วันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 5 เทศกาลมหาพรต
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 12:20-33)
ผู้ที่ขึ้นไปนมัสการที่กรุงเยรูซาเล็มในงานฉลองนั้น บางคนเป็นชาวกรีก เขาไปหาฟิลิป ซึ่งมาจากหมู่บ้านเบธไซดา ในแคว้นกาลิลี แล้วถามว่า ‘ท่านครับ พวกเราอยากเห็นพระเยซูเจ้า’ ฟิลิปจึงไปบอกอันดรูว์ แล้วอันดรูว์กับฟิลิปจึงไปทูลพระเยซูเจ้า
พระเยซูเจ้าตรัสตอบเขาว่า “เวลาที่บุตรแห่งมนุษย์จะได้รับพระสิริรุ่งโรจน์มาถึงแล้ว เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ถ้าเมล็ดข้าวไม่ได้ตกลงในดิน และตายไป มันก็จะเป็นเพียงเมล็ดเดียวเท่านั้น แต่ถ้ามันตาย มันก็จะบังเกิดผลมากมาย ผู้ที่รักชีวิตของตนย่อมจะเสียชีวิตนั้น ส่วนผู้ที่พร้อมจะสละชีวิตของตนในโลกนี้ ก็ย่อมจะรักษาชีวิตนั้นไว้สำหรับชีวิตนิรันดร ถ้าผู้ใดรับใช้เรา ผู้นั้นจงตามเรามา เราอยู่ที่ใด ผู้รับใช้ของเราก็จะอยู่ที่นั่นด้วย ถ้าผู้ใดรับใช้เรา พระบิดาจะประทานเกียรติแก่เขา บัดนี้ จิตใจของเราหวั่นไหว เราจะพูดอะไรเล่า จะกล่าวว่า ข้าแต่พระบิดาเจ้า โปรดช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากเวลานี้กระนั้นหรือ? หามิได้ แต่เพราะเหตุนี้เองข้าพเจ้าได้มาถึงเวลานี้ ข้าแต่พระบิดาเจ้า โปรดประทานพระสิริรุ่งโรจน์แด่พระนามของพระองค์เถิด!” แล้วมีเสียงดังจากฟ้าว่า ‘เราได้ให้พระสิริรุ่งโรจน์แล้ว และจะให้อีก’
ประชาชนที่ยืนอยู่ที่นั่นได้ยินเสียง จึงพูดว่า “ฟ้าร้อง” แต่บางคนว่า ‘ทูตสวรรค์ได้พูดกับเขา’ พระเยซูเจ้าตรัสว่า ‘เสียงนี้เกิดขึ้นมิใช่เพื่อเรา แต่เพื่อท่านทั้งหลาย บัดนี้ ถึงเวลาที่จะพิพากษาโลกแล้ว บัดนี้ เจ้านายแห่งโลกนี้กำลังจะถูกขับไล่ออกไป และเมื่อเราจะถูกยกขึ้นจากแผ่นดิน เราจะดึงดูดทุกคนเข้ามาหาเรา’
พระเยซูเจ้าตรัสเช่นนี้ แสดงว่า พระองค์ทรงทราบว่าจะสิ้นพระชนม์อย่างไร
ยน 12:20-36 พระคริสตเจ้าทรงประกาศว่า “เวลา” ของการพลีบูชาที่ยิ่งใหญ่แห่งการรับทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระองค์นั้นมาถึงแล้ว พระวาจาของพระองค์นี้ชี้ให้เห็นถึงการรู้และการยินยอมอย่างสมบูรณ์ที่จะยอมรับความตายและยอมทำตามพระประสงค์ของพระบิดา
CCC ข้อ 569 พระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นไปกรุงเยรูซาเล็มโดยสมัครพระทัย แม้จะทรงทราบดีว่าบรรดาคนบาปจะต่อต้านและประหารชีวิตพระองค์บนไม้กางเขน
ยน 12:20 ชาวกรีกบางคน: อาจเป็นคนต่างชาติกรีกที่ยอมรับศาสนายิว
