วันพฤหัสบดี สัปดาห์ที่ 6 เทศกาลธรรมดา
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก ( มก 8:27-33)
เวลานั้น พระเยซูเจ้าเสด็จพร้อมกับบรรดาศิษย์ไปตามหมู่บ้านต่างๆ ในบริเวณเมืองซีซารียาแห่งฟีลิป ขณะทรงพระดำเนิน พระองค์ตรัสถามบรรดาศิษย์ว่า “คนทั้งหลายว่าเราเป็นใคร” เขาทูลตอบว่า “บ้างว่าเป็นยอห์นผู้ทำพิธีล้าง บ้างว่าเป็นประกาศกเอลียาห์ บ้างก็ว่าเป็นประกาศกองค์หนึ่ง” พระองค์ตรัสถามอีกว่า “ท่านล่ะ ว่าเราเป็นใคร” เปโตรทูลตอบว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้า” พระองค์ทรงกำชับบรรดาศิษย์มิให้กล่าวเรื่องเกี่ยวกับพระองค์แก่ผู้ใด
พระเยซูเจ้าทรงเริ่มสอนบรรดาศิษย์ว่า “บุตรแห่งมนุษย์จะต้องรับการทรมานอย่างมาก จะถูกบรรดาผู้อาวุโส มหาสมณะ และธรรมาจารย์ปฏิเสธไม่ยอมรับ และจะถูกประหารชีวิต แต่สามวันต่อมา จะกลับคืนชีพ” พระองค์ทรงประกาศพระวาจานี้อย่างเปิดเผย เปโตรนำพระองค์แยกออกไป ทูลทัดทาน แต่พระเยซูเจ้าทรงหันไปทอดพระเนตรบรรดาศิษย์ ทรงตำหนิเปโตรว่า “เจ้าซาตาน ถอยไปข้างหลังเรา อย่าขัดขวาง เจ้าไม่คิดอย่างพระเจ้า แต่คิดอย่างมนุษย์”
มก 8:27-30 คนทั้งหลายว่าเราเป็นใคร : นี่เป็นคำถามพื้นฐานสำหรับทุกคน ถ้าพระคริสตเจ้าทรงเป็นพระบุตรพระเจ้าแล้ว คำสอนของพระองค์เปิดเผยถึงความจริงของพระเจ้า การสิ้นพระชนม์และการกลับคืนชีพของพระองค์ประทานการไถ่กู้ ในที่นี้คำถามถึงอัตลักษณ์ของพระองค์ได้รับคำตอบจากการประกาศยืนยันโดยนักบุญเปโตรว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็น “พระคริสต์” เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องสังเกตว่า นักบุญเปโตรไม่ได้เป็นเพียงอีกเสียงหนึ่งที่แสดงความเห็นถึงพระองค์เท่านั้น แต่ท่านประกาศยืนยันความเชื่อที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้า
มก 8:31-37 เมื่อบรรดาอัครสาวกรับรู้แล้วว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเมสสิยาห์ พระบุตรพระเจ้า พระองค์ทรงเริ่มอธิบายให้พวกเขาทราบว่า พระองค์จะต้องถูกจับกุมและรับทนทุกข์ทรมาน สิ้นพระชนม์และกลับคืนชีพ นักบุญเปโตรซึ่งก่อนหน้านี้ได้ประกาศยืนยันว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเมสสิยาห์ กลับเป็นคนแรกที่คัดค้าน จึงได้รับคำตำหนิอย่างรุนแรง บรรดาศิษย์พบว่าความตายขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่จะต้องมาถึงนั้นเป็นสิ่งยากที่จะรับได้ อันเนื่องจากความทุกข์ทรมานและความอัปยศมากมายเช่นนั้นที่จะต้องเกิดขึ้น
พระเยซูเจ้าและธรรมบัญญัติ
CCC ข้อ 557 “เวลาที่พระเยซูเจ้าจะต้องทรงจากโลกนี้ไปใกล้เข้ามาแล้ว พระองค์ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่จะเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็ม” (ลก 9:51) การตัดสินพระทัยเช่นนี้แสดงว่าทรงพร้อมจะเสด็จขึ้นไปกรุงเยรูซาเล็มเพื่อสิ้นพระชนม์ที่นั่น พระองค์ทรงแจ้งเรื่องพระทรมานและการกลับคืนพระชนมชีพถึงสามครั้ง ขณะที่กำลังทรงพระดำเนินไปยังกรุงเยรูซาเล็ม พระองค์ตรัสว่า “ประกาศกจะตายนอกกรุงเยรูซาเล็มไม่ได้” (ลก 13:33)
พระเยซูคริสตเจ้า “ทรงรับทรมานสมัยปอนทิอัสปิลาต ทรงถูกตรึงกางเขน สิ้นพระชนม์ และทรงฝังไว้”
