วันศุกร์ สัปดาห์ที่ 12 เทศกาลธรรมดา
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 8:1-4)
เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จลงมาจากภูเขา ประชาชนจำนวนมากติดตามพระองค์ ทันใดนั้น คนโรคเรื้อนคนหนึ่งมาเฝ้าพระองค์ กราบลงทูลว่า “พระเจ้าข้า ถ้าพระองค์พอพระทัย ก็ทรงรักษาข้าพเจ้าให้หายได้” พระองค์ทรงยื่นพระหัตถ์สัมผัสเขา ตรัสว่า “เราพอใจ จงหายเถิด” โรคเรื้อนก็หายไปทันที พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาอีกว่า “ระวัง อย่าบอกให้ใครรู้เลย จงไปแสดงตนแก่สมณะและถวายเครื่องบูชาตามที่โมเสสกำหนด เพื่อเป็นพยานหลักฐานแก่คนทั้งหลาย”
มธ 8:1-4 กฎหมายในพระธรรมเดิมกำหนดให้คนโรคเรื้อนต้องแยกตัวเองออกจากสังคม เนื่องจากเป็นโรคที่ติดต่อได้ (ลนต 13:45-46) การที่สัมผัสคนโรคเรื้อนของพระเยซูเจ้านั้นไม่ได้เพียงแสดงถึงความเมตตาและความสุภาพถ่อมตนของพระองค์เท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความรักที่แสนพิเศษของพระองค์ต่อผู้ป่วยและผู้ที่ทุกข์ทรมาน อัศจรรย์ที่พระคริสตเจ้าทรงกระทำนั้นแสดงให้เห็นถึงพลังและอำนาจของพระเจ้าแห่งคำสอนของพระองค์
CCC ข้อ 515 พระวรสารเขียนขึ้นโดยคนรุ่นแรกๆ ที่เข้ามารับความเชื่อ และต้องการแบ่งปันความเชื่อนี้แก่ผู้อื่น เมื่อเขารู้โดยอาศัยความเชื่อว่าพระเยซูเจ้าคือใครแล้ว เขาก็อาจแลเห็นและช่วยให้ผู้อื่น แลเห็นร่องรอยพระธรรมลํ้าลึกเกี่ยวกับพระองค์ในพระชนมชีพบนแผ่นดินนี้ของพระองค์ได้ชัดเจน ทุกสิ่งทุกอย่างในพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า ทุกสิ่งทุกอย่าง นับตั้งแต่ผ้าอ้อมที่หุ้มห่อพระวรกายเพื่อทรงสมภพจนถึง น้ำองุ่นเปรี้ยวเมื่อทรงรับทรมาน ผ้าห่อพระศพในพระคูหา เมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว ล้วนเป็นเครื่องหมายถึงพระธรรมลํ้าลึกของพระองค์พระภารกิจและการอัศจรรย์ที่ทรงกระทำ พระวาจาที่ตรัสล้วนเปิดเผยว่า “ในพระองค์นั้นพระเทวภาพบริบูรณ์สถิตอยู่ในสภาพมนุษย์ที่สัมผัสได้”(คส 2:9) ดังนี้ มนุษยภาพของพระองค์จึงปรากฏเป็นเสมือน “ศีลศักดิ์สิทธิ์” นั่นคือ เครื่องหมายและเครื่องมือที่พระเทวภาพของพระองค์ทรงใช้นำความรอดพ้นมาประทานแก่มนุษยชาติ และปรากฏให้เห็นในพระชนมชีพในโลกนี้ นำเราเข้าไปสัมผัสกับพระธรรมลํ้าลึกที่เรามองเห็นไม่ได้ว่าทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้าและทรงรับพันธกิจมากอบกู้มนุษยชาติให้รอดพ้น
CCC ข้อ 2616 พระเยซูเจ้าทรงรับฟังการอธิษฐานภาวนาต่อพระองค์แล้วตั้งแต่ในเวลาที่ทรงเทศน์สอนประชาชนผ่านทางเครื่องหมายที่เกริ่นล่วงหน้าแล้วถึงอานุภาพของการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงฟังคำอธิษฐานภาวนาด้วยความเชื่อที่แสดงออกด้วยคำพูด (จากคนโรคเรื้อน จากไยรัส จากหญิงชาวคานาอัน จากโจรกลับใจ) หรือที่แสดงออกเงียบๆ (จากคนที่แบกคนอัมพาตเข้ามา