แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 15 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 6:7-13)       

เวลานั้น พระเยซูเจ้าเสด็จไปทรงสั่งสอนตามหมู่บ้านต่างๆ ในบริเวณนั้น ทรงเรียกอัครสาวกสิบสองคนเข้ามาพบ และทรงเริ่มส่งเขาเป็นคู่ๆ ประทานอำนาจเหนือปีศาจ ทรงกำชับเขามิให้นำสิ่งใดไปด้วย นอกจากไม้เท้าเท่านั้น ไม่ให้มีอาหาร ไม่ให้มีย่าม ไม่ให้มีเศษเงินใส่ไถ้ ให้สวมรองเท้าได้ แต่ไม่ให้เอาเสื้อสำรองไปด้วย พระองค์ตรัสกับเขาว่า “ถ้าท่านเข้าไปในบ้านใด จงพักอยู่ที่นั่นจนกว่าจะออกเดินทางต่อไป ถ้าที่ใดไม่ต้อนรับท่าน หรือไม่ฟังท่าน จงออกจากที่นั่น พลางสลัดฝุ่นจากเท้าไว้เป็นพยานกล่าวโทษเขา” บรรดาอัครสาวกจึงไปเทศน์สอนคนทั้งหลายให้กลับใจ ขับไล่ปีศาจจำนวนมาก เจิมน้ำมันผู้เจ็บป่วยหลายคน และรักษาเขาให้หายจากโรคภัย 


มก 6:6-13 บรรดาอัครสาวกสิบสองคนถูกส่งออกไปเทศน์สอนและประกาศพระวรสาร รักษาผู้เจ็บป่วยและขับไล่ปีศาจในพระนามของพระคริสตเจ้า โดยการเชื้อเชิญพวกเขาให้มีส่วนร่วมในพันธกิจของพระองค์ พระองค์ทรงจัดเตรียมพวกเขาสำหรับบทบาทหน้าที่ในอนาคตของพวกเขาในพระศาสนจักร และภารกิจที่พระองค์จะมอบให้แก่พวกเขาก่อนที่พระองค์จะเสด็จสู่สวรรค์ เป็นการเผยแผ่และสานต่อภารกิจของพระองค์ที่ชัดเจน เพื่อให้พันธกิจของพวกเขาสำเร็จไป บรรดาอัครสาวกจึงได้รับมอบอำนาจของพระคริสตเจ้าและปฏิบัติงานในพระนามของพระองค์

CCC ข้อ 765 พระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงจัดให้ชุมชนของพระองค์มีโครงสร้างซึ่งจะคงอยู่จนถึงความสำเร็จสมบูรณ์ของพระอาณาจักร โดยเฉพาะมีการเลือกสาวกสิบสองคนพร้อมกับเปโตรในฐานะผู้นำของเขา สาวกสิบสองคนเป็นตัวแทนของสิบสองเผ่าของอิสราเอล เป็นศิลารากฐานของนครเยรูซาเล็มใหม่ สาวกทั้งสิบสองคน และศิษย์อื่นๆ มีส่วนร่วมพันธกิจของพระคริสตเจ้า พระอานุภาพของพระองค์ และชะตากรรมของพระองค์ด้วย โดยกิจการเหล่านี้ทั้งหมด พระคริสตเจ้าทรงเตรียมและก่อสร้างพระศาสนจักรของพระองค์

CCC ข้อ 1506 พระคริสตเจ้าทรงเชิญชวนบรรดาศิษย์ให้แบกไม้กางเขนของตนเองขึ้นติดตามพระองค์ และเมื่อติดตามพระองค์ เขาเหล่านี้ก็ได้มุมมองใหม่เกี่ยวกับความเจ็บป่วยและผู้ป่วย พระเยซูเจ้าทรงนำเขาเข้ามาร่วมพระชนมชีพที่ยากจนและยินดีรับใช้ผู้อื่น ทรงทำให้เขามีส่วนร่วมศาสนบริการความเห็นอกเห็นใจและบำบัดรักษาโรค “เขาจึงไปเทศน์สอนคนทั้งหลายให้กลับใจ ขับไล่ปีศาจจำนวนมาก เจิมน้ำมันผู้เจ็บป่วยหลายคน และรักษาเขาให้หายจากโรคภัย” (มก 6:12-13)

