แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอังคาร สัปดาห์ที่ 12 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 7:6, 12-14)                                

เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสแก่บรรดาศิษย์ว่า “อย่าให้ของศักดิ์สิทธิ์แก่สุนัข อย่าโยนไข่มุกให้สุกรเพราะมันจะเหยียบย่ำทำให้เสียของ และหันมากัดท่านอีกด้วย” 

“ท่านอยากให้เขาทำกับท่านอย่างไร ก็จงทำกับเขาอย่างนั้นเถิด นี่คือธรรมบัญญัติและคำสอนของบรรดาประกาศก จงเข้าทางประตูแคบ เพราะประตูและทางที่นำไปสู่หายนะนั้นกว้างขวาง คนที่เข้าทางนี้มีจำนวนมาก แต่ประตูและทางซึ่งนำไปสู่ชีวิตนั้นคับแคบ คนที่พบทางนี้มีจำนวนน้อย”


มธ 7:6  ของศักดิ์สิทธิ์ควรได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพนับถือ และมอบให้เฉพาะสำหรับผู้ที่ได้พิจารณาไตร่ตรองและรู้สึกขอบคุณในคุณค่าของสิ่งเหล่านี้เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ บรรดาคริสตชนยุคแรกเริ่มนั้นจึงอนุญาตให้ผู้ที่ยังไม่รับศีลล้างบาป (คริสตังสำรอง) เข้าร่วมพิธีมิสซาได้จนถึงจบภาควจนพิธีกรรมเท่านั้น การปฏิบัตินี้สะท้อนถึงพิธีการรับผู้ใหญ่เข้าเป็นคริสตชน (RCIA) เมื่อบรรดาคริสตังสำรองออกจากการร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณเพื่อศึกษาส่วนตัวเกี่ยวกับพิธีที่มาหลังจากภาควจนพิธีกรรม ส่วนการรับศีลมหาสนิทนั้นถูกสงวนไว้สำหรับบรรดาคาทอลิกที่อยู่ในสถานะพระหรรษทานและไม่ได้ทำบาปหนักใดๆ เท่านั้น

CCC ข้อ 1385 เพื่อจะตอบสนองคำเชื้อเชิญนี้ เราต้องเตรียมตัวเราสำหรับช่วงเวลาสำคัญและศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้ นักบุญเปาโลเตือนให้เราพิจารณามโนธรรม “ผู้ใดที่กินปังหรือดื่มจากถ้วยขององค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างไม่สมควร ก็ผิดต่อพระกายและผิดต่อพระโลหิตขององค์พระผู้เป็นเจ้า แต่ละคนจงพิจารณาตนเอง แล้วจึงกินปังและดื่มจากถ้วย เพราะผู้ใดที่กินและดื่มโดยไม่ยอมรับรู้พระกาย ก็กินและดื่มการตัดสินลงโทษตนเอง” (1 คร 11:27-29) ผู้ที่รู้ตัวว่าได้ทำบาปหนักก็ต้องรับศีลอภัยบาป ก่อนจะเข้าไปรับศีลมหาสนิท

CCC ข้อ 2120 การล่วงเกิน (ทุราจาร - sacrilege) คือการกระทำที่ขาดความเคารพและไม่เหมาะสมต่อศีลศักดิ์สิทธิ์และกิจกรรมอื่นๆ ของพิธีกรรม รวมทั้งต่อบุคคลและสถานที่ได้ถวายแด่พระเจ้าแล้ว การล่วงเกินเป็นบาปหนัก โดยเฉพาะเมื่อทำต่อศีลมหาสนิท เพราะพระกายของพระคริสตเจ้า ประทับอยู่โดยแท้จริง (substantially) ในศีลนี้

CCC ข้อ 2148 การกล่าวดูหมิ่นพระเจ้า (blasphemy) ขัดกับพระบัญญัติประการนี้โดยตรง เป็นการกล่าวถ้อยคำแสดงความเกลียดชัง ตำหนิติเตียน และท้าทาย – ภายในใจหรือกล่าวออกมาภายนอก – ต่อพระเจ้า การกล่าวร้ายถึงพระเจ้า การแสดงความไม่เคารพต่อพระองค์ด้วยคำพูด การใช้พระนามของพระเจ้าอย่างไม่เหมาะสม นักบุญยากอบกล่าวประณามผู้ที่ “กล่าวร้ายต่อพระนาม(เยซู)ซึ่งบันดาลให้ [เขา] เป็นของ    พระเจ้า” (ยก 2:7) การห้ามกล่าวดูหมิ่นพระเจ้ายังรวมไปถึงการกล่าวร้ายต่อพระศาสนจักรของพระคริสตเจ้า ต่อบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ (นักบุญ) ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ด้วย การกล่าวดูหมิ่นพระเจ้ายังรวมไปถึงการใช้พระนามพระเจ้ามาปกป้องความผิดของตน มาบังคับประชาชนให้เป็นทาส มาทรมานหรือประหารชีวิต การนำพระนามของพระเจ้ามาใช้ประกอบอาชญากรรมเป็นการผลักดันให้ผู้อื่นไม่ยอมรับนับถือศาสนา การกล่าวดูหมิ่นพระเจ้าขัดกับการถวายคารวะที่ต้องแสดงต่อพระเจ้าและพระนาม ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ จึงเป็นบาปหนักโดยธรรมชาติของตัวเอง