ยน 12:24 ภาพของเมล็ดข้าวสาลีนั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยความหมาย และเมล็ดข้าวสาลีนี้ชี้ไปยังศีลมหาสนิทที่ซึ่งเป็นการพลีบูชาของพระคริสตเจ้ากลับกลายเป็นปัจจุบันอย่างแท้จริง หากเราตายต่อตนเองเพื่อรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศีลมหาสนิทแล้ว เราก็จะกลายเป็นพระคริสต์อีกคนหนึ่งด้วยเช่นกัน
CCC ข้อ 2731 ความยากลำบากอีกประการหนึ่ง โดยเฉพาะสำหรับผู้ปรารถนาจะอธิษฐานภาวนาจากใจจริงก็คือ ความรู้สึก(มีใจ)แห้งแล้ง ความรู้สึกเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการอธิษฐานภาวนาเมื่อใจรู้สึกว่างเปล่า ไม่มีรสชาติสำหรับความคิด ความจดจำและความรู้สึกแม้ในเรื่องทางจิตใจ เวลาเช่นนี้จึงเป็นเวลาสำหรับความเชื่อล้วนๆ ที่อยู่กับพระเยซูเจ้าอย่างแนบแน่นเมื่อทรงเข้าตรีทูตและอยู่ในพระคูหา. เมล็ดข้าว “ถ้า […] ตายไป ก็จะบังเกิดผลมากมาย” (ยน 12:24) แต่ถ้าความ(รู้สึกมีใจ)แห้งแล้งนี้มาจากการขาดราก เพราะพระวาจาตกลงไปบนหิน ก็จำเป็นจะต้องต่อสู้เพื่อการกลับใจ
ยน 12:27-28 วิญญาณ : ในบริบทนี้หมายถึงความลึกซึ้งอย่างมากของการเป็นบุคคล พระคริสตเจ้าทรงทราบถึงหนทางที่พระองค์กำลังต้องเผชิญ การเข้าตรีทูตที่พระองค์ต้องประสบและผลกระทบอันใหญ่หลวงที่ต้องรับ ความทุกข์ทรมาน การสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนพระชนมชีพเป็นพระประสงค์ของพระบิดาผู้ทรงส่งพระองค์มา พระองค์ทรงยอมรับพระประสงค์ของพระบิดาอย่างสมบูรณ์ จึงทรงปรารถนาอย่างไม่ลังเลเลยที่จะกระทำให้สำเร็จไป
CCC ข้อ 363 ในพระคัมภีร์ คำว่า “วิญญาณ” บ่อยๆ หมายถึง “ชีวิต” ของมนุษย์ หรือ บุคคล มนุษย์ทั้งตัว แต่ยังหมายถึงสิ่งที่อยู่ลึกที่สุดในตัวมนุษย์ และสิ่งมีค่าที่สุด ที่ทำให้เขาเป็นภาพลักษณ์ของพระเจ้าโดยเฉพาะด้วย “วิญญาณ” หมายถึงต้นกำเนิดที่เป็นจิตในตัวมนุษย์
CCC ข้อ 607 ความปรารถนาจะรับแผนการไถ่กู้เพราะความรักของพระบิดานี้เป็นพลังบันดาลใจตลอดพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า เพราะพระทรมานเพื่อไถ่กู้มนุษยชาติก็คือเหตุผลที่ทรงรับสภาพมนุษย์ “ข้าแต่พระบิดาเจ้า โปรดช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากเวลานี้เถิด แต่ข้าพเจ้ามาก็เพื่อเวลานี้” (ยน 12:27) “เราจะไม่ดื่มจากถ้วยที่พระบิดาประทานให้เราหรือ” (ยน 18:11) และบนไม้กางเขน ก่อนที่จะตรัสว่า “สำเร็จบริบูรณ์แล้ว” (ยน 19:30) พระองค์ตรัสว่า “เรากระหาย” (ยน 19:28)
