แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันพฤหัสบดีสัปดาห์ที่ 4 เทศกาลมหาพรต

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 5:31-47)      

เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสกับชาวยิวว่า “ถ้าเราเป็นพยานยืนยันให้ตนเอง คำยืนยันของเราก็ใช้ไม่ได้ แต่ยังมีอีกผู้หนึ่งที่เป็นพยานยืนยันให้เรา และเรารู้ว่า คำยืนยันของเขาถึงเรานั้นเป็นความจริง ท่านทั้งหลายได้ส่งคนไปถามยอห์น และยอห์นก็ได้เป็นพยานยืนยันถึงความจริง เราไม่ต้องการคำยืนยันจากมนุษย์ แต่เรากล่าวเช่นนั้นเพื่อท่านทั้งหลายจะได้รอดพ้น ยอห์นเป็นเหมือนตะเกียงสว่างไสวที่จุดอยู่ ท่านทั้งหลายก็พอใจที่จะชื่นชมกับแสงสว่างของเขาอยู่ชั่วระยะหนึ่งเท่านั้น แต่เรามีคำยืนยันที่ยิ่งใหญ่กว่าคำยืนยันของยอห์น คืองานที่พระบิดาทรงมอบหมายให้เราทำจนสำเร็จ งานที่เรากำลังทำอยู่นี้ เป็นพยานถึงเราว่าพระบิดาทรงส่งเรามา พระบิดาผู้ทรงส่งเรามา ยังทรงเป็นพยานถึงเราอีกด้วย ท่านทั้งหลายไม่เคยได้ยินพระสุรเสียงของพระองค์ ทั้งไม่เคยเห็นพระพักตร์ของพระองค์ และพระวาจาของพระองค์ไม่เคยอยู่ในท่าน เพราะท่านไม่มีความเชื่อในผู้ที่พระองค์ทรงส่งมา ท่านทั้งหลายค้นคว้าพระคัมภีร์ เพราะคิดว่าท่านจะพบชีวิตนิรันดรได้ในพระคัมภีร์นั้น พระคัมภีร์นี้เองเป็นพยานถึงเรา แต่ท่านก็ไม่ยอมมาหาเราเพื่อจะมีชีวิต เราไม่ต้องการเกียรติจากมนุษย์ แต่เรารู้จักท่านทั้งหลาย เรารู้ดีว่าท่านไม่รักพระเจ้าเลย เรามาในพระนามของพระบิดา แต่ท่านทั้งหลายมิได้ต้อนรับเรา ถ้าผู้อื่นมาในนามของตน ท่านทั้งหลายก็ต้อนรับเขา แล้วท่านจะมีความเชื่อได้อย่างไร เมื่อท่านแสวงหาเกียรติจากกันและกัน แต่ไม่แสวงหาเกียรติที่มาจากพระเจ้าพระองค์เดียว ท่านทั้งหลายอย่าคิดว่า เราจะกล่าวหาท่านเฉพาะพระพักตร์ของพระบิดา ผู้ที่กล่าวหาท่านมีอยู่แล้ว คือโมเสส ซึ่งท่านไว้วางใจ ถ้าท่านเชื่อโมเสสจริงๆ ท่านก็คงจะเชื่อเราด้วย เพราะโมเสสได้เขียนถึงเรา แต่ถ้าท่านไม่เชื่อข้อเขียนของโมเสส ท่านจะเชื่อวาจาของเราได้อย่างไร”


ยน 5:30-40 กฎหมายของชาวยิวเรียกร้องให้มีประจักษ์พยานอย่างน้อยสองคนเพื่อพิจารณาให้ข้อกล่าวหาถือว่าถูกต้อง เพื่อแสดงว่าพระองค์ไม่ได้กล่าวอ้างเกี่ยวกับตัวเองโดยปราศจากการสนับสนุนที่น่าเชื่อถือ พระคริสตเจ้าทรงชี้ให้เห็นว่าพระองค์ทรงมีอำนาจของโมเสส อัศจรรย์ต่างๆ ของพระองค์ตลอดจนการอ้างอิงถึงพระองค์มากมายในพระคัมภีร์เป็นประจักษ์พยานถึงความเป็นพระเจ้าของพระองค์ เราไม่แสวงหา...ผู้ทรงส่งเรามา : พระคริสตเจ้าทรงกระทำตามพระประสงค์ของพระบิดาเสมอ ซึ่งเป็นแบบอย่างสำหรับท่าทีที่เหมาะสมของเราด้วย

