แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันเสาร์ สัปดาห์ที่ 11 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 6:24-34)                     

ไม่มีใครเป็นข้าสองเจ้าบ่าวสองนายได้ เขาจะชังนายคนหนึ่งและจะรักนายอีกคนหนึ่ง เขาจะจงรักภักดีต่อนายคนหนึ่งและจะดูหมิ่นนายอีกคนหนึ่ง ท่านทั้งหลายจะปรนนิบัติรับใช้พระเจ้าและเงินทองพร้อมกันไม่ได้ 

ฉะนั้น เราบอกท่านทั้งหลายว่า อย่ากังวลถึงชีวิตของท่านว่าจะกินอะไร อย่ากังวลถึงร่างกายของท่านว่าจะนุ่งห่มอะไร ชีวิตย่อมสำคัญกว่าอาหาร และร่างกายย่อมสำคัญกว่าเครื่องนุ่งห่มมิใช่หรือ จงมองดูนกในอากาศเถิด มันมิได้หว่าน มิได้เก็บเกี่ยว มิได้สะสมไว้ในยุ้งฉาง แต่พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ทรงเลี้ยงมัน ท่านทั้งหลายมิได้มีค่ามากกว่านกหรือ ท่านใดบ้างที่กังวลแล้วต่ออายุของตนให้ยาวออกไปอีกสักหนึ่งวันได้ ท่านจะกังวลถึงเครื่องนุ่งห่มทำไม จงสังเกตดูดอกไม้ในทุ่งนาเถิด มันเจริญงอกงามขึ้นได้อย่างไร มันไม่ทำงาน มันไม่ปั่นด้าย แต่เราบอกท่านทั้งหลายว่า กษัตริย์ซาโลมอนเมื่อทรงเครื่องอย่างหรูหรา ก็ยังไม่งดงามเท่าดอกไม้นี้ดอกหนึ่ง แม้แต่หญ้าในทุ่งนา ซึ่งมีชีวิตอยู่วันนี้ รุ่งขึ้นจะถูกโยนทิ้งในเตาไฟ พระเจ้ายังทรงตกแต่งให้งดงามเช่นนี้ พระองค์จะไม่สนพระทัยท่านมากกว่านั้นหรือ ท่านช่างมีความเชื่อน้อยจริง ดังนั้น อย่ากังวลและกล่าวว่า ‘เราจะกินอะไร หรือจะดื่มอะไร หรือเราจะนุ่งห่มอะไร’ เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้คนต่างศาสนาแสวงหา พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ทรงทราบแล้วว่าท่านต้องการทุกสิ่งเหล่านี้ จงแสวงหาพระอาณาจักรของพระเจ้าและความชอบธรรมของพระองค์ก่อน แล้วพระองค์จะทรงเพิ่มทุกสิ่งเหล่านี้ให้” “ดังนั้น ท่านทั้งหลายอย่ากังวลถึงวันพรุ่งนี้ เพราะวันพรุ่งนี้จะกังวลสำหรับตนเอง แต่ละวันมีทุกข์พออยู่แล้ว” 


มธ 6:24  คำว่า เงินทอง (Mammon) เป็นคำแปลมาจากภาษาอราเมอิกว่า ความร่ำรวย เราเรียกการเอาสิ่งใดก็ตามมาแทนที่พระเจ้าว่า พระเท็จเทียม ซึ่งรวมทั้งพระจอมปลอมที่ทำด้วยสิ่งฝ่ายวัตถุ ความสุขทางโลก และการบริหารจัดการ เมื่อดวงใจไม่มีพระเจ้าเป็นศูนย์กลาง การชิดสนิทกับพระองค์ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ ความปรารถนาไม่ดีที่อยากได้ทรัพย์สินเงินทองจะแยกเราจากพระเจ้า และผลที่ตามมาย่อมเป็นเหตุให้เกิดความอยุติธรรมในกฎระเบียบของสังคม     

