แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันศุกร์ สัปดาห์ที่ 21 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 25:1-13)                                                  

เวลานั้น พระเยซูเจ้าทรงเล่าเรื่องอุปมาให้บรรดาศิษย์ฟังว่าดังนี้ “อาณาจักรสวรรค์เปรียบได้กับหญิงสาวสิบคนถือตะเกียงออกไปรอรับเจ้าบ่าว ห้าคนเป็นคนโง่ อีกห้าคนเป็นคนฉลาด

หญิงโง่นำตะเกียงไป แต่มิได้นำน้ำมันไปด้วย ส่วนหญิงฉลาด นำน้ำมันใส่ขวดไปพร้อมกับตะเกียง ทุกคนต่างง่วงและหลับไปเพราะเจ้าบ่าวมาช้า ครั้นเวลาเที่ยงคืน มีเสียงตะโกนบอกว่า ‘เจ้าบ่าวมาแล้ว จงออกไปรับกันเถิด’

หญิงสาวทุกคนจึงตื่นขึ้นแต่งตะเกียง หญิงโง่พูดกับหญิงฉลาดว่า ‘ขอน้ำมันให้เราบ้าง เพราะตะเกียงของเราจวนจะดับแล้ว’

หญิงฉลาดจึงตอบว่า ‘ไม่ได้ เพราะน้ำมันอาจไม่พอสำหรับเราและสำหรับพวกเธอด้วย จงไปหาคนขายแล้วซื้อเอาเองดีกว่า’ ขณะที่หญิงเหล่านั้นกำลังไปซื้อน้ำมัน เจ้าบ่าวก็มาถึง หญิงสาวที่เตรียมพร้อมจึงเข้าไปในห้องงานแต่งงานพร้อมกับเจ้าบ่าว แล้วประตูก็ปิด ในที่สุด พวกหญิงโง่ก็มาถึง พูดว่า ‘นายเจ้าขา นายเจ้าขา เปิดรับพวกเราด้วย’ แต่เขาตอบว่า ‘เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า เราไม่รู้จักท่าน’ ดังนั้น จงตื่นเฝ้าระวังไว้เถิด เพราะท่านไม่รู้วันและเวลา”


มธ 25:1-13  อุปมาเรื่องนี้เตือนใจว่า เราต้องรอคอยและตื่นตัวอยู่เสมอ เพื่อรอคอยการเสด็จกลับมาครั้งที่สองของพระคริสตเจ้า ดังนี้เราจึงจะพร้อมต้อนรับเมื่อพระองค์จะเสด็จมาในพระสิริรุ่งโรจน์  เจ้าบ่าว: ภาพลักษณ์ของเจ้าบ่าวหรือคู่สมรสนั้นมักถูกใช้เป็นภาพเปรียบเทียบ เพื่ออธิบายถึงสัมพันธภาพระหว่างพระคริสตเจ้าและพระศาสนจักรของพระองค์

CCC ข้อ 672 ก่อนเสด็จสู่สวรรค์ พระคริสตเจ้าทรงยืนยันว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะทรงสถาปนาพระอาณาจักรรุ่งโรจน์ของพระเมสสิยาห์ที่อิสราเอลกำลังรอคอย พระอาณาจักรนี้จะต้องนำระเบียบความยุติธรรม ความรัก และสันติที่สมบูรณ์มาให้แก่มวลมนุษย์ตามที่บรรดาประกาศกเคยประกาศไว้ องค์พระผู้เป็นเจ้าก็ตรัสไว้แล้วว่า เวลาปัจจุบันนี้เป็นช่วงเวลาของพระจิตเจ้าและการเป็นพยานยืนยัน แต่ก็ยังเป็นยุคแห่งความยากลำบากในปัจจุบัน ยุคแห่งความเลวร้าย ที่จะไม่ยกเว้นแม้กับพระศาสนจักรและเป็นการเริ่มต้นการต่อสู้ของวาระสุดท้ายเป็นวาระแห่งการรอคอยและตื่นเฝ้าอีกด้วย

