แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 3 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 3:10-18)                                                                                                             

เวลานั้น เมื่อประชาชนถามยอห์นว่า “เราจะต้องทำอะไร” เขาก็ตอบว่า “ใครมีเสื้อสองตัว จงแบ่งตัวหนึ่งให้กับคนที่ไม่มี คนที่มีอาหาร ก็จงทำเช่นเดียวกัน” คนเก็บภาษีมาหายอห์นเพื่อรับพิธีล้างด้วย และถามเขาว่า “ท่านอาจารย์ พวกเราจะต้องทำสิ่งใด” ยอห์นตอบว่า “ท่านอย่าเรียกเก็บภาษีเกินพิกัด” พวกทหารถามเขาด้วยว่า “แล้วพวกเราล่ะ เราจะต้องทำสิ่งใด” เขาตอบว่า “อย่าขู่กรรโชก อย่ากล่าวหาเป็นความเท็จเพื่อเอาเงิน จงพอใจกับค่าจ้างของตน”

ขณะนั้น ประชาชนกำลังรอคอย ทุกคนต่างคิดในใจว่า ยอห์นเป็นพระคริสต์หรือ ยอห์นจึงประกาศต่อหน้าทุกคนว่า “ข้าพเจ้าใช้น้ำทำพิธีล้างให้ท่านทั้งหลาย แต่ผู้ที่ทรงอำนาจยิ่งกว่าข้าพเจ้าจะมา และข้าพเจ้าไม่สมควรแม้แต่จะแก้สายรัดรองเท้าของเขา เขาจะทำพิธีล้างให้ท่านเดชะพระจิตเจ้าและด้วยไฟ เขากำลังถือพลั่วอยู่แล้ว จะชำระลานนวดข้าวให้สะอาด จะรวบรวมข้าวใส่ยุ้ง ส่วนฟางนั้นจะเผาทิ้งในไฟที่ไม่รู้ดับ” ยอห์นยังใช้ถ้อยคำอื่นอีกมากตักเตือนและประกาศข่าวดีแก่ประชาชน


ลก 3:1-20  ยอห์น บัปติสต์ คือประกาศกที่ “ร้องตะโกนในถิ่นทุรกันดาร” ตามที่ประกาศกอิสยาห์ได้ทำนายไว้ ท่านเตือนประชาชนว่า “จงเตรียมทางของพระยาห์เวห์” (อสย 40:3-5) ท่านเรียกทุกคนให้สำนึกผิดก่อนการปรากฎมาขององค์พระผู้ไถ่ เหตุว่าการปฏิเสธบาปคือเงื่อนไขที่จำเป็นของการสร้างสัมพันธภาพกับพระคริสตเจ้า    

CCC ข้อ 535 พระเยซูเจ้าทรงเริ่มพระชนมชีพเปิดเผยโดยทรงรับพิธีล้างจากยอห์นในแม่น้ำจอร์แดน ยอห์น “เทศน์สอนเรื่องพิธีล้างซึ่งแสดงถึงการเป็นทุกข์กลับใจเพื่อจะได้รับการอภัยบาป” (ลก 3:3)คนบาปจำนวนมาก คนเก็บภาษีและทหาร ชาวฟาริสีและสะดูสี และหญิงโสเภณี พากันมารับพิธีล้างจากยอห์น “เวลานั้น พระเยซูเจ้าก็เสด็จมา” ด้วย ยอห์นรู้สึกลังเลใจ แต่พระเยซูเจ้าทรงยืนยันและรับพิธีล้าง แล้วพระจิตเจ้าเสด็จลงมาเหนือพระเยซูเจ้าดุจนกพิราบ และมีเสียงจากสวรรค์กล่าวว่า “ผู้นี้เป็นบุตรสุดที่รักของเรา” (มธ 3:13-17) เหตุการณ์นี้เป็นการแสดงองค์ของพระเยซูเจ้า (“Epiphania”) ว่าทรงเป็นพระเมสสิยาห์แห่งอิสราเอลและพระบุตรของพระเจ้า    