มธ 7:12  เรียกว่า “กฎทอง” (Golden Rule) แนวคิดนี้คือส่วนหนึ่งของกฎธรรมชาติ และยังเป็นมาตรฐานทางจริยธรรมสากลด้วย เป็นผลที่ตามมาโดยธรรมชาติของบทบัญญัติที่ยิ่งใหญ่สองประการแห่งความรักต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์ (มธ 5:17-48) และเป็นการก้าวเข้าสู่บัญญัติใหม่คือ “ให้ท่านทั้งหลายรักกัน เหมือนดังที่เรารักท่าน” (ยน 15:12)

CCC ข้อ 1789 ในทุกกรณีเหล่านี้จึงต้องใช้กฎบางประการ คือ

- ต้องไม่มีวันอนุญาตให้ทำชั่วเพื่อจะได้ผลดีจากการนั้น

- “กฎทางปฏิบัติ” ก็คือ “ท่านอยากให้เขาทำกับท่านอย่างไร ก็จงทำกับเขาอย่างนั้นเถิด” (มธ 7:12)56

- ความรักต้องคำนึงถึงเพื่อนพี่น้องและมโนธรรมของเขาเสมอ “ถ้าท่านทำบาปต่อพี่น้องและ ทำร้ายมโนธรรมที่อ่อนไหวของเขา ท่านก็ย่อมทำบาปต่อพระคริสตเจ้า” (1 คร 8:12)

- “เป็นการดีที่จะงด [...] [ทำ]ทุกสิ่งที่เป็นเหตุทำให้พี่น้องของท่านไม่สบายใจ” (รม 14:21)

CCC ข้อ 1968 กฎแห่งพระวรสารทำให้ธรรมบัญญัติสมบูรณ์คำเทศน์สอนขององค์พระผู้เป็นเจ้าไม่ได้ลบล้างข้อกำหนดเกี่ยวกับความประพฤติของธรรมบัญญัติดั้งเดิม และไม่ได้ทำให้ข้อกำหนดเหล่านี้ลดค่าลงเลย แต่ทำให้พลังที่ซ่อนเร้นอยู่ของข้อกำหนดเหล่านี้ปรากฏชัดเจนขึ้นและทำให้เกิดข้อเรียกร้องใหม่ๆ จากข้อกำหนดเหล่านี้ เปิดเผยความจริงทั้งหมดเกี่ยวกับพระเจ้าและมนุษย์ของข้อกำหนดเหล่านี้ กฎแห่งพระวรสารไม่เพิ่มข้อกำหนดใหม่ภายนอก และก้าวหน้าเข้าไปปรับปรุงจิตใจซึ่งเป็นรากของการกระทำต่างๆ เมื่อมนุษย์ไม่ยอมรับสิ่งที่มีมลทินเลือกสิ่งบริสุทธิ์ ที่ก่อให้เกิดความเชื่อ ความหวังและความรัก และคุณธรรมประการอื่นๆ พร้อมกับคุณธรรมเหล่านี้ด้วย พระวรสารจึงนำธรรมบัญญัติให้บรรลุถึงความบริบูรณ์โดยเอาอย่างความดีบริบูรณ์ของพระบิดาเจ้าสวรรค์โดยยกโทษให้ศัตรูและอธิษฐานภาวนาใหผู้ที่เบียดเบียน ตามแบบฉบับพระทัยกว้างของพระเจ้า

CCC ข้อ 1970 กฎแห่งพระวรสารเรียกร้องให้มีการเลือกระหว่าง “ทางสองแพร่ง” และให้นำพระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้ามาปฏิบัติ ทั้งหมดนี้รวมกันเรียกว่า “กฎปฏิบัติ” (Golden Rule) ที่สรุปได้ดังนี้ “ท่านอยากให้เขาทำกับท่านอย่างไร ก็จงทำกับเขาอย่างนั้นเถิด นี่คือธรรมบัญญัติและคำสอนของบรรดาประกาศก”  (มธ 7:12) กฎแห่งพระวรสารทั้งหมดรวมอยู่ในบัญญัติใหม่ของพระเยซูเจ้าที่สั่งให้เรารักกันเหมือนกับที่พระองค์ทรงรักเรา

CCC ข้อ 2510 กฎปฏิบัติในกรณีเฉพาะช่วยให้เราตัดสินว่าควรจะเปิดเผยความจริงแก่ผู้ที่ขอให้ทำเช่นนั้นหรือไม่

