แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันจันทร์ในอัฐมวารปัสกา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 28:8-15)  

  เวลานั้น สตรีทั้งสองคนมีทั้งความกลัวและความยินดีอย่างยิ่ง รีบออกจากพระคูหา วิ่งไปแจ้งข่าวแก่บรรดาศิษย์ของพระองค์

ทันใดนั้น พระเยซูเจ้าเสด็จมาพบสตรีทั้งสองคน ตรัสว่า “จงยินดีเถิด” ทั้งสองคนจึงเข้าไปใกล้ กอดพระบาทนมัสการพระองค์ พระเยซูเจ้าตรัสว่า “อย่ากลัวเลย จงไปแจ้งข่าวแก่พี่น้องของเราให้ไปยังแคว้นกาลิลี เขาจะพบเราที่นั่น”

      เมื่อสตรีทั้งสองคนเดินทางไป ทหารยามบางคนเข้าไปในเมือง แจ้งเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นแก่บรรดาหัวหน้าสมณะ บุคคลเหล่านี้จึงประชุมปรึกษากันกับบรรดาผู้อาวุโสแล้วตกลงจ่ายเงินก้อนใหญ่ให้ทหาร สั่งว่า “ท่านทั้งหลายจงพูดว่า ‘บรรดาศิษย์ของเขามาขโมยศพไปในเวลากลางคืน ขณะที่เรากำลังหลับอยู่’ ถ้าเรื่องมาถึงหูของผู้ว่าราชการ เราจะชี้แจงแก่เขาทำให้ท่านพ้นโทษ” ทหารได้รับเงินและกระทำตามคำแนะนำ เรื่องนี้จึงเล่าลือกันในหมู่ชาวยิวจนกระทั่งทุกวันนี้


มธ 28:1-10  บรรดาคริสตชนเฉลิมฉลองวันอาทิตย์เป็นวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า เพราะเป็นวันที่พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพเป็น “วันที่แปด” หลังวันสับบาโต และเป็น “วันแรก” ของสัปดาห์ อันเป็นสัญลักษณ์ของการสร้างใหม่ที่เกิดขึ้นโดยผ่านทางการไถ่กู้ เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องสังเกตว่า วันแรกของสัปดาห์ซึ่งหมายถึงวันแรกแห่งการสร้างใหม่นี้ได้ถูกสถาปนาขึ้นโดยทางการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า

CCC ข้อ 500 บางครั้งมีผู้แย้งคำสอนนี้โดยอ้างว่าพระคัมภีร์กล่าวถึง “พี่น้องชายหญิง” ของพระเยซูเจ้า พระศาสนจักรเข้าใจเสมอมาว่าข้อความเหล่านี้มิได้หมายถึงบุตรคนอื่นของพระนางพรหมจารีมารีย์ จริงแล้ว ยากอบและโยเซฟ “พี่น้อง” ของพระเยซูเจ้า (มธ 13:55) นี้เป็นบุตรของมารีย์อีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นศิษย์ของพระคริสตเจ้า ซึ่งมัทธิวกล่าวถึงอย่างชัดเจนว่า “มารีย์อีกคนหนึ่ง” (มธ 28:1) ข้อความเหล่านี้จึงหมายถึงญาติใกล้ชิดตามสำนวนที่ใช้และรู้จักกันดีในพันธสัญญาเดิม

CCC ข้อ 652 การกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าเป็นการทำให้พระสัญญาของพันธสัญญาเดิมสำเร็จเป็นจริง รวมทั้งพระสัญญาที่พระเยซูเจ้าทรงสัญญาไว้ขณะที่ทรงพระชนมชีพในโลกนี้ด้วยข้อความที่ว่า “ตามความในพระคัมภีร์” แสดงว่าการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าทำให้คำพยากรณ์เหล่านี้สำเร็จเป็นความจริง

