วันศุกร์ในอัฐมวารปัสกา
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 21:1-14)
หลังจากนั้น พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์แก่บรรดาศิษย์อีกครั้งหนึ่งที่ฝั่งทะเลสาบทีเบเรียส เรื่องราวเป็นดังนี้ ศิษย์บางคนอยู่พร้อมกันที่นั่น คือซีโมน เปโตร กับโทมัสที่เรียกกันว่า “ฝาแฝด” นาธานาเอล ซึ่งมาจากหมู่บ้านคานาในแคว้นกาลิลี บุตรทั้งสองคนของเศเบดีและศิษย์อีกสองคน ซีโมน เปโตรบอกคนอื่นว่า “ข้าพเจ้าจะไปจับปลา” ศิษย์คนอื่นตอบว่า “พวกเราจะไปกับท่านด้วย” เขาทั้งหลายออกไปลงเรือ แต่คืนนั้นทั้งคืนเขาจับปลาไม่ได้เลย
พอรุ่งสาง พระเยซูเจ้าทรงยืนอยู่บนฝั่ง แต่บรรดาศิษย์ไม่รู้ว่าเป็นพระเยซูเจ้า พระเยซูเจ้าทรงร้องถามว่า “ลูกเอ๋ย มีอะไรกินบ้างไหม” เขาตอบว่า “ไม่มี” พระองค์จึงตรัสว่า “จงเหวี่ยงแหไปทางกราบเรือด้านขวาซิ แล้วจะได้ปลา” บรรดาศิษย์จึงเหวี่ยงแหออกไป แต่ดึงขึ้นไม่ไหว เพราะได้ปลาเป็นจำนวนมาก ศิษย์ที่พระเยซูเจ้าทรงรักกล่าวกับเปโตรว่า “เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้านี่” เมื่อซีโมน เปโตรได้ยินว่า “เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า เขาก็หยิบเสื้อมาสวม เพราะเขาไม่ได้สวมเสื้ออยู่ แล้วกระโดดลงไปในทะเล ศิษย์คนอื่นเข้าฝั่งมากับเรือ ลากแหที่ติดปลาเข้ามาด้วย เพราะอยู่ไม่ห่างจากฝั่งนัก ประมาณหนึ่งร้อยเมตรเท่านั้น
เมื่อบรรดาศิษย์ขึ้นมาบนฝั่ง ก็เห็นถ่านติดไฟลุกอยู่ มีปลาและขนมปังวางอยู่บนไฟ พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “จงเอาปลาที่เพิ่งจับได้มาบ้างซิ” ซีโมน เปโตรจึงลงไปในเรือ แล้วลากแหขึ้นฝั่ง มีปลาตัวใหญ่ติดอยู่เต็ม นับได้หนึ่งร้อยห้าสิบสามตัว แต่ทั้ง ๆ ที่ติดปลามากเช่นนั้น แหก็ไม่ขาด พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “มากินอาหารกันเถิด” ไม่มีศิษย์คนใดกล้าถามว่า “ท่านเป็นใคร” เพราะรู้ว่าเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเยซูเจ้าทรงเข้ามาหยิบขนมปังแจกให้เขา แล้วทรงแจกปลาให้เช่นเดียวกัน นี่เป็นครั้งที่สามแล้วที่พระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์แก่บรรดาศิษย์หลังจากที่ทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย
ยน 21:1-15 ในบทที่แล้วพระองค์ทรงประจักษ์แก่มารีย์ ชาวมักดาลา และในบทนี้ที่ชายฝั่งทะเล บรรดาอัครสาวกก็จำพระคริตเจ้าไม่ได้ในทันที จนกระทั่งหลังจากการจับปลาอย่างน่าอัศจรรย์ เปโตรและบรรดาอัครสาวกที่อยู่บนเรือประมงจึงจำได้ว่านั่นคือพระคริสตเจ้าที่ทรงเรียกพวกเขาจากชายฝั่งทะเล เป็นเวลานานมาแล้วที่มีการมองเรื่องราว)นี้ในธรรมประเพณีของพระศาสนจักรว่ามีความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่มั่งคั่งเพื่อยืนยันถึงธรรมชาติของพระศาสนจักร กล่าวคือ เรือหมายถึง พระศาสนจักร และทะเลคือ โลก ปลาคือ ผู้ที่เข้ามาร่วมในพระศาสนจักร แหคือ เอกภาพของพระศาสนจักร แม้หนักแค่ไหนแหก็ไม่ขาด แปลว่าสามารถมีสมาชิกได้อย่างไม่จำกัด เปโตรซึ่งเป็นตัวแทนของตำแหน่งพระสันตปาปา เป็นผู้มีอำนาจในการสอนของพระศาสนจักร และเป็นผู้นำในงานของพระศาสนจักรในการยืนยันความเชื่อของบรรดาสมาชิก และในความพยายามที่จะขยายอาณาจักรของพระเจ้าไปทั่วโลก
