วันอังคาร สัปดาห์ที่ 4 เทศกาลธรรมดา
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 5:21-43)
เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จลงเรือข้ามฟากอีกครั้งหนึ่ง ประชาชนชุมนุมกันเนืองแน่นรอบพระองค์ขณะที่ยังทรงอยู่ริมทะเลสาบ หัวหน้าศาลาธรรมคนหนึ่งชื่อไยรัสเดินมา เมื่อเห็นพระองค์ เขากราบลงที่พระบาท พร่ำวิงวอนว่า “บุตรหญิงเล็กๆ ของข้าพเจ้าจวนจะสิ้นใจอยู่แล้ว เชิญพระองค์เสด็จไปปกพระหัตถ์เหนือเขาเถิด เขาจะได้หายจากโรค กลับมีชีวิต” พระเยซูเจ้าจึงเสด็จไปกับเขา ประชาชนกลุ่มใหญ่ติดตามไปและเบียดเสียดพระองค์
ขณะนั้น หญิงคนหนึ่งตกเลือดเรื้อรังมาสิบสองปีแล้ว ได้รับความทรมานมากจากการรักษาของแพทย์หลายคน เสียทรัพย์จนหมดสิ้น โรคก็มิได้บรรเทา ตรงกันข้ามกลับทรุดหนัก นางได้ยินเขาพูดกันถึงเรื่องพระเยซูเจ้า จึงเดินปะปนกับประชาชนเข้ามาเบื้องหลัง และสัมผัสฉลองพระองค์ นางคิดว่า ”ถ้าฉันเพียงได้สัมผัสฉลองพระองค์เท่านั้น ฉันก็จะหายจากโรค” ทันใดนั้น เลือดก็หยุด นางรู้สึกว่าร่างกายหายจากโรคแล้ว ขณะเดียวกัน พระเยซูเจ้าทรงรู้สึกว่ามีอิทธิฤทธิ์ออกจากพระองค์ไป จึงทรงหันมายังกลุ่มชน ตรัสว่า “ใครสัมผัสเสื้อของเรา บรรดาศิษย์ทูลว่า “พระองค์ทรงเห็นแล้วว่าผู้คนเบียดเสียดกันเช่นนี้ แล้วยังทรงถามอีกหรือว่า ‘ใครสัมผัสเรา’” พระองค์ทรงหันไปรอบๆ เพื่อทอดพระเนตรผู้ที่ทำเช่นนั้น หญิงคนนั้นรู้สึกกลัวจนตัวสั่นเพราะรู้ดีว่าได้เกิดอะไรขึ้นแก่ตน จึงกราบลงเฉพาะพระพักตร์และทูลให้ทรงทราบความจริงทุกประการ พระองค์จึงตรัสว่า “ลูกเอ๋ย ความเชื่อของท่านช่วยท่านให้รอดพ้นแล้ว จงไปเป็นสุข หายจากโรคเถิด”
ขณะกำลังตรัสอยู่นั้น มีคนมาจากบ้านหัวหน้าศาลาธรรม บอกเขาว่า “บุตรหญิงของท่านตายแล้ว ไปรบกวนพระอาจารย์อีกทำไม” แต่พระเยซูเจ้าทรงได้ยินเขาพูดดังนั้น จึงตรัสแก่หัวหน้าศาลาธรรมว่า “อย่ากลัวเลย จงมีความเชื่อไว้เถิด” พระองค์ไม่ทรงอนุญาตให้ใครติดตามไปนอกจากเปโตร ยากอบ และยอห์นน้องชายของยากอบ เมื่อทุกคนมาถึงบ้านหัวหน้าศาลาธรรม พระเยซูเจ้าทรงเห็นความวุ่นวาย และเห็นผู้คนร่ำไห้พิลาปรำพันเป็นอันมาก พระองค์เสด็จเข้าไป ตรัสแก่คนเหล่านั้นว่า “วุ่นวายและร้องไห้ไปทำไม เด็กคนนี้ไม่ตาย เพียงแต่นอนหลับไปเท่านั้น” เขาต่างหัวเราะเยาะพระองค์ พระองค์ทรงไล่เขาออกไปข้างนอก ทรงนำบิดามารดาของเด็กและศิษย์ที่ติดตามเข้าไปยังที่ที่เด็กนอนอยู่ ทรงจับมือเด็ก ตรัสว่า “ทาลิธาคูม” แปลว่า “หนูเอ๋ย เราสั่งให้หนูลุกขึ้น” เด็กหญิงนั้นก็ลุกขึ้นทันที และเดินไปมา เด็กนั้นอายุสิบสองขวบแล้ว คนทั้งหลายต่างประหลาดใจอย่างยิ่ง พระองค์ทรงกำชับอย่างแข็งขันมิให้แพร่งพรายเรื่องนี้แก่ผู้ใด และทรงสั่งให้เขานำอาหารมาให้เด็กนั้นกิน
