แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันศุกร์ สัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 18:1-19:42)  

  พระเยซูเจ้าตรัสดังนี้แล้ว ก็เสด็จไปพร้อมกับบรรดาศิษย์ ข้ามห้วยขิดโรน ที่นั่นมีสวนแห่งหนึ่ง พระองค์เสด็จเข้าไปพร้อมกับบรรดาศิษย์ ยูดาสผู้ทรยศรู้จักสถานที่นั้นด้วย เพราะพระองค์เคยทรงพบกับบรรดาศิษย์ที่นั่นบ่อยๆ ยูดาสนำกองทหารและยามรักษาพระวิหารที่บรรดาหัวหน้าสมณะ และชาวฟาริสีจัดหาให้มาที่นั่น ถือตะเกียง ไต้ และอาวุธมาด้วย พระเยซูเจ้าทรงทราบทุกสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับพระองค์ จึงเสด็จออกไปตรัสถามเขาเหล่านั้นว่า “ท่านทั้งหลายเสาะหาใคร” เขาตอบว่า “หาเยซู ชาวนาซาเร็ธ” พระองค์ตรัสตอบว่า “เราเป็น” ยูดาสผู้ทรยศพระองค์ก็ยืนอยู่กับพวกเขาด้วย แต่เมื่อพระองค์ตรัสว่า “เราเป็น” เขาเหล่านั้นก็ถอยหลัง ล้มลงกับพื้นดิน พระองค์ตรัสถามอีกว่า “ท่านทั้งหลายเสาะหาใคร” เขาตอบว่า “หาเยซู ชาวนาซาเร็ธ” พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “เราบอกท่านทั้งหลายแล้วว่า เราเป็น ถ้าท่านเสาะหาเรา ก็จงปล่อยคนเหล่านี้ไป” ดังนี้ พระวาจาที่พระเยซูเจ้าเคยตรัสไว้จึงเป็นจริงว่า บรรดาผู้ที่พระองค์ทรงมอบให้ข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าไม่ได้ทำให้ผู้ใดพินาศเลย”

      ซีโมนเปโตรมีดาบ จึงชักดาบออกมา ฟันผู้รับใช้คนหนึ่งของมหาสมณะ ถูกใบหูข้างขวาขาด ผู้รับใช้คนนั้นชื่อมัลคัส แต่พระเยซูเจ้าตรัสกับเปโตรว่า “เก็บดาบใส่ฝักเสีย เราจะไม่ดื่มจากถ้วยที่พระบิดาประทานให้เราหรือ”

      กองทหาร ผู้บังคับกองและยามรักษาพระวิหารที่ชาวยิวจัดให้จับกุมพระเยซูเจ้า มัดพระองค์ นำไปหาอันนาสก่อน อันนาสเป็นบิดาภรรยาของคายาฟาส ซึ่งเป็นมหาสมณะในปีนั้น คายาฟาสเป็นผู้ที่ให้คำแนะนำแก่ชาวยิวว่า “จะเป็นประโยชน์มากกว่าถ้าคนเดียวจะตายเพื่อประชาชน”

      ซีโมนเปโตรตามพระเยซูเจ้าไปกับศิษย์อีกผู้หนึ่ง ศิษย์ผู้นั้นรู้จักมหาสมณะ จึงเข้าไปในลานบ้านของมหาสมณะพร้อมกับพระเยซูเจ้า ส่วนเปโตรยืนอยู่ข้างนอก หน้าประตู ศิษย์อีกผู้หนึ่งที่รู้จักมหาสมณะนั้นออกมาพูดกับหญิงเฝ้าประตู แล้วพาเปโตรเข้าไปด้วย หญิงเฝ้าประตูถามเปโตรว่า “ท่านไม่เป็นศิษย์ของชายผู้นี้ด้วยหรือ” เปโตรตอบว่า “ไม่เป็น” บรรดาผู้รับใช้และยามนำถ่านมาก่อไฟเพราะอากาศหนาว แล้วยืนผิงไฟกันที่นั่น เปโตรก็ยืนผิงไฟกับเขาด้วย

