แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันศุกร์ สัปดาห์ที่ 3 เทศกาลปัสกา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 6:52-59)    

เวลานั้น ชาวยิวจึงเถียงกันว่า “คนนี้เอาเนื้อของตนให้เรากินได้อย่างไร” พระเยซูเจ้าตรัสตอบเขาว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ถ้าท่านไม่กินเนื้อของบุตรแห่งมนุษย์ และไม่ดื่มโลหิตของเขา ท่านจะไม่มีชีวิตในตนเอง ผู้ที่กินเนื้อของเรา และดื่มโลหิตของเรา ก็มีชีวิตนิรันดร เราจะทำให้เขากลับคืนชีพในวันสุดท้าย เพราะเนื้อของเราเป็นอาหารแท้ และโลหิตของเราเป็นเครื่องดื่มแท้ ผู้ที่กินเนื้อของเรา และดื่มโลหิตของเรา ก็ดำรงอยู่ในเรา และเราก็ดำรงอยู่ในเขา พระบิดาผู้ทรงชีวิตทรงส่งเรามา และเรามีชีวิตเพราะพระบิดาฉันใด ผู้ที่กินเนื้อของเราจะมีชีวิตเพราะเราฉันนั้น นี่คือปังที่ลงมาจากสวรรค์ ไม่เหมือนปังที่บรรดาบรรพบุรุษได้กินแล้วยังตาย ผู้ที่กินปังนี้จะมีชีวิตอยู่ตลอดไป” พระองค์ตรัสเช่นนี้ขณะที่ทรงสอนในศาลาธรรมที่เมืองคาเปอรนาอุม


ยน 6:52-59 ประชาชนหลายคนได้ยินว่าพระคริสตเจ้าตรัสถึงการรับประทานเนื้อของพระองค์ จึงถือว่าคำพูดของพระองค์เป็นเสมือนคำเชื้อเชิญให้กินเนื้อมนุษย์ พระคริสตเจ้ามิได้ทรงต้องการหมายความว่าเป็นการกินเนื้อและการดื่มพระโลหิตของพระองค์จริงๆ แต่หมายถึงในเชิงศีลศักดิ์สิทธิ์มากกว่า ในศีลมหาสนิทซึ่งพระองค์ทรงสถาปนาขึ้นในงานเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย ปังและเหล้าองุ่นนั้นเปลี่ยนเป็นพระกายและพระโลหิตของพระองค์ เพื่อการหล่อเลี้ยงฝ่ายจิตของผู้มีความเชื่อ โดยการตั้งศีลบวช พระคริสตเจ้าทรงมอบอำนาจแก่บรรดาอัครสาวกและผู้สืบทอดตำแหน่งของพวกเขา ให้กระทำเช่นเดียวกัน ในเรื่องนี้ พระองค์ทรงสอนเกี่ยวกับการประทับอยู่จริงของพระองค์ในศีลมหาสนิท  การแปลสาร เป็นคำที่พระศาสนจักรใช้เพื่ออธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อพระสงฆ์เสกปังและเหล้าองุ่นในพิธีบูชาของพระคุณ ซึ่ง สารัตถะของปังและเหล้าองุ่นนั้นเปลี่ยนเป็นพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า แต่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปภายนอกที่ปรากฏ ศีลมหาสนิทมอบชีวิตเหนือธรรมชาติให้แก่ผู้รับ ซึ่งผูกพันเราให้ใกล้ชิดกับพระคริสตเจ้ามากขึ้นเรื่อย ๆ และเตรียมเราเข้าสู่ชีวิตนิรันดรในสวรรค์