ลก 3:11  การให้ทาน ไม่ว่าจะเป็นการให้เงิน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความต้องการพื้นฐาน หรือเป็นความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ ของการพัฒนาด้านสังคม ล้วนเป็นการกระทำแห่งความยุติธรรมและการแสดงออกถึงความรักฉันพี่น้องซึ่งเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า       

CCC ข้อ 1942 คุณธรรมเรื่องการร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันขยายกว้างกว่าขอบเขตของผลประโยชน์ด้านวัตถุ เมื่อพระศาสนจักรแจกจ่ายความเชื่อเป็นพระพรฝ่ายจิต ก็ยังช่วยเปิดแนวทางใหม่ให้มีการพัฒนาผลประโยชน์ด้านวัตถุควบคู่ไปด้วย ดังนี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมาหลายศตวรรษ พระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้าจึงกลายเป็นความจริงที่ว่า “จงแสวงหาพระอาณาจักรของพระเจ้าและความชอบธรรมของพระองค์ก่อน แล้วพระองค์จะทรงเพิ่มทุกสิ่งเหล่านี้ให้” (มธ 6:33) “ตั้งแต่สองพันปีมาแล้ว ความรู้สึกรับผิดชอบส่วนรวมของทุกคนและสำหรับทุกคนมีชีวิตชีวาและยังคงอยู่ในจิตวิญญาณของพระศาสนจักร จนเป็นแรงผลักดันให้เกิดความรักและปลุกจิตขั้นวีรกรรม นั่นคือ บรรดานักพรตที่เป็นกสิกร เป็นผู้ปลดปล่อยทาส บำบัดรักษาผู้เจ็บป่วย นำความเชื่อ อารยธรรมและวิชาความรู้มาให้ชนหลายชาติในทุกสมัย เพื่อเสริมสร้างสภาพสังคมที่สามารถทำให้ชีวิตอยู่ได้อย่างสะดวกสบายสมกับความเป็นมนุษย์และคริสตชน”   

CCC ข้อ 2447 งานเมตตากรุณาเป็นกิจการแสดงความรักที่เราช่วยเหลือเพื่อนพี่น้องของเราเมื่อเขามีความต้องการทางร่างกายและจิตใจ การสั่งสอน ให้คำแนะนำ ปลอบโยน ให้กำลังใจเป็นงานเมตตากรุณาด้านจิตใจ เช่นเดียวกับการให้อภัยและความพากเพียรอดทน งานเมตตากรุณาด้านร่างกายส่วนมากประกอบด้วยการเลี้ยงดูผู้หิวโหย ให้ที่อยู่แก่ผู้ไม่มีที่อาศัย ให้เสื้อผ้าแก่ผู้ไม่มี เยี่ยมเยียนคนเจ็บป่วยและผู้ถูกจองจำ ฝังศพผู้ตาย ในบรรดางานเหล่านี้ การให้ทานแก่ผู้ยากไร้ นับว่าเป็นงานแสดงความรักต่อเพื่อนพี่น้องเป็นพิเศษประการหนึ่ง การทำเช่นนี้ยังเป็นการงานแสดงความยุติธรรมที่พอพระทัยพระเจ้าด้วย  “ใครมีเสื้อสองตัว จงแบ่งตัวหนึ่งให้กับคนที่ไม่มี คนที่มีอาหารก็จงทำเช่นเดียวกัน” (ลก 3:11) “ถ้าจะให้ดีแล้ว จงให้สิ่งที่อยู่ภายในเป็นทานเถิด แล้วทุกสิ่งก็จะสะอาดสำหรับท่าน” (ลก 11:41) “ถ้าพี่น้องชายหญิงคนใดขัดสนเครื่องนุ่งห่ม และไม่มีอาหารประจำวัน แล้วท่านคนหนึ่งพูดกับเขาว่า ‘จงไปเป็นสุขเถิด ขอให้อบอุ่นและอิ่มเถิด’ แต่มิได้ให้สิ่งที่จำเป็นสำหรับร่างกายแก่เขา จะมีประโยชน์ใดเล่า” (ยก 2:15-16) 