ยน 12:31 เจ้านายแห่งโลกนี้ : ปีศาจหรือซาตานได้ยึดครองโลกนี้ไว้อย่างแน่นหนาตั้งแต่ที่อาดัมและเอวาได้ตกในบาป พระคริสตเจ้าผู้ทรงแสดงอำนาจของพระองค์ในการขับไล่ปีศาจจะเอาชนะซาตานด้วยการพลีบูชาบนไม้กางเขนของพระองค์ และสถาปนาพระอาณาจักรของพระองค์อย่างมั่นคง
CCC ข้อ 550 การมาถึงของพระอาณาจักรของพระเจ้าเป็นการพิชิตอาณาจักรของซาตาน “ถ้าเราขับไล่ปีศาจด้วยพระจิตของพระเจ้า ก็หมายความว่าพระอาณาจักรของพระเจ้ามาถึงท่านแล้ว” (มธ 12:28) การที่พระเยซูเจ้าทรงขับไล่ปีศาจช่วยให้มนุษย์เป็นอิสระจากอำนาจของปีศาจ เป็นการเกริ่นถึงชัยชนะยิ่งใหญ่ที่พระเยซูเจ้าทรงมีเหนือ “เจ้านายแห่งโลกนี้” พระอาณาจักรของพระเจ้าจะได้รับการสถาปนาเป็นการถาวรอาศัยไม้กางเขนของพระคริสตเจ้า “พระเจ้าทรงครองราชย์จากไม้(กางเขน)”
CCC ข้อ 2853 ชัยชนะเหนือ “เจ้านายแห่งโลกนี้” ครั้งเดียวสำหรับตลอดไปนี้ได้มาในเวลานั้นเมื่อพระเยซูเจ้าทรงยินดีมอบพระองค์แก่ความตายเพื่อประทานชีวิตให้แก่เรา เวลานั้นถึงเวลาที่จะพิพากษาโลกแล้ว และเจ้านายแห่งโลกนี้ “กำลังจะถูกขับไล่ออกไป” มัน “ได้เบียดเบียนสตรี” (วว 12:13) แต่ก็จับนางไม่ได้ นางคือนางเอวาคนใหม่ “เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน” ของพระจิตเจ้า ได้รับการปกป้องไว้ให้พ้นจากบาปและความเสื่อมสลายของความตาย (การปฏิสนธินิรมลและการได้รับเกียรติยกขึ้นสู่สวรรค์ของพระมารดาศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระเจ้า พระนางมารีย์ผู้ทรงเป็นพรหมจารีเสมอ) “มังกรโกรธสตรีและออกไปทำสงครามกับเผ่าพันธุ์ที่เหลือของนาง” (วว 12:17) เพราะเหตุนี้ พระจิตเจ้าจึงตรัสพร้อมกับพระศาสนจักรว่า “เชิญเสด็จมาเถิด ข้าแต่พระเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้า” (วว 22:17,20) เพราะการเสด็จมาของพระองค์จะช่วยเราให้พ้นจากความชั่วร้าย (หรือ “จากมารร้าย”)
ยน 12:32 เมื่อเราจะถูกยกขึ้นจากแผ่นดิน : นักบุญยอห์นใช้ประโยคนี้สามครั้ง เป็นการอ้างอิงถึงการตรึงกางเขนของพระคริสตเจ้าและการเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ของพระองค์ ถ้อยคำนี้ทำให้นึกถึงงูทองสัมฤทธิ์ที่โมเสสยกขึ้นเพื่อช่วยชาวอิสราเอลที่ถูกงูพิษกัดให้รอดพ้น (เทียบ กดว. 21: 8) นอกจากนี้ยังทำให้ระลึกถึงผู้รับใช้ที่ทนทุกข์ของประกาศกอิสยาห์ซึ่งถูกปฏิเสธโดยประชาชนของเขาเอง แต่ต่อมาก็ถูกยกขึ้นเพื่อให้ทุกคนเห็น (เทียบ อสย 52: 13-53: 12) เราจะดึงดูดทุกคนเข้ามาหาเรา : การแบ่งแยกระหว่างชาวยิวและคนต่างชาติจะไม่มีอีกต่อไปอาศัยการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนม์ชีพของพะระองค์ พระคริสตเจ้าทรงเรียกชนทุกชาติให้มาหาพระองค์เพื่อรับความรอดพ้นและรวบรวมเป็นประชากรหนึ่งเดียวของพระเจ้า คริสตชนได้รับเรียกให้ตั้งพระคริสตเจ้าเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมทั้งมวลของมนุษย์ ผ่านทางความพยายามของพวกเขาที่จะเติบโตในความศักดิ์สิทธิ์ท่ามกลางกิจกรรมประจำวันของพวกเขา
CCC ข้อ 542 พระคริสตเจ้าทรงอยู่ในหัวใจของการรวมมวลมนุษย์เข้ามาเป็น “ครอบครัวของพระเจ้า” เช่นนี้ พระองค์ทรงเรียกมนุษย์ทั้งหลายมาอยู่รอบพระองค์ โดยพระวาจา โดยเครื่องหมายปาฏิหาริย์ซึ่งแสดงให้เห็นพระอาณาจักรของพระเจ้า โดยทรงส่งบรรดาศิษย์ออกไปเทศน์สอน พระองค์จะทรงบันดาลให้พระอาณาจักรของพระองค์มาถึงจริงๆ โดยเฉพาะทางพระธรรมล้ำลึกปัสกายิ่งใหญ่ของพระองค์ คือการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนและการกลับคืนพระชนมชีพ “และเมื่อเราจะถูกยกขึ้นจากแผ่นดิน เราจะดึงดูดทุกคนเข้ามาหาเรา” (ยน 12:32) พระเจ้าทรงเรียกมนุษย์ทุกคนเข้ามาร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้า
CCC ข้อ 662 “และเมื่อเราจะถูกยกขึ้นจากแผ่นดิน เราจะดึงดูดทุกคนเข้ามาหาเรา” (ยน 12:32) การที่ทรงถูกยกขึ้นบนไม้กางเขนหมายถึงและบอกล่วงหน้าถึงการเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ ทั้งยังเป็นการเริ่มต้นการเสด็จสู่สวรรค์ด้วย พระเยซูคริสตเจ้า พระสมณะเพียงพระองค์เดียวของพันธสัญญาใหม่นิรันดร “มิได้เสด็จเข้าสู่พระวิหารที่มือมนุษย์สร้าง […] แต่พระองค์เสด็จเข้าสู่สวรรค์เพื่อจะทรงปรากฏอยู่เฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้าแทนเรา” (ฮบ 9:24) พระคริสตเจ้าในสวรรค์ทรงปฏิบัติหน้าที่สมณะของพระองค์ตลอดไป “พระองค์ทรงพระชนม์อยู่เป็นนิจเพื่อทูลขอพระกรุณาให้คนทั้งปวงซึ่งเข้ามาถึงพระเจ้าโดยทางพระองค์” (ฮบ 7:25) ในฐานะที่ “ทรงเป็นมหาสมณะผู้นำพระพรต่างๆ ที่พระเจ้าทรงสัญญาจะประทานมาให้” (ฮบ 9:11) พระองค์จึงทรงเป็นศูนย์กลางและประธานผู้ประกอบพิธีกรรมถวายพระเกียรติแด่พระบิดาในสวรรค์
