แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 3 เทศกาลปัสกา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 24:35-48)  

เวลานั้น ศิษย์ทั้งสองคนจึงเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นตามทางและเล่าว่าตนจำพระองค์ได้เมื่อทรงบิขนมปัง ขณะที่บรรดาศิษย์กำลังสนทนากันอยู่นั้น พระเยซูเจ้าทรงยืนอยู่ท่ามกลางพวกเขา ตรัสว่า ‘สันติสุขจงดำรงอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด!’ เขาต่างตกใจกลัว คิดว่าได้เห็นผี แต่พระองค์ตรัสว่า ‘ท่านวุ่นวายใจทำไม? เพราะอะไรท่านจึงมีความสงสัยขึ้นในใจ? จงดูมือและเท้าของเราซิ เป็นเราเองจริงๆ จงคลำตัวเราดูเถิด ผีไม่มีเนื้อ ไม่มีกระดูกอย่างที่ท่านเห็นว่าเรามี’ ตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงแสดงพระหัตถ์และพระบาท ให้เขาเห็น เขามีความยินดีและแปลกใจจนไม่อยากเชื่อ พระองค์จึงตรัสกับเขาว่า ‘ท่านมีอะไรกินบ้าง?’ เขาได้ถวายปลาย่างชิ้นหนึ่งแด่พระองค์ พระองค์ทรงรับมาเสวยต่อหน้าเขา

      หลังจากนั้น พระองค์ตรัสกับเขาว่า ‘นี่คือความหมายของถ้อยคำที่เราได้กล่าวไว้ขณะที่ยังอยู่กับท่าน ทุกสิ่งที่มีเขียนไว้เกี่ยวกับเราในธรรมบัญญัติของโมเสส บรรดาประกาศกและเพลงสดุดีจะต้องเป็นความจริง’ แล้วพระองค์ทรงเปิดดวงปัญญาของเขาให้เข้าใจพระคัมภีร์ ตรัสว่า ‘มีเขียนไว้ดังนี้ว่า พระคริสตเจ้าจะต้องรับทนทรมานและจะกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายในวันที่สามจะต้องประกาศในพระนามของพระองค์ให้นานาชาติได้กลับใจเพื่อรับอภัยบาปโดยเริ่มจากกรุงเยรูซาเล็ม ท่านทั้งหลายเป็นพยานถึงเรื่องทั้งหมดนี้


ลก 24:36-43 การปรากฏองค์ของพระคริสตเจ้าแก่บรรดาศิษย์ของพระองค์ในห้องชั้นบนนั้น เป็นหลักฐานที่ชัดเจนยิ่งขึ้นถึงการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ พระองค์ทรงแสดงรอยแผลแห่งพระทรมานให้พวกเขาดูและยังเสวยต่อหน้าพวกเขาอีกด้วย พระองค์ไม่ได้เป็นเพียงจิตวิญญาณเท่านั้น แต่ทรงมีพระวรกายด้วย ทว่าเป็นพระวรกายแห่งพระสิริรุ่งโรจน์ การประจักษ์นี้หักล้างสมมติฐานใดๆ ที่ว่ารูปลักษณ์ของพระองค์เป็นเพียงภาพลวงตาหรือเชิงเปรียบเทียบ และยังสอนเราเกี่ยวกับธรรมชาติของร่างกายเราที่จะกลับฟื้นคืนชีพสักวันหนึ่งด้วย