      มหาสมณะซักถามพระเยซูเจ้าถึงเรื่องศิษย์และคำสั่งสอนของพระองค์ พระองค์ พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “เราพูดให้โลกฟังอย่างเปิดเผย เราสั่งสอนเสมอในศาลาธรรมและในพระวิหารซึ่งชาวยิวทุกคนมาชุมนุมกัน เราไม่เคยพูดสิ่งใดเป็นความลับ ท่านถามเราทำไม จงถามผู้ที่ได้ฟังเราเถิดว่าเราบอกสิ่งใดกับเขา เขารู้ว่าเราได้พูดสิ่งใด เมื่อพระองค์ตรัสเช่นนี้ ยามคนหนึ่งซึ่งยืนอยู่ที่นั่นตบพระพักตร์พระเยซูเจ้า ตวาดว่า “เจ้าตอบเช่นนี้กับมหาสมณะได้หรือ” พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “ถ้าเราพูดผิด จงชี้ให้เห็นว่าเราผิดอย่างไร แต่ถ้าเราพูดถูก ท่านตบหน้าเราทำไม” อันนาสจึงส่งพระองค์ ซึ่งยังถูกมัดอยู่ไปหามหาสมณะคายาฟาส

      ขณะนั้นซีโมนเปโตรกำลังยืนผิงไฟอยู่ คนที่อยู่ด้วยถามเขาว่า “ท่านไม่เป็นศิษย์ของเขาด้วยหรือ” เปโตรปฏิเสธว่า “ไม่เป็น” 26ผู้รับใช้คนหนึ่งของมหาสมณะเป็นญาติกับคนซึ่งเปโตรฟันใบหูขาดพูดว่า “ข้าพเจ้าเห็นท่านอยู่ในสวนกับเขามิใช่หรือ” เปโตรปฏิเสธอีกครั้งหนึ่ง ทันใดนั้น ไก่ก็ขัน

      เขาเหล่านั้นนำพระเยซูเจ้าจากบ้านของคายาฟาสไปยังจวนผู้ว่าราชการ ขณะนั้นเป็นเวลาเช้าตรู่ คนเหล่านั้นไม่เข้าไปในจวน เพื่อมิให้เป็นมลทินแก่ตน จะได้กินปัสกาได้ ปีลาต จึงออกมาพบเขาข้างนอก ถามว่า “ท่านทั้งหลายมีข้อกล่าวหาอะไรมาฟ้องชายคนนี้” เขาตอบว่า “ถ้าคนนี้ไม่ใช่ผู้ร้าย เราคงไม่นำมามอบให้ท่าน” ปีลาตจึงพูดกับเขาว่า “ท่านทั้งหลายจงนำเขาไปพิพากษากันเองตามกฎหมายของท่านเถิด” ชาวยิวตอบว่า “พวกเราไม่มีอำนาจประหารชีวิตผู้ใด ดังนี้ พระวาจาของพระเยซูเจ้าจึงเป็นจริงตามที่ตรัสไว้ล่วงหน้าว่า พระองค์จะต้องสิ้นพระชนม์อย่างไร

      ปีลาตกลับเข้าไปในจวน และเรียกพระเยซูเจ้ามาถามว่า “ท่านเป็นกษัตริย์ของชาวยิวหรือ” พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “ท่านถามดังนี้ด้วยตนเอง หรือผู้อื่นบอกท่านถึงเรื่องของเรา” ปีลาตตอบว่า “ข้าพเจ้าเป็นชาวยิวหรือ ชนชาติของท่าน และบรรดาหัวหน้าสมณะมอบท่านให้ข้าพเจ้า ท่านทำผิดสิ่งใด” พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “อาณาจักรของเรามิได้เป็นของโลกนี้ ถ้าอาณาจักรของเราเป็นของโลกนี้ ผู้รับใช้ของเราก็คงจะต่อสู้เพื่อมิให้เราถูกมอบให้ชาวยิว แต่อาณาจักรของเราไม่ได้เป็นของโลกนี้” ปีลาตจึงถามพระองค์ว่า “ถ้าเช่นนั้น ท่านเป็นกษัตริย์ใช่ไหม” พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “ท่านพูดว่าเราเป็นกษัตริย์นั้นถูกต้องแล้ว เราเกิดมาเพื่อเป็นกษัตริย์ เรามาในโลกนี้เพื่อเป็นพยานถึงความจริง ผู้ใดอยู่ฝ่ายความจริงก็ฟังเรา” ปีลาตจึงถามว่า “ความจริงคืออะไร” พูดดังนี้แล้ว เขาก็กลับออกมาพบชาวยิวข้างนอกอีก พูดว่า “ข้าพเจ้าไม่พบข้อกล่าวหาอะไรปรักปรำชายผู้นี้ได้ แต่ท่านทั้งหลายมีธรรมเนียมให้ปล่อยนักโทษคนหนึ่งในเทศกาลปัสกา ท่านทั้งหลายต้องการให้ข้าพเจ้าปล่อยกษัตริย์ของชาวยิวหรือ” เขาเหล่านั้นจึงร้องตะโกนว่า “อย่าปล่อยคนนี้ แต่จงปล่อยบารับบัส” บารับบัสผู้นี้เป็นโจร