CCC ข้อ 2113  การกราบไหว้รูปเคารพไม่หมายถึงเพียงคารวกิจไม่ถูกต้องของคนต่างศาสนาเท่านั้น ยังคงเป็นการประจญความเชื่ออยู่ตลอดเวลา การกราบไหว้รูปเคารพนี้อยู่ที่การยกย่องสิ่งที่ไม่ใช่พระเจ้าขึ้นเป็นพระเจ้า การกราบไหว้รูปเคารพมีได้เสมอเมื่อมนุษย์เคารพนับถือสิ่งสร้างแทนที่พระเจ้า ไม่ว่าจะเป็นเทพเจ้าหรือปีศาจ (เช่นการเคารพนับถือผีปีศาจ) อำนาจ ความสนุกสนาน เชื้อชาติ บรรพบุรุษ รัฐ เงินทอง ฯลฯ “ท่านทั้งหลายจะปรนนิบัติรับใช้พระเจ้าและเงินทองพร้อมกันไม่ได้” (มธ 6:24) บรรดามรณสักขีจำนวนมากยอมสละชีวิตเพื่อจะไม่ต้องกราบไหว้ “สัตว์ร้าย” ไม่ยอมแม้กระทั่งการเสแสร้งประกอบพิธีเหล่านี้ การกราบไหว้รูปเคารพปฏิเสธไม่ยอมรับอำนาจปกครองหนึ่งเดียวของพระเจ้า ดังนั้นจึงเข้ากันไม่ได้กับความสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้า

CCC ข้อ 2424 ทฤษฎีที่ใช้ผลกำไรเป็นตัวกำหนดเพียงอย่างเดียวและเป็นจุดหมายสุดท้ายของกิจกรรมทางเศรษฐกิจย่อมเป็นที่ยอมรับไม่ได้ทางศีลธรรม ความกระหายเงินทองอย่างไร้ระเบียบมีแต่จะก่อให้เกิดผลร้ายอยู่เสมอ ความกระหายนี้เป็นหนึ่งในสาเหตุต่างๆ ของการต่อสู้กันที่ทำลายระเบียบของสังคม ระบอบการปกครองที่ถือว่า “สิทธิพื้นฐานของแต่ละบุคคลและหมู่คณะมีความสำคัญน้อยกว่าองค์กรจัดการการผลิตส่วนรวม”[166] ย่อมขัดกับศักดิ์ศรีของมนุษย์ การกระทำทุกอย่างที่ทำให้บุคคลกลายเป็นเพียงเครื่องมือหากำไรเท่านั้น ทำให้มนุษย์กลายเป็นทาส นำไปสู่การบูชาเงินทองและช่วยให้ลัทธิอเทวนิยมเผยแพร่ยิ่งขึ้น “ท่านทั้งหลายจะปรนนิบัติรับใช้พระเจ้าและเงินทองพร้อมกันไม่ได้” (มธ 6:24; ลก 16:13)

CCC ข้อ 2848  “ไม่ให้แพ้การผจญ” (ตามตัวอักษรว่า “ไม่ถูกนำเข้าสู่การผจญ”) ยังหมายถึงการตัดสินใจ “ทรัพย์สมบัติของท่านอยู่ที่ใด ใจของท่านก็จะอยู่ที่นั่นด้วย […] ไม่มีใครเป็นข้าสองเจ้าบ่าวสองนายได้” (มธ 6:21,24) “ถ้าเรามีชีวิตเดชะพระจิตเจ้า เราจงดำเนินชีวิตตามพระจิตเจ้าด้วย” (กท 5:25) พระบิดาประทานพลังให้เราในการ “เห็นพ้อง” เช่นนี้กับพระจิตเจ้า “ท่านทั้งหลายไม่เคยเผชิญกับการผจญใดๆ ที่เกินกำลังมนุษย์ พระเจ้าทรงซื่อสัตย์ พระองค์จะไม่ทรงอนุญาตให้ท่านถูกผจญเกินกำลังของท่าน แต่เมื่อถูกผจญ พระองค์จะประทานความสามารถให้ท่านยืนหยัดมั่นคงและหาทางออกได้” (1 คร 10:13)


