วันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 6 เทศกาลปัสกา
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 15:9-17)
เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสกับบรรดาศิษย์ว่า “พระบิดาของเราได้ทรงรักเราอย่างไร เราก็รักท่านทั้งหลายอย่างนั้น จงดำรงอยู่ในความรักของเราเถิด ถ้าท่านปฏิบัติตามบทบัญญัติของเรา ท่านก็จะดำรงอยู่ในความรักของเรา เหมือนดังที่เราได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระบิดาของเรา และดำรงอยู่ในความรักของพระองค์ เราได้บอกเรื่องเหล่านี้แก่ท่านทั้งหลายแล้ว เพื่อให้ความยินดีของเราอยู่กับท่าน และความยินดีของท่านจะสมบูรณ์ นี่คือบทบัญญัติของเรา ให้ท่านทั้งหลายรักกัน เหมือนดังที่เราได้รักท่าน ไม่มีใครมีความรักยิ่งใหญ่ กว่าการสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย
ท่านทั้งหลายเป็นมิตรสหายของเรา ถ้าท่านทำตามที่เราสั่งท่าน เราไม่เรียกท่านว่าเป็นผู้รับใช้อีกต่อไป เพราะผู้รับใช้ไม่รู้ว่านายของตนทำอะไร เราเรียกท่านเป็นมิตรสหาย เพราะเราได้แจ้งให้ท่านทราบทุกสิ่งที่เราได้ยินมาจากพระบิดาของเรา มิใช่ท่านทั้งหลายได้เลือกเรา แต่เราได้เลือกท่าน มอบภารกิจให้ท่านไปทำจนเกิดผล และผลของท่านจะคงอยู่ เพื่อว่าท่านจะขอสิ่งใดจากพระบิดาในนามของเรา พระบิดาจะได้ประทานแก่ท่าน เราสั่งท่านทั้งหลายดังนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงรักกัน
ยน15:9-17 บทบัญญัติใหม่แห่งความรักเป็นการสรุปสารทั้งหมดของพระวรสาร คำสั่งให้เรารักเหมือนที่พระคริสตเจ้าทรงรักนี้ หมายความว่า ท่าทีและการกระทำของเราต้องสะท้อนให้เห็นถึงการกระทำของพระคริสตเจ้า พระองค์ต้องเป็นผู้นำฝ่ายจิตใจทั้งในการดำเนินชีวิตและในการกระทำของเรา ความสุขแท้จริง 8 ประการนั้นได้ถูกลิขิตขึ้นด้วยความหมายของบทบัญญัติใหม่นี้ และนำเสนอหนทางสู่ความสมบูรณ์ที่เราสามารถได้รับด้วยพระหรรษทานของพระเจ้าแก่เรา
CCC ข้อ 459 พระวจนาตถ์ทรงรับสภาพมนุษย์เพื่อทรงเป็นตัวอย่างความศักดิ์สิทธิ์ให้เรา “จงรับแอกของเราแบกไว้ และมาเป็นศิษย์ของเรา.....” (มธ 11:29) “เราเป็นหนทาง ความจริง และชีวิต ไม่มีใครไปเฝ้าพระบิดาได้นอกจากผ่านทางเรา” (ยน 14:6) พระบิดาทรงบัญชาเมื่อพระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์บนภูเขาว่า “จงฟังท่านเถิด” (มก 9:7) พระเยซูเจ้าทรงเป็นตัวอย่างความสุขแท้และแนวปฏิบัติของบัญญัติใหม่ “ท่านทั้งหลายจงรักกันเหมือนดังที่เรารักท่าน” (ยน 15 :12) ความรักนี้รวมถึงการถวายตัวเราตามแบบฉบับของพระองค์