ลก 3:15-16  ยอห์นกล่าวชัดเจนว่าท่านมิได้เป็นพระเมสสิยาห์ผู้ทรงมีพระพลานุภาพที่จะอภัยบาปได้ อีกทั้งยังชี้ว่าพิธีล้างของท่านเป็นดังเครื่องหมายและเป็นภาพลักษณ์ล่วงหน้าถึงศีลล้างบาปที่ก่อตั้งขึ้นโดยพระคริสตเจ้า ซึ่งประทานพระหรรษทานศักดิ์สิทธิกรขององค์พระจิตเจ้า      

CCC ข้อ 696  “เพลิง” – ขณะที่น้ำหมายถึงการเกิดและความอุดมสมบูรณ์ของชีวิตที่พระเจ้าประทานแก่เราในพระจิตเจ้า เพลิงหรือไฟก็เป็นสัญลักษณ์ของพลังเปลี่ยนแปลงของพระจิตเจ้า ประกาศกเอลียาห์ซึ่ง “เป็นเหมือนไฟ วาจาของเขาเผาผลาญเหมือนคบไฟ” (บสร 48:1) ได้อธิษฐานภาวนาวอนขอไฟจากสวรรค์ลงมาเผาเครื่องบูชาบนภูเขาคาร์แมล[30] ซึ่งเป็นรูปแบบของพระจิตเจ้าที่ทรงเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งที่ทรงสัมผัส ยอห์นผู้ทำพิธีล้างซึ่ง “จะ ‘มีจิตใจ’ และพลังของประกาศกเอลียาห์มาเตรียมรับการเสด็จมาขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (ลก 1:17) แจ้งข่าวถึงพระคริสตเจ้าว่าพระองค์คือผู้ที่ “จะทำพิธีล้างด้วยพระจิตเจ้าและด้วยไฟ” (ลก 3:16) คือด้วยพระจิตเจ้าที่พระคริสตเจ้าเคยตรัสถึงว่า “เรามาเพื่อจุดไฟในโลก เราปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้โลกนี้ลุกเป็นไฟ” (ลก 12:49) เช้าวันเปนเตกอสเต พระจิตเจ้าเสด็จลงมาประทับเหนือบรรดาศิษย์ใน “เปลวไฟ” ลักษณะเหมือนลิ้น และโปรดให้เขาได้รับพระองค์เต็มเปี่ยม[31] ธรรมประเพณีด้านชีวิตจิตจะยังรักษา “เพลิง” ที่มีความหมายอย่างมากนี้เป็นสัญลักษณ์ของการกระทำของพระจิตเจ้าไว้ตลอดไป “อย่าดับไฟของพระจิตเจ้า” (1 ธส 5:19)   


ลก 3:17  พลั่ว: เป็นเครื่องมือการเกษตรที่ใช้โยนรวงข้าวขึ้นไปในอากาศ แล้วปล่อยให้ลมพัดเอาแกลบและสิ่งที่ไร้ประโยชน์ทิ้งไป ทำให้สามารถเก็บรวบรวมเมล็ดข้าวได้ การทำเช่นนี้แสดงถึงภาพลักษณ์ที่พระเจ้าทรงแยกบรรดาผู้ที่เชื่อออกจากคนที่ไม่ยอมกลับใจในวันสิ้นโลก      

CCC ข้อ 681 ในวันพิพากษาเมื่อสิ้นโลก พระคริสตเจ้าจะเสด็จมาในพระสิริรุ่งโรจน์ เพื่อแสดงถึงชัยชนะเด็ดขาดของความดีเหนือความชั่ว ซึ่งเติบโตขึ้นพร้อมกันตลอดช่วงเวลาของประวัติศาสตร์เหมือนกับข้าวสาลีและข้าวละมาน    

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)