มก 5:21-43 พระคริสตเจ้าทรงทำอัศจรรย์มิใช่เพื่อสนองความอยากรู้อยากเห็นของผู้คน แต่เพื่อเป็นยืนยันถึงความเป็นพระเจ้าของพระองค์และความเข้มแข็งในความเชื่อของบรรดาผู้ติดตามพระองค์ โดยการรักษาหญิงที่ป่วยให้กลับสู่ชีวิต พระคริสตเจ้าทรงมอบเครื่องหมายและการบอกล่วงหน้าถึงการกลับคืนชีพของผู้ตาย รวมทั้งการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ด้วย พลังแห่งความเชื่อได้แสดงออกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการรักษาหญิงที่ตกเลือด โดยการสัมผัสชายฉลองพระองค์นางได้รับพลังที่ออกจากองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าโปรดประทานทุกสิ่งที่เราวอนขอด้วยความเชื่อและไว้วางใจ หากสิ่งนั้นเป็นสิ่งดีที่สุดเพื่อให้เราเติบโตในความเชื่อและความศักดิ์สิทธิ์
เครื่องหมายพระอาณาจักรของพระเจ้า
CCC ข้อ 548 เครื่องหมายอัศจรรย์ที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำเป็นพยานยืนยันว่าพระบิดาทรงส่งพระองค์มา เครื่องหมายอัศจรรย์เหล่านี้เชิญชวนให้ทุกคนมีความเชื่อในพระองค์ พระองค์โปรดให้ผู้ที่มีความเชื่อในพระองค์ได้รับตามที่ขอ อัศจรรย์จึงเสริมความเชื่อต่อพระองค์ผู้ทรงทำกิจการของพระบิดา กิจการเหล่านี้เป็นพยานยืนยันว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า แต่อัศจรรย์เหล่านี้ก็อาจเป็นโอกาสความแคลงใจได้เหมือนกัน อัศจรรย์เหล่านี้ไม่มีเจตนาตอบสนองความมักรู้มักเห็นหรือความอยากดูมายากล แม้ทรงทำอัศจรรย์ที่ชัดเจนเช่นนี้แล้ว หลายคนก็ยังไม่ยอมรับพระองค์ และยังทรงถูกกล่าวหาว่าทรงทำเช่นนี้อาศัยอำนาจของปีศาจ
พระเจ้าทรงค่อยๆ เปิดเผยเรื่องการกลับคืนชีพตามลำดับ
