วันอาทิตย์ สมโภชปัสกา
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 20:1-9)
เช้าตรู่วันต้นสัปดาห์ ขณะที่ยังมืดอยู่ มารีย์ชาวมักดาลาออกไปที่พระคูหา ก็เห็นหินถูกเคลื่อนออกไปจากพระคูหาแล้ว นางจึงวิ่งไปหาซีโมนเปโตรกับศิษย์อีกคนหนึ่งที่พระเยซูเจ้าทรงรักกล่าวว่า “เขาได้นำองค์พระผู้เป็นเจ้าไปจากพระคูหาแล้ว พวกเราไม่รู้ว่าเขานำพระองค์ไปไว้ที่ไหน”
เปโตรกับศิษย์คนนั้นจึงออกไป มุ่งไปยังพระคูหา ทั้งสองคนวิ่งไปด้วยกัน แต่ศิษย์คนนั้นวิ่งเร็วกว่าเปโตร จึงมาถึงพระคูหาก่อน เขาก้มลงมองเห็นผ้าพันพระศพวางอยู่บนพื้น แต่ไม่ได้เข้าไปข้างใน ซีโมนเปโตรซึ่งตามไปติด ๆ ก็มาถึง เข้าไปในพระคูหาและเห็นผ้าพันพระศพวางอยู่ที่พื้น รวมทั้งผ้าพันพระเศียรซึ่งไม่ได้วางอยู่กับผ้าพันพระศพ แต่พับแยกวางไว้อีกที่หนึ่ง แล้วศิษย์คนที่มาถึงพระคูหาก่อนก็เข้าไปข้างในด้วย เขาได้เห็นและมีความเชื่อ เพราะเขาทั้งหลายยังไม่เข้าใจพระคัมภีร์ที่ว่า พระองค์ต้องทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย
ยน 20:1-31 โดยการปรากฏพระองค์ให้แก่บรรดาศิษย์ พระคริสตเจ้าได้ทรงเปิดเผยพระวรกายอันรุ่งโรจน์ของพระองค์ เป็นพระวรกายเดิมที่บรรดาศิษย์เคยเห็น แต่มีคุณสมบัติใหม่ คือ เป็นพระวรกายที่อยู่เหนือกาลเวลา สถานที่ และความจำกัดด้านวัตถุ
CCC ข้อ 640 “ทำไมท่านมองหาผู้เป็นในหมู่ผู้ตายเล่า? พระองค์มิได้ประทับอยู่ที่นี่ พระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว” (ลก 24:5-6) ในบรรดาเหตุการณ์ของวันปัสกา รายละเอียดประการแรกที่พบได้ก็คือ พระคูหาว่างเปล่า เรื่องนี้ในตัวเองไม่เป็นข้อพิสูจน์โดยตรง การที่พระศพของพระคริสตเจ้าไม่อยู่ในพระคูหาอาจได้รับคำอธิบายอย่างอื่นก็ได้ ถึงกระนั้นพระคูหาที่ว่างเปล่าก็ยังเป็นเครื่องหมายสำคัญสำหรับทุกคน การที่บรรดาศิษย์พบพระคูหาว่างเปล่าก็เป็นก้าวแรกเพื่อจะยอมรับความจริงเรื่องการกลับคืนพระชนมชีพ โดยเฉพาะในกรณีของบรรดาสตรีผู้ศักดิ์สิทธิ์ แล้วในกรณีของเปโตร ศิษย์ “ที่พระเยซูเจ้าทรงรัก” (ยน 20:2) ยืนยันว่าตนเข้าไปในพระคูหา ได้เห็น “ผ้าพันพระศพวางอยู่ที่พื้น” (ยน 20:6) และมีความเชื่อ ข้อความนี้ชวนให้คิดว่าขาได้พบว่าการที่พระวรกายไม่อยู่แล้วในพระคูหาว่างเปล่าไม่อาจเป็นการกระทำของมนุษย์ได้ และพระเยซูเจ้ามิได้เพียงแต่ทรงกลับมาทรงพระชนมชีพเหมือนมนุษย์ทั่วไปดังเช่นในกรณีของลาซารัส
CCC ข้อ 641 มารีย์ชาวมักดาลาและบรรดาสตรีผู้ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งตั้งใจมาที่พระคูหาเพื่อชโลมพระศพของพระเยซูเจ้า ที่ถูกฝังอย่างเร่งรีบเพราะวันสับบาโตเริ่มแล้วตั้งแต่เย็นวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นคนกลุ่มแรกที่พบพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว ดังนี้ บรรดาสตรีเหล่านี้จึงเป็นคนแรกที่บอกข่าวการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าแก่บรรดาอัครสาวกเอง