CCC ข้อ 1823 พระเยซูเจ้าทรงทำให้ความรักเป็นบัญญัติใหม่ของพระองค์ พระองค์ทรงรักบรรดาศิษย์ของพระองค์ “จนถึงที่สุด” (ยน 13:1) ทรงแสดงความรักของพระบิดาที่ทรงรับมา เมื่อบรรดาศิษย์รักกัน เขาก็ประพฤติตามแบบความรักของพระเยซูเจ้าที่เขารับเข้ามาในตนด้วย ดังนั้น พระเยซูเจ้าจึงตรัสว่า “พระบิดาทรงรักเราอย่างไร เราก็รักท่านทั้งหลายอย่างนั้น จงดำรงอยู่ในความรักของเราเถิด” (ยน 15:9) และยังตรัสอีกว่า “นี่คือบทบัญญัติของเรา ให้ท่านทั้งหลายรักกันเหมือนดังที่เรารักท่าน” (ยน 15:12)
CCC ข้อ 1824 ความรักซึ่งเป็นผลของพระจิตเจ้าและความสมบูรณ์ของธรรมบัญญัติ ปฏิบัติตามพระบัญชาของพระเจ้าและพระคริสต์ของพระองค์ “จงดำรงอยู่ในความรักของเราเถิด ถ้าท่านปฏิบัติตามบทบัญญัติของเรา ท่านก็จะดำรงอยู่ในความรักของเรา” (ยน 15:9-10)
CCC ข้อ 1970 กฎแห่งพระวรสารเรียกร้องให้มีการเลือกระหว่าง “ทางสองแพร่ง” และให้นำพระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้ามาปฏิบัติ ทั้งหมดนี้รวมกันเรียกว่า “กฎปฏิบัติ” (Golden Rule) ที่สรุปได้ดังนี้ “ท่านอยากให้เขาทำกับท่านอย่างไร ก็จงทำกับเขาอย่างนั้นเถิด นี่คือธรรมบัญญัติและบรรดาประกาศก” (มธ 7:12) กฎแห่งพระวรสารทั้งหมดรวมอยู่ในบัญญัติใหม่ของพระเยซูเจ้า ที่สั่งให้เรารักกันเหมือนกับที่พระองค์ทรงรักเรา
CCC ข้อ 2074 พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เราเป็นเถาองุ่น ท่านทั้งหลายเป็นกิ่งก้าน ผู้ที่ดำรงอยู่ในเรา และเราดำรงอยู่ในเขา ก็ย่อมเกิดผลมาก เพราะถ้าไม่มีเรา ท่านก็ทำอะไรไม่ได้เลย” (ยน 15:5) ผลที่พระวาจานี้กล่าวถึงก็คือความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตที่เกิดจากความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้า เมื่อเราเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า ร่วมสัมพันธ์กับพระธรรมล้ำลึกของพระองค์และปฏิบัติตามพระบัญชาของพระองค์ พระองค์พระผู้ไถ่ก็เสด็จมาพบพระบิดาและพี่น้องของพระองค์ มารักพระบิดาและพี่น้องของเราในตัวเรา เดชะพระจิตเจ้า พระบุคคลของพระองค์กลับเป็นกฎปฏิบัติที่มีชีวิตชีวาในตัวเรา “นี่คือบทบัญญัติของเรา ให้ท่านทั้งหลายรักกัน เหมือนดังที่เรารักท่าน” (ยน 15:12)
ยน15:13 ความรักแบบพระคริสตเจ้าหมายถึงการรักเพื่อนมนุษย์อย่างไม่มีเงื่อนไข เมื่อพระคริสตเจ้าทรงแสดงความรักของพระองค์โดยการสละพระชนม์ชีพ พระองค์ทรงสอนเราว่ากิจเมตตานั้นเรียกร้องการอุทิศตนทั้งครบเพื่อประโยชน์สุขของคนที่เราพบ โดยเริ่มจากผู้ที่ใกล้ชิดกับเราที่สุดก่อน พระศาสนจักรได้เทิดเกียรติบรรดามรณะสักขี ผู้ซึ่งดำเนินชีวิตอย่างสอดคล้องกับพระคริสตเจ้าอย่างใกล้ชิด โดยการยอมตายเพื่อพระองค์
CCC ข้อ 609 พระเยซูเจ้าทรงรับความรักของพระบิดาต่อมวลมนุษย์มาไว้ในพระหทัยมนุษย์ของพระองค์ “ทรงรักเขาจนถึงที่สุด” (ยน 13:1) เพราะ “ไม่มีใครมีความรักยิ่งใหญ่กว่าการสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย” (ยน 15:13) ดังนี้ พระธรรมชาติมนุษย์ของพระองค์จึงถูกใช้ในพระทรมานและการสิ้นพระชนม์เป็นดังเครื่องมืออิสระและสมบูรณ์แสดงความรักของพระเจ้าที่ต้องการช่วยมนุษย์ให้รอดพ้น โดยแท้จริงแล้ว พระองค์ทรงยอมรับพระทรมานและสิ้นพระชนม์โดยอิสระเสรีเพราะความรักที่ทรงมีต่อพระบิดาและต่อมนุษย์ที่ทรงประสงค์จะช่วยให้รอดพ้น “ไม่มีใครเอาชีวิตไปจากเราได้ แต่เราเองสมัครใจสละชีวิตนั้น” (ยน 10:18) ดังนี้จึงเป็นเสรีภาพสูงสุดของพระบุตรพระเจ้า เมื่อพระองค์เสด็จออกไปเผชิญหน้ากับความตาย