CCC ข้อ 994 ยิ่งกว่านั้น พระเยซูเจ้ายังทรงรวมความเชื่อเรื่องการกลับคืนชีพไว้กับพระบุคคลของพระองค์เองด้วย “เราเป็นการกลับคืนชีพและเป็นชีวิต” (ยน 11:25) พระเยซูเจ้าพระองค์เองจะทรงบันดาลให้ผู้ที่เชื่อในพระองค์กลับคืนชีพในวันสุดท้าย รวมทั้งผู้ที่กินพระกายและดื่ม พระโลหิตด้วย พระองค์ประทานเครื่องหมายและประกันเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อทรงคืนชีวิตให้แก่ผู้ตายบางคน และดังนี้ก็ทรงแจ้งล่วงหน้าถึงการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ด้วยแม้ว่าการนี้จะอยู่ในอีกระดับหนึ่ง พระองค์ตรัสถึงเหตุการณ์พิเศษนี้เช่นเดียวกับเมื่อตรัสถึงเครื่องหมายของประกาศกโยนาห์ ถึงเครื่องหมายเรื่องพระวิหาร พระองค์ทรงแจ้งล่วงหน้าถึงการกลับคืนพระชนมชีพที่จะเกิดขึ้นในวันที่สามหลังจากที่จะทรงถูกประหารชีวิต
พระเยซูเจ้าทรงฟังคำอธิษฐานภาวนาของเรา
CCC ข้อ 2616 พระเยซูเจ้าทรงรับฟังการอธิษฐานภาวนาต่อพระองค์แล้วตั้งแต่ในเวลาที่ทรงเทศน์สอนประชาชน ผ่านทางเครื่องหมายที่เกริ่นล่วงหน้าแล้วถึงอานุภาพของการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงฟังคำอธิษฐานภาวนาด้วยความเชื่อที่แสดงออกด้วยคำพูด (จากคนโรคเรื้อน จากไยรัส จากหญิงชาวคานาอัน จากโจรกลับใจ) หรือที่แสดงออกเงียบๆ (จากคนที่แบกคนอัมพาตเข้ามา จากหญิงตกเลือดที่มาสัมผัสฉลองพระองค์ ด้วยน้ำตาและเครื่องหอมของหญิงคนบาป) การพร่ำขอของคนตาบอดว่า “โอรสของกษัตริย์ดาวิดโปรดเมตตาเราเถิด” (มธ 9:27) หรือ “ข้าแต่พระเยซู โอรสของกษัตริย์ดาวิดเจ้าข้า โปรดเมตตาข้าพเจ้าเถิด” (มก 10:47) ซึ่งจะถูกรับไว้ในธรรมประเพณีต่อมาที่เรียกว่า การอธิษฐานภาวนาต่อพระเยซูเจ้า คือวลีว่า “ข้าแต่พระเยซู ข้าแต่พระคริสตเจ้า ข้าแต่พระบุตรของพระเจ้า พระเจ้าข้า โปรดทรงพระเมตตาต่อข้าพเจ้าคนบาปด้วยเถิด” พระเยซูเจ้าทรงตอบการอธิษฐานภาวนาที่อ้อนวอนพระองค์ด้วยความเชื่อเสมอ โดยทรงรักษาโรคหรือประทานอภัยบาป “จงไปเป็นสุขเถิด ความเชื่อของลูกช่วยลูกให้รอดพ้นแล้ว”
นักบุญออกัสตินสรุปสามมิติของการอธิษฐานภาวนาของพระเยซูเจ้าไว้อย่างน่าฟังว่า “พระองค์ทรงอธิษฐานภาวนาเพื่อเราในฐานะพระสงฆ์ของเรา ทรงอธิษฐานภาวนาในตัวเรา ในฐานะที่ทรงเป็นศีรษะของเรา ทรงรับคำอธิษฐานภาวนาจากเรา ในฐานะที่ทรงเป็นพระเจ้าของเรา ดังนั้น เราจงยอมรับเสียงของเราในพระองค์ และเสียงของพระองค์ในเรา”
มก 5:23 ปกพระหัตถ์เหนือเขา : บ่อยครั้งการรักษาด้วยอัศจรรย์ของพระเยซูเจ้าเกิดขึ้นอาศัยเครื่องหมายและท่าทาง ในที่นี้ท่าทางแห่งการวางพระหัตถ์เชื่อมโยงกับการรักษาและการเจิม และยังคงกระทำต่อไปในศีลเจิมคนไข้ อีกทั้งยังเป็นเครื่องหมายแห่งการประทานพระจิตเจ้า ซึ่งใช้ในศีลบวชและศีลกำลังด้วย