หลังจากนั้นพระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์ ก่อนอื่นแก่เปโตร แล้วจึงทรงแสดงพระองค์แก่อัครสาวกสิบสองคน ดังนั้นเปโตรที่พระคริสตเจ้าทรงเรียกมาให้เสริมความเชื่อของบรรดาพี่น้องจึงเห็นพระองค์ผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพก่อนพี่น้องคนอื่น และบรรดาศิษย์ก็ประกาศตามคำยืนยันของเขาว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วจริงๆ และทรงสำแดงพระองค์แก่ซีโมน” (ลก 24:34)
CCC ข้อ 642 เหตุการณ์ใดๆ ไม่ว่าที่เกิดขึ้นในช่วงวันฉลองปัสกานี้ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับอัครสาวกแต่ละคน– โดยเฉพาะกับเปโตร – ในการก่อสร้างยุคใหม่ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อเช้าวันปัสกา ในฐานะพยานถึงพระผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ท่านเหล่านี้จึงยังคงเป็นเสมือนฐานศิลาของพระศาสนจักรของพระองค์ ความเชื่อของชุมชนผู้มีความเชื่อกลุ่มแรกตั้งมั่นอยู่บนการเป็นพยานยืนยันของบางคนที่บรรดาคริสตชนรู้จักดีในสมัยนั้น และส่วนใหญ่ก็ยังมีชีวิตอยู่ในหมู่พวกเขาด้วย บรรดา “พยานถึงการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า”ก่อนอื่นหมดจึงได้แก่เปโตรและอัครสาวกทั้งสิบสองคน แต่ก็ไม่เพียงแต่เขาเหล่านี้เท่านั้น เปาโลยังกล่าวถึงกลุ่มบุคคลที่มีจำนวนมากกว่าห้าร้อยคนที่พระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์แก่พวกเขาพร้อมกัน โดยเฉพาะแก่ยากอบและแก่อัครสาวกทุกคน
CCC ข้อ 643 ต่อหน้าพยานเหล่านี้ เป็นไปไม่ได้ที่จะอธิบายการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าว่าไม่ได้อยู่ในระบบทางกายภาพ และไม่ยอมรับว่าการกลับคืนพระชนมชีพเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่าความเชื่อของบรรดาศิษย์ได้ถูกทดสอบอย่างหนักจากพระทรมานและการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนของพระอาจารย์ ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงแจ้งไว้ล่วงหน้าแล้ว ความสะเทือนใจที่เกิดจากพระทรมานนี้หนักหนาสาหัสจนว่าบรรดาศิษย์ (อย่างน้อยบางคนในพวกเขา) มิได้เชื่อทันทีเมื่อได้รับข่าวการกลับคืนพระชนมชีพ แทนที่จะเล่าว่ากลุ่มบรรดาศิษย์มีประสบการณ์เข้าฌานชิดสนิทกับพระเจ้า พระวรสารทุกฉบับกล่าวว่า พวกเขารู้สึกท้อแท้ (“ใบหน้าเศร้าหมอง” - ลก 24:17) และมีความกลัว ดังนั้น เขาจึงไม่เชื่อบรรดาสตรีผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่กลับมาจากพระคูหา และคิดว่าถ้อยคำของพวกเธอ “เป็น เรื่องเหลวไหล” (ลก 24:11) เมื่อพระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์แก่บรรดาอัครสาวกสิบเอ็ดคนตอนเย็นวัน ปัสกา พระองค์จึง “ทรงตำหนิพวกเขาที่ไม่ยอมเชื่อและมีใจแข็งกระด้างเพราะไม่ยอมเชื่อผู้ที่เห็นพระองค์เมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว”(มก 16:14)
