แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันพุธ สัปดาห์ที่ 8 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 10:32-45)

เวลานั้น บรรดาศิษย์กำลังเดินทางขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็ม พระเยซูเจ้าเสด็จนำเขาไป เขาต่างประหลาดใจ ผู้ติดตามต่างมีความกลัว พระองค์ทรงพาอัครสาวกสิบสองคนออกไปตามลำพังอีกครั้งหนึ่ง ทรงบอกเขาถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับพระองค์ว่า “บัดนี้ พวกเรากำลังจะขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็ม บุตรแห่งมนุษย์จะถูกมอบให้บรรดามหาสมณะและบรรดาธรรมาจารย์ เขาจะตัดสินประหารชีวิตพระองค์ และมอบพระองค์ให้คนต่างชาติสบประมาทเยาะเย้ย ถ่มน้ำลายรด โบยตี และฆ่าเสีย แต่หลังจากนั้นสามวัน พระองค์จะทรงกลับคืนชีพ”

      ยากอบและยอห์น บุตรของเศเบดี เข้ามาทูลพระองค์ว่า “พระอาจารย์ ข้าพเจ้าทั้งสองปรารถนาให้พระองค์ทรงกระทำตามที่ข้าพเจ้าจะขอนี้” พระองค์ตรัสถามว่า “ท่านปรารถนาให้เราทำสิ่งใด” ทั้งสองทูลตอบว่า “ขอโปรดให้ข้าพเจ้าคนหนึ่งนั่งข้างขวา อีกคนหนึ่งนั่งข้างซ้ายของพระองค์ในพระสิริรุ่งโรจน์เถิด” พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ท่านไม่รู้ว่ากำลังขออะไร ท่านดื่มถ้วยซึ่งเราจะดื่มได้ไหม หรือรับการล้างที่เราจะรับได้หรือไม่” ทั้งสองทูลว่า “ได้ พระเจ้าข้า” พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “ถ้วยที่เราจะดื่มนั้น ท่านจะได้ดื่ม และการล้างที่เราจะรับนั้น ท่านก็จะได้รับ แต่การที่จะนั่งข้างขวาหรือข้างซ้ายของเรานั้น ไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะให้ แต่สงวนไว้สำหรับผู้ที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้”

      เมื่อได้ยินดังนั้น อัครสาวกอีกสิบคนรู้สึกโกรธยากอบและยอห์น พระเยซูเจ้าจึงทรงเรียกเขาทั้งหมดมาพบ ตรัสว่า “ท่านทั้งหลายย่อมรู้ว่า คนต่างชาติที่คิดว่าตนเป็นหัวหน้าย่อมเป็นเจ้านายเหนือผู้อื่น และผู้เป็นใหญ่ย่อมใช้อำนาจบังคับ แต่ท่านทั้งหลายไม่ควรเป็นเช่นนั้น ผู้ใดที่ปรารถนาจะเป็นใหญ่จะต้องทำตนเป็นผู้รับใช้ผู้อื่น และผู้ใดที่ปรารถนาจะเป็นคนที่หนึ่งในหมู่ท่าน ก็จะต้องทำตนเป็นผู้รับใช้ทุกคน เพราะบุตรแห่งมนุษย์มิได้มาเพื่อให้ผู้อื่นรับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้ผู้อื่น และมอบชีวิตของตนเป็นสินไถ่เพื่อมวลมนุษย์”


มก 10:32-45 พระคริสตเจ้าทรงเดินทางมุ่งหน้าไปยังกรุงเยรูซาเล็มเพื่อเตรียมตัวรับความตายและการกลับคืนชีพที่พระองค์ทรงทำนายล่วงหน้าไว้แล้ว พระองค์ทรงประกาศเรื่องพระมหาทรมานของพระองค์แก่บรรดาศิษย์อีกครั้งหนึ่ง และทรงย้ำเตือนว่าพวกเขาก็ถูกเรียกให้เดินตามรอยเท้าของพระองค์ด้วยเช่นกัน พระคริสตเจ้าทรงสอนว่าความยิ่งใหญ่ในพระอาณาจักรของพระเจ้านั้นอยู่ที่จิตวิญญาณของการรับใช้