    ปีลาตสั่งให้นำพระเยซูเจ้าไปเฆี่ยน บรรดาทหารนำกิ่งหนามมาสานเป็นมงกุฎสวมพระเศียร ให้พระองค์ทรงเสื้อคลุมสีม่วงแดง ทหารเข้ามาหาพระองค์และพูดว่า “กษัตริย์ของชาวยิว ขอทรงพระเจริญ” แล้วตบพระพักตร์พระองค์

      ปีลาตออกมาข้างนอกอีกครั้งหนึ่ง พูดกับคนเหล่านั้นว่า “ดูเถิด เรานำชายผู้นี้ออกมาให้ท่านรู้ว่าเราไม่พบว่าเขามีความผิดประการใด” แล้วพระเยซูเจ้าเสด็จออกมาข้างนอก ทรงมงกุฎหนามและเสื้อคลุมสีแดง ปีลาตพูดกับประชาชนว่า “นี่คือ คนคนนั้น” เมื่อบรรดาหัวหน้าสมณะและยามรักษาพระวิหารเห็นพระองค์ก็ตะโกนว่า “เอาไปตรึงกางเขน เอาไปตรึงกางเขน” ปีลาตสั่งว่า “ท่านทั้งหลาย จงนำเขาไปตรึงกางเขนกันเองเถิด เพราะเราไม่พบว่าเขามีความผิดประการใด ชาวยิวตอบว่า “พวกเรามีกฎหมาย และตามกฎหมายนั้น เขาต้องตาย เพราะตั้งตนเป็นบุตรของพระเจ้า”

      เมื่อปีลาตได้ยินถ้อยคำนี้ ก็มีความกลัวมากขึ้น จึงเข้าไปในจวนอีก ถามพระเยซูเจ้าว่า “ท่านมาจากไหน” พระเยซูเจ้าไม่ตรัสตอบแต่ประการใด ปีลาตจึงถามพระองค์ว่า “ท่านไม่อยากพูดกับเราหรือ ท่านไม่รู้หรือว่า เรามีอำนาจจะปล่อยท่านก็ได้ จะตรึงกางเขนท่านก็ได้ พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “ท่านไม่มีอำนาจใดเหนือเราเลย ถ้าท่านมิได้รับอำนาจนั้นมาจากเบื้องบน ดังนั้น ผู้ที่มอบเราให้ท่านก็มีบาปมากกว่า”

      นับตั้งแต่นั้น ปีลาตพยายามหาทางปล่อยพระองค์ ชาวยิวตะโกนว่า “ถ้าท่านปล่อยผู้นี้ไป ท่านก็ไม่เป็นมิตรของพระจักรพรรดิ ผู้ใดตั้งตนเป็นกษัตริย์ ก็เป็นศัตรูของพระจักรพรรดิ” เมื่อปีลาตได้ยินถ้อยคำเหล่านี้ จึงสั่งให้นำพระเยซูเจ้าออกมาข้างนอก ให้นั่งบนบัลลังก์พิพากษาในสถานที่ที่เรียกว่า “ลานศิลา” ภาษาฮีบรูว่า กับบาธา วันนั้นเป็นวันเตรียมฉลองปัสกา เวลาประมาณเที่ยงวัน ปีลาตบอกชาวยิวว่า “นี่คือกษัตริย์ของท่านทั้งหลาย” เขาเหล่านั้นตะโกนว่า “เอาตัวไป เอาตัวไปตรึงกางเขน” ปีลาตถามเขาว่า “จะให้เราตรึงกางเขนกษัตริย์ของท่านหรือ” บรรดาหัวหน้าสมณะตอบว่า “พวกเราไม่มีกษัตริย์อื่น นอกจากพระจักรพรรดิ” ปีลาตจึงมอบพระองค์ให้เขาเหล่านั้นนำไปตรึงกางเขน