  CCC ข้อ 644 แม้เมื่ออยู่ต่อหน้าพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพจริงๆ แล้ว บรรดาศิษย์ก็ยังมีความสงสัย เห็นว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เขาคิดว่าตนกำลังเห็นผี “เขายินดีและแปลกใจจนไม่อยากเชื่อ” (ลก 24:41) โทมัสก็มีความสงสัยต้องการพิสูจน์เหมือนกัน และในโอกาสที่ทรงสำแดงพระองค์เป็นครั้งสุดท้ายในแคว้นกาลิลีที่มัทธิวเล่าไว้ “บางคนยังสงสัยอยู่” (มธ 28:17) ดังนั้น สมมุติฐานที่คิดว่าการกลับคืนพระชนมชีพเป็น “ผล” ที่เกิดจากความเชื่อ (หรือความงมงาย) ของบรรดาอัครสาวกจึงไม่สมเหตุผล ตรงกันข้าม ความเชื่อของพวกเขาถึงการกลับคืนพระชนมชีพเกิดขึ้น – โดยอิทธิพลของพระหรรษทาน – จากประสบการณ์โดยตรงกับพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ

  CCC ข้อ 645 เมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว พระเยซูเจ้าทรงมีความสัมพันธ์โดยตรงกับบรรดาศิษย์ผ่านการสัมผัส และเสวยพระกระยาหาร พระองค์ทรงเชิญเขาเช่นนี้ให้รับรู้ว่าพระองค์ไม่ทรงเป็นเพียงจิต (หรือ “ผี”)แต่โดยเฉพาะเพื่อเขาจะได้เห็นว่าพระกายที่กลับคืนชีพของพระองค์ที่เขาพบนี้เป็นพระกายเดียวกันกับพระกายที่เคยรับทรมานและถูกตรึงบนไม้กางเขน เพราะยังมีร่องรอยของพระทรมานปรากฏอยู่ ถึงกระนั้น พระวรกายแท้จริงนี้ก็มีคุณสมบัติใหม่ของพระวรกายรุ่งโรจน์พร้อมกันด้วย พระวรกายนี้ไม่ถูกจำกัดอยู่ในเวลาและสถานที่อีกต่อไป แต่สามารถไปอยู่ที่ใดและเมื่อใดก็ได้ตามพระประสงค์ เพราะพระธรรมชาติมนุษย์ของพระองค์ไม่อาจถูกจำกัดอยู่ในโลกอีกต่อไปและอยู่ในปกครองของพระบิดาเจ้าเท่านั้น และเพราะเหตุนี้ พระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วจึงทรงอิสระอย่างยิ่งที่จะทรงสำแดงพระองค์ตามที่ทรงประสงค์ เช่นในรูปของคนสวนหรือ “ในรูปอื่น” (มก 16:12) ที่แตกต่างจากรูปที่บรรดาศิษย์เคยรู้จัก ทั้งนี้เพื่อปลุกความเชื่อของพวกเขานั่นเอง

  CCC ข้อ 999 กลับคืนชีพอย่างไร? พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพพร้อมกับพระวรกายของพระองค์ “จงดูมือและเท้าของเราซิ เป็นเราเองจริงๆ” (ลก 24:39) แต่พระองค์ก็มิได้ทรงกลับมายังชีวิตของโลกนี้ เช่นเดียวกัน “ทุกคนจะกลับคืนชีพพร้อมกับร่างกายที่เขามีอยู่ขณะนี้” ในพระองค์ แต่ร่างกายนี้จะเปลี่ยนรูปไปเป็นร่างกายที่รุ่งโรจน์ เป็น “ร่างกายที่มีพระจิตเจ้าเป็นชีวิต” (spiritual body) (1 คร 15:44)

               “บางคนอาจถามว่า ‘คนตายจะกลับคืนชีพได้อย่างไร เขาจะกลับมีร่างกายแบบใด’ ช่างโง่จริง เมล็ดที่ท่านหว่านลงไปนั้นจะมีชีวิตใหม่ได้อย่างไรถ้าไม่ตายเสียก่อน  เมล็ดข้าวสาลีหรือเมล็ดพืชอย่างอื่นที่ท่านหว่านลงไปนั้นเป็นเพียงเมล็ด มิใช่ลำต้นที่จะงอกขึ้น [...] สิ่งที่หว่านลงไปนั้นเน่าเปื่อย แต่สิ่งที่กลับคืนชีพนั้นไม่เน่าเปื่อยอีก [...] ผู้ตายจะกลับคืนชีพอย่างไม่เน่าเปื่อย [...] ร่างกายที่เน่าเปื่อยได้นี้จะต้องสวมใส่ความไม่เน่าเปื่อยและร่างกายที่ต้องตายนี้จะต้องสวมใส่ความไม่รู้จักตาย” (1คร 15:35-37,42,52-53)