CCC ข้อ 644 แม้เมื่ออยู่ต่อหน้าพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพจริงๆ แล้ว บรรดาศิษย์ก็ยังมีความสงสัย เห็นว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เขาคิดว่าตนกำลังเห็นผี “เขายินดีและแปลกใจจนไม่อยากเชื่อ” (ลก 24:41) โทมัสก็มีความสงสัยต้องการพิสูจน์เหมือนกัน และในโอกาสที่ทรงสำแดงพระองค์เป็นครั้งสุดท้ายในแคว้นกาลิลีที่ มัทธิวเล่าไว้ “บางคนยังสงสัยอยู่” (มธ 28:17) ดังนั้น สมมุติฐานที่คิดว่าการกลับคืนพระชนมชีพเป็น “ผล” ที่เกิดจากความเชื่อ (หรือความงมงาย) ของบรรดาอัครสาวกจึงไม่สมเหตุผล ตรงกันข้าม ความเชื่อของพวกเขาถึงการกลับคืนพระชนมชีพเกิดขึ้น – โดยอิทธิพลของพระหรรษทาน – จากประสบการณ์โดยตรงกับพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ
CCC ข้อ 645 เมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว พระเยซูเจ้าทรงมีความสัมพันธ์โดยตรงกับบรรดาศิษย์ผ่านการสัมผัส และเสวยพระกระยาหาร พระองค์ทรงเชิญเขาเช่นนี้ให้รับรู้ว่าพระองค์ไม่ทรงเป็นเพียงจิต (หรือ “ผี”) แต่โดยเฉพาะเพื่อเขาจะได้เห็นว่าพระกายที่กลับคืนชีพของพระองค์ที่เขาพบนี้เป็นพระกายเดียวกันกับพระกายที่เคยรับทรมานและถูกตรึงบนไม้กางเขน เพราะยังมีร่องรอยของพระทรมานปรากฏอยู่ถึงกระนั้น พระวรกายแท้จริงนี้ก็มีคุณสมบัติใหม่ของพระวรกายรุ่งโรจน์พร้อมกันด้วย พระวรกายนี้ไม่ถูกจำกัดอยู่ในเวลาและสถานที่อีกต่อไป แต่สามารถไปอยู่ที่ใดและเมื่อใดก็ได้ตามพระประสงค์ เพราะพระธรรมชาติมนุษย์ของพระองค์ไม่อาจถูกจำกัดอยู่ในโลกอีกต่อไปและอยู่ในปกครองของพระบิดาเจ้าเท่านั้น และเพราะเหตุนี้ พระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วจึงทรงอิสระอย่างยิ่งที่จะทรงสำแดงพระองค์ตามที่ทรงประสงค์ เช่นในรูปของคนสวนหรือ “ในรูปอื่น” (มก 16:12) ที่แตกต่างจากรูปที่บรรดาศิษย์เคยรู้จัก ทั้งนี้เพื่อปลุกความเชื่อของพวกเขานั่นเอง
CCC ข้อ 659 “เมื่อพระเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสดังนี้แล้ว พระเจ้าทรงรับพระองค์ขึ้นสู่สวรรค์ให้ประทับณ เบื้องขวา” (มก 16:19) พระกายของพระคริสตเจ้าทรงพระสิริรุ่งโรจน์นับตั้งแต่ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ดังที่สภาพใหม่เหนือธรรมชาติแสดงให้เห็นว่าจะทรงสภาพเช่นนี้ตลอดไป แต่ระหว่างช่วงเวลาสี่สิบวันที่ทรงดื่มและเสวยพระกระยาหารอย่างเป็นกันเองกับบรรดาศิษย์สอนพวกเขาเรื่องพระอาณาจักร พระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ยังคงซ่อนอยู่ในรูปร่างของมนุษย์ธรรมดาทั่วไป การสำแดงพระองค์ครั้งสุดท้ายของพระเยซูเจ้าจบสิ้นลงเมื่อสภาพมนุษย์ของพระองค์เข้าไปรับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าอย่างเด็ดขาดโดยมีเมฆเป็นเครื่องหมาย ในสวรรค์ ที่พระองค์ประทับเบื้องขวาของพระเจ้านับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงสำแดงองค์โดยวิธีพิเศษเป็นการยกเว้นแก่เปาโล “ผู้เป็นเสมือนเด็กที่คลอดก่อนกำหนด”ด้วย เป็นการแสดงพระองค์ครั้งสุดท้ายและแต่งตั้งเขาให้เป็นอัครสาวก
