทุกชนิด และแม้แต่ความตายเพื่อพระองค์
ผู้ใด... ก็จะรักษาชีวิตได้ : พระคริสตเจ้าทรงขอให้บรรดาผู้ติดตามพระองค์สละชีวิตของตน ในความหวังที่จะบรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้ถึงความยินดีและสันติสุขของพวกเขาเอง
ทำไมพระวจนาตถ์จึงทรงรับสภาพมนุษย์
CCC ข้อ 459 พระวจนาตถ์ทรงรับสภาพมนุษย์เพื่อทรงเป็นตัวอย่างความศักดิ์สิทธิ์ให้เรา “จงรับแอกของเราแบกไว้ และมาเป็นศิษย์ของเรา...” (มธ 11:29) “เราเป็นหนทาง ความจริง และชีวิต ไม่มีใครไปเฝ้าพระบิดาได้นอกจากผ่านทางเรา” (ยน 14:6) พระบิดาทรงบัญชาเมื่อพระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์บนภูเขาว่า “จงฟังท่านเถิด” (มก 9:7) พระเยซูเจ้าทรงเป็นตัวอย่างความสุขแท้และแนวปฏิบัติของบัญญัติใหม่ “ท่านทั้งหลายจงรักกันเหมือนดังที่เรารักท่าน” (ยน 15 :12) ความรักนี้รวมถึงการถวายตัวเราตามแบบฉบับของพระองค์
การสมรสในองค์พระผู้เป็นเจ้า
CCC ข้อ 1615 การกล่าวย้ำอย่างชัดเจนว่าพันธะการสมรสไม่มีวันจะลบล้างได้นั้นอาจทำให้หลายคนมีความข้องใจและเห็นว่าการเรียกร้องเช่นนี้แทบจะปฏิบัติไม่ได้ ถึงกระนั้นพระเยซูเจ้าก็มิได้ทรงกำหนดให้คู่สมรสต้องแบกภาระหนักเกินกำลังจนแบกไม่ไหว หนักกว่าธรรมบัญญัติของโมเสส พระองค์เสด็จมาเพื่อทรงรื้อฟื้นระเบียบของการเนรมิตสร้างตั้งแต่แรกเริ่มที่ได้ถูกบาปรบกวน พระองค์จึงประทานกำลังและพระหรรษทานเพื่อดำเนินชีวิตการสมรสตามมาตรการใหม่ของพระอาณาจักรของพระเจ้า สามีภรรยาที่ดำเนินชีวิตตามพระคริสตเจ้า สละตนเอง แบกไม้กางเขนของตน จะสามารถ “เข้าใจ” ความหมายดั้งเดิมของการสมรสและดำเนินชีวิตตามความหมายนี้ได้อาศัยความช่วยเหลือของพระคริสตเจ้า พระหรรษทานของการสมรสแบบคริสตชนนี้เป็นผลจากไม้กางเขนของพระคริสตเจ้าซึ่งเป็นบ่อเกิดของชีวิตคริสตชนทั้งหมด
ชื่อนักบุญองค์อุปถัมถ์ของคริสตชน
CCC ข้อ 2157 คริสตชนมักเริ่มวันใหม่ เริ่มการอธิษฐานภาวนาและการทำกิจการงานของตนด้วยเครื่องหมายกางเขน “เดชะพระนามพระบิดา และพระบุตร และพระจิต อาเมน” ผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้วย่อมถวายวันของตนแด่พระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าและอัญเชิญพระหรรษทานของพระผู้ไถ่ให้มาช่วยเขาในฐานะบุตรของพระบิดาให้ทำกิจการในพระจิตเจ้า เครื่องหมายกางเขนยังทำให้เรามีกำลังต่อสู้ในการประจญและความยากลำบากต่าง ๆ
เริ่มการอธิษฐานภาวนาและกิจการงานของตนด้วยเครื่องหมายกางเขน
CCC ข้อ 2166 คริสตชนย่อมเริ่มการอธิษฐานภาวนาและกิจการงานของตนด้วยเครื่องหมายกางเขน “เดชะพระนามพระบิดา และพระบุตร และพระจิต อาเมน”
การมีจิตใจยากจน