CCC ข้อ 645 เมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว พระเยซูเจ้าทรงมีความสัมพันธ์โดยตรงกับบรรดาศิษย์ผ่านการสัมผัส และเสวยพระกระยาหาร พระองค์ทรงเชิญเขาเช่นนี้ให้รับรู้ว่าพระองค์ไม่ทรงเป็นเพียงจิต (หรือ “ผี”)แต่โดยเฉพาะเพื่อเขาจะได้เห็นว่าพระกายที่กลับคืนชีพของพระองค์ที่เขาพบนี้เป็นพระกายเดียวกันกับพระกายที่เคยรับทรมานและถูกตรึงบนไม้กางเขน เพราะยังมีร่องรอยของพระทรมานปรากฏอยู่ ถึงกระนั้น พระวรกายแท้จริงนี้ก็มีคุณสมบัติใหม่ของพระวรกายรุ่งโรจน์พร้อมกันด้วย พระวรกายนี้ไม่ถูกจำกัดอยู่ในเวลาและสถานที่อีกต่อไป แต่สามารถไปอยู่ที่ใดและเมื่อใดก็ได้ตามพระประสงค์ เพราะพระธรรมชาติมนุษย์ของพระองค์ไม่อาจถูกจำกัดอยู่ในโลกอีกต่อไปและอยู่ในปกครองของพระบิดาเจ้าเท่านั้น และเพราะเหตุนี้ พระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วจึงทรงอิสระอย่างยิ่งที่จะทรงสำแดงพระองค์ตามที่ทรงประสงค์ เช่นในรูปของคนสวนหรือ “ในรูปอื่น” (มก 16:12) ที่แตกต่างจากรูปที่บรรดาศิษย์เคยรู้จัก ทั้งนี้เพื่อปลุกความเชื่อของพวกเขานั่นเอง
CCC ข้อ 659 “เมื่อพระเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสดังนี้แล้ว พระเจ้าทรงรับพระองค์ขึ้นสู่สวรรค์ให้ประทับ ณ เบื้องขวา” (มก 16:19) พระกายของพระคริสตเจ้าทรงพระสิริรุ่งโรจน์นับตั้งแต่ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ดังที่สภาพใหม่เหนือธรรมชาติแสดงให้เห็นว่าจะทรงสภาพเช่นนี้ตลอดไปแต่ระหว่างช่วงเวลาสี่สิบวันที่ทรงดื่มและเสวยพระกระยาหารอย่างเป็นกันเองกับบรรดาศิษย์ สอนพวกเขาเรื่องพระอาณาจักร พระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ยังคงซ่อนอยู่ในรูปร่างของมนุษย์ธรรมดาทั่วไป การสำแดงพระองค์ครั้งสุดท้ายของพระเยซูเจ้าจบสิ้นลงเมื่อสภาพมนุษย์ของพระองค์เข้าไปรับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าอย่างเด็ดขาดโดยมีเมฆเป็นเครื่องหมาย ในสวรรค์ ที่พระองค์ประทับเบื้องขวาของพระเจ้านับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงสำแดงองค์โดยวิธีพิเศษเป็นการยกเว้นแก่เปาโล “ผู้เป็นเสมือนเด็กที่คลอดก่อนกำหนด” ด้วย เป็นการแสดงพระองค์ครั้งสุดท้ายและแต่งตั้งเขาให้เป็นอัครสาวก
ยน 21:7 เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้านี่ : เสียงตะโกนของยอห์น แสดงถึงความรักและความชื่นชอบในการจำพระคริสตเจ้าได้
CCC ข้อ 448 หลายต่อหลายครั้งในพระวรสาร ประชาชนที่เข้ามาเฝ้าพระเยซูเจ้าทูลเรียกพระองค์ว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” ตำแหน่งนี้เป็นพยานยืนยันถึงความเคารพและความเชื่อมั่นของผู้ที่เข้ามาเฝ้าพระเยซูเจ้าและขอให้พระองค์ทรงช่วยเหลือและรักษาโรค การทูลเรียกดังกล่าวโดยการดลใจของพระจิตเจ้าแสดงถึงการยอมรับพระธรรมล้ำลึกว่าพระเยซูเจ้าคือองค์พระผู้เป็นเจ้า เมื่อพบพระองค์หลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว การทูลเรียกพระนามเช่นนี้เป็นการถวายนมัสการแด่พระองค์ด้วย “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า และพระเจ้าของข้าพเจ้า” (ยน 20:28) ถ้อยคำเช่นนี้จึงรวมความหมายถึงความรักและความเลื่อมใสที่ปรากฏเป็นอัตลักษณ์ของธรรมประเพณีคริสตชนตลอดมา “เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้านี่” (ยน 21:7)