CCC ข้อ 787 ตั้งแต่เริ่มแรก พระเยซูเจ้าทรงเรียกบรรดาศิษย์ให้มาอยู่กับพระองค์ทรงเปิดเผยพระธรรมล้ำลึกเรื่องพระอาณาจักรแก่เขา ทรงทำให้เขามีส่วนร่วมพันธกิจและความยินดี และร่วมพระทรมานกับพระองค์ พระเยซูเจ้ายังตรัสถึงความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกว่านี้ระหว่างพระองค์กับผู้ที่ติดตามพระองค์ว่า “จงดำรงอยู่ในเราเถิด ดังที่เราดำรงอยู่ในท่าน […] เราเป็นเถาองุ่น ท่านทั้งหลายเป็นกิ่งก้าน” (ยน 15:4-5) และยังตรัสถึงความสัมพันธ์ล้ำลึกแท้จริงระหว่าง พระกายของพระองค์กับของเราด้วย “ผู้ที่กินเนื้อของเราและดื่มโลหิตของเรา ก็ดำรงอยู่ในเรา และเราก็ดำรงอยู่ในเขา” (ยน 6:56)

CCC ข้อ 1382 พิธีมิสซา ในเวลาเดียวกันอย่างแยกกันไม่ได้ เป็นทั้งการถวายบูชาและการระลึกถึงที่ทำให้การถวายบูชาบนไม้กางเขนและการเลี้ยงอาหารมื้อค่ำเพื่อรับพระกายและพระโลหิตขององค์พระผู้เป็นเจ้าดำรงอยู่ตลอดไป แต่ก่อนอื่นหมดการประกอบพิธีถวายบูชาขอบพระคุณมุ่งไปยังการร่วมสนิทของบรรดาผู้มีความเชื่อกับพระคริสตเจ้าโดยการรับศีลมหาสนท การรับศีลมหาสนิทเป็นการรับพระคริสตเจ้าผู้ทรงถวายพระองค์เพื่อพวกเรานั่นเอง

CCC ข้อ 1383 พระแท่นบูชา ที่พระศาสนจักรมาชุมนุมอยู่โดยรอบเพื่อประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณแสดงถึงเหตุผลสองด้านของพระธรรมล้ำลึกเดียวกัน คือเป็นพระแท่นบูชาและเป็นโต๊ะการเลี้ยงขององค์พระผู้เป็นเจ้า ยังมีความหมายมากกว่านี้อีกเพราะพระแท่นบูชาของคริสตชนเป็นสัญลักษณ์ของพระคริสตเจ้าเองซึ่งประทับอยู่ในการชุมนุมกันของบรรดาผู้มีความเชื่อของพระองค์ ในเวลาเดียวกันยังประทับอยู่เป็นเครื่องบูชาซึ่งถวายเพื่อการคืนดีของเรา(กับพระเจ้า)และเป็นอาหารจากสวรรค์ที่พระองค์ประทานพระองค์ให้แก่พวกเรา นักบุญอัมโบรสกล่าวไว้ว่า “พระแท่นบูชาของพระคริสตเจ้าเป็นอะไรถ้าไม่ใช่ภาพพระกายของพระคริสตเจ้า” ท่านยังกล่าวอีกว่า “พระแท่นบูชาเป็นภาพของพระกายและพระกายของพระคริสตเจ้าอยู่บนพระแท่นบูชา” พิธีกรรมกล่าวถึงเอกภาพนี้ของการถวายบูชาและการรับศีลมหาสนิทในบทภาวนาหลายบท พระศาสนจักรโรมันกล่าวดังนี้ในบทภาวนาถวาย (anaphora)ของตนว่า “ข้าแต่พระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ ข้าพเจ้าทั้งหลายกราบวอนขอ โปรดบัญชาให้ทูตสวรรค์นำเครื่องบูชาเหล่านี้ขึ้นถวายพระเดชานุภาพ ณ แท่นบูชาในสวรรค์ เพื่อข้าพเจ้าทุกคนที่รับพระกายและพระโลหิตของพระบุตรจากแท่นบูชานี้แล้ว จะได้รับพระพรและพระหรรษทานอย่างบริบูรณ์”

CCC ข้อ 1384 องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเชิญชวนเราอย่างแข็งขันให้เรารับพระองค์ในศีลมหาสนิท “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ถ้าท่านไม่กินเนื้อของบุตรแห่งมนุษย์ และไม่ดื่มโลหิตของเขา ท่านจะไม่มีชีวิตในตนเอง” (ยน 6:53)