  CCC ข้อ 1000 “วิธีการที่ว่าการกลับคืนชีพเกิดขึ้นได้อย่างไร” นี้อยู่เหนือจินตนาการและความเข้าใจของเรา เราเข้าถึงได้ด้วยความเชื่อเท่านั้น แต่การที่เรามีส่วนร่วมในศีลมหาสนิทก็เป็นการชิมลางแล้วถึงการที่ร่างกายของเราจะรับความรุ่งโรจน์โดยทางพระคริสตเจ้า

              “เมื่อขนมปังที่มาจากดินได้รับการเรียกพระพรจากพระเจ้าแล้วไม่ใช่ขนมปังธรรมดาอีกต่อไป แต่เป็นศีลมหาสนิทที่ประกอบด้วยสององค์ประกอบจากแผ่นดินและจากสวรรค์ฉันใด ร่างกายของเราที่รับ  ศีลมหาสนิทก็ไม่ใช่ร่างกายที่เสื่อมสลายได้ แต่มีความหวังของการกลับคืนชีพฉันนั้น”

  CCC ข้อ 2605  พระเยซูเจ้า เมื่อถึงเวลาที่พระองค์จะต้องปฏิบัติตามแผนการความรักของพระบิดา ก็ทรงอนุญาตให้เราเห็นความลึกซึ้งสุดจะหยั่งถึงได้ของการอธิษฐานภาวนาเยี่ยงบุตรของพระองค์ ไม่เพียงแต่ก่อนจะทรงมอบพระองค์โดยอิสระเท่านั้น (“พระบิดาเจ้าข้า...อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพเจ้า ให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์เถิด”: ลก 22:42) แต่ทว่าจนถึงพระวาจาสุดท้ายบนไม้กางเขน เมื่อการอธิฐานภาวนาและการมอบพระองค์กลายเป็นสิ่งเดียวกัน “พระบิดาเจ้าข้า โปรดอภัยความผิดแก่เขาเถิด เพราะเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร” (ลก 23:34) “เราบอกความจริงกับท่านว่า วันนี้ท่านจะอยู่กับเราในสวรรค์” (ลก 23:43) “แม่ นี่คือลูกของแม่ […] นี่คือแม่ของท่าน” (ยน 19:26-27) “เรากระหาย” (ยน 19:28) “ข้าแต่พระเจ้า ทำไมพระองค์จึงทรงทอดทิ้งข้าพเจ้า” (มก 15:34) “สำเร็จบริบูรณ์แล้ว” (ยน 19:30) “พระบิดาเจ้าข้า ข้าพเจ้ามอบจิตของข้าพเจ้าไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์” (ลก 23:46) จนกระทั่ง “ทรงเปล่งเสียงดัง” แล้วจึงสิ้นพระชนม์


ลก 24:44-49 เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงทำเพื่อบรรดาศิษย์ระหว่างทางไปเอมมาอูส พระคริสตเจ้าทรงเปิดใจของบรรดาอัครสาวกให้ทราบถึงความหมายของพระคัมภีร์ พระองค์ทรงมอบหมายให้พวกเขามุ่งหน้าสั่งสอนนานาชาติให้กลับใจและรับความรอดพ้น แต่ทรงบอกให้พวกเขารอคอย "พระสัญญาของพระบิดาของเรา" คือองค์พระจิตเจ้าที่พระองค์จะทรงส่งมา เมื่อได้รับพลังจากพระจิตเจ้าแล้ว บรรดาศิษย์ของพระคริสตเจ้าก็เริ่มงานการประกาศพระวรสารและการเผยแผ่ข่าวดีของพระศาสนจักรไปทั่วทุกมุมโลก