CCC ข้อ 2544 พระเยซูเจ้าทรงสั่งบรรดาศิษย์ให้ถือว่าพระองค์สำคัญมากกว่าทุกสิ่งและทุกคน และยังทรงเสนอให้เขาสละทุกสิ่งที่ตนมีเพราะพระองค์และเพราะข่าวดี ไม่นานก่อนที่จะทรงรับทรมาน พระองค์ทรงเสนอหญิงม่ายชาวกรุงเยรูซาเล็มให้เป็นตัวอย่างแก่เขา หญิงม่ายผู้นี้ ทั้งๆ ที่ขัดสน ได้ให้ทุกสิ่งที่จำเป็นสำหรับเลี้ยงชีพมาทำทาน บัญญัติให้มีใจเป็นอิสระไม่ผูกพันกับทรัพย์สมบัติเป็นข้อบังคับที่จำเป็นเพื่อจะเข้าในอาณาจักรสวรรค์ได้
มก 9:1-13 มีเพียงสาวกคนสนิทของพระคริสตเจ้าคือ เปโตร ยากอบ และยอห์นเท่านั้นที่ได้รับอภิสิทธิ์ได้เห็นการสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ ซึ่งแสดงถึงการสำเร็จอย่างสมบูรณ์ของบทบัญญัติ (โมเสส) และประกาศก (เอลียาห์) พระสุรเสียงของพระเจ้าพระบิดาเปิดเผยว่า พระคริสตเจ้าคือพระบุตรสุดที่รักของพระองค์ และบัญชาให้มีความใส่ใจในพระวาจาของพระองค์ พระวรสารตอนที่ระลึกถึงการรับพิธีล้างของพระเยซูเจ้าและการสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์เป็นการเปิดเผยถึงพระตรีเอกภาพ
เชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้า
CCC ข้อ 151 สำหรับคริสตชน การเชื่อในพระเจ้าแยกกันไม่ได้กับการเชื่อในผู้ที่พระเจ้าทรงส่งมา นั่นคือในพระบุตรสุดที่รักซึ่งเป็นที่โปรดปรานของพระองค์ พระเจ้าทรงบอกเราให้ฟังองค์พระบุตร องค์พระผู้เป็นเจ้าเองก็ตรัสกับบรรดาศิษย์ว่า “จงเชื่อในพระเจ้า และเชื่อในเราด้วย” (ยน 14:1) เราอาจเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้าได้เพราะทรงเป็นพระเจ้าด้วย ทรงเป็นพระวจนาตถ์ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ “ไม่มีใครเคยเห็นพระเจ้าเลย แต่พระบุตรเพียงพระองค์เดียวผู้สถิตในพระอุระของพระบิดานั้นได้ทรงเปิดเผยให้เรารู้” (ยน 1:18) เพราะพระองค์ “ทรงเห็นพระบิดา” (ยน 6:46) ทรงเป็นพระองค์เดียวที่ทรงรู้จักพระบิดาและเปิดเผยพระบิดาได้”
ทำไมพระวจนาตถ์จึงทรงรับสภาพมนุษย์
CCC ข้อ 459 พระวจนาตถ์ทรงรับสภาพมนุษย์เพื่อทรงเป็นตัวอย่างความศักดิ์สิทธิ์ให้เรา “จงรับแอกของเราแบกไว้ และมาเป็นศิษย์ของเรา...” (มธ 11:29) “เราเป็นหนทาง ความจริง และชีวิต ไม่มีใครไปเฝ้าพระบิดาได้นอกจากผ่านทางเรา” (ยน 14:6) พระบิดาทรงบัญชาเมื่อพระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์บนภูเขาว่า “จงฟังท่านเถิด” (มก 9:7) พระเยซูเจ้าทรงเป็นตัวอย่างความสุขแท้และแนวปฏิบัติของบัญญัติใหม่ “ท่านทั้งหลายจงรักกันเหมือนดังที่เรารักท่าน” (ยน 15 :12) ความรักนี้รวมถึงการถวายตัวเราตามแบบฉบับของพระองค์
การทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งเรือง
