วันศุกร์ สัปดาห์ที่ 3 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 1:1-17)
หนังสือลำดับพระวงศ์ของพระเยซูคริสตเจ้า พระโอรสของกษัตริย์ดาวิด ผู้ทรงสืบตระกูลมาจากอับราฮัม
อับราฮัมเป็นบิดาของอิสอัค อิสอัคเป็นบิดาของยาโคบ ยาโคบเป็นบิดาของยูดาห์กับบรรดาพี่น้อง ยูดาห์เป็นบิดาของเปเรศและเศราห์ มารดาของคนทั้งสองคือนางทามาร์ เปเรศเป็นบิดาของเฮสโรน เฮสโรนเป็นบิดาของราม รามเป็นบิดาของอัมมีนาดับ อัมมีนาดับเป็นบิดาของนาโซน นาโซนเป็นบิดาของสัลโมน สัลโมนเป็นบิดาของโบอาส มารดาของโบอาสคือนางราหับ โบอาสเป็นบิดาของโอเบด มารดาของโอเบดคือนางรูธ โอเบดเป็นบิดาของเจสซี เจสซีเป็นบิดาของกษัตริย์ดาวิด กษัตริย์ดาวิดเป็นบิดาของซาโลมอน มารดาของซาโลมอนเคยเป็นภรรยาของอุรียาห์
ซาโลมอนเป็นบิดาของเรโหโบอัม เรโหโบอัมเป็นบิดาของอาบียาห์ อาบียาห์เป็นบิดาของอาสา อาสาเป็นบิดาของเยโฮซาฟัท เยโฮซาฟัทเป็นบิดาของโยรัม โยรัมเป็นบิดาของอุสซียาห์ อุสซียาห์เป็นบิดาของโยธาม โยธามเป็นบิดาของอาคัส อาคัสเป็นบิดาของเฮเซคียาห์ เฮเซคียาห์เป็นบิดาของมนัสเสห์ มนัสเสห์เป็นบิดาของอาโมน อาโมนเป็นบิดาของโยสิยาห์ โยสิยาห์เป็นบิดาของเยโคนียาห์และพี่น้อง ในสมัยถูกกวาดต้อนเป็นเชลยไปกรุงบาบิโลน
หลังจากถูกกวาดต้อนไปกรุงบาบิโลนแล้ว เยโคนียาห์เป็นบิดาของเชอัลทิเอล เชอัลทิเอลเป็นบิดาของเศรุบบาเบล เศรุบบาเบลเป็นบิดาของอาบียุด อาบียุดเป็นบิดาของเอลียาคิม เอลียาคิมเป็นบิดาของอาซอร์ อาซอร์เป็นบิดาของศาโดก ศาโดกเป็นบิดาของอาคิม อาคิมเป็นบิดาของเอลีอูด เอลีอูดเป็นบิดาของเอเลอาซาร์ เอเลอาซาร์เป็นบิดาของมัทธาน มัทธานเป็นบิดาของยาโคบ ยาโคบเป็นบิดาของโยเซฟ พระสวามีของพระนางมารีย์ พระเยซูเจ้าที่ขานพระนามว่า “พระคริสตเจ้า” ประสูติจากพระนางมารีย์ผู้นี้
ดังนั้น ลำดับพระวงศ์ของพระเยซูเจ้าจากอับราฮัมถึงกษัตริย์ดาวิดมีสิบสี่ชั่วคน นับจากกษัตริย์ดาวิดถึงสมัยที่ถูกกวาดต้อนเป็นเชลยไปกรุงบาบิโลนมีอีกสิบสี่ชั่วคน และนับจากสมัยที่ถูกกวาดต้อนเป็นเชลยไปกรุงบาบิโลนถึงพระเยซูเจ้ามีอีกสิบสี่ชั่วคน
มธ 1:1 มัทธิว บุตรของอัลเฟอัส เป็นชาวยิว มีอาชีพเป็นคนเก็บภาษีที่ทำงานให้กับชาวโรมัน ชาวยิวดูหมิ่นคนที่ทำอาชีพนี้ แต่อย่างไรก็ตาม องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทรงเรียกท่านให้เป็นอัครสาวก ธรรมประเพณีของพระศาสนจักรได้รับรองว่าท่านเป็นผู้นิพนธ์พระวรสารเล่มแรก บางคนเชื่อว่าต้นฉบับแรกนั้นเขียนด้วยภาษาอาราเมอิกหรือฮีบรู และถูกแปลเป็นภาษากรีกในภายหลัง