มธ 6:25-32  ความวิตกกังวลถึงสิ่งฝ่ายโลกและความสะดวกสบายชักจูงคนเราให้ออกห่างจากพระเจ้า พระคริสตเจ้าทรงสอนบรรดาศิษย์ของพระองค์ให้ไว้วางใจในพระญาณเอื้ออาทรของพระเจ้าพระบิดาอย่างที่เด็กๆ ไว้วางใจในพ่อแม่ของตน ในขณะที่เราพยายามทำทุกอย่างด้วยความบากบั่นถึงที่สุดนั้น เราก็ต้องเป็นอิสระจากความวิตกกังวลและความกระวนกระวาย เพราะพระเจ้าทรงเป็นบิดาที่น่ารัก ผู้ทรงปรารถนาให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเราเสมอ     

CCC ข้อ 270 พระเจ้าทรงเป็นพระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพ การที่ทรงเป็นพระบิดาและพระอานุภาพนี้อธิบายความหมายของกันและกัน พระองค์ทรงสำแดงพระอานุภาพเยี่ยงพระบิดาโดยวิธีการที่ทรงเอาพระทัยใส่ต่อความต้องการของเรา โดยทรงรับเราเป็นบุตรบุญธรรม (“เราจะเป็นเหมือนบิดาของท่าน และท่านจะเป็นเหมือนบุตรและธิดาของเรา พระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพตรัสดังนี้”: 2 คร 6:18) ในที่สุด เพราะทรงพระกรุณาอย่างที่สุด พระองค์ทรงสำแดงพระอานุภาพอย่างยิ่งโดยทรงอภัยบาปให้อย่างอิสระเสรี

CCC ข้อ 305 พระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องให้เรามอบความไว้วางใจเยี่ยงบุตรต่อพระญาณเอื้ออาทรของพระบิดาเจ้าสวรรค์ซึ่งเอาพระทัยใส่ต่อความต้องการแม้เล็กน้อยที่สุดของบรรดาบุตรของพระองค์ “ดังนั้น อย่ากังวลและกล่าวว่า ‘เราจะกินอะไร หรือจะดื่มอะไร’ [….] พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ทรงทราบแล้วว่าท่านต้องการทุกสิ่งเหล่านี้ จงแสวงหาพระอาณาจักรของพระเจ้าและความชอบธรรมของพระองค์ก่อน แล้วพระองค์จะทรงเพิ่มทุกสิ่งเหล่านี้ให้” (มธ 6:31-33) 

CCC ข้อ 322 พระคริสตเจ้าทรงเชิญเราให้มอบตนไว้กับพระญาณเอื้ออาทรของพระบิดาเจ้าสวรรค์ของเรา และนักบุญเปโตรก็กล่าวย้ำว่า “ท่านจง(ดำเนินชีวิต)ละความกระวนกระวายทั้งมวลของท่านไว้กับพระองค์ เพราะพระองค์ทรงห่วงใยท่าน” (1 ปต 5:7) 

CCC ข้อ 2547 องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงคร่ำครวญถึงคนร่ำรวยเพราะเขาได้รับความเบิกบานใจแล้ว “ให้ผู้หยิ่งผยองแสวงหาและรักอาณาจักรของโลกนี้เถิด แต่ผู้มีใจยากจนย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา” ถ้าการมอบตนไว้กับพระญาณเอื้ออาทรของพระบิดาเจ้าสวรรค์ช่วยเราให้พ้นจากความกังวลของวันพรุ่งนี้ ความไว้วางใจในพระเจ้าก็เป็นการจัดเตรียมไว้สำหรับความสุขของผู้ยากจน เขาจะเห็นพระเจ้า 

CCC ข้อ 2830 อาหารของข้าพเจ้าทั้งหลาย” พระบิดาผู้ประทานชีวิตให้เรา จะไม่ประทานอาหารจำเป็นเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตของเรา รวมทั้งสิ่งที่ดีทั้งหลาย “ที่เหมาะสม” ทั้งที่เป็นวัตถุและเป็นจิตด้วยไม่ได้ ในบทเทศน์บนภูเขา พระเยซูเจ้าทรงเตือนเราให้มีความวางใจเยี่ยงบุตรที่ร่วมมือกับพระญาณเอื้ออาทรของพระบิดาของเรา พระองค์ไม่เคยทรงแนะนำเราให้รอคอยอยู่เฉยๆ แต่ทรงประสงค์ให้เราพ้นจากความวุ่นวายใจและความกังวลทั้งหลาย ความเชื่อมั่นและไว้วางใจเยี่ยงบุตรของพระเจ้าเป็นเช่นนี้ “พระองค์ทรงสัญญาจะประทานทุกสิ่งให้แก่ผู้ที่แสวงหาพระอาณาจักรและความยุติธรรมของพระเจ้า ผู้ที่มีพระเจ้าจะไม่ขาดสิ่งใดเลย ถ้าเขาไม่ทิ้งพระองค์ไปก่อน”