CCC ข้อ 548 เครื่องหมายอัศจรรย์ที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำเป็นพยานยืนยันว่าพระบิดาทรงส่งพระองค์มา เครื่องหมายอัศจรรย์เหล่านี้เชิญชวนให้ทุกคนมีความเชื่อในพระองค์ พระองค์โปรดให้ผู้ที่มีความเชื่อในพระองค์ได้รับตามที่ขอ อัศจรรย์จึงเสริมความเชื่อต่อพระองค์ผู้ทรงทำกิจการของพระบิดา กิจการเหล่านี้เป็นพยานยืนยันว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า แต่อัศจรรย์เหล่านี้ก็อาจเป็นโอกาสความแคลงใจได้เหมือนกัน อัศจรรย์เหล่านี้ไม่มีเจตนาตอบสนองความมักรู้มักเห็นหรือความอยากดูมายากล แม้ทรงทำอัศจรรย์ที่ชัดเจนเช่นนี้แล้ว หลายคนก็ยังไม่ยอมรับพระองค์ และยังทรงถูกกล่าวหาว่าทรงทำเช่นนี้อาศัยอำนาจของปีศาจ

CCC ข้อ 582 ยิ่งกว่านั้น พระเยซูเจ้ายังทรงปฏิรูปกฎเกี่ยวกับเรื่องอาหารมีมลทินหรือไม่มีมลทิน ที่เป็นเรื่องสำคัญในชีวิตประจำวันของชาวยิว ให้สมบูรณ์ขึ้น โดยทรงอธิบายความหมายในมุมมองของความเป็นเหมือน “ครูพี่เลี้ยง” ของกฎเหล่านี้ “สิ่งต่างๆ จากภายนอกที่เข้าไปในมนุษย์นั้นทำให้เขาเป็นมลทินไม่ได้ […] – ดังนี้ ทรงประกาศว่าอาหารทุกชนิดไม่เป็นมลทิน พระองค์ยังตรัสอีกว่า สิ่งที่ออกจากภายในมนุษย์นั้นแหละทำให้เขามีมลทิน จากภายใน คือจากใจมนุษย์นั้นเป็นที่มาของความคิดชั่วร้าย” (มก 7:18-21) พระเยซูเจ้าซึ่งทรงใช้อำนาจพระเจ้าอธิบายความหมายสุดท้ายของกฎเกณฑ์ต่างๆ จึงทรงขัดแย้งกับนักกฎหมายบางคนที่ไม่ยอมรับการอธิบายของพระองค์ ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงทำเครื่องหมายอัศจรรย์เพื่อยืนยันพระวาจาที่ทรงสั่งสอน การเช่นนี้เห็นได้ชัดเป็นพิเศษในปัญหาเรื่องวันสับบาโต หลายครั้งพระเยซูเจ้าทรงใช้เหตุผลของบรรดาธรรมาจารย์เอง เพื่อชี้ให้เห็นว่าการรับใช้พระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ไม่เป็นการผิดพระบัญญัติให้หยุดพักในวันสับบาโต เพราะพระองค์ทรงรักษาโรคในวันสับบาโต

CCC ข้อ 791 การร่วมเป็นร่างกายเดียวกันนี้ไม่ทำให้ความแตกต่างของส่วนประกอบต่างๆ ของพระวรกายสิ้นสุดลง “ในการเสริมสร้างพระวรกายของพระคริสตเจ้ายังคงมีความแตกต่างของส่วนประกอบและบทบาทของส่วนประกอบเหล่านั้น มีพระจิตเจ้าพระองค์เดียวที่ทรงแบ่งปันพระพรต่างๆ ตามความร่ำรวยของพระองค์และตามความต้องการเพื่อผลประโยชน์ของพระศาสนจักร” เอกภาพของบรรดาผู้มีความเชื่อที่รวมกันเป็นพระกายทิพย์ก่อให้เกิดและส่งเสริมความรัก “ดังนั้น ถ้าส่วนประกอบส่วนหนึ่งเจ็บป่วย ส่วนประกอบทุกส่วนก็เจ็บป่วยร่วมกันด้วย หรือถ้าส่วนประกอบส่วนหนึ่งได้รับเกียรติ ส่วนประกอบทุกส่วนก็ร่วมยินดีด้วย” ในที่สุด เอกภาพของพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้ายังมีชัยชนะต่อการแบ่งแยกทุกอย่างของมนุษย์ “เพราะท่านทุกคนที่ได้รับศีลล้างบาปในพระคริสตเจ้า ก็สวมพระคริสตเจ้าไว้ ไม่มีชาวยิวหรือชาวกรีกอีกต่อไป ไม่มีทาสหรือมีไทย ไม่มีชายหรือมีหญิงอีกต่อไป เพราะท่านทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกันในพระคริสตเยซู” (กท 3:27-28)