ยน 20:1 วันต้นสัปดาห์ : วันอาทิตย์คือวันที่พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพ ด้วยเหตุนี้ พระศาสนจักรจึงตระหนักว่า วันอาทิตย์คือวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า และกำหนดให้เป็นวันนมัสการพระเจ้าด้วยการเฉลิมฉลองพิธีบูชาขอบพระคุณ ในช่วงพระศาสนจักรยุคแรกเริ่มก่อนที่บรรดาคริสตชนจะแยกตัวออกจากศาสนายูดาห์อย่างสมบูรณ์นั้น พวกเขาไปนมัสการพระเจ้าที่พระวิหารและตามศาลาธรรมในวันสับบาโต และหลังจากนั้นจึงมีการพบปะกันเพื่อเฉลิมฉลองพิธีศีลมหาสนิทที่บ้านของพวกเขาในวันถัดมา ซึ่งก็คือ วันอาทิตย์นั่นเอง เนื่องจากวันอาทิตย์เป็นวันแรกของสัปดาห์จึงชวนให้ระลึกวันแรกแห่งการเนรมิตสร้าง และนี่เองจึงเป็นความหมายของการสร้างใหม่ในพระคริสตเจ้า
CCC ข้อ 2174 พระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพ “เช้าตรู่ของวันต้นสัปดาห์” (มก 16:2)89 ในฐานะที่เป็น“วันที่หนึ่ง” วันที่พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจึงชวนให้เราคิดถึงการเนรมิตสร้างครั้งแรก ในฐานะที่ “วันที่แปด” ที่ตามหลังวันสับบาโต วันนี้จึงหมายถึงการเนรมิตสร้างครั้งใหม่ที่เริ่มขึ้นโดยการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า กลายเป็นวันแรกของวันทั้งหลาย สำหรับคริสตชน เป็น “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (dies Dominica, he kyriake hemera) หรือ “Dominica” “เมื่อถึงวันอาทิตย์ พวกเราก็มาชุมนุมพร้อมกัน เพราะว่าวันนี้เป็นวันแรก [หลังวันสับบาโตของชาวยิวและยังเป็นวันแรก] ที่พระเจ้าทรงแยกวัตถุจากความมืด ทรงเนรมิตสร้างโลก และเพราะว่าพระเยซู คริสตเจ้า พระผู้ไถ่ของเราทรงกลับคืนพระชนมชีพในวันเดียวกันด้วย”
CCC ข้อ 2190 วันสับบาโต ซึ่งระลึกถึงการเนรมิตสร้างโลกสำเร็จลง ถูกแทนโดยวันอาทิตย์ ซึ่งระลึกถึงการเนรมิตสร้างใหม่ที่เริ่มจากการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า
CCC ข้อ 2191 พระศาสนจักรเฉลิมฉลองการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าในวันที่แปด ซึ่งสมควรแล้วที่จะรับนามว่า “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (dies Domini – Dominica)
CCC ข้อ 2192 “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า – หรือ วันอาทิตย์ – […] ต้องถือว่าเป็นวันฉลองสำคัญกว่าเพื่อนในพระศาสนจักรสากล และเป็นวันฉลองบังคับ”110 “ในวันอาทิตย์และวันฉลองบังคับอื่นๆ บรรดาผู้มีความเชื่อจะต้องไปร่วมพิธีมิสซา”
