แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 21 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 6:60-69)                                          

เวลานั้น เมื่อศิษย์หลายคนได้ยินพระองค์ตรัสดังนี้ก็กล่าวว่า “ถ้อยคำนี้ขัดหูจริง ใครจะฟังได้” พระเยซูเจ้าทรงทราบด้วยพระองค์ว่าบรรดาศิษย์กำลังบ่นกันเรื่องนี้ จึงตรัสแก่เขาว่า “เรื่องนี้ทำให้ท่านเคลือบแคลงใจหรือ แล้วถ้าท่านจะเห็นบุตรแห่งมนุษย์กลับขึ้นสู่สถานที่ที่เคยอยู่แต่ก่อนเล่า ท่านจะว่าอย่างไร พระจิตเจ้าทรงเป็นผู้ประทานชีวิต ลำพังมนุษย์ทำอะไรไม่ได้ วาจาที่เรากล่าวแก่ท่านทั้งหลายนั้นให้ชีวิตเพราะมาจากพระจิตเจ้า แต่บางท่านไม่เชื่อ” 

พระเยซูเจ้าทรงทราบตั้งแต่แรกแล้วว่าผู้ใดไม่เชื่อ และผู้ใดจะทรยศต่อพระองค์ พระองค์ตรัสต่อไปว่า “ดังนั้น เราจึงบอกท่านทั้งหลายว่า ไม่มีผู้ใดมาหาเราได้ เว้นแต่ผู้ที่พระบิดาประทานให้เขามา” หลังจากนั้น ศิษย์หลายคนเปลี่ยนใจ ไม่ติดตามพระองค์อีกต่อไป

พระเยซูเจ้าจึงตรัสกับอัครสาวกสิบสองคนว่า “ท่านทั้งหลายจะไปด้วยหรือ” ซีโมนเปโตรทูลตอบว่า “พระเจ้าข้า พวกเราจะไปหาใครเล่า พระองค์มีพระวาจาแห่งชีวิตนิรันดร พวกเราเชื่อและรู้ว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า” 


ยน 6:60-71  ประชาชน รวมทั้งศิษย์บางคนของพระคริสตเจ้าพบว่าคำสอนของพระองค์นั้นยากเกินไป จึงตัดสินใจออกจากกลุ่ม ซึ่งดูเหมือนเป็นการละทิ้งของกลุ่มผู้ติดตามพระองค์ที่มากที่สุดในช่วงชีวิตสาธารณะของพระองค์ เป็นซีโมนเปโตรที่กล่าวแทนบรรดาศิษย์ในการยืนยันถึงความซื่อสัตย์ของพวกเขาต่อพระคริสตเจ้าและความเชื่อของพวกเขาต่อเอกลักษณ์แห่ง “ผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า” ถึงแม้ว่าพวกเขายังไม่สามารถเข้าใจคำสอนของพระองค์ได้ทั้งหมดก็ตาม ในการประกาศเช่นนั้น ท่านได้วางรากฐานแห่งความเชื่อในพระคริสตเจ้า ซึ่งก็คือ พระองค์แต่ผู้เดียวมีพระวาจาแห่งชีวิตนิรันดร    

CCC ข้อ 438 การที่พระเยซูเจ้าทรงรับเจิมเป็นพระเมสสิยาห์นี้แสดงให้เห็นพันธกิจที่ทรงได้รับจากพระเจ้า “ตามความหมายของพระนาม เพราะนาม ‘พระคริสต์’ หมายถึง ‘ผู้เจิม’ และ ‘ผู้รับเจิม’ รวมทั้งการเจิมที่ทรงรับด้วย ผู้ที่ทรงเจิมคือพระบิดา ผู้ทรงรับเจิมคือพระบุตร พระองค์ทรงรับเจิมในองค์พระจิตเจ้าซึ่งทรงเป็นการเจิม” การที่ทรงรับเจิมเป็นพระเมสสิยาห์ตั้งแต่นิรันดรนี้ถูกเปิดเผยในช่วงเวลาที่ทรงพระชนมชีพในโลกเมื่อทรงรับพิธีล้างจากยอห์น เมื่อ “พระเจ้าทรงเจิมพระองค์ด้วยพระอานุภาพเดชะพระจิตเจ้า” (กจ 10:38) “เพื่อทำให้พระองค์เป็นที่รู้จักแก่อิสราเอล” (ยน 1:31) ในฐานะพระเมสสิยาห์ของตน พระภารกิจและพระวาจาของพระองค์แสดงให้พระองค์เป็นที่รู้จักในฐานะ “พระผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า”     