มธ 6:26  สิ่งสร้างทั้งมวลล้วนเป็นพยานถึงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าและพระญาณเอื้ออาทรของพระองค์  

CCC ข้อ 32 ลก – เราอาจรู้จักพระเจ้าในฐานะที่ทรงเป็นบ่อเกิดและจุดหมายของจักรภพได้ จากความเคลื่อนไหว การเปลี่ยนแปลง จากความเป็นอยู่ที่มีหรือไม่มีก็ได้ จากระเบียบและจากความงดงามของโลก

นักบุญเปาโลกล่าวถึงชนต่างศาสนาที่ไม่มีความเชื่อไว้ว่าดังนี้ “พระเจ้าทรงทำให้สิ่งที่รู้ได้เกี่ยวกับพระองค์ปรากฏชัดอยู่แล้ว กล่าวคือ ตั้งแต่เมื่อทรงสร้างโลก คุณลักษณะที่ไม่อาจแลเห็นได้ของพระเจ้า คือพระอานุภาพนิรันดรและเทวภาพของพระองค์ปรากฏอย่างชัดเจนแก่ปัญญามนุษย์ในสิ่งที่ทรงสร้าง” (รม 1:19-20)

นักบุญออกัสตินยังกล่าวอีกว่า “จงถามความงามของแผ่นดิน จงถามความงามของทะเล จงถามความงามของอากาศที่แผ่ไปทั่วทุกแห่ง จงถามความงามของท้องฟ้า [….] จงถามสิ่งต่างๆ เหล่านี้เถิด ทุกสิ่งจะตอบท่านว่า ‘ดูซิ พวกเราล้วนงดงาม’ ความงดงามของสิ่งเหล่านี้เป็น การประกาศสรรเสริญ (confession) ของสิ่งสร้าง ใครเล่าได้สร้างสิ่งงดงามที่เปลี่ยนแปลงได้เหล่านี้ถ้าไม่ใช่ ผู้ทรงความงดงามที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง?”

CCC ข้อ 350 ทูตสวรรค์เป็นสิ่งสร้างที่เป็นจิต ซึ่งถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าโดยไม่หยุดหย่อน และปฏิบัติตามแผนการของพระเจ้าเพื่อความรอดพ้นสำหรับสิ่งสร้างอื่นๆ “บรรดาทูตสวรรค์ร่วมทำงานเพื่อความดีทั้งหมดของพวกเรา”

CCC ข้อ 355 “พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ตามภาพลักษณ์ของพระองค์ พระองค์ทรงสร้างเขาตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า พระองค์ทรงสร้างให้เป็นชายและหญิง” (ปฐก 1:27) มนุษย์มีตำแหน่งโดดเด่นในการเนรมิตสร้าง – (I) มนุษย์ถูกสร้างมาให้เป็น “ภาพลักษณ์ของพระเจ้า”; (II) โดยธรรมชาติ มนุษย์เป็นผู้เชื่อมโลกของจิตกับโลกของวัตถุ; (III) พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างมนุษย์ “ให้เป็นชายและหญิง”; (IV) พระเจ้าทรงกำหนดให้มนุษย์เป็นมิตรกับพระองค์