CCC ข้อ 614 การถวายบูชานี้ของพระคริสตเจ้าเป็นการถวายบูชาหนึ่งเดียว และทำให้การถวายบูชาทั้งหลายสำเร็จบริบูรณ์มีค่าเหนือกว่าการถวายบูชาเหล่านั้นทั้งหมด ก่อนอื่นใด การถวายบูชานี้เป็นของประทานจากพระบิดาเจ้าเอง พระบิดาทรงมอบพระบุตรของพระองค์เพื่อพระบุตรจะได้ทรงทำให้เราคืนดีกับพระองค์ ในขณะเดียวกันการถวายบูชานี้ยังเป็นการถวายพระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงรับสภาพมนุษย์และถวายชีวิตของพระองค์อย่างอิสระเสรี เพราะความรักต่อพระบิดาเดชะพระจิตเจ้า เพื่อชดเชยความไม่เชื่อฟังของเรา
ยน15:14-15 โดยทั่วไปคนรับใช้มักไม่ได้มีมิตรภาพกับเจ้านายของตน ดังนั้นจึงไม่ได้รับรายละเอียดส่วนตัวของเจ้านาย ทั้งในด้านความคิดและการกระทำ ทว่า พระคริสตเจ้าทรงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนมากว่า บรรดาอัครสาวกเป็นมิตรสหายของพระองค์ ที่จะทรงสละชีวิตของพระองค์ให้แก่พวกเขาได้เราแจ้งให้ท่านรู้...พระบิดาของเรา: ภารกิจการเทศน์สอนของพระคริสตเจ้าเสร็จสมบูรณ์แล้ว ; พระองค์ทรงเทศน์สอนครั้งสุดท้ายจากบนไม้กางเขน พระบิดาทรงเปิดเผยพระองค์เองอย่างสมบูรณ์ในพระบุตร และจะไม่มีการเปิดเผยใหม่ใดๆ หลังจากพระองค์อีก
CCC ข้อ 65 “ในอดีต พระเจ้าตรัสกับบรรพบุรุษของเราโดยทางประกาศกหลายวาระและหลายวิธี ครั้นสมัยนี้เป็นวาระสุดท้าย พระองค์ตรัสกับเราโดยทางพระบุตร” (ฮบ 1:1-2) พระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ ทรงเป็นพระวจนาตถ์ของพระบิดาแต่เพียงหนึ่งเดียว สมบูรณ์และอยู่เหนือสรรพสิ่ง พระบิดาตรัสทุกสิ่งในพระวจนาตถ์ และจะไม่มีพระวาจาอื่นใดอีกแล้ว นักบุญยอห์นแห่งไม้กางเขน เช่นเดียวกับผู้อื่นอีกหลายคน ได้อธิบายข้อความใน ฮบ 1:1-2 ไว้อย่างน่าฟังว่า: “เมื่อพระบิดาประทานพระบุตรของพระองค์แก่เรา ดังที่ได้ประทาน พระบุตรนี้ทรงเป็นพระวจนาตถ์เพียงหนึ่งเดียวของพระองค์ พระองค์ก็ตรัสทุกสิ่งแก่เราพร้อมกันในพระวจนาตถ์เพียงพระองค์เดียวนี้ และไม่ทรงมีอะไรอื่นจะตรัสกับเราอีก [...] เรื่องราวที่ก่อนหน้านั้นพระองค์เคยตรัสเป็นส่วนๆ โดยทางประกาศก บัดนี้พระองค์ได้ตรัสทุกสิ่งแก่เราในพระวจนาตถ์ โดยประทานพระวจนาตถ์นี้ทั้งหมดให้แก่เรา คือองค์พระบุตร เพราะฉะนั้น ผู้ใดที่บัดนี้ต้องการสืบหาความรู้ใดๆ จากพระเจ้า หรือวอนขอนิมิตหรือการเปิดเผยใดๆ จากพระองค์ ก็น่าจะทำอะไรที่ทั้งโง่เขลาและยังดูเหมือนเป็นการลบหลู่พระเจ้าด้วย จากการที่ไม่เพ่งตามองดูพระคริสตเจ้า หรือจากการที่ไปแสวงหาสิ่งอื่นหรือสิ่งใดใหม่ๆนอกเหนือจากพระองค์”