CCC ข้อ 1673 เมื่อพระศาสนจักรวอนขอต่อหน้าสาธารณะและวอนขอเดชะพระนามของพระเยซูคริสตเจ้าอย่างเป็นทางการให้บุคคลหนึ่งหรือสิ่งหนึ่งได้รับการปกป้องจากอิทธิพลของปีศาจและพ้นจากอำนาจปกครองของมัน เราเรียกกิจการเช่นนี้ว่าการขับไล่ปีศาจ (exorcismus) พระเยซูเจ้าเคยทรงปฏิบัติกิจกรรมนี้ และพระศาสนจักรก็มีอำนาจและหน้าที่ขับไล่ปีศาจด้วย ในพิธีศีลล้างบาปก็มีการประกอบพิธีขับไล่ปีศาจในรูปแบบธรรมดา พิธีขับไล่ปีศาจอย่างสง่า ที่เรียกว่า “magnus exorcismus” นั้น พระสงฆ์ไม่อาจประกอบพิธีได้นอกจากจะได้รับอนุญาตจากพระสังฆราชเสียก่อน ในเรื่องนี้  จำเป็นต้องดำเนินการอย่างรอบคอบโดยปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่พระศาสนจักรกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด การขับไล่ปีศาจมีเจตนาที่จะขับไล่ปีศาจหรือช่วยให้พ้นจากอิทธิพลของปีศาจโดยอาศัยอำนาจด้านจิตวิญญาณที่พระเยซูเจ้าทรงมอบไว้แก่พระศาสนจักรของพระองค์ กรณีของความเจ็บป่วย โดยเฉพาะความเจ็บป่วยทางจิต เป็นกรณีที่แตกต่างกันอย่างมาก (จากการถูกปีศาจสิง) การบำบัดรักษากรณีเช่นนี้จึงเป็นเรื่องของวิทยาการทางการแพทย์ จึงสำคัญมากที่ก่อนจะประกอบพิธีขับไล่ปีศาจจะต้องรู้ให้แน่ว่าเป็นเรื่องของการถูกปีศาจสิงและไม่ใช่ความเจ็บป่วยทางจิต


มก 6:13  เจิมน้ำมันผู้... หายจากโรคภัย : ในพระคัมภีร์กล่าวถึงการใช้น้ำมันเพื่อเจิมผู้เป็นกษัตริย์และสงฆ์ รวมถึงการเยียวยารักษาด้วย ในปัจจุบันยังคงมีการใช้น้ำมันในพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ของพระศาสนจักรในหลากหลายวิธี การเจิมน้ำมันให้กับคริสตังสำรองที่เตรียมตัวรับศีลล้างบาปนั้นหมายถึงการชำระให้สะอาดจากบาปและการเสริมสร้างความเข้มแข็ง การเจิมในศีลเจิมคนไข้หมายถึงการเยียวยารักษาและความบรรเทา ส่วนในศีลล้างบาป ศีลกำลัง และศีลบวชนั้นหมายถึงการเสกเพื่อมอบพันธกิจศักดิ์สิทธิ์ ในทุกกรณีดังกล่าวล้วนบ่งชี้ถึงการประทับอยู่และการทำงานของพระจิตเจ้า ซึ่งแสดงออกด้วยเครื่องหมายแห่งการเจิมน้ำมัน

CCC ข้อ 1183 ตู้เก็บศีลมหาสนิทต้องตั้งอยู่ “ในสถานที่เหมาะสมและมีเกียรติที่สุด” ความสง่างาม ที่ตั้ง และความปลอดภัยของตู้เก็บศีลมหาสนิทต้องส่งเสริมการนมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ประทับอยู่อย่างแท้จริงในศีลมหาสนิท

น้ำมันคริสมา (myron) ที่ใช้เจิมเป็นเครื่องหมายศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งตราประทับของพระจิตเจ้ามีธรรมเนียมเก็บรักษาไว้ในสถานที่มีเกียรติและปลอดภัยภายในสถานประกอบพิธีกรรม ที่นั่นยังอาจใช้เป็นที่เก็บรักษาน้ำมันสำหรับเจิมผู้เตรียมเป็นคริสตชนและเจิมคนไข้รวมไว้ได้ด้วย

CCC ข้อ1241 การเจิมน้ำมันคริสมา น้ำมันหอมที่พระสังฆราชเสกแล้ว หมายถึงพระพรของพระจิตเจ้าที่ผู้เพิ่งรับศีลล้างบาปได้รับ เขาเป็นคริสตชน นั่นคือ “ผู้ได้รับเจิม” จากพระจิตเจ้า ร่วมเข้าเป็นกายเดียวกันกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นสมณะ ประกาศก และกษัตริย์

CCC ข้อ 1242 ในพิธีกรรมของพระศาสนจักรจารีตตะวันออก การเจิมหลังจากพิธีล้างนี้เป็นศีลของการเจิมน้ำมันคริสมา (Chrismatio, Confirmatio) ในพิธีกรรมจารีตโรมัน การเจิมนี้แจ้งล่วงหน้าถึงการเจิมน้ำมันคริสมาอีกครั้งหนึ่งที่พระสังฆราชจะเจิมในภายหลัง – เป็นศีลของการรับรอง (confirmation) ที่คล้ายกับว่า “รับรอง” และทำให้การเจิมในศีลล้างบาปสมบูรณ์