จากหญิงตกเลือดที่มาสัมผัสฉลองพระองค์ด้วยน้ำตาและเครื่องหอมของหญิงคนบาป) การพร่ำขอของคนตาบอดว่า “โอรสของกษัตริย์ดาวิดโปรดเมตตาเราเถิด” (มธ 9:27) หรือ “ข้าแต่พระเยซู โอรสของกษัตริย์ดาวิดเจ้าข้า โปรดเมตตาข้าพเจ้าเถิด” (มก 10:47) ซึ่งจะถูกรับไว้ในธรรมประเพณีต่อมาที่เรียกว่า การอธิษฐานภาวนาต่อพระเยซูเจ้า คือวลีว่า “ข้าแต่พระเยซู ข้าแต่พระคริสตเจ้า ข้าแต่พระบุตรของพระเจ้า พระเจ้าข้า โปรดทรงพระเมตตาต่อข้าพเจ้าคนบาปด้วยเถิด” พระเยซูเจ้าทรงตอบการอธิษฐานภาวนาที่อ้อนวอนพระองค์ด้วยความเชื่อเสมอ โดยทรงรักษาโรคหรือประทานอภัยบาป “จงไปเป็นสุขเถิดความเชื่อของลูกช่วยลูกให้รอดพ้นแล้ว” นักบุญออกัสตินสรุปสามมิติของการอธิษฐานภาวนาของพระเยซูเจ้าไว้อย่างน่าฟังว่า
“พระองค์ทรง อธิษฐานภาวนาเพื่อเราในฐานะพระสงฆ์ของเรา ทรงอธิษฐานภาวนาในตัวเรา ในฐานะที่ทรงเป็นศีรษะของเรา ทรงรับคำอธิษฐานภาวนาจากเรา ในฐานะที่ทรงเป็นพระเจ้าของเรา ดังนั้น เราจงยอมรับเสียงของเราในพระองค์ และเสียงของพระองค์ในเรา”
8:2 พระเจ้าข้า: คำว่า Kyrios ในภาษากรีก ใช้ทั้งสำหรับคำที่หมายถึง พระเจ้า และเพื่อแสดงถึงความเคารพ
CCC ข้อ 448 หลายต่อหลายครั้งในพระวรสาร ประชาชนที่เข้ามาเฝ้าพระเยซูเจ้าทูลเรียกพระองค์ว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” ตำแหน่งนี้เป็นพยานยืนยันถึงความเคารพและความเชื่อมั่นของผู้ที่เข้ามาเฝ้าพระเยซูเจ้าและขอให้พระองค์ทรงช่วยเหลือและรักษาโรค[67] การทูลเรียกดังกล่าวโดยการดลใจของพระจิตเจ้าแสดงถึงการยอมรับพระธรรมล้ำลึกว่าพระเยซูเจ้าคือองค์พระผู้เป็นเจ้า[68] เมื่อพบพระองค์หลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว การทูลเรียกพระนามเช่นนี้เป็นการถวายนมัสการแด่พระองค์ด้วย “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า และพระเจ้าของข้าพเจ้า” (ยน 20:28) ถ้อยคำเช่นนี้จึงรวมความหมายถึงความรักและความเลื่อมใสที่ปรากฏเป็นอัตลักษณ์ของธรรมประเพณีคริสตชนตลอดมา “เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้านี่” (ยน 21:7)
8:4 จงไปแสดงตนแก่สมณะ: คำสอนของพระคริสตเจ้าแสดงถึงความเคารพอย่างลึกซึ้งต่อกฎของโมเสส
CCC ข้อ 586 พระเยซูเจ้าไม่ทรงเป็นอริต่อพระวิหารเลย พระองค์ทรงสั่งสอนหลักคำสอนของพระองค์ในพระวิหาร ทรงประสงค์จ่ายภาษีแก่พระวิหารและทรงต้องการให้เปโตร ที่เพิ่งทรงแต่งตั้งให้เป็นรากฐานของพระศาสนจักรในอนาคต ปฏิบัติเช่นเดียวกันด้วย ยิ่งกว่านั้น พระองค์ยังตรัสว่าทรงเป็นพระวิหารที่แสดงว่าพระเจ้าประทับในหมู่มนุษย์ตลอดไปด้วย เพราะเหตุนี้ การที่พระกายทรงถูกประหาร จึงเป็นการแจ้งถึงการที่พระวิหารจะถูกทำลายซึ่งจะแจ้งว่ายุคใหม่ของประวัติศาสตร์ความรอดพ้นมาถึงแล้ว “ถึงเวลาแล้วที่ท่านทั้งหลายจะนมัสการพระบิดาเจ้าไม่ใช่เฉพาะบนภูเขานี้หรือที่กรุงเยรูซาเล็ม” (ยน 4:21)
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)