CCC ข้อ 474 ความรู้แบบมนุษย์ของพระคริสตเจ้า จากความสัมพันธ์ที่ทรงมีกับพระปรีชาญาณของพระเจ้าในพระบุคคลของพระวจนาตถ์ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ ยังอาจเข้าใจพระประสงค์นิรันดรของพระเจ้าได้อย่างสมบูรณ์ และเสด็จมาเพื่อเปิดเผยพระประสงค์เหล่านี้ ในเรื่องเหล่านี้ถ้าพระองค์ทรงบอกว่าไม่ทรงทราบ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทรงประกาศว่าไม่ทรงมีพันธกิจให้เปิดเผยเรื่องนี้ให้เรารู้

CCC ข้อ 557 “เวลาที่พระเยซูเจ้าจะต้องทรงจากโลกนี้ไปใกล้เข้ามาแล้ว พระองค์ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่จะเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็ม” (ลก 9:51) การตัดสินพระทัยเช่นนี้แสดงว่าทรงพร้อมจะเสด็จขึ้นไปกรุงเยรูซาเล็มเพื่อสิ้นพระชนม์ที่นั่น พระองค์ทรงแจ้งเรื่องพระทรมานและการกลับคืนพระชนมชีพถึงสามครั้ง ขณะที่กำลังทรงพระดำเนินไปยังกรุงเยรูซาเล็ม พระองค์ตรัสว่า “ประกาศกจะตายนอกกรุงเยรูซาเล็มไม่ได้” (ลก 13:33)

CCC ข้อ 649 พระบุตรทรงใช้พระอานุภาพพระเจ้าของพระองค์เองบันดาลให้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ พระเยซูเจ้าทรงประกาศว่าบุตรแห่งมนุษย์จะต้องรับทรมานอย่างมาก จะถูกประหารชีวิต แต่สามวันต่อมาจะกลับคืนชีพ ยิ่งกว่านั้น พระองค์ยังทรงยืนยันอย่างชัดเจนว่า “เราสละชีวิตของเราเพื่อจะเอาชีวิตนั้นคืนมาอีก […] เรามีอำนาจที่จะสละชีวิตของเรา และมีอำนาจที่จะเอาชีวิตนั้นคืนมาอีก” (ยน 10:17-18) “เราเชื่อว่าพระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์และทรงกลับคืนพระชนมชีพ” (1 ธส 4:14)

CCC ข้อ 994 ยิ่งกว่านั้น พระเยซูเจ้ายังทรงรวมความเชื่อเรื่องการกลับคืนชีพไว้กับพระบุคคลของพระองค์เองด้วย “เราเป็นการกลับคืนชีพและเป็นชีวิต” (ยน 11:25) พระเยซูเจ้าพระองค์เองจะทรงบันดาลให้ผู้ที่เชื่อในพระองค์กลับคืนชีพในวันสุดท้าย รวมทั้งผู้ที่กินพระกายและดื่ม  พระโลหิตด้วย พระองค์ประทานเครื่องหมายและประกันเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อทรงคืนชีวิตให้แก่ผู้ตายบางคน และดังนี้ก็ทรงแจ้งล่วงหน้าถึงการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ด้วยแม้ว่าการนี้จะอยู่ในอีกระดับหนึ่ง พระองค์ตรัสถึงเหตุการณ์พิเศษนี้เช่นเดียวกับเมื่อตรัสถึงเครื่องหมายของประกาศกโยนาห์ ถึงเครื่องหมายเรื่องพระวิหาร พระองค์ทรงแจ้งล่วงหน้าถึงการกลับคืนพระชนมชีพที่จะเกิดขึ้นในวันที่สามหลังจากที่จะทรงถูกประหารชีวิต


มก 10:38-39 ท่านดื่มถ้วยซึ่งเราจะดื่ม... ท่านก็จะได้รับ : พระคริตเจ้าจะต้องรับความทุกข์ทรมานฉันใด บรรดาศิษย์ขอพระองค์ก็จะต้องรับความทุกข์ทรมานเพราะความเชื่อต่อพระองค์ฉันนั้น

