แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันพุธ อัฐมวารพระคริสตสมภพ

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 2:22-35)                                                                                                                       

เวลานั้น เมื่อครบกำหนดเวลาที่มารดาและบุตรจะต้องทำพิธีชำระมลทินตามธรรมบัญญัติของโมเสส โยเซฟพร้อมกับพระนางมารีย์นำพระกุมารไปที่กรุงเยรูซาเล็มเพื่อถวายแด่พระเจ้า มีเขียนไว้ในธรรมบัญญัติขององค์พระผู้เป็นเจ้าว่า จะต้องถวายบุตรชายคนแรกแด่องค์พระผู้เป็นเจ้า และถวายเครื่องบูชาคือนกเขาหนึ่งคู่หรือนกพิราบสองตัวตามที่มีกำหนดไว้ในธรรมบัญญัติของพระเจ้า เวลานั้นที่กรุงเยรูซาเล็ม ชายผู้หนึ่งชื่อสิเมโอน เป็นคนชอบธรรมและยำเกรงพระเจ้า เขารอคอยความรอดพ้นของอิสราเอล พระจิตเจ้าสถิตอยู่กับเขา และทรงเปิดเผยให้เขารู้ว่า เขาจะไม่ตายก่อนที่จะได้เห็นพระคริสต์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า พระจิตเจ้าทรงนำสิเมโอนเข้าไปในพระวิหาร ขณะที่โยเซฟพร้อมกับพระนางมารีย์นำพระกุมารเข้ามาปฏิบัติตามที่ธรรมบัญญัติกำหนดไว้ สิเมโอนรับพระกุมารมาอุ้มไว้ และกล่าวถวายพระพรแด่พระเจ้าว่า “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า บัดนี้ พระองค์ทรงปล่อยผู้รับใช้ของพระองค์ไปเป็นสุข ตามพระดำรัสของพระองค์ เพราะนัยน์ตาของข้าพเจ้าได้เห็นองค์พระผู้ช่วยให้รอดพ้น ผู้ที่พระองค์ทรงจัดเตรียมไว้สำหรับนานาประชาชาติเป็นแสงสว่างเปิดเผยให้คนต่างชาติรู้จักพระองค์ และเป็นสิริรุ่งโรจน์สำหรับอิสราเอลประชากรของพระองค์”

โยเซฟประหลาดใจในถ้อยคำที่กล่าวถึงพระกุมาร พระนางมารีย์ก็ทรงรู้สึกเช่นเดียวกัน สิเมโอนอวยพรท่านทั้งสองและกล่าวแก่พระนางมารีย์ พระมารดาว่า “พระเจ้าทรงกำหนดให้กุมารนี้เป็นเหตุให้คนจำนวนมากในอิสราเอลต้องล้มลง หรือลุกขึ้น และเป็นเครื่องหมายแห่งการต่อต้าน เพื่อความในใจของคนจำนวนมากจะถูกเปิดเผย” ส่วนท่าน ดาบจะแทงทะลุจิตใจของท่าน