CCC ข้อ 1391 การรับศีลมหาสนิทเสริมความสัมพันธ์ของเรากับพระคริสตเจ้า ผลสำคัญของการรับศีลมหาสนิทคือการทำให้เรามีความสัมพันธ์แนบแน่นกับพระเยซูคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าเองก็เคยตรัสว่า “ผู้ที่กินเนื้อของเราและดื่มโลหิตของเราก็ดำรงอยู่ในเรา และเราก็ดำรงอยู่ในเขา” (ยน 6:56) ชีวิตในพระคริสตเจ้าตั้งรากฐานอยู่ในงานเลี้ยงศีลมหาสนิท “พระบิดาผู้ทรงชีวิตทรงส่งเรามา และเรามีชีวิตเพราะพระบิดาฉันใด ผู้ที่กินเนื้อของเราจะมีชีวิตเพราะเราฉันนั้น” (ยน 6:57) “เมื่อในวันฉลอง [ขององค์พระผู้เป็นเจ้า] ประชาชนรับพระกายของพระบุตร เขาก็ประกาศข่าวดีแก่กันว่าพระเจ้าประทานประกันแห่งชีวิตนิรันดรให้แล้ว เหมือนกับเมื่อทูตสวรรค์กล่าวแก่มารีย์ [ชาวมักดาลา] ว่า ‘พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว’ บัดนี้พระเจ้าก็ประทานชีวิตและการกลับคืนชีพแก่ผู้ที่รับพระคริสตเจ้าด้วย”

CCC ข้อ 1392 วัตถุที่เป็นอาหารบำรุงเลี้ยงชีวิตร่างกายฉันใด การรับศีลมหาสนิทก็บังเกิดผลในชีวิตจิตของเราอย่างน่าพิศวงฉันนั้น การรับพระกายของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ “(พระกาย)ที่พระจิตเจ้าประทานชีวิตและทรงบันดาลให้ประทานชีวิตแก่เราได้นี้” บำรุงรักษา เพิ่มพูนและฟื้นฟูชีวิตพระหรรษทานที่เราได้รับในศีลล้างบาป การเจริญเติบโตนี้ของชีวิตคริสตชนต้องได้รับการหล่อเลี้ยงจากการรับศีลมหาสนิทซึ่งเป็นอาหารสำหรับการเดินทางในโลกนี้ของเราไปจนถึงเวลาใกล้จะตาย ในเวลานั้นเราจะรับศีลมหาสนิทเป็นเสมือนเสบียงสำหรับการเดินทาง (ไปสู่อาณาจักรสวรรค์)

CCC ข้อ 1406 พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เราเป็นปังทรงชีวิตที่ลงมาจากสวรรค์ ใครที่กินปังนี้จะมีชีวิตอยู่ตลอดไป […] ผู้ที่กินเนื้อของเราและดื่มโลหิตของเราก็มีชีวิตนิรันดร […] ดำรงอยู่ในเรา และเราก็ดำรงอยู่ในเขา” (ยน 6:51,54,56)

CCC ข้อ 1509 “จงรักษาคนเจ็บไข้” (มธ 10:8) พระศาสนจักรได้รับหน้าที่นี้มาจากองค์พระผู้เป็นเจ้าและให้ปฏิบัติทั้งโดยการบำบัดรักษาที่นำไปให้แก่คนเจ็บป่วยและโดยการอธิษฐานภาวนาวอนขอพร้อมกับคนเจ็บป่วยเหล่านั้น พระศาสนจักรเชื่อว่าการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้านั้นนำชีวิตมาให้ ในฐานะนายแพทย์ผู้บำบัดรักษาวิญญาณและร่างกาย การประทับอยู่นี้แสดงพลังเป็นพิเศษโดยทางศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านทางศีลมหาสนิท อาหารที่นำชีวิตนิรันดรมาให้ และนักบุญเปาโลยังกล่าวพาดพิงว่าศีลนี้ยังความสัมพันธ์กับการบำบัดรักษาร่างกายด้วย

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)