CCC ข้อ 536 สำหรับพระเยซูเจ้า การทรงรับพิธีล้าง เป็นการยอมรับและเริ่มพันธกิจของพระองค์ในฐานะ “ผู้รับใช้ผู้รับทรมาน(ของพระเจ้า)” พระองค์ทรงอนุญาตให้ใครๆ นับว่าทรงเป็นคนบาปคนหนึ่ง พระองค์ทรงเป็น “ลูกแกะของพระเจ้า ผู้ทรงลบล้างบาปของโลก” (ยน 1:29) อยู่แล้ว “พิธีล้าง” งเกริ่นถึงการสิ้นพระชนม์อย่างเหี้ยมโหดของพระองค์ พระองค์เสด็จมาก็เพื่อ “ทำให้ความยุติธรรมทุกอย่างสมบูรณ์” (มธ 3:15) ซึ่งหมายความว่า “ทรงทำทุกอย่างตามพระประสงค์ของพระเจ้า” พระองค์ทรงยอมด้วยความรักที่จะรับการล้างซึ่งหมายถึงการสิ้นพระชนม์เพื่อบาปของเราจะได้รับการอภัย พระสุรเสียงของพระบิดาตอบการยอมรับนี้โดยตรัสว่าทรงพอพระทัยอย่างยิ่งในพระบุตรของพระองค์พระจิตเจ้าซึ่งพระเยซูเจ้าทรงมีอย่างเต็มเปี่ยมแล้วตั้งแต่ทรงปฏิสนธิยังเสด็จลงมา “ประทับอยู่เหนือพระองค์” พระเยซูเจ้าจะทรงเป็นผู้ประทานพระจิตเจ้านี้สำหรับมวลมนุษย์ เมื่อทรงรับพิธีล้าง “ท้องฟ้าเปิดออก” (มธ 3:16) ท้องฟ้านี้ซึ่งบาปของอาดัมได้ปิดไว้ และน้ำที่ได้รับความศักดิ์สิทธิ์โดยพระเยซูเจ้าและการเสด็จลงมาของพระจิตเจ้าจึงเป็นเสมือนการเปิดฉากการเนรมิตสร้างครั้งใหม่

CCC ข้อ 618 ไม้กางเขนเป็นการถวายบูชาเพียงหนึ่งเดียวของพระคริสตเจ้า คนกลางเพียงผู้เดียวระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ แต่เนื่องจากว่าพระองค์ “ทรงประหนึ่งว่ารวมเป็นหนึ่งเดียวกับมนุษย์ทุกคน”ในพระบุคคลพระเจ้าผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ “พระองค์จึงประทานให้มนุษย์ทุกคนมีโอกาสร่วมส่วนในพระธรรมล้ำลึกปัสกาได้โดยวิธีการที่พระเจ้าทรงทราบ”พระองค์ทรงเรียกร้องให้บรรดาศิษย์แบกไม้กางเขนของตนและตามพระองค์ เพราะพระองค์ทรงรับทรมานเพื่อเราและประทานแบบฉบับไว้ให้เราดำเนินตามรอยพระบาท พระองค์ทรงประสงค์ให้ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการถวายบูชาไถ่กู้ของพระองค์ก่อนผู้อื่นได้มีส่วนร่วมในการถวายบูชานี้ด้วย การนี้เป็นจริงอย่างสมบูรณ์ในองค์พระมารดาของพระองค์ ผู้ทรงมีส่วนร่วมพระธรรมล้ำลึกพระทรมานไถ่กู้ของพระองค์อย่างลึกซึ้งมากกว่าผู้ใดทั้งสิ้น “นี่คือบันไดแท้จริงเพียงหนึ่งเดียวเพื่อขึ้นสวรรค์ และไม่มีบันไดอื่นใดอีกนอกจากไม้กางเขนที่เราจะใช้เดินขึ้นสวรรค์ได้”