สัญลักษณ์ของพระจิตเจ้า – มือ หรือ พระหัตถ์
CCC ข้อ 699 “มือ” (หรือ “พระหัตถ์”) พระเยซูเจ้าทรงปกพระหัตถ์รักษาคนเจ็บป่วย และอวยพระพรเด็กๆ บรรดาอัครสาวกจะทำเช่นเดียวกันในพระนามของพระองค์ ยิ่งกว่านั้น พระเจ้ายังประทานพระจิตเจ้าอาศัยการปกมือของบรรดาอัครสาวก จดหมายถึงชาวฮีบรูกล่าวถึง “การปกมือ” ว่าเป็น “คำสอนพื้นฐาน” สำคัญเรื่องหนึ่งของตน พระศาสนจักรยังรักษาเครื่องหมายนี้ซึ่งแสดงถึงการประทานพลังของพระจิตเจ้าไว้ในพิธี “epiclesis” (= การอัญเชิญพระจิตเจ้า) ของศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ
ศีลกำลังในแผนการความรอดพ้น
CCC ข้อ 1288 “ตั้งแต่เวลานั้น บรรดาอัครสาวกก็ได้ปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระคริสตเจ้า ประทานพระพรของพระจิตเจ้า ซึ่งทำให้พระหรรษทานของศีลล้างบาปเต็มบริบูรณ์ โดยการปกมือแก่ผู้ที่เพิ่งรับศีลล้างบาป ดังนั้น ในจดหมายถึงชาวฮีบรู คำสอนเรื่องศีลล้างบาปและการปกมือจึงถูกจัดไว้ในเรื่องแรกๆ ของการสั่งสอนคริสตศาสนา จึงถูกต้องแล้วที่การปกมือเป็นที่ยอมรับจากธรรมประเพณีคาทอลิกว่าเป็นจุดเริ่มของศีลกำลัง ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้พระหรรษทานของวันเปนเตกอสเตคงอยู่ในพระศาสนจักรตลอดไป”
CCC ข้อ 1289 ต่อมาก็ได้เพิ่มการเจิมน้ำมันหอม (น้ำมันคริสมา) เข้ากับการปกมือ การเจิมนี้เป็นการย้ำนาม “คริสตชน” เพราะหมายถึง “ผู้รับเจิม” เพราะพระนาม “พระคริสต์” (หรือ “Christos”) ก็มาจากคำ “เจิม” นี้เอง “พระเจ้าทรงเจิมพระเยซูเจ้า... ด้วยพระอานุภาพเดชะพระจิตเจ้า” (กจ 10:38)พิธีเจิมนี้ยังคงมีอยู่จนถึงสมัยของเราทั้งในพระศาสนจักรตะวันออกและตะวันตก เพราะเหตุนี้ ในพระศาสนจักรตะวันออก ศีลนี้จึงเรียกว่า “Chrismatio” หรือ “การเจิมน้ำมันคริสมา” หรือยังเรียกอีกว่า “myron” ซึ่งก็หมายถึง “น้ำมันคริสมา” นั่นเอง ในพระศาสนจักรตะวันตก คำว่า “Confirmation” (= การทำให้มั่นคง การรับรอง) ชวนให้คิดว่าศีลนี้รับรองและทำให้พระหรรษทานของศีลล้างบาปมีความมั่นคง
พระคริสตเจ้าทรงเป็นเสมือนนายแพทย์
CCC ข้อ 1504 พระเยซูเจ้าทรงขอร้องคนเจ็บป่วยให้มีความเชื่อ ทรงใช้เครื่องหมายเพื่อบำบัดรักษา เช่นทรงใช้พระเขฬะ การปกพระหัตถ์ ทรงป้ายโคลนและสั่งให้ไปล้างออก บรรดาคนเจ็บป่วยพยายามสัมผัสพระองค์ “เพราะมีพระอานุภาพออกจากพระองค์รักษาทุกคนให้หายโรค” (ลก 6:19) ดังนั้น ในศีลศักดิ์สิทธิ์ พระคริสตเจ้ายังคงทรง “สัมผัส” เพื่อบำบัดรักษาพวกเรา