CCC ข้อ 356 ในบรรดาสิ่งสร้างที่เราแลเห็นได้ มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่มีสมรรถภาพ “จะรู้จักและรักพระผู้เนรมิตสร้างตนได้” “เป็นสิ่งสร้างเพียงหนึ่งเดียวในโลกนี้ที่พระเจ้าทรงพระประสงค์เพราะตนเอง” มนุษย์เท่านั้นได้รับเรียกให้มีส่วนในชีวิตของพระเจ้าโดยรู้จักและรักพระองค์ มนุษย์ถูกสร้างมาเพื่อจุดประสงค์นี้และเหตุผลพื้นฐานแห่งศักดิ์ศรีของมนุษย์ก็อยู่ที่ตรงนี้ “เพราะเหตุใดพระองค์จึงทรงจัดตั้งมนุษย์ไว้ให้มีศักดิ์ศรียิ่งใหญ่เช่นนี้ ใช่แล้ว เพราะความรักที่คาดไม่ถึงซึ่งทำให้พระองค์ทอดพระเนตรดูสิ่งที่ทรงเนรมิตสร้างในพระองค์เอง พระองค์ทรง “หลงรัก” สิ่งสร้างนี้ เพราะทรงเนรมิตสร้างขึ้นมาก็เพราะความรัก ประทานความเป็นอยู่ให้ก็เพราะความรัก เพื่อสิ่งที่ทรงเนรมิตสร้างมานี้จะได้ลิ้มรสความดีสูงสุดนิรันดรของพระองค์”

CCC ข้อ 357 มนุษย์แต่ละคน เพราะสร้างขึ้นมาตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า มีศักดิ์ศรีเป็น “บุคคล” ไม่เป็นเพียง “อะไรสิ่งหนึ่ง” แต่เป็น “ใครคนหนึ่ง” มนุษย์มีสมรรถภาพจะรู้จักตนเอง ควบคุมตนเอง และมอบตนเองให้แก่ผู้อื่นได้โดยอิสระเสรี รวมทั้งเข้าไปมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นได้ อาศัยพระหรรษทานมนุษย์ได้รับเรียกมาให้ทำพันธสัญญากับพระผู้เนรมิตสร้างตน ให้แสดงความเชื่อและความรักเพื่อตอบสนองพระองค์ ไม่มีผู้ใดอื่นอาจแสดงการกระทำเช่นนี้แทนเขาได้

CCC ข้อ 358 พระเจ้าทรงเนรมิตทุกสิ่งเพื่อมนุษย์ มนุษย์ถูกสร้างมาเพื่อรับใช้พระเจ้า เพื่อรักพระองค์ และถวายสิ่งสร้างทั้งมวลแด่พระองค์ “ดังนั้นใครเล่าเป็นผู้ที่จะต้องถูกเนรมิตสร้างขึ้นมาเพื่อรับศักดิ์ศรียิ่งใหญ่เช่นนี้ ผู้นั้นคือมนุษย์ สิ่งที่มีจิตวิญญาณน่าพิศวงยิ่งใหญ่นั้น และที่มีเกียรติกว่าสิ่งสร้างทั้งมวลเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า ซึ่งสวรรค์และแผ่นดิน ทะเลและสิ่งสร้างทั้งมวลถูกสร้างขึ้นมาก็เพื่อเขา –  มนุษย์ซึ่งพระเจ้าทรงประสงค์ความรอดพ้นของเขาอย่างยิ่ง จนกระทั่งไม่ทรงยอมไว้ชีวิตแม้พระบุตรเพียงพระองค์เดียวเพื่อเขา พระองค์ยังไม่ทรงหยุดยั้งที่จะกระทำและพยายามทุกอย่างจนกว่าจะได้ยกเขาให้สูงขึ้นและสถาปนาเขาไว้ ณ เบื้องขวาของพระองค์”

CCC ข้อ 359 “จริงแล้ว ธรรมล้ำลึกของมนุษย์ปรากฏชัดในพระธรรมล้ำลึกของพระวจนาตถ์ผู้รับสภาพมนุษย์เท่านั้น” “วันนี้นักบุญเปาโลกล่าวถึงมนุษย์สองคนที่เป็นต้นกำเนิดของมนุษยชาติ นั่นคืออาดัมและพระคริสตเจ้า […] ท่านกล่าวดังนี้ว่าอาดัมมนุษย์คนแรกถูกสร้างขึ้นเป็นสิ่งมีชีวิต อาดัมคนสุดท้ายเป็นจิตซึ่งประทานชีวิต มนุษย์คนแรกถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์คนสุดท้ายนี้ซึ่งบันดาลให้เขามีวิญญาณเพื่อจะมีชีวิต [….] มนุษย์คนสุดท้ายนี้คืออาดัมซึ่งประทานภาพลักษณ์ของตนแก่อาดัมคนแรกเมื่อสร้างเขาขึ้นมา ดังนี้เขาจึงรับบทบาทและนามของอาดัมคนแรก เพื่อจะไม่สูญเสียสิ่งที่เขาได้สร้างขึ้นมาตามภาพลักษณ์ของตน อาดัมคนแรก อาดัมคนสุดท้าย อาดัมคนแรกมีจุดเริ่มต้น ส่วนอาดัมคนสุดท้ายไม่มีจุดจบ เพราะอาดัมคนสุดท้ายนี้เป็นคนแรกโดยแท้จริง เมื่อกล่าวว่า ‘เราเป็นปฐมเหตุและอวสาน’” 

