แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ข้อคิดข้อรำพึง

อาทิตย์ที่ 11  เทศกาลธรรมดา ปี B

เมล็ดเล็กๆ กลายเป็นต้นไม้ใหญ่

11th Sunday 1

ในบทอ่านแรกเราได้ฟังอุปมานิทัศน์ของประกาศกเอเสเคียล (Ezekiel 's allegory) เกี่ยวกับต้นสนสีดาร์  ต้นสนสีดาร์ในที่นี้เป็นสัญลักษณ์ถึงอาณาจักรของกษัตริย์ดาวิด  ซึ่งพระเจ้าได้ทรงสัญญาไว้ว่าจะฟื้นฟูบูรณะขึ้นมาใหม่หลังการเนรเทศ  "หน่อ" หรือ "แขนง" (ดู อสย 11:1) หมายถึง บรรดาผู้สืบทอดเชื้อสายของเยโฮยาคีน  ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ดาวิดก่อนการเนรเทศ  บรรดานกและสัตว์ต่างๆ เป็นตัวแทนของชาติต่างๆบนโลกนี้

 

"เราจะนำแขนงจากยอดต้นสนสีดาร์สูง

...เราจะปลูกแขนงนี้ ไว้บนภูเขาสูงของอิสราเอล

แขนงนี้จะแตกกิ่งก้านและบังเกิดผล

จะเป็นต้นสนสีดาร์ที่สง่างาม

และนกทุกชนิดจะมาอาศัยอยู่ใต้ต้นไม้นี้

สัตว์ปีกต่างๆ จะมาพักในร่มกิ่งของต้นไม้นี้" (อสค 17:22-23)

 

คำทำนายนี้แสดงให้เห็นว่าอาณาจักรของกษัตริย์ดาวิดจะเป็นมากกว่าการได้รับฟื้นฟูให้มีสถานภาพเช่นดังก่อนการเนรเทศ  แต่หมายถึงความเป็นจริงขั้นครบสมบูรณ์ของอาณาจักรแห่งพระเมสสิยาห์เลยทีเดียว  คำทำนายนี้จะได้รับการเติมเต็มในอาณาจักรของพระคริสต์  ซึ่งพระศาสนจักรสามารถชิมลางล่วงหน้าได้  

พระเยซูเจ้าทรงใช้นิทานเปรียบเทียบเพื่ออธิบายเรื่องอาณาจักรของพระเจ้า  ข้อความในพระวรสารของสัปดาห์นี้ประกอบด้วยนิทานเปรียบเทียบสั้นๆ 2 เรื่อง คือเรื่องเมล็ดพืชที่หว่านลงไปในดิน และเจริญเติบโตขึ้นอย่างลึกลับ  และเรื่องเมล็ดมัสตาร์ด  นิทานเปรียบเทียบแต่ละเรื่องต่างก็มีคำอธิบายง่ายๆของตนเอง  เรื่องแรกสอนให้เราไว้วางใจในพระเยซูเจ้าโดยสิ้นเชิง  เพราะในพระองค์อาณาจักรของพระเจ้าได้ฝังรากแล้วและกำลังเจริญเติบโตขึ้น  แม้มองไม่เห็นภายนอกในตอนแรก  แต่เมล็ดพันธุ์แห่งอาณาจักรนี้จะบังเกิดผลทบทวีในยามเก็บเกี่ยว  พระเยซูเจ้าอาจจะยกตัวอย่างเปรียบเทียบนี้เพื่อส่งสัญญาณตรงไปยังกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง เช่น กลุ่มผู้รักชาติ(the zealots) ผู้สนับสนุนให้ใช้อาวุธเป็นกบฏต่อต้านอำนาจของพวกโรมันก็ได้

11th Sunday 2

ส่วนคำอุปมาเรื่องเมล็ดมัสตาร์ด พูดถึงเรื่องความเติบโตเหมือนในเรื่องแรกก็จริง  แต่เน้นเรื่องของการกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นตรงข้ามกับความเล็กของเมล็ดในตอนเริ่มต้น  เมล็ดมัสตาร์ดอาจหมายถึงการเริ่มต้นศาสนบริการของพระเยซูเจ้าซึ่งเริ่มต้นเล็กๆ และดูเหมือนว่าคนไม่ให้ความสำคัญประการใด  แต่แล้วจะเติบโตเป็นเหมือนต้นไม้ใหญ่ที่ชี้ไปถึงเหตุการณ์สุดท้ายในสากลจักรวาลที่เติมเต็มอาณาจักรของพระเจ้าให้ครบสมบูรณ์  ความต่างกันระหว่างอุปมา 2 เรื่องนี้ คือ เรื่องแรกเน้นไปที่ว่าชาวนาไม่สามารถทำอะไรได้ในเรื่องที่พืชเติบโต และให้ผลผลิต  ในขณะเรื่องที่สองเน้นไปที่ความแตกต่างกันอย่างชัดเจนของการเริ่มต้นแบบเล็กๆ  และความสำเร็จอย่างท่วมท้นในตอนสุดท้าย

 

