วันอังคาร สัปดาห์ที่ 28 เทศกาลธรรมดา
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 11:37-41)
เวลานั้น เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสจบแล้ว ชาวฟาริสีคนหนึ่งทูลเชิญพระองค์ไปเสวยพระกระยาหารที่บ้าน พระองค์จึงเสด็จเข้าไปประทับที่โต๊ะ ชาวฟาริสีคนนั้นประหลาดใจเมื่อเห็นว่าพระองค์ไม่ทรงล้างพระหัตถ์ตามธรรมเนียมก่อนเสวยพระกระยาหาร องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสกับเขาว่า “ชาวฟาริสีเอ๋ย ท่านล้างถ้วยชามด้านนอก แต่ใจของท่านเต็มไปด้วยของที่ขโมยมาและความชั่วร้าย คนโง่เอ๋ย พระเจ้าผู้ทรงสร้างภายนอก มิได้ทรงสร้างภายในด้วยหรือ ถ้าจะให้ดีแล้ว จงให้สิ่งที่อยู่ภายในเป็นทานเถิด แล้วทุกสิ่งก็จะสะอาดสำหรับท่าน”
ลก 11:37-54 พระคริสตเจ้าทรงมาเพื่อทำให้ธรรมบัญญัติเดิมบรรลุความสมบูรณ์ มิใช่เพื่อลบล้าง แม้ว่ากฎเดิมจะดีอยู่แล้ว แต่การปฏิบัติและการตีความนั้นจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงในจุดประสงค์ดั้งเดิม การปฏิบัติธรรมบัญญัติให้บรรลุความสมบูรณ์นั้นจำเป็นต้องกระทำเพื่อการรับใช้ด้วยความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ และการปฏิบัตินั้นเรียกร้องพระหรรษทานของพระเจ้า เป็นเพราะคำสอนนี้เองที่ทำให้ศัตรูของพระคริสตเจ้าพยายามทำให้ประชาชนไม่ไว้วางใจในพระองค์
CCC ข้อ 579 หลักการที่ต้องปฏิบัติตามธรรมบัญญัติโดยครบถ้วนนี้ไม่หมายเพียงการปฏิบัติตามตัวอักษร แต่ตามเจตนารมณ์ด้วยนั้น ชาวฟาริสีถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เขาสอนหลักการนี้แก่ชาวอิสราเอล นำชาวยิวจำนวนมากในสมัยพระเยซูเจ้าให้มีความกระตือรือร้นอย่างยิ่ง ความกระตือรือร้นนี้ ถ้าไม่สลายตัวกลายเป็นการถกเถียงกันถึงรายละเอียดแบบหน้าซื่อใจคดเท่านั้น น่าจะเตรียมประชาชนไว้สำหรับการเสด็จมาของพระเจ้าอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนโดยที่ผู้ชอบธรรมเพียงผู้เดียวซึ่งจะปฏิบัติตามธรรมบัญญัติอย่างสมบูรณ์แทนที่คนบาปทุกคน
CCC ข้อ 588 พระเยซูเจ้าทรงทำให้ชาวฟาริสีไม่พอใจเมื่อเสวยร่วมโต๊ะกับคนเก็บภาษีและคนบาปอย่างคุ้นเคยเช่นเดียวกับเมื่อทรงร่วมโต๊ะกับพวกเขา พระเยซูเจ้าทรงยืนยันไม่เห็นด้วยกับ “ผู้ที่ภูมิใจว่าตนเป็นผู้ชอบธรรมและดูหมิ่นผู้อื่น” (ลก 18:9) ตรัสว่า “เราไม่ได้มาเพื่อเรียกคนชอบธรรม แต่มาเพื่อเรียกคนบาปให้กลับใจ” (ลก 5:32) พระองค์ยังทรงก้าวไปไกลยิ่งกว่านั้นอีก เมื่อทรงประกาศอย่างเปิดเผยต่อหน้าชาวฟาริสีว่า ในเมื่อมนุษย์ทุกคนเป็นคนบาป พวกเขาที่คิดว่าตนไม่ต้องการ การกอบกู้ย่อมทำตนเป็นคนตาบอด
ลก 11:38 พระองค์ไม่ทรงล้างพระหัตถ์ตามธรรมเนียมก่อน... ท่านล้างถ้วยชามด้านนอก: การล้างมือที่ถูกกล่าวถึงในที่นี้ ไม่ใช่การล้างมือตามสุขอนามัยก่อนรับประทานอาหาร แต่เป็นการอธิบายมากขึ้นถึงพิธีกรรมของการล้างมือซึ่งได้กลับกลายเป็นการกระทำภายนอก ที่ปราศจากความหมายทางจิตวิญญาณ
CCC ข้อ 1968 กฎแห่งพระวรสารทำให้ธรรมบัญญัติสมบูรณ์ คำเทศน์สอนขององค์พระผู้เป็นเจ้าไม่ได้ลบล้างข้อกำหนดเกี่ยวกับความประพฤติของธรรมบัญญัติดั้งเดิม และไม่ได้ทำให้ข้อกำหนดเหล่านี้ลดค่าลงเลย แต่ทำให้พลังที่ซ่อนเร้นอยู่ของข้อกำหนดเหล่านี้ปรากฏชัดเจนขึ้นและทำให้เกิดข้อเรียกร้องใหม่ๆ จากข้อกำหนดเหล่านี้ เปิดเผยความจริงทั้งหมดเกี่ยวกับพระเจ้าและมนุษย์ของข้อกำหนดเหล่านี้ กฎแห่งพระวรสารไม่เพิ่มข้อกำหนดใหม่ภายนอก และก้าวหน้าเข้าไปปรับปรุงจิตใจซึ่งเป็นรากของการกระทำต่างๆ เมื่อมนุษย์ไม่ยอมรับสิ่งที่มีมลทิน เลือกสิ่งบริสุทธิ์ ที่ก่อให้เกิดความเชื่อ ความหวังและความรัก และคุณธรรมประการอื่นๆ พร้อมกับคุณธรรมเหล่านี้ด้วย พระวรสารจึงนำธรรมบัญญัติให้บรรลุถึงความบริบูรณ์โดยเอาอย่างความดีบริบูรณ์ของพระบิดาเจ้าสวรรค์โดยยกโทษให้ศัตรูและอธิษฐานภาวนาให้ผู้ที่เบียดเบียน ตามแบบฉบับพระทัยกว้างของพระเจ้า
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)