      บรรดาทหารนำพระเยซูเจ้าไปประหาร พระองค์ทรงแบกไม้กางเขน เสด็จออกไปยังสถานที่ที่เรียกว่า “เนินหัวกะโหลก” ภาษาฮีบรูว่า “กลโกธา” เขาตรึงพระองค์บนไม้กางเขนที่นั่นพร้อมกับนักโทษอีกสองคน อยู่คนละข้าง พระเยซูเจ้าทรงอยู่ตรงกลาง ปีลาตเขียนป้ายประกาศติดไว้บนไม้กางเขนเป็นข้อความว่า “เยซู ชาวนาซาเร็ธ กษัตริย์ของชาวยิว” ชาวยิวจำนวนมากได้อ่านป้ายประกาศนี้เพราะสถานที่ที่พระเยซูเจ้าทรงถูกตรึงนั้นอยู่ใกล้กรุงและป้ายประกาศนั้นเขียนไว้เป็นภาษาฮีบรู ละติน และกรีก บรรดาหัวหน้าสมณะของชาวยิวกล่าวกับปีลาตว่า ‘อย่าเขียนว่า กษัตริย์ของชาวยิว’ แต่จงเขียนว่าคนนี้ได้กล่าวว่า ‘ข้าพเจ้าเป็นกษัตริย์ของชาวยิว’ ปีลาตตอบว่า “เขียนแล้ว ก็แล้วไปเถอะ”

      เมื่อบรรดาทหารตรึงพระเยซูเจ้าแล้ว ก็นำฉลองพระองค์มาแบ่งออกเป็นสี่ส่วน นำไปคนละส่วน ส่วนเสื้อยาวของพระองค์นั้นไม่มีตะเข็บ ทอเป็นผืนเดียวตลอดตั้งแต่คอจนถึงชายเสื้อ เขาจึงพูดกันว่า “เราอย่าแบ่งเสื้อตัวนี้เลย เราจับสลากกันเถิด ดูว่าใครจะได้” ดังนี้ ก็เป็นจริงตามพระคัมภีร์ ที่ว่า “พวกเขานำเสื้อผ้าของข้าพเจ้ามาแบ่งกัน และจับสลากเสื้อยาวของข้าพเจ้า” บรรดาทหารก็ทำเช่นนี้

      พระมารดาของพระเยซูเจ้าทรงยืนอยู่ข้างไม้กางเขนของพระองค์พร้อมกับน้องสาวของพระนาง มารีย์ภรรยาของเคลโอปัส และมารีย์ชาวมักดาลา เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเห็นพระมารดาและศิษย์ที่รักยืนอยู่ใกล้ ๆ จึงตรัสกับพระมารดาว่า “แม่ นี่คือลูกของแม่” แล้วตรัสกับศิษย์ผู้นั้นว่า “นี่คือแม่ของท่าน” นับตั้งแต่นั้น ศิษย์ผู้นั้นก็รับพระนางเป็นมารดาของตน

      หลังจากนั้น พระเยซูเจ้าทรงทราบว่าทุกสิ่งสำเร็จแล้ว จึงตรัสว่า “เรากระหาย” พระคัมภีร์ตอนนี้จึงเป็นจริงด้วย

ที่นั่นมีภาชนะใบหนึ่งบรรจุน้ำองุ่นเปรี้ยวจนเต็มวางอยู่ ทหารจึงใช้ฟองน้ำชุบน้ำองุ่นเปรี้ยวเสียบปลายกิ่งหุสบ ยื่นถึงพระโอษฐ์ พระเยซูเจ้าทรงจิบน้ำองุ่นเปรี้ยวแล้ว ตรัสว่า “สำเร็จบริบูรณ์แล้ว” พระองค์ทรงเอนพระเศียร สิ้นพระชนม์