CCC ข้อ 1225 ในการฉลองปัสกาของพระองค์ พระคริสตเจ้าทรงเปิดธารแห่งศีลล้างบาปแก่มนุษย์ทุกคน อันที่จริง ก่อนที่จะทรงรับทรมานที่กรุงเยรูซาเล็มแล้ว พระองค์ทรงกล่าวถึงพระทรมานนี้ว่าเป็น “พิธีล้าง” ที่จะทรงรับในไม่ช้า พระโลหิตและน้ำที่ออกมาจากด้านข้างพระวรกายที่เปิดอยู่ของพระเยซูเจ้าผู้ทรงถูกตรึงบนไม้กางเขนก็เป็นรูปแบบของศีลล้างบาปและศีลมหาสนิท ศีลศักดิ์สิทธิ์ที่ประทานชีวิตใหม่ให้เรา หลังจากนี้มนุษย์จึงอาจบังเกิด “จากน้ำและพระจิตเจ้า” เพื่อเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้าได้ (ยน 3:5) “เมื่อท่านรับศีลล้างบาป จงดูเถิดว่าศีลล้างบาปนี้มาจากไหนถ้าไม่ใช่จากไม้กางเขนของพระคริสตเจ้า จากการสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้า พระธรรมล้ำลึกทั้งหมดอยู่ที่นั่น เพราะพระองค์ทรงรับทรมานเพื่อท่าน ท่านได้รับการไถ่กู้ในพระองค์ ท่านได้รับความรอดพ้นในพระองค์”


มก 10:43-45 หน้าที่สงฆ์ “อยู่ในความหมายที่เคร่งครัดของคำว่า รับใช้” (LG 24) แม้ว่าบิชอปและบาทหลวงจะได้รับอำนาจจากพระคริสตเจ้า แต่อำนาจของท่านเหล่านั้น ย่อมอยู่บนพื้นฐานของการเป็นผู้รับใช้ของทุกคน ชีวิตแห่งการรับใช้นี้เป็นแบบอย่างในทุกกิจของพระคริสตเจ้า ส่วนบรรดาสังฆานุกรมีส่วนร่วมในพันธกิจนี้ในลักษณะพิเศษและทำตนให้เป็นเหมือนพระคริสตเจ้าด้วยชีวิตการรับใช้ของพวกเขา คำภาษากรีกว่า diakonos หมายถึง "คนรับใช้”

CCC ข้อ 608 ยอห์นผู้ประกอบพิธีล้าง หลังจากยอมประกอบพิธีล้างให้พระเยซูเจ้าพร้อมกับบรรดาคนบาปแล้ว เห็นในพระองค์และแจ้งให้ทุกคนรู้ว่าพระองค์คือ “ลูกแกะของพระเจ้า ซึ่งลบล้างบาปของโลก” ดังนี้ เขาจึงเปิดเผยว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นทั้ง “ผู้รับใช้ผู้รับทรมาน” ที่ยอมมอบตนโดยไม่ปริปากให้ถูกนำไปฆ่า และแบกบาปของคนทั้งปวง ทั้งยังเป็น “ลูกแกะปัสกา” สัญลักษณ์การไถ่กู้อิสราเอลในการฉลองปัสกาครั้งแรก พระชนมชีพทั้งหมดของพระคริสตเจ้าแสดงพันธกิจของพระองค์ คือการรับใช้และมอบชีวิตของพระองค์เป็นสินไถ่เพื่อมนุษย์ทั้งหลาย

CCC ข้อ 1548 ในงานรับใช้ของศาสนบริกรที่รับศีลบวช พระคริสตเจ้าเองประทับอยู่ในพระศาสนจักรของพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นศีรษะของพระกายทิพย์ เป็นผู้อภิบาลผู้มีความเชื่อซึ่งเป็นเสมือนฝูงแกะของพระองค์ เป็นมหาสมณะถวายบูชาเพื่อไถ่กู้ เป็นพระอาจารย์สั่งสอนความจริง นี่คือความหมายของข้อความที่พระศาสนจักรยืนยันว่าพระสงฆ์ปฏิบัติงานในพระบุคคลของพระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นศีรษะ (in persona Christi Capitis  agere) อาศัยอำนาจที่ได้รับจากศีลบวช “เป็นพระสมณะองค์เดียวกัน คือพระคริสต์เยซูที่ศาสนบริกรปฏิบัติหน้าที่รับใช้ในพระบุคคลของพระองค์ เดชะการเจิมถวายเป็นสมณะที่เขาได้รับมา ศาสนบริกรผู้นี้เป็นเหมือนกับพระมหาสมณะ และสามารถปฏิบัติงานโดยอำนาจและพระบุคคลของพระคริสตเจ้าเอง” “พระคริสตเจ้าทรงเป็นต้นกำเนิดของสมณภาพทั้งหมด สมณะในพันธสัญญาเดิมเป็นรูปแบบของพระองค์ ส่วนสมณะในพันธสัญญาใหม่ก็ปฏิบัติงานในพระบุคคลของพระองค์นั่นเอง”

