แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันจันทร์ สัปดาห์ที่ 21 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว ( มธ 23:13-22)                                               

วิบัติจงเกิดแก่ท่านทั้งหลาย ธรรมาจารย์และฟาริสีหน้าซื่อใจคด ท่านปิดประตูอาณาจักรใส่หน้ามนุษย์ ท่านไม่เข้าไปและไม่ปล่อยคนที่อยากเข้า ให้เข้าไปได้ 

“วิบัติจงเกิดแก่ท่าน ธรรมาจารย์และฟาริสีหน้าซื่อใจคด ท่านเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อทำให้คนเพียงคนเดียวกลับใจ และเมื่อเขากลับใจแล้ว ท่านก็ทำให้เขาสมควรจะไปนรกมากกว่าท่านสองเท่า

“วิบัติจงเกิดแก่ท่าน ผู้นำทางที่ตาบอด ท่านกล่าวว่า ‘ถ้าใครสาบานอ้างถึงพระวิหาร ก็เป็นโมฆะ แต่ถ้าใครสาบานอ้างถึงทองคำในพระวิหาร ก็ต้องปฏิบัติตามคำสาบาน’ คนโง่เขลาและตาบอดเอ๋ย สิ่งใดสำคัญยิ่งกว่ากัน ทองคำหรือพระวิหารที่ทำให้ทองคำนั้นศักดิ์สิทธิ์ ท่านยังกล่าวอีกว่า ‘ถ้าใครสาบานอ้างถึงพระแท่น ก็เป็นโมฆะ แต่ถ้าใครสาบานอ้างถึงเครื่องบูชาบนพระแท่น ก็ต้องปฏิบัติตามคำสาบาน’ คนตาบอดเอ๋ย สิ่งใดสำคัญยิ่งกว่ากัน เครื่องบูชาหรือพระแท่นที่ทำให้เครื่องบูชานั้นศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้น ผู้ที่สาบานอ้างถึงพระแท่น ก็สาบานอ้างถึงพระแท่นรวมทั้งทุกสิ่งที่อยู่บนพระแท่นนั้นด้วย และผู้ที่สาบานอ้างถึงพระวิหาร ก็สาบานอ้างถึงพระวิหาร รวมทั้งพระผู้สถิตในพระวิหารนั้นด้วย ผู้ที่สาบานอ้างถึงสวรรค์ ก็สาบานอ้างถึงพระที่นั่งของพระเจ้า รวมทั้งพระผู้ประทับอยู่บนพระที่นั่งนั้นด้วย


*มธ 23:13  สำเนาโบราณบางฉบับเพิ่มข้อ 14 ว่า “วิบัติจงเกิดแก่ท่าน ธรรมาจารย์และฟาริสีหน้าซื่อใจคด ท่านกินบ้านของหญิงม่าย อธิษฐานภาวนายืดยาวเพื่อให้คนมอง ท่านจะรับโทษหนักกว่าผู้อื่น”     


มธ 23:18-22  พระแท่นคือภาพลักษณ์แห่งการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้า ดังนั้นผู้ที่สาบานโดยอ้างถึงพระแท่นก็สาบานโดยอ้างถึงพระคริสตเจ้า ซึ่งเป็นบาปผิดต่อพระบัญญัติ ในทำนองคล้ายกัน การไม่เคารพบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ วัตถุศักดิ์สิทธิ์ และสิ่งคล้ายศีลก็เป็นบาปเช่นเดียวกัน การใช้บทภาวนา บทนพวาร และวัตถุศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในทางไสยศาสตร์จะกลายเป็นรูปแบบของพระเท็จเทียม หากบุคคลที่ใช้พยายามบรรลุถึงจุดประสงค์ที่ตนต้องการด้วยการกระทำที่ปราศจากท่าทีภายในที่ถูกต้อง     