CCC ข้อ1294 ความหมายของการเจิมด้วยน้ำมันทั้งหมดนี้พบได้อีกในชีวิตศีลศักดิ์สิทธิ์ การใช้น้ำมันสำหรับคริสตชนสำรองเจิมก่อนศีลล้างบาปหมายถึงการชำระและการให้พลัง การเจิมคนไข้หมายถึงการรักษาโรคและความบรรเทา การเจิมด้วยน้ำมันคริสมาหลังศีลล้างบาป ในศีลกำลังและศีลบวชเป็นเครื่องหมายของการมอบถวายแด่พระเจ้า โดยศีลกำลัง คริสตชน นั่นคือ “ผู้ได้รับเจิม” มีส่วนมากขึ้นในพันธกิจของพระเยซูคริสตเจ้าและในความสมบูรณ์ของพระจิตเจ้าที่เขาได้รับ เพื่อให้ชีวิตทั้งหมดของเขาขจายกลิ่นหอมของพระคริสตเจ้า

CCC ข้อ 1506 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (มก 6:6-13) 

CCC ข้อ1511พระศาสนจักรเชื่อและประกาศว่าในบรรดาศีลศักดิ์สิทธิ์ทั้งเจ็ดประการ มีศีลหนึ่งที่กำหนดไว้โดยเฉพาะเพื่อบรรเทาผู้ที่เจ็บป่วย คือ ศีลเจิมคนไข้ “มีการกล่าวพาดพิงไว้ในพระวรสารของมาระโกแล้วว่าพิธีเจิมคนไข้นี้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งพันธสัญญาใหม่โดยพระคริสตเจ้า และยากอบอัครสาวกลูกพี่ลูกน้องขององค์พระผู้เป็นเจ้ายังประกาศและแนะนำศีลนี้แก่บรรดาผู้มีความเชื่ออีกด้วย”

CCC ข้อ1574 เช่นเดียวกับในทุกศีล มีจารีตพิธีบางอย่างเพิ่มเติมผนวกเข้ามาด้วย แม้จะแตกต่างกันอย่างมากในธรรมประเพณีพิธีกรรมต่างๆ จารีตพิธีเหล่านี้ล้วนมีเหตุผลเพื่อแสดงความหมายของพระหรรษทานของศีลศักดิ์สิทธิ์ที่แตกต่างกัน ดังนี้ ในจารีตละติน พิธีเริ่มต้น – ซึ่งประกอบด้วยการเสนอตัวและคัดเลือกผู้สมัครบวช คำปราศรัยของพระสังฆราช การสอบถามผู้สมัครบวช บทร่ำวิงวอนนักบุญทั้งหลาย – ยืนยันว่าผู้สมัครบวชได้รับการคัดเลือกตามธรรมเนียมของพระศาสนจักรและเป็นการเตรียมการมอบถวาย (ผู้สมัครบวช) อย่างสง่า หลังจากนั้นยังมีจารีตพิธีตามมาอีกหลายประการเพื่อแสดงเป็นสัญลักษณ์ถึงความหมายของพระธรรมล้ำลึกให้สมบูรณ์ขึ้น การเจิมน้ำมันคริสมาสำหรับพระสังฆราชและพระสงฆ์เป็นเครื่องหมายพิเศษหมายถึงการเจิมของพระจิตเจ้าผู้ทรงบันดาลให้ศาสนบริการของเขาเหล่านี้บังเกิดผล การมอบหนังสือพระวรสาร แหวน หมวกทรงสูง และไม้เท้าแก่พระสังฆราชเป็นเครื่องหมายของพันธกิจเหมือนบรรดาอัครสาวกที่จะประกาศพระวาจาของพระเจ้า เป็นเครื่องหมายของความซื่อสัตย์ต่อพระศาสนจักรผู้เป็นเสมือนเจ้าสาวของพระคริสตเจ้า และหมายถึงหน้าที่ผู้อภิบาลฝูงแกะขององค์พระผู้เป็นเจ้า การมอบจานรองแผ่นปังแล ะถ้วยกาลิกส์แก่พระสงฆ์หมายถึงการถวายของประชากรศักดิ์สิทธิ์ที่เขารับเรียกมาให้ถวายแด่พระเจ้า การมอบหนังสือพระวรสารแก่สังฆานุกรผู้ได้รับพันธกิจให้ประกาศข่าวดีของพระคริสตเจ้าแล้ว

 

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)