แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอังคาร สัปดาห์ที่ 5

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 7:1-13)  

เวลานั้น ชาวฟาริสีและธรรมาจารย์บางคนจากกรุงเยรูซาเล็มมาเฝ้าพระองค์พร้อมกัน เขาสังเกตว่าศิษย์บางคนของพระองค์กินอาหารด้วยมือที่ไม่สะอาด คือไม่ได้ล้างมือก่อน เพราะชาวฟาริสีและชาวยิวโดยทั่วไปย่อมถือขนบธรรมเนียมของบรรพบุรุษ เขาไม่กินอาหารโดยมิได้ล้างมือตามพิธีก่อน เมื่อกลับจากตลาด เขาจะไม่กินอาหารเว้นแต่จะได้ทำพิธีชำระตัวก่อน เขายังถือขนบธรรมเนียมอื่น ๆ อีกมาก เช่น การล้างถ้วย จานชามและภาชนะทองเหลือง ชาวฟาริสีและธรรมาจารย์จึงทูลถามพระองค์ว่า “ทำไมศิษย์ของท่านไม่ปฏิบัติตามขนมธรรมเนียมของบรรพบุรุษ และทำไมเขาจึงกินอาหารด้วยมือที่ไม่สะอาดเล่า” พระองค์ตรัสตอบว่า “ประกาศกอิสยาห์ได้พูดอย่างถูกต้องถึงท่าน คนหน้าซื่อใจคด ดังที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า ประชาชนเหล่านี้ให้เกียรติเราแต่ปาก แต่ใจของเขาอยู่ห่างไกลจากเรา เขานมัสการเราอย่างไร้ความหมาย เขาสั่งสอนบัญญัติของมนุษย์เหมือนกับเป็นสัจธรรม

“ท่านทั้งหลายละเลยบทบัญญัติของพระเจ้ากลับไปถือขนบธรรมเนียมของมนุษย์” แล้วพระองค์ทรงเสริมว่า “ท่านช่างชำนาญในการละเลยบทบัญญัติของพระเจ้า เพื่อถือขนบธรรมเนียมของท่านเองเสียจริง ๆ เช่นโมเสสกล่าวว่า จงนับถือบิดามารดา และใครด่าบิดาหรือมารดา จะต้องรับโทษถึงตาย แต่ท่านกลับสอนว่า ‘ถ้าใครคนหนึ่งพูดกับบิดาหรือมารดาว่า ทรัพย์สินที่ลูกนำมาช่วยเหลือพ่อแม่ได้นั้นเป็นคอร์บันคือของถวายแด่พระเจ้า’ ท่านก็บอกว่าเขาไม่ต้องช่วยเหลือบิดามารดาอีกต่อไป ท่านใช้ขนบธรรมเนียมที่ท่านสอนต่อ ๆ กันมาทำให้พระวาจาของพระเจ้าเป็นโมฆะ ท่านยังปฏิบัติเช่นนี้อีกมากมาย”


มก 7:1-23 บรรดาธรรมาจารย์และชาวฟาริสีได้ขยายกฎ) ของ)การจำศีลอดอาหารและการชำระตนของชาวยิวให้มากขึ้น จนทำให้จุดประสงค์ที่อยู่เบื้องหลังประเพณีและกฎหมายเหล่านี้สูญหายไป พระคริสตเจ้าทรงสอนว่าความบริสุทธิ์ ในจิตใจเราสำคัญยิ่งกว่าการล้างมือหรือภาชนะที่เราใช้ใส่อาหารเสียอีก

CCC ข้อ 574 นับตั้งแต่แรกที่พระเยซูเจ้าทรงเริ่มเทศน์สอนประชาชน ชาวฟาริสีและพรรคพวกของกษัตริย์เฮโรด รวมทั้งบรรดาสมณะและธรรมาจารย์ ได้ประชุมปรึกษากันว่าจะกำจัดพระองค์ได้อย่างไร เพราะกิจการบางอย่างที่ทรงกระทำ เช่น การขับไล่ปีศาจ การอภัยบาป การรักษาคนเจ็บป่วยในวันสับบาโต การที่ทรงตีความตามแบบของพระองค์เกี่ยวกับกฎเรื่องการมีมลทินหรือไม่มี การที่ทรงคบค้ากับคนเก็บภาษีเพื่อรัฐบาลโรมและคนบาป บางคนที่มีเจตนาร้ายได้ตั้งข้อสงสัยว่าพระองค์ทรงถูกปีศาจสิง พระองค์ยังทรงถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทพระเจ้า และเป็นประกาศกเทียม ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความผิดทางศาสนาที่ธรรมบัญญัติกำหนดโทษให้ประหารชีวิตโดยใช้ก้อนหินทุ่มให้ตาย