  CCC ข้อ 108 ถึงกระนั้นความเชื่อของคริสตชนก็ไม่ใช่ “ศาสนาตามหนังสือ” คริสตศาสนาเป็นศาสนา “ตาม พระวาจา” ของพระเจ้า พระวาจานี้ไม่ใช่ “ถ้อยคำที่เขียนไว้ไม่มีเสียง” แต่เป็น “พระวจนาตถ์ (หรือ “พระวาจา”) ซึ่งรับสภาพมนุษย์และทรงชีวิต” เพื่อไม่ให้พระคัมภีร์เป็นเพียงตัวอักษรที่ตายแล้ว จึงจำเป็นที่พระคริสตเจ้า พระวจนาตถ์ (หรือ “พระวาจา”) นิรันดรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต จะต้องเปิดใจของเราอาศัยพระจิตเจ้า ให้เข้าใจความหมายของพระคัมภีร์”

  CCC ข้อ 572 พระศาสนจักรยังคงซื่อสัตย์ต่อการอธิบายความหมายพระคัมภีร์ทั้งหมดเหมือนกับที่พระเยซูเจ้าเคยทรงอธิบายทั้งก่อนและหลังจากปัสกาของพระองค์ “พระคริสตเจ้าจำเป็นต้องทนทรมานเช่นนี้ เพื่อจะเข้าไปรับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์มิใช่หรือ” (ลก 24:26) พระทรมานของพระเยซูเจ้าได้รับรูปแบบดังที่ได้เกิดขึ้นก็เพราะว่าทรงถูก “บรรดาผู้อาวุโส มหาสมณะ และธรรมาจารย์ปฏิเสธไม่ยอมรับ” (มก 8:31) คนเหล่านี้ “มอบพระองค์ให้คนต่างชาติสบประมาท เยาะเย้ย โบยตีและนำไปตรึงกางเขน” (มธ 20:19)

  CCC ข้อ 627 การสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าเป็นความตายจริงๆ ที่ทำให้ความเป็นอยู่ของพระองค์ในโลกนี้จบลง แต่เนื่องจากความสัมพันธ์ที่พระบุคคลของพระบุตรมีอยู่กับพระวรกาย พระวรกายจึงไม่เหมือนศพมนุษย์ทั่วไป เพราะ “ความตายยึดพระองค์ไว้ใต้อำนาจอีกต่อไปไม่ได้” (กจ 2:24) ดังนั้น “พระอานุภาพของพระเจ้าจึงรักษาพระวรกายของพระคริสตเจ้าไว้มิให้เน่าเปื่อย”เราอาจกล่าวถึงพระคริสตเจ้าได้ทั้ง “เขาถูกพรากไปจากแผ่นดินของผู้มีชีวิต” (อสย 53:8) และ “ร่างกายของข้าพเจ้าพำนักอยู่ในความหวัง เพราะพระองค์จะไม่ทรงละทิ้งข้าพเจ้าไว้ในแดนผู้ตาย และจะไม่ทรงปล่อยผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ให้เน่าเปื่อย” (กจ 2:26-27)การกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า “ในวันที่สาม” (1 คร 15:4; ลก 24:46) เป็นข้อพิสูจน์เรื่องนี้ เพราะมักจะคิดกันว่าความเปื่อยเน่ามักปรากฏตั้งแต่วันที่สี่