CCC ข้อ 2174   พระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพ “เช้าตรู่ของวันต้นสัปดาห์” (มก 16:2) ในฐานะที่เป็น “วันที่หนึ่ง” วันที่พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจึงชวนให้เราคิดถึงการเนรมิตสร้างครั้งแรก ในฐานะที่ “วันที่แปด” ที่ตามหลังวันสับบาโต[90] วันนี้จึงหมายถึงการเนรมิตสร้างครั้งใหม่ที่เริ่มขึ้นโดยการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า กลายเป็นวันแรกของวันทั้งหลายสำหรับคริสตชน เป็น “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (dies Dominica, he kyriake hemera) หรือ “Dominica”  “เมื่อถึงวันอาทิตย์ พวกเราก็มาชุมนุมพร้อมกัน เพราะว่าวันนี้เป็นวันแรก [หลังวันสับบาโตของชาวยิว และยังเป็นวันแรก] ที่พระเจ้าทรงแยกวัตถุจากความมืด ทรงเนรมิตสร้างโลก และเพราะว่าพระเยซูคริสตเจ้า พระผู้ไถ่ของเราทรงกลับคืนพระชนมชีพในวันเดียวกันด้วย”


มธ 28:9-10  กอดพระบาทนมัสการพระองค์ : พระวรกายของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพนั้นมีคุณสมบัติเชิงกายภาพ จึงสามารถสัมผัสได้ แต่เป็นพระวรกายใหม่ที่รุงโรจน์ จงไปแจ้งข่าวแก่พี่น้องของเรา : นี่เป็นครั้งแรกในพระวรสารโดยนักบุญมัทธิวที่พระคริสตเจ้าตรัสถึงบรรดาศิษย์ว่าเป็นพี่น้องของพระองค์ เป็นการบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ฉันบุตรของผู้ที่ที่มีความเชื่อในฐานะบุตรบุญธรรมของพระเจ้าพระบิดา การไถ่กู้นี้นำพระหรรษทานศักดิ์สิทธิกรซึ่งทำให้เรามีส่วนร่วมในชีวิตของพระเจ้า และด้วยเหตุนี้เราจึงสามารถกลายเป็นบุตรของพระเจ้าได้ อย่ากลัวเลย : พระคริสตเจ้าประทานสารเดียวกันนี้ให้แก่เราด้วย เหตุว่าการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ได้พิชิตบาปและความตายครั้งเดียวแต่มีผลตลอดไป

CCC ข้อ 641 มารีย์ชาวมักดาลาและบรรดาสตรีผู้ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งตั้งใจมาที่พระคูหาเพื่อชโลมพระศพของพระเยซูเจ้า ที่ถูกฝังอย่างเร่งรีบเพราะวันสับบาโตเริ่มแล้วตั้งแต่เย็นวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์เป็นคนกลุ่มแรกที่พบพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว ดังนี้ บรรดาสตรีเหล่านี้จึงเป็นคนแรกที่บอกข่าวการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าแก่บรรดาอัครสาวกเอง หลังจากนั้นพระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์ ก่อนอื่นแก่เปโตร แล้วจึงทรงแสดงพระองค์แก่อัครสาวกสิบสองคน ดังนั้นเปโตรที่พระคริสตเจ้าทรงเรียกมาให้เสริมความเชื่อของบรรดาพี่น้องจึงเห็นพระองค์ผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพก่อนพี่น้องคนอื่น และบรรดาศิษย์ก็ประกาศตามคำยืนยันของเขาว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วจริงๆ และทรงสำแดงพระองค์แก่ซีโมน” (ลก 24:34)

CCC ข้อ 645 เมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว พระเยซูเจ้าทรงมีความสัมพันธ์โดยตรงกับบรรดาศิษย์ผ่านการสัมผัส และเสวยพระกระยาหาร พระองค์ทรงเชิญเขาเช่นนี้ให้รับรู้ว่าพระองค์ไม่ทรงเป็นเพียงจิต (หรือ “ผี”)แต่โดยเฉพาะเพื่อเขาจะได้เห็นว่าพระกายที่กลับคืนชีพของพระองค์ที่เขาพบนี้เป็นพระกายเดียวกันกับพระกายที่เคยรับทรมานและถูกตรึงบนไม้กางเขน เพราะยังมีร่องรอยของพระทรมานปรากฏอยู่ ถึงกระนั้น พระวรกายแท้จริงนี้ก็มีคุณสมบัติใหม่ของพระวรกายรุ่งโรจน์พร้อมกันด้วย พระวรกายนี้ไม่ถูกจำกัดอยู่ในเวลาและสถานที่อีกต่อไป แต่สามารถไปอยู่ที่ใดและเมื่อใดก็ได้ตามพระประสงค์ เพราะพระธรรมชาติมนุษย์ของพระองค์ไม่อาจถูกจำกัดอยู่ในโลกอีกต่อไปและอยู่ในปกครองของพระบิดาเจ้าเท่านั้น และเพราะเหตุนี้ พระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วจึงทรงอิสระอย่างยิ่งที่จะทรงสำแดงพระองค์ตามที่ทรงประสงค์ เช่นในรูปของคนสวนหรือ “ในรูปอื่น” (มก 16:12) ที่แตกต่างจากรูปที่บรรดาศิษย์เคยรู้จัก ทั้งนี้เพื่อปลุกความเชื่อของพวกเขานั่นเอง