CCC ข้อ 66 “แผนการความรอดพ้นในพระคริสตเจ้า ในฐานะที่เป็นพันธสัญญาใหม่และเด็ดขาดนี้จะไม่ผ่านพ้นไปเลย และเราไม่ต้องรอคอยการเผยอะไรใหม่กับมนุษย์ทั้งหลายอีกต่อไปก่อนจะถึงการปรากฏองค์อย่างรุ่งโรจน์ของพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา” ถึงกระนั้น การเปิดเผยแม้จะสำเร็จแล้วก็ยังไม่ได้รับการอธิบายอย่างสมบูรณ์ ความเชื่อในพระคริสตเจ้า จึงยังมีโอกาสจะต้องค่อยๆ ได้รับความเข้าใจกว้างขวางยิ่งขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา
CCC ข้อ 73 พระเจ้าทรงเปิดเผยพระองค์อย่างสมบูรณ์โดยทรงส่งพระบุตร พระองค์ทรงสถาปนาพันธสัญญาที่จะคงอยู่ตลอดนิรันดรในองค์พระบุตร พระบุตรนี้คือพระวจนาตถ์เด็ดขาดของพระบิดา และดังนี้จึงจะไม่มีการเปิดเผยใดๆ หลังจากนี้อีกแล้ว
CCC ข้อ 142 อาศัยการเปิดเผย “พระเจ้าซึ่งมนุษย์ไม่อาจมองเห็นได้ตรัสกับมนุษย์อย่างเพื่อนด้วยความรักล้นเหลือของพระองค์และประทับอยู่กลางพวกเขาเพื่อจะได้ทรงเชื้อเชิญและรับเขาเข้ามาสนิทกับพระองค์” การตอบสนองการเชิญชวนนี้อย่างเหมาะสมก็คือ “ความเชื่อ”
CCC ข้อ 1972 ธรรมบัญญัติใหม่นี้ยังได้ชื่อว่า กฎแห่งความรัก เพราะผลักดันให้เราปฏิบัติงานด้วยความรักที่ พระจิตเจ้าทรงหลั่งให้เรา มากกว่าด้วยความกลัว ได้ชื่อว่า กฎแห่งพระหรรษทาน เพราะประทานพลังแห่งพระหรรษทานให้ปฏิบัติงานอาศัยความเชื่อและศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ได้ชื่อว่า กฎแห่งอิสรภาพ เพราะช่วยเราให้เป็นอิสระจากการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และจารีตพิธีต่างๆของธรรมบัญญัติดั้งเดิม โน้มนำเราให้เต็มใจปฏิบัติงานเพราะได้รับพลังบันดาลใจจากความรัก และในที่สุดช่วยเราให้ผ่านจากสภาพการเป็นทาสที่ “ไม่รู้ว่านายของตนทำอะไร” มาสู่สภาพการเป็นมิตรของพระคริสตเจ้า “เพราะเราแจ้งให้ท่านรู้ทุกสิ่งที่เราได้ยินมาจากพระบิดาของเรา” (ยน 15:15) และยังนำเรามาสู่สภาพการเป็นทายาทของบุตรด้วย
ยน15:16-17 พระคริสตเจ้าทรงเรียกบรรดาอัครสาวกของพระองค์อีกครั้งหนึ่งให้สวดภาวนาถึงพระบิดาในพระนามของพระองค์ ในเครื่องหมายสำคัญมหากางเขน ที่ทำก่อนและหลังการสวดภาวนานั้น ผู้มีความเชื่อถวายคำภาวนาของเขาในพระนามของสามพระบุคคลแห่งพระตรีเอกภาพ การสวดภาวนามีความสำคัญต่อชีวิตของการเป็นศิษย์ เพราะทำให้พระจิตเจ้าทรงช่วยเราให้จุ่มตัวในพระคริสตเจ้ามากขึ้น และด้วยเหตุนี้จึงช่วยเราให้สร้างเอกลักษณ์ของตนอย่างสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระบิดา สำหรับคริสตชนการภาวนาคือการเป็นหนึ่งเดียวในความรักกับพระบิดา ในและอาศัยพระคริสตเจ้า โดยอำนาจของพระจิตเจ้า