CCC ข้อ 796  เอกภาพของพระคริสตเจ้าและพระศาสนจักร ของศีรษะและส่วนต่างๆของร่างกาย ยังหมายความว่าทั้งสองมีความแตกต่างกันในความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้ด้วย เรากล่าวถึงเรื่องนี้โดยใช้ภาพลักษณ์ของเจ้าบ่าวและเจ้าสาว ความคิดเรื่องพระคริสตเจ้าทรงเป็นเจ้าบ่าวของพระศาสนจักรนี้ได้รับการจัดเตรียมไว้โดยบรรดาประกาศก และยอห์นผู้ทำพิธีล้างได้ประกาศแจ้งให้ทุกคนได้ทราบ  องค์พระผู้เป็นเจ้ายังตรัสถึงพระองค์เองว่าทรงเป็น “เจ้าบ่าว” (มก 2:19)  นักบุญเปาโลอัครสาวกกล่าวถึงพระศาสนจักรและผู้มีความเชื่อแต่ละคนซึ่งเป็นส่วนต่างๆของพระวรกายว่าเขา “ถูกหมั้น” เหมือนเจ้าสาวไว้กับพระคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อเป็นจิตใจเดียวกันกับพระองค์  พระศาสนจักรเป็นเสมือนเจ้าสาวไร้มลทินของ “ลูกแกะไร้มลทิน”  ที่พระคริสตเจ้าทรงรัก ทรงมอบพระองค์สำหรับพระศาสนจักรเพื่อ “ทรงบันดาลให้พระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์” (อฟ 5:26) พระองค์ทรงมีความสัมพันธ์กับพระศาสนจักรด้วยพันธะนิรันดรและไม่ทรงเลิกเอาพระทัยใส่ต่อพระศาสนจักรเช่นเดียวกับที่ทรงเอาพระทัยใส่ต่อพระวรกายของพระองค์เอง 

“พระคริสตเจ้าครบพระองค์ ประกอบด้วยศีรษะและพระวรกาย เป็นพระคริสตเจ้าองค์เดียวที่รวมมนุษย์ไว้หลายคน […] ไม่ว่าศีรษะพูด หรือส่วนของร่างกายพูด ก็เป็นพระคริสตเจ้าที่ตรัส พระองค์ตรัสในฐานะพระบุคคลที่เป็นศีรษะ พระองค์ตรัสในฐานะพระบุคคลที่เป็นพระวรกาย พระคัมภีร์กล่าวไว้ว่าอย่างไร ‘ทั้งสองคนจะเป็นเนื้อเดียวกัน ธรรมล้ำลึกประการนี้ยิ่งใหญ่นัก ข้าพเจ้าหมายถึงพระคริสตเจ้ากับพระศาสนจักร’ (อฟ 5:31-32) พระองค์ยังตรัสในพระวรสารอีกว่า ‘ดังนั้น เขาจึงไม่เป็นสองอีกต่อไป แต่เป็นเนื้อเดียวกัน’ (มธ 19:6)  ท่านก็รู้แล้วว่าที่จริง (ทั้งสามีและภรรยา) เป็นสองคน แต่ก็รวมเป็นคนเดียวกันเมื่อแต่งงาน […]  พระองค์ตรัสว่าทรงเป็น ‘เจ้าบ่าว’ ในฐานะที่ทรงเป็นศีรษะ และตรัสว่าทรงเป็น ‘เจ้าสาว’ ในฐานะที่ทรงเป็นพระวรกาย”

CCC ข้อ 1618 พระคริสตเจ้าทรงเป็นศูนย์กลางของชีวิตคริสตชนทั้งหมด ความสัมพันธ์กับพระองค์จึงมีความสำคัญมากกว่าความสัมพันธ์อื่นๆทั้งหมดด้านครอบครัวหรือสังคม   นับตั้งแต่สมัยแรกของพระศาสนจักรแล้ว มีชายและหญิงหลายคนที่ได้สละผลดียิ่งใหญ่ของการสมรสเพื่อติดตามลูกแกะไปทุกแห่งที่พระองค์เสด็จ  เพื่อจะได้สาละวนในการงานขององค์พระผู้เป็นเจ้า หาวิธีทำให้พระองค์พอพระทัย  เพื่อออกไปพบเจ้าบ่าวเมื่อพระองค์เสด็จมา  พระคริสตเจ้าทรงเรียกบางคนให้ตามเสด็จพระองค์ในชีวิตชนิดที่พระองค์เองทรงเป็นแบบอย่าง  “บางคนเป็นขันทีตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา บางคนถูกทำให้เป็นขันที และบางคนทำตนเป็นขันทีเพราะเห็นแก่อาณาจักรสวรรค์ ผู้ที่เข้าใจได้ ก็จงเข้าใจเถิด” (มธ 19:12)

 

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)