มธ 1:1-17 ลำดับพระวงศ์นี้แบ่งออกเป็นสามช่วง ซึ่งสอดคล้องกับสามยุคของประวัติศาสตร์ชาติยิว แต่ละช่วงมีสิบสี่ชั่วอายุคน อันเป็นผลคูณของเลขเจ็ด ซึ่งถือว่าเป็นเลขศักดิ์สิทธิ์ เลขสามถือว่าเป็นเลขที่สมบูรณ์ และเมื่อคำนวณจากเลขสิบสี่แล้วก็ได้ชื่อของดาวิด ดังนั้นจึงบ่งบอกว่าพระคริสตเจ้าทรงเป็นลูกหลานที่สมบูรณ์ของดาวิดและอับราฮัม โดยทางโยเซฟ บิดาเลี้ยงของพระองค์ และโดยทางพระคริสตเจ้า พระสัญญาที่พระเจ้าได้ทรงกระทำกับอับราฮัมและดาวิดนั้นได้สำเร็จอย่างสมบูรณ์ นอกนั้นยังมีกล่าวถึงหญิงสี่คนในลำดับพระวงศ์ด้วย ซึ่งล้วนแต่มีเรื่องราวที่ไม่ธรรมดา ทั้งนี้เป็นการเตรียมตัวสู่บทบาทพิเศษของพระนางมารีย์ในตอนท้ายของลำดับพระวงศ์
CCC ข้อ 437 ทูตสวรรค์แจ้งข่าวการสมภพของพระเยซูเจ้าว่าเป็นการสมภพของพระเมสสิยาห์ที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้แก่อิสราเอล “วันนี้ในเมืองของกษัตริย์ดาวิด พระผู้ไถ่ประสูตรเพื่อท่านแล้ว พระองค์คือพระคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า” (ลก 2:11) ตั้งแต่แรกแล้ว พระองค์ทรงเป็น “ผู้ที่พระบิดาทรงบันดาลให้ศักดิ์สิทธิ์และทรงส่งมาในโลก” (ยน 10:36) เป็น “ผู้ศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งปฏิสนธิในพระครรภ์พรหมจารีของพระนางมารีย์ พระเจ้าทรงเรียกโยเซฟให้มารับพระนางมารีย์ผู้ทรงครรภ์แล้วเป็นภรรยา เพราะ “เด็กที่ปฏิสนธิในครรภ์ของนางนั้นมาจากพระจิตเจ้า” (มธ 1:20) เพื่อให้พระเยซูเจ้า “ที่ขานพระนามว่า ‘พระคริสตเจ้า’” จะได้เกิดจากภรรยาของโยเซฟ อยู่ในลำดับวงศ์ตระกูลพระเมสสิยาห์ของกษัตริย์ดาวิด (มธ 1:16)
มธ 1:16 เยซู หมายถึง องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงช่วยให้รอดพ้น (YHWH) คำว่า คริสต์ มีความหมายคล้ายกับคำในภาษาฮีบรูว่า เมสสิยาห์ ซึ่งแปลว่า ผู้ได้รับเจิม ชาวยิวต่างคาดหวังว่าพระเมสสิยาห์จะเสด็จมาในฐานะกษัตริย์จากเชื้อสายของดาวิด
CCC ข้อ 430 “เยซู” ในภาษาฮีบรูแปลว่า “พระเจ้าทรงช่วยให้รอดพ้น” เมื่อทูตสวรรค์กาเบรียลมาแจ้งข่าว ท่านถวายพระนามให้พระองค์ว่า “เยซู” ซึ่งในเวลาเดียวกันก็แสดงถึงพันธกิจของพระองค์ด้วย ในเมื่อไม่มีใคร “อภัยบาปได้ นอกจากพระเจ้าเท่านั้น” (มก 2:7) พระองค์จึง “จะทรงช่วยประชากรของพระองค์ให้รอดพ้นจากบาป” (มธ 1:21) ในพระเยซูเจ้าพระบุตรนิรันดรของพระองค์ ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ ดังนี้ ในพระเยซูเจ้า พระเจ้าจึงทรงเริ่มประวัติศาสตร์ของพระองค์ที่จะทรงช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นขึ้นมาใหม่