CCC ข้อ 581 ประชาชนชาวยิวและผู้นำทางจิตใจของเขาเห็นว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นเพียง “อาจารย์” (รับบี) คนหนึ่ง หลายครั้งพระเยซูเจ้าเองก็ทรงใช้เหตุผลในกรอบการอธิบายธรรมบัญญัติในรูปแบบของบรรดาธรรมาจารย์ด้วย แต่ในขณะเดียวกันพระเยซูเจ้าก็จำเป็นต้องขัดแย้งกับบรรดานักกฎหมายเหล่านี้ เพราะพระองค์ไม่ทรงจำกัดวิธีที่ทรงอธิบายพระคัมภีร์อยู่ในขอบเขตการอธิบายของพวกเขา “เพราะพระองค์ทรงสอนเขาอย่างผู้มีอำนาจ ไม่ใช่สอนเหมือนบรรดาธรรมาจารย์ของเขา” (มธ 7:29) ในพระองค์ พระวาจาเดียวกันที่ดังก้องบนภูเขาซีนาย

     เพื่อประทานธรรมบัญญัติให้โมเสสบันทึกไว้ แสดงตัวอีกครั้งหนึ่งให้ประชาชนได้ยินบนภูเขาที่ทรงเทศน์สอนเรื่องความสุขแท้ พระวาจานี้ไม่ได้ลบล้างธรรมบัญญัติ แต่ปรับปรุงให้สมบูรณ์โดยใช้พระวาจาของพระเจ้าให้คำอธิบายขั้นสุดท้าย “ท่านได้ยินคำกล่าวแก่คนโบราณว่า[…] แต่เราบอกท่านทั้งหลายว่า...” (มธ 5:33-34) พระองค์ยังทรงใช้อำนาจของพระเจ้าเช่นเดียวกันเพื่อลบล้าง “ธรรมเนียมของมนุษย์” ซึ่งทำให้พระวาจาของพระเจ้าเป็นโมฆะ


มก 7:8-13 คำสอนของพระคริสตเจ้าเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายและพระบัญญัตินำไปสู่หัวใจของธรรมบัญญัติ คือการรักพระเจ้าและรักเพื่อนมนุษย์

CCC ข้อ 581 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (มก 7:1-23)

CCC ข้อ 2196 พระเยซูเจ้าทรงตอบผู้ทูลถามพระองค์ถึงบทบัญญัติประการเอกว่า “บทบัญญัติเอกก็คือ ‘อิสราเอลเอ๋ย จงฟังเถิด องค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของเราเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าแต่เพียงพระองค์เดียว ท่านจะต้องรักองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่านสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดสติปัญญาและสุดกำลังของท่าน’ บทบัญญัติประการที่สองก็คือ ‘ท่านจะต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง’ ไม่มีบทบัญญัติข้อใดยิ่งใหญ่กว่าบทบัญญัติสองประการนี้” (มก 12 :29-31)

     นักบุญเปาโลยังเตือนเราอีกว่า “ผู้ที่รักเพื่อนมนุษย์ก็ปฏิบัติตามธรรมบัญญัติครบถ้วนแล้ว พระบัญญัติกล่าวว่า อย่าผิดประเวณี อย่าฆ่าคน อย่าลักขโมย อย่าโลภ และถ้ามีบทบัญญัติอื่นอีกก็สรุปได้ในข้อความนี้ว่า จงรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง ความรักไม่ทำความเสียหายแก่เพื่อนมนุษย์ ความรักเป็นการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติอย่างครบถ้วน” (รม 13:8-10)

CCC ข้อ 2218 พระบัญญัติประการที่สี่ยังเตือนบรรดาบุตรที่มีอายุเป็นผู้ใหญ่แล้ว ให้มีความรับผิดชอบต่อบิดามารดา เขาต้องจัดหาความช่วยเหลือทั้งด้านวัตถุและการปฏิบัติเท่าที่จะทำได้ให้แก่ท่านในยามชราหรือยามป่วยไข้ เมื่อท่านต้องอยู่โดดเดี่ยวหรือมีความขัดสน พระเยซูเจ้าก็ทรงเตือนถึงหน้าที่แสดงความกตัญญูเช่นนี้ด้วย “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงปรารถนาให้บิดาได้รับเกียรติจากบุตร ทรงกำหนดให้มารดาให้รับความเคารพจากบุตร บุตรที่ยำเกรงบิดาก็ชดเชยบาปของตน บุตรที่ให้เกียรติมารดาก็เหมือนกับสะสมทรัพย์สมบัติไว้ ผู้ที่ยำเกรงบิดาก็มีความสุขจากบุตรของตน เมื่อเขาอธิษฐานภาวนา พระเจ้าก็จะทรงฟังเขา บุตรที่ให้เกียรติบิดาจะมีอายุยืน บุตรที่เชื่อฟังองค์พระผู้เป็นเจ้าจะทำให้มารดาชื่นใจ” (บสร 3:2-6)