นักบุญเปาโลเองก็เคยใช้ภาษาเล่าเรื่องของการปลูก  และการเติบโต  "ข้าพเจ้าเป็นผู้ปลูก  อปอลโลเป็นผู้รดน้ำ  แต่พระเจ้าเป็นผู้บันดาลให้เติบโตขึ้น" (1คร 3:6)  และ "การกลับคืนชีพของผู้ตายก็เช่นเดียวกัน สิ่งที่หว่านลงไปนั้นเน่าเปื่อย  แต่สิ่งที่กลับคืนชีพนั้นไม่เน่าเปื่อยอีก  สิ่งที่หว่านลงไปนั้นไม่มีเกียรติ  แต่สิ่งที่กลับคืนชีพนั้นมีความรุ่งเรือง  สิ่งที่หว่านลงไปนั้นอ่อนแอ  แต่สิ่งที่กลับคืนชีพนั้นมีอานุภาพ  สิ่งที่หว่านลงไปเป็นร่างกายตามธรรมชาติ  แต่สิ่งที่กลับคืนชีพเป็นร่างกายที่มีพระจิตเจ้าเป็นชีวิต" (1คร 15:42-44)  แต่สิ่งที่เราได้ฟังในบทอ่านที่สองของวันนี้  นักบุญเปาโลบอกว่า "แต่ละคนจะได้รับสิ่งตอบแทนสมกับที่ได้ทำเมื่อยังมีชีวิตอยู่ในร่างกาย  ขึ้นอยู่กับการกระทำนั้นว่าจะดีหรือชั่ว" (2คร 5:10) เหมือนกับท่านได้พูดว่า  "คุณหว่านพืชอย่างไร  ย่อมได้ผลอย่างนั้น"

 

อันที่จริงเราสามารถคิดถึงเรื่องการเติบโตได้มากมายหลายระดับ  ประการแรก  ในตัวตนของเราแต่ละคน  เราต้องระมัดระวังว่าเราหว่านอะไรลงไป  แม้ว่าเป็นเรื่องเล็กๆ  และไม่มีความสำคัญใดๆในตอนเริ่มต้น - ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี - ว่ามันสามารถเกิดผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ในตอนปลายก็ได้  เช่น นิสัยไม่ดีเล็กๆ น้อยๆ  อาจจะทำให้บุคลิกภาพของเราพัฒนาไปในแบบที่แย่มากหรืออ่อนแอมากก็ได้ และตรงข้าม กิจการดีเล็กๆ อาจทำให้เราเก็บเกี่ยวผลได้อย่างชื่นใจในอนาคต

 

ประการที่สอง  พระวาจาของอาทิตย์นี้สอนเรื่องของความอดทน  เดี๋ยวนี้ บางทีเป็นบาปต้นของพ่อแม่บางคนในเรื่องนี้  คือ พวกเขาอยากเห็นลูกๆของเขาโตขึ้นเป็นคนร่ำรวย  มีอำนาจบารมีอย่างรวดเร็ว  เช่นเมื่อไปถามพ่อแม่ของเด็กว่า  ลูกๆคุณอายุเท่าไรแล้ว  พวกเขาอาจตอบว่า "คนที่จะเป็นทนายความอายุ 5 ขวบ  และว่าที่คุณหมออายุ 4 ขวบแล้ว"

 

ประการที่สาม  ในระดับครอบครัว  เราต้องเพียรพยายามหว่านเมล็ดพันธุ์ดี  เช่น การภาวนาประจำทุกๆวัน  การอ่านพระวาจาของพระเจ้าเสมอๆ ฯลฯ  ลูกๆของเราจะประทับสิ่งดีๆ เหล่านี้ไว้ลึกๆ ในใจเมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น

 

และสุดท้าย ในระดับชุมชน หรือระดับวัด เราต้องตระหนักว่าแม้ความเพียรพยายามในการทำสิ่งดีเล็กๆน้อยๆ ที่ดูไม่ค่อยสำคัญของเรา  ต่อไปในระยะยาวอาจจะนำไปสู่กิจการทรงคุณค่าที่ใหญ่และมั่นคงได้  อาจจะทำให้ประชาคมมีชีวิตชีวาเป็นอย่างยิ่งก็ได้

 

บ่อยครั้งที่เราจะได้ยินว่าพระศาสนจักรเปรียบตนเองกับอาณาจักรของพระเจ้า  หรือที่ดีกว่าคือเปรียบกับการบริการรับใช้ของอาณาจักรนี้  เหมือนกับต้นโอ้คใหญ่ หรือ ต้นไทรใหญ่ ที่เชื้อเชิญบรรดานกทั้งหลายให้มาพักและมาทำรังบนกิ่งก้านสาขาของมัน และกินผลของมันด้วย  ดังนั้น พระศาสนจักรจะต้องเปิดตัวเองและเชื้อเชิญทุกผู้คนให้เข้ามา  จงจำไว้ว่าไม่ว่าเราจะหว่านอะไรลงไป - ในเราเอง หรือในครอบครัว หรือในวัด หรือในโลกของเรา -  ท้ายที่สุดแล้ว  องค์พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งทรงเป็นผู้หว่านที่ทรงฤทธิ์ และพระจิตของพระองค์ จะทรงทำให้เมล็ดเล็กๆของเราบังเกิดผลสมบูรณ์  และจะทรงชุบเลี้ยงเราด้วยผลจาก "ต้นไม้แห่งชีวิต" (วว 2:7)

 

(คุณพ่อวิชา  หิรัญญการ  เขียนเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2018

Based on : Sunday Seeds for Daily Deeds ; by Francis Gonsalves, S.J.)

11th Sunday 311th Sunday 411th Sunday 511th Sunday 6