CCC ข้อ 2193 “นอกจากนั้น ในวันอาทิตย์และวันฉลองบังคับอื่นๆ บรรดาผู้มีความเชื่อ […] ยังต้องหยุดงานและธุรกิจอื่นๆ ที่ขัดขวางไม่ให้ถวายคารวกิจแต่พระเจ้า ขัดกับความยินดีของวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า หรือไม่อนุญาตให้พักผ่อนร่างกายและจิตใจได้”
CCC ข้อ 2194 ระเบียบการเรื่องวันอาทิตย์ช่วยให้ทุกคน “มีโอกาสพักผ่อนและมีเวลาว่างเพียงพอสำหรับชีวิตครอบครัว เพื่อประกอบกิจกรรมทางวัฒนธรรมและศาสนาได้ด้วย”
CCC ข้อ 2195 คริสตชนแต่ละคนต้องหลีกเลี่ยงที่จะขอร้องโดยไม่จำเป็นให้ผู้อื่นทำงานที่อาจขัดขวางไม่ให้เขาถือกฎวันขององค์พระผู้เป็นเจ้าได้
ยน 20:2 คูหาที่ว่างเปล่านั้นไม่ได้เป็นหลักฐานที่ชัดเจนของการกลับคืนพระชนมชีพ แต่ก็เป็นเครื่องหมายที่สำคัญและเด่นชัดของการกลับคืนพระชนมชีพ
CCC ข้อ 640 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (ยน 20:1-31)
ยน 20:4 ศิษย์อีกคนหนึ่ง (ยอห์น) มาถึงพระคูหาเป็นคนแรก แต่ได้ให้เปโตรเข้าไปในพระคูหาก่อน นี่เป็นการแสดงความเคารพต่อเปโตรในบทบาทหน้าที่การเป็นหัวหน้าของบรรดาอัครสาวก ซึ่งปัจจุบันเรารับรู้ว่าท่านเป็นพระสันตปาปาองค์แรก
CCC ข้อ 552 ในกลุ่มชายทั้งสิบสองคนนี้ ซีโมนเปโตรมีตำแหน่งเป็นที่หนึ่ง พระเยซูเจ้าทรงมอบพันธกิจพิเศษให้เขา เปโตรได้รับการเปิดเผยจากพระบิดาประกาศว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้าพระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” (มธ 16:16) องค์พระผู้เป็นเจ้าจึงประกาศแก่เขาว่า “ท่านคือศิลา และบนศิลานี้เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา ประตูนรกจะไม่มีวันชนะพระศาสนจักรได้” (มธ 16:18) พระคริสตเจ้า “ศิลาทรงชีวิต” ทรงยืนยันว่าพระศาสนจักรที่ทรงตั้งไว้บนเปโตรผู้เป็นดังศิลาจะมีชัยชนะเหนืออำนาจของความตาย เพราะความเชื่อที่เขาได้ประกาศ เปโตรจะคงเป็นหินผาที่ไม่มีวันสั่นคลอนของพระศาสนจักร เขาจะมีพันธกิจรักษาความเชื่อนี้ไว้ไม่ให้ลดลงเลย แต่จะช่วยค้ำจุนพี่น้องไว้ในความเชื่อนี้ตลอดไป
CCC ข้อ 553 พระเยซูเจ้าทรงมอบอำนาจพิเศษแก่เปโตร “เราจะมอบกุญแจอาณาจักรสวรรค์ให้ท่าน ทุกสิ่งที่ท่านจะผูกบนแผ่นดินนี้ จะผูกไว้ในสวรรค์ด้วย ทุกสิ่งที่ท่านจะแก้ในแผ่นดินนี้ ก็จะแก้ในสวรรค์ด้วย” (มธ 16:19) “อำนาจถือกุญแจ” หมายถึงอำนาจดูแลบ้านของพระเจ้า คือพระศาสนจักร พระเยซูเจ้า “ผู้เลี้ยงแกะที่ดี” (ยน 10:11) ทรงยืนยันถึงบทบาทนี้หลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว “จงเลี้ยงดูแกะของเราเถิด” (ยน 21:15-17) อำนาจ “ผูกและแก้” จึงหมายถึงอำนาจที่จะอภัยบาป ที่จะตัดสินเรื่องคำสอนและระเบียบการปกครองในพระศาสนจักร พระเยซูเจ้าทรงมอบ อำนาจนี้ให้แก่พระศาสนจักรผ่านทางการปฏิบัติงานของบรรดาอัครสาวก และโดยเฉพาะของเปโตร ซึ่งเป็นผู้เดียวที่ทรงเจาะจงมอบกุญแจพระอาณาจักรให้
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)