แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันพฤหัสบดี สัปดาห์ที่ 3 เทศกาลปัสกา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 6:44-51)      

  เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “ไม่มีใครมาหาเราได้ นอกจากพระบิดาผู้ทรงส่งเรามาจะทรงชักนำเขา และเราจะทำให้เขากลับคืนชีพในวันสุดท้าย มีเขียนไว้ในหนังสือของบรรดาประกาศกว่า ทุกคนจะได้รับคำสอนจากพระเจ้า ทุกคนที่ได้ฟังพระบิดา และเรียนรู้จากพระองค์ ก็มาหาเรา ไม่มีใครได้เห็นพระบิดา นอกจากผู้ที่มาจากพระเจ้า เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ผู้ที่เชื่อในเรา ก็มีชีวิตนิรันดร เราเป็นปังแห่งชีวิต บรรพบุรุษของท่านทั้งหลายได้กินมานนาในถิ่นทุรกันดาร แล้วยังตาย แต่ปังที่ลงมาจากสวรรค์เป็นอย่างนี้ คือผู้ที่กินปังนี้แล้วจะไม่ตาย เราเป็นปังทรงชีวิตที่ลงมาจากสวรรค์ ใครที่กินปังนี้จะมีชีวิตอยู่ตลอดไป และปังที่เราจะให้นี้ คือเนื้อของเราเพื่อให้โลกมีชีวิต”ชาวยิวจึงเถียงกันว่า “คนนี้เอาเนื้อของตนให้เรากินได้อย่างไร”


ยน 6:46 พระคริสตเจ้าเพียงผู้เดียวเท่านั้นที่สามารถเปิดเผยถึงเรื่องพระเจ้าได้ เพราะมีพระองค์แต่ผู้เดียวที่รู้จักพระเจ้า การรับเอากายของพระบุตรพระเจ้าทำให้การเปิดเผยของพระเจ้าบรรลุจุดสูงสุด เนื่องจากพระคริสตเจ้าทรงเป็นพระเจ้าที่มองเห็นได้โดยทางพระธรรมชาติมนุษย์ของพระองค์

CCC ข้อ 151 สำหรับคริสตชน การเชื่อในพระเจ้าแยกกันไม่ได้กับการเชื่อในผู้ที่พระเจ้าทรงส่งมา นั่นคือในพระบุตรสุดที่รักซึ่งเป็นที่โปรดปรานของพระองค์ พระเจ้าทรงบอกเราให้ฟังองค์พระบุตร  องค์พระผู้เป็นเจ้าเองก็ตรัสกับบรรดาศิษย์ว่า “จงเชื่อในพระเจ้า และเชื่อในเราด้วย” (ยน 14:1) เราอาจเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้าได้เพราะทรงเป็นพระเจ้าด้วย ทรงเป็นพระวจนาตถ์ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ “ไม่มีใครเคยเห็นพระเจ้าเลย แต่พระบุตรเพียงพระองค์เดียวผู้สถิตในพระอุระของพระบิดานั้นได้ทรงเปิดเผยให้เรารู้” (ยน 1:18) เพราะพระองค์ “ทรงเห็นพระบิดา” (ยน 6:46) ทรงเป็นพระองค์เดียวที่ทรงรู้จักพระบิดาและเปิดเผยพระบิดาได้”

CCC ข้อ 473 แต่ในเวลาเดียวกัน ความรู้แบบมนุษย์จริงๆ นี้ของพระบุตรพระเจ้าก็สะท้อนชีวิตพระเจ้าที่ทรงมีด้วย “พระบุตรพระเจ้าทรงทราบทุกสิ่ง และโดยทางพระองค์ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ ไม่ใช่โดยธรรมชาติ แต่ในฐานะที่ทรงร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระวจนาตถ์ [….] สภาพมนุษย์ที่ทำให้พระองค์รวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระวจนาตถ์นี้รู้ทุกสิ่งเกี่ยวกับพระเจ้าและแสดงทุกสิ่งเหล่านี้ให้เห็นในพระองค์ว่าทรงพระเดชานุภาพ” นี่เป็นกรณีโดยเฉพาะของความรู้ลึกซึ้งและโดยตรงที่พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงเป็นมนุษย์ทรงมีเกี่ยวกับพระบิดาของพระองค์ พระบุตร แม้ในความรู้แบบมนุษย์ที่ทรงมี ก็ยังแสดงให้เห็นว่าทรงทราบถึงความคิดลึกลับภายในใจมนุษย์ได้ด้วย 


