แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

บทรำพึงสั้นๆ

วันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์

ระลึกถึงพระเยซูเจ้าทรงตั้งศีลมหาสนิท

Holy Thursday 1

   น่าสนใจที่พระวรสารของวันนี้นำมาจากพระวรสารของนักบุญยอห์น ซึ่งไม่ได้เล่าเรื่องการตั้งศีลมหาสนิทโดยตรง เหมือนพระวรสารของอีกสามผู้นิพนธ์พระวรสาร แต่กลับเล่าเรื่องการที่พระเยซูเจ้าทรงล้างเท้าบรรดาศิษย์  เป็นนักบุญยอห์นองค์เดียวที่เล่าเรื่องนี้ เราลองมาพิจารณาบางตอนจากพระวรสารของนักบุญยอห์นนะครับ

 

 ตอนเริ่มของพระวรสารวันนี้ นักบุญยอห์นเริ่มต้นว่า  “ก่อนวันฉลองปัสกา  พระเยซูเจ้าทรงทราบว่าถึงเวลาแล้วที่จะทรงจากโลกนี้ไปเฝ้าพระบิดา  พระองค์ทรงรักผู้ที่เป็นของพระองค์ซึ่งอยู่ในโลกนี้  พระองค์ทรงรักเขาจนถึงที่สุด”  นี่เป็นรายละเอียดที่นักบุญยอห์นนำมาไว้ตรงเริ่มต้นก่อนที่จะเล่าถึงฉากที่พระเยซูเจ้าทรงล้างเท้า ซึ่งมีความหมายลึกซึ้งที่จะทำให้เข้าใจเรื่องทั้งหมดต่อไปว่าหมายความถึงอะไร นักบุญยอห์นเปรียบเหมือนจิตรกรที่เชี่ยวชาญ เพียงตวัดฝีแปรงสองสามครั้ง ก็ทำให้เห็นภาพที่สวยงามได้เลย เราลองมาดูคำขึ้นต้นบางคำของนักบุญยอห์นนะครับ

 คำแรก ท่านพูดถึง “วันฉลองปัสกา” เรารู้จากนักบุญยอห์นดีว่า เมื่อท่านพูดถึง “เทศกาลของชาวยิว” ท่านต้องการให้เราเข้าใจว่า พระเยซูเจ้าทรงประยุกต์ความหมายนั้นมาสู่พระองค์เอง การฉลองปัสกาถูกบันทึกไว้ตั้งแต่ต้นๆของพระวรสารของท่านแล้วว่าเป็นการฉลองที่ยิ่งใหญ่ที่สุด พระเยซูเจ้าเองทรงเป็นลูกแกะปัสกา (ยน 1 : 29, 36) และในวันฉลองปัสกาอีกครั้งหนึ่ง พระองค์ได้ตรัสถึงพระวิหารที่ถูกทำลาย แล้วพระองค์จะสร้างขึ้นใหม่ในสามวัน(ยน 2 :19-21) และเมื่อพระองค์ทรงทวีขนมปังเลี้ยงประชาชน และได้ตรัสว่าจะทรงเลี้ยงดูพวกเขาด้วยพระกายและพระโลหิตของพระองค์ ก็อยู่ในช่วงปัสกาเช่นกัน (ยน 6) และขณะนี้ พระองค์กำลังจะเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งจะเป็นปัสกาครั้งสุดท้าย แต่นักบุญยอห์นไม่เล่ารายละเอียดเรื่องการกินเลี้ยงและการตั้งศีลมหาสนิท แต่กลับเล่าเรื่องการล้างเท้าบรรดาศิษย์

Holy Thursday 2

 สำหรับชาวยิวแล้ว การล้างเท้าเป็นการรับใช้ที่สงวนไว้เฉพาะสำหรับผู้ที่เป็นทาส  มีแต่ทาสเท่านั้นที่ล้างเท้าให้เจ้านาย  ดังนั้นในการล้างเท้าบรรดาศิษย์ พระเยซูเจ้าทรงถ่อมองค์ลงเป็นทาส  พระองค์กลายเป็นเหมือนสิ่งของหรือวัตถุที่คนซื้อขายกัน  สิ่งนี้เป็นการประกาศว่าพระองค์จะทรงถูกขายในราคาสามสิบเหรียญ ซึ่งเป็นราคาของทาสหนึ่งคน

 

 คำต่อมาคือคำว่า “พระเยซูเจ้าทรงทราบว่าถึงเวลาแล้วที่จะทรงจากโลกนี้ไปเฝ้าพระบิดา”  นักบุญยอห์นไม่ได้ต้องการเพียงบอกว่า เวลาที่มาถึงของพระองค์ คือเวลาที่ต้องสิ้นพระชนม์ แต่มีความหมายไกลและสมบูรณ์มากกว่านั้น คือยังรวมถึงการกลับคืนพระชนมชีพ และการเสด็จกลับไปหาพระบิดา  ดังนั้น บทนำในเรื่องการล้างเท้าบรรดาศิษย์ก็ใช้ได้เบ็ดเสร็จรวมไปถึงบทอื่นๆที่เหลือของพระวรสารของท่านเลยทีเดียว

 

 และสุดท้าย “พระองค์ทรงรักผู้ที่เป็นของพระองค์ซึ่งอยู่ในโลกนี้ พระองค์ทรงรักเขาจนถึงที่สุด”  เป็นความรักแบบสูงสุดที่พระองค์ทรงถ่อมองค์เพื่อล้างเท้าบรรดาศิษย์ และต่อไปจะทรงสละพระองค์จนหมดสิ้น จนสิ้นพระชนม์บนกางเขน และกลับฟื้นคืนพระชนมชีพ แล้วเสด็จคืนสู่พระบิดา  ทั้งหมดนี้แสดงว่าทรงรักพวกเขาจนถึงที่สุด  แต่ขอให้เราพิจารณาตอนจบของพระวรสารวันนี้ที่บันทึกไว้ว่า  “เราวางแบบอย่างไว้ให้แล้ว  ท่านจะได้ทำเหมือนกับที่เราทำกับท่าน” ซึ่งการจบเช่นนี้ ก็เป็นการจบด้วยเนื้อหาเหมือนกันกับเรื่องการตั้งศีลมหาสนิทที่นักบุญมัทธิว มาระโก และลูกา เขียนว่า “จงทำดังนี้เพื่อระลึกถึงเราเถิด”

 

 

(คุณพ่อวิชา หิรัญญการ  เขียนเมื่อวันที่ 8 เมษายน ค.ศ.2020

Based on : (1) John for Everyone, Part Two; by : Tom Wright  ;  

 (2)  รำพึงและเข้าใจพระวรสารนักบุญยอห์น : คณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร จากบทเทศน์ของ Fr. Andre Gelinas, SJ)

Holy Thursday 3Holy Thursday 4Holy Thursday 5Holy Thursday 6Holy Thursday 7