แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ข้อคิดข้อรำพึง

สมโภชพระตรีเอกภาพ ปี B

พระตรีเอกภาพศักดิ์สิทธิ์ : สัญลักษณ์แห่งสัมพันธภาพ (A Symbol of Relationship)

Trinity 1

 คุณพ่อ เจมส์  กิลฮูลีย์ (Fr. James Gilhooley) เล่าเรื่องให้ฟังว่า  ในวันที่พระอัครสังฆราชจะโปรดศีลกำลัง  ท่านได้ถามเด็กๆ ถึงคำจำกัดความของพระตรีเอกภาพศักดิ์สิทธิ์ว่าคืออะไร  เด็กหญิงคนหนึ่งตอบด้วยเสียงเบาๆว่า  "พระตรีเอกภาพก็คือพระเจ้าหนึ่งเดียว  แต่มีสามพระบุคคล"  พระอัครสังฆราชได้ยินไม่ชัด  เพราะท่านหูตึงจึงพูดว่า  "ฉันไม่เข้าใจว่าหนูพูดอะไร"  นักเทววิทยาน้อยที่อยู่ต่อหน้าพระอัครสังฆราชจึงตอบกลับไปว่า  "พระคุณเจ้าก็ไม่ควรจะเข้าใจค่ะ  เพราะพระตรีเอกภาพเป็นพระธรรมล้ำลึก"

 โลกของเราเต็มไปด้วยความลึกลับต่างๆ  อัลเบิร์ต ไอสไตน์ (Albert  Einstein) ยังกล่าวว่า  "สิ่งที่น่าพิศวงที่สุดในโลกก็คือความลึกลับนี่แหละ"  และ  "ชีวิตของเราก็คือร่องรอยจางๆบนพื้นผิวของความลึกลับ" (Annie Dillard)  เราอาศัยอยู่กับความลึกลับอย่างสะดวกสบาย  บรรดานักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าระบบจักรวาลมีความลึกลับถึง 90% ใครบ้างที่เข้าใจตัวของเราเองได้ทะลุปรุโปร่ง  เรากำลังพยายามจะอธิบายว่าน้ำจากใต้แผ่นดินไหลผ่านลำต้นของต้นไม้และหาทางไปยังเหล่าใบไม้ได้อย่างไร  สิ่งที่ Isaac Newton ได้แสดงความคิดเห็นว่าเป็นจริงตั้งแต่ ศตวรรษที่ 18 ก็เป็นจริงในศตวรรษที่ 21 ด้วยว่า  "สิ่งที่เรารู้คือหยดน้ำหยดหนึ่ง  สิ่งที่เราไม่รู้คือมหาสมุทร"   Robert H. Schuller  ก็กล่าวว่า  "แม้คนโง่ก็สามารถนับเมล็ดในแอปเปิลลูกหนึ่งได้  แต่มีเพียงพระเจ้าเท่านั้นที่สามารถนับแอปเปิลทั้งหมดที่มาจากเมล็ดเดียวได้"

Trinity 2

 ผู้ชำนาญการทางศาสนาบอกเราว่า  ประชาชนพยายามจะเป็นเหมือนพระเจ้าที่พวกเขากราบไหว้เสมอ  คนที่กราบไหว้พระแห่งการทำสงครามก็มีแนวโน้มจะเป็นนักรบ  คนที่กราบไหว้พระเจ้าแห่งความพึงพอใจก็มีแนวโน้มจะแสวงหาความสุขเพลิดเพลิน  คนที่กราบไหว้พระเจ้าแห่งความโกรธก็มีแนวโน้มเป็นคนที่มีแต่ความโกรธ ฯลฯ  ดังเช่นคำที่ว่า "พระเจ้าทรงเป็นอย่างไร  ผู้กราบไหว้ก็เป็นอย่างนั้น" ( "Like a God, like the worshipers" ) ดังนั้นคำถามสำคัญที่เราควรถามตัวเองในวันนี้คือ ข้อคำสอนเรื่องพระตรีเอกภาพศักดิ์สิทธิ์สอนเราว่าพระเจ้าที่เรากราบไหว้บูชาเป็นพระเจ้าแบบไหน  เพราะนี่จะเป็นการบอกว่าเราเป็นคนชนิดไหน  นอกจากนี้ยังมีอีกสองประการที่อยากจะนำมาแบ่งปันกัน  กล่าวคือ

 

 ประการแรก  พระเจ้ามิได้ทรงเป็นอยู่ในแบบปัจเจกบุคคลที่โดดเดี่ยว  แต่ในแบบสมาคมแห่งสัมพันธภาพ หรืออาจกล่าวได้ว่า  พระเจ้ามิใช่เป็นผู้โดดเดี่ยวหรือผู้ถือสันโดษ  นี่หมายความว่าคริสตชนที่แสวงหาพระเจ้าผู้ทรงความดีอย่างสมบูรณ์ (เทียบ มธ 5:48) จะต้องตั้งใจหลีกเลี่ยงแนวโน้มที่จะอยู่อย่างโดดเดี่ยว และที่มีแต่ความเป็นปัจเจกบุคคล  คือไม่ใช่แสวงหาความศักดิ์สิทธิ์โดยการปลีกวิเวกไม่ติดต่อสัมพันธ์กับคนอื่นๆ และสังคมเลย

 

 ประการที่สอง  ความรักที่แท้เรียกร้องให้มีผู้ร่วมส่วนทั้งสาม  ความคิดของนักบุญออกัสตินเกี่ยวกับเรื่องพระตรีเอกภาพเป็นแบบบทกวีแห่งความรัก  พระบิดาคือผู้ให้ความรัก  พระบุตรคือผู้ได้รับความรัก  และพระจิตคือความรักของทั้งสองที่มีต่อกัน

 

 เราแต่ละคนจะมีความเป็นมนุษย์เต็มที่ต่อเมื่อเราอยู่ในสัมพันธภาพกับพระเจ้า  และในสัมพันธภาพกับเพื่อนพี่น้อง  เราคงค้นพบแล้วว่าหลักการที่มีเพียงตัวฉันกับพระเจ้านั้นนำไปเทศน์สอนและปฏิบัติไม่ได้ผล (The I - and - God  principle preached and practised by many leaves much to be desired.) ข้อคำสอนเรื่องพระตรีเอกภาพท้าทายเราให้นำหลักการ  "ฉัน-กับ-พระ-กับ-เพื่อนบ้าน" (I-and-God-and-neighbour principle) มาประยุกต์ใช้มากกว่า  นั่นคือ ฉันเป็นคริสตชนคนหนึ่ง ตราบเท่าที่ฉันเจริญชีวิตในสัมพันธ์รักกับพระและกับคนอื่นๆ  

 

 "ใครก็ตามที่ไม่สามารถจะพิศวงอีกต่อไป  หรือไม่สามารถจะอัศจรรย์ใจอีก  ก็เท่ากับคนที่ตายไปแล้ว" (Einstein) ขอพระหรรษทานของพระตรีเอกภาพศักดิ์สิทธิ์โปรดทรงช่วยเราให้ลบทุกร่องรอยแห่งความเห็นแก่ตัวออกไปจากชีวิตของเรา  และโปรดทรงช่วยเราให้ดำเนินชีวิตในความรักต่อพระเจ้า  และต่อเพื่อนพี่น้องเทอญ

 

(คุณพ่อวิชา  หิรัญญการ  เขียนเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 2018

Based on :  The Table of the Word, Homilies for Sundays and Solemnities, Cycles A, B & C ; by Fr. John Pichappilly)

Trinity 3Trinity 4Trinity 5Trinity 6Trinity 7Trinity 8