ยน 21:11 จำนวนปลาในที่นี้มีความหมาย นักบุญเยโรมยืนยันว่า ชาวกรีกในสมัยนั้นได้แยกแยะสายพันธุ์ปลาต่างๆ ไว้ถึง 153 ชนิด (เปรียบเทียบ Comm. in Ez., 14, 47) ด้วยสัญลักษณ์ที่แสดงในพระวรสารนักบุญยอห์น 21: 1-15 นั้น ตัวเลขอาจบ่งบอกว่าบรรดาอัครสาวกกำลังทำให้ผู้คนทุกชาติบนโลกนี้กลับใจมาหาพระศาสนจักร
CCC ข้อ 1276 “ดังนั้น ท่านทั้งหลายจงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา ทำพิธีล้างบาปให้เขาเดชะพระนามพระบิดา พระบุตร และพระจิต จงสอนเขาให้ปฏิบัติตามคำสั่งทุกข้อที่เราให้แก่ท่าน” (มธ 28:19-20)
ยน 21:12 คำเชิญให้รับประทานอาหารเช้าของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพนั้น เตือนให้เราระลึกถึงงานเฉลิมฉลองของศีลมหาสนิท ซึ่งเป็นคำเชิญของพระคริสตเจ้าสู่งานเลี้ยงในสวรรค์ของพระองค์ และยังแสดงถึงจิตตารมณ์แห่งการรับใช้ที่น่ารักของพระคริสตเจ้าอย่างเป็นรูปธรรม ในพิธีบูชาของพระคุณ บาทหลาวงผู้ทำพิธีกล่าวว่า “ผู้ที่พระเจ้าทรงเรียกมาร่วมงานเลี้ยงของพระองค์ ย่อมเป็นสุข”
CCC ข้อ 1166 “ตามธรรมประเพณีที่สืบเนื่องมาจากอัครสาวก และมีต้นกำเนิดจากวันที่พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพ พระศาสนจักรเฉลิมฉลองพระธรรมล้ำลึกปัสกาทุกวันที่แปด ซึ่งเรียกได้อย่างถูกต้องว่า ‘วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า’ หรือ ‘วันพระ’” วันกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าในเวลาเดียวกันยังเป็น “วันแรกของสัปดาห์” เป็นการระลึกถึงวันแรกของการเนรมิตสร้าง และ “วันที่แปด” ที่พระคริสตเจ้า หลังจากการ “พักผ่อน” ของวันหยุดยิ่งใหญ่ ทรงเริ่มวัน “ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้าง” (สดด 118:24) “วันไม่มีเวลาเย็น” “การเลี้ยงอาหารค่ำขององค์พระผู้เป็นเจ้า” เป็นศูนย์กลางของวันนี้ เพราะในการเลี้ยงนี้ทั้งชุมชนของบรรดาผู้มีความเชื่อมาพบกับองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพที่ทรงเชิญเขาทั้งหลายมาร่วมงานเลี้ยงของพระองค์ “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า วันแห่งการกลับคืนพระชนมชีพ วันของบรรดาคริสตชน เป็นวันของเรา วันนี้ถูกเรียกว่า “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า” เพราะในวันนี้องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้พิชิตเสด็จขึ้นไปหาพระบิดา ถ้าบรรดาคนต่างศาสนาเรียกวันนี้ว่า “วันอาทิตย์” เราก็ยินดีเห็นด้วย เพราะแสงสว่างส่องโลกเกิดขึ้นในวันนี้ ดวงอาทิตย์แห่งความยุติธรรมซึ่งส่องรัศมีรักษาโรคให้หายได้ขึ้นมาในวันนี้”
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)