ลก 2:21-24  พระคริสตเจ้าทรงรับพิธีเข้าสุหนัตในวันที่แปดหลังการบังเกิดของพระองค์ เป็นเหตุการณ์ที่เฉลิมฉลองในปฏิทินพิธีกรรมของอัฐมวารพระคริสตสมภพ คือในวันที่ 1 มกราคม การเข้าสุหนัตเป็นเครื่องหมายของการเข้าร่วมพันธสัญญาของอิสราเอลในฐานะลูกหลานของอับราฮัม (เทียบ ลก 1:59–66) ในทำนองเดียวกัน ตามกฎหมายของชาวยิว บิดามารดาของพระคริสตเจ้าได้นำพระองค์ไปที่พระวิหารหลังจากที่พระองค์บังเกิดได้สี่สิบวันเพื่อทำพิธีชำระมลทินและการถวายบุตรหัวปี การชำระมลทินของสตรีหลังจากการคลอดบุตรนั้นเป็นสิ่งจำเป็นต้องทำก่อนที่นางจะไปนมัสการในพระวิหารหรือแตะต้องสิ่งของศักดิ์สิทธิ์อีกครั้งหนึ่ง กระทำโดยการถวายเครื่องบูชาด้วยลูกแกะ นกเขาหนึ่งคู่หรือนกพิราบสองตัว ที่จริงแล้วในกรณีของการปฏิสนธิของพระนางมารีย์และการประสูติของพระคริสตเจ้ามิได้ทำให้พระนางมีมลทินใดภายใต้ธรรมบัญญัติ แต่พระนางก็ได้ปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ พิธีถวายบุตรชายคนแรกนั้นเป็น “การไถ่กู้เชิงสาธารณะ” ที่จำเป็นสำหรับบุตรชายหัวปีของชนทุกเผ่าที่แตกต่างเผ่าเลวี กล่าวคือ บิดามารดาจะถวายบุตรชายของพวกเขาแด่พระเจ้าในเชิงสัญลักษณ์ และซื้อบุตรกลับคืนด้วยการถวายเงินจำนวนเล็กน้อย การถวายพระคริสตเจ้าในพระวิหารเป็นข้อรำพึงที่สี่ในพระธรรมล้ำลึกแห่งความปิติยินดีของการสวดสายประคำ และมีการเฉลิมฉลองตามปฏิทินพิธีกรรมในวันที่สี่สิบหลังจากวันพระคริสตสมภพ คือในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ การฉลองนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การเสกเทียน (“ มิสซาเสกเทียน”) เพื่อเน้นว่าพระคริสตเจ้าทรงเป็นแสงสว่างของโลก ตามคำทำนายของซิเมโอน ด้วยเหตุนี้จึงมีการนำเทียนที่ได้รับการเสกในวันนี้ไปใช้ตลอดทั้งปี 

CCC ข้อ 435 พระนามเยซูเป็นศูนย์กลางของคำอธิษฐานภาวนาของคริสตชน คำภาวนาทางพิธีกรรมทุกบทล้วนลงท้ายด้วยสูตรว่า “อาศัยพระบารมีพระเยซูคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้าทั้งหลาย” บท “วันทามารีย์” มีจุดยอดอยู่ที่คำว่า “และพระเยซูโอรสของท่านทรงได้รับพระพรยิ่งนัก” บทภาวนายกจิตใจของคริสตชนตะวันออกที่เรียกว่า “บทภาวนาเยซู” (Jesus prayer) มีข้อความว่า “ข้าแต่พระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้า โปรดทรงพระเมตตาข้าพเจ้าคนบาปเถิด” คริสตชนจำนวนมาก อย่างเช่นนักบุญโยนออฟอาร์ค สิ้นใจขณะที่ออกพระนาม “เยซู” จากปากของตน

CCC ข้อ 527 การรับพิธีสุหนัตของพระเยซูเจ้าในวันที่แปดหลังจากทรงสมภพ เป็นเครื่องหมายว่าพระองค์ทรงเข้ามาเป็นลูกหลานของอับราฮัม เป็นสมาชิกของประชากรที่พระเจ้าทรงทำพันธสัญญาด้วย ทรงอยู่ใต้ธรรมบัญญัติ เพื่อทรงมีส่วนร่วมในคารวกิจของอิสราเอลตลอดพระชนมชีพของพระองค์ เครื่องหมายนี้บอกล่วงหน้าถึงศีลล้างบาป ซึ่งเป็นเสมือน “พิธีสุหนัตที่มาจากพระคริสตเจ้า”

CCC ข้อ 529 การถวายพระกุมารเยซูในพระวิหาร แสดงว่าพระองค์ทรงเป็นบุตรคนแรกที่เป็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าโดยแท้จริง พร้อมกับท่านผู้เฒ่าสิเมโอนและประกาศกหญิงอันนา ประชากรอิสราเอลทั้งหมดรอคอยจะพบกับพระผู้ไถ่ของตน – ธรรมประเพณีพิธีกรรมของจารีตไบเซนไตน์ใช้ชื่อเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “การพบ” – พระเยซูเจ้าทรงได้รับการยอมรับว่าเป็น  พระเมสสิยาห์ที่มนุษยชาติรอคอยมาเป็นเวลานาน เป็น “แสงสว่างส่องนานาชาติ” และเป็น “สิริรุ่งโรจน์สำหรับอิสราเอล” แต่ก็ยังทรงเป็น “เครื่องหมายแห่งการต่อต้าน” อีกด้วยดาบแห่งความทุกข์ที่ท่านสิเมโอน กล่าวพยากรณ์แก่พระนางมารีย์ยังแจ้งถึงการถวายพระองค์อีกประการหนึ่ง ซึ่งเป็นการถวายองค์อย่างสมบูรณ์หนึ่งเดียว คือการถวายองค์บนไม้กางเขนซึ่งจะนำความรอดพ้นที่พระเจ้า “ทรงจัดเตรียมไว้สำหรับนานาประชาชาติ” มาให้มวลมนุษย์