CCC ข้อ 786 ในที่สุด ประชากรของพระเจ้ายังมีส่วนในหน้าที่กษัตริย์ของพระคริสตเจ้าอีกด้วย พระคริสตเจ้าทรงมีบทบาทเป็นกษัตริย์ปกครองมนุษย์ทุกคนเมื่อทรงดึงดูดมนุษย์ทุกคนเข้ามาหาพระองค์อาศัยการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพ พระคริสตเจ้า ผู้ทรงเป็นกษัตริย์และเจ้านายแห่งสากลโลก ทรงยอมเป็นผู้รับใช้ของทุกคน ในฐานะที่พระองค์ “มิได้เสด็จมาเพื่อให้ผู้อื่นรับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้ผู้อื่น และมอบชีวิตของพระองค์เป็นสินไถ่เพื่อมนุษย์ทั้งหลาย” (มธ 20:28) สำหรับคริสตชน “การรับใช้เป็นการครองราชย์” พระศาสนจักรโดยเฉพาะ “ย่อมรับรู้ภาพลักษณ์ของพระผู้สถาปนาตนก็ในบรรดาผู้ยากจนและทนทุกข์” ประชากรของพระเจ้าทำให้ “ศักดิ์ศรีการเป็นกษัตริย์” ของตนเป็นจริงก็เมื่อตนดำเนินชีวิตตามกระแสเรียกให้เป็นผู้รับใช้พร้อมกับพระคริสตเจ้า “เครื่องหมายกางเขนมอบถวายให้ทุกคนที่บังเกิดใหม่ในพระคริสตเจ้าและได้รับเจิมจากพระจิตเจ้าได้เป็นสมณะ เพื่อคริสตชนทุกคนจะได้ยอมรับว่านอกจากศาสนบริการรับใช้ฝ่ายจิตตามเหตุผลที่ทุกคนมีอยู่แล้วนั้น ตนยังมีส่วนร่วมในบทบาทหน้าที่สมณราชตระกูลอีกด้วย อะไรเล่าเป็นอำนาจกษัตริย์ของวิญญาณมากกว่าการเป็นผู้ปกครองร่างกายของตนให้อยู่ใต้บังคับของพระเจ้า และอะไรเป็นบทบาทของสมณะมากกว่าการถวายมโนธรรมที่บริสุทธ์แด่องค์พระผู้เป็นเจ้า และถวายความศรัทธาไร้มลทินเป็นเครื่องบูชาจากดวงใจของตนซึ่งเป็นเสมือนพระแท่นบูชา”
CCC ข้อ 1428 ดังนั้น การเรียกของพระคริสตเจ้าให้กลับใจจึงยังคงดังก้องอยู่ในชีวิตของบรรดาคริสตชน การกลับใจครั้งที่สองนี้เป็นบทบาทหน้าที่ ที่ไม่มีวันหยุดสำหรับพระศาสนจักรทั้งหมดซึ่ง “รวบรวมคนบาปไว้ในอ้อมกอดของตน พระศาสนจักรมีความศักดิ์สิทธิ์และในเวลาเดียวกันยังต้องชำระตนอยู่เสมอ เดินหน้าไปสู่การกลับใจเปลี่ยนแปลงและฟื้นฟูชีวิตอยู่ตลอดเวลา” ความพยายามที่จะกลับใจนี้ไม่ใช่ผลงานของมนุษย์เท่านั้น เป็นการเคลื่อนไหว “ของดวงใจที่เป็นทุกข์” ที่ได้รับการดึงดูดและดลใจจากพระหรรษทาน เพื่อตอบสนองความรักที่ทรงพระกรุณาของพระเจ้าผู้ทรงรักเราก่อน
CCC ข้อ 2795 สัญลักษณ์ของสวรรค์ชวนให้เราหันไปคิดถึงพระธรรมล้ำลึกเรื่องพันธสัญญาที่เราดำเนินชีวิตอยู่เมื่อเราอธิษฐานภาวนาต่อพระบิดาของเรา พระองค์สถิตในสวรรค์ ที่ประทับของพระองค์ บ้านของพระบิดาจึงเป็น “บ้านเกิดเมืองนอน” ของเรา บาปทำให้เราถูกเนรเทศจากแผ่นดินแห่งพันธสัญญา และการกลับใจทำให้เรากลับไปหาพระบิดา กลับไปสวรรค์ ดังนั้นสวรรค์และแผ่นดินจึงคืนดีกันในพระคริสตเจ้า เพราะพระบุตร “ได้เสด็จลงมาจากสวรรค์” เพียงพระองค์เดียว และพระองค์ทรงบันดาลให้เราไปสวรรค์พร้อมกับพระองค์ อาศัยไม้กางเขน การกลับคืนพระชนมชีพ และการเสด็จสู่สวรรค์ของพระองค์
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)