ข้อคิดข้อรำพึง
อาทิตย์ที่ 3 เทศกาลธรรมดา ปี C
“ในวันนี้ ข้อความจากพระคัมภีร์ที่ท่านได้ยินกับหูอยู่นี้เป็นความจริงแล้ว”
ปีนี้เราเน้นพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา ท่านเขียนพระวรสารหลังจากเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นแล้วประมาณ 50 ปี คือเขียนในราว ค.ศ. 80 ท่านไม่ได้แต่งเรื่องขึ้นมาเอง แต่เขียนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แม้ท่านไม่ได้เห็นพระเยซูเจ้า แต่ท่านก็เป็นพยานรุ่นที่สอง เรื่องราวต่างๆ ถ่ายทอดกันมา ท่านจึงพยายามค้นคว้า เรียงลำดับเหตุการณ์ และบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ข้อมูลของท่านมาจากคำบอกเล่าของประจักษ์พยานและผู้เทศน์สอนพระวาจา มีตำนานหนึ่งเล่าด้วยว่าหนึ่งในแหล่งข้อมูลของลูกา คือพระนางมารีย์ พระมารดาของพระเยซูเจ้า
บทเริ่มต้นของท่านเขียนในรูปแบบวรรณกรรมของกรีก เอ่ยชื่อถึงท่านเธโอฟีลัส ซึ่งแปลว่า “ผู้ที่รักพระเจ้า” จึงเป็นชื่อที่หมายถึงใครก็ได้ ที่เริ่มแสวงหาพระเจ้าด้วยความรัก เพราะต้องการรู้จักพระเจ้าให้มากขึ้น
จากงานเขียนของท่านเราจะเห็นลักษณะเด่นๆ หลายอย่างในตัวของท่าน ซึ่งแตกต่างจากผู้เขียนพระวรสารท่านอื่นๆ เช่น ท่านเน้นบทบาทของพระจิตเจ้า และการภาวนา ท่านเน้นถึงความเมตตาของพระเจ้า การเอาใจใส่ของพระเจ้าต่อคนยากจน และคนที่ถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม
พระเยซูเจ้าทรงประกาศความห่วงใยของพระเจ้าต่อคนยากจนและคนนอกสังคม เมื่อพระองค์ทรงเริ่มต้นพันธกิจเทศน์สอนของพระองค์ในนาซาเร็ธ นี่คือปีแห่งความโปรดปรานจากพระเจ้า เพราะพระองค์ทรงนำข่าวดีมาประกาศแก่คนยากจน ประกาศการปลดปล่อยแก่ผู้ถูกจองจำ คืนสายตาให้คนตาบอด และปลดปล่อยผู้ถูกกดขี่ให้เป็นอิสระ
พระเอกของนักบุญลูกาคือ คนโรคเรื้อน คนตาบอด คนง่อยเปลี้ยเสียขา คนเก็บภาษี คนเลี้ยงแกะ คนบาปสาธารณะ ชาวสะมาเรีย และคนต่างชาติ ทุกคนเป็นบุคคลอยู่นอกระบบสังคม ลูกายังเน้นบทบาทสำคัญที่มอบให้สตรี โดยเฉพาะพระนางมารีย์ นางเอลีซาเบธ มารธา และมารีย์ กลุ่มสตรีที่ช่วยเหลือพระเยซูเจ้าและอัครสาวกในงานเทศนาสั่งสอนของพระองค์ และกลุ่มสตรีที่แสดงความสงสารพระองค์ขณะแบกไม้กางเขนไปสู่ที่ประหารบนเขากัลวารีโอ(เทียบหนังสือ พระวาจากับชีวิต ปี C เล่ม 2 –บาทหลวงเอกรัตน์ หอมประทุม เรียบเรียง - หน้า 104 -105)
พูดถึงคนโรคเรื้อนเป็นพระเอกกันสักหนึ่งตัวอย่างดีกว่านะครับ เป็นเรื่องจริงของนักบุญเดเมียน แห่งโมโลไค ซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่สมัครไปทำงานในเกาะที่เป็นนิคมของคนโรคเรื้อน ท่านทำงานกับบรรดาคนโรคเรื้อนโดยมิได้รังเกียจ แต่ทำด้วยความรักของพระคริสต์ที่มีต่อประชากรที่อยู่นอกระบบสังคมอย่างแท้จริง จนในที่สุด ท่านก็เป็นโรคเรื้อนไปด้วย และยอมสูญเสียชีวิตเพื่อเห็นแก่ความรักของพระคริสต์ ขอเล่าส่วนหนึ่งในช่วงชีวิตของท่านบนเกาะ วันหนึ่งมีคนโรคเรื้อนคนหนึ่งมาขอให้นักบุญเดเมียนล้างบาปให้เขา ท่านถามว่า “เธอรู้ไหมว่าเป็นคริสตชนหมายความว่าอะไร” คนโรคเรื้อนตอบว่า “สำหรับคนที่ไม่มีจมูกหรือหู หมายถึงจะต้องไปช่วยผู้ที่ไม่มีมือ สำหรับพวกที่ไม่มีมือ หมายถึงจะต้องไปช่วยพวกที่ไม่มีเท้า และสำหรับพวกที่ไม่มีเท้าแล้ว หมายถึงจะต้องไปช่วยพวกที่เป็นอัมพาตที่ต้องอยู่แต่บนเตียง” (เรื่องนี้มาจาก John Chambers, S.J., With Eyes Fixed on Jesus, Cycle C., p.67)
อ่านเรื่องนี้แล้วพอจะเห็นวีรกรรมและการอุทิศตนประกาศข่าวดีโดยมีพระจิตเจ้าอย่างเต็มเปี่ยมของนักบุญเดเมียนหรือไม่ และประทับใจในความมุ่งมั่นที่จะทำ ณ บัดนี้ของคนโรคเรื้อนพระเอกนอกระบบสังคมของเราหรือไม่
พระเยซูเจ้ามักจะใช้คำว่า “วันนี้” บ่อยมากในพระวรสารของนักบุญลูกา เช่นตอนจบของวันนี้ “ในวันนี้ข้อความจากพระคัมภีร์ที่ท่านได้ยินกับหูอยู่นี้เป็นความจริงแล้ว” ยังมีอีกมากเช่น “วันนี้…พระผู้ไถ่ประสูติแล้ว… วันนี้ เราได้เห็นเรื่องแปลกประหลาด… วันนี้ ความรอดเข้ามาสู่บ้านนี้แล้ว… วันนี้ ท่านจะอยู่กับเราในสวรรค์…” ฯลฯ กล่าวคือนักบุญลูกาพูดคำว่า “วันนี้” ไว้ถึง 12 ครั้งในพระวรสารของท่าน แล้วเราจะรับฟังพระวาจาของพระเจ้าเพื่อนำไปปฏิบัติตาม วันนี้ หรือ วันนั้น หรือ วันไหน
(คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ เขียนลงสารวัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2013)