CCC ข้อ 583 เช่นเดียวกับบรรดาประกาศกที่มาก่อนหน้าพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงแสดงความเคารพอย่างลึกซึ้งต่อพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม ที่นั่น โยเซฟและพระนางมารีย์นำพระองค์ไปถวายหลังจากทรงสมภพได้สี่สิบวัน เมื่อทรงพระชนมายุสิบสองพรรษาพระองค์ทรงตัดสินพระทัยค้างอยู่ในพระวิหารเพื่อทรงเตือนบิดามารดาให้ระลึกว่าพระองค์จำเป็นต้องทำธุรกิจของ พระบิดา ทุกปีในช่วงเวลาที่ทรงพระชนมชีพซ่อนเร้น พระองค์เสด็จขึ้นไปที่นั่นอย่างน้อยในเทศกาลปัสกา ช่วงเวลาที่ทรงเทศน์สอนประชาชนดูเหมือนจะถูกกำหนดโดยช่วงเวลาที่เสด็จขึ้นไปกรุงเยรูซาเล็มในโอกาสฉลองสำคัญของชาวยิว

CCC ข้อ 1245 การอวยพรอย่างสง่า ปิดพิธีศีลล้างบาป ถ้าเป็นพิธีศีลล้างบาปของทารกที่เพิ่งเกิด พิธีอวยพรมารดาของเด็กมีความสำคัญเป็นพิเศษ


ลก 2:25-38  ความเชื่อของพระนางมารีย์ไม่เคยหวั่นไหวเพราะพระนางไว้วางใจในพระวาจาของพระเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม พระนางทำประสบการณ์และมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดกับธรรมล้ำลึกแห่งพระมหาทรมานที่พระคริสตเจ้าทรงรับเพื่อความรอดพ้นของเรามากกว่าใครทั้งสิ้น ในประวัติศาสตร์บทเพลงของซิเมโอนที่เรียกว่า Nunc Dimittis นั้นมาจากคำแรกของการแปลในภาษาละติน ใช้ในการสวดภาวนาทำวัตรค่ำ

CCC ข้อ 145 จดหมายถึงชาวฮีบรูที่กล่าวยกย่องบรรพบุรุษของอิสราเอลอย่างมากมายได้ย้ำเป็นพิเศษถึงความเชื่อของอับราฮัม “เพราะความเชื่อ อับราฮัมเชื่อฟังเมื่อพระเจ้าทรงเรียกให้ออกเดินทางไปสู่สถานที่ที่เขาจะได้รับเป็นมรดก เขาออกเดินทางโดยไม่รู้ว่าจะไปไหน” (ฮบ 11:8) เพราะความเชื่อ เขาอาศัยอยู่ในแผ่นดินแห่งพระสัญญาอย่างคนต่างถิ่น เพราะความเชื่อ นางซาราห์ได้รับพระพรให้ปฏิสนธิบุตรแห่งพระสัญญา ในที่สุด เพราะความเชื่ออับราฮัมจึงถวายบูชายัญบุตรคนเดียวของตน

CCC ข้อ 575 การกระทำและพระวาจาในหลายกรณีจึงเป็น “เครื่องหมายแห่งการต่อต้าน” สำหรับผู้นำทางศาสนาที่กรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งพระวรสารของยอห์นเรียกบ่อยๆ ว่า “ชาวยิว” มากกว่าสำหรับสามัญชนประชากรของพระเจ้าโดยทั่วไป โดยแท้จริงแล้ว ความสัมพันธ์ของพระองค์กับชาวฟาริสีมิได้มีแต่ความขัดแย้งกันเสมอไปเท่านั้น ชาวฟาริสีบางคนทูลเตือนพระองค์ถึงอันตรายที่พระองค์กำลังจะต้องเผชิญ พระองค์ทรงกล่าวชมพวกเขาบางคน เช่นธรรมาจารย์ที่ มก 12:34 กล่าวถึง และหลายครั้งทรงรับเชิญไปเสวยพระกระยาหารที่บ้านของชาวฟาริสี พระองค์ทรงยืนยันคำสอนที่กลุ่มศาสนาพิเศษในประชากรของพระเจ้ากลุ่มนี้ยอมรับเป็นคำสอนของตน เช่นคำสอนเรื่องการกลับคืนชีพของผู้ตาย  รูปแบบต่างๆ เพื่อแสดงความเลื่อมใสศรัทธา (การให้ทาน การอธิษฐานภาวนา และการจำศีลอดอาหาร) และธรรมเนียมเรียกพระเจ้าเป็นพระบิดา และกำหนดว่าความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์เป็นบทบัญญัติสำคัญที่สุด

