วันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 6
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 1:40-45)
เวลานั้น ผู้เป็นโรคเรื้อนคนหนึ่งมาเฝ้าพระองค์ คุกเข่าอ้อนวอนว่า ‘ถ้าพระองค์พอพระทัย พระองค์ย่อมสามารถรักษาข้าพเจ้าให้หายได้’ พระเยซูเจ้าทรงสงสารตื้นตันพระทัย จึงทรงยื่นพระหัตถ์สัมผัสเขา ตรัสว่า ‘เราพอใจ จงหายเถิด! ทันใดนั้น โรคเรื้อนก็หายไป เขากลับเป็นปกติ พระเยซูเจ้าทรงให้เขาไปทันที ทรงกำชับอย่างแข็งขันว่า ‘ระวัง อย่าบอกอะไรให้ใครทราบเลย แต่จงไปแสดงตนแก่สมณะ และถวายเครื่องบูชาตามที่โมเสสกำหนด เพื่อเป็นหลักฐานแก่คนทั้งหลายว่าท่านหายจากโรคแล้ว’ แต่เมื่อชายผู้นั้นจากไป เขาก็ป่าวประกาศกระจายข่าวไปทั่ว จนพระองค์ไม่อาจเสด็จเข้าไปในเมืองได้อย่างเปิดเผยอีกต่อไป พระองค์จึงประทับอยู่นอกเมืองในที่เปลี่ยว ถึงกระนั้น ประชาชนจากทุกทิศก็ยังมาเฝ้าพระองค์
มก 1:40-41 พระคริสตเจ้าได้ทรงรักษาโรคด้วยการสัมผัสอยู่บ่อยครั้ง ในทุกวันนี้พระองค์ยังคงบำบัดรักษาเราต่อไปด้วยการ “สัมผัส” โดยทางศีลศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ ในศีลเจิมคนไข้ บิชอปหรือพระสงฆ์เจิมผู้ป่วยด้วยน้ำมันที่บริเวณหน้าผากและที่มือ พร้อมกับภาวนาว่า “ขอองค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงช่วยท่านให้รอดพ้นจากบาป ได้ทรงบรรเทาและช่วยท่านให้รอดด้วยเทอญ”
CCC ข้อ 1504 พระเยซูเจ้าทรงขอร้องคนเจ็บป่วยให้มีความเชื่อ ทรงใช้เครื่องหมายเพื่อบำบัดรักษา เช่นทรงใช้พระเขฬะ การปกพระหัตถ์ ทรงป้ายโคลนและสั่งให้ไปล้างออก บรรดาคนเจ็บป่วยพยายามสัมผัสพระองค์ “เพราะมีพระอานุภาพออกจากพระองค์รักษาทุกคนให้หายโรค” (ลก 6:19) ดังนั้น ในศีลศักดิ์สิทธิ์ พระคริสตเจ้ายังคงทรง “สัมผัส” เพื่อบำบัดรักษาพวกเรา
CCC ข้อ 1505 พระคริสตเจ้าทรงสะเทือนพระทัยเพราะความเจ็บปวดมากมายเช่นนี้ไม่เพียงแต่ทรงอนุญาตให้คนเจ็บป่วยสัมผัสพระองค์ได้ แต่ยังทรงทำให้ความน่าสงสารของเราเป็นของพระองค์ด้วย “พระองค์ทรงรับเอาความอ่อนแอของเราไว้ และทรงแบกความเจ็บป่วยของเรา” (มธ 8:17) พระองค์มิได้ทรงบำบัดรักษาความเจ็บป่วยทั้งหมด การที่ทรงบำบัดรักษาเป็นเครื่องหมายว่าพระอาณาจักรของพระเจ้ามาถึงแล้ว เป็นการแจ้งถึงการบำบัดรักษาที่ลึกซึ้งกว่านั้น คือแจ้งถึงชัยชนะต่อบาปและความตายโดยปัสกาของพระองค์ บนไม้กางเขน พระคริสตเจ้าทรงรับน้ำหนักทั้งหมดของความชั่วมาไว้กับพระองค์ และทรงแบก “บาปของโลก” ไว้ (ยน 1:29) ความเจ็บป่วยเป็นเพียงผลของบาปนี้เท่านั้น อาศัยพระทรมานและการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน พระคริสตเจ้าประทานความหมายใหม่ให้แก่ความทุกข์ ตั้งแต่นี้ไป ความทุกข์อาจทำให้เราเป็นเหมือนพระองค์และอาจมีส่วนร่วมกับพระทรมานเพื่อไถ่กู้ของพระองค์ด้วย
CCC ข้อ 2616 พระเยซูเจ้าทรงรับฟังการอธิษฐานภาวนาต่อพระองค์แล้วตั้งแต่ในเวลาที่ทรงเทศน์สอนประชาชน ผ่านทางเครื่องหมายที่เกริ่นล่วงหน้าแล้วถึงอานุภาพของการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงฟังคำอธิษฐานภาวนาด้วยความเชื่อที่แสดงออกด้วยคำพูด (จากคนโรคเรื้อน จากไยรัส จากหญิงชาวคานาอัน จากโจรกลับใจ) หรือที่แสดงออกเงียบๆ (จากคนที่แบกคนอัมพาตเข้ามา จากหญิงตกเลือดที่มาสัมผัสฉลองพระองค์ ด้วยน้ำตาและเครื่องหอมของหญิงคนบาป) การพร่ำขอของคนตาบอดว่า “โอรสของกษัตริย์ดาวิดโปรดเมตตาเราเถิด” (มธ 9:27) หรือ “ข้าแต่พระเยซู โอรสของกษัตริย์ดาวิดเจ้าข้า โปรดเมตตาข้าพเจ้าเถิด” (มก 10:47) ซึ่งจะถูกรับไว้ในธรรมประเพณีต่อมาที่เรียกว่า การอธิษฐานภาวนาต่อพระเยซูเจ้า คือวลีว่า “ข้าแต่พระเยซู ข้าแต่พระคริสตเจ้า ข้าแต่พระบุตรของพระเจ้า พระเจ้าข้า โปรดทรงพระเมตตาต่อข้าพเจ้าคนบาปด้วยเถิด” พระเยซูเจ้าทรงตอบการอธิษฐานภาวนาที่อ้อนวอนพระองค์ด้วยความเชื่อเสมอ โดยทรงรักษาโรคหรือประทานอภัยบาป “จงไปเป็นสุขเถิด ความเชื่อของลูกช่วยลูกให้รอดพ้นแล้ว”
นักบุญออกัสตินสรุปสามมิติของการอธิษฐานภาวนาของพระเยซูเจ้าไว้อย่างน่าฟังว่า “พระองค์ทรงอธิษฐานภาวนาเพื่อเราในฐานะพระสงฆ์ของเรา ทรงอธิษฐานภาวนาในตัวเรา ในฐานะที่ทรงเป็นศีรษะของเรา ทรงรับคำอธิษฐานภาวนาจากเรา ในฐานะที่ทรงเป็นพระเจ้าของเรา ดังนั้น เราจงยอมรับเสียงของเราในพระองค์ และเสียงของพระองค์ในเรา”
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)