CCC ข้อ 439 ชาวยิวจำนวนมาก และแม้แต่ชนต่างชาติบางคนที่ร่วมความหวังของชาวยิว ยอมรับคุณลักษณะพื้นฐานของพระเมสสิยาห์ในองค์พระเยซูเจ้า คือการที่ทรงเป็น “พระโอรสของกษัตริย์ดาวิด” ที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้กับอิสราเอล พระเยซูเจ้าทรงยอมรับตำแหน่งพระเมสสิยาห์ตามสิทธิที่ทรงมี แต่ก็ยังคงสงวนท่าที เพราะผู้ร่วมสมัยของพระองค์หลายคนเข้าใจตำแหน่งนี้ตามความเข้าใจแบบมนุษย์มากเกินไป คือเข้าใจตามความหมายทางการเมืองโดยเฉพาะ     

CCC ข้อ 440 พระเยซูเจ้าทรงรับการประกาศแสดงความเชื่อของเปโตรซึ่งยอมรับพระองค์เป็นพระเมสสิยาห์ พร้อมกับทรงแจ้งถึงพระทรมานที่กำลังจะมาถึงของ “บุตรแห่งมนุษย์” พร้อมกันนั้นยังทรงเปิดเผยความหมายแท้จริงของการทรงเป็นกษัตริย์-พระเมสสิยาห์อีกด้วยว่าทรงเป็น “บุตรแห่งมนุษย์” โลกุตระผู้ซึ่ง “ลงมาจากสวรรค์” (ยน 3:13) และในพันธกิจการกอบกู้ยังทรงเป็นผู้รับใช้ผู้รับทรมาน “บุตรแห่งมนุษย์มิได้มาเพื่อให้ผู้อื่นรับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้ผู้อื่น และมอบชีวิตของตนเป็นสินไถ่เพื่อมนุษย์ทั้งหลาย” (มธ 20:28) เพราะเหตุนี้ ความหมายแท้จริงของการเป็นกษัตริย์ของพระองค์จึงปรากฏชัดเจนเมื่อจะทรงถูกตรึงบนไม้กางเขน หลังจากที่ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วเท่านั้นเปโตรจะประกาศให้ประชากรรู้ได้ว่าทรงเป็นกษัตริย์ “ขอให้เผ่าพันธุ์อิสราเอลทั้งมวลรู้แน่เถิดว่าพระเจ้าทรงแต่งตั้งพระเยซูผู้นี้ที่ท่านทั้งหลายนำไปตรึงบนไม้กางเขน ให้เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าและพระคริสตเจ้า”(กจ 2:36)    

CCC ข้อ 1336 การที่ทรงประกาศล่วงหน้าถึงศีลมหาสนิททำให้บรรดาศิษย์แตกแยกกัน เช่นเดียวกับที่การตรัสล่วงหน้าถึงพระทรมานทำให้เขารู้สึกสะดุดใจ “ถ้อยคำนี้ขัดหูจริง ใครจะฟังได้” (ยน 6:60) ศีลมหาสนิทและพระทรมานเป็นเสมือนก้อนหินที่ทำให้สะดุดใจ พระธรรมล้ำลึกประการนี้ยังไม่เลิกเป็นโอกาสของการแตกแยก “ท่านทั้งหลายจะไปด้วยหรือ” (ยน 6:67) คำถามนี้ขององค์พระผู้เป็นเจ้ายังคงดังก้องตลอดมาทุกสมัย เป็นดังคำเชิญชวนให้ค้นหาความรักของพระองค์ พระองค์ทรงเป็นผู้เดียวที่ “มีพระวาจาแห่งชีวิตนิรันดร” (ยน 6:68) และการรับศีลมหาสนิท ของประทานจากพระองค์ด้วยความเชื่อก็เป็นการรับพระองค์เอง  


ยน 6:63  พระจิตเจ้า... มนุษย์: เหตุผลประสามนุษย์สามารถทำหลายสิ่งหลายอย่างได้ก็จริง แต่ก็ไม่สามารถซึมซาบและน้อมรับการเปิดเผยของพระเจ้าได้หากขาดซึ่งความเชื่อ การปฏิบัติงานของพระจิตเจ้าจึงจำเป็นสำหรับการน้อมรับธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อ และเป็นพระจิตเจ้าองค์เดียวกันนี้เองผู้ทรงทำให้การภาวนาของเราบังเกิดผล     

CCC ข้อ 1769 ในชีวิตคริสตชน พระจิตเจ้าทรงทำงานโดยทรงขับเคลื่อนบุคลิกของเขาทั้งหมด รวมทั้งความยากลำบาก ความกลัวและความโศกเศร้าของเขา เช่นเดียวกับที่เราเห็นเมื่อพระคริสตเจ้าทรงเป็นทุกข์โศกเศร้าในสวนเกทเสมนี ในพระคริสตเจ้า อารมณ์ความรู้สึกประสามนุษย์บรรลุความบริบูรณ์ได้ในความรักและความสุขของพระเจ้า    