      วันนั้นเป็นวันเตรียมฉลอง ชาวยิวไม่ต้องการให้ศพค้างอยู่บนไม้กางเขนในวันสับบาโต เพราะวันสับบาโตวันนั้นเป็นวันฉลองยิ่งใหญ่ เขาจึงขออนุญาตปีลาตให้ทุบขาผู้ที่ถูกตรึง และนำศพไป บรรดาทหารทุบขาคนทั้งสองคนซึ่งถูกตรึงพร้อมกับพระองค์ เมื่อทหารมาถึงพระเยซูเจ้าและเห็นว่าพระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว จึงมิได้ทุบขาของพระองค์ แต่ทหารคนหนึ่งใช้หอกแทงด้านข้างพระวรกาย โลหิตและน้ำก็ไหลออกมา ทันที ผู้ที่ได้เห็นก็เป็นพยาน คำพยานของเขาน่าเชื่อถือ เขารู้ว่าตนพูดความจริง เพื่อท่านทั้งหลายจะเชื่อด้วย เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพื่อให้ข้อความในพระคัมภีร์เป็นจริงว่า “กระดูกของเขาจะไม่หักแม้เพียงชิ้นเดียว” และข้อความอีกตอนหนึ่งว่า “เขาทั้งหลายจะมองดูผู้ที่เขาแทง”

      หลังจากนั้น โยเซฟชาวอาริมาเธีย ซึ่งเป็นศิษย์ลับ ๆ คนหนึ่งของพระเยซูเจ้าเพราะกลัวชาวยิว ขออนุญาตปีลาตอัญเชิญพระศพของพระเยซูเจ้าลง ปีลาตก็อนุญาต เขา จึงมาอัญเชิญพระศพลง นิโคเดมัสซึ่งก่อนนั้นเคยมาเฝ้าพระองค์เวลากลางคืนก็มาด้วย เขานำเครื่องหอมที่ผสมด้วยมดยอบและว่านหางจระเข้ หนักประมาณหนึ่งร้อยปอนด์ ทั้งสองคนอัญเชิญพระศพของพระเยซูเจ้า ใช้ผ้าพันพระศพพร้อมกับใส่เครื่องหอมตามประเพณีฝังศพของชาวยิว สถานที่ที่พระองค์ทรงถูกตรึงนั้นมีสวนแห่งหนึ่ง สวนนี้มีคูหาขุดใหม่ที่ยังไม่เคยใช้ฝังผู้ใดเลย เขาจึงอัญเชิญพระศพของพระเยซูเจ้าบรรจุไว้ที่นั่น เพราะวันนั้นเป็นวันเตรียมฉลองของชาวยิว และคูหาอยู่ใกล้


ยน 18:1-12 "เวลา" ที่พระคริสตเจ้าตรัสถึงบ่อยครั้งนั้นมาถึงแล้ว การนำเสนอของยอห์นเกี่ยวกับเรื่องการจับกุมพระคริสตเจ้ามีบางรายละเอียดที่แตกต่างจากพระวรสารสหทรรศน์ ตัวอย่างเช่น ยอห์นไม่ได้บันทึกเรื่องราวของการเข้าตรีทูตในสวนหรือการจูบของยูดาส และบทสนทนาระหว่างพระคริสตเจ้ากับทหาร แต่ใจความสำคัญก็ยังคงอยู่ อีกทั้งไม่มีความขัดแย้งใด ๆ กับพระวรสารสหทรรศน์ด้วย


ยน 18:1 สวนแห่งหนึ่ง : ยอห์นไม่ได้บันทึกชื่อของสวนแห่งนี้ แต่พระวรสารสหทรรศน์เรียกสวนนี้ว่า เกทเสมนี ซึ่งอยู่ที่บริเวณห้วยขิดโรน