  CCC ข้อ 730 ในที่สุดเวลาของพระเยซูเจ้าก็มาถึง ซึ่งหมายถึงเวลาที่พระเยซูเจ้าทรงมอบจิตของพระองค์ไว้ในพระหัตถ์ของพระบิดา และเวลาที่จะทรงพิชิตความตายโดยการสิ้นพระชนม์ เพื่อ “จะทรงกลับคืนพระชนมชีพ […] เดชะพระสิริรุ่งโรจน์ของพระบิดา” (รม 6:4) และต่อมาไม่ช้าจะประทานพระจิตเจ้า “โดยทรงเป่าลม” เหนือบรรดาศิษย์ นับตั้งแต่เวลานี้เป็นต้นไป พระพันธกิจของพระคริสตเจ้าและของพระจิตเจ้าก็กลับเป็นพันธกิจของพระศาสนจักร “พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น” (ยน 20:22)

  CCC ข้อ 981 หลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว พระคริสตเจ้าทรงส่งบรรดาอัครสาวกออกไปประกาศ “ในพระนามของพระองค์ให้นานาชาติกลับใจเพื่อรับอภัยบาป” (ลก 24:47) บรรดาอัครสาวกและผู้สืบตำแหน่งต่อจากเขาปฏิบัติ “ภารกิจการคืนดี” (2 คร 5:18) นี้ โดยประกาศว่าพระเจ้าทรงอภัยบาปแก่มนุษย์ตามที่พระคริสตเจ้าทรงได้รับอำนาจนี้มาเพื่อประทานแก่เรา และยังทรงมอบอำนาจให้เขาอภัยบาปอาศัยศีลล้างบาปและทำให้ทุกคนได้คืนดีกับพระเจ้าและกับ พระศาสนจักรโดยอำนาจกุญแจที่เขาได้รับมาจากพระคริสตเจ้าด้วย

             พระศาสนจักร “รับกุญแจอาณาจักรสวรรค์เพื่อจะได้มีการอภัยบาปในพระศาสนจักรอาศัย   พระโลหิตของพระคริสตเจ้าและผลงานของพระจิตเจ้า ในพระศาสนจักรนี้ วิญญาณที่ตายไปแล้วเพราะบาปก็ฟื้นขึ้นมาอีก เพื่อมีชีวิตร่วมกับพระคริสตเจ้าผู้ประทานพระหรรษทานช่วยเราให้รอดพ้น”

  CCC ข้อ 1118   ศีลศักดิ์สิทธิ์เป็น “ของพระศาสนจักร” ในสองความหมายดังนี้ คือ เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ “โดยพระศาสนจักร” และ “เพื่อพระศาสนจักร”  ศีลศักดิ์สิทธิ์มีได้ “โดยพระศาสนจักร” ก็เพราะว่าพระศาสนจักรเป็น “ศีลศักดิ์สิทธิ์” (เครื่องหมายและเครื่องมือ) ของการกระทำของพระคริสตเจ้าผู้ทรงทำงานโดยพระพันธกิจของพระจิตเจ้าในพระศาสนจักร ศีลศักดิ์สิทธิ์ยังมีไว้ “เพื่อพระศาสนจักร” ก็เพราะว่า “พระ ศาสนจักรสร้างขึ้นได้โดยศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ” เพราะศีลศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้แสดงและถ่ายทอดพระธรรมล้ำลึกความสัมพันธ์กับพระเจ้า-องค์ความรัก พระธรรมล้ำลึกเรื่องพระเจ้าหนึ่งเดียวในสามพระบุคคลให้แก่มนุษย์ โดยเฉพาะในศีลมหาสนิท

  CCC ข้อ 1119 พระศาสนจักรซึ่งรวมกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นเสมือนศีรษะ ร่วมเป็น “บุคคลล้ำลึกบุคคลเดียวกัน” ทำงานในศีลศักดิ์สิทธิ์เหมือนกับเป็น “ชุมชนสมณะ” “ที่มีโครงสร้างเป็นระเบียบ” โดยศีลล้างบาปและศีลกำลัง ประชากรสมณะเหมาะที่จะประกอบพิธีกรรม ในอีกด้านหนึ่ง ผู้มีความเชื่อบางคนที่ได้รับศีลบวช “ได้รับแต่งตั้งให้เลี้ยงดูพระศาสนจักรด้วยพระวาจาและพระหรรษทานของพระเจ้าในพระนามของพระคริสตเจ้า”