การปกมือในพิธีศีลบวช
CCC ข้อ 1597 พิธีศีลบวชประกอบด้วยการปกมือตามด้วยบทอธิษฐานภาวนามอบถวายอย่างสง่าซึ่งวอนขอพระหรรษทานของพระจิตเจ้าที่จำเป็นเพื่อศาสนบริการสำหรับผู้รับศีลบวช การบวชยังพิมพ์ตราประทับที่ไม่มีวันลบออกได้ให้อีกด้วย
มก 5:25-29 ตกเลือด : ภายใต้กฎของโมเสส ภาวะเรื้อรังของสตรีนี้ทำให้นางและทุกสิ่งที่นางสัมผัสกลายเป็นมลทิน ดังนั้นนางจึงไม่สามารถร่วมพิธีนมัสการในที่สาธารณะได้ อย่างไรก็ตามในกรณีนี้เป็นการสัมผัสชายฉลองพระองค์ของพระคริสตเจ้านั่นเองที่ทำให้นางได้รับการรักษาและกลายเป็นผู้ปราศจากมลทินตั้งแต่นั้นมา
CCC ข้อ 2616 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (มก 5:21-43)
มก 5:43 ทรงกำชับอย่างแข็งขันมิให้แพร่งพรายเรื่องนี้แก่ผู้ใด : การปฏิบัติของพระเยซูเจ้าที่ปกปิดอัตลักษณ์ของพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นพระเมสสิยาห์และพระบุตรพระเจ้านั้นเกิดขึ้นจากความปรารถนาของพระองค์ที่จะหลีกเลี่ยงการเป็นกษัตริย์ในทางโลก หรือหลีกเลี่ยงการมุ่งแต่เพียงการรักษาทางกายเท่านั้น บางครั้งเราเรียกการกระทำแบบนี้ว่า “ความลับของพระเมสสิยาห์”
พระคริสตเจ้าทรงเป็นเสมือนนายแพทย์
CCC ข้อ 1505 พระคริสตเจ้าทรงสะเทือนพระทัยเพราะความเจ็บปวดมากมายเช่นนี้ไม่เพียงแต่ทรงอนุญาตให้คนเจ็บป่วยสัมผัสพระองค์ได้ แต่ยังทรงทำให้ความน่าสงสารของเราเป็นของพระองค์ด้วย “พระองค์ทรงรับเอาความอ่อนแอของเราไว้ และทรงแบกความเจ็บป่วยของเรา” (มธ 8:17) พระองค์มิได้ทรงบำบัดรักษาความเจ็บป่วยทั้งหมด การที่ทรงบำบัดรักษาเป็นเครื่องหมายว่าพระอาณาจักรของพระเจ้ามาถึงแล้ว เป็นการแจ้งถึงการบำบัดรักษาที่ลึกซึ้งกว่านั้น คือแจ้งถึงชัยชนะต่อบาปและความตายโดยปัสกาของพระองค์ บนไม้กางเขน พระคริสตเจ้าทรงรับน้ำหนักทั้งหมดของความชั่วมาไว้กับพระองค์ และทรงแบก “บาปของโลก” ไว้ (ยน 1:29) ความเจ็บป่วยเป็นเพียงผลของบาปนี้เท่านั้น อาศัยพระทรมานและการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน พระคริสตเจ้าประทานความหมายใหม่ให้แก่ความทุกข์ ตั้งแต่นี้ไป ความทุกข์อาจทำให้เราเป็นเหมือนพระองค์และอาจมีส่วนร่วมกับพระทรมานเพื่อไถ่กู้ของพระองค์ด้วย
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)