CCC ข้อ 436 คำว่า “พระคริสตเจ้า” (Christos) เป็นคำแปลภาษากรีกของคำภาษาฮีบรูว่า “เมสสิยาห์” ซึ่งแปลว่า “ผู้รับเจิม” คำนี้กลายเป็นพระนามเฉพาะของพระเยซูเจ้าก็เพราะพระองค์ทรงปฏิบัติพระภารกิจที่พระเจ้าทรงมอบให้ตามความหมายของคำนี้สำเร็จอย่างสมบูรณ์ เพราะในอิสราเอลผู้ที่ถวายตนปฏิบัติภารกิจที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้ทำมักได้รับการเจิมถวายแด่พระองค์ เช่นในกรณีของกษัตริย์ สมณะ และบางครั้ง ประกาศกด้วย ดังนั้น กรณีพิเศษสุดต้องเป็นกรณีของผู้รับเจิมที่พระเจ้าจะทรงส่งมาเพื่อสถาปนาพระอาณาจักรของพระองค์ขึ้นใหม่ในยุคสุดท้าย พระเมสสิยาห์จำเป็นต้องได้รับเจิมโดยพระจิตขององค์พระผู้เป็นเจ้า ในฐานะกษัตริย์และสมณะ รวมทั้งในฐานะประกาศกด้วย พระเยซูเจ้าทรงทำให้ความหวังของอิสราเอลเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ในทั้งสามบทบาทของสมณะ ประกาศก และกษัตริย์สำเร็จเป็นจริง
CCC ข้อ 437 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (มธ 1:1-17)
CCC ข้อ 438 การที่พระเยซูเจ้าทรงรับเจิมเป็นพระเมสสิยาห์นี้แสดงให้เห็นพันธกิจที่ทรงได้รับจากพระเจ้า “ตามความหมายของพระนาม เพราะนาม ‘พระคริสต์’ หมายถึง ‘ผู้เจิม’ และ ‘ผู้รับเจิม’ รวมทั้งการเจิมที่ทรงรับด้วย ผู้ที่ทรงเจิมคือพระบิดา ผู้ทรงรับเจิมคือพระบุตร พระองค์ทรงรับเจิมในองค์พระจิตเจ้าซึ่งทรงเป็นการเจิม” การที่ทรงรับเจิมเป็นพระเมสสิยาห์ตั้งแต่นิรันดรนี้ถูกเปิดเผยในช่วงเวลาที่ทรงพระชนมชีพในโลกเมื่อทรงรับพิธีล้างจากยอห์น เมื่อ “พระเจ้าทรงเจิมพระองค์ด้วยพระอานุภาพเดชะพระจิตเจ้า” (กจ 10:38) “เพื่อทำให้พระองค์เป็นที่รู้จักแก่อิสราเอล” (ยน 1:31) ในฐานะพระเมสสิยาห์ของตน พระภารกิจและพระวาจาของพระองค์แสดงให้พระองค์เป็นที่รู้จักในฐานะ “พระผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า”
CCC ข้อ 452 พระนาม “เยซู” แปลว่า “พระเจ้าทรงช่วยให้รอดพ้น” ทารกซึ่งเกิดจากพระนางพรหมจารีมารีย์ได้รับนามว่า “เยซู” “เพราะเขาจะช่วยประชากรของเขาให้รอดพ้นจากบาป” (มธ 1:21) “เพราะใต้ฟ้านี้ พระเจ้ามิได้ประทานนามอื่นแก่มนุษย์นอกจากนามนี้ที่ช่วยเราให้รอดพ้นได้” (กจ 4:12)
CCC อภิธานศัพท์
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)