CCC ข้อ 586 พระเยซูเจ้าไม่ทรงเป็นอริต่อพระวิหารเลย[385] พระองค์ทรงสั่งสอนหลักคำสอนของพระองค์ในพระวิหาร ทรงประสงค์จ่ายภาษีแก่พระวิหารและทรงต้องการให้เปโตร ที่เพิ่งทรงแต่งตั้งให้เป็นรากฐานของพระศาสนจักรในอนาคต ปฏิบัติเช่นเดียวกันด้วย ยิ่งกว่านั้น พระองค์ยังตรัสว่าทรงเป็นพระวิหารที่แสดงว่าพระเจ้าประทับในหมู่มนุษย์ตลอดไปด้วย เพราะเหตุนี้ การที่พระกายทรงถูกประหาร จึงเป็นการแจ้งถึงการที่พระวิหารจะถูกทำลายซึ่งจะแจ้งว่ายุคใหม่ของประวัติศาสตร์ความรอดพ้นมาถึงแล้ว “ถึงเวลาแล้วที่ท่านทั้งหลายจะนมัสการพระบิดาเจ้าไม่ใช่เฉพาะบนภูเขานี้หรือที่กรุงเยรูซาเล็ม” (ยน 4:21)     

CCC ข้อ 1383 พระแท่นบูชา ที่พระศาสนจักรมาชุมนุมอยู่โดยรอบเพื่อประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณแสดงถึงเหตุผลสองด้านของพระธรรมล้ำลึกเดียวกัน คือเป็นพระแท่นบูชาและเป็นโต๊ะการเลี้ยงขององค์พระผู้เป็นเจ้า ยังมีความหมายมากกว่านี้อีกเพราะพระแท่นบูชาของคริสตชนเป็นสัญลักษณ์ของพระคริสตเจ้าเองซึ่งประทับอยู่ในการชุมนุมกันของบรรดาผู้มีความเชื่อของพระองค์ ในเวลาเดียวกันยังประทับอยู่เป็นเครื่องบูชาซึ่งถวายเพื่อการคืนดีของเรา(กับพระเจ้า)และเป็นอาหารจากสวรรค์ที่พระองค์ประทานพระองค์ให้แก่พวกเรา นักบุญอัมโบรสกล่าวไว้ว่า “พระแท่นบูชาของพระคริสตเจ้าเป็นอะไรถ้าไม่ใช่ภาพพระกายของพระคริสตเจ้า” ท่านยังกล่าวอีกว่า “พระแท่นบูชาเป็นภาพของพระกายและพระกายของพระคริสตเจ้าอยู่บนพระแท่นบูชา” พิธีกรรมกล่าวถึงเอกภาพนี้ของการถวายบูชาและการรับศีลมหาสนิทในบทภาวนาหลายบท พระศาสนจักรโรมันกล่าวดังนี้ในบทภาวนาถวาย (anaphora)ของตนว่า “ข้าแต่พระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ ข้าพเจ้าทั้งหลายกราบวอนขอ โปรดบัญชาให้ทูตสวรรค์นำเครื่องบูชาเหล่านี้ขึ้นถวายพระเดชานุภาพ ณ แท่นบูชาในสวรรค์ เพื่อข้าพเจ้าทุกคนที่รับพระกายและพระโลหิตของพระบุตรจากแท่นบูชานี้แล้ว จะได้รับพระพรและพระหรรษทานอย่างบริบูรณ์”    

CCC ข้อ 2111 การปฏิบัตินอกรีตเป็นการเบี่ยงเบนของความรู้สึกด้านศาสนาและออกไปจากวิธีปฏิบัติที่กำหนดไว้ การปฏิบัตินอกรีตอาจเกี่ยวกับคารวกิจที่เราถวายแด่พระเจ้าเที่ยงแท้ได้ด้วย เช่นเราอาจให้กิจกรรมที่ตามปกติถูกต้องและจำต้องปฏิบัตินั้นมีมนต์ขลังหรืออำนาจพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง การกำหนดให้บทภาวนาบางบทหรือเครื่องหมายศีลศักดิ์สิทธิ์บางประการมีอำนาจพิเศษโดยการ กระทำภายนอกเท่านั้นโดยไม่เรียกร้องให้มีสภาพภายในจิตที่ศีลนั้นเรียกร้องย่อมเป็นการตกอยู่ในการปฏิบัตินอกรีต    

 

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)