CCC ข้อ 1549 การประทับอยู่ของพระคริสตเจ้าในชุมชนผู้มีความเชื่อ เป็นศีรษะของพระศาสนจักรนั้น เราแลเห็นได้โดยศาสนบริการของผู้ที่ได้รับศีลบวช โดยเฉพาะพระสังฆราชและพระสงฆ์ ตามที่นักบุญอิกญาซีโอ ชาวอันติโอค กล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า พระสังฆราชเป็นเสมือนรูปภาพทรงชีวิตของพระเจ้าพระบิดา (typos tou Patros)

CCC ข้อ 1550  เราต้องไม่เข้าใจว่าการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้าในบรรดาศาสนบริกรนี้เป็นประกันจากความอ่อนแอทุกอย่างประสามนุษย์ ความคิดที่จะมีอำนาจเหนือผู้อื่น ความผิดหลง นั่นคือเป็นประกันจากบาป พระอานุภาพของพระจิตเจ้าไม่เป็นประกันกิจการทุกอย่างของศาสนบริกรโดยวิธีเดียวกัน ขณะที่ในศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เรามีประกันนี้อย่างที่ว่าบาปของศาสนบริกรไม่อาจขัดขวางผลของพระหรรษทานได้ ยังมีกิจการอื่นๆ อีกหลายประการที่ธรรมชาติมนุษย์ของศาสนบริกรยังคงทิ้งร่องรอยไว้ที่ไม่ใช่เครื่องหมายแสดงความซื่อสัตย์ต่อพระวรสาร และดังนั้นจึงอาจทำร้ายต่อประสิทธิภาพพันธกิจของพระศาสนจักรได้

CCC ข้อ 1551 สมณภาพนี้เป็นสมณภาพเพื่อศาสนบริการ “บทบาทที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบแก่บรรดาผู้อภิบาลประชากรนั้นเป็นการรับใช้จริงๆ” บทบาทนี้เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่กับพระคริสตเจ้าและกับมนุษย์โดยตรง สืบเนื่องอย่างเต็มที่จากพระคริสตเจ้าและจากสมณภาพหนึ่งเดียวของพระองค์ ตั้งขึ้นไว้สำหรับมวลมนุษย์และชุมชนพระศาสนจักร ศีลบวชถ่ายทอด “อำนาจศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากพระอำนาจของพระคริสตเจ้า การใช้อำนาจนี้จึงต้องถูกวัดตามพระแบบฉบับของพระคริสตเจ้าผู้ทรงยอมเป็นคนเล็กน้อยที่สุดและเป็นผู้รับใช้ของทุกคน “ดังนั้น จึงถูกต้องแล้วที่องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่าการเอาใจใส่ดูแลฝูงแกะเป็นข้อพิสูจน์ความรักต่อพระองค์”

CCC ข้อ 1570 บรรดาสังฆานุกรมีส่วนร่วมในพันธกิจและพระหรรษทานของพระคริสตเจ้าในวิธีพิเศษโดยเฉพาะ ศีลบวชทำให้เขามีตราประทับที่ไม่อาจลบออกได้และทำให้เขามีภาพลักษณ์เหมือนกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงยอมเป็น “ผู้รับใช้” (diaconus) ของทุกคน บรรดาสังฆานุกรมีหน้าที่ต่างๆ เช่น คอยช่วยเหลือพระสังฆราชและพระสงฆ์ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ โดยเฉพาะในพิธีบูชาขอบพระคุณ แจกศีลมหาสนิท เป็นประธานและอวยพรคู่บ่าวสาวในพิธีสมรส ประกาศพระวรสารและเทศน์ เป็นประธานพิธีปลงศพ และถวายตนในศาสนบริการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการแสดงเมตตาจิต

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)