CCC ข้อ 587 ถ้าธรรมบัญญัติและพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มอาจเป็น “เครื่องหมายแห่งการต่อต้าน” พระเยซูเจ้าสำหรับผู้นำทางศาสนาของอิสราเอล พันธกิจของพระองค์ในการไถ่บาปซึ่งเป็นผลงานยอดเยี่ยมของพระเจ้าจึงเป็นศิลาที่ทำให้พวกเขาสะดุดล้มโดยแท้จริง

CCC ข้อ 618 ไม้กางเขนเป็นการถวายบูชาเพียงหนึ่งเดียวของพระคริสตเจ้า คนกลางเพียงผู้เดียวระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ แต่เนื่องจากว่าพระองค์ “ทรงประหนึ่งว่ารวมเป็นหนึ่งเดียวกับมนุษย์ทุกคน” ในพระบุคคลพระเจ้าผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ “พระองค์จึงประทานให้มนุษย์ทุกคนมีโอกาสร่วมส่วนในพระธรรมล้ำลึกปัสกาได้โดยวิธีการที่พระเจ้าทรงทราบ” พระองค์ทรงเรียกร้องให้บรรดาศิษย์แบกไม้กางเขนของตนและตามพระองค์ เพราะพระองค์ทรงรับทรมานเพื่อเราและประทานแบบฉบับไว้ให้เราดำเนินตามรอยพระบาท พระองค์ทรงประสงค์ให้ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการถวายบูชาไถ่กู้ของพระองค์ก่อนผู้อื่นได้มีส่วนร่วมในการถวายบูชานี้ด้วย การนี้เป็นจริงอย่างสมบูรณ์ในองค์พระมารดาของพระองค์ ผู้ทรงมีส่วนร่วมพระธรรมล้ำลึกพระทรมานไถ่กู้ของพระองค์อย่างลึกซึ้งมากกว่าผู้ใดทั้งสิ้น “นี่คือบันไดแท้จริงเพียงหนึ่งเดียวเพื่อขึ้นสวรรค์ และไม่มีบันไดอื่นใดอีกนอกจากไม้กางเขนที่เราจะใช้เดินขึ้นสวรรค์ได้”

CCC ข้อ 695 “การเจิม” การใช้น้ำมันเจิมยังหมายถึงพระจิตเจ้า จนกลายเป็นคำที่มีความหมายเดียวกันด้วย ในพิธีรับคริสตชนใหม่ การเจิมเป็นเครื่องหมายของศีลกำลัง ซึ่งในพระศาสนจักรตะวันออกเรียกว่า “การเจิมน้ำมันคริสมา” แต่เพื่อจะเข้าใจความหมายทั้งหมดของการนี้ ก่อนอื่นจำเป็นต้องกลับไปยังการเจิมครั้งแรกที่พระจิตเจ้าทรงบันดาลให้ คือการเจิมของพระเยซูเจ้า พระคริสตเจ้า (“พระเมสสิยาห์” ในภาษาฮีบรู) หมายถึง “ผู้รับเจิม” ของพระจิตเจ้า ในพันธสัญญาเดิมมี “ผู้รับเจิม” อยู่หลายคน กษัตริย์ดาวิดทรงเป็น “ผู้รับเจิม” พิเศษ แต่พระเยซูเจ้าทรงเป็น “ผู้รับเจิม” พิเศษสุดของพระเจ้า พระธรรมชาติมนุษย์ที่พระบุตรทรงรับมานั้น “ได้รับเจิมทั้งหมดจากพระจิตเจ้า” พระเยซูเจ้าทรงได้รับแต่งตั้งจากพระจิตเจ้าเป็น “พระคริสตเจ้า”  พระนางมารีย์พรหมจารีทรงปฏิสนธิพระคริสตเจ้าเดชะพระจิตเจ้าผู้ทรงใช้ทูตสวรรค์มาแจ้งข่าวเมื่อทรงประสูติว่าทรงเป็นพระคริสตเจ้า และยังดลใจผู้เฒ่าสิเมโอนให้เข้ามาในพระวิหารเพื่อจะได้เห็นพระคริสต์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า พระคริสตเจ้าทรงรับพระจิตเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม และพระพลังของพระจิตเจ้าออกจากพระคริสตเจ้าเมื่อพระองค์ทรงรักษาโรคและประทานความรอดพ้น ในที่สุด พระจิตเจ้ายังทรงปลุกพระเยซูเจ้าให้กลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย บัดนี้พระเยซูเจ้าผู้ทรงได้รับแต่งตั้งเป็น “พระคริสตเจ้า” (ผู้รับเจิม) โดยสมบูรณ์ในสภาพมนุษย์ที่มีชัยชนะเหนือความตาย ทรงหลั่งพระจิตเจ้าอย่างอุดมบริบูรณ์จนกระทั่งว่า “บรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์” ร่วมกับพระธรรมชาติมนุษย์ของพระบุตรพระเจ้า “เป็นผู้ใหญ่เต็มที่ตามมาตรฐานความสมบูรณ์ของพระคริสตเจ้า” (อฟ 4:13) หรือเป็น “พระคริสตเจ้าสมบูรณ์” ตามสำนวนของนักบุญออกัสติน