CCC ข้อ 824 พระศาสนจักรซึ่งรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้าจึงรับความศักดิ์สิทธิ์จากพระองค์ และยังเป็นผู้บันดาลความศักดิ์สิทธิ์จากพระองค์และในพระองค์ด้วย เพื่อทำให้มนุษย์ได้รับความศักดิ์สิทธิ์ในพระคริสตเจ้าและเพื่อพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า “ภารกิจการงานทุกอย่างของพระศาสนจักรจึงมุ่งไปสู่การนี้เสมือนจุดหมาย” พระเจ้าทรงมอบ “วิธีการทุกอย่างที่จะนำไปรับความรอดพ้น” ไว้ในพระศาสนจักร “เรารับความศักดิ์สิทธิ์อาศัยพระหรรษทานของพระเจ้าได้” ก็ในพระศาสนจักรนี้เอง

CCC ข้อ 2416 สัตว์ต่างๆ เป็นสิ่งสร้างของพระเจ้า พระองค์ทรงใช้พระญาณเอื้ออาทรเอาใจใส่ดูแลบรรดาสัตว์ด้วย บรรดาสัตว์ใช้เพียงความเป็นอยู่ของมันเท่านั้นถวายพระพรและถวายพระเกียรติแด่พระองค์ มนุษย์จึงต้องแสดงความใจดีต่อสัตว์เหล่านี้ด้วย เราจึงต้องระลึกว่าบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ เช่น นักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซีหรือนักบุญฟีลิปเนรี เคยเอาใจใส่ดูแลสัตว์ต่างๆ ด้วยความอ่อนโยนอย่างไร   


มธ 6:33-34  ความปรารถนาสูงสุดของเราคือ การเผยแผ่พระอาณาจักรของพระเจ้า ซึ่งเป็นผลอันเกิดขึ้นจากสังคมที่ชอบธรรม ที่ซึ่งคุณค่าและศักดิ์ศรีของบุคคลมีความสำคัญสูงสุด    

CCC ข้อ 1942 คุณธรรมเรื่องการร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันขยายกว้างกว่าขอบเขตของผลประโยชน์ด้านวัตถุ

เมื่อพระศาสนจักรแจกจ่ายความเชื่อเป็นพระพรฝ่ายจิต ก็ยังช่วยเปิดแนวทางใหม่ให้มีการพัฒนาผลประโยชน์ด้านวัตถุควบคู่ไปด้วย ดังนี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมาหลายศตวรรษ พระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้าจึงกลายเป็นความจริงที่ว่า “จงแสวงหาพระอาณาจักรของพระเจ้าและความชอบธรรมของพระองค์ก่อน แล้วพระองค์จะทรงเพิ่มทุกสิ่งเหล่านี้ให้” (มธ 6:33) “ตั้งแต่สองพันปีมาแล้ว ความรู้สึกรับผิดชอบส่วนรวมของทุกคนและสำหรับทุกคนมีชีวิตชีวาและยังคงอยู่ในจิตวิญญาณของพระศาสนจักร จนเป็นแรงผลักดันให้เกิดความรักและปลุกจิตขั้นวีรกรรม นั่นคือ บรรดานักพรตที่เป็นกสิกร เป็นผู้ปลดปล่อยทาส บำบัดรักษาผู้เจ็บป่วย นำความเชื่อ อารยธรรมและวิชาความรู้มาให้ชนหลายชาติในทุกสมัย เพื่อเสริมสร้างสภาพสังคมที่สามารถทำให้ชีวิตอยู่ได้อย่างสะดวกสบายสมกับความเป็นมนุษย์และคริสตชน” 