ยน 6: 51 ปังที่เราจะให้นี้ : การที่พระคริสตเจ้าทรงใช้รูปประโยคอนาคตนั้น ชี้ให้เห็นถึงการไถ่กู้บนไม้กางเขน และการก่อตั้งศีลมหาสนิท เพื่อให้โลกมีชีวิต : โดยทางพระมหาทรมาน การสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพ พระคริสตเจ้าทรงนำการไถ่กู้มาสู่มนุษยชาติทั้งมวล ยิ่งไปกว่านั้น ความศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นผลจากศีลมหาสนิท นำชีวิตมายังโลกอีกด้วย ในบทข้าแต่พระบิดา เราภาวนาว่า “โปรดประทานอาหารประจำวัน แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายในวันนี้” ไม่ได้เป็นการกล่าวถึงเพียงแค่ความต้องการฝ่ายโลกของเราเท่านั้น แต่เจาะจงไปยังศีลมหาสนิทเป็นพิเศษ

CCC ข้อ 728 พระเยซูเจ้ามิได้ทรงเปิดเผยเรื่องพระจิตเจ้าเต็มที่จนกระทั่งพระองค์ทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์โดยการสิ้นพระชนม์และทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วเท่านั้น ถึงกระนั้นพระองค์ก็ทรงกล่าวพาดพิงถึงพระจิตเจ้าบ้างแล้วเมื่อตรัสสอนประชาชน เมื่อทรงเปิดเผยว่าพระกายของพระองค์เป็นอาหารเพื่อชีวิตในอนาคตของโลก พระองค์ยังตรัสพาดพิงถึงพระจิตเจ้าด้วยกับนิโคเดมัส กับหญิงชาวสะมาเรีย และกับประชาชนที่มาร่วมฉลองเทศกาลอยู่เพิงพร้อมกับพระองค์ พระองค์ตรัสอย่างเปิดเผยแก่บรรดาศิษย์เมื่อตรัสเกี่ยวกับการอธิษฐานภาวนา และการเป็นพยานที่พวกเขาจะต้องแสดงถึงพระองค์

CCC ข้อ 1355 ในการรับศีล ซึ่งมีบท “ข้าแต่พระบิดา” และการบิขนมปังนำหน้านั้น บรรดาผู้มีความเชื่อรับ “อาหารจากสวรรค์” และ “ถ้วยแห่งความรอดพ้น” คือพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้าผู้ทรงมอบพระองค์ “เพื่อให้โลกมีชีวิต” (ยน 6:51) เนื่องจากว่าขนมปังและเหล้าองุ่นนี้ “ได้กลับเป็นศีลมหาสนิท” (หรือ “eucharistizata” ตามวลีที่ใช้มาแต่โบราณ) “อาหารนี้ที่เราเรียกว่า ‘ศีลมหาสนิท’ ซึ่งไม่มีใครอื่นได้รับอนุญาตให้รับได้นอกจากผู้ที่เชื่อว่าคำสอนของเรานั้นจริง และผู้ที่ได้รับการล้างเพื่อรับอภัยบาปและบังเกิดใหม่แล้ว และดังนี้เขาจึงมีชีวิตดังที่พระคริสตเจ้าได้ประทานให้เขา”

CCC ข้อ 1406 พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เราเป็นปังทรงชีวิตที่ลงมาจากสวรรค์ ใครที่กินปังนี้จะมีชีวิตอยู่ตลอดไป […] ผู้ที่กินเนื้อของเราและดื่มโลหิตของเราก็มีชีวิตนิรันดร […] ดำรงอยู่ในเรา และเราก็ดำรงอยู่ในเขา” (ยน 6:51,54,56)