ลก 2:25  ความรอดพ้นของอิสราเอล: คำว่า การเสด็จมาของพระเมสสิยาห์ พระผู้ไถ่กู้ และคำว่า “การไถ่กู้กรุงเยรูซาเล็ม” ล้วนบ่งบอกว่าทั้งซิเมโอนและอันนาต่างก็กำลังรอคอยพระเมสสิยาห์ และค้นพบว่าการรอคอยอันยาวนานของพวกเขานั้นสำเร็จไปในองค์พระคริสตกุมาร

CCC ข้อ 711 “ดูเถิด เรากำลังจะทำสิ่งใหม่” (อสย 43:19) มีคำสอนสองสายของประกาศกที่ค่อยๆ พัฒนาขึ้นสายหนึ่งนำไปสู่การรอคอยพระเมสสิยาห์ อีกสายหนึ่งเป็นการแจ้งล่วงหน้าถึงชีวิตจิตใจใหม่ คำสอนทั้งสองสายนี้มาบรรจบกันใน “บรรดาผู้รอดชีวิต” คือประชากรผู้ถ่อมตน (หรือ “ยากจน”) ที่มีความหวังกำลังรอคอย “ความรอดพ้นของอิสราเอล” และ “การไถ่กู้กรุงเยรูซาเล็ม” (ลก 2:25,38) เราได้เห็นมาแล้วว่าพระเยซูเจ้าทรงทำให้คำพยากรณ์ถึงพระองค์เป็นจริงไปอย่างไร ที่ตรงนี้เราจะจำกัดอยู่เพียงคำพยากรณ์ที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างพระเมสสิยาห์กับพระจิตของพระองค์ชัดเจนมากกว่า


ลก 2:32  ภาษาที่ระบุถึงอัตลักษณ์ของพระเมสสิยาห์นี้ชวนให้ระลึกถึงบทเพลงของผู้รับใช้ที่ประกาศกอิสยาห์ได้กล่าวไว้ (เทียบ อสย 49:5-6)

CCC ข้อ 713 ภาพลักษณ์ของพระเมสสิยาห์เปิดเผยให้เห็นชัดเจนโดยเฉพาะใน “บทเพลงของผู้รับใช้” บทเพลงเหล่านี้แจ้งว่าพระทรมานของพระเยซูเจ้ามีความหมายอย่างไร และดังนี้จึงชี้ให้เห็นวิธีการที่พระองค์จะหลั่งพระจิตเจ้าเพื่อประทานชีวิตแก่คนจำนวนมาก ไม่ใช่จากภายนอก แต่เมื่อทรงรับ “สภาพดุจทาส” (ฟป 2:7) เป็นมนุษย์เหมือนเรา ทรงรับความตายของเรา พระองค์ก็อาจบันดาลให้เรามีส่วนในพระจิตแห่งชีวิตของพระองค์ได้

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)