CCC ข้อ 554 ในวันที่เปโตรประกาศความเชื่อว่าพระเยซูเจ้าคือพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิตนั้น พระอาจารย์เจ้า “ทรงเริ่มแจ้งแก่บรรดาศิษย์ว่าพระองค์จะต้องเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็มเพื่อรับการทรมานอย่างมาก […] จะถูกประหารชีวิต แต่จะทรงกลับคืนพระชนมชีพในวันที่สาม” (มธ 16:21) เปโตรไม่ยอมรับข่าวนี้ ศิษย์คนอื่นก็ไม่เข้าใจเรื่องนี้มากกว่าเขาเลย เหตุการณ์ลึกลับที่พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์บนภูเขาสูงต่อหน้าพยานสามคนที่ทรงเลือกไว้ คือเปโตร ยากอบและยอห์น จึงถูกจัดไว้ในบริบทดังกล่าว พระพักตร์และฉลองพระองค์ของพระเยซูเจ้าเปล่งรัศมีรุ่งโรจน์ โมเสสและประกาศกเอลียาห์สำแดงตนสนทนาอยู่กับพระองค์ “กล่าวถึงการจากไปของพระองค์ที่กำลังจะสำเร็จในกรุงเยรูซาเล็ม” (ลก 9:31) เมฆก้อนหนึ่งลอยมาปกคลุมพวกเขาไว้และเสียงหนึ่งดังออกมาจากฟากฟ้าว่า “ท่านผู้นี้เป็นบุตรของเรา ผู้ที่เราได้เลือกสรร จงฟังท่านเถิด” (ลก 9:35)
CCC ข้อ 555 พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระสิริรุ่งโรจนของพระองค์ชั่วขณะหนึ่ง จึงเป็นการรับรองการประกาศความเชื่อของเปโตร พระองค์ยังทรงแสดงด้วยว่าเพื่อจะเสด็จเข้าไปรับ “พระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์” (ลก 24:26) พระองค์จำเป็นต้องเสด็จผ่านไม้กางเขนที่กรุงเยรูซาเล็ม โมเสสและประกาศกเอลียาห์เคยเห็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าบนภูเขา ทั้งธรรมบัญญัติและบรรดาประกาศก (หมายถึง “พันธสัญญาเดิม”) ได้กล่าวไว้ล่วงหน้าแล้วถึงพระทรมานของพระเมสสิยาห์ พระทรมานของพระเยซูเจ้าจึงเป็นพระประสงค์ของพระบิดา พระบุตรทรงปฏิบัติภารกิจเหมือน “ผู้รับใช้ของพระเจ้า” กลุ่มเมฆชี้ให้เห็นการประทับอยู่ของพระจิตเจ้า “พระตรีเอกภาพจึงทรงสำแดงองค์ทั้งหมด พระบิดาในพระสุรเสียงที่ตรัส พระบุตรในมนุษย์คนหนึ่ง พระจิตเจ้าในกลุ่มเมฆสุกใส” “พระองค์ทรงสำแดงองค์อย่างรุ่งโรจน์บนภูเขา ข้าแต่พระคริสตเจ้า บรรดาศิษย์ได้แลเห็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์เท่าที่สามารถจะเห็นได้ เพื่อว่าเมื่อเขาจะเห็นพระองค์ทรงถูกตรึงกางเขน เขาจะได้เข้าใจว่าพระองค์ทรงประสงค์พระทรมานนี้ และประกาศว่าพระองค์ทรงเป็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระบิดาอย่างแท้จริง”