  CCC ข้อ 1120 ศาสนบริการของผู้รับศีลบวช หรือ “สมณภาพเพื่อศาสนบริการ” มีไว้เพื่อรับใช้สมณภาพที่มาจากศีลล้างบาป สมณภาพเพื่อศาสนบริการแสดงว่าพระคริสตเจ้าเองทรงทำงานใน  ศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เดชะพระจิตเจ้าเพื่อพระศาสนจักร พันธกิจประทานความรอดพ้นที่พระบิดาทรงมอบไว้กับพระบุตรผู้ทรงรับสภาพมนุษย์นี้ถูกมอบไว้แก่บรรดาอัครสาวกและผ่านต่อไปแก่ผู้สืบตำแหน่งต่อจากท่าน ท่านเหล่านี้รับพระจิตของพระเยซูเจ้าเพื่อปฏิบัติงานในพระนามและพระบุคคลของพระองค์ ศาสนบริการของผู้รับศีลบวชจึงเป็นพันธะจากศีลศักดิ์สิทธิ์ที่รวมกิจกรรมทางพิธีกรรมกับสิ่งที่บรรดาอัครสาวกเคยพูดและทำไว้ และผ่านทางท่าน กับสิ่งที่พระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นบ่อเกิดและรากฐานของศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เคยตรัสและทรงทำไว้

  CCC ข้อ 1121  ศีลศักดิ์สิทธิ์สามประการ คือ ศีลล้างบาป ศีลกำลัง และศีลบวช นอกจากประทานพระหรรษทานแล้ว ยังประทานตรา หรือ “เครื่องหมาย”ที่ทำให้คริสตชนมีส่วนในสมณภาพของพระคริสตเจ้าและเป็นส่วนหนึ่งของพระศาสนจักรตามสถานะและบทบาทที่ต่างกัน การมีภาพลักษณ์ของพระคริสตเจ้าและพระศาสนจักรเช่นนี้เป็นผลงานของพระจิตเจ้าและไม่มีวันจะลบออกได้ แต่คงอยู่ตลอดไปในคริสตชนเป็นความพร้อมเพื่อจะรับพระหรรษทาน เป็นเสมือนคำสัญญาและประกันว่าพระเจ้าจะทรงปกป้องเขา และเป็นเสมือนการเรียกให้เข้ามาร่วมพิธีคารวกิจต่อพระเจ้าและรับใช้พระศาสนจักร เพราะฉะนั้นศีลทั้งสามนี้จึงรับซ้ำอีกไม่ได้เลย

  CCC ข้อ 1122 พระคริสตเจ้าทรงส่งบรรดาอัครสาวกไปประกาศ “ในพระนามของพระองค์ให้นานาชาติกลับใจเพื่อรับอภัยบาป” (ลก 24:47) “ท่านทั้งหลายจงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา ทำพิธีล้างบาปให้เขาเดชะพระนามพระบิดา พระบุตรและพระจิต” (มธ 28:19) พันธกิจทำพิธีล้างบาปจึงเป็นพันธกิจเกี่ยวกับศีลศักดิ์สิทธิ์ รวมอยู่ในพันธกิจการประกาศข่าวดี เพราะศีลศักดิ์สิทธิ์มีการเตรียมตัวโดยพระวาจาของพระเจ้าและโดยความเชื่อซึ่งเป็นการเห็นพ้องกับพระวาจานี้

“ประชากรของพระเจ้าก่อนอื่นหมดมารวมกันโดยพระวาจาของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต […] ศาสนบริการด้านศีลศักดิ์สิทธิ์เรียกร้องการประกาศพระวาจา เพราะศีลศักดิ์สิทธิ์เป็นศีลแห่งความเชื่อซึ่งเกิดขึ้นและรับการหล่อเลี้ยงจากพระวาจา”

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)