CCC ข้อ 2821 คำวอนขอนี้ได้รับการสนับสนุนจากการอธิษฐานภาวนาของพระเยซูเจ้าและพระเจ้าทรงฟังในการอธิษฐานภาวนาของพระคริสตเจ้าที่มีอยู่และเกิดผลในพิธีบูชาขอบพระคุณ และบังเกิดผลในชีวิตใหม่ตามคำสอนเรื่องความสุขแท้จริง


มธ 7:13-14 ประตูทั้งสองแสดงถึงตัวเลือกพื้นฐานแห่งการติดตามหรือปฏิเสธพระคริสตเจ้า ที่จะมุ่งมั่นเข้าสู่สิริรุ่งโรจน์แห่งพระอาณาจักรสวรรค์ หรือสู่การเสี่ยงที่จะรับโทษชั่วนิรันดร์ ในทุกๆ การตัดสินใจด้านศีลธรรมล้วนมีส่วนที่จะส่งเสริมหรือขัดขวางการรับความรอดพ้นและความศักดิ์สิทธิ์

CCC ข้อ 1036 ข้อความของพระคัมภีร์และคำสอนของพระศาสนจักรเรื่องนรกเป็นการเรียกร้องให้มีความรับผิดชอบที่มนุษย์ต้องใช้อิสรภาพโดยคำนึงถึงชะตากรรมนิรันดรของตน พร้อมกันนั้นยังเป็นการเร่งรัดเชิญชวนให้กลับใจอีกด้วย “จงเข้าทางประตูแคบ เพราะประตูและทางที่นำไปสู่หายนะนั้นกว้างขวาง คนที่เข้าทางนี้มีจำนวนมาก แต่ประตูและทางซึ่งนำไปสู่ชีวิตนั้นคับแคบ คนที่พบทางนี้มีจำนวนน้อย”      (มธ 7:13-14)  “เนื่องจากว่าเราไม่รู้วันเวลา องค์พระผู้เป็นเจ้าจึงทรงเตือนว่าเราจำเป็นต้องตื่นเฝ้าระวังตัวอยู่ตลอดเวลาเพื่อว่าเมื่อช่วงเวลาชีวิตในโลกนี้ของเราที่มีเพียงครั้งเดียวแล้ว เราจะได้เหมาะสมที่จะได้รับเชิญเข้าไปร่วมงานวิวาห์กับพระองค์และรวมอยู่ในจำนวนของบรรดาผู้ได้รับพระพรจากพระเจ้า ไม่ถูกสั่งเหมือนผู้รับใช้ที่เลวให้ต้องไปอยู่ในไฟนิรันดร ในที่มืดภายนอกที่จะมีแต่การร่ำไห้และขบฟันด้วยความขุ่น เคือง”

CCC ข้อ 1696 ทางของพระคริสตเจ้า “นำไปสู่ชีวิต” (มธ 7:14) ส่วนทางตรงข้ามนั้น “นำไปสู่หายนะ” (มธ 7:13)17 คำเปรียบเทียบเรื่องทางสองแพร่งในพระวรสารนี้คงอยู่เสมอมาในการสอนคำสอนของพระศาสนจักร มีความหมายถึงความสำคัญของการตัดสินใจเรื่องความประพฤติสำหรับความรอดพ้นของเรา “มีทางอยู่สองสาย สายหนึ่งเป็นทางชีวิต อีกสายหนึ่งเป็นทางความตาย แต่ทางทั้งสองสายนี้แตกต่างกันมาก”

CCC ข้อ 1970 กฎแห่งพระวรสารเรียกร้องให้มีการเลือกระหว่าง “ทางสองแพร่ง” และให้นำพระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้ามาปฏิบัติ ทั้งหมดนี้รวมกันเรียกว่า “กฎปฏิบัติ” (Golden Rule) ที่สรุปได้ดังนี้ “ท่านอยากให้เขาทำกับท่านอย่างไร ก็จงทำกับเขาอย่างนั้นเถิด นี่คือธรรมบัญญัติและคำสอนของบรรดาประกาศก” (มธ 7:12) กฎแห่งพระวรสารทั้งหมดรวมอยู่ในบัญญัติใหม่ของพระเยซูเจ้าที่สั่งให้เรารักกันเหมือนกับที่พระองค์ทรงรักเรา

CCC ข้อ 2609  ใจที่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ย่อมเรียนรู้ที่จะอธิษฐานภาวนาด้วยความเชื่อ ความเชื่อเป็นการที่เราเข้าหาพระเจ้าเหมือนกับบุตรมากกว่าที่เรารู้สึกและเข้าใจ การทำเช่นนี้เป็นไปได้เพราะ  พระบุตรทรงเปิดทางให้เราเข้าหาพระบิดาได้  พระองค์ทรงขอจากเราได้ ให้เรา “แสวงหา” และ “เคาะประตู” เพราะพระองค์ทรงเป็นประตูและหนทาง       

 

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)