“ลูกเอ๋ย จงดูแลบิดาของท่านในวัยชรา อย่าให้เขาเศร้าโศกตลอดชีวิต แม้สติปัญญาของบิดาจะเสื่อมลง ก็จงสงสารเขา อย่าดูหมิ่นเขาขณะที่ท่านยังแข็งแรงอยู่ […] บุตรที่ละทิ้งบิดาก็เหมือนผู้กล่าวดูหมิ่นพระเจ้า บุตรที่ทำให้มารดาเสียใจจะถูกองค์พระผู้เป็นเจ้าสาปแช่ง” (บสร 3:12-13,16)

CCC ข้อ 2247 “จงนับถือบิดามารดา” (ฉธบ 5:16; มก 7:10)


มก 7:8 ในพระวรสารข้อนี้พระคริสตเจ้าทรงอ้างอิง)ถึงประเพณีต่างๆ ที่มนุษย์กำหนดเอง นักบุญเปาโลได้สอนอย่างแน่วแน่ว่า เราควรยึดมั่นในธรรมประเพณีที่ตกทอดมาถึงเราจากพระคริสตเจ้าและบรรดาอัครสาวก (เทียบ 1คร 11:2; 2ธส 2:15; 3:6)

CCC ข้อ 80 “ธรรมประเพณีศักดิ์สิทธิ์และพระคัมภีร์จึงมีความเกี่ยวข้องและมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดเพราะทั้งสองมาจากพระเจ้าซึ่งเป็นบ่อเกิดเดียวกัน รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน และมุ่งไปยังจุดหมายเดียวกัน” ทั้งสองทำให้พระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้าอยู่ในพระศาสนจักรและบังเกิดผลพระองค์ทรงสัญญาว่าจะประทับอยู่กับบรรดาศิษย์ “ทุกวันตลอดไปตราบจนสิ้นพิภพ” (มธ 28:20)

CCC ข้อ 83 ธรรมประเพณีที่เรากล่าวถึงที่นี่มาจากบรรดาอัครสาวกและถ่ายทอดเรื่องราวที่เขาเหล่านั้นได้รับมาจากคำสั่งสอนและพระแบบฉบับของพระเยซูเจ้า รวมทั้งเรื่องราวที่พระจิตเจ้าทรงสอนเขาด้วย ในความเป็นจริง บรรดาคริสตชนรุ่นแรกยังไม่มีพันธสัญญาใหม่ที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร และพันธสัญญาใหม่นั้นเองก็เป็นพยานยืนยันถึงกระบวนการของธรรมประเพณีที่มีชีวิตนี้

     จากธรรมประเพณีนี้ เราต้องแยกแยะ “ธรรมประเพณีต่างๆ” ที่เกี่ยวกับเทววิทยา ระเบียบปฏิบัติ พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ และกิจศรัทธาที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่อมาของพระศาสนจักรท้องถิ่นต่างๆ ทุกสิ่งเหล่านี้เป็นรูปแบบเฉพาะที่ “ธรรมประเพณี” ใหญ่รับมาเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสถานที่และเวลาที่แตกต่างกัน เมื่อพิจารณาถึงธรรมประเพณีใหญ่นี้โดยมีผู้มีอำนาจสอนของพระศาสนจักรคอยแนะนำ ธรรมประเพณีหลากหลายเหล่านี้อาจได้รับการเก็บรักษาไว้ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง หรือแม้แต่ทิ้งไปเลยด้วย

CCC ข้อ 95 “ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดว่า ตามแผนการอันเปี่ยมด้วยพระปรีชาของพระเจ้า ธรรรมประเพณีศักดิ์สิทธิ์ พระคัมภีร์ และอำนาจสั่งสอนของพระศาสนจักร มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันอย่างที่ว่าแต่ละอย่างจะอยู่ไม่ได้โดยไม่อาศัยอีกสองอย่าง ทั้งสามสิ่งนี้ต่างส่งเสริมความรอดพ้นของวิญญาณอย่างสัมฤทธิ์ผลตามวิธีการของตนโดยร่วมกับการกระทำของพระจิตเจ้าองค์เดียวกัน”

CCC ข้อ 97 “ธรรมประเพณีศักดิ์สิทธิ์และพระคัมภีร์รวมกันเป็นคลังศักดิ์สิทธิ์แต่คลังเดียวที่บรรจุพระวาจาของพระเจ้า” พระศาสนจักรผู้กำลังเดินทาง(ไปพบพระเจ้า)จ้องมองเห็นพระเจ้าซึ่งเป็นบ่อเกิดความร่ำรวยทั้งมวลของตนประหนึ่งมองในกระจกเงา

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)