CCC ข้อ 556 การรับพิธีล้างเป็นเสมือนการก้าวเข้าสู่พระพันธกิจเทศน์สอนประชาชน การสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์เป็นการก้าวเข้าสู่พระธรรมล้ำลึกปัสกา พิธีล้างของพระเยซูเจ้าเป็นการ “ประกาศพระธรรมล้ำลึกเรื่องการบังเกิดใหม่ครั้งแรก” คือศีลล้างบาปของเรา การสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์เป็น “เครื่องหมายและเครื่องมือการบังเกิดใหม่ครั้งที่สอง” คือการกลับคืนชีพของเรา ตั้งแต่บัดนี้แล้ว เรามีส่วนในการกลับคืนพระชนมชีพขององค์พระผู้เป็นเจ้าโดยทางพระจิตเจ้าซึ่งทรงทำงานในศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ของพระวรกายของพระคริสตเจ้า การสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์โปรดให้เรามีประสบการณ์ล่วงหน้าถึงการเสด็จมาของพระคริสตเจ้า “ซึ่งจะทรงเปลี่ยนรูปร่างอันต่ำต้อยของเราให้เหมือนพระกายรุ่งโรจน์ของพระองค์” (ฟป 3:21) แต่เหตุการณ์นี้ยังเตือนเราให้ระลึกด้วยว่า “พวกเราจำเป็นต้องฟันฝ่าความทุกข์ยากเป็นอันมากจึงจะเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้าได้” (กจ 14:22): “เปโตรยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ เมื่อเขาปรารถนาจะอยู่บนภูเขากับพระคริสตเจ้า เปโตรเอ๋ย พระองค์ทรงสงวนเรื่องนี้ไว้สำหรับท่านเมื่อท่านตายแล้ว แต่บัดนี้พระองค์ตรัสว่า จงลงไปทำงานในโลก ลงไปรับใช้ในโลก ลงไปถูกสบประมาทและถูกตรึงกางเขนในโลก ชีวิตลงไปเพื่อถูกประหาร อาหารลงไปเพื่อหิว หนทางลงไปเพื่อหมดแรงขณะเดินทาง พุน้ำลงไปเพื่อกระหายน้ำ แล้วท่านยังปฏิเสธไม่ยอมลำบากเทียวหรือ?”
มก 9:1-2 พระอาณาจักรของพระเจ้ามาถึงพร้อมด้วยพระอานุภาพ : คำพูดเหล่านี้ทำให้บางคนในพระศาสนจักรยุคแรกรอคอยการกลับมาของพระคริสตเจ้าในช่วงเวลาที่พวกเขายังมีชีวิตอยู่ การสถาปนาอาณาจักรของพระองค์เป็นกระบวนการต่อเนื่องที่จะยังไม่บรรลุความสมบูรณ์จนกว่าพระคริสตเจ้าจะเสด็จกลับมาอีกครั้งหนึ่ง
กุญแจพระอาณาจักร
CCC ข้อ 552 ในกลุ่มชายทั้งสิบสองคนนี้ ซีโมนเปโตรมีตำแหน่งเป็นที่หนึ่ง พระเยซูเจ้าทรงมอบพันธกิจพิเศษให้เขา เปโตรได้รับการเปิดเผยจากพระบิดาประกาศว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” (มธ 16:16) องค์พระผู้เป็นเจ้าจึงประกาศแก่เขาว่า “ท่านคือศิลา และบนศิลานี้เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา ประตูนรกจะไม่มีวันชนะพระศาสนจักรได้” (มธ 16:18) พระคริสตเจ้า “ศิลาทรงชีวิต” ทรงยืนยันว่าพระศาสนจักรที่ทรงตั้งไว้บนเปโตรผู้เป็นดังศิลาจะมีชัยชนะเหนืออำนาจของความตาย เพราะความเชื่อที่เขาได้ประกาศ เปโตรจะคงเป็นหินผาที่ไม่มีวันสั่นคลอนของพระศาสนจักร เขาจะมีพันธกิจรักษาความเชื่อนี้ไว้ไม่ให้ลดลงเลย แต่จะช่วยค้ำจุนพี่น้องไว้ในความเชื่อนี้ตลอดไป
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)