CCC ข้อ 2824  พระประสงค์ของพระบิดาได้สำเร็จแล้วในพระคริสตเจ้า และโดยพระประสงค์แบบมนุษย์ของพระองค์ก็ได้สำเร็จไปแล้วโดยสมบูรณ์สำหรับตลอดไป เมื่อเสด็จมาในโลกนี้ พระเยซูเจ้าได้ตรัสว่า “ข้าพเจ้ามาเพื่อปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระองค์” (ฮบ 10:7) พระเยซูเจ้าเท่านั้นอาจตรัสได้ว่า “เราทำตามที่พระองค์พอพระทัยเสมอ” (ยน 8:29) ในคำอธิษฐานภาวนาเมื่อทรงเป็นทุกข์อย่างสาหัส พระองค์ทรงยอมรับพระประสงค์นี้ของพระบิดา “อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพเจ้า ให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์เถิด” (ลก 22:42) นี่เป็นเหตุผลที่พระเยซูเจ้า “ทรงมอบพระองค์เพื่อช่วยเราให้รอดพ้นจากบาป […] ตามพระประสงค์ของพระเจ้าพระบิดาของเรา” (กท 1:4) “โดยพระประสงค์นี้เอง เราทั้งหลายได้รับความศักดิ์สิทธิ์ เดชะการถวายพระวรกายเป็นการบูชาของพระคริสต์เยซู”(ฮบ 10:10)


ยน 5:41-47 เพราะพระองค์ทรงล่วงรู้ถึงจิตใจมนุษย์ พระเยซูเจ้าจึงทรงทราบว่าเหตุใดบางคนจึงไม่ยอมรับพระองค์เป็นพระเมสสิยาห์และพระบุตรของพระเจ้า นอกจากจะผู้มีน้ำใจดีที่จะรับรู้และดำเนินชีวิตตามความจริง มิฉะนั้นพระคริสตเจ้าและคำสอนของพระองค์จะไม่ได้รับการยอมรับ

CCC ข้อ 131 “มีพละกำลังและประสิทธิภาพมากมายในพระวาจาของพระเจ้า จนว่าพระวาจานั้นค้ำจุนและเป็นพลังของพระศาสนจักร เป็นอาหารเลี้ยงวิญญาณและเป็นธารบริสุทธิ์ไม่มีวันเหือดแห้งของชีวิตฝ่ายวิญญาณสำหรับบุตรของพระศาสนจักร” “คริสตชนทุกคนต้องมีโอกาสเข้าถึงพระคัมภีร์ได้โดยสะดวก”

  CCC ข้อ132 “การศึกษาพระคัมภีร์ต้องเป็นเสมือนวิญญาณของเทววิทยา ศาสนบริการเกี่ยวกับพระวาจา ซึ่งหมายถึงการเทศน์สอนตามหน้าที่อภิบาล การสอนคำสอนและการอบรมตามนัยพระคริสตธรรมทุกอย่าง ซึ่งมีการเทศน์ในมิสซาเป็นส่วนสำคัญอย่างพิเศษนั้น ต้องได้รับการหล่อเลี้ยงอย่างดีและเจริญเติบโตอย่างศักดิ์สิทธิ์อาศัยพระวาจาจากพระคัมภีร์นี่เอง”

CCC ข้อ 702 ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึง “เวลาที่กำหนดไว้” พระพันธกิจร่วมกันของพระวจนาตถ์และของพระจิตของพระบิดาคงถูกซ่อนไว้แต่ก็ทำงานอยู่ตลอดเวลา พระจิตของพระเจ้าทรงเตรียมเวลาของพระเมสสิยาห์แม้ทั้งสองเรื่องนี้จะยังไม่ถูกเปิดเผยอย่างสมบูรณ์ แต่ก็ทรงสัญญาไว้ให้เรารอคอยและต้อนรับเมื่อจะปรากฏมา เพราะเหตุนี้ เมื่อพระศาสนจักรอ่านพันธสัญญาเดิม จึงค้นหาความจริงที่พระจิตเจ้า “ผู้ตรัสทางประกาศก” ทรงประสงค์จะบอกเราเกี่ยวกับพระคริสตเจ้า เมื่อกล่าวถึง “ประกาศก” ความเชื่อของพระศาสนจักรหมายถึงทุกคนที่พระจิตเจ้าทรงดลใจในการเทศน์สอนและในการเขียนหนังสือศักดิ์สิทธิ์ทั้งในพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ ธรรมประเพณีของชาวยิวแบ่งพระคัมภีร์เป็นสามภาค ได้แก่ (1) ธรรมบัญญัติ (ได้แก่หนังสือห้าเล่มแรก หรือ “ปัญจบรรพ”) (2) ประกาศก (ได้แก่หนังสือที่เราเรียกว่า “ประวัติศาสตร์” และ “ประกาศก”) และ (3) ข้อเขียน (โดยเฉพาะหนังสือประเภทปรีชาญาณและเพลงสดุดี)

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)