CCC ข้อ 2766  แต่พระเยซูเจ้ามิได้ทรงทิ้งสูตรไว้ให้เรากล่าวซ้ำแบบเครื่องจักร เช่นเดียวกับในบทภาวนาโดยเปล่งเสียงทั้งหลาย พระจิตเจ้าทรงสอนบรรดาบุตรของพระเจ้าโดยทางพระวจนาตถ์ของพระเจ้าให้อธิษฐานภาวนาต่อพระบิดา พระเยซูเจ้าประทานไม่เพียงแต่ถ้อยคำของบทภาวนาในฐานะบุตรให้แก่เราเท่านั้น พระองค์ยังประทานพระจิตเจ้าเพื่อให้บทภาวนานั้นเป็น “จิตและชีวิต” (ยน 6:63) ยิ่งกว่านั้น บทภาวนาของเรามีลักษณะเป็นคำภาวนาของบุตรและเป็นไปได้ก็เพราะพระบิดา “ทรงส่งพระจิตของพระบุตรลงมาในดวงใจของเรา พระจิตผู้ตรัสด้วยเสียงดังว่า ‘อับบา พระบิดาเจ้า’” (กท 4:6) เนื่องจากว่าบทภาวนาของเราอธิบายถึงความปรารถนาของเราเฉพาะพระพักตร์พระบิดา พระบิดา “ผู้ทรงสำรวจจิตใจของมนุษย์ ทรงทราบความปรารถนาของพระจิตเจ้า เพราะว่าพระจิตเจ้าทรงอธิษฐานเพื่อบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ตามพระประสงค์ของพระเจ้า” (รม 8:27) บทภาวนาต่อพระบิดาของเราจึงแทรกอยู่ในพันธกิจล้ำลึกของพระบุตรและพระจิตเจ้า 


  

ยน 6:66  ให้สังเกตว่า จากคำสอนของพระคริสตเจ้าในที่นี้ พระองค์ไม่ทรงต้องการเรียบเรียงพระวาจาของพระองค์เสียใหม่เพื่อทำให้เป็นที่ยอมรับได้แก่ผู้ฟัง นี่บ่งบอกให้เห็นว่าพระองค์มิได้ตรัสด้วยการเปรียบเทียบ แต่ทรงต้องการหมายความตามที่ได้ตรัสว่า พระกายและพระโลหิตของพระองค์คืออาหารและเครื่องดื่มที่แท้จริง พระองค์ตรัสไว้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกับเมื่อครั้งทรงตั้งศีลมหาสนิทในอาหารค่ำมื้อสุดท้าย      

CCC ข้อ 1339 พระเยซูเจ้าทรงเลือกเวลาฉลองปัสกาเพื่อทรงทำตามที่เคยแจ้งไว้ที่เมืองคาเปอร์นาอุมว่าจะประทานพระกายและพระโลหิตแก่บรรดาศิษย์ “ก่อนจะถึงเทศกาลกินขนมปังไร้เชื้อที่ต้องฆ่าลูกแกะปัสกา พระเยซูเจ้าตรัสใช้เปโตรและยอห์นว่า ‘จงไปจัดเตรียมการเลี้ยงปัสกาให้เราเถิด’ [...] ศิษย์ทั้งสองคนออกไป [...] เตรียมปัสกา เมื่อถึงเวลา พระเยซูเจ้าประทับที่โต๊ะพร้อมกับบรรดาอัครสาวก ตรัสกับเขาว่า ‘เราปรารถนาอย่างยิ่งจะกินปัสกาครั้งนี้ร่วมกับท่านก่อนจะรับทรมาน เราบอกท่านทั้งหลายว่าเราจะไม่กินปัสกาอีกจนกว่าปัสกานี้จะเป็นความจริงในพระอาณาจักรของพระเจ้า’ [...] พระองค์ทรงหยิบขนมปัง ทรงขอบพระคุณ ทรงบิขนมปังประทานให้บรรดาศิษย์ตรัสว่า ‘นี่เป็นกายของเราที่ถูกมอบเพื่อท่านทั้งหลาย จงทำดังนี้เพื่อระลึกถึงเราเถิด’ ในทำนองเดียวกัน เมื่อกินอาหารเสร็จแล้ว พระองค์ทรงหยิบถ้วย ตรัสว่า ‘ถ้วยนี้เป็นพันธสัญญาใหม่ในโลหิตของเราที่หลั่งเพื่อท่านทั้งหลาย’” (ลก 22:7-20)    

 

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)