CCC ข้อ 2604 นักบุญยอห์นเล่าถึงเรื่องการอธิษฐานภาวนา(ของพระเยซูเจ้า)อีกเรื่องหนึ่ง[53]ก่อนที่จะทรงปลุกลาซารัสให้กลับคืนชีพ เหตุการณ์ครั้งนี้ก็เริ่มด้วยการขอบพระคุณเช่นเดียวกัน “ข้าแต่พระบิดาเจ้า ข้าพเจ้าขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงฟังคำของข้าพเจ้า” ซึ่งมีความหมายเป็นนัยว่าพระบิดาทรงฟังคำขอร้องของพระองค์เสมอ พระเยซูเจ้าจึงตรัสต่อไปทันทีว่า “ข้าพเจ้าทราบดีว่าพระองค์ทรงฟังข้าพเจ้าเสมอ” ซึ่งก็หมายความว่าพระเยซูเจ้าเองก็ทรงวอนขอพระบิดาอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น การอธิษฐานภาวนาของพระเยซูเจ้าที่เริ่มด้วยการขอบพระคุณจึงเปิดเผยให้เรารู้ว่าจะต้องวอนขออย่างไร  ก่อนที่จะทรงได้รับสิ่งที่ทรงขอ พระเยซูเจ้าทรงร่วมสนิทกับพระองค์ผู้ประทานและประทานพระองค์เองในสิ่งที่ประทานให้ พระองค์ผู้ประทานนั้นประเสริฐกว่าของประทาน  พระองค์ทรงเป็น “ขุมทรัพย์” และในพระองค์ก็มีพระทัยของพระบุตร ซึ่งเป็นของประทาน “ที่ทรงเพิ่มให้” อีกด้วย “คำอธิษฐานในฐานะสมณะ” ของพระเยซูเจ้ามีที่พิเศษในแผนการความรอดพ้น เราจะพิจารณาคำอธิษฐานภาวนานี้ในปลายของ “ตอนที่หนึ่ง” นี้ คำอธิษฐานภาวนานี้เปิดเผยให้เราเห็นว่าการอธิษฐานภาวนาของพระมหาสมณะของเราเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ และในเวลา เดียวกันก็มีเนื้อหาที่พระองค์ทรงสอนเราในคำอธิษฐานภาวนาของเราต่อพระบิดาซึ่งจะได้รับคำอธิบายในตอนที่สอง

CCC ข้อ 2608 นับตั้งแต่บทเทศน์บนภูเขา พระเยซูเจ้าทรงเน้นเรื่องการกลับใจ เรื่องการคืนดีกับพี่น้องก่อนจะถวายเครื่องบูชาบนพระแท่นบูชา เรื่องความรักศัตรูและการอธิษฐานภาวนาสำหรับผู้ที่เบียดเบียน เรื่องการอธิษฐานภาวนาต่อพระบิดา “ในห้องส่วนตัว” (มธ 6:6) เรื่องการไม่พูดมาก ไม่พูดซ้ำซาก เรื่องการให้อภัยจากใจจริงในการอธิษฐานภาวนา เรื่องการแสวงหาพระอาณาจักรด้วยใจจริง การกลับใจอย่างเต็มที่เยี่ยงบุตรเช่นนี้นำเราไปพบพระบิดา 

CCC ข้อ 2632 การวอนขอของคริสตชนมีศูนย์กลางอยู่ที่ความปรารถนาและการแสวงหาพระอาณาจักรที่มาถึงตามคำสอนของพระเยซูเจ้า ต้องมีลำดับความสำคัญในการวอนขอ ก่อนอื่นต้องวอนขอพระอาณาจักร  แล้วจึงวอนขอสิ่งที่จำเป็นสำหรับรับพระอาณาจักรนี้ และเพื่อร่วมงานกับการมาถึงของพระอาณาจักร การร่วมงานนี้กับพันธกิจของพระคริสตเจ้าและของพระจิตเจ้า ซึ่งบัดนี้ยังเป็นพันธกิจของพระศาสนจักรด้วย จึงเป็นสาระสำคัญของการอธิษฐานภาวนาของกลุ่มคริสตชนสมัยอัครสาวกเช่นกัน การอธิษฐานภาวนาของเปาโล อัครสาวกผู้ยิ่งใหญ่ เปิดเผยให้เรารู้ว่าความเอาใจใส่ของพระเจ้าต่อกลุ่มคริสตชนทุกแห่งต้องเป็นพลังบันดาลใจของการอธิษฐานภาวนาของคริสตชน ผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้วทุกคนร่วมงานให้พระอาณาจักรมาถึงโดยการอธิษฐานภาวนา   