CCC ข้อ 1407 ศีลมหาสนิทเป็นหัวใจและจุดยอดชีวิตของพระศาสนจักร เพราะว่าในศีลนี้ พระคริสตเจ้าทรงถวายพระศาสนจักรของพระองค์และนำสมาชิกทุกคนของพระศาสนจักรเข้ามารวมกับการถวายบูชาเพื่อถวายเกียรติและขอบพระคุณของพระองค์ที่ทรงถวายเพียงครั้งเดียวสำหรับตลอดไปบนไม้กางเขนแด่พระบิดา เดชะการถวายบูชานี้พระองค์ทรงหลั่งพระหรรษทานที่นำความรอดพ้นลงมาเหนือพระวรกายของพระองค์ซึ่งก็คือพระศาสนจักรนั่นเอง

CCC ข้อ 2837 “ประจำวัน” คำนี้ในภาษากรีกว่า ‘epiousion’ ไม่มีใช้ที่อื่นในพันธสัญญาใหม่ ในความหมายบอกเวลา คำนี้เป็นการย้ำวลี “วันนี้” เพื่อย้ำให้เรายึดมั่นในความไว้วางใจ(ต่อพระเจ้า) “โดยไม่มีข้อยกเว้น” แต่ถ้าเข้าใจในความหมายเชิงคุณภาพก็หมายถึงสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิต และมีความหมายกว้างกว่าสิ่งที่เพียงพอเพื่อการดำรงชีพ ถ้าเข้าใจความหมายตามตัวอักษร (epiousion = เหนือจำเป็น [super-substantiale, super-essential]) จึงมีความหมายโดยตรงถึงอาหาร(ที่จำเป็นสำหรับ)เลี้ยงชีวิต นั่นคือพระกายของพระคริสตเจ้า “โอสถบันดาลความไม่รู้จักตาย” ซึ่งถ้าไม่มี เราจะมีชีวิตในตัวเราไม่ได้ ในที่สุด ถ้านำคำนี้มารวมกับคำที่อยู่ก่อนหน้านั้น ความหมายเกี่ยวกับเมืองสวรรค์ก็ย่อมชัดเจน “วัน” ที่กล่าวถึงนี้ก็คือ “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า” วัน “งานเลี้ยงของพระอาณาจักร” ที่ถูกกล่าวถึงล่วงหน้าแล้วในศีลมหาสนิท (หรือ “พิธีบูชาขอบพระคุณ”) ซึ่งเป็นการชิมลางของพระอาณาจักรที่จะมาถึง เพราะเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องถวายบูชาขอบพระคุณ “ทุกๆ วัน” “ดังนั้น ศีลมหาสนิทจึงเป็นอาหารประจำวันของเรา […] พลังที่มาจากอาหารนี้ก็คือเอกภาพ เพื่อให้เราที่มารวมกันในพระกายของพระองค์ กลายเป็นส่วนพระวรกายของพระองค์ เป็นสิ่งที่เรารับมา […] และสิ่งที่ท่านได้ยินทุกๆ วันในวัด ก็เป็นอาหารประจำวัน และบทเพลงสรรเสริญที่ท่านได้ยินและเรียนรู้ก็เป็นอาหารประจำวันด้วย ทุกสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเดินทางของเราในโลกนี้”

พระบิดาในสวรรค์ทรงเตือนพวกเราให้เป็นเสมือนบุตรเมืองสวรรค์ วอนขออาหารจากสวรรค์ พระคริสตเจ้า “ผู้ทรงเป็นอาหารที่หว่านไว้ในพระนางพรหมจารี ฟูขึ้นในร่างกาย ถูกนวดในพระทรมาน ถูกอบในพระคูหาเหมือนในเตาอบ ได้รับการปรุงรสในวัดต่างๆ ถูกนำมาวางไว้บนพระแท่นบูชาเป็นดังอาหารจากสวรรค์ทุกๆ วันสำหรับผู้มีความเชื่อทั้งหลาย”

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)