ยน 18:4-6  พระคริสตเจ้าทรงปรารถนาที่จะกระทำตามพระประสงค์ของพระบิดาเท่านั้น จึงทรงยอมถูกจับและถูกทำร้ายด้วยใจอิสระ เขาเหล่านั้นก็ถอยหลัง ล้มลงกับพื้นดิน : เพื่อให้ตระหนักถึงอำนาจพระเจ้าและอิสรภาพทั้งหมดของพระองค์ในการยอมให้ถูกจับกุม พระองค์จึงทรงทำให้พวกทหารล้มลงกับพื้นดิน ให้สังเกตว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากที่พระคริสตเจ้าตรัสว่า “เราเป็น”

CCC ข้อ  609 พระเยซูเจ้าทรงรับความรักของพระบิดาต่อมวลมนุษย์มาไว้ในพระหทัยมนุษย์ของพระองค์ “ทรงรักเขาจนถึงที่สุด” (ยน 13:1) เพราะ “ไม่มีใครมีความรักยิ่งใหญ่กว่าการสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย” (ยน 15:13) ดังนี้ พระธรรมชาติมนุษย์ของพระองค์จึงถูกใช้ในพระทรมานและการสิ้นพระชนม์เป็นดังเครื่องมืออิสระและสมบูรณ์แสดงความรักของพระเจ้าที่ต้องการช่วยมนุษย์ให้รอดพ้น โดยแท้จริงแล้ว พระองค์ทรงยอมรับพระทรมานและสิ้นพระชนม์โดยอิสระเสรีเพราะความรักที่ทรงมีต่อพระบิดาและต่อมนุษย์ที่ทรงประสงค์จะช่วยให้รอดพ้น “ไม่มีใครเอาชีวิตไปจากเราได้ แต่เราเองสมัครใจสละชีวิตนั้น” (ยน 10:18) ดังนี้จึงเป็นเสรีภาพสูงสุดของพระบุตรพระเจ้า เมื่อพระองค์เสด็จออกไปเผชิญหน้ากับความตาย


ยน 18:10-11 ในการทำให้รับรู้ถึงบทบัญญัติใหม่แห่งความรัก การกระทำที่รุนแรงของเปโตรนั้นแสดงให้เห็นว่าเขายังไม่เข้าใจในภารกิจที่พระคริสตเจ้าต้องกระทำให้สำเร็จไป  เราจะไม่ดื่ม...ให้เราหรือ : พระคริสตเจ้าทรงดุเปโตรสำหรับความผิดพลาดของเขา และทรงยืนยันอีกครั้งหนึ่งถึงความปรารถนาอันแน่วแน่ที่จะกระทำตามพระประสงค์ของพระบิดา ทั้งในคำพูดของและในการยอมจำนนอย่างสงบของพระองค์ต่อผู้จับกุมนั้นเป็นเสมือนลูกแกะที่กำลังจะถูกฆ่า

CCC ข้อ 607 ความปรารถนาจะรับแผนการไถ่กู้เพราะความรักของพระบิดานี้เป็นพลังบันดาลใจตลอดพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า เพราะพระทรมานเพื่อไถ่กู้มนุษยชาติก็คือเหตุผลที่ทรงรับสภาพมนุษย์ “ข้าแต่พระบิดาเจ้า โปรดช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากเวลานี้เถิด แต่ข้าพเจ้ามาก็เพื่อเวลานี้” (ยน 12:27) “เราจะไม่ดื่มจากถ้วยที่พระบิดาประทานให้เราหรือ” (ยน 18:11) และบนไม้กางเขน ก่อนที่จะตรัสว่า “สำเร็จบริบูรณ์แล้ว” (ยน 19:30) พระองค์ตรัสว่า “เรากระหาย” (ยน 19:28)


ยน 18:12 การจับกุมพระคริสตเจ้าเป็นความพยายามร่วมกันระหว่างทหารโรมันกลุ่มค่อนข้างใหญ่กับผู้ดูแลวิหารของชาวยิว