มธ 6:34  เราไว้วางใจในพระบิดาเจ้า ผู้ทรงจัดหาทุกสิ่งที่เราต้องการให้ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต         

CCC ข้อ 2659 เราเรียนรู้ที่จะอธิษฐานภาวนาในบางขณะที่เราฟังพระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้า และมีส่วนร่วมพระธรรมล้ำลึกปัสกาของพระองค์ แต่พระองค์ประทานพระจิตของพระองค์ให้เราเสมอ ในเหตุการณ์ต่างๆ ของแต่ละวัน เพื่อให้การอธิษฐานภาวนาเกิดขึ้น คำสอนของพระเยซูเจ้าเรื่องการอธิษฐานภาวนายังพบได้ในแนวเดียวกันกับคำสอนเรื่องพระญาณเอื้ออาทร เวลาอยู่ในพระหัตถ์ของพระบิดา  เราพบพระองค์ได้เสมอในปัจจุบัน ไม่ใช่เมื่อวานนี้หรือพรุ่งนี้ “ท่านทั้งหลายจงฟังพระสุรเสียงของพระองค์ในวันนี้เถิด อย่าทำใจให้แข็งกระด้าง” (สดด 95:7-8) 

CCC ข้อ 2835 การวอนขอนี้และความรับผิดชอบที่มากับการวอนขอนี้ ยังใช้ได้กับความหิวอีกอย่างหนึ่งที่ทำร้ายชีวิตมนุษย์ “มนุษย์มิได้ดำรงชีวิตด้วยอาหารเท่านั้น แต่ดำรงชีวิตด้วยพระวาจาทุกคำที่ออกจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า” (มธ 4:4) นั่นคือด้วยพระวาจาและพระจิตของพระองค์ คริสตชนทุกคนต้องใช้ความพยายามทุกอย่างเพื่อ “ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน” ในโลกนี้มีหลายคนที่มีความหิว“ไม่ใช่หิวอาหารหรือหิวน้ำ แต่หิวที่จะฟังพระวาจา” (อมส 8:11)  เพราะฉะนั้น ความหมายพิเศษสำหรับคริสตชนของคำขอข้อสี่นี้จึงหมายถึงอาหารสำหรับชีวิต นั่นคือพระวาจาของพระเจ้าที่จะต้องรับด้วยความเชื่อ และพระกายของพระคริสตเจ้าที่เรารับในศีลมหาสนิท 

CCC ข้อ 2836 “ในวันนี้” ยังเป็นข้อความที่หมายถึงความไว้วางใจที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงสอนเรา[108] เราไม่อาจสรุปเรื่องนี้ได้เอง เพราะเกี่ยวข้องโดยเฉพาะกับพระวาจาและพระกายของพระบุตรของพระองค์ วลี “วันนี้” วลีนี้ไม่หมายความถึงเพียงเวลาของเราที่รู้จักตาย แต่เป็น “วันนี้” ของพระเจ้า “ถ้าท่านรับ(อาหารนี้)ทุกวัน ‘ทุกวัน’ ก็คือ ‘วันนี้’ สำหรับท่าน ถ้าพระคริสตเจ้าเป็นของท่าน ‘วันนี้’ พระองค์ก็ทรงกลับคืนพระชนมชีพสำหรับท่าน ‘ทุกวัน’ การนี้เป็นไปได้อย่างไร ‘ท่านเป็นบุตรของเรา วันนี้เราให้กำเนิดท่านแล้ว’ (สดด 2:7) ดังนั้น ‘วันนี้’ ก็คือวันที่พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพ”  

 

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)