CCC ข้อ 654 พระธรรมล้ำลึกปัสกามีเหตุผลสองประการ พระคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์เพื่อช่วยกอบกู้เราให้พ้นจากบาป เมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพพระองค์ก็ทรงเปิดทางให้เราเข้าไปรับชีวิตใหม่ ชีวิตใหม่นี้ก็คือการบันดาลความชอบธรรมโดยเฉพาะ ซึ่งทำให้เรากลับเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า “พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย[…]ฉันใด เราก็จะดำเนินชีวิตแบบใหม่ด้วยฉันนั้น” (รม 6:4) การบันดาลความชอบธรรมประกอบด้วยความตายต่อบาปและการมีส่วนอีกครั้งหนึ่งในพระหรรษทาน การนี้ยังทำให้เราเป็นบุตรบุญธรรม(ของพระเจ้า)อีกด้วย เพราะทำให้มนุษย์กลับเป็นพี่น้องของพระคริสตเจ้าดังที่พระเยซูเจ้าทรงเรียกบรรดาศิษย์หลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วว่า “จงไปแจ้งข่าวแก่พี่น้องของเรา” (มธ 28:10)พี่น้องไม่ใช่โดยธรรมชาติ แต่เพราะพระหรรษทานที่พระเจ้าประทานให้ เพราะการเป็นบุตรบุญธรรมนี้ทำให้เรามีส่วนร่วมโดยแท้จริงในชีวิตของพระบุตรเพียงพระองค์เดียว ชีวิตนี้ได้รับการเปิดเผยอย่างสมบูรณ์ในการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์


มธ 28:11-15 การที่ผู้อาวุโสติดสินบนทหารเพื่อพวกเขาสามารถอ้างได้ว่าบรรดาศิษย์ได้ขโมยพระศพของพระคริสตเจ้าไปนั้น ช่วยชะลอการแพร่กระจายข่าวการกลับคืนพระชนมชีพได้ ข้อเท็จจริงที่ว่ามีการติดสินบนชี้ให้เห็นว่าพวกทหารและบรรดาผู้อาวุโสไม่มีคำอธิบายอื่นใดเกี่ยวกับหลุมฝังศพที่ว่างเปล่า

CCC ข้อ 640 “ทำไมท่านมองหาผู้เป็นในหมู่ผู้ตายเล่า? พระองค์มิได้ประทับอยู่ที่นี่ พระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว” (ลก 24:5-6) ในบรรดาเหตุการณ์ของวันปัสกา รายละเอียดประการแรกที่พบได้ก็คือ พระคูหาว่างเปล่า เรื่องนี้ในตัวเองไม่เป็นข้อพิสูจน์โดยตรง การที่พระศพของพระคริสตเจ้าไม่อยู่ในพระคูหาอาจได้รับคำอธิบายอย่างอื่นก็ได้ ถึงกระนั้นพระคูหาที่ว่างเปล่าก็ยังเป็นเครื่องหมายสำคัญสำหรับทุกคน การที่บรรดาศิษย์พบพระคูหาว่างเปล่าก็เป็นก้าวแรกเพื่อจะยอมรับความจริงเรื่องการกลับคืนพระชนมชีพ โดยเฉพาะในกรณีของบรรดาสตรีผู้ศักดิ์สิทธิ์ แล้วในกรณีของเปโตร ศิษย์ “ที่พระเยซูเจ้าทรงรัก” (ยน 20:2) ยืนยันว่าตนเข้าไปในพระคูหา ได้เห็น “ผ้าพันพระศพวางอยู่ที่พื้น” (ยน 20:6) และมีความเชื่อ ข้อความนี้ชวนให้คิดว่าเขาได้พบว่าการที่พระวรกายไม่อยู่แล้วในพระคูหาว่างเปล่าไม่อาจเป็นการกระทำของมนุษย์ได้ และพระเยซูเจ้ามิได้เพียงแต่ทรงกลับมาทรงพระชนมชีพเหมือนมนุษย์ทั่วไปดังเช่นในกรณีของลาซารัส

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)