CCC ข้อ 572 พระศาสนจักรยังคงซื่อสัตย์ต่อการอธิบายความหมายพระคัมภีร์ทั้งหมดเหมือนกับที่พระเยซูเจ้าเคยทรงอธิบายทั้งก่อนและหลังจากปัสกาของพระองค์ “พระคริสตเจ้าจำเป็นต้องทนทรมานเช่นนี้ เพื่อจะเข้าไปรับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์มิใช่หรือ” (ลก 24:26) พระทรมานของพระเยซูเจ้าได้รับรูปแบบดังที่ได้เกิดขึ้นก็เพราะว่าทรงถูก “บรรดาผู้อาวุโส มหาสมณะ และธรรมาจารย์ปฏิเสธไม่ยอมรับ” (มก 8:31) คนเหล่านี้ “มอบพระองค์ให้คนต่างชาติสบประมาท เยาะเย้ย โบยตีและนำไปตรึงกางเขน” (มธ 20:19)
การกลับคืนพระชนมชีพ - เป็นผลงานของพระตรีเอกภาพ
CCC ข้อ 649 พระบุตรทรงใช้พระอานุภาพพระเจ้าของพระองค์เองบันดาลให้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ พระเยซูเจ้าทรงประกาศว่าบุตรแห่งมนุษย์จะต้องรับทรมานอย่างมาก จะถูกประหารชีวิต แต่สามวันต่อมาจะกลับคืนชีพ ยิ่งกว่านั้น พระองค์ยังทรงยืนยันอย่างชัดเจนว่า “เราสละชีวิตของเราเพื่อจะเอาชีวิตนั้นคืนมาอีก […] เรามีอำนาจที่จะสละชีวิตของเรา และมีอำนาจที่จะเอาชีวิตนั้นคืนมาอีก” (ยน 10:17-18) “เราเชื่อว่าพระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์และทรงกลับคืนพระชนมชีพ” (1ธส 4:14)
มก 8:31 พระคริสตเจ้าทรงทราบว่า พันธกิจการไถ่กู้ของพระองค์เกี่ยวโยงกับพระทรมาน การสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนชีพของพระองค์
พระวิญญาณและความรู้เยี่ยงมนุษย์ของพระคริสตเจ้า
CCC ข้อ 474 ความรู้แบบมนุษย์ของพระคริสตเจ้า จากความสัมพันธ์ที่ทรงมีกับพระปรีชาญาณของพระเจ้าในพระบุคคลของพระวจนาตถ์ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ ยังอาจเข้าใจพระประสงค์นิรันดรของพระเจ้าได้อย่างสมบูรณ์ และเสด็จมาเพื่อเปิดเผยพระประสงค์เหล่านี้ ในเรื่องเหล่านี้ถ้าพระองค์ทรงบอกว่าไม่ทรงทราบ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทรงประกาศว่าไม่ทรงมีพันธกิจให้เปิดเผยเรื่องนี้ให้เรารู้
มก 8:33 การที่เปโตรพยายามคัดค้านพระคริสตเจ้าในเรื่องการแบกกางเขนนั้น ท่านมิได้กระทำด้วยเจตจำนงเดียวกับซาตานที่ประจญพระองค์ในที่เปลี่ยว (เทียบ มธ 4:1-11) มารปีศาจได้ประจญพระองค์ให้หลีกเลี่ยงการสละชีวิตซึ่งเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการชดเชยบาป และเพื่อทำลายความเป็นทาสที่ปีศาจมีอำนาจเหนือโลก
คำนิยามของบาป
CCC ข้อ 1851 โดยเฉพาะในพระทรมาน เมื่อพระเมตตาของพระคริสตเจ้ากำลังจะมีชัยชนะอยู่นั้น บาปก็สำแดงความรุนแรงและความหลายหลากของมันออกมาอย่างชัดเจนที่สุด ได้แก่ความไม่เชื่อ ความอาฆาตเกลียดชัง การไม่ยอมรับและด่าทอของบรรดาผู้นำและประชาชน ความอ่อนแอของปีลาต ความโหดร้ายของบรรดาทหาร การทรยศของยูดาส – ซึ่งขมขื่นอย่างยิ่งสำหรับพระเยซูเจ้า – การปฏิเสธของเปโตรและการทอดทิ้งของบรรดาศิษย์ ถึงกระนั้น ในเวลาแห่งความมืดและของเจ้านายแห่งโลกนี้ การถวายบูชาของพระคริสตเจ้าก็กลายเป็นเสมือนพุน้ำอย่างลึกลับที่หลั่งการอภัยบาปของเราออกมาโดยไม่มีวันเหือดแห้ง
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)