CCC ข้อ 434 การกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้าทำให้พระนามของพระเจ้า “ผู้ทรงช่วยให้รอดพ้น” ได้รับสิริรุ่งโรจน์ เพราะนับตั้งแต่เวลานั้นพระนามเยซูแสดงอานุภาพของพระนามอย่างสมบูรณ์ “พระนามนี้ประเสริฐกว่านามอื่นใดทั้งสิ้น” (ฟป 2:9-10) บรรดาจิตชั่วเกรงกลัวพระนามของพระองค์ และบรรดาศิษย์ของพระองค์ก็ทำอัศจรรย์ในพระนามนี้ เพราะไม่ว่าเขาทั้งหลายจะขออะไรจากพระบิดาในพระนามของพระองค์ พระบิดาก็ประทานให้
CCC ข้อ 2157 คริสตชนมักเริ่มวันใหม่ เริ่มการอธิษฐานภาวนาและการทำกิจการงานของตนด้วยเครื่องหมายกางเขน “เดชะพระนามพระบิดา และพระบุตร และพระจิต อาเมน” ผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้วย่อมถวายวันของตนแด่พระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าและอัญเชิญพระหรรษทานของพระผู้ไถ่ให้มาช่วยเขาในฐานะบุตรของพระบิดาให้ทำกิจการในพระจิตเจ้า เครื่องหมายกางเขนยังทำให้เรามีกำลังต่อสู้ในการประจญและความยากลำบากต่าง ๆ
CCC ข้อ 2615 ยิ่งกว่านั้น เมื่อการอธิษฐานภาวนาของเรารวมกับการอธิษฐานภาวนาของพระเยซูเจ้าแล้ว พระบิดายังประทาน “ผู้ช่วยเหลืออีกองค์หนึ่ง […] เพื่อจะอยู่กับท่านตลอดไป คือพระจิตแห่งความจริง” (ยน 14:16-17) มิติใหม่ประการนี้ของการอธิษฐานภาวนาและเงื่อนไขปรากฏให้เห็นอยู่ตลอดคำปราศรัยอำลาของพระเยซูเจ้า ในพระจิตเจ้า การอธิษฐานภาวนาของคริสตชนเป็นความสัมพันธ์ความรักกับพระบิดา ไม่เพียงผ่านทางพระคริสตเจ้าเท่านั้น แต่ยังในพระองค์อีกด้วย “จนถึงบัดนี้ ท่านยังไม่ได้ขอสิ่งใดในนามของเราเลย จงขอเถิด แล้วท่านจะได้รับ เพื่อความยินดีของท่านจะสมบูรณ์” (ยน 16:24)
CCC ข้อ 2745 การอธิษฐานภาวนาแยกออกจากชีวิตคริสตชนไม่ได้ เพราะกล่าวถึงเรื่องความรักและการสละตนแบบเดียวกันที่สืบเนื่องมาจากความรัก กล่าวถึงการปรับตนอย่างบุตรและคนรักกับแผนการของพระบิดา กล่าวถึงเรื่องความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงตัวเราในพระจิตเจ้าให้ละม้ายคล้ายกันยิ่งๆ ขึ้นกับพระคริสตเยซู กล่าวถึงความรักเดียวกันต่อมวลมนุษย์ กล่าวถึงความรักนี้ที่พระเยซูเจ้าทรงรักเรา “เพื่อว่าท่านจะขอสิ่งใดจากพระบิดาในนามของเรา พระบิดาจะประทานแก่ท่าน เราสั่งท่านทั้งหลายดังนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงรักกัน” (ยน 15:16-17)
CCC ข้อ 2815 คำวอนขอประการนี้ ซึ่งรวมคำวอนขอทุกข้อ พระเจ้าทรงฟังเหมือนกับเป็นการอธิษฐานภาวนาของพระคริสตเจ้า เช่นเดียวกับคำวอนขออีกหกข้อที่เหลือซึ่งตามมา การอธิษฐานภาวนาต่อพระบิดาของเราเป็นการอธิษฐานภาวนาของเรา ถ้าเราอธิษฐานในพระนามของพระเยซูเจ้า พระเยซูเจ้าทรงวอนขอในคำอธิษฐานมหาสมณะของพระองค์ว่า “ข้าแต่พระบิดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ โปรดเฝ้ารักษาบรรดาผู้ที่ทรงมอบให้ข้าพเจ้าไว้ในพระนามของพระองค์” (ยน 17:11)
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)