CCC ข้อ 575 การกระทำและพระวาจาในหลายกรณีจึงเป็น “เครื่องหมายแห่งการต่อต้าน” สำหรับผู้นำทางศาสนาที่กรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งพระวรสารของยอห์นเรียกบ่อยๆ ว่า “ชาวยิว” มากกว่าสำหรับสามัญชนประชากรของพระเจ้าโดยทั่วไป โดยแท้จริงแล้ว ความสัมพันธ์ของพระองค์กับชาวฟาริสีมิได้มีแต่ความขัดแย้งกันเสมอไปเท่านั้น ชาวฟาริสีบางคนทูลเตือนพระองค์ถึงอันตรายที่พระองค์กำลังจะต้องเผชิญ พระองค์ทรงกล่าวชมพวกเขาบางคน เช่นธรรมาจารย์ที่ มก 12:34 กล่าวถึง และหลายครั้งทรงรับเชิญไปเสวยพระกระยาหารที่บ้านของชาวฟาริสี พระองค์ทรงยืนยันคำสอนที่กลุ่มศาสนาพิเศษในประชากรของพระเจ้ากลุ่มนี้ยอมรับเป็นคำสอนของตน เช่นคำสอนเรื่องการกลับคืนชีพของผู้ตาย รูปแบบต่างๆ เพื่อแสดงความเลื่อมใสศรัทธา (การให้ทานการอธิษฐานภาวนาและการจำศีลอดอาหาร และธรรมเนียมเรียกพระเจ้าเป็นพระบิดาและกำหนดว่าความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์เป็นบทบัญญัติสำคัญที่สุด


ยน 18:13-27 ศิษย์อีกผู้หนึ่ง : ผู้นี้อาจเป็นศิษย์ไม่มีชื่อ “ผู้ที่พระเยซูเจ้าทรงรัก” ซึ่งคาดว่าอาจเป็นยอห์น  ศิษย์ผู้นั้นรู้จักมหาสมณะ : มีธรรมประเพณีได้บอกไว้ว่า ยอห์นมาจากครอบครัวสมณะ จึงทำให้เขาสามารถเข้าถึงศาลของมหาสมณะได้

CCC ข้อ 597  ถ้าคิดคำนึงถึงความซับซ้อนทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการพิจารณาคดีของพระเยซูเจ้าตามที่ปรากฏอยู่ในเรื่องเล่าของพระวรสารทั้งสี่ฉบับ และคิดคำนึงถึงความผิดส่วนตัวของแต่ละคนที่มีบทบาทในการพิจารณาคดีนี้ (ชาวยิว สภาซันเฮดริน ปีลาต) ที่พระเจ้าเท่านั้นทรงทราบ เราไม่อาจกล่าวได้ว่าชาวยิวที่กรุงเยรูซาเล็มทุกคนต้องรับผิดชอบ แม้ว่าประชาชนจำนวนมากถูกเสี้ยมสอนยุยงให้มาร้องตะโกนกล่าวโทษ[430] และมีการกล่าวโทษโดยรวมต่อทุกคนดังที่พบอยู่ในบทเทศน์ของบรรดาอัครสาวกหลังวันเปนเตกอสเตเพื่อเชิญชวนประชาชนให้กลับใจ[431]พระเยซูเจ้าเอง เมื่อประทานอภัยบนไม้กางเขน และหลังจากพระองค์ เปโตรก็ให้เหตุผลการกระทำของชาวยิวที่กรุงเยรูซาเล็มและผู้นำของเขาว่ามาจาก “ความไม่รู้” จึงเป็นการไม่ถูกต้องยิ่งขึ้นที่จะอ้างเอาการร้องตะโกนของประชาชนที่ว่า “ขอให้เลือดของเขาตกเหนือเราและเหนือลูกหลานของเราเถิด” (มธ 27:25) ที่เป็นสูตรรับรองความรับผิดชอบการ กระทำมาขยายความรับผิดชอบไปครอบคลุมชาวยิวต่างเวลาและสถานที่ด้วย

              พระศาสนจักรได้ประกาศเช่นเดียวกันในสภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ด้วยว่า “กิจการที่เกิดขึ้นใน พระทรมานไม่ได้เป็นการกระทำที่ชาวยิวทุกคนซึ่งมีชีวิตอยู่ในเวลานั้นต้องรับผิดชอบร่วมกันทั้งหมด และจะถือว่าชาวยิวในสมัยนี้ต้องรับผิดชอบด้วยก็ไม่ได้เช่นกัน […] เราต้องไม่กล่าวถึงชาวยิวว่าถูกพระเจ้าตำหนิหรือสาปแช่งประหนึ่งว่าการทำเช่นนี้สรุปได้จากพระคัมภีร์”

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)